เลียน ล้อ บนรอยโคลน จากโคลนติดล้อ ภาษาไทย ม.๕


            เปิดภาคเรียนใหม่กับวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ซึ่งครูภาทิพรับผิดชอบสอน  ห้อง ม.๕/๑  /๔  /๗  /๑๐  จากนักเรียนทั้งหมด ๑๒ ห้อง  เริ่มด้วยเรื่องโคลนติดล้อ  ซึ่งเป็นบทความทางการเมืองของอัศวพาหุ   ครูภาทิพทิ้งการสอน ม.๕ มาหลายสิบปีแล้ว    ก็เริ่มตั้งหลักด้วยการคุยกับพี่ๆ ที่เขาเคยสอนเรื่องนี้มาก่อน  ซึ่งจะเน้นให้เด็กทำใบงาน สรุปใจความ และทำคำศัพท์  ด้านการเขียนก็ให้เด็กเขียนเรียงความ  ใจก็ค้านทันที  เด็กอ่านบทความก็ต้องเขียนบทความสิ  แต่เมื่อย้อนไปดูปัญหาระดับประเทศ  ผลสัมฤทธิ์ของเด็กด้านการเขียนต่ำ   มันจะไหวรึ? ถ้าจะให้เด็กเขียนบทความ

 

 

            ด้วยนิสัยที่ชอบลอง  และชอบออกแบบการสอน   ก็ทดลองตามวิธีการของครูภาทิพ   เริ่มตั้งแต่อ่านมาถึงขั้นการเขียน ใช้เวลาทั้งสิ้น ๕ คาบ   นักเรียนก็ทำได้ในระดับดีถึงดีมาก  ส่วนความรับผิดชอบ ครูภาทิพให้คะแนนระดับดีมากทุกคน    ผลของการสอนที่เกิดขึ้น   เกิดจากการดำเนินการดังนี้

 

 

 คาบที่ ๑ - ๒  อ่าน คิดวิเคราะห์ตีความ จากชื่อเรื่อง สู่เรื่องใกล้ตัว 

               - ความหมายของโคลนติดล้อ  ตัวแทนนักเรียนแต่ละแถว  อธิบายความหมายของโคลนติดล้อตามความเข้าใจ   ครูเขียนข้อความที่นักเรียนบอกบนกระดาน  ซึ่งจะมีทั้งคำตอบกวน ๆ  และคำตอบที่ตรงประเด็น

 

 

-          ครูบอกขีดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเจ้าของคำตอบว่า คำตอบที่ให้มานั้นเทียบได้กับความรู้ของนักเรียนระดับใด  ซึ่งก็สร้างบรรยากาศสนุกสนานในการเรียนได้พอสมควร

 

 

-          ครูอธิบายความหมายของโคลนติดล้อให้นักเรียนฟัง    จากนั้นให้นักเรียนมองตนเอง  ว่านักเรียนเป็นโคลนหรือไม่   ถ้าเป็น  เป็นโคลนของอะไร  โคลนของตนเอง  โคลนของครอบครัว  โคลนของสังคม  โคลนของประเทศชาติ

 

-          เมื่อนักเรียนสำรวจตนเองแล้วให้เขียนลงในสมุด  และเขียนบนกระดานจนครบทุกคนจากทั้ง ๔ ห้องมีนักเรียนเพียงคนเดียวที่บอกว่า “ ผมไม่เป็นโคลน  หากแต่มีโคลนมาติดผม  โคลนนั้นคือกิเลส”   คำตอบที่มีค่อนมากและคล้ายๆกันคือ เป็นโคลนของตนเอง คือ ขี้เกียจ  ไม่ขยัน   หนีเรียน      กลุ่มที่น่าสนใจ คือกลุ่มที่ตอบว่าตนเองเป็นโคลนของครอบครัว   ทำให้ครอบครัวไม่สมหวัง   ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังของพ่อแม่  ซึ่งมีอยู่ทุกห้อง  

 

               -  ครูให้นักเรียนกลุ่มที่เขียนว่าตนเองเป็นโคลนของครอบครัว  ทำให้ครอบครัวผิดหวัง  ออกมาอธิบายถึงสิ่งที่ตนเองเขียน   ทั้งครูและนักเรียนต่างได้เห็นความกดดันจากครอบครัวที่เพื่อนของเขาได้รับ  บางคนพูดไปน้ำตาซึมไป    ปัญหาต่างๆที่เขาได้รับการกดดัน  เช่น การสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย   การไม่ยอมรับเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศ   พ่อแม่ต้องการให้ลูกเรียนแพทย์ขณะที่ลูกไม่ได้ชอบแพทย์  ลูกอยากเรียนสายศิลป์แต่พ่อแม่ให้เรียนสายวิทย์   บางคนถูกบุพการีทวงบุญคุณ   “ที่ยืนอยู่ตรงนี้ได้เพราะใคร...”

 

             - นักเรียนอ่านโคลงติดล้อย่อหน้าที่ ๑-๒  ให้นักเรียนสังเกต  วิธีการนำเสนอ  การเกริ่นนำ ให้เหตุผลของการเขียนบทความ   แล้วขยายความร้อยเรียงต่อกันอย่างน่าสนใจ

 

             - นักเรียนอ่านย่อหน้าที่ ๓ แล้วเขียนแสดงความคิดเห็นด้วยกับคำพูดของบุคคลพวกหนุ่มๆ ที่ทำงานเสมียนหรือเลขานุการหรือไม่ ที่ตอบอัศวพาหุ ถึงสาเหตุที่พวกเขาไม่กลับไปช่วยบิดามารดาทำการเพาะปลูก ว่า “ ได้รับการศึกษาแล้วไม่ควรจะเสียเวลาไปทำงานชนิดซึ่งคนที่ไม่รู้จักหนังสือก็ทำได้”   พร้อมอธิบายเหตุผลที่ตอบเช่นนั้น

 

 

คาบที่ ๓ นักเรียนอ่านบทความทุกย่อหน้าแล้วจับใจความสำคัญทำในรูปแผนผังความคิดลงสมุด (๒ คะแนน) 

  

คาบที่ ๔ แกะรอยโคลน

๑.      ครูแนะนำให้นักเรียนสังเกตวิธีการเขียนบทความ โคลนติดล้อ ตอนความนิยมเป็นเสมียน  เริ่มจาก

 

  •           การเกริ่นถึงปัญหา  ซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงการให้การศึกษา การตั้งโรงเรียนเป็นปัญหา

  •           ผู้เขียนขยายในย่อหน้าต่อมาว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจาก คนที่ได้รับการศึกษามีค่านิยมเป็นเสมียนแทนการกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตามเป้าหมายของการจัดการศึกษา  ซึ่งประเทศต้องการให้คนที่มีการศึกษามาพัฒนาในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการเกษตร

  •           ย่อหน้าต่อผู้เขียนก็เล่าถึงเหตุผลของเหล่าบรรดาเสมียนที่ไม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด

  •           ย่อหน้าต่อมาเล่าพฤติกรรมของเสมียนว่าทำไมจึงเป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศ 

  •           ย่อหน้าต่อมาเขียนถึงสิ่งที่ควรจะเป็นตามความคิดของผู้เขียน เชิญชวนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของทุกๆอาชีพ

  •           ย่อหน้าสุดท้าย  ยืนยันความคิดของผู้เขียนในเรื่องของอาชีพ  ว่าทุกอาชีพมีความสำคัญเท่ากัน  โดยเฉพาะอาชีพด้านการเกษตรมีความสำคัญเท่ากับอาชีพอื่น ๆ

 

       ๒. นักเรียนร่วมกับครูเสนอปัญหาที่กำลังเป็นที่นิยม/ความสนใจของนักเรียน   ซึ่งได้ปัญหาต่างๆดังนี้

            - การเมือง

            - การเรียน โรงเรียน

            - วัยรุ่น  ความรัก

            - ครอบครัว

            - กีฬา  เกม

 

       ๓. นักเรียนเลือกประเด็นที่ตนเองสนใจ ๑ ประเด็น พร้อมทั้งวางแผนการเขียน  (เก็บคะแนน ๒ คะแนน) นักเรียนส่งเมื่อหมดคาบเรียน

 

                                    การวางแผนเขียนบทความ

 

-         ประเด็นที่เลือกเขียน

-         เหตุผลที่เลือกเขียนบทความประเด็นนี้

-         ต้องการจะบอก/นำเสนออะไรให้ผู้อ่านรับทราบ

-         ผู้เขียนมีความคิด ความเชื่อในประเด็นที่เขียนอย่างไร

-         ชื่อเรื่อง

-         นามปากกา

 

 

คาบที่ ๕ เลียน ล้อ บน รอยโคลน

๑.     ครูนำชิ้นงานการวางแผนการเขียนบทความที่ผ่านการตรวจคืนนักเรียน

๒.    นักเรียนเขียนบทความตามที่ได้วางแผนไว้  (๕ คะแนน)

๓.    นักเรียนส่งผลงานทันทีที่หมดเวลา

๔.    ครูนำผลงานไปตรวจ  แล้วส่งคืนนักเรียนเพื่อนำมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ (คะแนนการเผยแพร่ ๒ คะแนน)

 

 

ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเรื่องนี้

๑.     นักเรียนส่งผลงานครบ ๑๐๐ %

๒.    มีผลงานนักเรียนบางชิ้นมีลักษณะคล้ายกับผลงานที่ ดัดแปลงจากการอ่านผลงานของผู้อื่นซึ่งผู้สอนได้ตั้งข้อสังเกตไว้กับงานชิ้นนั้น ๆ

 

         ผลงานนักเรียน คลิก   >>
            เลียน ล้อ บนรอยโคลน จากโคลนติดล้อ สู่ผลงานนักเรียน ห้อง ม. ๕/๑
           เลียน ล้อ บนรอยโคลน จากโคลนติดล้อ สู่ผลงานนักเรียน ห้อง ม. ๕/๔

           เลียน ล้อ บนรอยโคลน จากโคลนติดล้อ สู่ผลงานนักเรียน ห้อง ม. ๕/๗

           เลียน ล้อ บนรอยโคลน จากโคลนติดล้อ สู่ผลงานนักเรียน ห้อง ม. ๕/๑๐

                      

หมายเลขบันทึก: 365376เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • มาบอกพี่ว่า
  • วันที่ 28 สค  สพท สุราษฏร์ฯ เขต 1 เชิญไปพูดเรื่องวิจัยในชั้นเรียน
  • ครั้งนี้น่าจะได้พบกับพี่
  • เอามาฝาก EP สุราษฏร์ฯ

Satreephuket school International English Program Training :Project work (1)

Satreephuket school International English Program Training :Project work (2)

 project diary(1)

Project diary (2)

  • พี่ครูภาทิพมีข้อมูลมาก
  • ไปสร้างใน portal แบบนี้นะครับ
  • http://portal.in.th/kha-ku/pages/4815/
  • จะได้หาข้อมูลง่ายๆๆ

สวัสดีค่ะ

 

  ขอบคุณค่ะ  เสียดายที่ใกล้เกลือกินด่าง   แวะไปอ่านมาแล้วค่ะ

ส่วนสบายดีไหม   ไม่สบายค่ะ   เป็นครูที่มีสุขภาพย่ำแย่   พยายามต่อสู้และเข้มแข็งแล้ว   แต่สังขารไม่สู้ด้วย

สภาพขณะนี้  คือพิงเชือกไปเรื่อยๆ รอเวลาเหมาะสม   จะลาออกจากราชการโดยที่ไม่เดือดร้อนทางการเงิน

2.
P
ขจิต ฝอยทอง
เมื่อ พฤ. 01 ก.ค. 2553 @ 11:00
#2067938 [ ลบ ]
  • มาบอกพี่ว่า
  • วันที่ 28 สค  สพท สุราษฏร์ฯ เขต 1 เชิญไปพูดเรื่องวิจัยในชั้นเรียน
  • ครั้งนี้น่าจะได้พบกับพี่

 

ถ้าหากว่าจัดโดย ศกม.หรือศูนย์มัธยม  พี่จะได้ไป  แต่ถ้าหากว่าจัดโดย เขต พี่อาจจะไม่ได้ไปค่ะ   ครูภาทิพจะติดตามข่าว  หากสุขภาพดี  น่าจะได้มีโอกาสเจอสักที (สิน่า)

  • เอามาฝาก EP สุราษฏร์ฯ

Satreephuket school International English Program Training :Project work (1)

Satreephuket school International English Program Training :Project work (2)

 project diary(1)

Project diary (2)

 

แวะไปอ่านมาแล้วค่ะ  ของโรงเรียนจ้างBFITS   สอน  การทำค่าย BFITS  จึงต้องรับผิดชอบค่ะ 

  • พี่ครูภาทิพมีข้อมูลมาก
  • ไปสร้างใน portal แบบนี้นะครับ
  • http://portal.in.th/kha-ku/pages/4815/
  • จะได้หาข้อมูลง่ายๆๆ

แวะไปเยี่ยมมาแล้ว สะดวกดีกว่าทำเว็บเพจเอง  ก่อนนี้พี่ต้องนำบันทึกจากที่ต่างๆ มาทำลิงค์ไว้ที่หน้าโฮมเพจ   มีเวลาและสุขภาพดี เมื่อไรจะเข้าไปศึกษารายละเอียด  ขอบพระคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายด้วยความระลึกถึง สบายดีนะคะ
  • วันนี้บุษราได้นำภาพดอกไม้สวย ๆ มาฝากกันค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                         

คุณครูเก่งมาก โดยเฉพาะในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

สวัสดีค่ะ นก  ช่วงนี้ไม่ได้ติดตามบันทึกของนกเลยค่ะ  "หัวฟูจริงๆ"

 

 

 

สวัสดีค่ะ สุภาพร   ขอบคุณค่ะ  ที่ล้มเหลวในการจัดกิจกรรมก็มากค่ะ  แต่ไม่ได้นำมาบอกต่อ   เพราะมันไม่ได้ผล  

ครูภาทิพครับ กระบวนการเรียนการสอนแบบนี้ แม้ว่าจะต้องเหนื่อยกับการเตรียมกระบวนการบ้าง ก็คุ้มนะครับ สร้างสรรค์และเผยแพร่ไปเรื่อยๆ นะครับ

สวัสดีค่ะครูหยุย  

      ดีใจมากค่ะที่บันทึกนี้ได้รับเกียรติจากครูหยุยมาอ่าน

      ครูภาทิพเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ร่วมบริจาคสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิ   น่าจะเป็นมาตั้งแต่ช่วง  ปี ๓๖ มาเว้น  เมื่อ ๒ ปีที่ผ่านมาด้วยเหตุผล ๒ ประการ

      ๑. ถูกเรียกภาษีคืนเพราะคิดภาษีในส่วนนี้ผิด

      ๒. คนใกล้ตัว   เด็กใกล้ตัวก็มีปัญหา จึงมาบริจาคที่ใกล้ๆ ตัวก่อน

 

       ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาอ่าน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท