การกระจายอำนาจ ขอทดลองอยู่ก่อนแต่ง


อปท.บางท่านที่ทนไม่ไหวบอกว่า หากไม่ได้คราวนี้ เห็นทีจะต้อง ปล้ำข่มขืน กันบ้างละ

มีหลายท่านเปรียบเทียบ การกระจายอำนาจบทบาทภารกิจ ของกระทรวงสาธารณสุข ไปให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและกระจาอำนาจฯ พ.ศ.2542 ว่าเป็นเสมือน การแต่งงาน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ก็คือ หนุ่ม ที่จะไปขอ ลูกสาว สถานีอนามัย(สอ.) ของกระทรวงสาธารณสุข(กสธ.) คนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็เลยต้องขอดูตัว ดูทรัพย์สมบัติ ดูการประกอบสัมมาอาชีพ ดูความประพฤติ นิสัยใจคอ และต้องการ คำรับรองว่าจะดูแลลูกสาวเป็นอย่างดี สุดท้าย ก็ขอดูว่าจะจ่ายสินสอดทองหมั้นเท่าไร อย่างไร

ส่วนอปท. ก็ยืนยันว่า จะดูแลเป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ลูกสาวกระทรวงศึกษาธิการ(โรงเรียน) ที่อปท.ขอแต่งมาก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี มีหน้ามีตา สมฐานะ

ต่อรองกันมา 10 ปี จนจะหมดเวลาตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติ

จนมี อปท.บางท่านทนไม่ได้ บอกว่า กสธ.ชักจะเล่นตัวมากไปแล้ว

มีการออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือการดำเนินงานด้านสาธารณสุข และกำหนดรูปแบบการกระจายอำนาจเงื่อนไขใหม่ 5 รูปแบบ คือ

1. ถ่ายโอนสอ.ไปให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือเทศบาล แยกรายสอ.

2. ถ่ายโอน โดยรวมกลุ่มสอ. ไปให้อบจ. มีคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดโดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เป็นประธาน

3. สอ.และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) หรือโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายบริการ ขึ้นต่อคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดโดยมีนายกอบจ.เป็นประธาน

4. รวมกลุ่มสอ. หรือ กลุ่มสอ.และรพช. รวมเป็นเครือข่ายบริการ พัฒนาไปเป็นองค์การมหาชน

5. รูปแบบอื่นๆ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามปรัชญากระจายอำนาจตาม พระราชบัญญัติกำหนดแผนและกระจายอำนาจฯ

อปท.บางท่านที่ทนไม่ไหวบอกว่า หากไม่ได้คราวนี้ เห็นทีจะต้อง ปล้ำข่มขืน กันบ้างละ

ภาคประชาชนฟังมานาน ก็เรียกร้องว่า ประชาชนก็เหมือนลูก พ่อกับแม่จะแต่งงานกันก็คุยกันดีๆ ไม่อยากให้เกิดการข่มขืนกันขึ้นมา ประชาชนก็จะกลายเป็นลูกที่ถูกทอดทิ้ง เพราะพ่อแม่ไม่รักกัน

ผู้เขียนได้ยินก็ ตกใจ รู้สึกว่าจะ Go Big ไปกันใหญ่ ใคร่เสนอรูปแบบกลางๆสำหรับ หนุ่มสาว คู่นี้ว่า ทดลองอยู่กันก่อน ดีมั้ย อย่าให้ถึงขนาดปลุกปล้ำกันเลย

ผู้เขียนพักไว้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ความเห็น ควรไม่ควรถ่ายโอน ด้วยเห็นว่าเป็น เรื่องที่ต่างคนต่างคิด ไม่มีผิดไม่มีถูก หรือ ที่สุดอาจเรียกได้ว่าเป็น นานาสังวาส ใยต้องจับองค์กรที่ทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน แต่มีแนวคิดที่ต่างกัน มาอยู่ร่วมกันให้ได้

วิธี ทดลองอยู่ก่อนแต่ง เป็นรูปแบบที่ 5 รูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบประนีประนอม ที่น่าจะพอเป็นไปได้ ที่หน่วยบริการสาธารณสุข ยังคงต้องถ่ายโอนภารกิจไปให้อปท. กสธ.ยังสามารถควบคุมกำกับหน่วยง่านใต้สังกัดได้เช่นเดิม และอปท.ได้รับการกระจายอำนาจตามปรัชญากระจายอำนาจ สามารถบริหารจัดการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนตามบทบาทภารกิจ สอ.และรพ. ก็ยังคงอยู่ในความหลากหลายได้เช่นเดิม

วิธีการก็คือ ปรับปรุงระบบบริหารจัดการปัจจุบัน ในประเด็น 3 สาระสำคัญได้แก่

1. ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เปลี่ยนการซื้อบริการ จากซื้อบริการกสธ.เป็นจ่ายเงินซื้อบริการไปที่อปท. และให้อปท.ซื้อบริการที่กสธ.ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)หรือเอกชน ทั้งนี้อปท.สามารถใช้งบประมาณของอปท.เพิ่มเติมในการซื้อบริการได้

2. ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัด(อปสจ.)เดิม ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)เป็นประธาน ปรับให้นายกอบจ.เป็นประธาน จัดองค์ประกอบใหม่ให้ท้องถิ่นและภาคประชาชนมีจำนวนมากขึ้น เป็นการกำหนดให้อปท.เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการสถานพยาบาลชัดเจนขึ้น เป็นไปตามปรัชญาการกระจายอำนาจ

3. ปรับวิธีการซื้อบริการสาธารณสุข จากเดิมเหมาจ่ายผ่าน CUP(Contracting Unit for Primary care) แบบเหมาโหล ไปเป็น ซื้อบริการตามภารกิจกับสสจ. ผ่านสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.)ซึ่งควบคุมกำกับสอ. ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ และผ่านโรงพยาบาล(รพ.)ด้านการรักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ  เป็นการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมชัดเจนตามภารกิจ เลิกคิดกันทีที่จะให้หน่วยงานเดียวดูแลทั้ง สร้างสุขภาพ และ ซ่อมสุขภาพ โดยงบประมาณที่จัดสรรอย่างเบี่ยงเบน ทั้งเพื่อเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งลึกๆที่ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดระหว่าง รพ. ที่มักมองว่า เงินเป็นของตน กับ สอ. ที่รู้สึกเหมือนต้องแบมือขอเงินทำงาน เหมือนลูกที่ไม่มีวันโต

ข้อดีของระบบที่ผู้เขียนเสนอนี้ นอกจากเป็นการกระจายอำนาจ ให้อปท.สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ แล้ว กสธ.ก็ไม่ต้องอึดอัดกับสปสช.ที่ดูจะบีบเคล้น(Clench) เข้ามาทุกวัน ให้สปสช.ไปบีบอปท. แล้ว อปท.มาบีบกสธ.เอง ซึ่งจะเป็นการบีบแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่า ด้วยเป็นการบีบให้ทำงานเพื่อประชาชนในพื้นที่ ที่ผู้ซื้อและผู้ขายมองเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน

ทั้งหมดที่เสนอมา ผู้เขียนเรียกว่า ระบบ อยู่ก่อนแต่ง หากได้ผลดี อาจแต่งก็ได้ ไม่แต่งก็ได้ เลิกกันก็ได้  หรือถึงวันนั้น ค่อยถาม ลูก อีกทีว่าจะให้แต่งกันหรือไม่ ก็ไม่สาย

คำสำคัญ (Tags): #การกระจายอำนาจ
หมายเลขบันทึก: 349012เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2010 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยกับแนวทางครับโดยเฉพาะประเด็นที่ 3 ปรับวิธีการซื้อบริการสาธารณสุข ไม่อย่างนั้นอาจมีลูกใจแตกบางคนยอมหนีตามก็ได้ สำหรับประเด็นการถามลูกหากถามก่อนที่ลูกจะเกิดน่าจะดีสำหรับลูกเพราะลูกจะได้รู้ว่าควรอยู่กับพ่อหรืออยู่กับแม่หรือให้พ่อกับแม่ช่วยกันเลี้ยงแต่ว่าตอนนี้ลูกยังเด็กเกินไปทำอย่างไรให้ลูกอ่านออกเขียนได้และพูดเป็น

แล้วถ้า อปท. ไม่ยอมซื้อบริการจาก กสธ. ล่ะ เช่น ไปซื้อกับ รพ.เอกชนแทน โดยไม่ผ่าน สาธารณสุขจังหวัดด้วย จะทำอย่างไร

ก็แสดงว่า กสธ. โดย สสจ. รพศ./รพท. รพช. ก็น่าจะต้อง ทบทวนตัวเอง กระมัง

แต่หากคิดว่าเป็นความจำเป็น ก็น่าจะกำหนดเป็นเงื่อนไขของสปสช.ได้ครับว่า ให้ซื้อบริการที่มีเครือข่ายตั้งแต่ตำบลไปถึงอำเภอ/จังหวัด ก็จะหาเอกชนยากหน่อย

ก็เป็นความเสี่ยงสำหรับ "ข้าราชการ" เหมือนกันนะ ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยต้องปรับตัว ให้เห็นว่ามีศักยภาพไม่ด้อยกว่าเอกชน

เห็นด้วยยิ่ง เลย อาจารย์ เรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ประธานการจัดการ ตามกรณีที่ 2 บอร์ดการบริหารก็ดูดี อย่างน้อยการรั้งตำแหน่งก็ยังมีผลต่อหารจัดการ ไม่เกินไป

กรอบการทำงานของสถานแต่ละแห่งมีความชัดเจนตามบทบาทเพิ่มขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท