ทางรอด-ทางเลือก วิถีเกษตรไทยกับชีวิตที่ยั่งยืน


หรือนี่คือสัญญาณบอกเหตุว่า ใกล้จะถึงเวลาแล้วที่ชาวชุมพรต้องเสียแผ่นดิน สูญสิ้นวิถีชีวิตเกษตรกรอิสระ เดินหน้าเข้าสู่การเป็นลูกจ้างบริษัท ทำงานรับใช้ตามที่เขาสั่งมาเพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่เขากำหนดให้ ต้องทำมากจึงจะได้มาก ถ้าทำน้อยก็เอาไปใช้น้อย ๆ

ในการนำเสนอ “วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชุมพร” ให้กับสถาบันที่นำคณะนักศึกษาและครูบาอาจารย์เข้ามาศึกษาดูงาน 2 คณะ คือ หลักสูตรนักบริหารการทูต เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553 และหลักสูตรจิตวิทยาเพื่อความมั่นคง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2553 ผมได้แสดงความห่วงใยและเป็นกังวลต่อความเปลี่ยนแปลงในการถือครองที่ดินของเกษตรกรชุมพร โดยเฉพาะในครั้งล่าสุด ผมได้หยิบยกสกู๊ปข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2553 หัวข้อ “ราชการเดินหน้า ให้ต่างชาติฮุบที่ดิน” มาชี้ประเด็นให้เห็นปัญหากันชัด ๆ  ถึงผลกระทบของการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียนใน 3 สาขา คือ การทำป่าไม้จากป่าปลูก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเพาะและขยายปรับปรุงพันธุ์พืช

ความห่วงใยในปรากฏการณ์นี้มีที่มาจากปัญหาที่เห็นกันอยู่ทุกวันว่า เรามีวิถีชีวิตที่ ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เราคิด เราทำทุกอย่างก็เพื่อเงิน จากเดิมที่ชาวชุมพรปลูกข้าว ทำนา สร้างสวน ฯลฯ เราเดินอยู่บนวิถีของการ ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง เราทำทุกอย่างเพื่อพึ่งตนเองให้อยู่ได้ทั้ง ข้าว ยา อาหาร บ้าน พลังงาน และการกำจัดของเสีย แต่วันนี้เราหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้เคมีในการเกษตร และพึ่งปัจจัยการผลิตเกือบทั้งหมดจากบริษัท เกษตรกรส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะที่ดินที่เป็นของตัวเอง ไม่ถึงกับต้องไปเช่าเขาทำนา-ทำไร่เหมือนกับเกษตรกรในภาคต่าง ๆ ของประเทศ

แต่อย่าชะล่าใจเป็นอันขาด...การพนันสารพัดรูปแบบที่ผุดขึ้นมาในชุมชนต่าง ๆ ทั้งการเล่นพนันในงานศพ บ่อนไก่ บ่อนปลากัด นกกรงหัวจุก หวย รวมทั้งบ่อนวิ่ง บ่อนลอย และพนันบอล ได้ซึมลึกลงไปในสายเลือดของคนรุ่นพ่อ-รุ่นแม่ เด็กและเยาวชนของเราอย่างน่ากลัว เรื่องราวที่เข้าหูทุกวันนี้คือ การล่มสลายครอบครัวแล้วครอบครัวเล่าจากเหตุที่มีพ่อ มีแม่ติดการพนัน ลูกติดยาเสพติด นำมาซึ่งภาวะหนี้สินและจบบทที่หนึ่งด้วยการขายที่ดินทำกินให้กับทุนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจและนักการเมือง

ที่ดินเหล่านี้หลุดจากมือเกษตรกรอิสระไปแล้ว คิดหรือว่าจะกลับเข้าสู่มือของเกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่ได้ไปครอบครองตอนแรกเขาก็คงจะคิดทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมันให้ได้เงินมาก ๆ จากราคาที่ร่ำลือกันมา แต่สุดท้ายก็เจอกับสารพัดปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่ ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ขาดแรงงานตัดยาง แทงปาล์ม ถูกขโมยผลผลิต ขโมยปุ๋ย ขโมยยา ถูกข่มขู่ ฯลฯ พอหมดแรง หมดกำลังใจ...รวมทั้งหมดเงิน ความเบื่อ-เซ็งก็เข้ามาเยือน สุดท้ายก็ตัดสินใจขายที่ทิ้งเป็นเจ้าที่ 2, ที่ 3 ... ต่อไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็กลายเป็นที่ของบริษัท

กระแส Seashore Farming หรือการทำเกษตรโดยบริษัทต่างชาติ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ฯลฯ ทั่วประเทศ และจะรุกกระหน่ำเข้ามาในบ้านของเราโดยไม่ทันรู้ตัว

หรือนี่คือสัญญาณบอกเหตุว่า ใกล้จะถึงเวลาแล้วที่ชาวชุมพรต้องเสียแผ่นดิน สูญสิ้นวิถีชีวิตเกษตรกรอิสระ เดินหน้าเข้าสู่การเป็นลูกจ้างบริษัท ทำงานรับใช้ตามที่เขาสั่งมาเพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่เขากำหนดให้ ต้องทำมากจึงจะได้มาก ถ้าทำน้อยก็เอาไปใช้น้อย ๆ

เมื่อทราบข่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ วิทยาเขตชุมพร ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ปะทิว จัดงานฉลองงานครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งสถาบันฯ โดยจัดการประชุมเสวนาวิชาการและเวทีปราชญ์ชาวบ้าน เรื่อง “ทางรอด-ทางเลือก วิถีเกษตรไทยกับชีวิตที่ยั่งยืน” ในวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม 2553 ณ ห้องประชุมดาวดึงส์ เพื่อนำเสนอมุมมองที่หลากหลายของนักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน และตัวแทนจากภาคเอกชน ให้แก่ผู้สนใจทั่วไปสำหรับเป็นแนวทางจัดการเกษตรกรรมเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร

โดยในช่วงเช้า 09.10 - 10.00 น. มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน” โดยปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานและรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เวลา 10.00 – 11.30 น. เป็นการประชุมเสวนาวิชาการหัวข้อ “น้ำ-ปาล์ม  วิกฤตหรือโอกาส” มีผู้อภิปราย 4 คน คือ ดร.สมเจตน์ ประทุมมินทร์ จากกรมวิชาการเกษตร, ลุงประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้านผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ, หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฯ และรัชวดี ศรีประพัทธ์ ผอ.กองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผู้ดำเนินรายการ คือ นาตยา แวววีระคุปต์ จากไทยพีบีเอส

ช่วงบ่าย 13.00 - 14.30 น. เป็นการเสวนาเวทีปราชญ์ชาวบ้าน “พันธุกรรมพืชกับความมั่นคงทางอาหาร” มีผู้อภิปราย 5 คน คือ พ.อ.นพ.วิเชียร ชูเสมอ ประธานเครือข่าย สกอ. ภาคใต้ตอนบน, ขวัญชัย  รักษาพันธ์ ประธานเครือข่ายปราชญ์เกษตรแห่งประเทศไทย, เอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้, ทวีวัฒน์ เครือสาย นายกสมาคมประชาสังคมชุมพร, ดร.อัมรา เวียงวีระ สำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว มีผู้ดำเนินรายการ คือ อลิญา ชุมเกษียร จากสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน-ชุมพร

ผมบันทึกลงสมุดนัดหมายเรียบร้อยแล้วต้องไปร่วมเรียนรู้แน่นอน งานนี้พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง.

คำสำคัญ (Tags): #seashore farming#ชุมพร
หมายเลขบันทึก: 385817เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • พี่ไปมาแล้วแวะมาเล่าให้ฟังด้วยค่ะ
  • หมายถึงรอฟังค่ะจากพี่ต้านค่ะ

สรุปว่าทางเลือกคืออะไรครับ

ช่วยส่ง link ให้ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท