การจัดการความรู้ กับ การทำอาหาร


ผมเพิ่งจะได้รับเมล์จากคุณ vatara ที่เขียนมาดังนี้.... “จากที่ได้รับฟังการบรรยายของอาจารย์ เมื่อวันที่ 17 มค 49 ที่ NIDA ...มีความรู้สึกว่า การจัดการความรู้ มีลักษณะคล้ายกับ ตำราทำอาหาร กล่าวโดยสรุปก็คือ การจัดการความรู้เป็นการรวบรวมความรู้ ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ของบุคลากรในแต่ละส่วนงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ส่วนตำราทำอาหารก็เช่นกัน เป็นการรวบรวมสูตรการทำอาหารชนิดต่างๆ และถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารชนิดเดียวกัน แต่ก็ยังมีสูตรการทำที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะให้คนหลายคน ทำอาหารชนิดเดียวกันด้วยสูตรเดียวกัน เชื่อว่าจะได้รสชาดที่แตกต่างกัน เพราะ Tacit Knowledge ที่อยู่ในตัวแต่ละคนนั้นมันไม่เหมือนกัน ....ถึงแม้จะมีการแบ่งปัน Tacit Knowledge เหล่านั้น จัดให้มีการเรียนรู้ร่วมกัน  มีการยกระดับความรู้ และนำไปใช้ ก็คงจะทำได้ ในระดับหนึ่งเท่านั้น (ในระดับที่วัดได้) แต่ส่วนที่เป็นแก่น เป็น Core ของTacit Knowledge  ไม่น่าจะลอกเลียนแบบกันได้ เพราะคนแต่ละคนมีความแตกต่างทางด้านร่างกาย, อารมณ์, สังคม, สติปัญญา และจิตวิญญาณ ขอให้อาจารย์ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วย


ความเห็นของผมในเรื่องนี้.... “สูตร/ตำราทำอาหาร (Explicit Knowledge) บอกว่าให้เราใส่อะไรอย่างละเท่าไร ....แม่ครัวสองคนอ่านตำราเล่มเดียวกัน แต่มีเทคนิคเฉพาะตัว (Tacit Knowledge) ต่างกัน เช่น คนแรกต้องรอให้น้ำมันร้อนก่อนจึงใส่ผัก หรือ คนที่สองต้องเอาผักที่จะใช้แช่ในน้ำเกลือก่อน ....ผมเชื่อว่าอาหารที่ออกมานั้น ย่อมจะไม่เหมือนกัน ....สมมติว่าแม่ครัวทั้งสองท่านทำทุกอย่างเหมือนกันทุกประการ (ใช้ทั้ง Explicit Knowledge และ Tacit Knowledge ตัวเดียวกัน) แต่คนหนึ่งทำอาหารอย่างอารมณ์ดี มีความสุข ในขณะที่อีกคนหนึ่งมีอารมณ์ที่ตรงกันข้าม ผมเชื่อว่ารสชาดอาหารก็คงจะไม่เหมือนกัน ...ดังที่คุณ vatara บอกมา ...สรุปว่าผมเห็นด้วยกับคุณ vatara ทุกประการครับ”

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12772เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แล้ว อาจารย์มีความคิดเห็นหรือคาดหวังไว้อย่างไรบ้าง ที่หน่วยงานราชการต้องทำ KM โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เป็นสถาบันการศึกษา ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อนข้างจะแตกต่างกับหน่วยงานราชการอื่น และบุคลากรที่ทำ KM ในสถาบันการศึกษาโดยส่วนใหญ่จะเป็นสายงานสนับสนุน ในขณะที่สายงานอาจาย์ โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ทำ KM

 

คุณ vatara ถามผมว่า "มีความคิดเห็น หรือ คาดหวังเรื่องการทำ KM ในสถาบันการศึกษา อย่างไร?" ขอตอบตรงๆ แบบ "ฟันธง" เลยครับว่า ในฐานะ "คนนอก" ผมมิอาจ "คาดหวัง" อะไรทั้งสิ้น ผมได้แต่ "แนะนำ" หรือ "เสนอ" ว่าถ้า "คนใน" องค์กรต้องการจะพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ LO การจัดการความรู้แบบที่ สคส. ส่งเสริมอยู่นี้ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าจะพาองค์กรไปสู่จุดนั้นๆ ได้

สำหรับในประเด็นที่ว่า สายสนับสนุน ต้องทำก่อน หรือ สายงานอาจารย์ ต้องทำก่อนนั้น จริงๆ แล้วควรจะทำทั้งหมดนั่นแหละครับ จึงจะดี แต่ก็อย่างที่ผมเน้นแหละครับว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ "หัวปลา" ว่ากำลังจะทำ KM เพื่ออะไร ...และผมมักจะแนะนำเสมอว่า ไม่ต้องรอกัน พร้อมส่วนไหนก็เริ่มได้เลย ....NIDA มีความพร้อมที่สายสนับสนุน ก็เริ่มที่สายสนับสนุนก่อน ...ผมว่ามาถูกทางแล้วครับ ขอให้กำลังใจ ถ้ามีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างไร อยากให้ คุณ vatara เปิด blog เล่าให้ฟังบ้างนะครับ

เมื่อสมัยไปเรียน ป. เอกที่ usa มี news group ที่เป็นแหล่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เวลาทำงานมีปัญหาก็มักจะไป post ในกระดานข่าว ว่าง ๆ ก็มีผู้รู้ หรือ มีประสบการณ์แล้วบอกวิธีในการแก้ปัญหาให้ หรือ บอกถึงแหล่งข้อมูลที่จะไปค้นหา

แต่บ้านเรา ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะให้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เห็นกระดานข่าว หลาย ๆ ที่กลายเป็นที่โมษณาลดน้ำหนักไปก็มาก

แต่ก็ได้ข่าวมีหลาย ๆ ที่สนับสนุนอย่างน้อย gotoknow.org ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง

ก็หวังว่าจะมีนักวิชาเข้ามาแลกเปลี่ยนรู้เพิ่มมากขึ้น

เห็นด้วยที่จะมี  group ที่เป็นแหล่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เคยได้ยินหรือมีใครพูดถึง คือ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในองค์กรเดียวกันนั้น เมื่อถึงระดับหนึ่ง ที่บุคลากรทั้งหน่วยงาน/ทั้งแผนก/ทั้งฝ่ายหรือทั้งกองสามารถปฏิบัติงานได้เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน องค์กรจะจักการกับบุคลากรนั้นอย่างไร 

จากประสบการณ์ ขอแสดงความคิดเห็น ไว้ 2 ด้าน  ดังนี้ 1. บุคลากรอาจจะได้รับรางวัลในรูปแบบต่างๆ 2.บุคลากรส่วนหนึ่งอาจจะถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะคนที่ทำงานมานาน ได้รับเงินเดือนสูง เพราะทำงานได้ปริมาณและคุณภาพเท่ากับคนที่เริ่มทำงานได้ไม่นานได้รับเงินเดือนต่ำกว่า                                      อยากให้ท่านผู้อ่านได้แลกเปลี่ยนความเห็นด้วย

 

คงไม่สายไปที่จะขอแสดงความคิดเห็นสำหรับเรื่องนี้นะครับ ผมเห็นด้วยในหลักการนะครับว่าควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในองค์กรเดียวกัน เพื่อยกระดับให้หน่วยงานอื่นๆ พัฒนาในเรื่องเดียวกันหรือที่เกี่ยวข้องได้รวดเร็วขึ้น โดยใช้ ต้นแบบของผู้ที่เคยทำสำเร็จแล้ว มาพัฒนา ซึ่งโดยวิธีการนี้ ไม่น่าจะเหตุให้มีบุคลากรส่วนหนึ่งถูกเลิกจ้าง เนื่องจากมีเงินเดือนสูงกว่าแต่ทำงานได้เท่าเทียมกับเด็กรุ่นใหม่ ในความเห็นของผมคิดว่าการที่เราทำงานมานานสิ่งหนึ่งที่จะมีติดตัวคือประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ใช้แยกคนที่ทำงานเหมือนกันออกจากกัน หากใช้เพียงแค่ output มาวัด อาจไม่เห็นความแตกต่าง แต่เมื่อไรที่ระบบงานมีปัญหา ประสบการณ์จะเป็นตัวที่ช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด นั่นเป็นคุณค่าและความจำเป็นของหน่วยงานในการที่จะต้องสะสมคนที่มีประสบการณ์และมีคุณค่าต่อองค์กรไว้ ไม่ใช่เลือกที่จะลดต้นทุนด้านบุคลากรอย่างเดียว ต่อไปหากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะตกหลุมพรางที่ตัวเองขุดไว้ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท