ลิงตัวที่หนึ่งร้อย


บทความคอลัมน์ "ทางกลับคือการเดินทางต่อ" ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดชุมพร "ไทยนิวส์" ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม 2549

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2549 หลังจากทราบข่าวด่วนจากทาง TV ว่าไม่มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ชุมพรเขต 1 แน่นอนแล้ว ผมก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมสัมมนาในรายการ “สู่เส้นทางตลาดสีเขียวที่เป็นจริง” ที่ห้องประชุมประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ใครที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับงานนี้ติดตามข่าวสารได้ที่ www.thaigreenconsumer.org

เรื่องที่นำมาเขียนในวันนี้เป็นความประทับใจที่ได้จากการรับฟัง คุณรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ คะแนนสูงสุดเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งขึ้นอภิปรายเป็นคณะในหัวข้อ นโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนต่อการสร้างตลาดสีเขียวที่เป็นจริง

คุณรสนาเริ่มต้นด้วยการย้อนคำถามจากหัวข้ออภิปรายว่า อะไรคือนโยบายเศรษฐกิจที่เร่งด่วน ? คำถามนี้จะชักนำเราไปสู่แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ-การเมือง, สิทธิ, ความเสมอภาค ฯลฯ วนเวียนอยู่กับข้อจำกัดที่เป็นเงื่อนไขมากมายหลายประการ โดยเฉพาะการคาดหวังกับบทบาทของภาครัฐและนักการเมืองในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งคำว่า “ตลาดสีเขียว” ในการรับรู้ของท่านเหล่านั้นอาจจะมองกันไปคนละทิศละทางจนห่างไกลจากการปฏิบัติที่เป็นจริง และพวกเราก็คงจะทำอะไรไม่ได้มากนัก ทั้งนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะผ่านระบบการเมืองแบบตัวแทน เป็นเรื่องของการไปออกเสียงเลือกตั้งผู้สมัคร ประกาศผลรับรองไปแล้วก็จบกันไป ที่เหลือก็เป็นเรื่องที่ท่านเหล่านั้นจะคิดและปฏิบัติได้เอง

แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องของตลาดสีเขียวเป็นเรื่องที่เรา Vote กันได้ทุกวัน ด้วยการศึกษาข้อมูลข่าวสาร เลือกหาสินค้าที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เอาเปรียบเกษตรกรผู้ผลิต-ผู้บริโภค มีกระบวนการผลิตที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารพิษ ฯลฯ คุณรสนาย้ำเตือนให้ตระหนักในพลังอำนาจของผู้บริโภค และกระตุ้นเตือนให้ทำทันทีในสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าสิ่งนั้นดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เรื่องเล่า (Story-Telling) ที่คุณรสนานำมาประยุกต์ใช้ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็คือเรื่อง "ลิงตัวที่หนึ่งร้อย"

เนื้อหาของเรื่องนี้มีที่มาจากเรื่องเล่าของคุณรสนา และผมได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ท ดังนี้ครับ

“...การทดลองที่มีชื่อเสียงรู้จักกันในนิยาม "ลิงตัวที่หนึ่งร้อย" โดย Lyall Watson นักชีววิทยาที่มีชื่อเสียงได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาในปี 1979 ในการทดลองกับฝูงลิงชนิดเดียวกันที่อยู่รวมกันหลายร้อยตัวที่ชายฝั่งทะเลโกชิมา เกาะเกียวชูประเทศญี่ปุ่น นักวิจัยได้นำเอามันเทศหวานที่ลิงฝูงนี้ไม่เคยกินเคยเห็นมาก่อนมาเทลงบนชายหาดที่เป็นโคลนปนทราย แน่นอนที่มันเทศจะต้องเปรอะเปื้อนดูไม่น่ากิน และพวกลิงก็ไม่เคยกินมันเทศมาก่อน ดังนั้น ในตอนแรกก็ไม่มีลิงสักตัวจะสนใจแม้แต่จะเข้าไปดู หลายชั่วโมงต่อมาก็มีลิงสาวที่ดูท่าทางฉลาดเฉลียวมากกว่าเพื่อน ๆ ในฝูง ได้เดินไปหยิบมันเทศหัวหนึ่งขึ้นมาดู แล้วก็เอาไปแกว่งในน้ำทะเลจนสะอาดขึ้น เมื่อทดลองกัดกินรสหวานของมันเทศกับรสเค็มของน้ำทะเลทำให้ลิงสาวชอบก็เลยกินมันเทศจนหมดหัว และต่อมามันก็ได้สอนให้แม่กับลิงหนุ่มที่เป็นแฟนให้ลองกินดู ทั้งสามตัวก็เลยกินมันเทศกันอย่างสนุกสนาน โดยลิงตัวอื่นบ้างก็สนใจมาทดลอง บ้างก็ไม่สนใจ จนชั่วระยะเวลาหนึ่งลิงที่มาลองกินมันเทศก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ที่แปลกมากก็คือ เมื่อจำนวนของลิงที่มากินถึงจุดหนึ่ง เรียกว่า มวลวิกฤติ : Critical Mass (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวที่หนึ่งร้อยพอดีตามที่นิยามไว้ข้างต้น) ทันใดนั้นเองลิงทุกตัวที่อยู่ในฝูงต่างกรูลงมาที่ชายฝั่งพร้อม ๆ กันแย่งกันหยิบหัวมันเทศและวิ่งไปแกว่งในน้ำทะเล กัดกินอย่างพร้อมใจกันเหมือนกับว่ามันมี สัญญาณลับ อยู่ที่ลิงตัวที่วิกฤตตัวนั้น แค่นี้ยังไม่พอนักวิจัยทดลองย้ายสถานที่ไปวิจัยกับลิงฝูงอื่นบ้าง ที่เกาะทากาซากิยาม่าที่อยู่ห่างออกไป ลิงที่อยู่บนเกาะนี้เป็นฝูงลิงอีกพันธุ์หนึ่งและก็ไม่เคยเห็นไม่เคยกินมันเทศมาก่อนเลยเหมือนกัน พอนักวิจัยเทมันเทศลงไปบนชายหาดที่เป็นโคลน ทันใดนั้นเองลิงทุกตัวทั้งฝูงก็วิ่งลงมาแย่งหยิบเอาหัวมันเทศ นำไปแกว่งในน้ำทะเลและกัดกินทันทีอย่างกับว่ามันเคยกินวิธีนี้กันมาก่อน...”

ปรากฎการณ์เรื่อง "ลิงตัวที่หนึ่งร้อย" นำมาซึ่งเหตุการณ์มากมายที่มีผู้ออกมาตั้งคำถามและข้อสังเกตเกี่ยวกับ การถ่ายทอดพฤติกรรมผ่านมิติเวลา เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์และสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเสมือนหนึ่งว่า เมื่อใครคนใดคนหนึ่งคิดค้น เป้าหมาย และ วิถีปฏิบัติ ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ก็จะเกิดคลื่นสั่นสะเทือนไปยังการรับรู้ของคนอื่นๆ ด้วย และด้วยคลื่นความคิดนั้น ถ้ามีผู้ใดที่รับได้เร็วและชัดก็จะสามารถคิดและปฏิบัติในสิ่งที่คล้ายๆ กันออกมาได้

คุณรสนาสรุปในตอนท้ายว่า เราจะต้องไม่ลังเลใจ หวาดหวั่นพรั่นพรึงกับการเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เมื่อได้เรียนรู้และเชื่อมั่นว่าวิถีที่เราปฏิบัติเป็นเรื่องที่ถูกต้องดีงาม แม้จะไม่มีผู้ปฏิบัติเช่นเดียวกับเราหรือมีอยู่น้อยเพียงใดก็ตาม ขอเพียงตั้งใจมั่นลงมือปฏิบัติเสมือนลิงตัวที่หนึ่งหรือลิงที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่ามหัศจรรย์ในลักษณะของ Critical Mass ก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อถึงเวลา

ผมเฝ้ามองสภาวะการนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามมาสู่สังคมของจังหวัดชุมพรหลายประการ ได้แก่ การรวมกลุ่มขับขี่จักรยาน, การเชื่อมโยงของเครือข่ายผู้ปกครองในโรงเรียน, เครือข่ายวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ได้ปลุกเร้าความภาคภูมิใจของคนเฒ่าคนแก่ให้แสดงออกผ่านงานศิลปการแสดง ฯลฯ ขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จ เข้าถึงสภาวะ Critical Mass ได้ในที่สุด.

ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์
[email protected]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 28054เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2006 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตินำข้อมูลในบันทึกนี้ไป Link ไว้ในบันทึกของตัวเองหน่อยนะคะ

เขียนดีคะ......ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท