ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

มองมุมใหม่: หลักคิดชีวิตปี ๕๓


ถามตัวเองสักนิดว่า "เริ่มต้นปีใหม่ เราควรเริ่มต้น เตรียมตัว และเตรียมใจอย่างไรต่อความขัดแย้งในสังคม เศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมือง" ดังเ่ช่นปรากฎในปัจจุบันนี้

          "ท่านทั้งสามในฐานะนักวิชาการทางศาสนามองว่า เริ่มต้นปีใหม่ เราควรเริ่มต้น เตรียมตัว และเตรียมใจอย่างไรต่อความขัดแย้งในสังคม เศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมือง" ดังเ่ช่นปรากฎในปัจจุบันนี้"

 

          นี่เป็นคำถามที่เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์และสุผจญ กลิ่นสุวรรณ พิธีกรรายการมองมุมใหม่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี หรือ TPBS  (ซึ่งจะออกรายการในวันที่ ๓ มค. เวลา ๓ ทุ่ม ถึง ๔ ทุ่ม) ได้ถามนักวิชาการทางศาสนา คือ

          ๑. ผศ.ดร.พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายวิชาการ มหาจุฬาฯ
          ๒. ศาสนาจารย์ ดร.ศึกษา เทพอารีย์ ศิษยาภิบาล คริสตจักรวัฒนา
          ๓. ดร.อณัส อมาตยกุล คณะสังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

          บทสรุปที่สำคัญจากการให้สัมภาษณ์ของนักวิชาการทางศาสนานั้น ในฐานะผู้เขียนเป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญให้เป็นผู้แทนนักวิชาการสายพระพุทธศาสนานั้น ขอสรุปประเด็นของการพูดคุย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ดังนี้

คำถาม

          ๑.ในปี ๒๕๕๓ ยังมีความต่อเนื่องในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง มาจากปีก่อนๆ  สังคมไทยจะอยู่อย่างไรบนความแตกแยกทางความคิดอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์ และไม่นำพาไปสู่ความรุนแรง และแตกแยก อีกทั้งหลายคนพูดเรื่องปรองดอง ด้วยเหตุนี้ ศาสนาควรจะมีหลักอย่างไร?

คำตอบ

          หลักการคือ "๓ ย. เพียงพอต่อการจัดการความขัดแย้ง"
         (๑) อย่า คือ อย่าถามว่า ใครคือตัวปัญหา ปัญหาเกิดจากใคร หรืออะไร เพราะได้ล่วงเลยเวลาที่จะถามคำถามนี้แล้ว เหมือนกับว่า หากเราถูกยิงหากมัวแต่ไปถามว่า ลูกศรมาจากทางไหน ใครเป็นคนยิง เราอาจจะต้องตายก่อน ฉะันั้น ทางออกคือต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาชีิวิตก่อน ฉะนั้น ทางออกคือ จงถามว่า "วันนี้ หรือพรุ่งนี้ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จึงจะมีความสุข" ทุกข์ของท่านคืออะไร เราจะช่วยแ่บ่งเบาทุกข์ระหว่างกันได้อย่างไร ลูกหลานของเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
        (๒) หยุด คือ หยุดคิด หยุดพูด และหยุดทำสิ่งใดที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เสียดแทงหัวใจของอีกฝ่าย เพราะนั่นจะเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมอีกฝ่าย อุปมาเหมือนกันพระพุทธเจ้าบอกให้องค์ุคุลีมารหยุด  การหยุด คือการเรียกให้สติกลับคืนมาก เพราะหลายครั้งจะพบว่า เมื่อใดก็ตาม กายเราเคลื่อนไหว จิตใจของเราไม่สงบนิ่ง เหตุนี้จึงต้องหยุด
        (๓) ยิ้ม คือ การดึงภูมิธรรมและภูมิปัญญาไทยกลับคืนมา เพราะเราได้ชื่อว่า "สยามเมืองยิ้ม" การยิ้มคือการเปิดพื้นที่ทางความคิด การพูด และการกระทำในเชิงบวก การยิ้มคือการเชิญชวนทุกฝ่ายที่มีความทุกข์ หรืออัดอั้นตันใจมาคุยกัน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความทุกข์ที่แต่ละฝ่ายประสบ และเผชิญหน้าอยู่

ถาม

          ๒. ภาวะเศรษฐกิจในปีช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาอย่างหนัก แต่ดูประหนึ่งว่ากำลังจะดีขึ้น หลักคิดในการใช้ชีวิตในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เราจะต้องวางจิตของเราอย่างไร? หลักพอเพียงคือคำตอบ?

ตอบ

          หลักการสำัคัญที่เราจำเป็นจะต้องตระหนักรู้ก็คือ "จงพอเพียงในสิ่งเสพ แต่อย่าพอเพียงในกุศลธรรมคือ 'ความเพียร' " ประเด็นคือ จงมีสติรู้จักเสพวัตถุ โดยตระหนักว่า อะไรคือความจำเป็นสำหรับชีวิต อะไรคือคุณค่าแท้ และอะไรคือคุณค่าเทียมต่อการดำเนินชีวิตของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ควรเพิ่ม และขยายฐานความขยันหมั่นเพียร ประดุจมหาชนก ที่พยายามว่ายน้ำทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงเป้าหมาย  ความจริงคือ เป้าหมายเป็นสิ่งที่นิ่งอยู่กับที่ และไม่ได้หนีเราไปไหน แต่หากเราพยายามว่ายอยู่ตลอดเวเลา เมื่อนั้นเราจะถึงฝั่งคือเป้าหมายไม่ช้าก็ไว เราจะออกจากหล่มหรือกับดักได้สักวันหนึ่ง ขอเพียงเรามีความหวัง และกำลังใจที่จะสู้

ถาม

          ๓. หลักธรรม หรือข้อคิดสำหรับนักการเมืองซึ่งต้องเป็นผู้แทนของประชาชนในการขับเคลื่อนบ้านเมือง จะต้องยึดหลักอะไร? เพราะในปีที่ผ่านมาพบว่า นักการเมืองถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ?

ตอบ

          การเมืองในปัจจุบัน "ควรเป็นการเมืองแบบเมตตา (Compassionate Politics) ไม่ใช่     "การเืมืองแห่งการทำลายล้าง" หรือ "ประหัตประหารกัน"  เพราะผลเสียจะไม่ตกอยู่กับนักการเมืองแต่อย่างเดียว ผู้ที่จะได้รับผลทุกข์ หรือผลเสียนั้น คือประเทศชาติและประชาชนไทยทั้งหมดที่อยู่ภายในการบริหารจัดการของนักการเมือง ฉะนั้น หากเป็นการเมืองแบบเมตตา ควรจะิคิด พูด และแสดงออกต่อกันด้วยเมตตา หากเรารักสุข เกลียดกลัวความทุกข์ โดยไม่ต้องการจะฟังคำส่อเสียด หรือการแสดงออกในเชิงไม่ให้เกียรติจากคนอื่นๆ เราก็ควรต้องเคารพ และให้เกียรติกับคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน  การตระหนักรู้ในลักษณะนี้ จะทำให้บรรยากาศที่รุนแรง มีทางออก หรือทางลงสำหรับปัญหาต่างๆ แต่ปัญหาคือ นักการเมืองจะเลือกชาติบ้านเมือง หรือเลือกประโยชน์สุขแก่บ้านเมือง ดังที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แก่มหาชนชาวสยาม"

ถาม

        ๔. เราควรมีหลักคิด และหลักปฏิบัติสำหรับปี ๒๕๕๓ อย่างไร

ตอบ

        พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพวกเรา่ว่า "กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์และตัวของมันเอง"  เวลาก็คือเวลา และในฐานะที่ "เวลา" เป็นสิ่งสมมติที่ชาวโลกสร้างขึ้นเพื่อใ้ช้เรียกขาน และกำหนดนับสิ่งต่างๆ ให้สะดวกและง่ายต่อการดำเนินชีวิต  ถึงกระนั้น "เวลา" หาได้มีอิทธิพลต่อ "ความดี" หรือ "ความชั่ว" ภายในของเราไม่

         เมื่อมองย้อนไปกลับหาวัน และเวลาในอดีต หากมีสิ่งใดผิดพลาด หรือบกพร่องอันเกิดจากการไม่รู้เท่าทัน หรือขาดประสบการณ์ในการคิดวิเคราะห์ ขอได้โปรดนำประสบการณ์ที่ "เลวร้าย" หรือ "ความบกพร่อง" มาเป็นเครื่องมือพัฒนาตัวเอง หรือยกระดับจิตของตนเองให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น ดังพุทธพจน์ที่ว่า "จงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท" ด้วยการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความโลภ ความโกรธ และความหลง ฉะนั้น "จงนำอดีตมารับใช้ปัจจุบััน แ่ต่อย่านำอดีตมาครอบงำปัจจุบัน"

         ปีใหม่ หากเรากำลังเสาะแสวงหา "ของขวัญหรือรางวัลสักชิ้น" เพื่อมอบให้แก่ตัวเอง หรือมอบให้แก่ใครสักคนที่เรารักและปรารถนาดีแล้วไซร้  ของขวัญอันล้ำค่าที่ควรมอบมากที่สุดสำหรับปีนี้ จะเป็นสิ่งใดมิได้หากมิใช่ "สติ"  สติเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้เท่าทันทุกอย่างตามความเป็นจริง โดยที่เราไม่ตกเป็นทาสรับใช้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น 

         สุดท้ายแล้วเรา จะพบว่า "ความสุขที่ยิ่งใหญ่ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหนๆ คือการได้อยู่กับลมหายใจของตนเองอย่างมีสติทุกเวลา และนาที" นี่คือคำตอบสำคัญที่ว่า "สติมา สตังมี สติดี ชีวีรอด"

         คำถามทั้งหมดนี้ ไม่ทราบว่า "กัลยาณมิตรท่านใด" จะถือโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ ต่อคำถามเหล่านี้  เพื่อจะได้ต่อยอด และเปิดพื้นที่ "แห่งเมล็ดพันธุ์แห่งความดีให้งอกงาม" ในโอกาสต่อไป.

                                     ด้วยธรรมะ พร และเมตตา

                                    พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
                          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
                                           วังน้อย อยุธยาฯ

ดูเนื้อหาเพิ่มเติมใน http://www.thaipbs.or.th/clip/index.asp?content_id=232373&content_category_id=688

http://gotoknow.org/blog/buddhist-conflict-management/324864

หมายเลขบันทึก: 324798เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (46)

ขยายฐานความขยันหมั่นเพียร

เท่าไหร่ เราจึงจะรู้ว่าพอดีกับชีวิต ครับ

โยม บีเวอร์

อนุโมทนาขอบใจที่แวะมาแบ่งปันและถามปัญหา

"กุศลธรรมคือความเพียร" ขยายมากเท่าใด ยิ่งเป็นผลดีกับชีวิตของเรา โดยเฉพาะ "การนำความเพียรไปพัฒนา และกระทำในสิ่งที่ดีงามแก่ชีวิตชีวิตของตัวเอง" ตามที่พระพุทธเจ้าเคยถามพระอานนท์ว่า "มีอะไรบ้างที่คนมีความเพียรทำแล้วไม่สำเร็จ" สรุปคือ มีความเพียรอย่างเดียว ทุกอย่างรอดหมด

เจริญธรรม

โยมบีเวอร์

ขอเพิ่มเติมอีกนิดว่า "ความเพียรแบบพอดี" นั้น ต้องเป็นความเพียรที่เต็มไปด้วย "สติ" คือ รู้เท่าทัันความเพียร" เพราะสติจะทำให้เราใช้ความเพียรของตัวเอง "ไม่หลงทางหรือหลงทิศ" ออกจากเป้าหมายที่เรากำหนดหรือวางกรอบสำหรับการเดินทาง

สวัสดีครับอาจารย์ ผศ.ดร.พ.ม.หรรษา ธมฺมหาโส

ผมอ่านแล้วทราบว่า ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี หรือ TPBS (ซึ่งจะออกรายการในวันที่ ๓ มค. เวลา ๓ ทุ่ม ถึง ๔ ทุ่ม) คืนนี้

จักติดตามชมแน่นอนครับ (ชอบหลักการ ๓ ย. ทุกข้อครับ)

ปีใหม่ 2553 นี้ ขอให้ท่านพระอาจารย์มีสุขภาพกายสมบูรณ์แข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดีงาม ตราบนานเท่านานนะครับ.

จาก...พ.ม.อิสรกานต์ ฐิตปุญฺโญ (ไชยพร)

ธรรมสถาน มอ. ถ.ปุณณกัณฑ์

ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่

จ.สงขลา 90110

นมัสการพระคุณเจ้า

  • จะรอรับชมรายการเจ้าค่ะ
  • กราบขอบพระคุณ  กับสาระที่เป็นประโยชน์มาก
  • อยากให้หลาย ๆ ท่านเข้ามาอ่านจัง

ท่านอิสรกานต์ครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม และอวยพรผมในฐานะเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ป.โท ม.สงขลา ผมขอให้พรใดที่่ว่าเลิศ พรใดที่ว่าประเสริฐ ขอพรนั้น จงบังเกิดแก่ท่านเช่นกันครับ

เจริญธรรมครับ

ครูคิม

ขอบใจมากที่แวะมาให้กำลังใจ และฝากเจตนาที่เป็นกุศลเอาไว้ สิ่งที่มีและปรากฏที่โกทูโน ล้วนมีประโยชน์และสาระ ขอเพียงเราได้มีโอกาสได้หยิบไปประยุกต์ใช้ให้ถูกเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บุคคล และชุมชน

เจริญธรรม

แวะมาเรียนรู้สาระจากพระอาจารย์ขอรับ..

กราบขอบพระคุณขอรับ..

ท่านอาจารย์ธรรมฐิตครับ

ขอบคุณครับที่ไม่ลืมแวะมา "ดื่มฉันเมล็ดพันธุ์ของธรรม" ขอพระธรรมะรักษา และปกป้องพระอาจารย์ครับ

พระมหาศรีทนต์ สมจาโร

ถ้าทุกคนทำอย่างได้อย่างที่ว่าก็จะดี

อาจารย์นิคม โยกัญญา

สาธุ!

ขอให้ทุกคนได้สติและมีสตังค์ประคับประครองชีวิตด้วยความรุ้เท่าทัน ตามที่ท่านเทศนนาเถิด

จักเกิดสันติอย่างเเท้ๆ

แค่ปรารถนาดีต่อกันเหมือนญาติมิตรดุจคนในครอบครัวเดียว แค่นั้นสังคมก็เกิดสันติสุขแล้ว

Lord Duddha blesses you!

ท่านอาจารย์มหาศรีทนต์ ครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยม และฝากความหวังไว้ ผมหวังว่า "สักวันหนึ่งทุกอย่างจะเข้าสู่เส้นทางของสันติ" ดังที่มาติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เคยกล่าวสุนทรพจน์เรื่อง "Dream" ครับ โดยเข้าฝ้ันว่า สักฝันหนึ่งเด็กผิวขาวกับผิวดำจะทานข้าวด้วยกัน เล่นด้วยกัน และเรียนด้วยกัน "โดยไม่มีสีมาแบ่งความเป็นมนุษย์ของเขา"

อาจารย์นิคม

อนุโมทนาสำหรับข้อคิดเห็นที่ดีๆ และมีประโยชน์ต่อพวกเรา เห็นด้วยกับท่านว่า "หากเราคิดว่า คนนั้นเป็นญาติของเรา เป็นพี่ของเรา เ็ป็นน้องสาวของเรา เป็นเพื่อนของเรา และเป็นครอบครัวของเรา" เราจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขยิ่งขึ้น

          

สวัสดีครับ อาจารย์พระมหาหรรษา

ผมจะรอติดตามรายการคืนนี้แล้ว ถ้ามีความเห็นอะไรก็จะร่วมแลกเปลี่ยนนะครับ

อาจารย์ได้รับโอกาสนี้ ต้องถือว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ก็ได้รับโอกาสไปด้วย

เป็นการเริ่มต้นที่ดีนะครับ สื่อทีวีมีคนเข้าถึงได้หลายระดับ หลายชนชั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาจุฬาฯ จะได้มีตัวเลือกในการนำตัวแทนไปออกสื่อมากขึ้น

ขอเป็นกำลังใจให้สู้เพื่อมหาจุฬาฯ ต่อไปนะครับ

ขอบคุณครับ ท่านราชัน คงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ให้ถือว่าเป็นเสียงหนึ่งในหลายๆ เสียงที่ร่วมกันนำเสนอ "ทางเลือกที่เราคิดว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจับัน" เพื่อเื่พื่อนร่วมชาติของเราครับ

นมัสการ ท่านมหาหรรษา ธม.มหาโส

3 ย. น่าสนใจครับ อย่า หยุด ยิ้ม

อนุโมทนาขอบคุณโยมพรชัย

  • ที่แวะมา "ชิมเมล็ดพันธุ์ของธรรม"
  • หวังว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะถูกหวานไปสู่แง่มุมต่างๆ ของสังคมไทย
  • ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อเรา แต่เพื่อเพื่อนมนุษย์ของเราที่ปรารถนาจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

Att0000111

"เริ่มต้นปีใหม่ เราควรเริ่มต้น เตรียมตัว และเตรียมใจอย่างไรต่อความขัดแย้งในสังคม เศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมือง"

กราบนมัสการปีใหม่ค่ะ พระอาจารย์ ขอบพระคุณที่กรุณาแวะไปอวยพรปีใหม่ค่ะ

นมัสการหลวงน้า

หนูกำลังดูรายการค่ะ  ถ่ายภาพไว้ด้วยนะคะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ธมฺมหาโสภิกขุ

  • มารับธรรมะปีใหม่
  • "ความสุขที่ยิ่งใหญ่ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหนๆ คือการได้อยู่กับลมหายใจของตนเองอย่างมีสติทุกเวลา และนาที"
  • กราบขอบพระคุณมากค่ะ

กราบนมัสการ พระอาจารย์ ผศ.ดร.พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายวิชาการ มหาจุฬาฯ

     ดิฉันได้อ่านหลักคิดที่พระอาจารย์ในเรื่อง หลักการคือ "๓ ย. เพียงพอต่อการจัดการความขัดแย้ง" อ่านบทความของพระอาจารย์แล้วดิฉันรู้สึก >>> เบา >>>สบาย >>> ทั้ง สมอง + จิตใจ (ไม่รู้สึกหนักสมอง)  พระอาจารย์ สอนในสิ่งที่ >>> เข้าใจได้ง่าย >>> เป็นธรรมชาติ >>>ที่มนุษย์ปุตุชนทั่ว ๆเข้าใจง่าย ๆปฏิบัติได้จริง ๆณ.ตอนนั้น ในขณะนั้น ๆ >>> เป็น "พุทธประยุกต์" ที่เหมาะสมกับยุคสมัย "ที่ดีเยี่ยม" จริง ๆคะ ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองของประเทศไทยได้ใช้ "หลัก 3 ย.เพียงพอต่อการจัดการความขัดแย้ง" ประเทศไทยของเราทุก ๆคน >>> คงพัฒนา>>>โดยเฉพาะด้านจิตใจได้มากขึ้นกว่าที่เห็น >>> และที่เป็นอยู่นะคะ >>> แต่ดิฉันคิดว่า"เริ่มต้นที่ตัวเราก่อน"แล้วค่อย ๆขยายวงออกไปที่คนใกล้ชิด พ่อ แม่ ญาติ เพื่อน ๆ "ความสุข" คงเริ่มก่อตัว >>> ส่งผลให้ "ความทุกข์" ลดลงไปนะคะ "ทุกข์หรือสุข" อยู่ที่ "ใจ+ทำความเข้าใจ" ของบุคคลคนนั้น  เขาจะรู้ตัวดีกว่าใคร ๆนะคะ อยู่ที่จะ "เข้าใจและยอมรับ" และพร้อมจะ "ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม" ด้วย "ความเข้าใจที่ถูกต้อง" ตามหลักที่ถูกต้อง "ตามหลักการ" ของทุกศาสนาต่าง ๆซึ่งต่างก็สอนให้สมาชิกทำ "ความดี + ความงาม" โดยไม่ทำให้ตัวเราและผู้อื่นเดือดร้อนนะคะ

 

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพ

สมศรี นวรัตน์ รพ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี >>> ศิษย์ ศ.ดร.จีระ

 

น้องนัท

  • ขอบใจมากจ๊ะ
  • อย่าลืมน่ะ ดูแล้วได้อะไรช่วยบอกหลวงหรือแสดงความเห็นว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร

ดีครับ เป็นคำกล่าวที่ทำให้คนเราที่อยู่ด้วยกันในสังคมนี้อย่างมีอัตตามากๆลดลงได้บ้าง แนวคิดที่แตกต่างถ้าสร้างสรรก็ทำให้โลกเจริญ ถ้าทำลายล้างก็คงไม่เป็นประโยชน์สำหรับความคิดที่แตกต่าง จงเรียนรู้อัตตาทั้งหลายเพื่อก้าวไปสู่อนัตตาอย่างสมบูรณ์แบบร่วมกัน ว่าไหมครับท่านพระอาจารย์

ท่านมหาสันติครับ

  • ถูกต้องครับ เมื่อไรเรา "ลดความอยากได้ อยากใหญ่ และใจแคบ" เราจะ "เพิ่มความสะอาด สงบ และสว่าง" ครับ
  • สรุป ลดคือเพิ่มครับ

นมัสการ พระอาจารย์

ได้ดูรายการมุมมองใหม่แล้ว ประทับใจในแง่คิดคำสอนของพระอาจารย์ครับ ถูกต้อง ตรงจุดที่สุดครับ ในระดับปัจเจกชนใช้สติพิจารณารู้เท่าทันตัวเองเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง อยากร่วมแลกเปลี่ยนและลองเสนอเพื่อให้แตกประเด็นออกไป ก็คือ การมองในระดับโครงสร้างหรือการมองเป็นองค์รวมแล้ว ดูเหมือนว่าหนึ่งแรงของปัจเจกชนคนผู้มีสติ จะพลิกฟื้นบางสิ่งบางอย่างในภาพใหญ่ เช่น องค์กร หรือประเทศชาติให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นดูช่างยากเหลือเกินครับ บางครั้งคนดีๆ ก็ท้อแท้เสียก่อน การอยู่เป็นสุขแต่ผู้เดียวในสังคมปัจจุบันอาจไม่เพียงพอต่อการจะเรียกว่าเป็นคนดี เนื่องจากโลกมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้าใจโลกทั้งภายในและภายนอก ทั้งตัวเองและสังคมในเชิงโครงสร้างดูจะต้องทำควบคู่กันไปตามกำลังและสติปัญญาที่มี.. สิ่งเหล่านี้ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ

ขอเป็นกำลังใจให้พระนักวิชาการรุ่นหนุ่มอย่างพระอาจารย์ได้เป็นกำลังของสังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนาครับ...

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้า

กระผมได้ส่งบทคัดย่อและ Link บันทึกงานวิจัยบางส่วนผ่านรายการทีวีที่ http://gotoknow.org/blog/otpop/301418

เมื่อพระคุณเจ้าได้ทบทวนเนื้อหาแล้ว โปรดเสนอแนะประเด็นที่กระผมควรเพิ่มเติมเพื่อเป็นบทความกิจกรรมบำบัดสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมวันวิสาขบูชาโลกต่อไปครับ

อีเมล์ที่พระคุณเจ้าสามารถเสนอแนะที่ [email protected]

กระผมจะได้เตรียมและส่งบทความไม่เกิน 20 หน้า ภายหลังครับ

กระผมได้รับข้อเสนอแนะจากท่านพระคุณเจ้าแล้วครับ

กระผมขอเวลาทบทวนประเด็นต่างๆ และจะอีเมล์ให้ท่านพระคุณเจ้าต่อไปครับ

ขอกราบขอบพระคุณมาด้วยความเคารพอย่างสูง

อาจารย์อุทัย

  • เห็นด้วยกับอาจารย์คือ เมื่อแต่ละคนมีสติแล้ว เราจะขยายฐานของสติแต่ละคนในเชิงปัจเจกไปสู่สังคมได้อย่างไร
  • หากแต่ละคนในสังคมได้กระจายพล้ังแห่งสติออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง เราจะเป็นสังคมแห่งสติได้อย่างน่าอัศจรรย์
  • สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิด เกิดปัญหา สังคมจะตระหนักในประเด็นนี้อย่างไร
  • อนุโมทนา และเจริญธรรม

Dr. Pop,

  • อนุโมทนาขอบใจโยมมากที่ได้พยายามจะปรับให้สอดรับกับประเด็นที่จะนำเสนอในการประชุมระดับโลก
  • ในการประชุมงานนี้ มีนักวิชาการระดับโลกมาร่วมมากมาย และเราจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน
  • ประเด็นคือ หากเป็นไปได้เราจะพิมพ์งานโยมเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้คนทั้งโลกได้อ่าน หวังว่า ดร. เช่นโยมจะสามารถดำเนินการได้ หากไม่ได้อาตมาจะแปลให้
  • อาตมาจะรอบทความของโลก และคนทั่วโลกรองานของโยมอยู่น่ะ
  • อนุโมทนาและเจริญธรรม

ดูรายการแล้วรู้สึกดีมากครับ ผมเชื่อแน่ว่า

สิ่งที่อาจารย์ทำในวันนี้ จะเป็นแบบอย่าง

และเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน

ที่จะทำงาน และดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีสติครับ

โยมสมศรี นวรัตน์

  • ทุกข์หรือสุข" อยู่ที่ "ใจ+ทำความเข้าใจ" ของบุคคลคนนั้น  เขาจะรู้ตัวดีกว่าใคร ๆนะคะ อยู่ที่จะ "เข้าใจและยอมรับ" และพร้อมจะ "ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม" ด้วย "ความเข้าใจที่ถูกต้อง"
  • นับเป็นวลีที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด
  • ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตร้อนเร้าใจเราเป็นทุกข์
  • ความเข้าใจที่ถูกต้องนับเป็นปฐมมรรค คือ "สัมมาทิฐิ" รู้ เข้าใจ นำไปสู่การค้นพบความสุขแบบยั่งยืน
  • เจริญพร และเจริญธรรม

นมัสการครับ

     ผมกำลังจะทำ "สานเสวนา" นำตัวแทนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาคุยกัน  ประมาณเดือนนี(มกรา) หรือ กุมภา   ผู้เกียวข้องยอมรับในหลักการแล้วครับ ยังเหลือรายละเอียด

     ผมขออนุญาตนำ ๓ ย. เพียงพอต่อการจัดการความขัดแย้ง"  ไปใช้ในเวทีสานเสวนานะครับ

     (ช่วงที่ท่านออกโทรทัศน์  ผมได้ดูด้วยครับ)

อาจารย์ Small man

  • อนุโมทนาขอบคุณและยินดียิ่งที่อาจารย์จะนำแนวคิดดังกล่าวไปขยายพื้นที่ต่อไป
  • พี่น้องของเราที่อาจารย์พูดถึงไม่ทราบว่า เจาะไปที่พื้นทีตรงไหนละอาจารย์
  • ขอภาวนาให้พี่น้องของเราคิด พูด และแสดงออกต่อกันด้วยเมตตา
  • เืมื่อนั้น "รอยยิ้มพิมพ์ใจ" จะย้อนกลับมาเยือนเราอีกครั้ง
  • เจริญพร และเจริญธรรม

นมัสการพระคุณเจ้า

  • ดูรายการแล้วเจ้าค่ะ
  • น้องนัท  ถ่ายภาพจากหน้าจอไว้ด้วย
  • สรุปน่าฟังและปฏิบัติได้คือ ๓ ย เจ้าค่ะ
  • และดีตรงที่มีทุกศาสนามาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
  • สำหรับเรื่องการเมือง...เมื่อไหร่จะแก้ได้เจ้าคะ
  • ในฐานะครูก็ขอแก้ที่การศึกษาก่อน และแก้ที่ครูและสังคมของครูเจ้าค่ะ
  • กราบขอบพระคุณรอบดึก

เจริญพรครูคิม

  • ขอบใจมาก และดีใจที่คุณครูได้ร่วม "รับชมและรับชิมเมล็ดพันธุ์แห่งธรรม
  • อย่าลืมเตื่อนใจตัวเองตลอดเวลาว่า "อย่าหยุดยิ้ม"
  • การเมืองเมื่อไรจะแก้ได้ หากเราทุกคนบอกตัวเองว่า "อย่าหยุดยิ้ม" เมื่อนั้นเราจะพบทางออก
  • และสิ่งที่ไ่ม่ลืมที่พกพาไปไหนมาไหนคือ "สติมา สตังมี สติดี ชีวีรอด"
  • เจริญธรรม

          

ครูคิม

  • ในฐานะครูก็ขอแก้ที่การศึกษาก่อน และแก้ที่ครูและสังคมของครูเจ้าค่ะ
  • นับเป็นมุมมองที่ดีอย่างยิ่ง มองไกลแต่เริ่มจากสิ่งที่ใกล้และทำได้ง่ายที่สุด
  • การเริ่มต้นนับหนึ่งที่ตัวเรา นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญอย่างยิ่ง
  • เพราะในเิชิงสังคม "ไม่มีเราก็ไม่มีผู้อื่น" และ "ไม่มีผู้อื่นก็ไม่มีเรา"
  • แต่ถ้ามองในเิชิงศาสนา "ไม่มีเรา ไม่มีเขา เป็นสุขที่สุด"

ชอบมากเลยค่ะ 3 ย. เข้าใจง่าย ทำได้ไม่ยาก

ปีใหม่ปีนี้ เรามาสร้างบารมีง่ายๆกับอธิษฐานบารมี และ สัจจบารมี กันนะคะ

อธิษฐาน หมายถึง ความตั้งใจมั่น ความมั่นคง ความแน่วแน่ ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน

ส่วน สัจจบารมี นั้น คือการเอาจริงเอาจัง พูดแล้วทำจริง ตั้งใจไว้ว่าจะทำอะไรแล้ว ก็ทำให้สำเร็จเช่นนั้นจนได้

อธิษฐานบารมี และ สัจจบารมี จึงมักจะไปด้วยกันค่ะ

เป็นบารมีที่จะช่วยเป็นแรงหนุนให้เราดำเนินไปบนทางที่ตั้งใจและสำเร็จผลได้ในวันหนึ่ง

เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ขึ้นปีใหม่ที ตั้งใจจะทำอะไรดี ๆ ไว้ แต่ทำได้สองสามวันก็เลิก

ตั้งใจมั่นแล้ว ต้องทำให้ได้ด้วยนะคะ

โยมแพรภัทร

  • อนุโมทนาและขอบใจที่แวะมาน้อมนำ "ข้อคิดไปประยุกต์ใช้"
  • บารมีสองข้อที่โยมแนะนำนับว่าเหมาะกับสถานการณ์มาก
  • อธิษฐาน หมายถึง ความตั้งใจมั่น ความมั่นคง ความแน่วแน่ ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน
  • ส่วน สัจจบารมี นั้น คือการเอาจริงเอาจัง พูดแล้วทำจริง ตั้งใจไว้ว่าจะทำอะไรแล้ว ก็ทำให้สำเร็จเช่นนั้นจนได้
  • อาตมาขอนำหลักการนี้ประยุกต์ใช้กับตัวเองและนำไปฝากญาติธรรมในโอกาสต่อไป
  • เจริญพร/เจริญธรรม

โยมแพรภัทร

  • ขอให้สิ่งที่โยมอธิษฐานใจจงบรรลุตามที่มุ่งหวัง
  • เจริญธรรม

จริงหรือไม่ครับที่เขา(รวมถึงกระผมด้วย) กล่าวว่า.....ยุคใดกล่าวถึงสันติภาพมากที่สุดสะท้อนให้เห็นว่ายุคนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง

....ยุคใดที่ทุกคนต่างเถียงและต่างให้เหตุผลว่าข้าพเจ้าไม่ผิด ยุคนั้นจะเต็มไปด้วยความผิด....ยุคใดคนโหยหาปัญญามากที่สุด ยุคนั้นคนโง่จะมากที่สุด...ยุคใดคนวิ่งหาความสุข ยุคนั้นคนจะทุกข์มากที่สุด ......

ท่าน ส.นิรนาม

  • ข้อสังเกตของท่านน่าสนใจมาก "ยุคใดกล่าวถึงสันติภาพมากที่สุดสะท้อนให้เห็นว่ายุคนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรง"
  • เป็นไปได้ว่า "หลักคำสอน หรือข้อถกเถียงต่างๆ อาจจะสะท้อนแง่มุมทางสังคม" ได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ทั้งหมด
  • ในมุมมองส่วนตนของอาตมา/กระผม "คำกล่าวเช่นนี้ อาจจะจริง และไม่จริงร้อยเปอร์เซ็น"
  • เราให้คำนิยามสำหรับ "สันติภาพแบบไหน ภายนอกหรือภายใน" "ความรุนแรงแบบไหน ทางตรงหรือทางอ้อม และ/หรือทางโครงสร้าง"
  • เราสามารถนำตัวอย่างในสมัยพุทธกาลมาพิสูจน์ได้
  • หรืออาจจะนำหลัก "วิภัชชวาท" มาพิสูจน์ได้ ว่า ศาสนาพุทธเน้น วิภัชชวาท หรือเอกังสวาท
  • ด้วยธรรมะ พร และเมตตา
  • นมัสการพระคุณเจ้าคะ
  • อ่าน3ย.แล้วคะดีมาก
  • แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้น่าจะนำรายการมองมุมใหม่ที่ออกอากาศมาลงในบันทึกให้ดูด้วยจะดีมากๆคะ...

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณ หลักคิดชีวิต .. อย่า หยุด ยิ้ม ...

ยิ้มทุกวัน แบ่งปันความรัก จักลดปัญหา

พระนิรันดร์ ภทฺทจารี (บาลี)

สวัสดีครับพระอาจารย์ ฯ

กระผมเป็นพระตัวน้อยๆอยู่ที่ลพบุรีอ่ะครับ

พอดีเข้ามาหางานที่เกี่ยวกับผู้นำทางการศึกษาของพระสังฆาธิการ หลงเข้ามาอ่านความคิดของพระอาจารย์ อ่านแล้วไม่เครียดดีครับ อาจารย์พอจะมีคำแนะนำการเป็นผู้นำทางการศึกษา ของพระสังฆาธิการไหมครับ หรือแหล่งข้อมูลก็ได้นะครับ

๙ท้ายนี้ขอให้พระอาจารย์ มีสุขภาพแข็งและแรง เพื่อพระศาสนาสืบไป อย่าให้มีอันตรายในการเดินทางแห่งธรรม ของพระพุทธเจ้าเลยนะครับ๙

นมัสการพระคุณเจ้า ขอรับ

กระผม นายวิชาญ ฤทธิธรรม อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสกลนคร (กระผมเป็น พธ.บ.รุ่น ๔๒ ครับ)

ได้ทราบว่าพระคุณเจ้าได้ขับเคลื่อนกิจกรรมเกี่ยวกับแนวคิดสันติวิธีและได้ศึกษาวิจัยพุทธสันติวิธี

กระผมมีความสนใจจะขอนิมนต์พระคุณเจ้ามาเป็นวิทยากรให้การเรียนรู้และปลูกฝักแนวคิดสันติวิธีแก่นักศึกษา

ของกระผม ในช่วง ๑๖-๑๗-๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ นี้ ไม่ทราบพระคุณเจ้าพอจะมีเวลาให้ได้ไหมขอรับ

เกรงว่าท่านจะมีงานล้นมือเนื่องจากเป็นผู้บริหารด้วย...โปรดชี้แนะด้วยขอรับ

[email protected] / โทร. ๐๘๔ ๔๒๘๙๕๗๙

อาจารย์วิชาญ

  • ด้วยความยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง
  • อาตมาจะติดต่ออาจารย์ไปโดยเร็ววัน
  • ทุกครั้งที่ได้ยิน ได้อ่าน และได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้
  • ความสุขใจเกิดขึ้นจากการที่จะได้ทำหน้าที่
  • ด้วยสาราณียธรรม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท