สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ Thai-PBS


การติดตามตรวจสอบเนื้อหารายการและกระบวนการจัดทำผังรายการโดยภาคประชาชน ที่มีความเป็นอิสระ และเป็นองค์กรติดตามตรวจสอบที่มาจากฐานชุมชน มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สะท้อนกลับข้อคิดเห็นไปยังสื่อสาธารณะและผลักดันเนื้อหารายการให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความสนใจและความต้องการของสาธารณะ

เป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ Thai-PBS เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งโดย อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ให้เป็น 1 ใน 12 คน ของคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์สรรหาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ซึ่งมี น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน

แนะนำตัวกับ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์ (ใ่ส่สูท-นั่งหันหลัง) และนายขวัญสรวง อติโพธิ (เสื้อขาว)

>แนะนำตัวกับ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์ (ใ่ส่สูท-นั่งหันหลัง) และนายขวัญสรวง อติโพธิ (เสื้อขาว)<

หน้าที่ของพวกเราตามที่ได้กำหนดไว้ในคำสั่งแต่งตั้ง มีอยู่ 3 ข้อ คือ

  1. ศึกษาและพิจารณาการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสรรหาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ
  2. จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสรรหาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
  3. ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มอบหมาย

เราพบกันครั้งแรกในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2551 ที่อาคารชิน 3 ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ iTV เดิม ในวันนั้นนอกจากพวกเราทั้ง 12 คนแล้ว อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ประธานฯ และ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กรรมการนโยบายฯ ได้เข้าร่วมประชุมและให้แนวทางการทำงานเพื่อร่วมกันสร้างสถานีโทรทัศน์สาธารณะให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะและสังคม

>รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กรรมการนโยบายฯ ThaiPBS ร่วมสังเกตุการณ์ประชุมจนเสร็จสิ้น<

ตรงนี้เองที่ผมได้เรียนรู้เรื่องของ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ว่ามีโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และการทำงานกันอย่างไร ? นำมาสรุป-เผยแพร่ได้ ดังนี้

  • แนวคิดเรื่อง สภาผู้ชมฯ มาจาก BBC ของอังกฤษ

สื่อสาธารณะแบบ BBC มีประวัติที่ยาวนาน และประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง ทุกวันนี้ BBC มิใช่เป็นแค่สถานีข่าว แต่เป็นสถาบันทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งเพาะนักเขียน-ศิลปินรุ่นใหม่ เป็นห้องเรียนทางอากาศ เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บสมบัติของชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเวลาเกิดวิกฤติคับขันเมื่อเกิดภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นเวทีกลางของการถกเถียงโต้แย้งทางความคิดที่หลากหลาย ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงสมดุลให้แก่ประชาชน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางปัญญา-วัฒนธรรม กระตุ้นให้ตื่นตัวต่อสภาวะแวดล้อม และบทบาทล่าสุดเป็นหัวรถจักรฉุดลากสังคมอังกฤษให้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่กำลังปฏิวัติระบบการสื่อสารไปทั่วโลกขณะนี้

กลไกหนึ่งที่ทำงานร่วมกับคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการบริหารฯ คือ BBC Audience Councils หรือสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการของ BBC นั่นเอง ซึ่งยังแบ่งแยกย่อยออกไปในภูมิภาคของสหราชอาณาจักรอีก 4 แห่ง คือ BBC Audience อังกฤษ, สก็อตแลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์

การติดตามตรวจสอบเนื้อหารายการและกระบวนการจัดทำผังรายการโดยภาคประชาชน ที่มีความเป็นอิสระ และเป็นองค์กรติดตามตรวจสอบที่มาจากฐานชุมชน มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สะท้อนกลับข้อคิดเห็นไปยังสื่อสาธารณะและผลักดันเนื้อหารายการให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความสนใจและความต้องการของสาธารณะ

>บรรยากาศในการประชุมฯ เต็มไปด้วยไมตรีจิตและความคิดสร้างสรรค์ร่วมกันสร้าง "สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ"<

  • กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าจ้องมี : สภาผู้ชม Thai-PBS

พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 จึงกำหนดไว้อย่างชัดเจนใน หมวด 5 / มาตรา 45 เรื่อง สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ และการรับเรื่องร้องเรียน  ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้ชมฯ จำนวนไม่เกิน 50 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนของประชาชนในภูมิภาคและกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลายและมีความสมดุล เพื่อรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากประชาชนในวงกว้างต่อการผลิตรายการขององค์การฯ

ทั้งหมดนี้ คือ ที่มาและภารกิจของคณะเราที่จะต้องกำหนดเกณฑ์สรรหาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ เราคุยกันว่าประชุมครั้งแรกแล้ว เราจะทดลองยกร่างเกณฑ์ในการสรรหาออกมา เพื่อพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ในระดับหนึ่ง จากนั้นก็ไม่รอช้านำเข้าสู่เวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับประเทศ เพื่อเป็นการตรวจสอบกันอย่างละเอียด และกว้างขวาง ก่อนที่จะสรุปและเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ นำไปดำเนินการต่อ

ผมจึงขอเชิญชวนท่านที่สนใจ และมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมในเวทีแสดงความคิดเห็น เกณฑ์การสรรหาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ Thai-PBS” ซึ่งเรามีกำหนดจะจัดให้มีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2551 ที่กรุงเทพฯ ขอเชิญส่ง ชื่อ-ที่อยู่ / เบอร์โทรศัพท์ ของท่านมาที่ E-Mail ของผมได้เลยครับ ผมจะเสนอชื่อให้ทาง Thai-PBS นำไปพิจารณาเชิญท่านเข้าร่วมในเวทีฯ ต่อไป.

 

>ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์สรรหาสภาผู้ชมฯ น.พ.วิชัย โชควิวัฒน<

หมายเลขบันทึก: 178129เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2008 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอฝากความหวังของสังคมไทย
  • ส่วนหนึ่งไว้กับสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ของไทย
  • ช่วยกันกอบกู้สังคมที่กำลังสับสนและหลงทางเกินเลย
  • จนไม่รู้จักหน้าที่ของมนุษย์
  • อยากให้สถานีโทรทัศน์สาธารณะ แห่งนี้
  • เป็นแหล่งเรียนรู้เพาะบ่มความเป็นผลเมืองที่มีคุณภาพคู่คุณคุณธรรม มีความกตัญญูนำปัญญา รู้จักหน้าที่ของตนเองเริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆของครอบครัว
  • หน้าที่ของพ่อ -แม่ หน้าที่ของลูก หน้าที่ของครู ฯลฯ.
  • ขอบคุณ K.Lin Hui มาก ๆ ครับ
  • ผมขออนุญาตนำความเห็นเหล่านี้ ไปพูดในที่ประชุมเพื่อย้ำเตือนเจตนารมณ์ของสังคมให้กรรมการทุกท่านได้รับทราบครับ.

        คิดว่าคนชุมพรและภาคใต้ หรือ คนในประเทศนี้ได้มีช่องทางในการสื่อสารสิ่งดี ๆ ของสังคมนี้ ผ่านช่องทางนี้  และขยายฐานความรู้  และประสบการณ์ของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมได้ไปให้ชุมชน สังคมอื่นได้ศึกษาเรียนรู้และพัฒนาได้อีกมากมาย

       คิดว่าทีมทั้งสิบสองคน  .ซึ่งมีใจ  มีประสบการณ์ทางสังคม  สร้างการเมืองภาคพลเมืองมาพอสมควร  สามารถนำความรู้ที่ผ่านมากำหนดคุณสมบัติ  กระบวนการ  วิธีการ  คัดเลือกสภาผู้ชมได้เป็นอย่างดี  ชื่อมือ  เพราะอย่างน้อยสองคนที่ผมรู้จักและเห็นพัฒนาการของการทำงานเพื่อสังคมจริง ๆ  พี่ทองแท่ง  ชูวาธิวัฒน์ ( บุคคลช่วยผมให้สามารถทำงานทางสังคมได้ ณ วันนี้ และช่วยในพื้นที่ชุมพรโดยเฉพาะที่บ้านพอควร ) อีกคน อาจารย์ขวัญสรวง  ซึ่งก็รู้ เห็น กระบวนการทำงานของท่าน

        เอาใจช่วยเต็มที่ครับ.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท