และแล้วการรอคอยอันนานแสนนานและลางเลือนก็สิ้นสุดลง...ด้วยการที่แม่เซาะเล้งมีตัวตนบนสังคมไทยอย่างเต็มภาคภูมิ


             วันนี้ (16 กรกฎษคม พ.ศ. 2553) ผมตื่นมาแต่เช้าเพื่อเตรียมพร้อมที่จะไปพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาของแม่เซาะเล้ง ผมเริ่มมาที่กระทรวงแรงงานตึกใหม่ เวลาประมาณ 08.30 น. จากนั้นก็ไม่รีรอที่จะรีบขึ้นไปที่กรมการจัดหางาน กองการจัดระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ซึ่งป็นสถานที่รับพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาของแรงงานต่างด้าว ซึ่งคนเยอะมาก เพราะว่าแรงงาน 3 สัญชาติมาพิสูจน์พร้อมกันหมดเลย แต่ว่าพม่าและลาวมาเร็วไปเร็วก่อน คนจึงเริ่มระบายออกไปบ้าง

 

          

           ประมาณเวลา 09.00 น. ก็มีเจ้าหน้าที่ทางฝ่ายกัมพูชามาตั้งโต๊ะรับเอกสารและให้บัตรคิว สักประมาณเกือบจะ 10.00 น. แม่เซะเล้งก็มากับพี่เตือนและยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารก็ทำการจัดและตรวจสักพักจึงให้บัตรคิว แม่เซาะเล้งได้คิวที 30 ระหว่างที่เรารอเรียกคิวนั้น แม่เซาะเล้งดูตื่นเต้นและระทึกใจมาก แม่ได้พยายามที่จะฝึกพูดภาษาเขมร และพยายามหัดเขียนตัวอักษรเชรียง (อักซอเจรียง) ซึ่งเป็นตัวอักษรที่เขมรใช้ในปัจจุบัน คุณแม่ได้เขียนชื่อ นามสกุลและวันเดือนปีเกิดในนั้น

 

        จากนั้นก็ได้พยายามที่จะฝึกพูดแบบเร่งรัด โดยการสนทนากับคนกัมพูชาคนอื่น ๆ โดยเริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่โต๊ะตรงนั้น เจ้าหน้าที่ก็น่ารัก ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แล้วก็สอนคุณแม่ออกเสียงด้วย (เฮ้อ !!! แล้วอย่างนี้เขาจะเชื่อไหมเนี่ย...อิอิ) เจ้าหน้าที่สองคนได้พยายามช่วยคุณแม่ทุกวิถีทาง เนื่องจากแม่เซาะเล้งเมื่ออยู่ที่กัมพูชานั้น แม่ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาเขมรเท่าไร เพราะแม่เรียนที่โรงเรียนของชาวฝรั่งเศส และเป็นครอบครัวคนจีน จึงใช้แต่ภาษาจีนและฝรั่งแศสเป็นเสียส่วนใหญ่ และเนื่องจากกว่า 30 ปีแล้วที่แม่เซาะเล้งมาอยู่ในประเทศไทยจนผสมกลมกลืนกับสังคมไทย อีกทั้งหน้าตาผิวพรรณก็ดูออกจีนมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่แม่เซาะเล้งก็ไม่ลดละความพยายามไปนั่งฝึกพูดกับแรงงานกัมพูชาคนต่อไป

 คุณแม่เซาะเล้งแลดูกังวลใจมากนัก เมื่อรอสักพักก็มีเสียงประกาศเรียกเข้าไปเพื่อสอบสัมภาษณ์ พวกเรามีพี่เตือน พี่ตี้ (ลูกแม่เซาะเล้ง) และผม เข้าตามไปด้วย ข้างในมีการแบ่งส่วนโดยพาร์ทติชั่นเป็นแผงกั้นไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางฝ่ายกัมพูชาอยู่ส่วนข้างในมีทำงานอยู่ ประมาณ 4-5 โต๊ะ และเจ้าหนาที่ก็ให้คุณแม่ยื่นเอกสาร จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ให้พวกเราที่มาเป็นกำลังใจออกไป (แลดูน่าจะเกะกะเขามั้ง) เมื่ออกมาพวกเราก็กังวลใจว่าคุณแม่จะไปต่อได้หรือไม่ และแล้วคุณแม่ก็ออกมาพวกเราดีใจสุดขีดคิดว่าเสร็จแล้ว แต่ดูสีหน้าคุณแม่แล้วแลดูตื่นตระหนกตกใจมากสุดขีด เพราะว่าเจ้าหน้าที่แลดูไม่เชื่อว่าเป็นคนกัมพูชาจริง ๆ คุณแม่จึงอ้างพยานเอกสาร นั่นก็คือ สูติบัตรที่ออกโดยอำเภอที่กัมพูชา ซึ่งอากู๋ได้ไปคัดที่กัมพูชาเมื่อปี ค.ศ. 2001 อันเป็นไม้ตายของแม่เซาะเล้งหายไปพวกเราก็พยายามช่วยกันค้นหาจนรู้สึกแปลกใจ เพราะว่าเพิ่งเอาออกมาดูเมื่อกี้นี่เอง และตกใจมาก สักพักพี่ตี้เอะใจจึงเอากระเป๋าถือใบเล็ก ๆ ที่แม่เซาะเล้งถือไว้กับตัวตลอดมาเปิดดู นั่นไงอยู่ในนั้นนั่นเอง (เฮ้อออออออ....) จากนั้นก็กลับเข้าไปใหม่

           สักพักคุณแม่เซาะเล้งก็ออกมาจากห้องที่เขาสัมภาษณ์ หรือห้องพิสูจน์สัญชาตินั่นเอง คุณออกมาค่อนข้างจะกังวลใจเนื่องจากว่าไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เขาจะเชื่อไหม สำหรับคำถามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชาถามนั้นก็ประมาณว่าชื่ออะไร เกิดเมื่อไร และอาสัยอยู่ที่กัมพูชาที่ตรงไหน การพูดคุยก็เป็นภาษาเขมร และแน่นอนว่าจะต้องตอบเขต และเมืองให้ถูกต้อง ซึ่งในตอนแรกคุณแม่ตอบไม่ได้ ตอบได้แค่เมืองพนมเปญ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากคุณแม่ออกมาจากกัมพูชานานมากแล้ว การแบ่งเขตการปกครองก็ลี่ยนไปมาก จึงให้รายละเอียดอะไรได้ไม่มากนัก พอเจาหน้าที่แสดงอาการว่าไม่เชื่อคุณแม่ก็นำเอาใบสูติบัตร และน่าจะเป็นพาสปอร์ตของน้องชายแม่เซาะเล้งมาให้เจ้าหน้าที่ดู ซึ่งได้ผลเกินคาดเจ้าหน้าที่เชื่อ และให้แม่เซาะเล้งเอานิ้วหัวแม่มือประทับตราลงบนพลาสปอร์ตกัมพูชาแบบชั่วคราว

            ประมาณสาย ๆ อาจารย์ชลทัยก็ได้เดินทางมาถึงพวกเราก็แสดงความยินดี และดีใจพูดคุยสนทนากันพักใหญ่ (จนรู้สึกว่านานมากแล้ว) และผมก็ได้เห็นแรงงานชาวกัมพูชาคนที่สัมภาษณ์รอบเดียวกันกับแม่เซาะเล้งเดินไปมาแถว ๆ หน้าห้อง ในมือถือพลาสปอร์ต ผมรู้สึกสงสัย เพราะเห็นเขาได้สักพักจึงเดินไปถาม แล้วก็ได้คำตอบว่า เจ้าหน้าที่เขาเรียกนานแล้ว พวกเราสนทนากันอย่างจริงจังจนไม่ได้ยินอะไร....อิอิ.....จากนั้นก็ไปรับพาสปอร์ต

           

          เมื่อแม่เซาะเล้งได้รับพาสปอร์ตแล้วก็ดีใจมาก คุณแม่ขอบคุณทุกคน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ และขอบคุณพวกเรา และทุกแรงใจที่ส่งมาถึงเธอ ทุกคนดีใจกันสุดฤทธิ์ แบบประมาณว่าวันนี้ที่รอคอยกันมากมาย เราดีใจจนบอกไม่ถูก รีบถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกตามกิจวัตรที่เราชอบทำกัน

   

           แล้วก็ให้อ.ชลดำเนินการต่อไปเพราะผมและพี่เตือนต้องไปทำธุระต่อ การดำเนินการต่อไปก็คือ การไปแสตมป์ VISA ที่ต.ม. แม่เซาะเล้ง พี่ตี้ และอ.ชลได้รีบไปที่ต.ม.ที่ศูนย์ราชชการแจ้งวัฒนะ แต่เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่สามารถแสตมป์ได้ เพราะว่าจะต้องไปที่ต.ม.ในเขตที่แม่เซาะเล้งมีภูมิลำเนา นั่นก็คือที่ จ.ตากนั่นเอง ซึ่งอ.ชลรับเป็นธุระต่อไปที่จะดำเนินการแสตมป์ VISA ที่จ.ตาก ภายใน 1 เดือน

            และนี่เป็นการขจัดความไร้สัญชาติของแม่เซาะเล้งโดยการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชา เพื่อขอรับเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐกัมพูชา ดังนั้น ตอนนี้แม่เซาะเล้งจึงมีสัญชาติกัมพูชา สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือการไปเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านท.ร13 อีกทั้งไปเปลี่ยน VISA ให้เป็นแบบ VISA คู่สมรสของคนสัญชาติไทย และขอยื่นแปลงสัญชาติโดยการสมรสตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 และไปเปลี่ยนพาสสปอร์ตกัมพูชาเป็นแบบถาวร

            ณ วันนี้ แม่เซาะเล้งได้กลายเป็นคนถูกกฎหมาย มีรัฐกัมพูชาเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรกัมพูชา แม่จึงเป็นคนสัญชาติกัมพูชา และเมื่อเธอเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เธอจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีสิทธิอาศัยชั่วคราว

            และหลังจากนี้ แม่เซาะเล้งจะต้องไปแสตมป์ VISA และมีหน้าที่ต้องไปต่อ VISA ทุกปี ซึ่งตาม MOU แล้ว แม่เซาะเล้งจะอยู่ในประเทศไทยได้ 4 ปี และไปรายงานตัวที่ต.ม. ทุก 90 วัน

            จากนั้นก็ไปขอ Work Permit ที่กรมการจัดหางานที่จ.กำแพงเพชร ส่วนระยะเวลาการต่อ Work Permit นั้นขึ้นอยู่กับการจ้างงาน และลักษณะงานที่ทำ อาจจะเป็น 3 หรือ 6 เดือน หรือ 1 ปี และตรวจร่างกาย

           กาลเวลาแห่งความสุขเริ่มขึ้นแล้ว กว่า 37 ปีที่รอคอย กว่า 37 ปีที่ไร้ตัวตนในสังคม กว่า 37 ที่มีความหวังอันเลือนลาง...มาถึงวันนี้ วันที่รอคอยอย่างมีคุณค่า

            ผมเคยได้อ่านเรื่องราวของแม่เซาะเล้ง และจดหมายที่ลูก ๆ เขียนมา แทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว แล้วก็คิดไม่ถึงว่าการต่อสู้ของหญิงคนหนึ่งมากว่า 37 ปีที่รอคอย จะสิ้นสุดลง ณ วันนี้

            และในอีกไม่ถึงเดือนก็จะใกล้ถึงวันแม่แล้ว จากบทความ

ของขวัญของแม่ : จากใจลูกที่มีแม่ไร้สัญชาติ....ก่อนจะถึงวันแม่(ไร้สัญชาติ)

: จดหมายจากคุณพรพรรณ (ลูกสัญชาติไทย) เพื่อแม่ไร้สัญชาติ

วันอังคารที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙  

           ทำให้ผมรู้สึกว่า ณ ตอนนี้ ลูกของแม่เซาะเล้งได้ให้ของของขวัญวิเศษแก่คุณแม่แล้ว เป็นของขวัญอันล้ำค่าและควรค่าแก่การรอคอย ของขวัญที่แม่เซาะเล้งอยากได้มากที่สุดตั้งแต่เข้ามาเหยียบบนผืนแผ่นดินไทย นั่นก็คือ การที่แม่เซาะเล้งเป็นคนมีรัฐ เป็นคนมีสัญชาติสามารถยืนอยู่บนผืนแผ่นดินไทยได้อย่างภาคภูมิ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ มีสิทธิเหมือนเป็นคนไทยคนหนึ่ง  

          และนี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จ SS = Success Story ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าประทับใจ เรื่องราวชีวิของเธอได้บอกเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมในสังคม และที่สำคัญนั่นก็คือ ผู้มีปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง นี่คืออีกงานของอ.แหวว และคณะศิษย์ในงานการช่วยเหลือประชาชน และของเราชาวคณะทำงานบางกอกคลินิก แม่เซาะเล้งต่อสู้มากว่า 37 ปี ในการที่จะทำให้ตนเองเป็นคนถูกกกฎหมายในสายตาของรัฐไทย และในวันนี้แม่เซาะเล้งก็ทำภาระกิจนี้ได้สำเร็จลง

“และแล้วการรอคอยก็จบลง...ด้วยการที่แม่เซาะเล้งมีตัวตนบนสังคมไทยอย่างเต็มภาคภูมิ”

 

 

*******************************************************************

 

เรื่องราวของแม่เซาะเล้งผู้หนีภัยความตายมาจากประเทศกัมพูชามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ แผ่นดินไทย โปรดอ่าน

 “รวมเรื่องของเซาะเล้ง...จากอดีตคนไร้รัฐที่เกิดในประเทศกัมพูชาสู่คนสัญชาติกัมพูชาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

 

 

หมายเลขบันทึก: 377008เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2010 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอชื่นชมในความพยายาม

และการเป็นกำลังใจของทุกคนค่ะ

สวัสดีค่ะ

ตามมาอ่านด้วยอาการลุ้นระทึกค่ะ...ขอแสดงความดีใจด้วยนะคะที่แม่เซาะเล้งมีตัวตนบนผืนแผ่นดินไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

ยินดีกับแม่เซาะเล้ง ด้วยค่ะ

รออ่านบทวิเคราะห์สถานะบุคคลทางกฎหมายของแม่เซาะเล้งด้วยค่ะ

โอ๊ตเพิ่มเติมซิคะว่า ณ วันนี้ แม่เซาะเล้งมีสถานะบุคคลอย่างไรภายใต้กฎหมายไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท