เล่าเรื่องระหว่างวันที่ ๒๔ - ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๒


๒๗ - ๓๑  ตุลาคม ๒๕๕๒
การแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ ระดับประถมศึกษาประจำปี ๒๕๕๒
ณ เมืองลักซ์นาว ประเทศสาธารณรัฐอินเดีย  
Wizard at Mathematics International Competition (WIZMIC 2009)

ผลการแข่งขันทีมนักเรียนไทยได้เหรียญทอง ๒ เหรียญ
นอกนั้นเป็นเหรียญเงินและทองแดง  แต่ทุกคนก็ได้เหรียญกลับบ้าน

๓๑  ตุลาคม  ๒๕๕๒

เรียน  เพื่อนครู  และผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เช้านี้ต้องบริหารจัดการเวลาเป็นพิเศษเพราะมีภารกิจที่ต้องทำหลายประการ อันดับแรกขับรถไปบ้านพักที่ปทุมธานี เพราะพาลูกน้องจากชุมพรไปพักค้างไว้ตั้งแต่เมื่อคืนเพราะเขาสะดวกใจกว่าไปพักตามโรงแรม อีกประการหนึ่งได้คุ้นเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเกือบ ๖ ปีจึงไม่ต้องกังวลเรื่องที่หลับที่นอนนัก ขาดเหลืออย่างไรเขาก็จัดหากันเอง แวะซื้ออาหารเช้าที่ตลาดไปฝาก ได้ไถ่ถามทุกข์สุขกันไม่มากก็ต้องลากัน เพราะเขาต้องไปประชุมสมาคมลูกจ้างประจำ ผมก็ต้องไปสนามบิน หลังส่งแขกรีบกลับมาบ้านพักเมืองนนท์เพื่อจัดกระเป๋าเดินทางเป็นรอบสุดท้ายแล้วเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ ทันเวลานัดหมาย การเดินทางไปสาธารณรัฐอินเดียครั้งนี้มีความวิตกกังวลอยู่หลายประการ ด้วยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนี้เชิงลบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าในเมืองคงจะสะดวกสบายกว่าชนบทที่ผมเคยเผชิญมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ที่บ้านเกิดจังหวัดพัทลุง สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาและไม่มีถนน เมื่อเรียนประถมศึกษาตอนปลายต้องเดินเท้าไปกลับวันละประมาณ ๒๐ กม. เมื่อเรียนมัธยมศึกษาต้องมาอาศัยวัดอยู่ในเมือง เมื่อรับราชการที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ออกพื้นที่เขตภูเขาธุระกันดารในทุ่งใหญ่นเรศวรน่าจะมีความยากลำบากยิ่งกว่าหลายเท่า เรื่องอาหารการกินได้เตรียมเสบียงไปบ้างตามสมควรเป็นพวกน้ำพริกนรกและสวรรค์ทั้งหลายที่มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และทราบว่าผู้จัดการทีมได้เตรียมกรมพลาธิการไปด้วย ที่ต้องเตรียมจริงจังคือยาที่ขาดไม่ได้ เช่น ยาแก้อักเสบเมื่อเป็นหวัด ยาแพ้อากาศ และยาสามัญทั้งหลาย เพราะเคยพบว่าในต่างประเทศเวลาจะซื้อยาต้องมีใบสั่งของแพทย์  ทีมงานที่ไปครั้งนี้มีทั้งนักเรียน ครู  ศึกษานิเทศก์ และเจ้าหน้าที่จาก สพฐ.  ใช้เวลาค่อนข้างนานในการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางเพราะมีผู้ปกครองและครูมาส่งกันมาก บางรายผู้ปกครองลงทุนเดินทางไปอินเดียด้วย แต่ซื้อทัวร์แยกไปต่างหาก การจัดทีมดูแลเราแบ่งนักเรียนออกเป็นทีม A เด็กชายณัฐนนท์ ตั้งจิตธรรม โรงเรียนอนุบาลพระนครศรีอยุธยา เด็กหญิงทักษพร ลิขิตรัตนากร โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา เด็กชายภูวิชญ รัชตวุฒิมงคล โรงเรียนสารสาร์สวิเทศร่มเกล้า เด็กชายวรพล เกตานนท์ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ทีมB เด็กชายนาวา สนจีน โรงเรียนอนุบาลเพชรบุรี เด็กหญิงชวรัตน์ ขำวีระ โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ เด็กชายณัฐพงศ์ ติยะจามร โรงเรียนเพ็ญสมิทธ์ เด็กชายกิตติพศ ปรางศ์ศรีเจริญ โรงเรียนเลิศหล้า(กาญจนาภิเษก)  ทีมC เด็กชายปิยวัฒน์ อนันทคุณ โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา เด็กหญิงปาณิสรา อารยะถาวร โรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์ เด็กชายสุชาครีย์ ชื่อลือชาโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เด็กชายวริทธิ์ ฝูงวานิช โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถมและทีมD  เด็กชายธนดล ทานอุทิศ โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา  เด็กชายณัฐพนธ์ ทำอาชีพ โรงเรียนราชวินิต เด็กชายกฤตเมธ เล้งรักษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เด็กชายเปี่ยมบุญ ธมโชติพงศ์ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศศึกษาเมื่อตรวจนับกำลังพลพร้อมแล้วก็ผ่านกระบวนการออกนอกประเทศ ไปขึ้นเครื่องที่ประตู F4 ใชบริการของสายการบิน Air India เครื่องออก  ๑๔.๒๐น. เป็นเครื่องขนาดเล็กมีที่นั่ง ๒ ฟากซ้ายขวา แต่ละแถวมี ๖ ที่นั่ง แต่มีจอหนังเล็ก ๆ ไว้ที่หลังเก้าอี้สำหรับผู้โดยสารทุกคน สามารถดูเส้นทางบิน และภาพยนตร์บันเทิงได้ตลอดเส้นทาง  ผมนั่งติดหน้าต่าง จึงสามารถมองลงไปด้านล่างได้สะดวก เส้นทางบินเมื่อออกจากสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าตัดกาญจนบุรี ผ่านมะริดของพม่า ผ่านย่างกุ้ง กัลกัตตา จุดหมายนิวเดลลี เมื่อผ่านย่างกุ้งมองเห็นแม่น้ำอิรวดีได้ชัดเจน ผมเคยมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นแขกรัฐบาลพม่า มีความประทับใจในความเป็นเมืองที่สงบย้อนยุคที่หาไม่ได้ในเมืองไทยผ่านพม่าดูแผนที่ในจอต้องตัดมหาสมุทรบริเวณอ่าวเบงกอลใช้เวลาค่อนข้างนาน ในระดับความสูง ๑๑,๐๐๐ เมตร มองเห็นแต่สีน้ำทะเลเข้มและมีหมอกควันค่อนข้างมาก มาพบแม่น้ำอีกหลายสายดูคดเคี้ยวเหมือนงูยักษ์เมื่อเข้าเขตประเทศอินเดียที่เมืองKolkata เพราะทางเหนือเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ผ่านเมืองRanchi เมือง Cava เมือง Lucknow และถึง New Delhi  ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ๔๐ นาทีก็ถึงสนามบินนิวเดลลีเวลา ๑๘.๑๐ น.(เวลาในไทย) เวลาท้องถิ่น ๑๖.๔๐ น. มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตไทยมารอรับและอำนวยความสะดวก สนามบินนิวเดลลีกำลังก่อสร้างใหม่ดูแล้วกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา แม้สิ่งปลูกสร้างจะดูไม่วิจิตรตระการตาแต่ก็ดูมั่นคงแข็งแรง รถและพนักงานบริษัทยูนิท็อปมารับและพาเข้าตัวเมืองเพื่อกินข้าวและหาที่พักแรม ถนนหนทางกำลังสร้างใหม่การเดินทางจึงชุลมุนทั้งคนและรถนานาชนิด เสียงแตรดังตลอดเวลาจนเรียกว่าเป็นประเทศเดียวที่ใช้แตรคุ้มที่สุด  หากนึกไม่ออกก็ให้นึกถึงเวลามีงานวัดแล้วมีคนเดินข้ามถนนไปมาและรถราก็กำลังจะผ่าน ดูเป็นอย่างนี้ไปทั้งบ้านทั้งเมือง มาทานข้าวที่ภัตตาคารชื่อ Waves เป็นอาหารจีนและอาหารพื้นบ้านอินเดีย น้ำซุปอร่อยที่สุดของอาหารที่เสิร์ฟ อิ่มแล้วขึ้นรถไปพักที่โรงแรมแกรนด์ซาทัส (Hotel Grand Sartaz) เป็นโรงแรมเล็ก ๆ แต่สะอาดบริการดี ผมพักคู่กับ ผอ.สพท.กทม. เขต ๑ ท่านเติบ  ใยเจริญ เราจะพักที่นี่ ๒ คืน

วันอาทิตย์ที่ ๒๕  ตุลาคม ๒๕๕๒  ตื่นตี ๓ นอนไม่หลับเพราะแปลกถิ่นและวิตกกังวลเรื่องการจัดกระเป๋าเป็นอย่างนี้มาตลอดเวลาเดินทางไกลในต่างประเทศ  ตี ๕ โรงแรมเขาปลุกให้อาบน้ำแต่งตัว  เวลา ๐๖.๐๐ น. ไปทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารชั้นเดียวกับห้องพัก มีอาหารแขก อาหารฝรั่งให้เลือกไม่มากนักได้นัน ๒ แผ่นคล้ายโรตีแป้งกับกาแฟดำ ก็เพียงพอสำหรับอาหารเช้า เวลา ๐๗.๐๐ น. รถพาคณะเดินทางไปอัคกรา(Agra)เพื่อชมทัสมาฮาล พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ลงขันกันคนละ ๑๐๐ US$ เผื่อเด็ก ๆ ด้วยเพราะอยู่นอกเส้นทาง  การจราจรสับสนเซ็งแซ่ไปด้วยเสียงแตร แต่ดูทุกคนใจเย็นไม่สนใจใคร ต่างมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายของตนเอง คนอื่นจะเป็นอย่างไรไม่รับรู้ อย่างมากก็หันมาค้อนวงใหญ่ หากมีช่องเล็กช่องน้อยที่พอเบียดไปได้ก็ไม่เคยละโอกาส ทั้งรถเล็กรถใหญ่ รวมทั้งคนเดินเท้า สองข้างทางมีชุมชนตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ เล็กบ้างใหญ่บ้างเรียงรายไป แต่ที่อยู่อาศัยจะก่อด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่และทำไม่ค่อยจะเสร็จบริบูรณ์ มักค้างคาไว้ให้เห็นเป็นการทั่วไป หากเปรียบเทียบกับบ้านเราต้องบอกว่าหาที่เจริญหูเจริญตาไม่ได้เลย แต่หากเทียบกับสภาพเมืองเขาที่แห้งแล้งและกว้างใหญ่ไพศาล สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ระดับนี้ถือว่าแน่มาก  ผลไม้ยอดนิยมคงไม่เกินกล้วยหอมไปได้ มีวางขายสองข้างทางโดยตลอด ไกด์ลงไปซื้อมาให้ทานกันบนรถ ผมไม่ได้ลองเพราะไม่ชอบกล้วยหอม มีแอ๊ปเปิลวางจำหน่ายเหมือนกัน การแต่งตัวของคนอินเดียโดยรวมค่อนข้างดี เพราะแม้จะปั่นจักรยานเขาก็เอาเสื้อไว้ในกางเกงเป็นที่เรียบร้อย ทั้งในเมืองและบ้านนอก จักรยานที่ใช้เป็นรุ่นคลาสสิคที่นิยมสะสมกันในบ้านเรา เป็นแบบคานขวางคันใหญ่ มีมากมายสำหรับประเทศนี้ รถยนต์มีทั้งรุ่นเก่าและรถใหม่แต่ทุกคันก็มีบาดแผลการเบียดการชนไม่มียกเว้น รถตุ๊ก ๆ มีมากเช่นกันแต่เขาทำหลังคาปิดท้ายคล้ายรถจิ๊ปแรลลี่ รถแทรกเตอร์ไถนาที่ดัดแปลงมาเป็นรถลากพ่วงบรรทุกสิ่งของมีมากและวิ่งเร็ว สามารถแซงซ้ายขวาโดยไม่สนใจว่ารถคันอื่นจะเบรคทันหรือไม่ และทุกคันทุกประเภทไม่มีไฟท้าย เว้นแต่รถใหม่พอมีบ้าง ตำรวจจราจรถือไม้ตะพดมีให้เห็นบ้างตามชุมชนใหญ่ แต่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องกฎกติกา หากเป็นบ้านเราเขียนใบสั่งจนมือหงิกแน่นอน เพิงพักริมถนนมีอยู่ทั่วไปนับเป็นคนจนโดยแท้เพราะบางหลังแม้จะนอนก็ไม่พอกับความยาวของลำตัว อาจต้องนั่งเสียมากกว่า ห้องน้ำโดยรวมก็สะอาดใช้ได้ เว้นแต่ห้องน้ำสาธารณะอยู่ในขั้นเลวเกินไป ในชนบทการจอดรถยิงกระต่ายสำหรับผู้ชายและการเหวี่ยงแหสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องปกติมาก การทำนาปลูกผักมีให้เห็นทั้งสองข้างทาง แต่เป็นนาคอยน้ำฝนเสียทั้งสิ้น ระบบชลประทานไม่มีให้เห็น การปลูกผักใช้วิธียกร่องยาว ๆ เป็นแถวเหมือนสวนผักบางบัวทอง รถพาแวะเข้าห้องน้ำที่โรงแรมมหาราชาโฮเตล มีร้านขายของที่ระลึกราคาค่อนข้างแพง มีดกริชและมีดกะเหรี่ยงบางเล่มขายหมื่นกว่ารูปี เครื่องประดับก็มีมาก เช่นเดียวกับเครื่องโลหะและไม้แกะสลัก ดูแล้วก็สวยดีแต่ไม่ได้อุดหนุน พบคนไทยที่ไปเที่ยวทางเดียวกันเข้ามาทักทาย บอกว่าทำงานบริษัทซัมซุงที่เมืองไทย บริษัทส่งมาฝึกงานคอมพิวเตอร์ที่อินเดีย ๒ เดือน ตอนนี้คิดถึงเมืองไทยมาก กินอาหารอินเดียไม่ได้  แวะชมเมืองเก่าระหว่างเส้นทางมีสวนสาธารณะอยู่ด้านหน้ามีประตูเมืองและกำแพงเมืองใหญ่โต ต้องซื้อตั๋วคนละ ๑๐ รูปีในการเข้าชม มีตัวปราสาทอยู่ด้านในแต่อยู่ไกลเกินไปที่จะเดินไปถึงในเวลาจำกัด ได้แต่ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก มาแวะกินข้าวกลางวันโรงแรมยามูน่าวิวอัคกรา(YAMUNA VIEW AGRA) เป็นอาหารจีนแบบอินเดีย  ได้คุยกับสามล้อถีบที่มีอัธยาศัยมาไถ่ถามเขาบอกว่าผม Look live India สวมรอยไปว่ามีบรรพบุรุษอยู่ที่บอมเบย์เลยคุยกันยาว นั่งรถไปลงที่สถานีขายตั๋วของทัสมาฮาลซึ่งเป็นของรัฐบาลเพื่อเข้าชมในตัวสุสานค่าชมคนละ ๕๕๐ รูปี มีรถตู้ไฟฟ้าให้นั่งเข้าไปถึงประตูทัสมาฮาลไม่ยอมให้รถบัสของเอกชนเข้าไป สองข้างทางเป็นร้านขายสินค้าพื้นเมืองประเภทแกะสลักจากหินอ่อนและของที่ระลึก ทั้งรูปทัสมาฮาล พระพุทธรูป และอื่น ๆ  เข้าไปเดินชมด้านในซึ่งมีประตูอีกชั้นหนึ่ง ผู้คนมากมายเพราะเป็นวันอาทิตย์เบียดเสียดกันเดินและถ่ายรูป ตัวทัสมาฮาลเป็นปราสาทหินอ่อนสีขาวคล้ายมัสยิด มีประวัติยืดยาวเป็นอนุสรณ์สถานที่กษัตริย์อินเดียพระองค์หนึ่งสร้างเป็นที่เก็บศพมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งซึ่งสิ้นพระชนม์ ใช้ทรัพย์สินเงินทองของบ้านเมืองไปมากและพระองค์มิทรงคลายจากความโศกเศร้าจนถูกพระโอรสปฏิวัติยึดอำนาจจับไปขังไว้ที่ป้อมอัคราให้นั่งมองทัสมาฮาลจนสิ้นพระชนม์ ต่อมาได้อัญเชิญพระศพมาวางเคียงคู่กันจนทุกวันนี้ กลับออกมาดูของที่ระลึกด้านหน้าราคาก็ไม่แพง แต่หินมันหนักจึงไม่ได้หามาเป็นภาระ ขากลับผ่านป้อมอัคราที่คุมขังพระราชาผู้สร้างทัสมาฮาลแต่ไม่ได้แวะเพราะการเดินทางกลับเดลลีต้องใช้เวลาถึง ๕ ชั่วโมงเหมือนขามา ที่ใช้เวลามากไม่ใช่ระยะทางไกล แต่การเดินทางสับสนทำความเร็วไม่ได้ จึงช้ากว่าที่ควรจะเป็น กลับถึงนิวเดลลี ๒๐.๓๐ น. กินข้าวที่ภัตตาคารเป็นอาหารไทยและอาหารจีนแบบอินเดีย กลับโรงแรมเก่าพักค้างอีก ๑ คืน

วันจันทร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๒  ตื่นเช้าเตรียมจัดกระเป๋าเดินทางเพราะจะต้องไปเมืองลักนาว(Lucknow)เย็นนี้ เมื่อพร้อมเข็นกระเป๋าเดินทางมาไว้หน้าห้องจะมีพนักงานนำลงไปที่รถให้ แวะไปทานอาหารเช้า ได้กาแฟดำ ๑ ถ้วยก็พอสำหรับมื้อนี้ ขึ้นรถที่บริษัทยูนิท็อปทัวร์เปลี่ยนคันใหม่ให้ ไปชมเมืองเดลลี จุดแรกไปประตูอินเดียเพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึก สถานที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ปิดทำการในวันจันทร์เลยเสียโอกาสเข้าชม ไปสุสานฝังศพคาห์นธี แต่เดินไม่ไหวเลยจับกลุ่มคุยกันอยู่หน้าสวน ทัวร์พาไปปล่อยย่านการค้าจันปาชซึ่งสินค้าที่ขึ้นชื่อเป็นพวกทองเหลืองและของเก่าทั้งของเนปาล อินเดีย ภูฐาน ราคาไม่แพงแต่ก็ไม่ถูกนัก มีขอทานมากเหมือนกันแต่เขาจะไม่ขึ้นมาบนทางเท้าเด็ดขาด เพราะตำรวจจะจัดการทันที เดินจนเที่ยงจึงขึ้นรถไปสถานทูตไทยในเดลลี อยู่ขอบวงเวียนในย่านสถานทูตทั้งหลาย ท่านอุปทูตออกมาต้อนรับ ท่านเอกอัครราชทูตกลับเมืองไทย ท่านอุปทูตพลเดช วรฉัตร นำพวกเราเข้าห้องรับรองและแนะนำว่าอินเดียเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่คนไทยควรจะมาแสวงหา มีความเจริญที่ซ่อนไว้ในความล้าหลังที่รอการค้นพบ คนอินเดียไม่มีกรอบไม่มีกฎขอให้ไปสู่เป้าหมายได้เป็นพอ คนอินเดียแม้ยากจนลำบากก็ไม่เก็บกดไม่ฆ่าตัวตาย ท่านแสดงความยินดีกับนักเรียนที่เข้าแข่งขันและขอให้ประสบความสำเร็จ  อาหารเที่ยงที่สถานทูตไทยวันนี้เป็นมื้ออร่อยมากเพราะคุณนายท่านอุปทูตลงมือเองทั้งลาบ ทั้งแกง และขนมไทย อิ่มแล้วพวกเราไปไหว้พระศรีมหาโพธิ์ที่แยกมาปลูกจากต้นเดิม ทุกคนไหว้ขอพรกันและเก็บใบไว้บูชา กลับจากสถานทูตประมาณ ๑๔.๓๐ น. เดินทางไปสนามบินเพื่อเดินทางสู่เมืองลักนาวซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง การตรวจในสนามบินทำอย่างละเอียดแต่ไม่เคร่งเครียดอะไร พวกเราผ่านไปได้ เวลา ๑๖.๓๐ น. ต้องโหนรถเมล์ไปขึ้นเครื่องบินที่จอดรออยู่ในสนาม เป็นเครื่องขนาดเดียวกับที่พาเราบินมาจากเมืองไทย แต่ไม่มีจอภาพให้ชม นั่งคุยกันมาแค่ ๑ ชั่วโมงก็ลงจอดที่สนามบินเมืองลักนาว ดูแล้วกว้างมากกว่าสนามบินต่างจังหวัดบ้านเรา รอรับกระเป๋าเดินทางออกมามีวงดุริยางค์ของโรงเรียน CMS เจ้าภาพมารับพร้อมคณะมีพวงมาลัยดอกดาวเรืองสวมให้คนละพวง ประธานโรงเรียน ดร.จาดิช คาห์นธี(Dr.Jagdish Gandhi) มาต้อนรับ นำพวกเราขึ้นรถบัสของโรงเรียนผ่านตัวเมืองไปพักที่โรงเรียน บริเวณโรงเรียนตกแต่งไปด้วยปรัชญา แนวคิด ต่าง ๆ มากมาย เขาจัดที่พักในหอพักของโรงเรียนสภาพเหมือนหอพักคุรุสภาในอดีต มีเตียงไม้ โต๊ะเขียนหนังสือ ตู้เสื้อผ้า มีห้องน้ำในตัวเองทุกห้อง  ผมพักชั้น ๓ ห้อง ๓๒ กับท่าน ผอ.เติบ ใยเจริญ  ลงไปกินข้าวที่ชั้นล่าง เป็นอาหารพื้นเมืองอินเดีย พวกเรามีอาหารตุนมามากจึงไม่กังวลอะไร  ผู้ปกครองนักเรียนส่วนหนึ่งเกาะติดพวกเรามาจากกรุงเทพฯ แต่ซื้อทัวร์กันมาเองเพราะห่วงลูก เราอนุญาตให้พบกับลูกได้ แต่เขาแยกไปนอนที่โรงแรมในเมือง ติดกับห้องอาหารมีร้านเน็ตคาเฟ่บริการชั่วโมงละ ๒๕ รูปี หากตั้งรหัสwireless คิด ๑๐๐ รูปีใช้ได้ตลอด ๕ วัน ผมจึงคิดว่าจะใช้บริการตัวหลังเพราะพกโน้ตบุคมาด้วย  โรงเรียน CMS เป็นโรงเรียนเอกชน มีหลายสาขา ผู้จัดการใหญ่ ดร.จาดิช คาห์นธี มีชื่อเสียงในเรื่องการสร้างสันติภาพของโลก จนได้รับรางวัลจาก UN ทั่วโรงเรียนของเขาจึงมีแต่ลูกโลกและคำขวัญ แนวคิดเกี่ยวกับเด็กและสันติภาพโลกเต็มไปทุกหนทุกแห่ง  นอนคุยกับท่าน ผอ.เติบ ใยเจริญ จนง่วงและหลับไป

วันอังคารที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒  พักห้อง ๓๒ นอนหลับสบายตลอดคืน เช้าทานกล้วยน้ำว้าอบที่ท่านรองฯพนอ ทิพย์พิมลรัตน์ ฝากมาจากชุมพร ตามด้วยข้าวตูเพชรบุรี ถือเป็นอาหารเช้าที่ลงตัวสำหรับวันนี้ ลงไปข้างล่างแวะร้านเน็ตคาเฟ่ให้เขาเซ็ทระบบwirelessค่าบริการ  ๑๐๐ รูปีระยะเวลา ๕ วันกับโน้ตบุค ลองมาเปิดที่ห้องกลับไม่มีสัญญาน ลองลงไปเปิดที่ห้องอาหารชั้นล่างก็เปิดได้ ให้เจ้าหน้าที่ไปลองที่ห้องพักเขาก็ทำไม่ได้บอกว่ารอคนเก่งอีกคนมาทำให้ ก่อนเที่ยงไปดูหนังแสดงแนวคิดของดร.จาดิช คาห์นธี ดูแล้วเป็นการโปรโมทตัวเองค่อนข้างมาก น่าจะลองมาทำที่ไทยบ้าง แต่ต้องใช้ทุนมากเหมือนทำหนังดี ๆ นี่เอง  เที่ยงเขาเชิญไปทานข้าวที่ห้องใต้ดิน ปูเสื่อไว้เต็มห้อง มีเก้าอี้วางไว้รอบห้อง มีโต๊ะวางอาหาร เราก็ไปตักมายืนกินกันจนอิ่ม บ่ายพรรคพวกไปในตัวเมืองลักนาวเอากุญแจห้องพักไปด้วยจึงต้องใช้เวลาอยู่แถวร้านเน็ตจนเย็น พิธีเปิดเขาเริ่มประมาณ ๒๐.๐๐ น. มีผู้ใหญ่ของเมืองลักนาวมาเปิดและกล่าวสุนทรพจน์ มีการแสดงของนักเรียนหลายชุด ดูสวยงามแต่ยืดยาดมาก กลับขึ้นนอน ๔ ทุ่ม

วันพุธที่ ๒๘  ตุลาคม ๒๕๕๒ ตื่นเช้าทานข้าวตูกับกล้วยอบ ลงไปโหลดโปรแกรมจากร้านเน็ตคาเฟ่เพื่อซ่อมคอมพิวเตอร์เพราะแก้ไขจน IE เปิดไม่ได้  ท้ายสุดก็ฝากช่างที่ห้องเน็ตช่วยแก้ไขให้ด้วย ไปถ่ายภาพเต็มคณะที่ทางลงหอประชุมของโรงเรียน เพราะมีขั้นบันไดให้ยืนลดหลั่นกันไปไม่บังหน้ากัน ทางเจ้าภาพจะพาไปทัวร์ในตัวเมืองลักนาว นัดเวลา ๑๐.๐๐ น. ไปขึ้นรถบัสแบบไม่มีแอร์หน้าโรงเรียน เข้าไปตัวเมืองลักนาว เป็นเมืองที่ใหญ่โตกว้างขวาง แต่ไม่เจริญหรือทันสมัยเหมือนบ้านเรา ตึกค่อนข้างเก่าไม่สวยงาม แต่มากไปด้วยคนและรถที่วิ่งกันสับสนเสียงแตรดังไม่ขาดระยะ เขาพาไปแวะเมืองเก่าของที่นี่ ทราบว่าพระราชาสร้างเป็นห้องให้มเหสีพักองค์ละห้องรวม ๓๖๕ ห้อง จะเสด็จไปห้องละวันจนครบปี ปีไหนเดือนกุมภาพันธ์มี ๒๙ วันคงต้องจับสลากหรือเป็นวันพักผ่อน ไปจอดรถด้านหลังติดแม่น้ำสายใหญ่ ต้องลงเดินลุยฝุ่นเข้าไปจนพบถนนสายเมน แล้วรวมพลเดินข้ามถนนเข้าประตูเมืองเข้าไป รูปแบบก็คล้ายเมืองเก่าที่อัคกราที่ไปมาเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ ดื่มด่ำกับโบราณสถานประมาณ ๑ ชั่วโมง ลองซื้อถั่วลิสงทอดมากิน ๑๐ รูปี ถั่วเขาก็เป็นถั่วอร่อยดีเหมือนบ้านเรา ขากลับมาพบเรื่องมหัศจรรย์เพราะมีรถเข็นของทันตแพทย์มาเปิดบริการทำฟันปลอม ดูไปเหมือนจะเล่น แต่เขาก็เอาจริง มีฟันปลอมให้เลือกเป็นซี่ ๆ มีน้ำยาผสมเพื่อทำฐานฟัน มีตะไบสำหรับปรับให้ลงตัว ราคาไม่ได้ถาม เขาพามาแวะห้างสรรพสินค้าSAHARA GANJ  เจ้าภาพเขาพาไปทานอาหารที่ชั้น ๕ เห็นคิวยาวรอไม่ไหว ชวนท่าน ผอ.เติบ ลงมากินไก่ KFC ชั้นล่างผมสั่งชุดละ ๑๙๙ รูปีมาทาน มีไก่ทอด ๑ ชิ้น แฮมเบอร์เกอร์ ๑ ชิ้น มันฝรั่งทอด และน้ำอัดลม เสียแต่ไม่มีช้อนและซ่อมให้ต้องใช้มือ ๑๐ นิ้วจัดการเอาเอง  เข้าไปในห้างสรรพสินค้าก็เหมือนบ้านเรา ของราคาแพงกว่าบ้านเราเสียอีก กลับโรงเรียนเวลาเย็นมากแล้ว ไปขอโน๊ตบุคคืนที่เน็ตคาเฟ่ปรากฎว่าช่างซ่อมเสร็จใช้งานได้ ให้รางวัลไป ๑๐๐ รูปี หัวค่ำผู้ปกครองนักเรียนมาเยี่ยม พวกเราส่วนหนึ่งก็ติวเด็กสำหรับเข้าสอบในวันพรุ่งนี้ เจ้าภาพจัดอาหารเย็นไว้ริมสระน้ำหลังหอพัก แต่อาหารก็เหมือนวันก่อน ๆ กินไปกินมาก็อิ่มเหมือนกัน กลับขึ้นห้อง ท่าน ผอ.เติบ เก็บกระเป๋าเพื่อเดินทางกลับไทยพรุ่งนี้ ท่านบอกว่ามีราชการด่วนต้องไปทำ  ผมก็อยากกลับแต่เป็นห่วงคณะจะเคว้งคว้างมาแล้วก็ต้องอยู่ให้จบโปรแกรม

วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒  เช้าอำลากับท่าน ผอ.เติบ ใยเจริญ ที่จะไปขึ้นเครื่องกลับไทย นำเสบียงจำพวกมาม่า น้ำพริก ไปสมทบกับคณะที่ห้องเสบียง ๓๓ ของป้าจุก เลยแวะกินข้าวห้องข้างเคียง มาอยู่อินเดีย ทำให้รู้ว่าข้าวไทยอร่อยที่สุด เพราะข้าวของอินเดียเม็ดเล็กแต่ยาว ไม่มีกลิ่นหอม ไม่มียางข้าว ร่วนเป็นเม็ดทราย  ปลากระป๋องชาวดอยรสชาติดี ไม่เน่าเหมือนที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี รวมกับแกงไตปลาแห้งที่ลูกน้องจากชุมพรซื้อมาฝากจึงเป็นอาหารรสเด็ดสำหรับวันนี้  เวลา ๐๘.๐๐ น. ลงไปห้องประชุมใหญ่ซึ่งใช้เป็นสนามแข่งขันในวันนี้ เขาจัดโต๊ะให้นั่งแบบรูปตัว V มีลูกโลกวางไว้ทุกโต๊ะ มีหนังให้ดูเป็นปรัชญาของโรงเรียน CMS และดร.จาดิช คาห์นธีมากล่าวสุนทรพจน์  เวลา ๑๐.๐๐ น. เขาเชิญครูออก เราเลยอาศัยรถทัวร์ของผู้ปกครองที่ติดตามลูกมาครั้งนี้ด้วย ไปห้างสรรพสินค้า WAVE  เป็นห้างใหญ่ในเมืองนี้อีกแห่งหนึ่ง แต่คนไม่มาก ขึ้นหาหนังสือได้ ๑ เล่ม ราคา ๑๕๕ รูปี ก่อนลงมาซื้อของฝากประเภทผ้าพันคอ ราคาก็ไม่ถูกเหมือนที่เคยฟังมา ผ่านชุมชนเจอสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างริมถนนหรือบนทางเท้า จะมีร้านตัดผมกลางแจ้งบริการหลายร้าน ทั้งช่างทั้งคนตัดเขาก็ดูเป็นเรื่องปกติดี เที่ยงครึ่งกลับโรงเรียน อาศัยมาม่าเป็นอาหารกลางวัน  นั่งทำงานเอกสารทางเน็ตจน ๕ โมงเย็นนักเรียนของ CMS มาตามไปกินน้ำชาที่ห้องอาหาร ลงไปฉลองศรัทธาตามธรรมเนียม  เย็นไปหอประชุมใหญ่เพื่อชมการแสดงวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ ดูแล้วก็สวยงามทุกประเทศเพราะเด็ก ๆ ทำอะไรก็น่ารัก รวมทั้งของไทยเรา การแสดงเลิกประมาณ ๒ ทุ่ม กลับมาทานข้าวริมสระน้ำหลังหอพัก อาหารก็เป็นประเภทเดิม ๆ อิ่มแล้วกลับห้องพัก คืนนี้นอนคนเดียว

วันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒  เช้านี้อากาศเย็นสบายประมาณ ๑๕ องศาเซนเซียส ขึ้นไปขอกาแฟที่ห้องเสบียง ๑ แก้ว แล้วลงไปรับลมหนาวด้านล่าง อาหารเช้าเขาจัดไว้ที่สระน้ำ ไปถึงเหลือไม่มากจัดการกับขนมปัง ๒ แผ่นก็พอแก้หิวไปได้  ในห้องพักเขานำน้ำมะม่วง(Mango Drink) มาให้แต่ไม่ชอบรสชาติ นอกนั้นยังมีขนมปัง Parle-G และมันทอด Lays สองอย่างหลังกินได้ เพราะคล้ายบ้านเรา ๐๙.๓๐ น. เข้าไปหอประชุมใหญ่มีนักเรียนมานำสวดมนต์ เป็นบทสวดขอบคุณพระเจ้า พวกเราได้แต่ยืนพนมมือ เวลาประมาณ๑๐.๐๐ น. Dr.Jagdish Gandhi นำพวกเรามาหน้าโรงเรียนซึ่งมีปฏิมากรรมรูปปั้นและปรัชญา คำขวัญต่าง ๆ ท่านเดินอธิบายไปจนสุดถนน แล้วกลับเข้าไปในหอประชุม ให้แต่ละประเทศแสดงความรู้สึกต่อการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ทั้งครูทั้งเด็ก เวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง ๑๑.๓๐ น. มีการประกาศผลการแข่งขันและมอบเหรียญรางวัลตามลำดับไป ทีมนักเรียนไทยได้เหรียญทอง ๒ เหรียญ นอกนั้นเป็นเหรียญเงินและทองแดง  แต่ทุกคนก็ได้เหรียญกลับบ้าน มีการแสดงสลับรายการบ้างเป็นศิลปะการแสดงของอินเดีย ชุดสุดท้ายเป็นของอินโดนีเซียซึ่งแสดงไปแล้วเมื่อคืนถูกคัดมาแสดงอีกรอบ  เวลา ๑๔.๓๐ น. การแข่งขัน WIZMIC-2009 (Wizards at Mathematics International Competition) 27 th October to 30 th October 2009 ก็สิ้นสุดลง แต่หลายทีมก็คงพักที่ CMS (City Montessori School) ต่อไป รวมทั้งทีมไทยจะเดินทางกลับในวันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒  นักเรียนของเราและครูได้แสดงศักยภาพในการแข่งขันกับชาวโลกอย่างน้อย ๙ ประเทศ ว่าเราสู้เขาได้  ที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพราะยังเป็นรองชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เมืองลักนาว (Lucknow) ยังมีเรื่องราวให้พวกเราได้ค้นหาเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหลืออยู่ ๑ วัน อย่างน้อยที่สุดในความยากจนของคนอินเดียก็มีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา ในความสับสนไร้กรอบกติกา แต่ก็มีน้ำใจให้กัน ทุกคนสามารถไปสู่เป้าหมายของตนเองได้ ในความสกปรกที่พบเห็นก็ยังมีหลายส่วนที่สะอาด ร่มรื่นและสวยงาม ต้องขอบคุณเจ้าภาพที่ดูแลพวกเราอย่างดีที่สุด

เย็น ๆ ว่างเว้นจากภาระชักชวนสมาชิกอีกสองท่านเช่ารถไปเที่ยวตลาดอาลาบัก การนั่งรถสามล้อเครื่องเป็นที่ตื่นเต้นเพราะด้านหลังนั่งได้ ๓ คน ขนาบคนขับข้างละคน รวมเป็น ๖ ทั้งคนขับ  การกลับรถในอินเดียง่ายมากสามารถเลี้ยวกลับสวนเลนไปได้จนกว่าจะข้ามไปฟากถนนตรงข้ามได้ ไม่ต้องไปยูเทิร์นให้เสียเวลา ใช้แตรคู่กับการขับตลอด ทุกอย่างดูตื่นเต้นเร้าใจ แต่ก็ปลอดภัยดี  เขาคิดค่าโดยสาร  ๓๐ รูปี หากเป็นคนอินเดียจ่ายแค่ ๕ รูปีเขาก็เอา  เมื่อถึงจุดหมายเขาจะจอดและปล่อยให้เราลงกลางถนน รถคันหลังทำได้แค่บีบแตร เมืองอินเดียสามารถทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างที่เมืองอื่นทำไม่ได้หรือเขาไม่ทำกันแล้ว ไปเดินชมสินค้ายามโพล้เพล้ มีทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าเป็นชิ้น เครื่องครัว ดูคึกคักครึกครื้นยิ่งนัก สินค้าประเภทผลไม้ และของกินเล่นจำพวกถั่วคั่วมีวางขายทั่วไป  พวกเราเดินดูบ้างอุดหนุนบ้างจนเมื่อย  จึงนั่งรถกลับที่พักโรงเรียน CMS ไปทานอาหารที่เจ้าภาพจัดไว้ให้วันนี้มีแกงแพะ

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 309804เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2009 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คณะทีมงานผู้นำนักเรียนไปแข่งขัน

ผู้จัดการทีม นายปราโมทย์ ขจรภัย

ผู้นำทีมนักเรียนและผู้ควบคุมดูแลทีมนักเรียน

๑. นางนิจวดี เจริญเกียรติบวร นักวิชาการศึกษา สนก.

๒. น.ส.มาลี กิตติอุดมเดช นักวิชาการศึกษา สนก.

๓. นายคธาธร งามมุข ข้าราชการบำนาญ

๔. น.ส.พิไลลักษณ์ จ่าเมือง ข้าราชการบำนาญ

๕. นายประเชิญ นาคนคร ศึกษานิเทศก์ สพท.เพชรบุรี เขต ๑

๖. นายไพโรจน์ เอมวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ สพท.สงขลา เขต ๒

๗. น.ส.อภิญาณ บุญอุไร ศึกษานิเทศก์ สพท.บุรีรัมย์ เขต ๑

๘. นายจิรวัฒน์ รักพ่วง ศึกษานิเทศก์ สพท.ตาก เขต ๑

๙. นายประดิษฐ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดด่าน สพท.กทม. เขต ๑

๑๐.นายสุขวิทย์ ปู้ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดลาดสิงห์ สพท.สุพรรณบุรี เขต ๒

๑๑.นายอุดม แคกระโทก โรงเรียนสุรนารีวิทยา สพท.นครราชสีมา เขต ๑

๑๒.น.ส.วรสิทธิ์ โกศาควร โรงเรียนสฤษดิเดช สพท.จันทบุรี เขต ๑

๑๓.นายทองใบ นึกอุ่นจิตร โรงเรียนบ้านน้ำพี้ สพท.อุตรดิถต์ เขต ๑

คณะผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

๑. นายเติบ ใยเจริญ ผอ.สพท.กทม.เขต ๑

๒. นายกำจัด คงหนู ผอ.สพท.ปทุมธานี เขต ๑

๓. นางวราภรณ์ ภาตั้งใจจริง รอง ผอ.โรงเรียนราชวินิต สพท.กทม. เขต ๑

๔. น.ส.ดุจดาว ทิพย์มาตย์ นักวิชาการศึกษา สนก.

๕. นายทรงวุฒิ มะลิวัลย์ สำนักอำนวยการ

๖. นายอนุภาพ บุญซ้าย โรงเรียนอนุบาลสกลนคร สพท.สกลนคร เขต ๑

๗. นางจันทิมา วัชรคุปต์ โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา สพท.นครราชสีมา เขต ๑

๘. นายไตรรัตน์ สุทธเกียรติ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย สพท.กทม. เขค ๑

๙. นายชัชวาลย์ เลิศไกร โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา สพท.นครราชสีมา เขต ๑

ยินดีกับความสำเร็จของครูผู้ฝึกสอนและนักเรียนคนเก่ง

เด็กอุตรดิตถ์ก็เก่งดีใจด้วยครับ

รายละเอียดเพี้ยบ ขาดแต่ไม่มีพรพรรณ ไปด้วย มีแต่รูป...ฮือๆๆๆ คราวนี้เสียดายยิ่งที่ขาดคนสำคัญ....ไปเก็บรายละเอียด ดร.คานธี และภรรยา ในวันเปิดงาน....อ่านแล้ว...ฟันธง....ท่านเขียนแล้ว....รวมเล่มได้เลย ....ยอดเยี่ยมค่ะ เก็บรายละเอียดหมดเกลี้ยง น่าอ่าน น่าติดตาม มี trip อื่นๆ อีกหรือไม่คะ หนูจะเป็น sponsor ให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท