ถ้ารักงานที่ทำและได้ทำงานที่รัก. . . รวยนักก็อย่า “รู้สึกผิด”


ไม่ทราบว่าทำอย่างไรถึงจะขจัดความเชื่อผิดๆ ที่ว่าถ้าทำงานที่มีคุณค่าที่เรารักไม่สมควรได้เงินเยอะกันเสียที

ผมได้รับคำถามที่น่าสนใจจากท่านที่ใช้นามว่า นิก ดังนี้

         หนังสือ . . . . . . ทำให้ผมสลดใจกับหลักการทางศาสนาที่เขียนถึงนักร้องคนหนึ่งที่เธอรักงานของเธอมากแต่เธอได้เงินเยอะเลยรู้สึกผิด ไม่ทราบว่าทำอย่างไรถึงจะขจัดความเชื่อผิดๆ ที่ว่าถ้าทำงานที่มีคุณค่าที่เรารักไม่สมควรได้เงินเยอะกันเสียที เมื่อไรคนทั้งโลกจะคิดจะพูดได้เต็มปากว่าผมรักเซ็กส์ ผมรักเงิน ผมรักเมืองนอก รักวรรณกรรม รักดนตรี ร้องรำทำเพลง ผมอยากให้คนทำงานที่ตนรักสุดๆ อย่าง วอลท์ ดิสนีย์ โดนัลท์ ทรัมป์ แล้วก็ยังรวยอย่างมหาศาลด้วย ขอความเห็นเรื่องนี้ด้วยครับ และอีกเรื่องที่อยากถามครับ ศาสนาพุทธบอกให้ตัดกิเลสความอยาก ถ้าตัดแล้วเราจะมีแรงจูงใจทำอะไรได้ยังไงครับ ช่วยตอบด้วย ขอบคุณครับ

ผมขอตอบคุณนิกตรงนี้ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง ดังนี้ครับ . . .

         นิกครับ . . . ผมอยากจะแจมเรื่อง การทำงานที่เรารัก กับการรักงานที่เราทำ สักนิดว่า ถ้าเราได้ทั้งสองอย่างคือ 1. รักงานที่เราทำ และ 2. ได้ทำงานที่เรารัก ผมว่าคนๆ นั้นถือว่า โชคดีสุดๆ เลยล่ะครับ แต่ประเด็นคงอยู่ที่ว่า ถ้าเลือกทำงานที่เรารัก แล้วรายได้มันไม่มากพอ (ไม่พอใช้) แล้วจะทำอย่างไร? ผมว่าคำตอบในเรื่องนี้ของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะทำต่อไปโดยไม่ย้อท้อ บางคนอาจเปลี่ยนใจไปทำสิ่งที่ตนไม่รักแต่ได้เงินมากกว่า บางคนก็บอกว่าสามารถ ทำใจ ให้รักงานทุกงานได้ และคงมีอีกหลากหลายคำตอบครับ

         แต่เท่าที่เห็นมา ไม่ว่าจะเป็น วอลท์ ดิสนีย์ หรือ คนอื่นๆ ที่นิกยกตัวอย่างมา จะเห็นได้ว่าคนเหล่านั้นมี  “Passion” ในสิ่งที่เขาทำอยู่นั้น Passion ที่มีนี้ทำให้เขาทำงานนั้นได้อย่างเต็มที่ จนในที่สุดผลงานก็ออกมาดี และมีเงินมากมายอย่างที่เราเห็นอยู่ทั่วไป  ดังนั้นการมี Passion มีความใฝ่ฝัน ความปรารถนา หรือว่าหลงใหล (ฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไร) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมุ่งมั่น จริงจัง จะเป็นต้นกำเนิดของพลังการทุ่มเท ทำให้เป็นผู้ที่ กัดไม่ปล่อย ไม่ท้อถอยง่าย ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนต่อปัญหา ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเป็นบันไดขั้นสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ

        คำว่า Passion ที่ผมใช้ในที่นี้น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า ฉันทะ ในพุทธศาสนา ผมเคยอ่านหนังสือของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ประยุตฺโต) ท่านสอนว่าศาสนาพุทธแยก ความอยาก ออกเป็นสองอย่าง อย่างแรกเป็นความอยากเพื่อที่จะสนองกิเลส ตัณหา ความอยากแบบนี้ทางพุทธสอนให้ลด สอนให้ละ แต่ความอยากอีกอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า ฉันทะ ท่านบอกว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมี เป็นความรักในงาน เหมือนกับที่ท่านวอลท์ ดิสนีย์ มีต่องานการบุกเบิกเรื่องการ์ตูน ผมเห็นความมุ่งมั่นของท่านในเรื่องนั้น ผมไม่เชื่อว่าท่านทำการ์ตูนเพราะต้องการจะร่ำรวย หรือทำเพื่อเงิน แต่เงินหรือความร่ำรวยนั้นเป็นเพียง ผลพลอยได้ ที่ตามมาทีหลัง เป็นผลพลอยได้อันเนื่องมาจากการ รักงานที่ทำ และได้ทำงานที่รัก  ดังนั้นเวลาพูดว่าความอยาก คงต้องดูให้ดีนะครับว่า เป็นความอยากแบบไหน

นี่คือความเข้าใจของผมครับ ถูกผิดประการใด ท่านผู้อ่านทั้งหลายช่วยแนะนำมาได้ครับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผมและผู้ที่ถามมา หวังว่านิก คงไม่ว่าที่ผมนำคำถามมาลงไว้ในบันทึกนี้นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 209630เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2008 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์

  • มีฉันทะ ทำในสิ่งที่เรารัก เราชอบ เรามีศรัทธา ใช้ความวิริยะ และ อุตสาหะ น่าจะเป็นปลื้มครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์หมอ JJ ครับ

  • รวยอะไรหรือครับอาจารย์
  • ทรัพย์ ,ปัญญา หรือ ความสุข
  • แต่ละคนมีเป้าหมายในสิ่งที่แตกต่างกัน
  • นี่คือผลงานของคนที่ทำงานด้วยรักและศรัทธา
  • แล้วเขารวยหรือยังเราก็ทราบกันอยู่
  • แต่เขามีความสุขและทำให้คนไทยหลายคนมีความสุข
  • ถ้าเราทำงานที่เรารัก แล้วเราได้ปัญญา ความรู้ แม้ว่าจะยังไม่รวย
  • ก็คงจะใช้ปัญญา ใช้ ความรู้ หาหนทาง อยู่รอด พออยู่พอกิน จนได้เอง ทำงานที่รัก และมีความสุขด้วย
  • อย่างไรเสีย การที่เราสามารถรู้ได้ว่า
  • งานที่เรารักคือะไร ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ที่จะหาสิ่งอื่นจากงานนั้น
  • เพราะในสังคมนี้  ยังมีไม่น้อยเลยครับ
  • ที่ไม่รู้จักตัวเอง  ว่า อะไรกันแน่ที่ตัวเองชอบ
  • หรือว่าที่ชอบที่รักนั้น เป็นเพียง ตามเขาไป กันแน่.

ขอบคุณอจ.ประพนธ์มากครับสำหรับคำตอบ หายคาใจขึ้นเยอะเลยครับ ผมเคยอ่านหนังสือ อยู่อย่างปาฏิหารย์(REAL MAGIC)ของ DR.WAYNE W. DYER ท่านก็พูดอย่างนี้เหมือนกันครับ แล้วก็อีกเล่ม รวยด้วยคุณธรรม:จิตวิญญาณแห่งความสำเร็จ ของ วินเซนต์ เอ็ม.โรอาซิ ก็บอกให้มุ่งเน้นที่งานเต็มที่แล้วเงินจะไหลมาเอง ยังไงก็แนะนำให้ลองอ่านดูนะครับ ดีมากๆ ของสนพ.ต้นไม้ครับ

นิก . . . ผมเองก็เป็นแฟนหนังสือ Dr. Wayne Dyer เหมือนกันครับ ช่วงหลังท่านหันมาสนใจคัมภีร์เต๋าเต้อจิง และฝึกฝนอย่างจริงจัง สำหรับประเ็ด็นเรื่อง "ตัณหากับฉันทะ" ผมเพิ่งเห็นความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งครับซึ่งก็คือ . . . ฉันทะเป็นความปรารถนา ต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เป็นความปรารถนาที่เป็นปัจจุบัน ส่วนตัณหานั้นเป็นความปรารถนาในอนาคต อยากได้ ต้องการ คาดหวังอะไรบางอย่างที่ยังไม่มีตรงหน้านี้ . . .

ขอบคุณ คุณสุรวัฒน์สำหรับ Comment และภาพที่สวยงาม ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ไปดูหนังการ์ตูนเรื่องพระพุทธเจ้า

สวัสดีครับ

  • เรื่องนี้โดนใจอีกแล้วครับ
  • คำถามที่นำเสนอ และคำตอบที่หมดจด งดงาม ชัดแจ้ง ก่อประโยชน์ในวงกว้างจริงๆครับ
  • รัก พอใจ อยาก  มองผิวเผินคนมักเหมาว่าคือกิเลส แต่เมื่อมองที่ปฐมเหตุอันเป็นแรงขับ ก็จะพบว่า ความรัก ความพอใจ ความอยาก นั้นมีเส้นทางไปสู่ที่หมายสองที่  ที่แห่ง ความสุข ความอิ่มใจ ที่หนึ่ง และอีกที่หนึ่งนั้น มีความรุ่มร้อน ความกระวนกระวาย ความทุกข์ใจรออยู่
  • ผมเรียกมันว่า "ฉันทะแท้" กับ "ฉันทะเทียม" ครับ ความหมายเป็นอย่างไร ฝากให้ลองคิดกันต่อดู
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท