พบปราชญ์ชาวบ้านที่พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ


กษัตริย์เกษตร ภูมิปัญญาแผ่นดิน วิชาของแผ่นดิน

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ผมได้รับโอกาสเรียนรู้เรื่องที่สำคัญของชีวิตจากปราชญ์ชาวบ้าน ตัวจริง-เสียงจริง มากมายหลายท่าน ได้แก่ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ลุงประยงค์ รณรงค์ พี่โจน จันได ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ผมต้องขอขอบคุณ ลุงแท่ง (นายทองแท่ง  ชูวาธิวัฒน์) อดีตข้าราชการ สปก.ท่านได้ลาออกเพื่อมาทำงานใหม่ ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมเคยร่วมงานกับลุงแท่งที่สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ในการยกร่างระเบียบว่าด้วยสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ในช่วงปี 2551 จากนั้นก็ห่างหายกันไป มาพบกันอีกครั้งหนึ่งด้วยความบังเอิญเพราะต่างก็พาคณะของตนเข้าไปดูงานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ต.ทุ่งคาวัด อ.ละแม ในวันเดียวกัน เมื่อลุงแท่งมีงานใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ยังอุตส่าห์คิดถึงผมและหาทางติดต่อกันจนเจอ...เราจึงได้ร่วมงานกันอีกครั้งหนึ่ง

จากเอกสารได้บรรยายความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ความว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์       ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี  ในปีพุทธศักราช 2539  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2539 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ  เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2545 จากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2552กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ดำเนินการจัดตั้งองค์กรบริหารในรูปแบบองค์การมหาชนเพื่อเข้ารับผิดชอบ ดูแลและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ”

กว่า 8 ปีที่ผ่านมาบนพื้นที่ 500 ไร่ พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ มีเรื่องที่จะต้องฟื้นฟูสภาพให้มีความพร้อมที่จะดำเนินงาน และมีกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการจัดแสดงทั้งในอาคารและนอกอาคารให้ดึงดูดใจผู้เข้ามาเรียนรู้อีกมากมายหลายประการ คณะผู้บริหารนำโดย ป้าศรี (นางจารุรัฐ  จงพุฒิศิริ) ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เลือกที่จะใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายผู้นำเกษตรโดยจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตร และให้ทุกคนร่วมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ และแนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร

การสัมมนาฯ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-9 มิถุนายน 2553 เป็นการเชิญภาคีเครือข่ายผู้นำเกษตรจากทั่วประเทศมาร่วมพูดคุยกัน ภายในงานมีการจัดแสดงนวัตกรรมการเกษตรที่น่าสนใจ ได้แก่ การเพาะเห็ดฟางตะกร้า การทำนาโยนกล้า เซลล์แสงอาทิตย์แบบประหยัดสำหรับสูบน้ำและผลิตไฟฟ้า การผลิตถ่านอัดแท่ง กังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากมอเตอร์เครื่องซักผ้า ไดชาร์ทรถยนต์ การบีบน้ำมันพืชใช้เองด้วยเครื่องบีบแบบไฮโดรลิกและสกรูเพลส เตาแก๊สชีวมวล ฯลฯ นวัตกรรมเหล่านี้ อ.ต้อย (นายคมสัน หุตะแพทย์) บรรณาธิการหนังสือเกษตรกรรมธรรมชาติ เป็นผู้ประสานงานนำมาจัดแสดงและได้รับความสนใจอย่างมาก ผมเองเล็ง ๆ ไว้แล้วว่าจะติดตั้งระบบ Solar Cell ไว้ที่สวนป่าพรั่งพร้อม แหล่งเรียนรู้และใช้ชีวิตของครอบครัว รอให้ทีมงานเดินทางมาภาคใต้ก็น่าจะสำเร็จไม่นานเกินรอ

บนเวทีสัมมนาเรื่องราวที่ได้รับฟังจากวิทยากรมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ ชีวิตอิสระ โดยพี่โจน จันได ผู้นำเรื่องราวของการปั้นบ้านดินมาปฏิบัติจริงด้วยตนเอง, สวนเกษตรปลดหนี้ 5 ไร่ 1 ล้าน โดยผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จ.ระยอง, เศรษฐกิจพอเพียงฉบับพ่อค้า โดย อ.ต๊อด (นายอดิศร พวงชมภู) อดีตประธานหอการค้า จ.นครปฐม และการค้นหาศักยภาพใหม่ในวิถีเกษตรยั่งยืน โดย อ.ต้อย (นายคมสัน หุตะแพทย์)

ในการประชุมกลุ่มเราแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามภูมิภาค เหนือ กลาง ใต้ และอีสาน ในกลุ่มภาคใต้ได้เลือก ลุงประยงค์ รณรงค์ เป็นประธาน และมีบทสรุปสำคัญ ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างกลุ่มภาคใต้ กับพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ โดยจัดสร้างสวนสมรมแบบภาคใต้ และมีกิจกรรมหรือจุดสาธิตเกี่ยวกับวิถีการเกษตรภาคใต้ อาจจะใช้พื้นที่ของเรือนไทย 4 ภาคโดยเฉพาะเรือนภาคใต้ เราได้เข้าไปศึกษาดูพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกสร้างสวนสมรม จำนวน 5-10 ไร่ และมีแนวทางที่จะสรรหาทีมเยาวชนคนรุ่นใหม่ มาเรียนรู้ ฝึกงานกับพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ โดยมีภารกิจดูแลพื้นที่สวนสมรม

งานนี้ผมขออนุญาต “ลุงแท่ง” เป็นกรณีพิเศษ นำคณะและผู้ติดตามซึ่งก็คือภรรยาและลูกสาวเข้าร่วมการสัมมนาด้วย ทำให้ครอบครัวของผมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตที่มีค่ายิ่งกับปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน คำสอน คำแนะนำ ของท่านเหล่านั้นเปรียบเสมือนแสงสว่างแห่งชีวิตที่สาดส่องให้เราได้เห็นความงดงามบนวิถีทางของความพอเพียง ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ผมได้กลับไปที่พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ อีกครั้งเมื่อวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2553 คราวนี้เป็นการสัมมนาผู้นำเกษตรระดับภาค ซึ่งจัดขึ้น 2 รุ่น รุ่นแรกจากภาคเหนือและภาคอีสาน รุ่นที่ 2 จากภาคกลางและภาคใต้ จัดวัน-เวลาให้เหลื่อมกัน 1 วัน เพื่อที่จะได้เห็นหน้าเห็นตากันทั้ง 4 ภาคในช่วงของการชมนวัตกรรมการเกษตร ณ ฐานเรียนรู้ต่าง ๆ

ในส่วนของ จ.ชุมพร เราได้ช่วยกันคัดเลือกผู้เข้าร่วมเวทีสัมมนาฯ จำนวน 20 คน โดยพิจารณาจากผู้ที่มีผลงานเด่นชัดที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริในหลวง มีการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ชัดเจนเป็นองค์กรหรือเครือข่าย กิจกรรมในการสัมมนาฯ ครั้งที่ 2 คงรูปแบบกิจกรรมหลักเหมือนครั้งแรก ที่แตกต่างกันไปก็คือ หัวข้อการประชุมกลุ่มได้ลงลึกไปในระดับภาคและระดับจังหวัด ได้แก่ ศูนย์ภาค-ภารกิจและหน้าที่, ภาคี-บทบาทและหน้าที่, การเชื่อมประสานภาคี ศูนย์ภาค กับศูนย์กลาง (พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ) ผลของการสัมมนาฯ ครั้งนี้ในส่วนของ จ.ชุมพร เราได้สรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อการขับเคลื่อน ด้วยความตั้งใจร่วมกันว่า

เราจะช่วยกันสร้างและขยายผล เรื่องของพ่อ ในบ้านของเรา ต่อไปครับ.

หมายเลขบันทึก: 375288เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2010 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ

เคยไปมาเหมือนกันครับ ได้ความรู้ใหม่ๆเยอะครับ ภูมิปัญญาชาวบ้านสุดยอดจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท