สมัคร-เลี้ยบเมินหวยแพงป้องยี่ปั๊วแฉผู้ว่าฯ มีโควตา


สมัคร" ไม่สนชาวบ้านซื้อหวยแพง โบ้ย "ระบบซื้อขาด" ทำพิษ "หมอเลี้ยบ" ชี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ "ไวพจน์" ยันการเมืองไม่เกี่ยว ขณะที่ ผลวิจัยหวย ชี้ชัด นักการเมือง-ขรก. อิ่มหมีพีมัน เผยผู้ว่าฯฟาดกว่า 1 แสนเล่ม ด้าน ส.ว.     เล็งตั้งกรรมาธิการสกัดนายทุนค้าทาสโควตาหวย

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังประสานเสียง ไม่ให้น้ำหนักการที่ประชาชนเดือดร้อนเพราะต้องซื้อลอตเตอรี่ราคาแพงกว่าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนด อ้างว่าเป็นกลไกในการรับประกันการขายสลากที่ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รับซื้อโดยไม่มีการคืน ทำให้สุดท้ายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีราคาแพงกว่าคู่ละ 80 บาท 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์เรื่องการกระจายสลากกินแบ่งรัฐบาลไปให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องว่า เนื่องจากระบบของเราเป็นระบบขายหมด โดยมียี่ปั๊วเข้ามารับหน้าที่ไปขาย ผู้ค้ารายย่อยจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบกรณีที่ขายไม่หมด รางวัล     ก็จะได้รับครบตามราคาที่ตกลงไว้ จึงทำให้ผู้ค้ารายย่อยต้องซื้อเกินราคา 80 บาท เลยต้องขายแพงกว่าราคาจริง    เรื่องแบบนี้ถ้าเราไม่อยากให้คนเล่นการพนันก็เฉย ๆ เสียบ้าง อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจแทน เพราะระบบเป็นอย่างนี้      ก็ต้องแบ่งเป็นโควตาให้ผู้ค้ารายย่อย ก็ทำอยู่แล้ว โดยจะต้องซื้อเป็นเงินสด และถ้าเป็นไปได้  ต่อไปนี้ก็จะมีการแบ่งโควตาจากบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว มาให้ผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น โดยไม่ต้องพิมพ์จำนวนสลากเพิ่ม แต่ต้องเป็นการขายขาด      นายสมัครกล่าว 

ส่วนข้อเสนอให้พิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคานั้น นายสมัครกล่าวว่า ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ควรจะเป็นคนคิด ไม่ใช่ตน เพราะมีรายละเอียดมากกว่า 

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบในรายละเอียด แต่หากมีการเสนอจริง ต้องพิจารณาเหตุผลว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และสาเหตุของการขอพิมพ์ลอตเตอรี่นั้น เกิดจากจำนวนที่พิมพ์อยู่เดิม

น้อยเกินไปจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคและนำไปสู่การขายลอตเตอรี่เกินราคา หรือยังมีเหตุผลอื่นร่วมด้วย เช่น กลุ่มยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ต้องการกำไรและขายแพงเอง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้ครบถ้วนทั้งระบบ 
"ต้องพิจารณาเหตุผลทั้งระบบประกอบการขอพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่ม ว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และหากพิมพ์เพิ่มแล้วจะแก้ปัญหาขายเกินราคาได้จริงหรือไม่ ผมจะพิจารณาสาเหตุของปัญหาเป็นหลัก ซึ่งปัญหานี้ก็มีมานาน และการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่าการแก้ปัญหาก่อนหน้านี้มีความจริงจังแค่ไหน" นพ.สุรพงษ์กล่าว

พ.ต.ท.ไวพจน์อาภรณ์รัตน์ เลขานุการ รมว.มหาดไทย และอดีตเลขานุการ รมช.การคลัง (นายวราเทพ รัตนากร) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาแพง ว่า ในยุคที่นายวราเทพเป็น รมช.การคลัง และดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น จะพบว่านายวราเทพแก้ปัญหานี้ได้ แม้ช่วงนั้นหวยบนดินจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม       โดยช่วงนั้นราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลขายกันที่ 80 บาท เพราะนายวราเทพใช้วิธีเชิญผู้ค้ามาร่วมหารือและขอความร่วมมือกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี วิธีการแก้ปัญหาราคาสลากแพงนั้นละเอียดอ่อน ต้องค่อย ๆ ใช้เวลาแก้ไข และเน้นการหารือกับผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ยุคนั้นนายวราเทพแก้ไขได้เพราะนำโควตาสลากประมาณ  45 ล้านใบ จากส่วนต่าง ๆ มากระจายให้ทุกจังหวัด แต่บางส่วนก็ดึงมาไม่ได้ เพราะเป็นโควตาของมูลนิธิคนพิการ  หรือสมาคมต่าง ๆ ที่ขอไว้เพื่อเป็นวิธีหาเลี้ยงดำรงชีวิต ซึ่งตอนนั้นนายวราเทพต้องยินยอม โดยให้ผู้ค้าลสากไปจับสลากเพื่อขอรับโควตา 

ส่วนที่มีการระบุว่า นักการเมืองไปแสวงหาผลประโยชน์จากเรื่องโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น พ.ต.ท.ไวพจน์ยืนยันว่า ไม่มีทาง หากสมัยนั้นนักการเมืองไปหากินในเรื่องนี้จริง ราคาสลากในยุคนั้นต้องแพงกว่านี้ นายวราเทพแก้ไขเรื่องนี้จนสำเร็จ และสลากกินแบ่งรัฐบาลก็กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

แหล่งข่าวในกองบัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวถึงการจับกุมผู้ค้าสลากเกินราคาว่า ตำรวจทุกนายสามารถจับกุมผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จราจร เจ้าหน้าที่ธุรการ หรือสายงานด้านอื่น ๆ ก็ตาม เมื่อมีผู้เสียหายมาแจ้ง หรือชี้ให้จับกุม ก็ต้องจับกุม หากไม่จับกุมถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "เหตุที่ตำรวจไม่กวดขันจับกุมผู้ค้าสลากที่ขายเกินราคา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่อยากไปขูดรีดรังแก     คนหาเช้ากินค่ำ ความจริงแล้วคนพวกนี้เป็นคนทำมาหากินทั้งนั้น หากไปจับกุมจะถูกตราหน้าว่าเป็นตำรวจที่ไร้มนุษยธรรม ที่มาไล่จับของตาย" แหล่งข่าวกล่าวและว่า ปัญหานี้เรื้อรังมานาน แม้แต่ตำรวจซื้อเองยังต้องซื้อในราคา 100-120 บาท

ด้านนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สายผู้พิการ กล่าวถึงปัญหาการหาผลประโยชน์ของนักการเมืองในกองสลากว่า การหาผลประโยชน์จากการขายสลากของนักการเมือง นักธุรกิจ มีมานานจนกลายเป็นเรื่องปกติ ที่เป็นเช่นนี้เพราะนโยบายรัฐมุ่งหน้าที่จะใช้สลากหาเงินเข้ารัฐมากเกินไป จึงพยายามขายสลากออกไปให้ได้มากที่สุด แต่ไม่คำนึงถึงว่าระหว่างทางนั้นมีการปั่นราคา เก็งกำไรกันของนายทุนและนักการเมืองทุกงวด ขณะที่ผู้พิการหรือผู้ค้ารายย่อยกลายเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยงมาตลอด

นายมณเฑียรกล่าวต่อว่า รายที่มีโควตาก็ต้องใช้เงินหลายหมื่นบาทเพื่อไปรับสลากทุก ๆ งวด หากรายใด      สายป่านไม่ยาวพอก็ต้องนำโควตาไปจำนอง ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของรัฐหรือไม่ก็ตาม แต่สุดท้ายโควตาทั้งหมด

ก็ตก
อยู่ในมือของผู้มีอันจะกิน นายทุนที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบและเครือข่ายนักการเมือง แต่ที่โหดเหี้ยมกว่านั้นคือ  พวกนายทุนไปหลอกคนพิการในต่างจังหวัด โดยให้เงิน
500 บาท แล้วรับเข้ากรุงเทพฯ มาใช้โควตารับสลาก แต่โควตาทั้งหมดกลับอยู่ในมือนายทุน ไม่ใช่คนพิการเหล่านั้น เป็นการหากินบนความทุกข์ยากของคน ไม่ต่างกับการค้าทาสในสมัยอดีต 

ผู้ที่เข้ามาอยู่ในอำนาจรัฐทุกยุคทุกสมัยต่างมองเห็นผลประโยชน์ส่วนนี้จึงเข้ามาหากิน มีการฮั้วกันระหว่างข้าราชการ นักการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรัฐและกองสลากเอง เปิดช่องโหว่ให้มีการปั่นราคา เก็งกำไรกัน     โดยไม่ต้องรับความเสี่ยง ไม่มีมาตรการป้องกันใด ๆ  ขณะที่ผู้พิการต้องเผชิญกับสัญญาทาส คนภายนอกอาจจะเห็นว่าเป็นสวัสดิการ แต่ความจริงคือสวัสดิการของทาส ในฐานะที่เป็น ส.ว.จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทำเรื่องหวยอย่างจริงจัง โดยต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนปรัชญาของรัฐและกองสลากไม่ให้มุ่งหน้าหาเงินจากคนจนอย่างเดียว โดย      ไม่คำนึงว่าสุดท้ายคนกลุ่มเดียวที่ได้ผลประโยชน์ นายมณเฑียร กล่าว 

นายจุติไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และ รมช.การคลัง (เงา) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่ม 4 ล้านใบ เพื่อแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคาว่า การที่รัฐบาลอ้างเหตุอุปสงค์ อุปทาน และจะออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ค้าปลีกขายเกินราคาและแก้ปัญหาหวยใต้ดินนั้น ไม่แน่ใจว่า จะเป็นการอำพรางวิธีการหาเงินเข้ารัฐหรือไม่ เพราะปัจจุบันมาตรการลดหย่อนภาษีของรัฐเพื่อกระตุ้นรายได้เศรษฐกิจวันนี้  รัฐสูญรายได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท ก็ต้องพยายามหาทางที่จะนำเงินรายได้เพิ่ม  "ผมตั้งข้อสังเกตว่า        เป็นการนำเหตุนี้ขึ้นมาอ้างหรือไม่ แต่คงไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะความจริงแล้วกระทรวงการคลังแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าต้นทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลราคาเท่าไร ใครได้บ้าง และถ้าจงใจปล่อยปละละเลยให้ขายเกินราคาสูงถึง 120 บาท ก็ถือว่ารัฐมนตรีทั้งสามไม่สมควรทำงานที่กระทรวงการคลังอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้ประหลาดใจเท่าไร และ อยากถาม นพ.สุรพงษ์ บริหารงานแบบลองผิดลองถูกหรือไม่" นายจุติกล่าว

นายจุติกล่าวด้วยว่า จะจับตาดูว่าใครบ้างที่รวยจากตรงนี้ ทำไมถึงปล่อยปละละเลย แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้ประชาชนติดหวยใต้ดินงอมแงม เพราะเป็นอบายมุข แต่วันนี้สะท้อนให้เห็นอย่างเดียวว่า สลากกินแบ่งรัฐบาล  เป็นความหวังของคนจน ปัจจุบันกำลังซื้อก็ลด รายได้ก็ลด รายจ่ายเพิ่ม และยังมีเรื่องสลาก เรื่องหวยอีก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบริหารงานของกระทรวงการคลัง ความจริงเรื่องนี้เป็นรายได้ที่กระทรวงการคลังน่าจะดูแลได้ดี แต่ไม่สามารถควบคุมได้ รัฐมนตรีน่าจะพิจารณาตัวเอง  ที่ผ่านมาหลายรัฐบาล เช่น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ใช้การเมืองนำการค้า แต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้เศรษฐกิจนำการเมือง  ส่วนยุคของ นพ.สุรพงษ์      ใช้อบายมุขกระตุ้นเศรษฐกิจ 

หลังจากคม ชัด ลึก เปิดเผยข้อมูลช่องทางการแสวงหาผลประโยชน์จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของเหล่านักการเมืองและเครือข่ายที่ใกล้ชิดนักการเมืองปรากฏว่า มีข้อมูลที่สอดคล้องกับผลการศึกษาของคณะทำงานพิจารณาศึกษาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาที่ควบคุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ซึ่งถูกนำเสนอเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 

ผลการศึกษาสถานการณ์ด้านต่าง ๆ ของสลากกินแบ่งรัฐบาล พบว่า ด้านธุรกิจ ปัจจุบันมีสภาพเป็นธุรกิจผูกขาด มีการจำกัดปริมาณการขาย มีผลกระทบอย่างสำคัญ ทำให้ราคาสลากสูงขึ้น ด้านตลาดการจำหน่าย พบว่า

กลุ่มนายทุน หรือผู้จัดหาเงินทุนมาออกสลากได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการลงทุนมาดำเนินการในลักษณะเพิ่มมูลค่าของสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยการจัดเป็นชุดหมายเลขเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้มีการกระจุกตัวของหมายเลขจำนวนหนึ่ง และปริมาณความต้องการซื้อมากกว่าปริมาณความต้องการขาย
(ดีมานด์มากกว่าซัพพลาย)

ส่วนด้านการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นพบว่า สำนักงานสลากฯ ได้จัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่นิติบุคคล หน่วยงาน และองค์กร สมาคมต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับโควตาบางส่วนมิได้เป็นผู้จำหน่ายโดยตรง นำสลากไปขายยกเล่ม หรือขายโควตาให้กลุ่มนายทุน ทำให้เกิดตลาดรอง มีการนำสลากไปจัดชุดหมายเลข ทำให้ราคาต้นทุนการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลสูงขึ้น 

เรื่องการจัดสรรโควตาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นพบว่า ก่อนปี 2544 มีลักษณะที่เป็นแบบอุปถัมภ์และมีการสืบทอดโควตาทางสายเลือดได้ โดยที่รัฐจัดสรรโควตาส่วนใหญ่ให้แก่นิติบุคคลน้อยราย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนสมาคมและมูลนิธิที่ทำงานด้านสาธารณกุศล  ส่วนโควตาจำนวนน้อยมอบให้กลุ่มคนพิการและ    ผู้มีรายได้น้อย  ระบบการจัดสรรโควตาแบบนี้ทำให้ธุรกิจเอกชนจำนวนน้อยราย นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (ทั้งพลเรือนและทหาร) ได้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ในรูปของ ค่าเช่า หรือการกินหัวคิวไป  ส่วนผู้ค้ารายย่อยและผู้บริโภคสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้แบกรับต้นทุนของค่าเช่า ทั้งนี้บุคคลในคณะรัฐบาลช่วงระหว่างปี 2544-2547 ยังคงรักษาระบบโควตาแบบเดิมเอาไว้ แต่ใช้อิทธิพลมืดทางการเมืองไปบีบบังคับ รีดไถ เอากำไรส่วนเกินจากธุรกิจเอกชนที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากมาเป็นรายได้ส่วนตัวจำนวนมหาศาล ในระหว่างปี 2544-2549 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลถูกแปรให้กลายเป็นเครื่องมือรับใช้ผลประโยชน์ส่วนตัว ของครอบครัวนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง มีการนำบุคลากรที่ขาดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และจริยธรรมในการทำงาน        เข้ามาบริหารองค์กร บุคคลเหล่านี้เป็นเสมือนเครื่องจักรกลสำคัญที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการทุจริตองค์กรในห้วงเวลาดังกล่าว แม้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่ในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อไป 

ขณะที่ต้นปี 2548 รัฐบาลโดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้สร้างหลักเกณฑ์การจัดสรรสลากขึ้นใหม่ ซึ่ง   มีผลให้ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เดิมที่เรียกกันว่า ห้าเสือ สิ้นสุดบทบาทลงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้จัดสรรโควตาแก่นิติบุคคลกลุ่มใหม่จำนวน 25 รายแทน และธุรกิจกลุ่มใหม่ยังคงได้รับโควตาและผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเรื่อยมา แม้ว่าสัญญากับสำนักงานจะสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2550 ก็ตาม 

ผลการศึกษาได้แจกแจงโควตาของสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างปี 2548-2549 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1.ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ได้รับ 162,644 เล่ม เท่ากับ 35.36%  2.ผู้ค้ารายย่อย 120,374 เล่ม เท่ากับ 26.17%  3.สมาคมและองค์กรการกุศลต่าง ๆ 88,950 เล่ม เท่ากับ 19.34% 4.มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 30,032 เล่ม เท่ากับ 6.53%  5.กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง 3 หมื่นเล่ม เท่ากับ 6.25% และ 6.นิติบุคคล 25 ราย      2.8 หมื่นเล่ม เท่ากับ 6.09%

 

คม ชัด ลึก  โพสต์ทูเดย์   21  มี.ค.  51

 

หมายเลขบันทึก: 172037เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2008 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท