บำเหน็จตกทอด


บำเหน็จตกทอด

"บำเหน็จตกทอด"

สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ทางสำนักงานคลังเขต 6 กรมบัญชีกลาง ได้เชิญบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เข้าร่วมประชุม เรื่อง "โครงการกู้เงินกับสถาบันการเงินโดยใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกัน" ณ โรงแรมลาพาโลมา จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎี ได้ออก พ.ร.บ. เกี่ยวกับ "พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2553" ซึ่งมีบทความดังนี้...

พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า "พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2553" มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 ซึ่งสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือ ให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

สำหรับ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2553 ลักษณะ 2/2 การนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงิน...มีรายละเอียดในการการนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินดังนี้...

มาตรา 47/2 ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพอาจนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพได้รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว หากประสงค์จะนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน ให้หักบำเหน็จดำรงชีพออกจากสิทธิในบำเหน็จตกทอดเสียก่อน

มาตรา 47/3 ในกรณีที่ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ ซึ่งได้นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินถึงแก่ความตายหรือผิดสัญญากู้เงินจนต้องบังคับเอากับสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินให้แก่สถาบันการเงินที่ผู้นั้นได้นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินเท่ากับจำนวนที่ถูกบังคับแต่ไม่เกินจำนวนที่นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงิน

การจ่ายเงินให้แก่สถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังจ่ายจากงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการเบิกจ่ายบำเหน็จตกทอด

มาตรา 47/4 ในกรณีที่กระทรวงการคลังได้จ่ายเงินแก่สถาบันการเงินไปแล้วตามมาตรา 47/3 ให้กระทรวงการคลังหักจำนวนเงินนั้นออกจากสิทธิในบำเหน็จตกทอดเท่ากับจำนวนที่จ่ายให้แก่สถาบันการเงิน

ในกรณีที่กระทรวงการคลังไม่อาจหักจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่สถาบันการเงินจากสิทธิในบำเหน็จตกทอดตามวรรคหนึ่งได้ ให้กระทรวงการคลังเรียกเงินคืนจากผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพหรือจากกองมรดกของผู้นั้น แล้วแต่กรณี เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนที่กระทรวงการคลังได้จ่ายให้แก่สถาบันการเงิน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

มาตรา 47/5 ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพผู้ใดได้นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินแล้ว หากภายหลังผู้นั้นกลับเข้ารับราชการใหม่โดยใช้สิทธินับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตอนก่อนออกจากราชการต่อเนื่องกับการรับราชการในตอนหลังตามมาตรา 30 และเมื่อออกจากราชการในครั้งหลังได้เลือกรับบำเหน็จ ให้จ่ายบำเหน็จแก่ผู้นั้นตามสิทธิที่จะได้รับ แต่ต้องไม่เกินจำนวนที่เหลือจากสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงิน โดยให้กระทรวงการคลังกันเงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนดังกล่าวไว้และเมื่อสัญญากู้เงินสิ้นสุดลงโดยไม่มีการบังคับเอากับสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินให้กระทรวงการคลังคืนเงินบำเหน็จที่กันไว้

ในกรณีที่ผู้รับบำเหน็จถึงแก่ความตายหรือสัญญากู้เงินสิ้นสุดลง ถ้ามีการบังคับเอากับสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงิน ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินให้แก่สถาบันการเงิน โดยกระทรวงการคลังมีสิทธิหักจากเงินบำเหน็จที่กันไว้ตามวรรคหนึ่งก่อน ถ้ามีเงินเหลือให้จ่ายคืนแก่ผู้รับบำเหน็จหรือทายาท แล้วแต่กรณี

มาตรา 49/1ภายใต้บังคับมาตรา 49 ในกรณีที่ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพได้นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงิน หากสัญญากู้เงินสิ้นสุดลงโดยไม่มีการบังคับเอากับสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงิน ทายาทมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเต็มตามจำนวนที่มีสิทธิ หากผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพถึงแก่ความตายหรือสัญญากู้เงินสิ้นสุดลงโดยมีการบังคับเอากับสิทธิในบำเหน็จตกทอดที่นำไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงิน ทายาทมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเท่ากับจำนวนที่เหลือหลังจากที่กระทรวงการคลังได้หักจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่สถาบันการเงินออกจากสิทธิในบำเหน็จตกทอดตามมาตรา 47/4 วรรคหนึ่ง

มาตรา 5 ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพซึ่งยังคงมีสิทธิได้รับบำนาญอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธินำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินได้ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ด้วย

สำหรับ เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. (ฉบับที่21) พ.ศ. 2546 บัญญัติให้ผู้รับบำนาญมีสิทธินำบำเหน็จดำรงชีพมาใช้ได้ก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเพื่อให้ผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

แต่การดำเนินการดังกล่าวสามารถช่วยเหลือผู้รับบำนาญได้เพียงบางส่วน และปรากฏว่ายังมีผู้รับบำนาญอีกจำนวนมากที่ได้รับบำนาญรายเดือนในอัตราต่ำทำให้ได้รับบำเหน็จดำรงชีพในอัตราที่ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ

ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้รับบำนาญและจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนอันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอีกทางหนึ่งสมควรกำหนดให้ผู้รับบำนาญสามารถนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน

"ผู้รับบำนาญที่สามารถใช้สิทธิได้ ได้แก่...

1. มีฐานะเป็นผู้รับบำนาญอยู่ในวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ

- ผู้รับบำนาญปกติ (ไม่เป็นสมาชิก กบข.)

สำหรับผู้ที่เห็นสมาชิก กบข. ทางกรมบัญชีกลางจะแจ้ง

ให้ทราบต่อไป...

- ผู้รับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ

2. มีทายาทตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญและหรือผู้ที่ได้แสดง

เจตนารับบำเหน็จตกทอด

3. ยินยอมให้ส่วนราชการผู้เบิกหักบำนาญ (ที่ได้รับในแต่ละเดือน)

เพื่อชำระคืนเงินกู้ให้แก่ธนาคารตามสัญญากู้เงิน

4. ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล

ศึกษารายละเอียด...พระราชบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2553...

ได้ตามไฟล์ด้านล่างนี้...

http://gotoknow.org/file/bussayamas/bussayamas_26.pdf

ผู้เขียนได้เข้าไปศึกษา ความหมายของ "บำเหน็จตกทอด"

ของนางสาววิลลี่ อรราภรณ์ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการพิเศษ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน็ต่อระบบราชการ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่

ให้ผู้สนใจได้รับทราบ...

ศึกษารายละเอียด เรื่อง "บำเหน็จตกทอด" จากไฟล์ด้านล่างนี้...

http://gotoknow.org/file/bussayamas/bussayamas2221.PDF

หมายเลขบันทึก: 408128เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท