เรื่องเล่าวันที่ ๑๐ - ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒(ตอน ๒)


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร


ันพุธที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๒   ตื่นเช้ามองลอดหน้าต่างไปทางทะเล  มีคลื่นค่อนข้างสูง ลมแรง อากาศเย็น แต่งตัวลงไปทานข้าวที่ห้องอาหารของโรงแรม  อิ่มแล้วขึ้นรถบัสเดินทางไปศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง  หุบกะพงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเขาใหญ่ และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรี 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเขตอำเขตอำเภอหัวหิน 34 กิโลเมตร หุบกะพงอยู่ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 6 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12,500 ไร่ความกว้างเฉลี่ย 2.8 กิโลเมตร ความยาวเฉลี่ย 7 กิโลเมตร ทิศเหนือจดเขาโป่ง ทิศใต้จดบ้านบ่อแขมทิศตะวันออกจดหมู่บ้านหนองยาว ทิศตะวันตกจดเขาหุบสบู่,เขาช่องม่วง และเขาหนอกวัว พื้นที่หุบกะพงอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 40 เมตร ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายและดินทราย ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 5.4 – 6.5 หน้าดินตื้น จากการวิเคราะห์ดิน สามารถแบ่งดินได้เป็น 4 หมวด คือ ดินหมวดสัตหีบ ดินหมวดท่าตะโก ดินหมวดหนองแก และดินหมวดหุบกะพง ฝนตกเฉลี่ยประมาณ 700 มิลลิเมตรต่อปี การกระจายของฝนแปรปรวนมาก มักมีช่วงฝนแล้งเป็นเวลานาน ๆ อากาศแห้งแล้งลมพัด แรง ความชื้นเฉลี่ย 62-80% อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.1 องศาเซลเซียส และต่ำสุดเฉลี่ย 16.4 องศา-เซลเซียส และมีช่วงอากาศหนาวในรอบปีประมาณ 2 - 3 สัปดาห์  วิทยากรเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์ปัจจุบันเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 พระองค์ทรงเสด็จพระราช –ดำเนินเยี่ยมเยียน และดูแลทุกข์สุขของราษฎรตามท้องที่เขตจังหวัดใกล้เคียง ในวโรกาสนั้น พระองค์ได้ทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ พระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กู้ยืมไปลงทุน เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท ภายหลังไม่ปรากฏผู้ใดนำเงินจำนวนที่กู้ยืมไปทูลเกล้าถวายคืนแก่พระองค์ท่านเลย และความได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่าเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ได้อาศัยเช่าของกรมประชาสงเคราะห์ โดยเฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 2 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ไปจัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรดังกล่าวต่อไป ขณะเดียวกันนั้นรัฐบาลอิสราเอล โดย ฯพณฯ เอกอัครราชฑูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ขอทราบหลักการของโครงการและอาสาที่จะช่วยเหลือในการพัฒนาการเกษตรในรูปของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ต่อมาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติได้เสนอหลักการของโครงการต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเห็นชอบด้วยกับโครงการ ได้ทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2509 กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี สิ้นสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2514 ใช้ชื่อว่า “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)” คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (เดิม) และกระทรวงเกษตร (เดิม) ร่วมมือกันเป็นเจ้าของเรื่อง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรเป็นรองประธาน และผู้แทนจากหน่วยราชการอื่นร่วมเป็นกรรมการ เช่น เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นต้น ด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการทุกฝ่ายได้เลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการอิสราเอล โดยเหตุผลที่ว่าเดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่การทำมาหากินไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเลวขาดแคลนน้ำ การทำไร่จึงเป็นลักษณะไร่เลื่อนลอย ต้องย้ายที่อยู่เสมอทุกระยะ 3 – 4 ปี การจับจองไม่สัมฤทธิ์ผล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรง จับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้ และกฎหมายที่ดินทุกประการ เมื่อมีแนวพัฒนาที่ดินดีขึ้นแล้ว ก็จะจัดให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้าอยู่อาศัย และทำประโยชน์ต่อไปหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และสำรวจแหล่งเก็บกักน้ำ และดินทั่ว ๆ ไป ตลอดจนสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินในบริเวณพื้นที่โครงการ ได้มีการขุดเจาะพบน้ำ-บาดาล แต่ปริมาณน้อย ภายหลังได้ตั้งเครื่องยนต์สูบน้ำขึ้นเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการชลประทาน เพื่อการเกษตร จากการสำรวจปรากฏว่า ดินส่วนใหญ่มีคุณภาพเลว คือ ประมาณ 6,500 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นดินเลวปนดีพอที่จะทำกสิกรรมได้บ้างเมื่อได้มีการพัฒนาที่ดินและจัดระบบชลประทานในพื้นที่ 500 ไร่ แล้วตั้งเป็นศูนย์สาธิตทดลองการเกษตร พร้อมทั้งอพยพเกษตรกร 2 ครอบครัว ครอบครัวแรกจากกลุ่มเกษตรกรสวนผักชะอำซึ่งได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และอีกครอบครัวหนึ่งเป็นเกษตรกรเดิมที่อาศัยที่ทำกินในเขตโครงการ โดยจัดที่ดินให้ครอบครัวละ 25 ไร่ จัดให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน 25 ไร่ มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปลูก และกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ให้เกษตรกรทั้ง 2 ครอบครัว กู้ยืมเงินเป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพครอบครัวละ 10,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้เพื่อหาข้อมูลทางด้านต่าง ๆ เช่น ในด้านรายได้ รายจ่าย ความเหมาะสมของการใช้แรงงานในครัวเรือนกับขนาดของพื้นที่ที่จัดให้การปลูกพืช ใช้น้ำชลประทาน การปลูกพืชอาศัยน้ำฝน ตลอดจนการจัดบริการในด้านสินเชื่อ และการตลาด รวมทั้ง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ปัญหาด้านสังคมของเกษตรกร ประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเพื่ออพยพครอบครัวของเกษตรกรที่เหลือเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านบ้านเกษตรกรต่อไป ภายหลังเมื่อครบปีการผลิต เกษตรกรทั้ง 2 ครอบครัว สามารถใช้หนี้คืนแก่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และยังมีเหลือเป็นทุนสำรองสำหรับการประกอบอาชีพในปีต่อไปเมื่อได้รับข้อมูลจากครอบครัวเกษตรกรตัวอย่างทั้ง 2 ครอบครัวแล้ว ในปี พ.ศ. 2511 จึงอพยพครอบครัวเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้นทีเหลืออีก 82 ครอบครัว และเกษตรกรที่เข้ามาทำประโยชน์อยู่เดิมอีก 46 ครอบครัว เข้าอาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ที่จัดสรรให้ครอบครัวละ 25 ไร่ จัดให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน 7 ไร่ และอีก 18 ไร่ ให้ปลูกพืชไร่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ และโครงการได้ให้กู้ยืมเงินครอบครัวละ 6,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านเรือน 1,500 บาท ส่วนที่เหลืออีก 4,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุการเกษตร และค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 6  การอพยพครอบครัวเกษตรกรเหล่านี้ ได้จัดให้สร้างที่อยู่อาศัยรวมเป็นหมู่บ้านเกษตรกรขึ้นโดยมีทางราชการคอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่างให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ขณะเดียวกันได้มีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการของสหกรณ์จนเห็นว่า สมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจได้ดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร โดยชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด กับได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน 3 ฉบับ รวมพื้นที่ 12,079 – 1 – 82 ไร่ ให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา
                 พวกเราได้ดู VCD
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  กับการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรบ้านหุบกะพง พระองค์ยังคล่องแคล่วว่องไวมาก  ราษฎรหลายรายยังมีชีวิตอยู่ บางรายเสียชีวิตแล้ว ฟังบรรยายสรุปแล้ว เดินทางไปดูงานในพื้นที่  จุดแรกไปเยี่ยมชมกลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน  เขาทำเรื่องยาล้างจาน สบู่ ยาสระผม จนได้รางวัลและหนังสือรับรองมาตรฐาน  อุดหนุนกันคนละอย่างสองอย่าง  กลับไปทานข้าวกลางวันที่ศูนย์ฯ  อิ่มแล้วจึงเดินทางไปบ้านผู้นำชุมชน นักพัฒนายุคแรก ตำนานหน่อไม้ฝรั่ง นายตี๋ คล่องแคล่ว ลูกชายลูกสาวสืบทอดจากพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว  จากนั้นไปบ้านเลี้ยงโคขุน ของนายออด พรมรักษาและมาจบลงที่ศูนย์สาธิตผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์  กลับที่พัก ผมขับรถกลับท่ายางเพราะนัดหมายตามงานในเขต ๒ - ๓ เรื่อง 

ันที่ ๑๕  มกราคม  ๒๕๕๒   ออกจากบ้านพักเวลา ๐๘.๐๐ น. เดินทางโดยรถตู้ของสำนักงานเขต ไปโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี  ใช้เส้นทางเพชรเกษมไปเลี้ยวขวาตรงห้างบิ๊กซีเพชรบุรี ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ไปจนบรรจบกับถนนเลียบทะเลบ้านแหลม-ชะอำ จึงเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๖ กม. เลี้ยวขวาเข้าไปก็จะถึงศูนย์วิจัยแห่งนี้  สมาชิกยังมาไม่ถึง จึงได้โอกาสศึกษาภูมิประเทศ  วันนี้มีคณะมาศึกษาดูงาน ๒ คณะ  คณะแรกที่มาถึงเป็นนักศึกษา นบส. (นักบริหารระดับสูง) ของวิทยาลัยนักบริหารระดับสูง สำนักงาน ก.พ.  และคณะนักศึกษา นปส. (นักปกครองระดับสูง) ของวิทยาลัยมหาดไทย  กระทรวงมหาดไทย  เมื่อคณะ นปส.พร้อมจึงขึ้นรถชมวิวของศูนย์วิจัยฯ เหมือนรถชมเกาะรัตนโกสินทร์ของ กทม. ไปชมบ่อบำบัดน้ำเสีย และแปลงบำบัดน้ำเสียจนครบวงจร จากนั้นมาฟังการบรรยาย  พื้นที่ดำเนินงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ ตั้งอยู่บริเวณบ้านพะเนิน ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากเทศบาลเมืองเพชรบุรี ประมาณ 22 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 642 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ติดทะเล และบางส่วนแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ทำนาเกลือมาก่อน ชุมชนเทศบาลเมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญสายหนึ่งของ ภาคตะวันตก มีประชากรประมาณ 45,000 คน แต่เดิมมีการใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำทั้งในการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และการคมนาคม นอกจากนี้ได้มีการนำน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีไปใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อมา ระยะหลังก่อนมีการดำเนินโครงการฯ คุณภาพน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีมีสภาพเสื่อมโทรมลงมาก โดยในแต่ละวันจะมีน้ำเสียถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีประมาณ 3,500 - 4,500 ลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำในแม่น้ำเกิดการเน่าเสีย จนไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากกิจกรรมในการใช้น้ำในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก   การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในเขตเทศบาลฯ และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบถึงปัญหาน้ำเสียชุมชนแล้ว ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยในแต่ละวัน ปัจจุบันมีปริมาณขยะมากถึง 40 ตัน และยังมีวิธีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง บางส่วนถูกกองทิ้งไว้กลางแจ้ง และบางแห่งยังมีการทิ้งลงสู่แม่น้ำ ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของมลสารในดินและน้ำใต้ดิน ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรค และปัญหาการส่งกลิ่นเหม็น เป็นต้น โครงการฯ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชนโดยยึดหลักการตามแนวพระราชดำริ กล่าวคือ การให้ธรรมชาติช่วยเหลือธรรมชาติด้วยกันเองอาศัยกลไกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ การเติมอากาศจากพืช สาหร่าย ลม และแสงแดด ทั้งนี้โดยใช้วิธีการในการจัดการเพื่อสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนามาอย่างเป็นขั้นตอนและผสมผสานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กระบวนการกำจัดและบำบัด และการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ทางสังคม การประชาสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งเทคโนโลยีตามแนวพระราชดำริในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชนดังกล่าวประกอบด้วย
 เทคโนโลยีการกำจัดขยะ
    ร้อยละ 50 ของขยะชุมชนโดยทั่วไปจะเป็นขยะอินทรีย์ (ขยะเน่าเสีย) ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ส่วนที่เหลือเป็นพวกที่ไม่ย่อยสลาย จึงสามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับใช้ประโยชน์ได้ใหม่ และส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้จะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โครงการฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการกำจัดขยะชุมชน ด้วยวิธีการนำขยะมาหมักทำปุ๋ยโดยการประยุกต์การฝังกลบตามหลักสุขาภิบาลมาทำในกล่องคอนกรีต ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาการสูญเสียพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อความประหยัดค่าใช้จ่าย และเพื่อความสะดวกในการนำปุ๋ยที่ได้จากการหมักมาใช้ประโยชน์ สำหรับเทคโนโลยีนี้จะใช้ขยะอินทรีย์ใส่ในกล่องคอนกรีตเป็นชั้น ๆ ระหว่างชั้นจะใส่ดินแดงหรือดินนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ และมีการรดน้ำเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิในกระบวนการหมัก ซึ่งใช้ระยะเวลาในการทำปุ๋ยหมักจากขยะเพียง 90 วัน     
เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย

    การบำบัดน้ำเสียชุมชน โครงการฯ ได้จัดการรวบรวมน้ำเสียและลำเลียงจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีไปตามท่อยาวประมาณ 18.5 กิโลเมตร เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติตามแนวทางพระราชดำริ ซึ่งแบ่งเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียออกเป็น 4 ระบบ คือ
             1. ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย (Lagoon Treatment) เป็นระบบที่อาศัยการกักพักน้ำเสียไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมกับปริมาณความสกปรกของน้ำ การเติมออกซิเจนด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน และสาหร่าย อาศัยแรงลมช่วยในการพลิกน้ำเติมอากาศ การย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ และระยะเวลากักพักน้ำจะช่วยฆ่าเชื้อโรค ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ ประกอบด้วย บ่อตกตะกอน 1 บ่อ บ่อผึ่ง 3 บ่อ และบ่อปรับสภาพ 1 บ่อ โดยเชื่อมต่ออย่างเป็นอนุกรม สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียสูงสุดได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วันโดยน้ำเสียจะถูกลำเลียงจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีเข้าสู่บ่อตกตะกอน แล้วผ่านไปยังบ่อผึ่ง 1 2 และ 3 ตามลำดับ จากนั้นเข้าสู่บ่อปรับสภาพคุณภาพน้ำเป็นขั้นสุดท้าย ทั้งนี้น้ำเสียแต่ละบ่อ จะไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบนและเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับ สำหรับระบบนี้มีประสิทธิภาพการบำบัดความสกปรกในรูปของบีโอดีได้ถึงร้อยละ 85-90

            
 2. ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย (Plant and Grass Filtration) เป็นระบบที่ให้พืชช่วยดูดซับธาตุอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์เป็นสารอนินทรีย์ที่พืชต้องการของจุลินทรีย์ในดิน การปลดปล่อยออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสงจากระบบราก สาหร่าย และแพลงค์ตอน โดยการปล่อยให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงพืชหรือหญ้า โดยน้ำเสียจะไหลผ่านผิวดินและต้นพืชหรือหญ้าเป็นระยะทางอย่างน้อย 50 เมตร ระดับความสูงของน้ำเสียที่กักขังบริเวณท้ายแปลงเท่ากับ 30 เซนติเมตร สำหรับระยะเวลาเก็บกักที่เหมาะสม คือ ขังน้ำเสียไว้ 5 วัน แล้วปล่อยให้แห้ง 2 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ได้พักตัว สำหรับพืชและหญ้าที่ใช้ในการบำบัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หญ้าอาหารสัตว์ ได้แก่ หญ้าคาลลา หญ้าโคสครอส และหญ้าสตาร์ พืชทั่วไป ได้แก่ ธูปฤาษี กกกลม (กกจันทบูร) และหญ้าแฝกพันธุ์อินโดนีเซีย เมื่อครบระยะเวลา 45 วัน (ยกเว้นธูปฤาษี 90 วัน) จะตัดพืชและหญ้าเหล่านั้นออก เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งหญ้าเหล่านี้นำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากการปนเปื้อนของมลสารไม่เกินมาตรฐานสำหรับสัตว์ ส่วนพืชทั่วไปนำไปใช้ในการจักสานได้เป็นอย่างดี

              3. ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม (Constructed Wetland) เป็นระบบที่ใช้หลักการและกลไกในการบำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกับระบบพืชและหญ้ากรอง จะแตกต่างกันที่วิธีการ กล่าวคือ การปล่อยให้น้ำเสียขังในแปลงพืชน้ำ ที่ระดับความสูง 30 เซนติเมตรจากพื้นแปลง โดยให้น้ำเสียมีระยะเวลากักพักอย่างน้อย 1 วัน ใช้การเติมน้ำเสียใหม่ลงสู่ระบบให้ได้ระดับ 30 เซนติเมตร ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำเสียที่สูญหายไปโดยกระบวนการระเหยในแต่ละวัน และอีกวิธีการหนึ่งคือ การเติมน้ำเสียใหม่ลงสู่ระบบอย่างต่อเนื่องตลอดวัน โดยที่อัตราความเร็วของน้ำเสียเท่ากับปริมาณน้ำเสียใหม่ที่สามารถผลักดันไล่น้ำเสียเก่าออกจากระบบหมดในเวลา 1 วัน สำหรับพืชที่ใช้ในการบำบัดคือ ธูปฤาษี และกกกลม (กกจันทบูร) เมื่อครบระยะเวลาจะตัดพืชเหล่านั้นออก เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ 90 วันสำหรับธูปฤาษี และ 45 วันสำหรับกกกลม (กกจันทบูร) พืชเหล่านี้นำไปใช้ในการจักสาน เยื่อกระดาษ และเชื้อเพลิงเขียวได้

                 4. ระบบแปลงพืชป่าชายเลน (Mangrove Forest Filtration) เป็นการบำบัดน้ำเสียโดยใช้แปลงพืชป่าชายเลน ใช้หลักการเจือจางระหว่างน้ำเสียกับน้ำทะเล และกักพักน้ำเสียกับน้ำทะเลที่ผสมกันแล้วไว้ระยะเวลาหนึ่งโดยการเลียนแบบธรรมชาติตามระยะเวลาการขึ้น-ลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดการตกตะกอนของสารอินทรีย์ในน้ำเสีย อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยในการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดิน เพื่อให้กลไกการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ในดินในการบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับสัดส่วนในการผสมระหว่างน้ำเสียและน้ำทะเลจะมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยความสกปรกของน้ำเสียในรูปบีโอดี ที่ตรวจวัดได้
               
 ก่อนเที่ยงผมส่งใบลาหยุดเรียนในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒ เพราะมีราชการต้องปฏิบัติที่เขต แล้วขอตัวสมาชิกเดินทางเข้ากระทรวงศึกษาธิการ ใช้เส้นทางเลียบชายทะเลไปบรรจบถนนพระราม ๒ ที่บ้านคลองโคน  จังหวัดสมุทรสงคราม  แวะทานข้าวที่สถานีบริการน้ำมันทางเข้าตลาดแม่กลอง  ก่อนเดินทางต่อไป  ถึงกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนเวลาประชุมประมาณ ๓๐ นาที ได้พบ ผอ.สุชาติ  ชูชีพ  จากโรงเรียนปะทิววิทยา สอบถามได้ความว่าขึ้นมารับรางวัลโครงงานนักเรียนในวันพรุ่งนี้   ขึ้นห้องประชุมชั้น ๗ อาคาร สพฐ. ๕เพื่อประชุมคณะทำงานโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ มีทั้ง ผอ.สำนักในส่วนกลาง  ผอ.รร. ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ผอ.เขต อีก ๕ ราย  ประธานการประชุมคือท่านเลขาธิการ คุณหญิงกษมา  วรวรรณ    อยุธยา  ท่านรองฯสมเกียรติ  ชอบผล  และท่านรองฯ วินัย  รอดจ่าย ใช้เวลาประชุมตั้งแต่ ๑๔ นาฬิกาจนถึงเวลา ๑๖ นาฬิกาจึงเลิก  เดินทางกลับเพชรบุรีถึงเกือบ ๒ ทุ่ม เลยไปชะอำเพื่อต้อนรับ วิทยากรที่เชิญมาบรรยายงานวันครู คือ รองศาสตราจารย์  ดร.สมบูรณ์  ชิตพงศ์  คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  ไปทานข้าวกันที่ร้านอาหารเม็ดทราย ชายหาดชะอำ เจ้าของเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในเพชรบุรี เขต ๒  เวลา ๓ ทุ่มแยกย้ายกันกลับบ้าน

                                                                                                   

ันศุกร์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒  เดินทางถึงโรงแรมลองบีช ชะอำ เวลา ๐๗.๓๐ น. คณะครูทยอยกันนำข้าวสารอาหารแห้งมาเตรียมตักบาตร ซึ่งใช้ชายหาดหน้าโรงแรมเป็นที่ตักบาตร  พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาตทางเขตถวายข้าวต้มเป็นภัตตาหารเช้า  ปีนี้เป็นวันครูปีที่ ๕๓ จึงนิมนต์พระมา ๕๓ รูป  เวลา ๐๘.๐๐ น. คณะครูพร้อม พระพร้อม  จึงตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง  ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ  พิธีวันครูจัดที่ชั้น ๓ โรงแรมลองบีช อาคารติดชายทะเล  มีครูมาร่วมนับพันคน  ผมทำหน้าที่ประธานของงานมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีบูชาบูรพาจารย์  มีการมอบเกียรติบัตรรางวัลดีเด่นเกือบ ๑๐๐ รายการ  สุดท้ายได้ฟังการบรรยายจาก รศ.ดร. สมบูรณ์  ชิตพงศ์  คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ประชุมฟังกันอย่างไม่ถอยหนี ได้ทั้งความคิด ความรู้ และอรรถรส ครบถ้วนกระบวนความ   บ่ายผมนัดประชุมรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และหัวหน้ากลุ่ม  ความจริงนัดไว้เมื่อวาน แต่มีประชุมที่ สพฐ. เลยเลื่อนมาวันนี้ เป็นการซักซ้อมในการเตรียมการรับการประเมินผลประจำปี ๒๕๕๑ จาก คณะติดตามจาก สพฐ. ซึ่งกำหนดจะมาประเมินเพชรบุรี เขต    ในวันที่ ๑๒  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒   นอกนั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติงานทั่ว ๆ ไป  กลับบ้านพักนายเมษา  ขันทะเสน ลูกน้องที่ชุมพรมาหาพร้อมครอบครัว หอบหิ้วของพื้นเมืองชุมพรมาฝาก เช่น  กล้วยเล็บมือนาง  ใบเหลียง  สะตอ  โรตีสำเร็จรูปจากระนอง  แกงคั่วกลิ้ง  เขาจะไปเยี่ยมญาติที่กรุงเทพฯแล้วจะกลับชุมพรคืนนี้  ครูโรงเรียนท่ายางวิทยาที่เคยรับราชการที่ชุมพรมาหา มาอวยพรปีใหม่ ต่อด้วยการลงชื่อในเกียรติบัตรการอบรมคณิตศาสตร์ที่มากมายทั้งครูทั้งเด็กสุดท้ายการปฏิบัติราชการวันนี้ออกคำสั่งสำนักงานฯ ๒ ฉบับ  เย็นไปร่วมงานวันครูของครูอำเภอท่ายางที่โรงเรียนบ้านท่ายาง (ประชาสรรค์) อยู่ร่วมงานจน ๒๐.๓๐ น. จึงเดินทางกลับเพราะมีงานต้องรีบดำเนินการอยู่หลายเรื่อง เพราะอาทิตย์หน้าต้องไปเรียนทั้งสัปดาห์

 กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

ลับไปอ่านตอนที่ ๑

 

หมายเลขบันทึก: 235690เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2009 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท