"ก้าวต่อไปของการเตรียมงานวันเยาวชนแห่งชาติ : ความผิดพลาดที่ต้องเรียนรู้"


อาจารย์แหววพยายามสะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ว่าเป็นเพราะอะไร แม้ว่าบทสนทนาที่เกิดขึ้นจะต้องทำให้คนบางคนเสียน้ำตา เพราะมันเป็นความผิดพลาดของเราเองจริงๆ

โครงการ “เยาวชนไทยไร้สัญชาติ” ใน “งานวันเยาวชนแห่งชาติ”

หลักการและเหตุผล

ในสังคมไทยนั้นประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายประเภท, เพศ และวัย แต่กลุ่มที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือ “กลุ่มเยาวชนไทย” ซึ่งก็มักจะถูกคาดหวังให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไปในอนาคต แต่หากใครจะรู้บ้างว่า ยังปรากฏเยาชนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพ มีความสามารถ ไม่แพ้เยาวชนไทยกลุ่มอื่นๆ และพวกเขาก็อยากจะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยเฉกเช่นเดียวกันเยาวชนคนอื่นๆ หากเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่แบ่งแยกพวกเขาออกจากเยาวชนไทยส่วนใหญ่ สิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่คนจำนวนมากได้รับ และเพราะเพียงสิ่งนี้เท่านั้นที่ทำให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างหวาดกลัวและหวาดระแวงตลอดเวลา ด้วยความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งสิ่งเดียวที่ขาดหายไปจากเยาวชนไทยกลุ่มนี้ คือ “สัญชาติไทย”

แม้ว่าเยาวชนไทยไร้สัญชาติบางคนจะได้โอกาสศึกษาในสถานบันการศึกษาไทยถึงระดับอุดมศึกษา บางคนมีความรู้มากมายมีดีกรีเป็นถึงวิศวกร เป็นหมอก็มี แต่ก็ไม่สามารถนำความรู้ที่ศึกษาเพื่อมาประกอบอาชีพได้อย่างที่คาดหวัง อย่างไรก็ดี ความยากลำบากและความทุกข์ทรมานของเหล่า “เยาวชนไทยที่ยังไร้สัญชาติ” เกิดขึ้นมากมายในทุกๆ วันของพวกเขา แต่สังคมภายนอกกลับมีความเข้าใจถึงตัวตนและปัญหาของพวกเขาน้อยมาก และความไม่เข้าใจนี้เองที่ก่อให้เกิดเป็นความแปลกแยก แบ่งฝ่ายว่า “ไทยหรือไม่ไทย”

ดังนั้นเหล่าบรรดา “ตัวแทนเยาวชนไทยไร้สัญชาติ” ซึ่งได้รับการช่วยเหลือและดูแลจากศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอนำเสนอภาพสมาชิกกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย ภายใต้บริบทที่ว่า “เป็นไทยแต่ยังไร้สัญชาติ” เพื่อแสดงให้เห็นถึงตัวตน – ปัญหา – ความคาดหวัง ให้สังคมมีความเข้าใจในคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น โดยขอใช้สิทธิในฐานะเยาวชนไทยเพื่อร่วม “งานวันเยาวชนแห่งชาติ” ที่จะถึงนี้

กิจกรรมที่เยาวชนไทยไร้สัญชาติร่วมจัดทำ
1. นิทรรศการเคลื่อนที่
- หัวข้อของนิทรรศการ : "เยาวชนไทยไร้สัญชาติ"
- เนื้อหาของบอร์ด : บอร์ดจะมีทั้งหมด 3 บอร์ด โดยมีหัวข้อเรียงลำดับดังต่อไปนี้

• ฉันคือใคร??
เนื้อหา คือ การสื่อให้คนภายนอกเข้าใจว่าเยาวชนไร้สัญชาติคือใคร โดยสื่อผ่านตัวแทนเยาวชนไร้สัญชาติแต่ละประเภท ในรูปแบบของการแนะนำตัวสั้นๆ โดยใช้รูปเล่าเรื่อง

•แตกต่างในความเหมือน : เยาวชนไทยสัญชาติไทย VS เยาวชนไทยไร้สัญชาติ !!
เป็นการสื่อถึงปัญหาที่เยาวชนไร้สัญชาติประสบ โดยใช้การเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเยาวชนไทยด้วยกันในสังคมไทย ที่มีสัญชาติไทยเป็นตัวแบ่งกั้นการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในความเป็นจริง

• ความในใจของเหล่าเยาวชนไทยไร้สัญชาติ
ข้อเสนอหรือความคาดหวังที่บรรดาเยาวชนไทยไร้สัญชาติมี นอกจากนี้ ยังมีภาพของตัวแทนอดีตเยาวชนไร้สัญชาติ ซึ่งปัจจุบันได้สัญชาติไทยไปแล้ว เพื่อนำเสนอภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขาภายหลังได้รับสัญชาติไทย และมีการนำบทสัมภาษณ์สั้นๆ ที่ให้กำลังใจน้องๆ ที่ยังไร้สัญชาติอยู่ให้มีกำลังใจต่อไป โดยใช้รูปเล่าเรื่อง

2. หนังสือทำมือ
- หัวข้อของหนังสือทำมือ : “เยาวชนไทยไร้สัญชาติและครอบครัว”

หลังจากที่ได้ยื่นหลักการและเหตุผล รวมทั้งกิจกรรมที่เราจะทำในวันเยาวชนแห่งชาติ ให้ทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ..

วันนี้ (15 กันยายน 2549) ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมากมาย ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดี (good practice and bad pracetice) ซึ่งทำให้เตือนได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นมากมาย เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงและยอมรับมัน แม้ว่าความจริงที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน เรียนรู้จะที่แก้ไขและกอบกู้สถานการณ์ที่ผิดพลาดไปแล้ว ให้กลับฝืนคืนมาได้ หรืออย่างน้อยสุดก็เป็นการเรียนรู้จากความเสียใจ และยอมรับมาเป็นบทเรียนว่า เราได้ทำอะไรพลาดไปบ้าง..

ช่วงเช้า..ได้มีการประสานงานกันระหว่างทีมงานของเราและทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ว่า.. "ไม่อนุญาตให้เรา (ตัวแทนเยาวชนไร้สัญชาติ) เข้าไปจัดงานในทำเนียบได้ เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยในทำเนียบ" พอได้ฟังเช่นนี้ เตือนรู้สึกตกใจมาก ในใจคิดถึงแต่พวกเด็กๆ ที่มาเตรียมงานกับเราตลอด (หน้าเจ้าเบลล์, ตา, ต๊ะ, พี่หลิน, พี่วันชัย และคนอื่นๆ ในห้องเรียน ก็ลอยออกมาให้เห็นทันที) สิ่งที่คิดออกในตอนนั้น คือ ต้องโทรหาพี่ตุ๊ก (คุณสุดารัตน์ เสรีวัฒน์) เนื่องจากพี่ตุ๊กรู้จักคนในกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ค่อนข้างเยอะ น่าจะพอสอบถามได้ว่า..อะไรเป็นอะไร.. หลังจากนั้นก็โทรหาอาจารย์แหวว เพื่อขอหารือในสิ่งที่เกิดขึ้น..

สิ่งที่ได้กลับมา คือ อาจารย์แหววพยายามสะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ว่าเป็นเพราะอะไร แม้ว่าบทสนทนาที่เกิดขึ้นจะต้องทำให้คนบางคนเสียน้ำตา เพราะมันเป็นความผิดพลาดของเราเองจริงๆ จึงขอสรุปสาเหตุแห่งความผิดพลาดออกมาดังนี้..

1. ความผิดพลาดเรื่องการประสานงานกับส่วนราชการ

1.1 การไม่ประสานงานโดยตรง : ต้องบอกตามตรงว่า..เตือนพลาดตรงนี้ไปอย่างมาก ที่ไม่ได้เป็นคนประสานงานเองโดยตรง เห็นว่าทางคณะจัดงานเขารับปากแล้วว่ามีพื้นที่ให้เราสามารถเข้าไปจัดได้ เตือนจึงคิดอย่างง่ายๆ ว่าก็คงไม่มีปัญหาในเมื่อเขารับปากแล้ว เตือนจึงหันมาทำงานในส่วนของการเตรียมงานกับพวกเด็กๆ ในห้องเรียน จนมองข้ามสิ่งที่สำคัญไปว่า.."ถึงแม้เราจะเตรียมงานกันมาขนาดใน หากสิ่งที่เตรียมไปไม่ได้ถูกนำเสนอ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร" เนื่องจากอำนาจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา

1.2 การประสานงานล่าช้า : พอไม่ได้ประสานงานเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่คนอื่น กว่าจะขยับตัวทันว่า เราควรจะประสานงานและดำเนินเรื่องเองได้แล้ว ก็ล่าช้าไปมาก ทำให้เราพลาดโอกาสเข้าไปเสนอสิ่งที่เราคิดว่าจะทำเพื่อแสดงนิทรรศการ

2. การไม่วางแผนงาน : การทำงานโดยที่ไม่ได้วางแผนงาน ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงอีกเช่นกัน เตือนแค่ฟังว่าเราจัดได้ มีพื้นที่ให้ เตือนกับเด็กๆ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันจัดโดยที่ไม่ได้มองเป้าหมายใหญ่ของงานที่เขาจะจัดขึ้นว่าเพื่ออะไร ตรงกับที่เราคิดอยู่ไหม เราคิดเพียงแต่ว่าเราจะจัดของเราแบบนี้ ซึ่งวันนี้ก็ทำให้เราเรียนรู้แล้วว่า..เป็นความคิดที่ผิดมหันต์

แต่พอถึง..ช่วงบ่าย.. เตือนได้ประสานงานโดยตรงกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยได้มีโอกาสคุยกับคุณอุษณีย์ จึงได้ความว่า..ทางคณะจัดงานไม่ได้ปฏิเสธไม่ให้เราเข้าร่วมจัดนิทรรศการแต่อย่างใด เพียงแต่ รูปแบบของการจัดนิทรรศการมีการประชุมตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยว่า จะมีการว่าจ้างบริษัทภายนอกที่รับจัดนิทรรศการ เพื่อให้รูปแบบเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบและเพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่ใครจะขนย้ายข้าวของเข้า-ออก ทำเนียบก็จะได้ทราบกันว่ามีเพียงบริษัทที่รับผิดชอบเท่านั้น

คุณอุษณีย์ยังกล่าวว่ายินดีให้เราเข้าร่วมแสดงนิทรรศการ เพียงแค่อยากจะขอให้ออกมาเป็นในรูปแบบเดียวกันกับข้อตกลงของที่ประชุม ดังนั้นจึงอยากขอเราส่งข้อมูลที่เราต้องการจัดให้เขาภายในวันที่ 18 กันยายน ช่วงเช้า ทั้งในส่วนของรูปภาพ และ file ข้อมูล ที่ต้องการจะจัด

ซึ่งพื้นที่ในการจัดนิทรรศการที่เขาจะสามารถให้เราได้ มีขนาดประมาณ 2 แผ่นของบอร์ดนิทรรศการปกติ

ส่วนการนำเยาวชนไร้สัญชาติเข้าร่วมในงานวันที่ 19 กันยายนที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล คุณอุษณีย์กล่าวว่า..คงจะไม่สะดวก เนื่องจากทางสภาเยาวชนมีการจัดประชุม และตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการคัดเลือกตัวแทนเยาวชนของแต่ละจังหวัดที่เข้าร่วมงาน

เพราะฉะนั้น..เราก็ยังสามารถร่วมจัดงานครั้งนี้ได้อยู่ แต่ความคาดหวังในการมีส่วนร่วมก็คงไม่เท่ากับตอนแรกที่เคยได้ตกลงกันไว้

ต้องขออภัยทุกๆ คน จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความตั้งใจในการทำงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก คือ ดวงตา, เบลล์, พี่หลิน, พี่วันชัย, ต๊ะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจะทำได้ตอนนี้ คือ การเตรียมข้อมูลที่จะให้ทางกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทั้งรูปภาพที่เราเลือกไว้ คำพูด ข้อมูลที่เราเตรียมไว้ ก็ยังอยากให้มาช่วยกันทำ อ่อ..หนังสือทำมือ เราก็ยังจะทำเพื่อแจกในวันนั้น ได้รับอนุญาตจากคุณอุษณีย์แล้วว่า เราสามารถนำไปแจกได้

ยังไงมาถึงขั้นนี้แล้ว..ถอยหลังคงไม่ได้ เราจะพยายามจนถึงที่สุด แม้จะต้อง "เปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส" ก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 50303เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อีกอย่างที่อยากให้เตือนและนักเรียนของเตือนเรียนรู้ ก็คือ "การประเมินผล" ในการทำงานทุกครั้ง ต้องประเมินผล

ท่องเอาไว้ ทุกลมหายใจ ต้อง (๑) วางแผน (๒) กำหนดขั้นตอนการทำงาน และ (๓) ประเมินผล

สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ระหว่างเตือนกับนักเรียนนะคะ เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นอีก ความไม่ประสานงาน มันเกิดจากแผนการไม่เป็นจริงและไม่สมบูรณ์

เป็นการเรียนรู้ใช่แล้ว

ขอเป็นกำลังใจให้เตือน และคณะทำงานทุกคน สู้สู้นะ

สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชย์ยังรู้พลั้ง

 

เออ เหมือนกับการวิจารณ์ตัวเองของสายเหมาอิสม์เลยอะ อิอิอิอิ

ผมก็พลาดบ่อยครับ ทำมาจนเดียวนี้ก็ยังพลาดอีก บางทีเร่องง่ายๆ ทำให้พลาดได้เยอะ อาจจะจำเป็นต้องใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย  ๆ มากขึ้น ผมว่ามันพลาดกันได้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขมันด้วยครับ

แวะมาบอกว่ายังตามอ่านอยู่แค่นั้นแหละ อิอิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท