11.ทำไม?...(บางที)...คนเก่งจึงทำงาน...(ราชการพลเรือน)...ไม่เก่ง ???...


 

 

 

"ทำไม?...(บางที)...คนเก่งจึงทำงาน...(ราชการพลเรือน)...

ไม่เก่ง  ???..."

 

         ตอบตรง ๆ ได้ว่า  เพราะการทำงานในราชการพลเรือนไม่ต้องการคนเก่ง  หรือไม่ก็แบบทดสอบที่วัดความเก่ง  วัดไม่ได้คนเก่งจริง ๆ ตอบแบบนี้คงเป็นที่ขัดใจของหลาย ๆ คน  จะเป็นไปได้อย่างไรที่การทำงานในราชการพลเรือนไม่ต้องการความเก่ง  แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่ระบบการคัดเลือกของราชการพลเรือนจะวัดไม่ได้คนเก่งจริง ๆ ก็แหม...วัดกันซะขนาดนั้น  เอาละ!...ทีนี้มาแถลงกันทีละประเด็น ๆ กัน...

          ตรงนี้ขออธิบายหลักของการคัดเลือกบุคลากรสักนิดก่อนในการคัดเลือกบุคลากรนั้น  มีส่วนประกอบที่สำคัญ  2  ส่วน  คือ

         1. วิธีการคัดเลือก (หรือเรียกว่าตัวทำนาย (Predictor) และเกณฑ์ (Criterion) โดยทั่วไปเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการคัดเลือกบุคลากร  คือ  ผลการปฏิบัติงาน  เพราะเป้าหมายของการคัดเลือก  ก็คือ  ต้องการได้พนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานดี (เกณฑ์  คือ  สิ่งที่ต้องการจะทราบ)  ส่วนวิธีการคัดเลือก  หรือที่เรียกว่า  ตัวทำนายนั้น  ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหมอดูดวง ที่ทำนายโชคชะตาราศี  แต่หลักของการทำนาย  ก็คือ  หลักของค่าสหสัมพันธ์ทางสถิติต่อกัน  ค่าสหสัมพันธ์ที่ว่านี้  ก็คือ  ถ้าคะแนนจากวิธีการคัดเลือกสูง  เวลาที่มาทำงานแล้วคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงานก็ได้คะแนนสูงด้วย  ถ้าคะแนนจากวิธีการคัดเลือกต่ำ  เวลาที่มาทำงานแล้ว  หัวหน้างานประเมินผลการปฏิบัติงานก็ต่ำด้วย  เช่น  คุณ  ก.  สอบเข้ารับราชการได้คะแนนในการสอบคัดเลือกสูง  หลังจากที่มาทำงานแล้ว  หัวหน้างานประเมินผลการปฏิบัติงานโดยให้คะแนนสูงด้วย  สำหรับคุณ ข. สอบเข้ารับราชการได้คะแนนในการสอบคัดเลือกต่ำกว่าคุณ ก.  เวลาที่มาทำงานแล้ว  หัวหน้างานประเมินผลการปฏิบัติงานโดยให้คะแนนต่ำกว่าคุณ ก.เป็นต้น

          การคัดเลือกบางประเภทใช้หลักค่าสหสัมพันธ์แบบผกผัน  กล่าวคือ  ถ้าคะแนนจากวิธีการคัดเลือกสูง  พบว่าคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงานต่ำ แต่ถ้าคะแนนจากวิธีการคัดเลือกต่ำ  พบว่า  คะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงานสูง  ตัวอย่างของการคัดเลือกแบบนี้  เช่น  แบบวัดความซื่อสัตย์  แบบวัดการควบคุมตนเอง  เป็นต้น  วิธีการคัดเลือก หรือแบบทดสอบที่พบว่ามีค่าสหสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงาน  เราเรียกว่า  วิธีการคัดเลือก  หรือแบบทดสอบนั้น ๆ มีอำนาจในการทำงาน หรือสามารถทำนายผลการปฏิบัติงานได้  ถ้าเช่นนั้น  คงต้องถามก่อนว่า  แล้ววิธีการคัดเลือกหรือแบบทดสอบที่ใช้ในการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนนั้นมีอำนาจในการทำนายผลการปฏิบัติงานหรือไม่

          คำถามนี้ทำให้ต้องอธิบายระบบการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนว่ามีวิธีการคัดเลือกอย่างไรบ้าง  ข้อมูลจากหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งมาด้วยพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1004.1/ว 15 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 กำหนดให้การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนนั้น มีการทดสอบกันถึง  3  ขั้นตอนด้วยกัน  ที่เรียกกันว่า  การสอบภาค ก. (ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป), ภาค ข. (ภาคความรู้เฉพาะตำแหน่ง), และภาค ค. (ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง)

          การสอบความรู้ความสามารถทั่วไป  เป็นการทดสอบความสามารถพื้นฐานที่อ้างอิงจาก ทฤษฎีเชาว์ปัญญาของ Thurstone  ซึ่งอธิบายว่า  เชาวน์ปัญญาของคนเรานั้นประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบด้วยกัน  แบบวัดความรู้ความสามารถทั่วไปวัด 3 องค์ประกอบของเชาวน์ปัญญา ได้แก่  ความสามารถด้านตัวเลข  ด้านภาษา  และการใช้เหตุผล  การสอบภาคความรู้เฉพาะตำแหน่ง  เป็นการวัดความรู้ที่ใช้ในการทำงานของตำแหน่งนั้น ๆ สำหรับภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง  ส่วนราชการสามารถเลือกใช้วิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลายที่จะคัดเลือกให้ได้ผู้ที่เหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งและส่วนราชการนั้น ๆ

          โดยหลักวิชาการแล้วก็เชื่อแน่ว่า  การวัดใน 3 ด้านนี้ก็น่าจะทำให้ราชการพลเรือนได้ข้าราชการทั้งที่เป็นคนเก่ง (ภาค ก. และภาค ข.) และทั้งที่เป็นคนดี (ภาค ค.) ตามที่ต้องการ

          ถ้าหากวิธีการคัดเลือก หรือแบบทดสอบไม่ (น่าจะ) มีปัญหา อีกส่วนหนึ่งที่จะมีปัญหา  คือ  การประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งหัวหน้างานเป็นผู้ประเมินนั้น ประเมินจากผลงานหรือประเมินจากคุณลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลงาน (กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ  การประเมินของหัวหน้างานนั้นเชื่อถือได้หรือเปล่า) ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ๆ ในการคัดเลือกให้ได้ผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดี  ครั้งหนึ่ง ดร.รัชนีวรรณ เคยไปช่วยแนะนำวิธีการสัมภาษณ์ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดคุณลักษณะของผู้สมัครที่น่าจะเป็นข้าราชการที่ดี  ผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า  เขาต้องการข้าราชการที่ “หัวอ่อน” ซึ่งหมายถึง  ผู้ที่หัวหน้าสั่งอะไรก็ทำ ไม่ถาม ไม่โต้แย้งอะไรและเขารู้สึกว่าข้าราชการรุ่นใหม่ “หัวแข็ง” ทำให้มีปัญหาในการบังคับบัญชา

          “หัวอ่อน/หัวแข็ง” เป็นส่วนหนึ่งของผลการปฏิบัติงานหรือเปล่า  “หัวอ่อน/หัวแข็ง” เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับผลงานหรือไม่  ถ้าไม่ใช่คุณลักษณะนี้ก็ไม่มีอำนาจในการทำนายผลการปฏิบัติงาน  แต่ว่าหัวหน้างานโดยทั่วไป  ประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา  หรือว่าหลงเข้าใจผิด  โดยนำเอาคุณลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องมาประเมินด้วย  ตรงนี้เองที่อาจอธิบายว่า  ทำไม  (บางที)  คนเก่งจึงทำงาน (ราชการพลเรือน) ไม่เก่ง (ซึ่งคำตอบที่เป็นไปได้อย่างหนึ่ง  ก็คือ  เพราะหัวหน้างานในราชการพลเรือน  ไม่ได้ต้องการคนทำงานเก่ง  แต่ต้องการคนที่มีคุณลักษณะถูกใจ)

                ที่ใคร ๆ เขาว่า  “เด็ดดอกหญ้าสะเทือนถึงดวงดาว”  แต่ในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล  “การคัดเลือกที่ดีขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ดี”  ถ้าประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ดีก็เลือกพนักงานให้ได้ดีไม่ได้  เพราะหน่วยงานไม่รู้ว่าต้องการจะคัดเลือกคนแบบไหนกันแน่!!!!!!!!...

ที่มา  :  ดร.รัชนีวรรณ  วนิชย์ถนอม  หนังสือกระแสคน  กระแสโลก  สำนักงาน ก.พ.

หน้า  117 – 120  เล่ม  5  กันยายน  2553

(เปิดโลกความรู้  พัฒนาทุนมนุษย์)

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ วันที่  15 – 21  พฤษภาคม 2552

 

 

  

หมายเลขบันทึก: 416800เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2010 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

"....แต่ในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล “การคัดเลือกที่ดีขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ดี” ถ้าประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ดีก็เลือกพนักงานให้ได้ดีไม่ได้ เพราะหน่วยงานไม่รู้ว่าต้องการจะคัดเลือกคนแบบไหนกันแน่".....

ขอแสดงข้อคิดเห็นตามที่ได้พบมาค่ะ (อาจโชคไม่ดีก็ได้ ที่เห็นแล้วไม่ศรัทธาระบบประเมินนักค่ะ)

การคัดเลือกที่ดีจะ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ (+สำนึก) ของคณะกรรมการการประเมินผลด้วย เพราะหลายครั้งที่เคยเห็นคือ หลักการดี นโยบายสวยหรู แต่พอปฏิบัติจริง ก็เอาตัวรอดไม่กล้าประเมินตก หรือปรับปรุง  เพราะหลายคนเป็นคนของใครบางคน และหลายคนก็ทำถูกใจ เรียกง่าย ไม่ใช้ยังคล่อง มองตารู้ใจ ดังนั้นแม้ไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกใจ ก็ผ่านง่ายๆ ในระบบราชการก็เลยมีการสะสมคนประเภทเอาตัวรอด ผลประโยชน์แผ่นดินมาทีหลัง เอาไว้จำนวนหนึ่ง

ทำให้ราชการบางแห่งจึงมีลักษณะ เช้าชาม... หรือ มือใครยาว... หรือ ที...ไม่ว่า ที...ก็ขอกอบโกยบ้าง ศักดิ์ศรีข้าราชการที่เคยปฎิญาณแล้วปฎิญาณอีก หายไปหมด แต่คนที่ดีก็ยังคงมีอยู่ เขาก็คงครองตนด้วยศักดิ์ศรีที่มีในสกุล (และไม่ทุกข์ เพราะไม่ต้องทำในสิ่งที่ขัดกับมโนธรรม)

เคยมีผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่เกษียณแล้วเคยบอกฝากไว้ค่ะว่า "การรับคนผิดเข้าทำงาน การสนับสนุนคนที่ทำไม่ถูกต้อง ก็เป็นการคอรัปชันเช่นกัน" ให้คิดถึงข้อนี้ด้วย

และหลายครั้งที่สังคมเรายกย่องเปลือกที่เห็น มากกว่าตัวตนที่เป็น คนที่มีแต่เปลือก(ไม่มีแก่น) จึงได้รับการชื่นชม ซึ่งเป็นอันตรายยิ่งโดยเฉพาะหากเขาผู้นั้นเป็นผู้บริหารองค์กร

ดังนั้นหากจะได้อะไรที่ดี คนวัด คนประเมินต้องดีและมีคุณธรรม เพราะ "ไม้บรรทัดคด ขีดเส้นตรงไม่ได้" ค่ะ

"ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ”  

พระราโชวาทแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก " 

 

 

สวัสดีค่ะ...Ico32...

  • เป็นธรรมดาค่ะ มีคนดี ย่อมมีคนไม่ดีปะปนกันค่ะ...
  • มีคนที่มีคุณธรรม ก็ย่อมมีคนที่ไม่มีคุณธรรมค่ะ...
  • สังคม หรือองค์กรจะให้สมบูรณ์แบบนั้นยาก ตามความเป็นจริง
  • แต่ก็ขึ้นอยู่กับจิตใต้สำนึกจริง ๆ ของคนค่ะ ที่จะทำให้การกระทำออกมาในลักษณะของคนมีคุณธรรม...
  • ตามที่คุณบอกมีเยอะมากค่ะในระบบราชการไทย
  • แต่ขึ้นอยู่กับคำว่า "ข้าราชการ" เป็น ข้าของแผ่นดินมากน้อยเพียงใด  ใหม่ ๆ ก็ได้อยู่...แต่พออยู่ไป ๆ ไหงกลายไม่ใช่ก็ไม่ทราบ
  • เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. ยังเคยบอกว่า ทำไมตอนแรกสอบบรรจุ ในครั้งสัมภาษณ์ (ความอยากที่จะเป็นข้าราชการ อะไร ๆ ก็ดีหมด) แต่พอบรรจุไปได้แล้วกลับเปลี่ยนไปเสียนี่...นี่แหล่ะหนอ "มนุษย์" เวลา...ทำให้ไร้จิตสำนึกต่อจรรยาบรรณในวิชาชีพของตนเองค่ะ...
  • ขอเพียงเราตั้งใจทำความดี ไม่คิดสร้างสิ่งไม่ดีก็เป็นพอค่ะ...
  • ขอบคุณที่แวะมาค่ะ...
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ...

สวัสดีค่ะพี่บุษยมาศ

ไม่แน่ใจว่าทั้งหมดมวล เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับแนวคิด ระบบอุปถัมถ์

อิงยึด อำนาจ ไว้ในมือ เส้นสาย พวกมากลากไป น่าเศร้าใจนะคะ๕ ๕

หากแต่คาดว่ายุคนี้ นิมิตหมายดีๆ คงได้เริ่มปรับเปลี่ยน มุมความคิด ใหม่ๆ

กันบ้างแล้วค่ะ รอการเมืองปีหน้า เอ แล้วทำไมต้องอิงการเมือง อีกแล้ว :)

ส่งกำลังใจ ส่งท้ายปีเสือดุ ต้อนรับปีกระต่าย ได้สมหวังดั่งใจ นะคะ

สวัสดีค่ะIco32

ขอบคุณข้อมูลที่นำมาฝากกันค่ะ ได้ความรู้มากค่ะ

 

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

แวะมาส่งความสุขค่ะ

คนเรียนเก่งบางคนทำงานกับคนบางคนไม่ได้

เพราะไม่ชอบเข้าสังคม ไม่เอาใคร

ไม่ยอมรับฟังใครก็คิดว่าตัวเองเก่ง...คนเดียวไงค่ะ                  

พื้นฐานด้านความเป็นคนไม่เหมือนกันค่ะ

                                  

                                   มีความสุขทุกๆวันนะค่ะ

สวัสดีค่ะ...น้อง poo...Ico32...

  • ความจริงแล้วคนเราถ้ารู้จริง ๆ แล้วนำไปปฏิบัติ แยกแยะเรื่องงาน เรื่องความรู้สึกส่วนตัว ให้ออก...พี่เชื่อนะว่า  ประเทศไทยคงพัฒนาไปได้มากกว่านี้น่ะ...
  • แต่ที่เห็น ๆ มา บางครั้ง พี่ก็แทบไม่อยากเชื่อว่าระบบแบบที่น้องว่ายังมีอยู่ เพราะอย่าลืมว่าระบบเดิมเราใช้ระบบอุปถัมภ์มาตั้งแต่แรก จะให้คายออกน่ะ มันค่อนข้างยากจ้า...ต้องเข้าใจ...5555555...(ไม่พูดแล้ว)...อิอิอิ...เดี๋ยวโดน...
  • เมื่อระบบใหม่เข้ามา พี่ว่าก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีน่ะ...แต่ขออย่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ก็แล้วกัน...55555555555...
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ...

สวัสดีค่ะ...ครูอัญชลี...Ico32...

  • ขอบคุณค่ะ...
  • คนเก่งปัจจุบันกับคนในยุคก่อนไม่เหมือนกันแล้วค่ะ  ยุคปัจจุบันจะวัดด้วย Competency + skill + Knowledge ค่ะ...ถ้าไม่เก่งตรงไหนก็ควรปิด Gap แล้วเติมสิ่งที่ต้องการให้เขาไปค่ะ...เรียกว่า วัดความสามารถจริง ๆ ไม่เหมือนแต่ก่อนค่ะ...วัดอะไรไม่ได้เลย...555555555...
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ...

สวัสดีค่ะ...คุณยาย...Ico32...

  • ขอบคุณค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท