เรื่องเล่าเร้าพลัง ในเวทีถอดบทเรียน "การผลิตมังคุดคุณภาพและได้มาตรฐาน" ตอน 1


เรื่องเล่านั้นกลั่นออกมาจากความรู้สึก จิตที่เป็นกุศลเพื่อการให้และแบ่งปัน
                วันนี้ (วันที่ 17  สิงหาคม  2553)  ตื่นแต่เช้าตรวจสิ่งของเครื่องมืออุปกรณ์ที่เตรียมไว้อีกรอบ จริง ๆ ก็เตรียมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือตั้งแต่เย็นวันที่ 16 สิงหาคม 2553 แล้วครับ  กลัวมาก ๆ สำหรับการลืมอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ จึงตรวจสอบอีกครั้งให้มั่นใจ
 
                มีหลายครั้งที่มีการลืมทั้ง ๆ อุตส่าห์เตรียมสัมภาระอุปกรณ์การทำงานตั้งแต่เช้า  ทบทวนหลายรอบเพื่อป้องกันไม่ให้ลืมอะไรที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดความกังวลใจเมื่อมีการจัดเวทีการจัดการความรู้  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสำหรับตัวผมเองพบว่า  หากเตรียมอะไรไว้แล้วเกิดลืม เมื่อไปอยู่ในเวทีจะทำให้เกิดความกังวลเล็ก ๆ อยู่ตลอด  เพราะติดอยู่ในความรู้สึก และนึกโทษตัวเองอยู่ตลอดว่าไม่น่าลืม ถ้าไม่ลืมแล้วจะดี   แล้วสมองก็ไม่ค่อยปลอดโปร่งลื่นไหลในการจัดเวทีในครั้งนั้น
 
               นี่เป็นเรื่องดูน่าจะเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้วไม่เล็กเลยครับ เพราะการจัดเวทีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากสำหรับผู้ทำหน้าที่คุณอำนวย  และสำคัญมากหากครั้งนั้นเรามีหน้าที่เป็น "คุณอำนวยกลาง" ของกิจกรรม  เพราะต้องจัดการในหลายๆ  อย่าง เพื่อการจัดการกระบวนการกลางและแพร่กระบวนการให้กับคุณอำนวยประจำกลุ่มอีกชั้นหนึ่ง ต้องดูรอบด้านกว่าเวทีจะเดินได้ ทั้งคุณกิจ คุณอำนวยประจำกลุ่ม คุณลิขิต
 
              ครั้งนี้เป็นการเดินทางอีกครั้งดำเนินการในกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายจากจังหวัด เพื่อถอดบทเรียน "การผลิตมังคุดคุณภาพและได้มาตรฐาน"  ให้ได้องค์ความรู้ที่เป็นประสบการณ์จากพี่น้องเจ้าของสวนมังคุดที่มีประสบการณ์จริง  ในพื้นที่จริง ที่มาของกิจกรรมนี้  สืบเนื่องจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช   ได้รับมอบหมายจากจังหวัดนครศรีธรรมราช  ให้จัดการความรู้ เรื่อง การผลิตมังคุดคุณภาพและได้มาตรฐาน ตามแผนพัฒนาองค์การของจังหวัด  ภายใต้การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ(PMQA)  ซึ่งสาระสำคัญของเรื่องนี้  อยู่ในหมวด 4 : การจัดทำแผนการจัดการความรู้ และนำแผนไปปฏิบัติ (IT7)  ซึ่งจริง ๆ จังหวัดจัดทำแผนการจัดการความรู้ 3 แผน ในบันทึกนี้ ขอกล่าวถึง การจัดการความรู้ "การผลิตมังคุดคุณภาพและได้มาตรฐาน"

 

               วันนี้เป็นการดำเนินการตามแผนการจัดการความรู้ "การผลิตมังคุดคุณภาพและได้มาตรฐาน"  ในกิจกรรมภายใต้แผน "การสร้างและแสวงหาความรู้"  ซึ่งผ่านต่อมาจากการจัดกิจกรรม การบ่งชี้ความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตมังคุดคุณภาพและได้มาตรฐาน  และเมื่อได้ประเด็นบ่งชี้แล้วก็ค้นหาแหล่งความรู้ที่มีและทำบัญชีไว้  ครั้งนี้ก็เดินทางไปถอดบทเรียนจากคุณกิจ(เจ้าของสวนมังคุด) ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ตามที่กำหนดไว้ตามในบัญชีผู้รู้  โดย KM TEAM ของสำนักงานเกษตรจังหวัด

                                
               สถานที่จัดกิจกรรม ครั้งนี้ ดำเนินการที่บ้านพี่นิพนธ์ ภู่รัตนาพันธ์ หมู่ที่ 7 ตำบลขุนทะเล  อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้รับความมืออย่างดียิ่ง จากเกษตรอำเภอลานสกา  คุณรวมพรรค ภิญโญ และ คุณวรโยค แก้วแสง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ  ผู้รับผิดชอบเขตพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรตำบลนี้
                               

                              สภาพความร่มรื่นของสวนมังคุดที่มีความเป็นธรรมชาติ  โดยไม่ต้อง    
                               ตกแต่งสวนให้กับบ้านเหมือนบ้านในเมือง  เพราะสวนอยู่บริเวณบ้านอยู่แล้ว 
                                                                ขอบอกว่า...เยี่ยมยอดมาก ๆ ครับ

                              
                                 พี่นิพนธ์ ภู่รัตนาพันธ์  เจ้าของบ้านและเจ้าของสวนมังคุด


ในภาพนี้ผมเพิ่งเดินทางถึง และเมื่อเข้ามาถึงสวนพบเห็นให้ต้องสอบถามพร้อม ๆ ไปกับการทักทาย ในบริเวณโคนต้นมังคุดต้นใหญ่นี้ว่า การกวาดใบไปกองไว้เป็นวงกลมรอบแนวทรงพุ่มนั้นทำไปเพื่ออะไร  พี่นิพนธ์ก็เริ่มอธิบาย  ผมเห็นว่าเดี๋ยวพี่เขาจะเหนื่อยเพราะเล่าให้ผมฟังคนเดียวจึงอยากให้คนอื่นได้ฟังด้วย บอกพี่ว่าเรายกไปภาคบ่ายให้เล่าเพื่อฟังกันทุกคนดีกว่า  แต่ที่แน่  ๆ นี่คือการจัดการมังคุดเตรียมการออกนอกฤดูกาลและที่สำคัญก็คือเรื่องของการจัดการน้ำ

 

          ในการจัดเวทีครั้งนี้ใช้เทคนิคเรื่องเล่าจากพี่น้องเจ้าของสวนมังคุดหลาย ๆ คน เป็นสุภาพสตรีส่วนใหญ่เลย แต่...เป็นผู้ที่ปฏิบัติจริง และประสบความสำเร็จในประเด็นต่าง ๆ ที่หลากหลาย ครับ และเร้าพลังจริง ๆ เพราะเรื่องเล่านั้นกลั่นออกมาจากความรู้สึก จิตที่เป็นกุศลเพื่อการให้และแบ่งปัน  ทีมงานคูณอำนวย คุณลิขิต ก็ค่อยว่ากันในตอนต่อไปครับ

 


การทำสวนยางพารา : การพิจารณาใส่ปุ๋ยยางที่กรีดแล้ว
ผมบันทึกไว้ที่นี่ >>การใส่ปุ๋ยยางพาราที่กรีดแล้ว
                                                                     ชาญวิทย์-นครศรีฯ

           
หมายเลขบันทึก: 386794เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2010 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณชาญวิทย์

ขอบคุณค่ะที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (หมวด 4)

หากมีเวลาจะไปช่วยนะค่ะ

สวัสดีครับ คุณน้องพัชร์ธนนันท์

เสียดายที่น้องไม่ได้ไปร่วม บรรยากาศสนุกมาก ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท