เครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ...ก็แค่"การวิเคราะห์" เท่านั้นแหละที่อัตโนมัติ


อยากอธิบายให้คนนอกวงการของเราเข้าใจให้ถูกต้องขึ้นค่ะ

สัปดาห์นี้รับหน้าที่ในจุด A เป็นคนควบคุมเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ Hitachi 917 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหลักในการตรวจวิเคราะห์ต่างๆของหน่วยเคมีคลินิกในปัจจุบัน งานที่ทำเกือบทั้งวันก็คือ งานหุ่นยนต์อย่างที่เคยเล่าไว้แล้ว เราต้องใช้"คน"ในการ

    • ลำเลียง สิ่งส่งตรวจทั้งหลายที่ส่วนใหญ่ก็คือหลอดที่บรรจุเลือดที่ปั่นแยกซีรั่มแล้ว ทั้งลำเลียงเข้าและลำเลียงออก
    • กดแป้นเพื่อใส่หมายเลขของ sample พร้อมทั้งเลขเดือน ตอนต้นเดือนเริ่มที่เลข 1-10 วันหนึ่งๆมี sample เข้ามาตรวจที่หน่วยเราประมาณ 600 - 800 ราย ใครอยู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก็ต้องกดตัวเลขแบบว่า 16789-10 กันไป ลองคิดดูก็แล้วกันค่ะ ว่าวันหนึ่งๆเราต้องกดแป้นตัวเลขกันกี่พันกี่หมื่นครั้ง
    • กดเลือกการทดสอบต่างๆโดยอ่านจากใบสั่งตรวจที่พิมพ์ออกมาอีกที ยังดีที่มี profile ให้ตั้ง อย่างเช่น ไขมัน เราก็ไม่ต้องมากด test 3 ชนิดทีละตัว ส่วนใหญ่แล้วเฉลี่ยก็คงกดกันไม่น้อยกว่า พันครั้งต่อวัน
  • งานทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องใช้สมาธิและความคล่องตัวจึงจะทำได้รวดเร็วและถูกต้อง เพราะเราต้องมั่นใจว่าเราใส่หลอด sample ได้ตรงกับตำแหน่งที่เรา key เข้าเครื่องเพราะเครื่องไม่ได้เช็คให้เรา หากวางผิดก็ไม่มีทางรู้ได้เลย จึงเป็นเทคนิควิธีการของแต่ละคนว่าจะตรวจสอบอย่างไรไม่ให้ผิดพลาด ตัวเองจะใช้วิธีตรวจเช็คเบอร์ที่หลอดให้เรียงตรงกับใบสั่งตรวจ พร้อมๆไปกับตรวจดูลักษณะของ sample ว่าใสดี ไม่มีก้อน clot หรือ fibrin ที่เครื่องอาจจะดูดติดเข้าไป แล้วจึงนำไปวางในเครื่องให้เรียบร้อย แล้วจึงเริ่ม key สั่งตรวจ แล้วเมื่อเสร็จก็เช็คอีกรอบให้ตรงกัน กระบวนการนี้จะย่อหย่อนไม่ได้เลย ไม่ว่าเราจะมี sample รอให้เข้าเครื่องมากขนาดไหน เพราะไม่มีทางตรวจสอบได้จนกว่าผลจะออกแล้วเทียบกับผลเดิมของคนไข้คนนั้น
  • สิ่งที่จะช่วย"คน"ได้ในกรณีนี้คือการที่เครื่องสามารถอ่าน barcode ได้เลยว่าเบอร์อะไร ของคนไข้คนไหน และสั่งตรวจอะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูท่าจะยังเป็นความฝันที่น่าจะมาถึงยาก เพราะแม้แต่การลงทะเบียนการทดสอบ เราก็ยังใช้"คน" นั่ง key เข้าไปกันอยู่เลย วันละ 600 - 800 รายนี่แหละ พวกเราก็พยายามหามาตรการมาช่วยตรวจสอบ เพื่อลดการผิดพลาดให้ได้มากที่สุด 

สงสัยจะต้องมาต่อตอนหน้านะคะ สำหรับงานที่ไม่อัตโนมัติ อันเนื่องมาจากการทำงานกับเครื่องอัตโนมัตินี่

ที่อยากเขียนบันทึกลักษณะนี้ เพราะเชื่อว่า ใครที่ไม่เคยเป็นคนทำงานกับเครื่องอัตโนมัติแบบนี้ทั้งวัน จะไม่มีทางเข้าใจเลยว่า งานที่ใช้ "คน" ทำเพื่อให้เครื่อง "อัตโนมัติ" ทำงานให้ผลออกมาได้นั้น ส่วนที่"ไม่อัตโนมัติ"นั้นมีมากมายมหาศาล ที่เล่าวันนี้ยังไม่ถึงครึ่งนะคะ ยังมีขบวนการทั้งก่อนและหลังการใช้งานของเครื่องจะมาเล่าต่อในวันพรุ่งนี้

 

หมายเลขบันทึก: 53171เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2006 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
วันนี้ไปรายงานผลการดำเนินงานของภาค เอาภาพเด็ดการทำงานในแล็บกับคอมระบบ dos (จาก blog โอ๋) คณบดีตกใจมาก บอกว่าไม่รู้มาก่อนเลยเป็นแบบนี้ อีกอย่างที่คณบดีพูด (บ่อยครั้ง)ว่าเรามีเครื่องอัตโนมัติ เราคงทำงานสบายขึ้นมาก บอกท่านว่ายังต้องใช้คนควบคุมดูแล และทำงานกับมันอยู่ จริงๆ ให้ดี ท่านน่าจะมาดูที่แล็บเองเลยนะ
  • เห็นด้วยครับว่าระบบการสั่งตรวจของหมอ ควรจะเชิ่อมโยงกับระบบของแล็บ เพราะมันคือข้อมูลเดียวกัน น่าจะลิ๊งก์กันได้นานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าทำไม ยังเป็นแค่เพียงฝัน ไม่รู้ยังต้องทำงานซ้ำซ้อนนี้ไปอีกนานแค่ไหน
  • แค่ข้อมูลระบบของโรงพยาบาลเหมือนกันยังเชื่อมกันไม่ได้ แล้วข้อมูลการส่งตรวจจะเชื่อมกับเครื่องมืออัตโนมัีติได้อย่างไร ยิ่งฝันไปไกลขึ้นไปอีก
  • เฮ้อ! อ่านแล้วเหนื่อยแทนครับ
  • ลักษณะการทำงานแบบนี้ ถ้าไม่ผิด ถือว่าเป็นปกติ ถ้าผิดพลาดเมื่อไหร่  เป็นเรื่องครับ  ยิ่งเศร้าเข้าไปอีก
  • อ่านแล้วทำให้นึกถึงเรื่องขำ ๆ ที่เคยได้ยินมา  ซึ่งตลกเขาชอบเอาไปเล่นกัน เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งกับผู้ชายคนหนึ่ง ที่บังเอิญสลับขวดฉี่ที่จะนำไปให้หมอตรวจผล เมื่อตรวจเสร็จปรากฏผลว่า ผู้ชายมีท้อง....ฮา...
  • หรือเคยอ่านเรื่องการตรวจผลเลือด ที่สลับขวดกันโดยบังเอิญ เสร็จแล้วผลออกมาบอกว่าคนหนึ่งเป็นโรคเอดส์ ถึงกับโกลาหลเพราะคิดว่าตัวเองยังไงต้องตายแน่ ส่วนอีกคนกลับบ้านอย่างสบายใจทั้งที่แท้จริงตัวเองติดเอดส์เข้าให้แล้ว แต่ตอนหลังมารู้ว่าผลตรวจสลับกันก็สายเสียแล้วเมื่อคนหลังถึงแก่ความตาย และอีกคนก็ประสาทกินไปแล้ว
  • ทั้งสองเรื่องคงเป็นเรื่งเล่าตลก ๆ แค่นั้น....
  • เครื่องมือนั้นไม่ลวงหลอก....มีแต่คนเราเท่านั้นที่หลอกลวงกัน
  • ตามมาขอบคุณอาจารย์โอ๋ด้วยค่ะ...ขออนุญาตฝากตัวเป็นศิษย์เรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ด้วยคนนะคะ
  • มีประโยชน์กับพวกเรามากค่ะ...จะนำไปเผยแพร่ต่อให้เพื่อน ๆ ได้ร่วมเรียนรู้นะคะ
  • ขอบคุณสำหรับการจุดประกายทางปัญญาอย่างมาก ๆ ค่ะ
ที่จริงแล้วเรื่องหลายๆ เรื่องที่พี่โอ๋เขียนน่าจะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยได้ไม่ยากนะครับ เพราะเครื่องอย่าง Hitachi 917 น่าจะมีคู่มือในการเขียนโปรแกรมเพื่อ interface กับเครื่องที่ไม่ซับซ้อนอยู่แล้ว

อย่างการอ่าน barcode เข้าไปในเครื่องแทนที่จะต้องพิมพ์เองน่าจะเขียนโปรแกรมแป๊บเดียวก็เสร็จ (เดาจากประสบการณ์จากเครื่องจักรอุตสาหกรรม ไม่ใช่เครื่องวิเคราะห์เคมี)

เรื่องนี้เป็น project ให้ นศ. วิศวะฯ ไฟฟ้าหรือคอมฯ หรือ วิทยาการคอมฯ ทำได้เลยครับ เผลอๆ งานจะเล็กเกินสำหรับการเป็น project ของนักศึกษาด้วยซ้ำ

งานนี้เป็นงานที่มีประโยชน์จริงต่อเพื่อนมนุษย์และได้ใช้ทันที ผมเชื่อว่ามีโปรแกรมเมอร์หลายต่อหลายคนยินดีรีบเข้ามาช่วย (ฟรี) แน่นอนครับ

โปรแกรมเมอร์คนไหนอยากทำบุญที่ดีกว่าการตักบาตรตอนเช้าประมาณหมื่นเท่า ติดต่อที่ LabChem ได้โดยพลัน ;-)

ที่ห้องนำระบบ lis มาใช้ เราสามารถส่งคำสั่งและข้อมูลของสิ่งส่งตรวจว่าต้องการทำ test อะไรได้จากอ่าน bacode โดยที่ผู้ปฎิบัติงานเพียงแค่นำ sample มาใส่เครื่องเท่านั้น แต่ที่ห้องไม่ได้ใช่เครื่องตรวจวิเคราะห์ตัวนี้ไม่แน่ใจว่า ระบบ lis สามารถใช้กับเครื่องที่พี่ใช้อยู่รึเปล่าลองคุยกับสารสนเทศดู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท