อยากเล่าให้ฟัง


เทคนิคนี้ดีจัง

เนื่องจากได้กลับมาเริ่มจับงานแลบ (เขียนถูกไหมนี่ ต้องเป็นแล็บหรือเปล่านะคะ) ในห้อง chem หลังจากห่างหายไปนาน (มาก) และงานที่ไปทำมาก็ไม่ใกล้เคียงกับงานที่เราเคยทำเล้ยสักนิด จึงเหมือนกลับมาฝึกงานใหม่อีกครั้ง มีการพัฒนามากมายหลายประการเกิดขึ้นให้ได้ประทับใจ รวมทั้งความกระตือรือร้นในการทำงานตลอดทั้งวัน ตอนเช้าก็วุ่นกับงานบริการ ปริมาณงานเพิ่มขึ้นจากสมัยที่จากไป ตั้งสามสี่เท่า หกปีก่อนทำทั้งวันก็ประมาณ 300 ราย เดี๋ยวนี้แค่สองสามชั่วโมงช่วงเช้าก็ปาเข้าไป 5-600 ราย ช่วงบ่ายตอนที่งานซาลงแล้ว สมาชิกในห้องทุกคนก็ดูเหมือนจะมีงานพัฒนาสารพันทำกัน เป็นที่น่าชื่นชม เทียบกับสมัยก่อนที่เป็นเวลาง่วงเหงาหาวนอน

บันทึกแรกนี้มี 2 เรื่องที่อยากเล่าไว้ คือการปั่นแยกเลือดซึ่งเป็นงานขั้นตอนต้นๆ ดูเหมือนง่ายๆ แต่จากที่ต้องทำแทนพี่ผอบตอนที่แกลาพักร้อนในเวรเช้า ช่วงก่อน 8 โมงครึ่งก่อนที่พี่ประจิมจะเข้างาน จึงได้รู้ว่า กว่าจะเทียบให้ tube balance (ในขณะที่มี tube หลั่งไหลเข้ามาเป็นร้อยๆ) แล้วเอาเข้าเครื่องปั่นเนี่ย ไม่ใช่ง่ายเลย ทำให้ตัวเองเกิดความคิดว่าควรจะคอยดูเวลาที่แกทำ จึงได้เห็นว่าสิ่งที่ไม่มีใครเขียนบอกไว้คือวิธิการที่แกทำ ซึ่งทำให้งานง่ายขึ้น เร็วขึ้น มีรายละเอียดหลายๆอย่าง เช่นการเอียง tube ดูโดยไม่ต้องยก tube แทนที่จะยกดูระดับตาแบบที่ตัวเองทำซึ่งเมื่อยแขนมากหลังจากยกไปสัก 100 ราย เวลามีลิ่มเลือดที่ clot ติดจุกยางอยู่ซึ่งทำให้ไม่สามารถจะเทียบกับตัว balance ได้ (อันนี้ก็เป็น invention ใหม่ที่น่านับถือของพินิจ มี tube ใส่ของเหลวต่างๆระดับไว้ให้เลือกใช้ แทนการต้องเอาน้ำมาดูดเข้าดูดออกเทียบแบบสมัยก่อน)  ก็ใช้วิธีพลิก tube ให้ส่วนที่เป็นของเหลวไหลลงมาที่จุกแล้วก็เทียบได้ ในขณะที่เราต้องไปเปิดจุกเพื่อให้ลิ่มเลือดหล่นลง tube วุ่นวายเลอะเทอะ อันนี้พอเล่าให้น้องแหม่มฟัง น้องแหม่มก็บอกว่าเพิ่งรู้เหมือนกัน

ส่วนวันนี้ได้เห็นน้องอ๋งเอียง tube โดยใช้ sample cup รองไว้ แล้วดูดซีรัมจากส่วนที่ไหลลงมาที่ปาก tube ที่เราดูดไม่ได้เพราะมีก้อน clot ติดอยู่ ถ้าเราทำคนเดียวก็คงใช้วิธีเอาไม้เขี่ยเอาก้อนนั้นออกแล้วปั่นใหม่ ซึ่งเสียเวลามากขึ้นไปอีก พอเราชมว่าเทคนิคนี้ดีจัง อ๋งบอกว่าลุงบูลย์ (คุณพิบูลย์ ซึ่งเกษียณไปแล้ว) สอน ทำให้ตัวเองเกิดความประทับใจ และมีความคิดทันทีว่าอยากเขียนบันทึกเล่าไว้เป็นเครดิตให้ลุงบูลย์ นี่ขนาดเรายังไม่มีโอกาสได้เจอตัวเพราะแกเกษียณไปตั้งแต่ตอนเราลาเรียนอยู่ ก็ยังอุตส่าห์ฝากความรู้เล็กๆน้อยๆเอาไว้สอนได้ด้วย

จะเห็นว่าเทคนิคเหล่านี้เราจะเรียนรู้ได้ก็จากการลงมือทำ (มานานๆ) เท่านั้น โดยใช้ความคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วย แต่การเรียนรู้จากผู้อื่นที่มีประสบการณ์ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาลองผิดลองถูกคิดวิธีการเอาเองอีก สอนให้ตัวเองได้รู้ว่างานทุกอย่างไม่ว่าจะดูง่ายดายขนาดไหนก็ต้องการเทคนิคในการทำให้ดีและรวดเร็ว ซึ่งเทคนิคเหล่านี้มักจะไม่มีการบันทึกให้เราได้อ่านในคู่มือใดๆ

 

หมายเลขบันทึก: 11144เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2006 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ขอต้อนรับ Knowledge Engineer (วิศวกรความรู้) คนใหม่อีกคนของพยาธิ   ตำแหน่งนี้ เป็นบทบาทหนึ่งในสาม ของทีมการจัดการความรู้ในองค์กรตามโมเดลของ Nonaka & Takeuchi (อีก 2 บทบาทคือ knowledge practitioner และ ผู้บริหารความรู้) Knowledge engineer มีหน้าที่หลักในการตีความและแปลงความรู้ฝังลึกจากระดับปฏิบัติ ให้เป็นความรู้ที่เปิดเผย จับต้องได้ ปฏิบัติได้ง่าย
ห้องchemงานเยอะแต่มีบุคคลากรที่ทำงานกันเป็นทีม(tiger team)ดีมาก ถึงงานมากก็ไม่น่าเป็นห่วง
ขอเพิ่มเติม KM เล็ก ๆ ของชาวเคมี

 

ผลงานเล็ก ๆ ก่อเกิดเป็น Best practice และประโยชน์ที่ได้เป็นที่ยอมรับและชื่นชม

 

หน่วยเคมีคลินิกมีปริมาณงานอย่างที่พี่โอ๋ (อโณ)บอกวันละ 500 -600 ราย แต่ตอนนี้อาจจะน้อยไปแล้ว เมื่อวันที่ 10/1/49 มีงานมากถึง 800 กว่าราย(จำไม่ได้ 800 เท่าไร)  และมีขั้นตอนก่อนการตรวจวิเคราะห์หลายขั้นตอนทีเดียว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่พบว่าผิดพลาดมากที่สุด วันนี้จึงอยากจะขอเสนอผลงาน ที่ไม่ธรรมดาของคุณพินิจ คล้ายทอง ในขั้นตอนการปั่นแยกเลือด จากเดิมที่ต้องนำ Tube เปล่า มาเติมน้ำเพื่อที่จะ Balance หลอดเลือด ทีละหลอดซึ่งพบว่าช้า เสียเวลารอคอยคุณพินิจจึงให้เตรียมน้ำใส่ Tube เปล่าเป็นระดับต่าง ๆ กัน ให้หมายเลขจากน้อย (ระดับน้ำน้อย) ไปหามาก (ระดับน้ำมาก) เมื่อจะปั่นเลือดก็ให้หยิบ Tube ที่เท่ากันหรือใกล้เคียงมา balance ได้เลย ไม่ต้องมาเทน้ำเข้าออก  ต่อมา ....พบว่าเมื่อใช้น้ำเปล่าจะเทียบระดับไม่ชัดเจน เนื่องจากสีของน้ำกลมกลืนกับสีของ Tube ดังนั้นคุณผอบ คุณประจิมและผู้เขียน จึงนำด่างทับทิมมาละลายให้สีม่วงแดงอ่อน ๆ มาใช้กับ Tube แก้ว และ คอปเปอร์ซัลเฟตมาใช้กับ Tube พลาสติก ซึ่งไม่อันตราย  แทนน้ำเปล่าจึงพบว่าเทียบระดับชัดเจนขึ้น      

                 

แต่ยังคงมีปัญหาอยู่ พบว่าเดิมใช้จุกสีเดียวกับหลอดเลือด บางครั้งจึงเผลอไปเอาจุกออก ดังนั้นเราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการหาฝาจุกคนละสีกับหลอดเลือดที่ส่งตรวจห้อง  Chem ซึ่งเป็นสีเขียว    โดยการได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณไปรวินและคุณวรวรรณ ห้องล้างของเรา จนได้ฝาจุกสีแดงสำหรับ Tube พลาสติก และฝาจุดสีน้ำเงินสำหรับ Tube แก้ว และนี่คือ Best Practice  ของจุดปั่นเลือด

ผลงานนี้คุณพินิจและทีมงานบอกว่าไม่สงวนลิขสิทธิ์ค่ะ เผื่อว่าใครสนใจก็สามารถนำไปใช้ได้ หรือจะมาดูผลงานที่ห้องเคมีได้ค่ะ

ต้องขออนุญาตเชียร์คนกันเองจริงๆว่า ประทับใจกับความมีคุณภาพของคนห้อง chem เพราะว่าจากปริมาณที่มี ซึ่งตัวเองรับหน้าที่อยู่เวรเที่ยงวันที่ปริมาณงานทำลายสถิติคือ เฉพาะช่วงเช้าก็เข้ามา 700 ราย รู้สึกเลยว่าต้องสติสัมปชัญญะเกินร้อยถึงจะทำงานออกผลให้ได้ทันท่วงทีและไม่มีผิดพลาด เพราะถึงแม้งานการวิเคราะห์จะใช้เครื่อง แต่ขั้นตอนก่อนและหลังการวิเคราะห์ต้องใช้ พลังกายและสมองของคนทั้งนั้นก่อนที่จะออกผล ตอนนี้เรายังต้อง key ใบแลบตอนลงทะเบียนโดยคนซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ถ้าผิดตอนนี้แล้วการ interphase จากเครื่องเมื่อผลออกก็รับส่ง test กันผิด ตัวเองไปนั่ง verify ผลออกจากเครื่อง อ่านค่าที่ผิดปกติทั้งหลายแหล่แล้วต้อง repeat, recheck ผลเดิมของคนไข้ เทียบกับผลอื่นๆว่ามันไปด้วยกันไหม แค่ช่วงเที่ยงชั่วโมงเดียวก็เมามึนไปเลย (หกปีที่แล้ว งานที่ต้องทำโดยคนมากกว่านี้ แต่ปริมาณงานห่างกันไกลค่ะ) เห็นความกระตือรือล้นที่จะรับมือกับงาน แถมยังคิดโน่นคิดนี่เพื่อจะทำให้งานดีขึ้นอีกด้วยอย่างนี้แล้ว ก็ดีใจที่ได้กลับมาทำงานกับคนคุณภาพของเราอีกครั้ง เชื่อว่าการทำงานของเราสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 15189 อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องจัดการทำเอกสารให้ถูกต้องตรงตาม format เท่านั้น

เยี่ยมครับ ที่บอกเล่าประสบการณ์ตรง ที่รู้ลึก รู้จริง ให้เผยแพร่ ณ ที่แห่งนี้ อย่างน้อยผู้คนในวงการเดียวกัน จะได้นำไปปรับใช้ ไม่ต้องมัวรีรอ ทดลอง หรือเรียนรู้ตั้งแต่เริ่่มต้น ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท