สวปก.ชี้เหตุคุมยา 9 กลุ่ม ขรก. ‘แพทยสภา’ แนะประเมินสุขภาพ


เมื่อวันที่ 19 มกราคม นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่กรมบัญชีกลางมีแผนคุมค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยจะพิจารณายกเลิกการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักเพิ่ม 8 กลุ่ม ว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้และให้มีเจ้าภาพในการติดตามประเมินผลสุขภาพของข้าราชการไทยที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลกว่า 5 ล้านรายมี 2.3 ล้านรายที่เป็นข้าราชการสูงอายุและป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวานและหัวใจ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มยาลดความดันและกลุ่มยาลดไขมันในเลือดในการรักษา ซึ่งแต่ละรายมีความจำเป็นในการใช้ยาต่างกัน โดยในบางรายแพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มดังกล่าว เนื่องจากวินิจฉัยแล้วว่าหากใช้ยากลุ่มอื่นอาจไม่ได้ผลและต้องเข้ารักษาพยาบาลนาน แทนที่จะประหยัดเงินค่ายารายละ 5,000 ถึง 10,000 บาท อาจต้องจ่ายเพิ่มในรายที่ป่วยหนักเป็นแสนบาทต่อราย ควรใช้เวลาศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาลในข้าราชการไทยให้รอบคอบ

       นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับมาตรการดังกล่าวของกรมบัญชีกลาง คือ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลรามาธิบดี ข้าราชการมาใช้บริการจำนวนมากและโรคที่มีผู้มาเข้ารับการรักษาเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคความดัน โรคเบาหวานและหัวใจ  ดังนั้น ยาที่แพทย์สั่งจ่ายหลัก ๆ จะอยู่ที่กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง กลุ่มยาลดความดันโลหิตและกลุ่มยารักษามะเร็ง ซึ่งยาใน 3 กลุ่มนี้ยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้จำนวนมากและมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในโรงพยาบาลรามาธิบดี มีผู้ป่วยกว่าร้อยละ 50 ที่ต้องใช้ยาในกลุ่มดังกล่าว "ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงส่วนมากเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุที่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลต้องรับภาระไม่มีที่สิ้นสุด หากมีการยกเลิกการเบิกจ่ายยา รัฐบาลอาจประหยัดเงินแต่ไม่คุ้มค่าในด้านสุขภาพผู้ป่วย" นพ.ธันย์กล่าว และว่า สำหรับยาลดข้อเข่าเสื่อมที่ได้ประกาศยกเลิกไปแล้วเห็นด้วยและเชื่อว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณการเบิกจ่ายยาได้แต่ควรรับฟังข้อคิดเห็นแบบรอบด้าน

       นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ กรรมการและเลขานุการ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า การออกมาประกาศแนวทางการควบคุมยา 9 กลุ่มนั้น เป็นการควบคุมการใช้จ่ายยาในระบบสวัสดิการข้าราชการ ไม่ได้เป็นการประกาศยกเลิก ทั้งนี้ จากการศึกษาสถานการณ์การใช้ยาของข้าราชการไทย ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ จำนวน 34 แห่ง ระหว่างปี 2552-2553 พบว่า โรงพยาบาลมีการเรียกเก็บค่ายา 3 กลุ่มแรกที่มีการเบิกจ่ายมากที่สุด ได้แก่ ยาในกลุ่มลดไขมัน จำนวน 1,500 ล้านบาทต่อปี  ยาโรคมะเร็ง จำนวน 1,300 ล้านบาทต่อปี  และยาต้านการอักเสบ จำนวน 1,000 ล้านบาทต่อปี ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการสั่งจ่ายยาให้มีมาตรฐาน

 

มติชน  ASTVผู้จัดการรายวัน

20 มกราคม 2554

หมายเลขบันทึก: 421452เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2011 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท