เล่าเรื่องระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๓ มกราคม ๒๕๕๒(ตอนที่ ๑)


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

วันที่  ๒๔   มกราคม  ๒๕๕๒

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๑๙  มกราคม ๒๕๕๒   ตื่นนอน ๐๖.๓๐ น.  เตรียมเอกสารสำหรับการเรียนในวันนี้  ลงไปทานข้าวที่ห้องอาหารของวิทยาลัย  เช้านี้ทานข้าวต้ม กับปลาเล็กปลาน้อย จบด้วยกาแฟ ๑ ถ้วย  เวลา ๐๘.๓๐ น. เข้าแถวหน้าเสาธง เชิญธงขึ้นสู่เสา  ผมนำสวดมนต์เพราะเป็นหมู่บริการในวันนี้   ๐๙.๐๐ น. ขึ้นไปลงชื่อเข้าเรียน ที่นี่ต้องลงชื่อทุกคาบเรียน และต้องจดรายงานการเรียน(Learning  Log) ทุกวิชาไปส่งในตะกร้าที่เขาวางไว้  โต๊ะเรียนก็จะเขียนชื่อพร้อมตำแหน่งไว้ทุกคน คุณสุมนา  นุ่นแก้ว จากชุมพร ๑ โทร.มาทราบว่าเป็นวันเกิดจึงอวยพรให้เจริญก้าวหน้าและผาสุก ตามด้วย ผอ.ปราณี  ซื่อสัตย์ อดีต ผอ. โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๗ (บ้านเนินสันติ) บอกว่ากำลังขึ้นกรุงเทพฯ จะแวะมาเยี่ยมที่เขต บอกท่านว่าไม่อยู่กำลังเรียนอยู่ที่บางละมุง เสียดายที่ไม่เจอ คิดถึงเหมือนกัน  เข้าห้องประชุมชลบุรี ท่านผู้ว่าฯพินัย  อนันตพงศ์ ที่ปรึกษาโครงการแจ้งให้ทราบว่าท่านจะมาเยี่ยมทุกวันจันทร์ หากนักศึกษามีข้อเสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงบริการด้านใดในการศึกษาอบรม ยินดีเป็นสื่อกลาง  แต่จะสำเร็จหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง  ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ คุณเกื้อพร  วานิชชัย ชี้แจงการใช้บริการห้องต่าง ๆ ในวิทยาลัย เช่น คาราโอเกะ ห้องดูหนัง  ห้องออกกำลังกาย  จากนั้นพวกเราลงไปเรียนเรื่องการคิดเชิงสร้างสรรค์(Creative and Positive)    ที่ห้องสัตหีบ อยู่ชั้น ๑ ของอาคาร มีอาจารย์รัศมี  ธันยธร เป็นวิทยากร  ผู้เรียนไม่ต้องจด อาจารย์จะมีกิจกรรมให้เคลื่อนไหวและรวมกลุ่มคิดตลอดเวลา อาจารย์บอกว่าคนเรามีทักษะใหญ่ ๆ อยู่ ๓ ด้าน คือ ด้านความรู้  ด้านความคิด และด้านการอยู่กับคน  ธรรมชาติของสมองเหมือนฝนตกลงมาน้ำไหลเป็นทาง  แปลว่าชอบไปในแนวทางที่เคยชิน เราต้องเปลี่ยนเป็นวิธีใหม่ ๆ มาใช้บ้าง  เหตุผลที่เราไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อและความคิดเพราะเราตกหลุมพรางความฉลาด  หลุมพรางความฉลาดทำให้เกิดความคิดว่า กูแน่    แต่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา  เป็นเพียงผู้มาเยือน วิธีฝึกให้ใจกว้างเราต้องเลิกวิธีคิดแบบ Logic  เช่น ๔ +   =    เป็น ๘ เกิดจากจำนวนใดทำวิธีใดกันได้บ้าง ก็จะเปิดโอกาสให้รับฟังคนอื่นได้หลากหลายขึ้น  นิวรณ์ ๕ ก็เป็นตัวทำให้ความเป็นตัวตนสูง ไม่ว่าจะเป็น รักเกิน  ชังเกิน อ่อนแอเกิน ฉลาดเกิน และโง่เกิน  ความคิดเชิงลบก็ไม่ใช่ความจริง เราต้องถอนออกจากตัวเรา โดยการติเตียนตัวเอง ชื่นชมตัวเอง และให้อภัยตัวเอง  เช่นเดียวกับคนอื่นก็ต้องทำในทำนองเดียวกัน  การวาดภาพยักษ์จนกลัวยักษ์ที่วาดขึ้นจนตายก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกับการสงสัย   คนเรามักจะมองเห็นแต่ส่วนแย่ ๕ % แทนที่จะเห็นส่วนดี ๙๕ % ต้องฝึกขอบคุณ  ขอโทษ  และไม่เป็นไร  พวกเราเรียนหัวข้อนี้ตั้งแต่เช้าจน ๑๖.๐๐ น. จึงได้เลิก  ขึ้นมาเปลี่ยนเป็นชุดออกกำลังกาย ลงสนามหน้าอาคาร ฝึก ๑๐ ท่าพญายมและเต้นตามจังหวะดนตรี ตั้งแต่ ๑๗.๐๐ น. ๑๘.๐๐ น. ผมมีอาการปวดหลัง ทั้งที่ซื้อยาดองเหล้าสูตรกะเหรี่ยงของนายตี๋  คล่องแคล่ว  จากหุบกะพงมา ๑ ขวด แต่ก็ไม่ดีขึ้น  ไปทานอาหารเย็นเป็นข้าวสวยกับแกงอีก ๒ ๓ อย่าง พร้อมผลไม้และของหวาน  เรื่องการกินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์  แต่ก็ตั้งใจว่าจะลดน้ำหนักลงให้ได้  ขึ้นห้องพักสรุปงานและทำรายงานประจำวันที่จะส่งพรุ่งนี้  

วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒  ลงไปทานข้าวที่ห้องอาหาร แต่ทานสลัดผักเพราะอยากลดน้ำหนักลงสักหน่อย เมื่อวันครู รศ. ดร. สมบูรณ์  ชิตพงศ์ อาจารย์ที่เคยสอนมาเอามือมาจิ้มพุงถึงสองหน แปลความได้ว่าไปเอาออกเสียบ้าง   ลงเวลาเข้าเรียนในภาคเช้าทางวิทยาลัยนำผลการตรวจสอบสมรรถภาพทางกายมาให้ดู  ผลออกมาน้ำหนักเกินมาตรฐาน  ไขมันก็เกิน  อัตราเต้นของหัวใจสูงกว่าปกติ  ความดันโลหิต ปกติ ความอ่อนตัวด้านหน้าน้อย สูญเสียความยืดหยุ่นของร่างกาย กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้ง่าย เขาแนะนำให้ออกกำลังกาย  ขึ้นไปลงชื่อเข้าเรียนภาคเช้า หัวข้อ เทคนิคการบริหารจัดการสมัยใหม่  วิทยากร    ดร.พรรณิภา  ภู่รุ่งเรือง  จากบริษัท Grid   Teamwork  Ltd. เป็นการนำทฤษฎีของ Dr. Robert R. Blake  & Dr. Jane S. Mouton   ที่เราคุ้นเคยกันในนามตารางคนและงานของ Grid  ซึ่งแบ่งกราฟออกเป็น ๒ ด้าน  ด้านระนาบเป็นความมุ่งมั่นในงาน  และแนวตั้งเป็นความมุ่งมั่นในคน แบ่งตารางออกด้านละ ๙ ช่อง รวมพื้นที่ ๘๑ ช่องตาราง   การบริหารที่ตกอยู่ในตาราง ๑ , ๑ เป็นประเภทไม่สนใจใยดี   ตกอยู่ในตาราง ๙ , ๑  เป็นประเภทมุ่งงาน  ตกอยู่ในตาราง ๑ , ๙ ประเภทมุ่งคน  ตกอยู่ในตาราง ๙ , ๙ เป็นประเภทเก่งงานเก่งคน  แต่วันนี้วิทยากรได้เน้นการนำทฤษฎีสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งตรวจสอบตนเอง  การสร้างทีมงาน การผลผลิตของทีม ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นเวลา ๖ ชั่วโมง  อาจารย์แถมให้อีก ๒๐ นาที  เลิกแล้วรีบขึ้นห้องพักเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดกีฬา  ลงไปออกกำลังกาย ๑๐ ท่าพญายม ในความเห็นผมเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงวัย แต่จำท่ายากเพราะมีถึง ๑๐ ท่า  ต่อด้วยการออกกำลังกายตามจังหวะเพลง  ใช้เวลา ๑ ชั่วโมงพอดี อาหารเย็นเดิมกะจะงดแต่สงสารหลวงได้จัดค่าอาหารให้วันละ ๕ มื้อ วันนี้งดอาหารว่างไป ๒ มื้อ จะเสียเงินเปล่า ไปทานข้าวกับน้ำพริกปลาทูและผักเสียหน่อย  กลับขึ้นทำการบ้านต่อที่ห้องทำงาน

วันพุธที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒  วันนี้ตื่นมาทำรายงานจนสาย ลงไปทานอาหารเช้ากาแฟ ๑ ถ้วย ขนมปัง ๑ แผ่น  ไปเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์  ขึ้นไปลงชื่อเข้าเรียนห้องชลบุรี ชั้น ๒ หัวข้อวันนี้ การสร้างกรอบความคิดสำหรับนักบริหาร (Conceptualization)  วิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์    ดร.บุษกร วัชรศรีโรจน์  จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เป็นการสอนการจัดระเบียบความคิดด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ปกติมนุษย์มีความคิด ๕ ชั้นตอน คือ รับรู้ถึงประเด็นที่ต้องตัดสิน  ทำความเข้าใจกับเรื่องนั้น  ทำความเข้าใจทางเลือกที่มี  ประเมินผลของแต่ละทางเลือก และทำความเข้าใจปฏิกิริยาของกลุ่มเป้าหมาย  ในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็มีความสอดคล้องกัน  คือการตั้งคำถาม  ทบทวนเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง สร้างความความคิด กำหนดวิธีศึกษาและดำเนินการ  การตั้งปัญหาหรือคำถามที่ดี มีผลต่อคำตอบที่จะได้ เพื่อสร้างกรอบของปัญหา   การจะคิดได้แยบยลเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับกระบวนทัศน์ (Paradigm)  หรือกล่องความรู้ หรือทฤษฎีที่ตนเองมี  เช่น คนที่นิยมใส่เสื้อขนสัตว์ก็จะคิดว่าสัตว์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์เลี้ยงไว้สำหรับบริโภค จึงมีความภาคภูมิใจที่ได้ใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ราคาแพง  แต่สำหรับนักอนุรักษ์สัตว์หรือกลุ่มกรีนพีช จะมองเห็นหยดเลือดไหลเป็นทางเมื่อเห็นคนสวมเสื้อขนสัตว์  ในการสร้างกรอบความคิดผู้บริหารจำเป็นต้องสร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงให้สมเหตุสมผล  ทฤษฎีหากอธิบายเหตุการณ์ได้มากก็จะมีอายุยืนยาว แต่หากมีข้อจำกัดก็ยกเลิกไป  เราเรียนเรื่อง Inductive Theory  คือความสัมพันธ์เชิงตรรกะ (Logical  model) ที่หลักการต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นจากสิ่งที่พบจากการสังเกตการณ์ (Observation) แล้วนำไปสู่การสร้างทฤษฎี   ส่วน Deductive Theory เป็นความสัมพันธ์เชิงตรรกะ(Logical model) ที่ความคาดหวัง(expectation) และสมมติฐาน (hypotheses) ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของหลักการที่มีอยู่ เพื่อทำการทดสอบว่าจริงหรือไม่   ความมีอยู่จริง (Reality) มีอยู่ ๒ ระดับใหญ่ ๆ คือ สิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น  โต๊ะ  เก้าอี้  และนามธรรม เช่น ความสวย ความเก่ง ผู้บริหารต้องสามารถวัดความคิดให้ได้อย่างชัดเจน  เรื่อง Operationalization ต้องพิจารณาประเภทของตัวชี้วัด คุณภาพตัวชี้วัด และระดับตัวชี้วัด จะนำไปสู่การตั้งสมมติฐาน แต่สมมติฐานที่คลาดเคลื่อนจะนำไปสู่ข้อสรุปที่บิดเบือน  สมมติฐานที่ดีสามารถช่วยลดเวลาและเงินในการแก้ปัญหา  สุดท้ายคือ กับดักความคิด ๑๐ ประการ คือ (๑) การรีบด่วนสรุป  (๒) ตั้งปัญหาตามความรู้สึกส่วนตัว (๓) พลาดที่จะมองจากมุมมองอื่น(๔) เชื่อมั่นในสิ่งที่คิดมากเกินไป  (๕) นิยมการใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วมากเกินไป (๖) ไปตามอิทธิพลของค่านิยมในสังคม (๗) เชื่อการตัดสินใจแบบกลุ่มมากเกินไป (๘) ประเมินผลงานของตนแบบหลอกตัวเอง (๙) ขาดการบันทึกประสบการณ์การตัดสินใจ (๑๐) ขาดวิธีการตรวจสอบการตัดสินใจของตนเอง    ใช้เวลาเรียนทฤษฎี ๖ ชั่วโมงเต็ม ๆ จนรู้สึกสมองมึนงงเหมือนกัน  เย็นออกกำลังกาย ๑๐ ท่าพญายม ต่อด้วยฝึกโยคะ  หลังอาหารเย็นประชุมกลุ่มเพื่อจัดทำรายงาน  เลิกประชุมขึ้นห้องพักทำงานเดี่ยวอีกจนดึก

่านต่อตอนที่ ๒

เพลง : ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้
ศิลปิน :  ตั๋กแตน (ชลดา)

หมายเลขบันทึก: 236913เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2009 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท