BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ทุกคนควรตายเพราะคนเดียวหรือ ?


ทุกคนควรตายเพราะคนเดียวหรือ ?

ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่อง ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง ซึ่งมีกฎหมายรัฐธรรมนูญทำนองว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง ก็จะต้องถูกยุบพรรค... และเมื่อครู่ก็ดูนักกฎหมายออกมาพูดทำนองว่า กฎหมายที่เอาผิดพ่วงไปถึงคนที่ไม่ได้ทำลักษณะนี้ เริ่มเป็นที่นิยมใช้ในประเทศต่างๆ ซึ่งนอกจากกรณียุบพรรคที่ว่านี้แล้ว ก็ยังมีกรณีอื่น กล่าวคือ

เด็กวัยรุ่นเช่นเด็กแว้น ซึ่งออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์โลดโผนและแข่งขันกันตามถนนหลวง ซึ่งนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้คนทั่วไปแล้ว บางครั้งก็ก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่นถึงแก่ชีวิต... กฎหมายเดียวนี้ จึงเอาผิดผู้ปกครองคือพ่อแม่ด้วย ในฐานไม่อบรมดูแลลูกให้ออกมาก่อเรื่องทำนองนี้...

บางคนเมาแล้วขับ ซึ่งไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุกลางถนนอยู่บ่อยครั้ง... กฎหมายบางประเทศจึงเอาผิดต่อคนนั่งร่วมภายในรถด้วย ในฐานว่าไม่ห้ามปรามคนขับซึ่งเมาอยู่ และการที่ร่วมนั่งมาด้วย ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้คนเมาขับรถได้ทำนองนี้....

ผู้เขียนฟังๆ ดูแล้ว ก็เอาเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมเข้าไปจับ แล้วก็สรุปว่า อ๋อ ! กฎหมายทำนองนี้ ใช้หลักประโยชน์นิยม ซึ่งมีหลักการอยู่ว่า

  • กฎหมายที่ดีที่สุด คือ กฎหมายที่ก่อประโยชน์สูงสุด ต่อคนจำนวนมากที่สุด
  • กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ดีที่สุด เพราะยังไม่มีกฎหมายอื่นที่ก่อประโยชน์สูงกว่ากฎหมายนี้

นั่นคือ กฎหมายตามแนวคิดประโยชน์นิยม หวังผลสำเร็จที่จะพึงเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมากที่สุด... แต่แนวคิดประโยชน์นิยมนี้มี ความชั่วร้ายแฝงอยู่

............

  • คนเดียวควรตาย เพื่อทุกคนหรือ ?

ข้อความนี้ค่อนข้างจะโด่งดังในการอธิบายถึงความชั่วร้ายที่แฝงอยู่ของประโยชน์นิยม... เล่าเรื่องว่า  เรามีคุณปู่อายุเกือบร้อย ซึ่งนอนเป็นอัมพาตอยู่ที่บ้าน... บรรดาลูกๆ หลานๆ ก็ต้องผลัดเปลี่ยนกันไปคอยดูแลรับใช้ บ้างก็ลงขันจ้างพยาบาลพิเศษมาดูแลเป็นรายเดือน... ถ้าว่าใครคนหนึ่งอาศัยหลักประโยชน์นิยมที่ว่า...

  • การกระทำที่ดีที่สุด คือ การกระทำที่ก่อประโยชน์สูงสุด ต่อคนจำนวนมากที่สุด

โดยการวางยาพิษให้คุณปู่นี้กลับบ้านเก่าไป เพราะเมื่อคุณปู่ตายแล้ว ลูกๆ หลานๆ ก็ไม่จำเป็นต้องปลีกเวลามาคอยดูแล เงินประจำเดือนที่ต้องช่วยกันจ่ายเพื่อจ้างพยาบาลก็ไม่จำเป็น อีกทั้งมรดกเล็กน้อยของคุณปู่ที่เหลืออยู่บ้างหลังจากทำศพ ก็จะได้นำมาแบ่งปันกัน...

เมื่อพิจารณาตามหลักการของประโยชน์นิยม จะเห็นได้ว่าถูกต้อง... แต่ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่ว่า

  • คนเดียวควรตาย เพื่อทุกคน !

 

 

แต่กรณีกฎหมายที่จะยุบพรรค เอาโทษผู้ปกครองเด็กแว้น และเอาโทษผู้โดยสารรถที่คนเมาขับ... แม้จะอาศัยประโยชน์นิยมเช่นเดียวกัน... แต่ข้อความตั้งคำถามถึงความชั่วร้ายที่แฝงอยู่ว่า คนเดียวควรตาย เพื่อทุกคนหรือ ? ผู้เขียนว่าใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ นั่นคือ ต้องตั้งคำถามว่า

  • ทุกคนควรตาย เพราะคนเดียวหรือ ?

............

เมื่อปัญหานี้เกิดขึ้น ฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มเรียกร้องจะให้มีการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาจุดนี้... ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ร้องถามว่า เป็นการแก้เพื่อประชาชนหรือเพื่อตนเอง ? .... ซึ่งจากประเด็นนี้ นำไปสู่เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมของ สำนักอัตนิยมเชิงจริยะ ซึ่งมีหลักการทำนองว่า

  • กฎหมายที่ดีที่สุด ก็คือ กฎหมายที่ก่อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องมากที่สุด
  • กฎหมายประเด็นนี้ควรแก้ เพราะยังไม่มีวิธีการอื่นที่ก่อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องมากกว่าวิธีการนี้

เมื่อถือเอาทำนองนี้ ก็มีปัญหาตามมาว่าคนทั่วไป เช่น พ่อค้าแม่ขาย ชาวประมง ชาวป่า ชาวนา ชาวสวน คนขับแท๊กซี่ กรรมกร... ก็คงจะร้องขอว่า ยังมีกฎหมายประเด็นอื่นๆ เช่นกันที่ไม่สนองประโยชน์ต่อพวกเขาซึ่งพวกเขาต้องการจะแก้... หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักโทษในเรือนจำ ก็คงต้องการจะแก้กฏหมายที่กำลังลงโทษพวกเขาอยู่... 

แต่คนเหล่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะมานั่งในสภาเพื่อแก้กฎหมายที่กำลังปิดกั้นความต้องการของพวกเขา.... ดังนั้น การที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังเรียกร้องจะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จะเข้าข่ายว่าอาศัยหลักการของสำนักอัตนิยมเชิงจริยะหรือไม่ ?

................

อนึ่ง สำหรับกฎหมาย ถ้าต้องการให้ยุติธรรม ต้องเป็นสากลคือมีอำนาจบังคับทั่วไปต่อคนทุกๆ คน ก็ต้องอาศัยแนวคิดของ ลัทธิคานต์ ซึ่งมีหลักการว่า

  • กฎหมายที่ดีที่สุด ก็คือ กฎหมายที่มีผลบังคับทั่วไปต่อคนทุกคนเท่าเทียมกัน
  • กฎหมายที่ดีที่สุด ก็คือ กฎหมายที่ต้องคำนึงถึงคนเป็นจุดหมายเสมอ มิใช่ถือว่าคนเป็นเพียงเครื่องมือ
  • กฎหมายที่ดีที่สุด ก็คือ กฎหมายที่ดำเนินการอย่างอิสระ โดยไม่มีอิทธิพลอย่างหนึ่งอย่างใดเข้ามาครอบงำ

แต่ฝ่ายที่คัดค้านแนวคิดของลัทธิคานต์ ก็เยาะเย้ยทำนองว่า มีพิมพ์เขียวของรถที่ออกแบบมาอย่างดีที่สุดอยู่ชุดหนึ่ง แต่ก็ยังสร้างไม่ได้ ยังคงเป็นพิมพ์เขียวอยู่กระทั้งปัจจุบัน ซึ่งลัทธิคานต์ก็คือพิมพ์เขียวของรถชุดนี้ ... นั่นคือ ลัทธิคานต์ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโลกของความเป็นจริงได้...

...................

ผู้เขียนมิได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพียงฟังข่าวแล้วก็เอาทฤษฎีไปจับ แล้วก็นำมาเล่าเล่นๆ...

อนึ่ง ทั้งประโยชน์นิยม อัตนิยมเชิงจริยะ และลัทธิคานต์ ถึงว่าเป็น ทฤษฎีหลักการ ซึ่งพยายามวางกฎเข้าไปควบคุมพฤติกรรมของคน... ยังมี ทฤษฎีคุณธรรม ซึ่งบอกว่า ต้องแก้ที่อุปนิสัย พฤติกรรม (หรือสันดาน) ของคน มิใช่การวางกฎเข้าไปควบคุม เพราะจะมีปัญหาตลอด

ทฤษฎีคุณธรรมใช้ แนวคิด ตัวแทนทางศีลธรรม  คือผู้ที่ควรเอาแบบอย่าง ซึ่งสังคมไทยตอนนี้ มีแบบอย่างของตัวแทนในสังคมเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็อาจสังเกตและตอบคำถามของตนเองได้

 

หมายเหตุ : เรื่อง เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม ผู้เขียนเล่าไว้เยอะซึ่งกระจายอยู่ในบันทึกต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บล็อกเรื่อง การกระทำเหนือหน้าที่ ซึ่งผู้สนใจอาจเข้าไปอ่านเล่นๆ เพิ่มเติมได้

 

หมายเลขบันทึก: 172913เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2008 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

นมัสการหลวงพี่ครับ

ขออนุญาตนำบทความดีๆ ไปรวมในรวมตะกอนครับ

                                                                       รวมตะกอน

นมัสการค่ะท่าน

อ่านแล้วตรงใจ ตรงสถานการณ์ จริงๆ

กราบขอบคุณค่ะ

นมัสการค่ะ

ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดีๆ ให้ได้อ่านกัน

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

  • น่าสนใจจังครับ เรื่องตายคนเดียว ตายหลายคน นะครับ เพราะว่าท้ายที่สุดก็ตายเหมือนๆ กันครับ
  • ตอนไปหาปลาตอนเด็กๆ โบราณว่า ปลาตายหนึ่งตัวจะส่งผลให้ปลาทุกตัวในข้องนั้นตายหรือเหม็นต่อๆ กันได้หมด
  • ปัญหาคือ หากปลาในข้องนั้นมีปลาป่วยหรือปลาเปื่อยและปลาตายตัวเดียว โอกาสที่ปลาตัวที่ตายจะแพร่เชื้อไปยังปลาเปื่อยก็สูง
  • ใครล่ะครับ ที่ควรจะหยิบปลาเปื่อยออกจากข้อง หรือหากหยิบไม่ทันก็ตายทั้งข้อง
  • บางทีตอนที่ผมจับปลา ทั้งๆ ที่ผมเห็นว่าผมเจอปลาเปื่อยผมยังจับมารวมใส่ในข้องนี่ซิครับ ทั้งๆที่รู้ว่าหากใส่แล้วมีโอกาสตายและเน่าเหม็นต่อไปครับ
  • อยู่ที่ว่าเราจะให้ข้องที่ใ่ส่ปลานั้นเหม็นและผุงพังไปด้วยหรือไม่ เพราะว่าต่อไปหากข้องนั้นผุพังก็ต้องซ่อมกันต่อไป
  • หากเราจับปลาีที่ดีๆ ใส่ข้องตั้งแต่แรก แล้วเอาไปขยายพันธุ์เพื่อให้เกิดปลาดีๆ แล้วเอาลูกหลานปลาดีๆมาปล่อยกลับสู่แม่น้ำเดิม ก็น่าจะเกิดอะไรดีๆ กับสระปลาได้เช่นกัน
  • อยู่ที่ว่าเรายอมจะเสียงบประมาณสร้างข้องใหม่เพื่อกลั่นกรองปลาให้เป็นปลาสุขภาพดี หรือเราจะยอมให้ข้องนั้นผุพังไปจากปลาเน่าปลาเปื่อยต่อไปครับ....????

ข้องใส่ปลาครับ

ข้องเหล่านี้นอกจะใ่ส่ปลาแล้ว ควรจะมีการกลั่นกรองปลาเน่าได้ด้วยครับ ไม่งั้นภาษาบ้านๆบอกว่า ข้องมันโซ้ยโหม้ด

เวลาชาวบ้านมีข้องใหม่่ๆ ชาวบ้านมักจะจับปลาตัวที่ดีๆ เพื่อทำพิธีไม่ให้ข้องโซ้ย (เป็นลาง โชคร้าย) เพื่อให้การหาปลาในครั้งหน้าโชคดี

แล้วเราจะยอมให้ข้องลูกใหม่ใบนี้ โซ้ย หรือไม่? หรือว่าแกะแล้วซ่อมใหม่เพื่อดักกันต่อไป หรือว่าจะอย่างไร?????

กราบขอบพระคุณมากครับ

นมัสการครับ บทความดีมากเลยครับ

P

บ้านของเรา

 

บันทึกนี้เขียนลวกๆ ฟังข่าวพลางก็ฉันข้าวพลาง (ข่าวช่อง ๓ ตีสิบเอ็ดกว่าๆ ) ฉันข้าวเสร็จก็เปิดเครื่องมาเขียนเลย...  มิได้ใช้ความคิดอะไรมาก...

ที่ต้องใช้ความคิดมากก็เรื่องเก่าๆ ในอดีต เพราะเขียนไปก็ระลึกถึงอดีต เวลาเขียนนอกจากลำดับเหตุการณ์แล้ว ก็ต้องคอยอ่านทวนว่า ผู้อ่านจะรู้เรื่องหรือไม่ ?

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บันทึกจะดีหรือไม่ดี นอกจากขึ้นอยู่กับผู้เขียนประเมินแล้ว ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้อ่านประเมินด้วย (............)

................

P

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

 

อาจารย์เม้ง ให้ความเห็นเชิงเปรียบเทียบมา ซึ่งมีความเห็นต่างออกไปอีกหลายประเด็น เช่น

  • ผู้ทำข้อง โดยมากไม่ได้ใช้ข้องที่ทำ
  • บางคนรับจ้างทำข้องขึ้นมาตามใบสั่งของใครบางคน
  • ผู้ที่สั่งให้ทำข้องก็ไม่ได้ใช้ข้องใบนั้นเอง แต่ให้คนอื่นไปใช้อีกครั้ง
  • ผู้ใช้ข้อง โดยมากถูกยัดเยียดให้ใช้ จึงไม่พอใจข้องที่ให้มาใช้
  • ปลาที่อยู่ในข้อง  จะไม่พอใจตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้องชนิดใดก็ตาม
  • อุปกรณ์ที่ใช้ทำข้อง บางทีก็ราคาสูงเกินไป  บางที่ก็คุณภาพต่ำเกินไป
  • ฯลฯ

ดังนั้น ผู้รับจ้างทำข้อง จึงมีงานทำตลอด... ผู้ใช้ข้อง เมื่อไม่พอใจก็มักจะทำลาย เรียกร้องข้องลูกใหม่ หรือหันไปใช้สิ่งอื่นแทนข้อง... คนสั่งทำข้อง เมื่อให้ไปแล้ว ผู้ใช้ไม่ชอบใจก็โกรธ....

ยังมีอีก... บางครั้งข้องดีเกินไป มีคนต้องการมาก ผู้รับจ้างก็เล่นตัว ขอขึ้นค่าแรงทำข้อง... หรือบางครั้ง ข้องด้อยคุณภาพ ก็มีการชี้นำชวนเชื่อว่าเป็นข้องชั้นดี....

ยังมีอีก... แต่ให้อาจารย์เม้งไปคิดเอาเองบ้าง (5 5 5.... )

เจริญพร

นมัสเตภัณเต

ขอเสริมพระอาจารย์นะครับ เซอร์โทมัส มอร์ (SIR THOMAS MORE)กล่าวไว้ใน ยูโทเปีย (Utopia) ว่า กฏหมายที่มีมากเกินไป ประชาชนจำกฎหมายนั้นๆไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ อะไรทำนองนี้ครับพระอาจารย์

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

    เห็นสัจธรรม (ของสัตว์จะทำ) เลยครับ เราจึงอยู่และวนๆ อยู่ในรูปแบบของ

  • สร้างข้องใหม่
  • เลือกปลาเข้าข้อง แต่พบปลาเน่า
  • ยุบข้อง
  • สร้างข้องใหม่
  • เลือกปลาเข้าข้อง แต่พบปลาเน่า
  • ยุบข้อง
  • สร้างข้องใหม่
  • วนไม่รู้จบ อิๆ

แล้วจะเรียกหากปลาธิปไตย หรือ ข้องธิปไตย กันทำไมหนอ....

อิๆๆๆ กราบขอบพระคุณมากครับ

P

กวินทรากร

 

  • เห็นด้วยกับที่อาจารย์อ้างมา...

คงทำนองเดียวกับสมัยปฐมโพธิกาล พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติพระวินัย เพราะผู้มาบวชรุ่นแรก บางท่านก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์ก่อนบวช แต่โดยมากบวชไม่นานก็ได้บรรลุ เพราะทุกท่านมีบารมีเต็มเปี่ยมมาแล้ว แต่พอรุ่นหลังๆ ลาภสักการะมาก ผู้มาบวชมาก ก็เริ่มยุ่ง จึงต้องมีการบัญญัติพระวินัย...

หลวงพี่มี เจตนารมณ์กฎหมาย ฉบับแปลของ มองเตสกิเออ อยู่เล่มหนึ่ง แตก็่ไม่ได้เปิดอ่านหลายปีแล้ว ว่าจะนำมาอ้างก็จำไม่ได้ ( 5 5 5)

............

P

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

 

  • การเมืองไทยเคยมีผู้ใช้คำว่า วงจรอุบาทว์
  • ถ้าอย่างนั้น เราก็ควรเรียกว่า ข้องอุบาทว์
  • 7-2. 4+1. 10/2.

......

เจริญพร

 

นมัสการ พระคุณเจ้า ... BM.chaiwut

  • ท่านได้อธิบายการเลือกใช้กฎหมายได้ชัดเจน เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก ครับ

กราบขอบพระคุณท่าน BM.chaiwut  ครับ

นมัสการหลวงพี่ชัยวุธครับ

ผมคิดว่าปัญหาอาจจะเกิดจากการที่เราคิดว่าสามารถจะใช้กฏหมายมาทำหน้าที่แทนการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

กฏหมาย "ตายหมู่" นั้น ผมมองเป็นการพยายาม "ไล่ตามให้ทัน" ความปลิ้นปล้อน กลิ้งเป็นน้ำบนใบบัวของคน เรื่องการใช้ nominee เพราะกฏหมายเดิมๆ จะจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ตัวกระจิบ ตัวกระจอก คนโกงมีแต่คนขับรถ คนสวน ฯลฯ ก็เลยขยายปากแห เหมาไป กะๆว่าน่าจะดดน "หัวโจก" บ้าง เมื่อที่มาเป็นเช่นนี้ มันก็ดิ้นหลุดจาก Kantian's morality แน่นอน

เพราะ Kantian นั้น เน้น Universality (หรือ เป็น defect ที่คนโจมตีอย่างท่านได้วิสัชนาโดยพิสดารไปแล้วนั้น) ความดีสากลนี้ เป็นอะไรที่ abstract และปัญหาอยู่ที่การ assume ว่า "สภาวะจิตของคน อยู่ใน realm เดียวกัน ในระนาบเดียวกัน"

ถ้า assumption นี้ไม่จริง ยังไงๆก็ยังไม่จริง (สำคัญคนแต่ละกลุ่ม) ในทางปฏิบัติจึงไม่เกิด "สากล" อย่างที่ Kant ได้ propose เอาไว้ (สักที)

การแก้ปัญหาตรงนี้ มีสอง phases คือ 1) แบบ quick fix ก็คงจะต้อง update กลวิธีที่จะ trace ต้นตอให้ได้ หรือเหวี่ยงแหแบบนี้ และ 2) แบบย้อนกลับมาตั้ง "คำถาม" ใหม่ ว่า "คุณธรรม จริยธรรม มัน work ได้ เพราะกฏหมาย หรือเพราะวิธีการปลูกฝังกันแน่

แบบแรก ก็สะใจ คนที่เลวๆ (ตามมุมมอง) ก็จะมีโอกาสสูงขึ้นที่จะตายตาม (แม้ว่าจะมี innocent casualty แต่คนมักจะ.... รึเปล่าหว่า?.... สะใจ บอกว่ามันก็มีกันได้นะ)

แบบหลังจะไม่ทันใจจิ๊กโก๋ (คำนี้คงจะเก่าไปแล้ว เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่เคยได้ยินคำจิ๊กโก๋ แม้แต่ขนมโก๋ก็อาจจะไม่รู้จัก) และได้คำถามก็ยังไม่ทราบคำตอบอยู่ดี เพราะคำตอบแบบ quick fix แบบ magic bullet นั้นไม่มีสำหรับคำถามดีๆแบบนี้ มันเป็นอะไรประเภท "ภาวนามยปัญญา" กระมังขอรับ

P

Phoenix

 

อ่านความเห็นของอาจารย์หมอ ทำให้อาตมานึกไปถึงคำถามพื้นฐานอีก ๒ ข้อ ซึ่งมีนัยใกล้เคียงกัน กล่าวคือ

  • พื้นฐานของมนุษย์เจตนาดีหรือเจตนาเลว ?
  • พื้นฐานของมนุษย์เห็นแก่ตัวเองหรือเห็นแก่ผู้อื่น ?

ซึ่ง ๒ คำถามนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบ....

ส่วนอาตมาเดียวนี้ ค่อนข้างหันไปนิยมแนวคิดเรื่องอำนาจของ โทมัส ฮอบส์ ซึ่งมีความเห็นพื้นฐานว่า มนุษย์มีเจตนาเลวและเห็นแก่ตัวเอง...


อีกอย่างหนึ่ง การอบรมบ่มเพาะอุปนิสัยให้ประกอบคุณธรรม ต้องใช้ตัวแทนทางศีลธรรม แต่เมืองไทย แม้จะรณรงค์ส่งเสริมเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้ยาก เพราะคนไทยมีนิทานเรื่อง แม่ปูสอนลูกปู ซึ่งเด็กๆ (ลูกปู) มักจะเห็นว่า ตัวแทนทางศีลธรรม เป็น แม่ปู เสมอ....

เจริญพร

 

นมัสการครับ

เป็นบทความที่ดีมากครับ กฎหมายเป็นเรื่องตายตัว แต่จิตใจมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่ตายตัว

เพราะฉะนั้นกฎหมายจึงไม่สามารถครอบคลุมมนุษย์ได้ทั้ัั้้งหมด

P

aonjung

 

แต่กฎหมายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อความยุติธรรม ความเสมอภาค ความสุขสงบ ความอยู่ดีกินดี ของมนุษย์...

ปัญหาก็คือ มนุษย์นำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้ผิดวัตถุประสงค์เดิม จึงมีการเรียกร้องเครื่องมืออันใหม่...

เจริญพร

นมัสการหลวงพี่ชัยวุธครับ ผมเคยอ่าน moral development และมีคนแยกแยะไว้หยาบๆเป็นสองกลุ่ม

  1. Doctrine of the Original Sin คนเราเกิดมาเลว ต้องอาศัยกฏระเบียบมาควบคุม psychologist ที่สนับสนุนเรื่องนี้เห็นจะเป็นฟรอยด์นะครับ เพราะแก propose ว่า superego เป็นตัวทำให้คนอยู่กับร่องกับรอย
  2. Doctrine of the Innate Purity อันนี้น่าจะเป็นสายรุสโซ คนเรานั่้นดี แต่สิ่งแวดล้อมต่างหากที่เหลาเกลาให้เลว หรือเปลี่ยนไป

สองโรงเรียนนี้ก็จะมีวิธีสอน moral ไม่เหมือนกัน เช่นในสถานการณ์เด็กเล็กๆสองคนทะเลาะกันเพราะแย่งของเล่นกัน

school แรก ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่ลงมาตัดสินว่าใครเล่นก่อน เพราะอะไร เป็น social rule เป็นระเบียบที่มี outside authority มาบอก ตัดสิน ว่าอะไรควรไม่ควร

อีก school หนึ่งบอกว่า ถ้าเด็กสองคนนี้ทะเลาะกันไปเรื่อยๆอยู่พักนึง (ไม่ได้บอกว่านานแค่ไหน) เด็กทั้งสอง หรือ คนใดคนหนึ่ง จะเรียนรู้่ว่าไม่มีใครได้เล่น ทางที่ดีน่าจะให้ใครคนใดคนหนึ่ง เล่นไปก่อน หรือเล่นด้วยกัน แล้วทั้งคู่ก็จะได้เล่น เป็น morality ทีเกิดจากประสบการณ์ตรง และขึ้นกับสมองของมนุษย์ (เด็ก) ที่เรียนรู้จากการกระทำ

ทั้งสองโรงเรียน เด็กก็จะแบ่งของเล่นกันเล่นในที่สุด แต่ "ที่มา" ไม่เหมือนกัน ใน long term ทั้งสองแบบก็คงจะเกิดอะไรตามมาที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะในสิ่งแวดล้อมจริง เราใช้ทั้งสอง models ปะปนกัน อาจจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า แต่ไม่ถึงกับ absolute

โดยส่วนตัวผมคิดว่า คำถาม "จริงๆแล้วมนุษย์เป็นแบบไหน?" นั้นไม่สำคัญเท่ากับ พอเราคิดแบบไหนแล้ว "เราจะกลายเป็นคนแบบไหน? และจะทำอะไรต่อ?"

บางคนบอกว่า ฮั่นแน่ นั้่นเป็นมัคคาวิลลี ใช่ไหม เน้น The End Justifies the Mean

ผมบอกว่ามัคคาวิลลีก็ไม่ถึงกับเลวร้ายมากนัก ถ้าเราเห็น "The End" จริงๆนะ ไม่ใช่เอาตรงกลาง หรือเอาแค่ "ผลระยะสั้น" มาจับ

คนที่เอามัคคาวิลลี The End justifies the means มาใช้ผิดๆ เพราะเอาแค่ผลระยะสั้นมาจับ เช่น เอาคนโกงเก่งมาบริหารประเทศสิ ถึงมันโกงไป 8 หมื่นล้าน มันก็หาเงินมาให้่ประเทศตั้งหมื่นล้าน เอาซื่อๆทื่อๆมาบริหารประเทศ หาเงินไม่เป็น ประเทศก็ไม่เจริญ

นั่นเป็นการมอง "ผลระยะสั้น" เพราะไม่เอาเรื่องของอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปถ้า role model ขี้โกงเป็นที่ยอมรับของสังคม ว่าเก่ง จะเกิดอะไรขึ้นต่อสังคมนี้ต่อไป การ corrupt อย่างมโหฬารที่จะเกิดขึ้นในนิเวศ จะยิ่งใหญ่มากจนอาจจะเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลาหลาย generations จึงจะแก้ไขได้ หรือรอล้างไพ่ใหม่อีกที (ล้างโลก) จึงจะแก้ไขได้

ถ้าเอาผลระยะยาวมาดู ก็จะเห็น The End Justifies The Means นั้น ก็ยัง work อยู่ คือ สังคมที่เทอดทูนคนโกง ในที่สุด มันก็จะฉิบหายบรรลัยจักรไปชั่วลูกชั่วหลานไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เอ.... มันออกมาตรงนี้ได้อย่างไรหว่า...

แฮ่ะๆ ลาล่ะครับ

P

Phoenix

 

อาจารย์หมอก็เล่ามาเรื่อยๆ และมาทิ้งไว้ที่ประเด็นว่า...

 

  • เก่งแต่โกง หรือ บื้อแต่ซื่อ

คงเป็นเพราะ เก่งและซื่อ จริงๆ หาได้ยาก...

 

ส่วนประเด็นว่า "เราจะกลายเป็นคนแบบไหน? และจะทำอะไรต่อ?" นั้น อาตมาว่า คำตอบทางศาสนา จะมีชุดอธิบายและแนวทางชัดเจน ซึ่งอาจ เพียงพอ ต่อความเป็นอยู่.... ซึ่งในอดีตอาจเป็นไปได้ เนื่องจากยังเป็น สังคมเชิงเดียว...

แต่ความหลากหลายและการปะทะกันระหว่างกระแสต่างๆ ทำให้สิ่งทั้งหลายรู้สึกว่าไม่เพียงพอ เมื่อกลายมาเป็น สังคมเชิงซ้อน ดังเช่นปัจจุบัน.... ซึ่งอีกแง่หนึ่ง นี้ก็คือ โพสต์โมเดิล

และ เมื่อทั้งโลกนี้ กลายมาเป็น สังคมเชิงเดียว ที่เรียกว่า หมู่บ้านเล็กๆ หรือ โลกาภิวัฒน์ คำถามว่า "เราจะกลายเป็นคนแบบไหน? และจะทำอะไรต่อ?" ก็คงจะต้องพัฒนาการไปอีกชั้นหนึ่ง...

 

อาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งบอกว่า ปรัชญาแขนงอื่นๆ นั้น ตันหรือตายแล้ว เพราะไปไม่ได้... คงเหลือแต่ จริยศาสตร์ ที่ยังไม่ตาย เพราะเมื่อมนุษย์ยังอยู่ คำถามว่า จะทำอย่างไร ? ก็ยังมีอยู่

และนี้ คือคำถามจริยศาสตร์ ซึ่งแนวคิดปรัชญาประยุกต์ทุกแขนงต้องเริ่มต้นไปจากนี้ หรือเมื่อขบคิดลึกๆ ลงไป ก็จะมาเจอประเด็นนี้...

อาตมาก็เพียงแต่ทบทวนกรอบความคิดเห็นของตนเองเท่านั้น

เจริญพร

 

นมัสการค่ะ
พอเห็นคำนี้....จริยศาสตร์ (Ethics)  ดิฉันนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวขึ้นมา ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะคะ 
ซึ่งดิฉันคิดว่า สำหรับในcaseของตัวเองเท่านั้น  น่าจะอธิบายว่า  เป็น การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี  ก็คือ การทำตามหน้าที่ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้ทำตามหน้าที่ต้องไม่คำนึงถึงตนเองและคนใกล้ชิดด้วย 
 

 

 

แปล ทุกคนต้องตายเปนภาษาบาลี(พุทธศาสนสุภาษิต)สั้นดีงับ- -*

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท