เหตุเกิดที่ท่ายาง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเช่นฉะนี้


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

                    ผมถูกย้ายมาลงที่เพชรบุรี เขต ๒  จากชุมพร เขต ๑ โดยไม่ได้คาดหมายเมื่อที่เดิมอยู่มา ๕ ปีกว่าเกินวาระที่กฎหมายกำหนด   เท่าที่ทราบมีงานมากมายที่รอให้แก้ไขและสานต่อ  แต่ชิ้นหนึ่งที่ยืดเยื้อมานาน คือ การพิจารณา  แต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) ที่ขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน  ๒๕๕๐  นับถึงวันที่ผมมารับตำแหน่งปีกว่า  เป็นหนึ่งปีที่โรงเรียนนี้ไม่มีผู้บริหารโรงเรียนตัวจริง มีแต่ผู้รักษาการ  เป็นหนึ่งปีที่โรงเรียนเสียโอกาสในการพัฒนาจนประมาณค่าไม่ได้  ผมเองตัดสินใจมุ่งมั่นประการเดียวว่าโรงเรียนแห่งนี้ควรจะมีผู้บริหารโรงเรียนได้แล้ว  ส่วนปัญหาหากจะมีก็ขอให้ไปว่ากันนอกโรงเรียน  หลายคนหลายฝ่ายพยายามให้ข้อมูลที่ผ่านมา จริงบ้างเท็จบ้างก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน  สำหรับผมต้องทำใจอุเบกขาเป็นกลาง เพราะไม่รู้จักคุ้นเคยคู่กรณีทั้ง ๓ ราย แต่ก็เคยได้พูดคุยมาแล้วทั้ง ๓ คนในเรื่องทั่วไป และทั้ง ๓ คนก็ไม่เคยมาร้องขอในเรื่องตำแหน่งโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) กับผม  รวมทั้งประธาน อ.ก.ค.ศ. เขต  กรรมการ อ.ก.ค.ศ. เขต และประธานคณะกรรมการสถานศึกษา  มีคำหนึ่งที่คนเพชรบุรี เขต ๒  มักจะเอ่ยเรื่องนี้กับผมว่า “เดี๋ยว ผอ.ก็จะรู้เอง”  บางครั้งฟังแล้วอดฉุนไม่ได้ อะไรก็ไม่บอกอะไรก็ ไม่ออกความเห็น  ปล่อยให้รู้เอาเอง   สำหรับนักการเมืองทุกระดับ ไม่เคยมีใครติดต่อพูดคุยเรื่องนี้กับผมแม้แต่คนเดียวอย่างที่หลายท่านเข้าใจ แต่ฟังแล้วเหมือนเป็นธรรมเนียมหรืออย่างไรก็มิทราบ เพราะครูเรามักจะเอ่ยถึงผู้ใหญ่เอ่ยถึงนักการเมืองเมื่อจะแข่งขันรับการแต่งตั้งเป็นการข่มคู่ต่อสู้ไว้ก่อน เรียกว่าเป็นนักลอบบี้ยีสตัวยงทีเดียว   ผมเองตั้งแต่มารับตำแหน่งก็ยังไม่ไปหาใครนอกจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งเก่าและใหม่  เพราะกลัวท่านเหล่านั้นจะมัวหมองว่ามีใบสั่งในเรื่องนี้   ยิ่งผู้บริหารระดับกระทรวงและ สพฐ. ไม่มีใครอยากจะแตะต้องเรื่องนี้เพราะเขารู้ดีว่า “ไม่ใช่ทองคำ” แน่นอน เรื่องอะไรจะให้เหม็นติดมือ  ผมเองได้แต่รำพึงกับตัวเองว่า “ผีถึงป่าช้าไม่เผาก็ต้องฝัง”

                    

  เมื่อจะดำเนินการต่อไปสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ที่แล้วมาเขาทำไปถึงไหนแล้ว  เพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒  พ.ศ. ๒๕๕๑  มาตรา ๕๓ (๓) บัญญัติให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยอนุมัติ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา  แปลว่าจะแต่งตั้งได้ต้องให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาอนุมัติ  ไม่อนุมัติก็ตั้งไม่ได้   วิธีที่จะดูความเป็นมาก็ต้องดูหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นคือ รายงานการประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ในอดีตที่ผ่านมาซึ่งเคยมีมติในเรื่องเหล่านี้ไว้  เพราะมติเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมายเสมอตราบเท่าที่ยังไม่ถูกเพิกถอน จาก ก.ค.ศ. หรือ ศาล  ซึ่งเก็บความได้ ดังนี้

                                ๑)  การประชุมครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๗  กันยายน  ๒๕๕๐

                                มติที่ประชุม   “อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ มีมติด้วยเสียงข้างมาก คัดเลือกนาย สอง  ซึ่งผ่านการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาคัดเลือกมาเป็นลำดับที่ ๒ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) แทนนายยิ่ง  ทัศน์แก้ว ที่เกษียณอายุราชการ” และในเวลาต่อมาที่ประชุมจึงขอเปลี่ยนมติเป็นว่า  “มอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ไปตรวจสอบรายละเอียดการดำเนินการเรื่อง การแต่งตั้ง(ย้าย)ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานบริหารในสถานศึกษา  โดยต้องรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกคนก่อน  แล้วนำเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ อีกครั้งหนึ่ง”

                ๒)  การประชุมครั้งที่ ๑๖/๒๕๕๐  เมื่อวันที่ ๑๖  พฤศจิกายน  ๒๕๕๐ 

                                มติที่ประชุม    “มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒   แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งมีตัวแทน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ วินิจฉัยค่าคะแนนเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง”

                ๓)  การประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๑๔  มกราคม  ๒๕๕๑

                                มติที่ประชุม   “อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ

นายหนึ่ง  ผู้อำนวยการโรงเรียน............. ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์)”

                ๔) การประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๑   เมื่อวันที่  ๑๑  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑

                                มติที่ประชุม  อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ มีมติยืนยันไม่อนุมัติให้นายหนึ่ง  ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์)

                และไปดูรายงานการประชุมครั้งที่ ๔ / ๒๕๕๑  ก็รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๑ ต่อเนื่องกันมาจนถึงการประชุมครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๑  ก็ไม่ปรากฏว่ามีเพิกถอนมติการประชุมดังกล่าวเลย

ประเด็นที่ผมจะต้องพิจารณาอย่างหนักคือ  จะทำต่อไปอย่างไรให้ชอบด้วยกฎหมาย และให้โรงเรียนมีผู้บริหารโรงเรียนได้โดยเร็ว  และผู้บริหารโรงเรียนนั้นมีความชอบธรรมเท่าที่จะทำได้

                                ในประเด็นข้อกฎหมาย ด้วยเป็นผู้มีความรู้น้อยจึงต้องค้นต้องอ่านในเรื่องที่เกี่ยวข้องมากเป็นพิเศษทั้งของศาลยุติธรรม และศาลปกครอง  รวมทั้งมติ ก.พ. มติ ก.ค. และมติ ก.ค.ศ. ในเรื่องที่ใกล้เคียง ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ขอความเห็นจากนักกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  สำนักงาน ก.ค.ศ. และนิติกร ที่เคยทำงานร่วมกันมา  จนความคิดเริ่มตกผลึกและสามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ จึงตัดสินใจบรรจุเรื่องนี้เข้าระเบียบวาระการประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๑  ในวันที่ ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๕๑

                                กรอบความคิดที่หนึ่ง  มติ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒ ครั้งที่ ๑๔/๒๕๕๐ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๑  และครั้งที่ ๓/๒๕๕๑ ล้วนไม่อนุมัติในการแต่งตั้งนายหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์)     แต่เพื่อความรอบคอบผมนำเรื่องนี้เรียนที่ประชุมอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้พิจารณาว่ารายงานการประชุมจดไว้ถูกต้องตามที่มานำมาเสนอหรือไม่  ซึ่งที่ประชุมก็ยืนยันตามนั้น ฉะนั้น รายนายหนึ่ง จึงจบลงแล้วด้วยการ “ไม่อนุมัติ”  ของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒  ส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองซึ่งเรียงลำดับมาเป็นลำดับที่ ๑ นั้น นักกฎหมายต่างยืนยันตรงกันว่าความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองไม่ผูกพันองค์คณะบุคคลที่จะต้องพิจารณาให้เป็นไปตามนั้น 

                               กรอบความคิดที่สอง  เมื่อลำดับที่หนึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขต ไม่อนุมัติ  ทางเลือกของผมในฐานะเลขานุการ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญา และเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๓ ย่อมทำได้คือ (๑) เสนอผู้ที่เห็นสมควรรายต่อไป  หรือ  (๒) ไม่ทำอะไรอีกเลยปล่อยให้มีผู้รักษาราชการแทนไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด   ผมเลือกนำเสนอผู้ที่คณะกรรมการกลั่นกรองเรียงลำดับมาเป็นที่ ๒ คือนายสองให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติ ซึ่งมีเหตุผลอย่างน้อย  ๓ ประการ คือ  

                              ประการที่หนึ่ง  เมื่อลำดับหนึ่งไม่ได้รับอนุมัติ  ก็เสนอรายที่สอง หรือสาม ต่อไป เพื่อยืนยันมติของคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีไว้ก่อนผมมาดำรงตำแหน่ง  

                              ประการที่สอง หากไม่นำเสนอใครให้ที่ประชุมพิจารณาก็จะเกิดความเสียหายแก่ราชการของโรงเรียนจนยากจะเยียวยาได้ ผู้ที่ได้รับผลโดยตรงคือนักเรียน 

                              ประการที่สาม  หากผู้มีส่วนได้เสียเห็นว่า การดำเนินการของ อ.ก.ค.ศ. เขต ก็ดี ของ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ดี ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือใช้ดุลยพินิจไม่เหมาะสม  เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งแล้วเขาเรียกว่า มีคำสั่งทางปกครองเกิดขึ้น ย่อมสามารถนำไปร้องทุกข์ หรือฟ้องศาลปกครอง เพื่อบังคับให้เป็นไปตามที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสมต่อไป   

                                มีผู้สอบถามเหมือนกันว่า ผมเห็นว่ามติ อ.ก.ค.ศ. เขต ที่ไม่เป็นไปตามคะแนนและความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรอง มีความเป็นธรรมหรือยัง  ต้องตอบตามตรงว่า ไม่ทราบ  แต่ที่ทราบเปรียบเหมือนเราไปขอยืมเงินเพื่อน  เพื่อนบอกว่า ไม่มีให้ยืม แปลว่าจบแล้ว เราจะนั่งฟังเขาอธิบายว่าเหตุใดจึงไม่ให้ยืมหรือไม่ฟังก็มีค่าเท่ากันคือไม่มีเงินกลับบ้าน  เมื่อ อ.ก.ค.ศ. เขต มีมติว่า ไม่อนุมัติ แปลว่าเราตั้งไม่ได้ส่วนเหตุผลหรือดุลยพินิจ ให้เขาไปชี้แจงกันเองหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ที่สำคัญเราออกคำสั่งตั้งไม่ได้ในรายที่เขาไม่อนุมัติ

                            

       มีการเสนอว่าน่าจะนำรายชื่อทั้ง ๓ คนมาให้ อ.ก.ค.ศ. เขต ลงคะแนน ใครได้มากก็ให้คนนั้นไป  ข้อเสนอนี้สายไปเพราะมีมติไปแล้วและมตินั้นยังมีผลทางกฎหมายอยู่ และแนวคิดนี้ไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย  เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้เสนอแนะ  การเสนอแนะก็กระทำได้ตำแหน่งละ ๑ คน ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับอนุมัติ  และมีบางความเห็นเสนอว่าให้คู่กรณีไปตกลงกันเอง วิธีนี้หากใช้ได้ก็คงสำเร็จไปก่อนผมจะมาแล้ว เพราะในที่สุดไม่มีใครยอมใคร แต่ที่สำคัญวิธีนี้ไม่ชอบด้วยระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน การพิจารณาให้ข้าราชการดำรงตำแหน่งเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา 

                                นี่คือที่มาที่ไปของการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) คนใหม่ ผมเองก็สามารถดำเนินการตามกำลังปัญญาและข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างดีที่สุดได้เพียงเท่านี้ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรอีกแล้ว  ส่วนผู้ดูจะเห็นเป็นประการใดก็เป็นไปตามหลักนานาจิตตัง  อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์สมาน  แสงมลิ เคยเล่าให้ฟังว่า  บนสวรรค์เทวดากำลังจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันว่า พระพรหมคิดอย่างไรจึงสร้างอูฐขึ้นมามีรูปร่างอัปลักษณ์เช่นนั้น ความทราบถึงพระพรมหม  ท่านปฏิเสธว่า ไม่ได้สร้างอย่างแน่นอน  แต่ก็คลับคล้ายคลับคลา ขอเปิดไดอารี่ดูก่อน พอเปิดเสร็จก็หัวเราะบอกว่า พอดีวันนั้นเราติดราชการเลยตั้งกรรมการขึ้นมาสร้างอูฐ จึงได้รูปร่างออกมาอย่างนั้น  แต่พระพรหมตบท้ายว่า อย่าไปหัวเราะ ถึงรูปร่างอูฐไม่สวยแต่มันแข็งแรงทนทานกว่าสัตว์อื่นนะ สามารถอยู่ในทะเลทรายได้ การบริหารงานบุคคลในรูปคณะกรรมการแม้จะออกมาไม่สมใจนึกบางลำภู แต่น่าจะดีกว่าการตัดสินใจคนเดียว

 

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

๒  พฤศจิกายน ๒๕๕๑

P1100538

                 

หมายเลขบันทึก: 220387เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2008 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

มาเยี่ยม ผอ.

เรื่องแบบนี้ลำบากใจครับ

ไม่มีใครอยากจะแตะต้องเรื่องนี้เพราะเขารู้ดีว่า “ไม่ใช่ทองคำ” แน่นอน เรื่องอะไรจะให้เหม็นติดมือ  ผมเองได้แต่รำพึงกับตัวเองว่า “ผีถึงป่าช้าไม่เผาก็ต้องฝัง”

ขอบคุณมากครับ

เหนื่อยน่าดูนะคะท่านผอ.

สู้..สู้..ปัญหายังมีอีกเยอะนะคะ..

ท่านเป็นผู้นำ..คงเหนื่อยกว่าใครๆ

ขอส่งแรงใจ.เพื่อการเดินหน้าอย่างเต็มภาคภุมิ

ท่านผอ.คงไม่สบายใจ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ สู้ต่อไปอย่ายอมแพ้

สวัสดีค่ะท่านผอ.สพท.เพชรบุรี เขต 2

  • ขอเป็นกำลังใจให้ท่านค่ะ
  • เรื่องอย่างนี้ ผู้ใหญ่ก็ท้อ ผู้น้อยก็ถอย ... ถ้าไม่ว่ากันไปตามเกณฑ์
  • โดยเฉพาะผู้ใหญ่และผู้น้อยที่มีความยุติธรรมไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น....
  • เจอมาจนท้อแล้วค่ะ

 

ยังมีอารมณ์เล่านิทานตอนขบอีกนะ นี่แหละท่านผอ.กำจัดตัวจริง

บนสวรรค์เทวดากำลังจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันว่า พระพรหมคิดอย่างไรจึงสร้างอูฐขึ้นมามีรูปร่างอัปลักษณ์เช่นนั้น ความทราบถึงพระพรมหม ท่านปฏิเสธว่า ไม่ได้สร้างอย่างแน่นอน แต่ก็คลับคล้ายคลับคลา ขอเปิดไดอารี่ดูก่อน พอเปิดเสร็จก็หัวเราะบอกว่า พอดีวันนั้นเราติดราชการเลยตั้งกรรมการขึ้นมาสร้างอูฐ จึงได้รูปร่างออกมาอย่างนั้น แต่พระพรหมตบท้ายว่า อย่าไปหัวเราะ ถึงรูปร่างอูฐไม่สวยแต่มันแข็งแรงทนทานกว่าสัตว์อื่นนะ สามารถอยู่ในทะเลทรายได้ การบริหารงานบุคคลในรูปคณะกรรมการแม้จะออกมาไม่สมใจนึกบางลำภู แต่น่าจะดีกว่าการตัดสินใจคนเดียว

พวกมากแต่ไม่ทำงาน พวกน้อยแต่ทำงาน ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ พวกมากลากไป

หมดกำลังใจกันพอดี

ท่าน ผอ.ครับ แสดงว่า ท่าน ผอ.เห็นว่า ความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองนั้น เป็นเพียงความเห็นหนึ่งในเชิงกว้าง ที่ อ.ก.ค.ศ.เขต เพียงแต่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาในเชิงลึกเท่านั้นใช่ไหมครับ และกรณีอย่างนี้เคยมีตัวอย่างในการพิจารณาตัดสินของศาลปกครองไหมครับ ผมชักสนใจ

มีแต่คนสวยชุมพรเขต 1 ทั้งนั้น น่าอิจฉาท่าน ผอ.

แวะมาเยี่ยมครับ

ท่านผอ.ต้องใช้พลังแห่งความมุ่งมั่นนะครับ

ขอให้มีความสุขในวันเกิดนี้

ท่าน ผอ.กำจัดคนเดิมกลับมาแล้ว ต่อไปก็จะมีแต่ความสนุกสนานเหมือนเดิม เป็นกำลังใจให้ท่านตลอดมา

สวัสดีค่ะท่านผอ.สพท.เพชรบุรีเขต 2

  • จัดบันทึกนี้มอบแด่ท่านผอ. ด้วยความเคารพค่ะ เหตุผลของแม่...
  • สุขสันต์วันเกิดค่ะ

มีความสุขวันเกิดนะคะท่านผอ.

ขอฝากถามคณะกรรมการอกคศ. ผ่านท่านผอ.เขต ว่าสาเหตุที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติให้นายหนึ่ง แต่เห็นชอบนาย สอง ที่ผมทราบว่านายหนึ่งเข้าหลักเกณฑ์เหมือนกันทุกคนเพราะอะไรครับ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบไหมครับขอความกระจ่างด้วย (๑๕๗)นะครับ เขต ๑ ไม่ห่วยอย่างนี้ หรอกครับ ถามท่านเกษมดูได้

ขอคารวะและทักทายท่านผอ.สพท.พบ.2 ที่เคารพ

กระผมติดตาม gotoknow ของท่านมาโดยตลอด รู้สึกแปลกใจว่า ท่านเสียสละเวลากับเทคโนโลยีด้านนี้อย่างน่าแปลกใจ เพราะดูวัยแล้วน้อยท่านที่จะสนใจใช้มัน กระผมคิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะลดภาระสภากาแฟหรือมาพบท่านโดยตรง ถ้าใครรู้จักใช้ตรงนี้แล้วเปรียบเสมือนกระจกหรือหน้าต่าง ตลอดทั้งการนิเทศทางไกลสำหรับการบริหารงานได้เช่นกัน ขอได้โปรดแชร์ประสบการณ์ของท่านให้มากๆก็ได้ครับ เพื่อเป็นวิทยาทาน อีกทั้งหลักการที่ได้ในเชิงบริหาร นิทานสอนใจ ทำให้จิตใต้สำนึกของมนุษย์ ได้เห็นแจ้ง

กระผมขอเป็นกำลังใจให้กับการทำงานของท่านด้วยความรักและศรัทธา และขอไหว้งามๆอำลาครับท่าน

ครูกำพลอย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท