พิษประชานิยมปี 51 ค้างจ่ายอื้อก่อหนี้ 1.4 แสนล.


พิษประชานิยมปี 51 ค้างจ่ายอื้อก่อหนี้ 1.4 แสนล.
คลังปิดทางหมกเม็ดเงินนอกงบประมาณใช้โครงการประชานิยม เตรียมดันระบบเตือนภัยการคลังใช้ในอนาคต "ฉลองภพ" ชี้หน่วยงานรัฐชอบตั้งองค์กรใหม่เลี่ยงใช้งบโดยตรง "สมชัย" ระบุปี 51 หนี้ค้างจ่ายของรัฐทะลุ 1.4 แสนล้าน เพิ่มจากปี 50 เกือบแสนล้าน แถมทำหนี้เสียแบงก์รัฐพุ่ง ฟากคลังระบุหน่วยราชการเบิกจ่ายกระฉูด งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นกว่า 20,000%นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เรื่องความโปร่งใสทางการคลังว่า ในช่วงหลังโดยเฉพาะรัฐบาลที่ผ่านมามีการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ มากขึ้น อาทิ การใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือวิธีทางการเงินใหม่ ๆ ทำให้ภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นไม่ปรากฏในระบบงบประมาณ หรือระบบการคลังของภาครัฐตามปกติ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า อาจจะตามสถานการณ์ที่แท้จริงไม่ทันจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ไม่ทันการณ์   ทั้งนี้ จึงต้องการให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลภาระทางการคลังที่ครบถ้วนโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานภายนอกสามารถร่วมตรวจสอบ รวมไปถึงการจัดทำระบบเตือนภัยทางการคลังได้  "ในอนาคตรัฐบาลต่อ ๆ ไปเข้ามาบริหารประเทศ ก็แน่นอนว่าจะมีโครงการที่ช่วยประชาชน โดยโครงการประชานิยมถือว่าดี ตราบใดที่ไม่มีความเสี่ยงต่อวิกฤติทางการคลังของประเทศ ซึ่งจะต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนและต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้คนภายนอกเข้าถึง สามารถนำไปวิเคราะห์ความเสี่ยง เหมือนระบบเตือนภัยทางการคลังในอนาคต เราจะได้รู้ว่าไฟเหลืองแล้ว หรือไฟแดงแล้วหรือยัง?"นายฉลองภพกล่าวว่า ที่ผ่านมากระบวนการตัดสินใจในระดับนโยบายบางครั้งยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการตัดสินใจอนุมัติโครงการต่าง ๆ ของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งในทุก ๆ สัปดาห์จะมีเรื่องการสร้างภาระทางการคลังในอนาคตเกิดขึ้นเป็นประจำ  ทั้งนี้ เห็นว่าจะสร้างปัญหาให้กลายเป็นภาระทางการคลังไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญก็คือ การตัดสินใจของ ครม. เป็นการตัดสินใจระดับจุลภาค (Micro) โดยไม่มีกรอบข้อมูลระดับมหภาค (Macro) ประกอบการตัดสินใจ โดยในอนาคตเมื่อสร้างภาระขึ้นมาก  ก็จะนำไปสู่การขึ้นภาษี  "ณ วันนี้ หน่วยงานต่าง ๆ มักต้องการความคล่องตัวด้านการเงิน บางอย่างก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการ เพราะว่าอยากมีความคล่องตัวทางการเงิน เช่น การขอตั้งองค์การมหาชน การตั้งกองทุน แล้วมีการขอสิทธิพิเศษทางภาษี หรือขอมีงบประมาณผูกพัน เป็นต้น  ทุกอาทิตย์มีแบบนี้เป็นประจำ  คือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการออกนอกการควบคุม ซึ่งก็จำเป็น แต่ถ้าทำกันตลอด ออกนอกระบบที่คุมเข้มกันหมด โอกาสที่จะดูแลความยั่งยืนทางการคลังก็น้อยลง" นายฉลองภพกล่าวสำหรับลักษณะที่เป็นภาระการคลังนอกงบประมาณ เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ที่มักจะเลี่ยงกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์โครงการว่ามีความคุ้มค่าเพียงใด การตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) อาทิ กรณีการสร้างศูนย์ราชการกรุงเทพ เป็นต้น ซึ่งเหมือนเป็นการมัดมือชกให้ต้องมีการตั้งงบประมาณผูกพันให้ 30 ปี โครงการการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ต่ำเกินจริง แต่มีข้อกฎหมาย   ให้ต้องใช้เงิน สุดท้ายจึงมาดึงเงินคงคลัง แต่เงินคงคลังที่ใช้ได้ในวันนี้เกือบไม่มีแล้ว   อย่างไรก็ดี ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ได้มีการให้ความสำคัญกับวินัยการคลังเอาไว้ อาทิ ในมาตรา 167 และมาตรา 169 เป็นต้นนายสมชัย  จิตสุชน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดกันว่า ระบบการคลังของไทย ไม่ใหญ่ เนื่องจากไม่ได้รวมเงินนอกงบประมาณเอาไว้ด้วย โดยการนำนโยบายประชานิยมมาใช้ทำให้เกิดภาระสูงขึ้น และแม้แต่ในการจัดสรรงบประมาณก็พบว่า ภาระหนี้ค้างจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี 2551 อยู่ที่ 1.46 แสนล้านบาท จากที่ปี 2550 อยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่การจัดสรรงบกลาง       ก็เพิ่มขึ้นตลอด จากไม่เกิน 10% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด เป็น 20% ส่วนการใช้นโยบายกึ่งการคลัง    ผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็ทำให้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้  (NPL)  ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจโดยรวมเพิ่มขึ้น สวนทางกับเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลงเรื่อย ๆ  นอกจากนี้  ในเรื่องกระบวนการจัดการสินทรัพย์ของภาครัฐ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เป็นต้น   ก็ยังไม่มีความโปร่งใสทางด้านข้อมูลด้วยเช่นกันนางบุณฑรีก์ โฆษิตานุฤทธิ์ กลุ่มงานบริหารความเสี่ยงด้านการคลัง สศค. กล่าวว่า ภาระการคลังจากกิจกรรมนอกงบประมาณ แบ่งได้เบื้องต้น 5 ส่วนคือ 1.กองทุนนอกงบประมาณ 2.การร่วมทุนระหว่างภาครัฐ  และเอกชน (PPP) และการตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV)  3.กิจกรรมกึ่งการคลังผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ   4.กองทุนและสถาบันการเงิน และ 5.รัฐวิสาหกิจ โดยในส่วนกองทุนนอกงบประมาณ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายสมทบประมาณปีละ 2.2 หมื่นล้านบาท กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  รัฐบาลต้องจ่ายสมทบทุกปี และมีแนวโน้มค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น จากปี 2551 อยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น   1.08 แสนล้านบาทในปี 2552  กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รัฐบาลจะจ่ายหนี้ครบในปี 2552   โดยปี 2551    มีภาระต้องจ่าย 1.1 หมื่นล้านบาท  ปี 2552 จ่าย 6.7 พันล้านบาท  ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอ้อยและน้ำตาล  สศค.วิเคราะห์ว่า จะไม่เป็นภาระทางการคลัง เนื่องจากมีรายได้เข้าด้วยนางบุณฑรีก์กล่าวอีกว่า ในส่วนของ PPP และ SPV นั้น ได้แก่ โครงการศูนย์ราชการฯ จะเป็นภาระผูกพัน เนื่องจากมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ 2.4 หมื่นล้านบาท และกรมธนารักษ์ต้องตั้งงบประมาณเป็นค่าเช่า 30 ปี อีก 5.8 หมื่นล้านบาท และการทำซีเคียวริไทเซชั่น ต้นทุนสูงกว่าการที่รัฐบาลกู้เงินเอง 0.6%  ขณะที่โครงการ  ทางด่วนสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ในปีที่ต้องโอนทรัพย์สินให้แก่รัฐตามสัญญา เช่นเดียวกับโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ที่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านบาท  ในส่วนกิจกรรมกึ่งการคลังที่ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  เช่น โครงการธนาคารประชาชน โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น  ถ้าโครงการเกิดเป็นเอ็นพีแอลจนกระทบฐานะของธนาคาร สุดท้ายกระทรวงการคลังก็ต้องใช้งบประมาณเพิ่มทุน โดยระหว่างปี 2551-2554 จะมีการเพิ่มทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท   ส่วนกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 วิเคราะห์ว่าไม่เป็นภาระทางการคลัง ส่วนกรณีของรัฐวิสาหกิจนั้นในอดีตรัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณให้แก่รัฐวิสาหกิจทุกปี แต่ในปี  2550 มีการอุดหนุนมากกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากนโยบายที่จะชำระหนี้คงค้างต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยพบว่า มีการจัดสรรมากถึง  7.9  หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เฉลี่ยเพียงปีละ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้นนายสมชัย  สัจจพงษ์  ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 50 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ 103,990 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดดุลเงินงบประมาณ 32,209.20 ล้านบาท คิดเป็น 222.9% และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 85,712 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจ่ายเงินเหลื่อมจ่ายจากปีงบประมาณ 2549  จำนวน 38,952 ล้านบาท ทำให้ดุลการคลัง (ดุลเงินสด) ขาดดุลทั้งสิ้น 189,702 ล้านบาท จากปีก่อนที่เกินดุล 885.08 ล้านบาท หรือขาดดุลมากขึ้นถึง 21,533.3% สูงกว่าเป้าหมายทั้งปีที่คาดว่าจะขาดดุล  146,200 ล้านบาท โดยรัฐบาลชดเชยการขาดดุลด้วยการใช้เงินคงคลัง 46,042 ล้านบาท การออกพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 97,115 ล้านบาท และการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 46,545 ล้านบาททั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกรัฐบาลมีรายได้ 1,050,754 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 5.9% โดยรายได้ที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนในอัตราสูงที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเบียร์ ภาษียาสูบ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีสุรา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเครื่องดื่ม  นอกจากนี้รายได้จากรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่น (รายได้จากส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล) ก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน ขณะที่การเบิกจ่าย มีจำนวน 1,154,744  ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 12.7% แบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,065,212  ล้านบาท อัตราการเบิกจ่ายคิดเป็น 68.0% ของวงเงินงบประมาณ 1,566,200 ล้านบาท และรายจ่ายปีก่อน 89,532 ล้านบาท นายสมชัยกล่าวด้วยว่า เฉพาะในเดือน มิ.ย.50 รัฐบาลมีรายได้ 249,972 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 16.4% และมีการเบิกจ่าย 164,381 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 40.1% ส่งผลให้เกินดุลเงินงบประมาณ 85,591 ล้านบาท   ส่วนดุลเงินนอกงบประมาณขาดดุล 31,180 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจ่ายเงินอุดหนุนที่เหลื่อมจ่าย  จากเดือนที่แล้วให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 9,459 ล้านบาท และการถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บแทน  อปท.  อีก 4,357 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดเกินดุล 54,411 ล้านบาท  "ในเดือน มิ.ย.50 แม้ว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจะเร่งตัวขึ้นมาก แต่รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังเพิ่มขึ้นจากภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2549 ส่งผลให้ดุลเงินสดเกินดุล 54,411 ล้านบาท    ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.49-มิ.ย.50) รัฐบาลขาดดุลเงินสดทั้งสิ้น 189,702 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลชดเชยการขาดดุลโดยการใช้เงินคงคลัง 46,042 ล้านบาท  การออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 97,115 ล้านบาท และการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 46,545 ล้านบาท ทั้งนี้ การขาดดุลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของนโยบายการคลังในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่เหมาะสม" นายสมชัยกล่าวที่รัฐสภา นายอรรคพล สรสุชาติ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 แถลงภายหลังการประชุมว่า จนถึงขณะนี้ได้มีการปรับลดงบประมาณไปแล้ว 137 ล้านบาท และได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดทำข้อมูลรายละเอียด และทบทวนปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายใน 6 ส่วนคือ 1.การก่อสร้างอาคารบ้านพักข้าราชการ  2.การจัดซื้อยานพาหนะ (รถยนต์)     3.การอบรมสัมมนา ประชาสัมพันธ์   4.การจัดหาคอมพิวเตอร์   5.เงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากร  และที่ปรึกษาขององค์การมหาชน และ 6.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ จัดซื้อยานพาหนะ ซื้อคอมพิวเตอร์ ซึ่งการตั้งงบประมาณปี 2551 อิงตัวเลข  35.50  บาทต่อดอลลาร์   ขณะที่ค่าเงินบาทปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาทกว่า จึงทำให้มีส่วนต่างของงบประมาณโฆษกกรรมาธิการฯ แถลงว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาที่อยู่ในหลายกระทรวงมีความซ้ำซ้อนอยู่มาก อาทิ งบศูนย์เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน ขณะที่ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นกลุ่มเดียวกัน  จึงให้สำนักงบประมาณไปรวบรวมรายละเอียดทั้งหมด เชื่อว่าสามารถปรับลดลงได้มากกว่านี้  "ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้ดูงบประมาณอย่างถี่ถ้วน ฝ่ายประจำทำมาอย่างไรรัฐมนตรีก็ปล่อยผ่าน โดยไม่ได้ดูความซ้ำซ้อน หรือวัดผลผลิตเท่าที่ควร จึงทำให้บางหน่วยงานบางกระทรวงจัดงบประมาณซ้ำซ้อน ไปกองรวมกันในยุทธศาสตร์เดียวกัน เพื่อให้ดูดีเท่านั้น" นายอรรคพลกล่าวโฆษก กมธ. วิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบฯ กล่าวด้วยว่า  ในส่วนการพิจารณางบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กมธ. ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดงานพืชสวนโลกที่มีการใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท แต่ปรากฏว่าขณะนี้กลับปล่อยให้พื้นที่ดังกล่าวทิ้งร้างโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไร แม้ว่าทางกรมวิชาการชี้แจงว่า ครม. มีมติให้โอนการบริหารพื้นที่ดังกล่าวไปให้มูลนิธิก็ตาม ซึ่ง กมธ. จึงขอให้ทำเรื่องเป็นกรณีศึกษาด้วย นอกจากนี้ในส่วนโครงการโคล้านตัวที่รัฐบาลมีมติให้ยุติโครงการ  และในปี 51 ไม่มีการจัดงบให้นั้น พบว่ายังมีโคเหลืออยู่ 2 หมื่นกว่าตัว  จึงฝากให้ติดตามว่าจะดำเนินการในส่วนโคที่เหลืออยู่อย่างไร

ไทยโพสต์  คม ชัด ลึก  17  ก.ค.  50

คำสำคัญ (Tags): #การคลัง
หมายเลขบันทึก: 112193เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2007 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท