ดูแลแม่...ก่อนที่จะใจสลายเพราะลูก


มี "คุณแม่" รายหนึ่งแวะเวียนมาพูดคุย ร้องไห้และปรับทุกข์ ที่บ้านและที่สวนบ่อยมาก ทำให้ผู้เขียนที่เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในครอบครัวของเธอไปด้วย ปัญหาของเธอคือ "ลูกสาว"
ผู้เขียนได้รับรู้และเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ เมื่อคนใกล้ชิดเข้าไปช่วยงานที่ "ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรฯ" โดยเข้าร่วมในกลุ่มพูดคุยกับเด็กและสตรีที่ประสบเหตุการกระทำรุนแรงซึ่งจัดขึ้นทุกวันจันทร์ กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระบบ "กลุ่มสนับสนุน" หรือ Group Support เป็นภารกิจสำคัญของทีมสหวิชาชีพ เพื่อเปิดพื้นที่หัวใจให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เรียนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยศิลปะการรับฟังและพูดคุยแบบ "สุนทรียสนทนา" (Dialogue) ทำให้เกิดการเรียนรู้ ให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรี "ผู้ถูกกระทำ"
 
เกือบทุกรายจะมีการติดตามผล ให้คำปรึกษาต่อเนื่องผ่านทางโทรศัพท์ แต่มี "คุณแม่" รายหนึ่งแวะเวียนมาพูดคุย ร้องไห้และปรับทุกข์ ที่บ้านและที่สวนบ่อยมาก ทำให้ผู้เขียนที่เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในครอบครัวของเธอไปด้วย ปัญหาของเธอคือ "ลูกสาว" ซึ่งเป็นลูกคนเดียว เรียนหนังสืออยู่ในระดับมัธยมต้น จากเดิมที่เคยเป็นเด็กเรียนดีแต่ตอนนี้ติดเพื่อน ชอบเที่ยว หนีเรียน เริ่มทะเลาะกับแม่ด้วยคำพูดที่รุนแรง และเมื่อถูกพ่อทำโทษก็หนีออกจากบ้านไปมั่วสุมอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน ห้องเช่าที่เด็ก ๆ เหล่านี้มาอยู่รวมกันมีทุกอย่างที่เป็น "ของต้องห้าม" เหล้า บุหรี่ สิ่งเสพติด วิดีโอโป๊ การพนัน ฯลฯ เป็นเสมือน "หลุมดำ" ที่จะดึงดูดความคิด จิตใจ และจิตวิญญาณของเด็กและเยาวชนให้ตกลงไปในวังวนแห่งความมัวเมา ลุ่มหลง ฉุดกระชากให้ชีวิตตกต่ำอยู่กับพฤติกรรมที่ชั่วร้าย
 
ครั้งแรกที่ได้รับการอธิบายถ่ายทอดเรื่องราวของ "คุณแม่และลูกสาว" ผู้เขียนค่อนข้างปักใจเชื่อว่า เป็นปัญหาการเลี้ยงดูที่ผิดพลาด ขาดการรับรู้ รับฟัง เรื่องราวของเด็ก ๆ ด้วยความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะชีวิตของเขา พ่อแม่เต็มไปด้วยความคาดหวังว่าลูกของตัวจะต้องเรียนดี เรียนเก่ง ต่อสู้ แข่งขัน และเอาชนะลูกคนอื่นได้ การเลี้ยงดูและใช้คำพูดถ่ายทอดเรื่องราวไปสู่ "ลูกสาว" เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ ต้องอย่างนั้น-ต้องอย่างนี้ ห้ามทำสิ่งนี้-ห้ามทำสิ่งนั้น อย่าพูดแบบนั้น-อย่าทำอย่างนี้ ฯลฯ ภาวะของการเลี้ยงดูด้วยความกดดัน ขาดสิ่งผ่อนคลายที่เป็นสายใยรักในครอบครัว ความเครียดที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้นในที่สุดก็มาขาดผึงเอาตอนที่ "ลูกสาว" ย่างเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มพบที่พึ่งทางใจจากลุ่มเพื่อน ผ่อนคลายมากกว่า สนุกสนานกว่า และรู้ใจกันยิ่งกว่า "คนในครอบครัว" ของตนเอง
 
คำแนะนำในช่วงแรกจึงมุ่งตรงไปที่การปรับพฤติกรรมของ "คุณแม่" ให้รู้จักอดทน นิ่งเงียบ รับฟัง เรียนรู้พฤติกรรมของ "ลูกสาว" ควบคู่ไปกับเรียนรู้จิตใจของตัวเอง และค่อย ๆ หาทางพูดคุยด้วยความเข้าใจ ผ่อนคลาย จริงใจ ไม่ตัดสินถูก-ผิด ความพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง ถ้า "สมาชิกในครอบครัว" ไม่เข้าใจ และไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน "ลูกสาว" มองพฤติกรรมของ "คุณแม่" ว่าเป็นความผิดปกติ ไม่ชื่นชม และไม่เชื่อถือเหมือนกับทุก ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว "คุณพ่อ" ก็หาทางออกด้วยการทำงานให้หนักขึ้น ปิดโอกาสรับรู้เรื่องราวในครอบครัวให้น้อยลง โดยมีเหตุผลว่าถ้าให้เข้ามาจัดการ จะต้องเด็ดขาดบังคับให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นก็ตัดพ่อตัดลูกกันไปเลย
 
ความทุกข์ระทมเหมือนไฟสุมขอนที่ค่อย ๆ เผาผลาญจิตใจของทุกคนไปทีละน้อย โดยเฉพาะ "คุณแม่" มีเพียงน้ำตาและคำปลอบโยนจากเพื่อนที่รู้ใจเป็นทางออกในช่วงสั้น ๆ ที่มองอย่างไรก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในอนาคตข้างหน้าของ "ลูกสาว" และครอบครัวตนเอง
 
ในกรณีเช่นนี้ต้องยอมรับด้วยความจริงใจว่า ความพยายามที่จะเข้าถึงจิตใจของ "ลูกสาว" โดยทีมงาน "ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรฯ" เป็นเรื่องที่ทำยากมาก การเรียกตัวหรือติดตามตัวให้มาพูดคุยกันเป็นรูปแบบที่มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือไม่ได้ช่วยสร้างบรรยากาศของการรับรู้ รับฟังด้วยความผ่อนคลาย ไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้เลย และถ้าเผอิญทีมงานขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ คำพูดแสดงอารมณ์ประมาณว่า "สะใจใช่ไหมที่ทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจแบบนี้ ?" โดยมีเป้าหมายกล่าวหา ชี้โทษความผิดไปที่ตัวเด็ก ผลที่เกิดขึ้นกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม คือ กระตุ้นให้เด็กอยากจะถอยหนี ไปให้ห่างจากเรื่องยุ่งยากของพวกผู้ใหญ่ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจเด็ก
 
อาการช็อคของ "คุณแม่" มาถึงที่สุด สับสน มือไม้สั่น เมื่อได้รับแจ้งจากทางโรงเรียนให้ไปพบเพื่อรับทราบว่า จะต้องย้าย "ลูกสาว" ออกไปเรียนที่อื่นเพราะขาดเรียนเกินกว่ากฎเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ "การไล่ออก" อาจจะเป็นบทสรุปของโรงเรียนในการแก้ปัญหา
 
แต่สำหรับ "คุณแม่" ช่วงเวลาที่วิกฤตแบบนั้น เธอต้องการเพื่อนที่รู้ใจ เข้าใจ ให้กำลังใจและความอบอุ่นใจ ชี้แนะทางออกที่เหมาะสมไปตามจังหวะเวลาให้ผ่านไปแต่ละวินาที-นาที-ชั่วโมง จนผ่านพ้นไปอีกวันหนึ่ง อาการของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังจะ "ใจสลาย" เพราะเรื่องราวในครอบครัว นอนไม่หลับทั้งคืน ฟุ้งซ่านไปด้วยความคิดในเรื่องของ "ลูกสาว" และเมื่อได้รับการดูแลจิตใจให้ดีขึ้นจนสามารถหลับสนิทได้แม้เพียงชั่วขณะหนึ่งบนโซฟาที่บ้านของผู้เขียน จึงเป็นภาพที่ประทับใจ และเต็มใจที่เราจะพูดคุยกันด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาเพราะเกรงว่าจะรบกวนให้ "คุณแม่" ตื่นขึ้นมา.
หมายเลขบันทึก: 413076เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2010 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

น่าอ่านมากครับ จะรออ่านตอนต่อไปครับ

อ่านแล้วได้มุมคิดดีๆ ขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณ "ท่านอัยการชาวเกาะ" และ "คุณปู" มาก ๆ ครับ.

สวัสดีครับอาจารย์ สหวิชาชีพโรงพยาบาลต้องทำงานหนักแล้วเรื่องนี้ ถ้าไม่รู้ที่มา รู้ปัญหา รู้สาเหตุ แทนที่จะแก้ไขเยียวยา ก็จะเป็นการเพิ่มปัญหา

ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาบอกกล่าว

คนไม่ใช่เครื่องจักร ต้องการความรัก ความเข้าใจ

  • ขอบคุณ "ท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า" มาก ๆ ครับ สำหรับคำชี้แนะ
  • แต่นี่ละครับคือส่วนหนึ่งของการทำงานด้วย "หัวใจมนุษย์" ไม่สามารถออกแบบองค์กรให้เป็นกลไกอัตโนมัติ จัดวาง "คนทำงาน" ตามสเป็คที่กำหนดไว้ว่า ต้องรู้ที่มา รู้ปัญหา รู้สาเหตุ ฯลฯ ครบถ้วนถูกต้อง 100%
  • เราถึงต้องมี "การจัดการความรู้" เพื่อนำประสบการณ์ของแต่ละคนมาเชื่อมโยง ต่อยอดให้ดีขึ้น ตามทันเวลา สถานที่ บุคคล และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงซับซ้อนหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็น "วิกฤตสังคม" ในทุกวันนี้

สวัสดีครับอาจารย์ไอศูรย์

เป็นเรื่องที่น่าติดตามอ่านมากครับ ผมหวังว่าน้องคนนั้นจะเข้าใจแม่และคุณแม่จะเข้าใจ"ปัญหา"ว่ามันเกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร? จะได้แก้ไขทันท่วงที

ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานของคุณครูครับ...

  • สวัสดีค่ะ
  • สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ ขอให้ คุณไอศูรย์   มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง  สุข สดชื่น สมหวัง ดั่งใจปอง ตลอดปี และตลอดไปนะคะ" 
  • ขอบคุณค่ะ

                                      

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท