ประโยคไทย อย่างไรกันแน่?


ผมถามเพื่อนว่าภาษาเขมรมีตัวแบ่งประโยคหรือเปล่า. เขาก็ว่ามี. ถามมาหลายคนหลายภาษาแล้ว. เขาก็ว่ามีหมด. ลองดูในวิกิพีเดียลาว ก็ปรากฎว่ามีตัวแบ่งประโยคเช่นกัน. จำได้ว่าป๋าเทพเคยกล่าวถึงว่าอาจจะใช้ ๛ (โคมูตร) มาเป็นตัวจบประโยคดูก็ได้ แต่ว่าแหมมันกดยากเหมือนกัน.

update: จาก comment ข้างล่างป๋าเทพกรุณามาชี้แจงแล้วว่าเป็น ฯ นะครับไม่ใช่ ๛.


นักภาษาศาสตร์บางท่านชี้ว่า, ภาษาไทยอาจจะไม่มีขอบเขตประโยคที่แน่นอน. ให้คนไทยด้วยกันเองลองแบ่งประโยคออกมา, ก็อาจจะไม่ตรงกัน. ผมออกจะเชื่อตามนั้น. แต่ว่ากันยังอยากจะลองเองอยู่ดีว่า, ถ้าลองแบ่งประโยคดูแล้วจะเป็นอย่างไร.

จะลองในรายงานหรือในวิทยานิพนธ์, คนอ่านเขาก็อาจจะไม่ยอม. มาลองในบล็อก, ก็ไม่ทราบว่าคนอ่านบล็อกจะยอมหรือเปล่า? แต่ว่าก็ขอลองหน่อยแล้วกัน.

ตามที่ผมอ้างไปข้างต้นว่า, ถ้าลองให้คนไทยแบ่งประโยคกัน, ก็อาจจะแบ่งออกมาไม่เหมือนกัน. ผมก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเช่นที่อ้างจริงเท็จแค่ไหน? ถ้าหากท่านใดเมตตา, จะลองร่วมการทดลองกันดูก็ได้,  จะได้นำข้อความของแต่ละท่านมาวิเคราะห์ได้ว่า, วิธีการแบ่งประโยคของแต่ละท่านเหมือนหรือต่างกันอย่างไร.

update: การใช้เครื่องหมายวรรคตอนบอกขอบเขตของประโยค น่าจะทำให้การสื่อสารชัดเจนมากขึ้น. น่าจะช่วยคนเขียนให้คิดได้เป็นระบบขึ้น. คนอ่านก็เห็นระบบนั้นได้ง่าย.  

 

ป.ล. ในตอนแรกเราอาจจะตัดประโยคออกมาต่างกันมากมาย, แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า, กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน, โดยเฉพาะ blogger ที่มีทั้งการอ่าน เขียน  แลกเปลี่ยนเรียนรู้, อาจจะทำให้การแบ่งประโยคของทุกคนใกล้เคียงกันในที่สุด?

 

เพิ่มเติม: ไหนๆก็เพิ่มมหัพภาคเพื่อจบประโยคไปแล้ว ก็เขาเพิ่มจุลภาค และปรัศนีด้วยเลยแล้วกัน. :-)  

หมายเลขบันทึก: 107835เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (35)

สวัสดีค่ะคุณวีร์

มาร่วมลองแบ่งประโยคค่ะ

ตามที่ผมอ้างไปข้างต้นว่า ,  ถ้าลองให้คนไทยแบ่งประโยคกันก็อาจจะแบ่งออกมาไม่เหมือนกัน....ผมก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเช่นที่อ้างจริงเท็จแค่ไหน?  ถ้าหากท่านใดเมตตา จะลองร่วมการทดลองกันดูก็ได้...จะได้นำข้อความของแต่ละท่านมาวิเคราะห์ได้ว่า , วิธีการแบ่งประโยคของแต่ละท่านเหมือนหรือต่างกันอย่างไร....

แบ่งแบบตามใจฉันค่ะ อิ อิ

P เริ่มจากแบ่งตามใจฉันก่อน, ก็น่าสนใจครับ. :-) แล้วต่อไปเราค่อยมาดูกันว่าวิธีแบ่งประโยคของแต่ละคนจะเริ่มตรงกันมากขึ้นหรือเปล่า?
P ถ้าคุณเบิร์ดแบ่งประโยคในบล็อกของคุณเบิร์ดด้วย , คงได้ตัวอย่างอีกมาก. :-P (ชวนอย่างออกนอกหน้า)
ลองเรียนมาก็หลายภาษาแล้ว, รู้สึกว่าเห็นแต่ภาษาที่ไม่มีตัวแบ่งประโยค, ทำให้คิดว่าแต่เดิมมันไม่มีตัวแบ่งจริงหรือ? ไม่งั้นภาษาไทยเป็นภาษาที่อ่านจับใจความยากทีเดียวนะ. ส่วนตัวเห็นว่ามันดูผิดธรรมชาติมากเลย.
LYRA แต่เดิมคงจะไม่มี full stop เหมือนกับ แต่เดิม ไม่มีภาษา แต่เดิมไม่มีมนุษย์?
เคยจำได้ว่า
ในหลวงฯ ของเรา ทรงเคยจัดทำ ส.ค.ส. ปีใหม่
ซึ่งพรปีใหม่ของพระองค์นั้น
ในการจบประโยคทุกครั้ง พระองค์ทรงใส่จุดเพื่อจบประโยค
เหมือนเช่นภาษาอังกฤษเลยครับ

แต่ผมจำไม่ได้ว่าเป็นปีไหน ..

ตามที่ผมอ้างไปข้างต้นว่าถ้าลองให้คนไทยแบ่งประโยคกันก็อาจจะแบ่งออกมาไม่เหมือนกัน ผมก็ไม่ทราบว่าจะเป็นเช่นที่อ้างจริงเท็จแค่ไหน? ถ้าหากท่านใดเมตตาจะลองร่วมการทดลองกันดูก็ได้ จะได้นำข้อความของแต่ละท่านมาวิเคราะห์ได้ว่าวิธีการแบ่งประโยคของแต่ละท่านเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

 

เท่าที่จำได้อ่ะภาษาไทยไม่ใส่เครื่องหมาย ? ในประโยคนะ แม้จะเป็นประโยคคำถามอ่ะ

 

 

ต้อง: ปกติแล้วไม่ใส่ ? และไม่ใส่ , ระหว่างอนุประโยค และไม่ใส่ . เมื่อจบประโยคหลักด้วย.

แต่ว่าบันทึกนี้จงใจเขียนให้ไม่ปกติ. lol หรือว่าควรจะแยกโครงการ ปรัศนี ?

สวัสดีค่ะคุณวีร์

        ดิฉันแวะเอาลิงก์นี้มาฝากพลางๆก่อนนะคะ  (ไม่แน่ใจว่าคุณวีร์ได้แวะไปหรือยัง : )  )

        วิกิพีเดีย : สภากาแฟ หัวข้อ การใช้ภาษา

เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานของคุณวีร์ที่ว่า  "ถ้าลองให้คนไทยแบ่งประโยคกัน, ก็อาจจะแบ่งออกมาไม่เหมือนกัน." นะคะ

คุณจินตนา ใบกาซูยี  ให้ข้อมูลไว้ในหนังสือ การเขียนและการบรรณาธิการว่า  โดยทั่วไปการแบ่งประโยค(หากหมายถึงการเว้นวรรค)  ส่วนใหญ่เป็นไปตามความชอบและความถนัดส่วนบุคคล บางคนเขียนประโยคสั้น  บางคนถนัดประโยคยาวเป็นต้น

การเว้นวรรคในการเขียนหนังสือไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี คือ 1. กรณีที่ต้องเว้นวรรคเสมอ   2.กรณีที่ไม่ต้องเว้นวรรค และ 3.กรณีที่เว้นก็ได้  ไม่เว้นก็ได้  ไม่บังคับ 

ส่วนการใช้เครื่องหมายวรรคตอนเพื่อแบ่งประโยค ก็มีหลักการปลีกย่อยละเอียดลงไปอีก 

สำหรับใจความตัวอย่าง ที่น้องเบิร์ดยกมาแบ่งแบบตามใจฉัน  : )    ดิฉันว่าแบ่งแบบคุณวีร์ก็เข้าทีอยู่นะคะ   คือเว้นวรรคเมื่อขึ้นใจความใหม่  ที่ขึ้นต้นด้วยคำเชื่อม  คำกริยาช่วย  และเว้นวรรคหลังคำว่า "ว่า"  เพื่อแสดงถึงการเริ่มใจความใหม่   ก็จะได้เป็นใจความ ๆ ไป  อ่านง่ายดี

ที่คุณวีร์บอกว่า กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน, โดยเฉพาะ blogger ที่มีทั้งการอ่าน เขียน  แลกเปลี่ยนเรียนรู้, อาจจะทำให้การแบ่งประโยคของทุกคนใกล้เคียงกันในที่สุด?

ดิฉันคิดว่าพอเป็นไปได้สำหรับการปรับรูปแบบการสื่อสารของบางท่าน   ที่เขียนเป็นย่อหน้า โดยไม่เว้นบรรทัด(ไม่เคาะ enter) จนกว่าจะจบความ

 แต่บางท่านที่มีลีลาและรูปแบบการเขียนเฉพาะตัวมาก ๆ   เช่น เขียนคำวรรคคำ  หรือเขียนเป็นประโยคสั้นๆ    ประโยคละบรรทัด   ก็อาจไม่เปลี่ยนตามอะค่ะ : )

P ในวิกิพีเดียผมพึ่งเข้าไปดูครับ หลังจากที่ได้ URL มานี่เอง ขอบคุณครับ. :-)
 
พอลองแบ่งกันดูจริงๆ แล้วแต่ละคนอาจจะไม่ได้เปลี่ยนวิธีของตัวเองเลยก็ได้. :-P หรืออาจจะมีบางอย่างเปลี่ยนบางอย่างไม่เปลี่ยน แบบที่อาจารย์ว่าก็ได้. 
 
ในการทดลอง สิ่งที่อยากจะทราบก็คือ หากใส่จุด .​เพื่อจบประโยคแล้ว จะมีผลอย่างไรกับพฤฒิกรรมการเขียนบ้าง.  สงสัยผมต้องลองหาสมมุติฐานดูก่อนด้วย. 
 
P ที่อาจารย์แนะนำมา น่าจะช่วยให้ผมและผู้สนใจตั้งสมมุติฐานได้.

ถ้าสนใจแยกเป็นอีกโครงการ ? เลย

แต่เราคงไม่ไหวอ่ะ.. ตอนเอนท์ได้คะแนนภาษาไทยน้อยนิด ฮา

 เพิ่งรู้ว่าวีสนใจเรื่องแบบนี้ด้วยอ่ะ

ต้อง: ภาษาไทยอาจจะง่ายขึ้นก็ได้นะ

หวัดดีอีกทีค่ะ คุณวีร์

ชอบใจที่ คุณต้อง พูดข้างบนจังค่ะ    ตอนสอบเอ็นท์  คะแนนภาษาไทยดิฉันก็คงดิ่งเป็นหุ้นร่วงเหมือนกัน  แถมตอนสอบภาษาฝรั่งเศส  ดิฉันนั่งหลับอีกต่างหาก

เลยออกจะอายๆไม่ใคร่กล้าเข้าไปคุยในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่อง "ภาษาไทย"  ในความรู้เชิงลึกและเชิงประวัติภาษา  ถ้าคุณวีร์ชวนคุยอย่างนั้น ดิฉันจะเปิดแน่บสี่ประตูต่อศูนย์อะค่ะ : )

แต่เรื่องนี้ดิฉันชอบจัง   ถึงแม้จะไม่ใคร่รู้  แต่เปิดหนังสือเล่าให้ฟังได้    เพื่อว่าคุณวีร์พอจะนำไปใช้คิดอะไรเล่นเพลินๆ  : )  

ในหนังสือ การเขียนและการบรรณาธิการ (จินตนา ใบกาซูยี : 2543)  หน้า 99  กล่าวถึง เกณฑ์การใช้เครื่องหมาย  .     (มหัพภาค) ไว้ดังนี้
1.  ใช้เพื่อแสดงว่าจบประโยค หรือจบความ

      เช่น  แม้มาสาย  วันนี้ฉันก็ยังลงชื่อทันเวลา.

ข้อนี้น่าสังเกตค่ะ  ประโยคนี้เป็นประโยคเงื่อนไข  แม้....ก็   แถมยังละประธาน "ฉัน" ในประโยคแรกด้วย  และหากยังกล่าวไม่ครบเงื่อนไข  ก็ยังไม่ถือว่าจบประโยค  เขาจึงใส่เครื่องหมายมหัพภาคในประโยคที่สอง

2.  ใช้เขียนไว้หลังตัวอักษรที่เป็นอักษรย่อ
3.  ใช้เขียนแสดงตำแหน่งทศนิยมไม่รู้จบ แสดงตำแหน่งนาที และใช้คั่นสูตรเคมีเพื่อแสดงสูตรของสารย่อยในสารประกอบใหญ่
4.  ในประโยคมีเครื่องหมาย "    "  หรือมีเครื่องหมาย (    )  อยู่ด้วย  ให้ใช้เครื่องหมายไว้หลังสุด  

      เช่น  1)   หล่อนหน้าบึ้งตวาดว่า "ไม่ต้อง  ฉันไปเอง".

              2)   รายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกได้จัดส่งมาแล้ว  (ดังเอกสารแนบ)

ตัวอย่างน่ารักดีอะค่ะ : )   ดิฉันเห็นข้อสังเกตอย่างหนึ่ง  ในการแบ่งประโยคของคนไทย 

  • ถ้าประโยคครบความ   ครบโครงสร้าง  รู้ว่า ใคร ทำอะไร ใคร อย่างไร  มีประธาน กริยา กรรม ส่วนขยาย ครบถ้วน  รู้ว่าอะไรขึ้นต้น อะไรลงท้าย  จะแบ่งประโยคง่าย  เพราะรู้ว่าความจบตรงลงไหน 
  • แต่หากเป็นประโยคไม่ครบความ ก็จะแบ่งยากขึ้น  เช่นภาษาพูด(ทั้งที่ใช้พูดจริงๆ  หรือใช้พิมพ์หรือเขียนแทนการพูด) 
  • และประโยคที่มีส่วนขยายซับซ้อน  ก็แบ่งยากเช่นกัน 
  • ความรู้เรื่องประโยคของผู้แบ่งประโยค ก็เป็นตัวแปรสำคัญเช่นกัน 

เรื่องนี้น่าสนใจ และน่าสนุกนะคะคุณวีร์  ดิฉันจะติดตามและหาความรู้เรื่องนี้ต่อไปอีกนะคะ   เพราะในโลกเครือข่ายความรู้นั้น  การแบ่งคำ ใจความ ประโยค  การเลือกใช้ คำ ใจความ ประโยค ให้เหมาะสม  เป็นมาตรฐานเดียวกัน  ส่งผลต่อการสืบค้นเพื่อสร้างเครือข่ายโยงใยความรู้ในอนาคต  และน่าจะเป็นผลดีต่อลูกหลานไทยด้วย
                  ฝันไปนู่นเลยอะค่ะ  ...อิอิ.....  : )
  

P ผมต้องหาเล่มนั้นมาอ่านบ้่างแล้ว. :-)
 
สงสัยต้อง setup web ขึ้นมารวบรวมคู่มือและตัวอย่างข้อความที่สมาชิกเขียนตามคู่มือดู. :-)
เครื่องหมายวงเล็บ นี่ไทยเลียนแบบฝรั่ง รึเปล่าครับ, อาจารย์
อาจารย์ไหนก็ได้ครับ
ผมว่าหลายคน (เช่นผม) มักจะชอบเขียนประโยคยาวๆ โดยการใช้พวกคำเชื่อมและ ก็ หรือ คือ ว่า ฯลฯ สารพัด แถมบางที ก็ละส่วนต่างๆ ของประโยคไปซะเยอะ ทำให้บางทีทั้งย่อหน้ากลายเป็นประโยคเดียวไปเลย แต่ก็นะ ถ้าตัดเป็นหลายๆ ประโยค แล้วมันรู้สึกว่าอ่านไม่ค่อยลื่นยังไงไม่รู้ เวลาเขียนภาษาอังกฤษ ก็รู้สึกว่าประโยคมันสั้นๆ จัง พอจะเขียนยาวๆ ก็เล่นเอาซะงงอีก
เราก็ตัดให้มันยาวๆขึ้นหน่อยก็ได้นะ.

๏ แฮ่ม เพิ่งจะมาเห็นว่าถูกพาดพิงถึง ฯ ผมไม่เคยพูดว่าให้ใช้โคมูตรจบประโยคนะครับ ฯ โคมูตรนั้น ใช้จบเรื่องเท่านั้น ฯ ถ้าจะจบประโยค โบราณท่านใช้อังคั่น ซึ่งรูปร่างจะเหมือนไปยาลน้อย อย่างที่ผมใช้อยู่นี้ ฯ โดยอาจจะจบข้อความใหญ่ด้วยอังคั่นคู่อีกทีก็ได้ ๚

๏ อังคั่นเดี่ยวคงจะแยกความแตกต่างจากไปยาลน้อยได้ โดยไปยาลน้อยจะอยู่ติดกับข้อความ ส่วนอังคั่นเดี่ยวจะเว้นวรรคจากข้อความ ๚

๏ เรื่องเครื่องหมายจบประโยคนี้ ภาษาเขียนที่สืบทอดมาจากอักษรพราหมีคงจะมีกัน ฯ ผมทราบมาว่า อักษรเทวนาครีก็มีเครื่องหมายที่เขาเรียกว่า Danda (दंड - ถอดตัวอักษรได้ว่า ทํฑ) และ Double Danda ซึ่งทำหน้าที่อย่างที่เรารับมาเป็นอังคั่นเดี่ยวและอังคั่นคู่ ผ่านอักษรเขมรนี่แหละ ฯ ส่วนการใช้มหัพภาคและจุลภาค เข้าใจว่าจะใช้ตามฝรั่งในยุคหลัง ฯ แต่จะเริ่มตอนไหนก็ไม่ทราบได้ ๚

๏ การพิมพ์ฟองมัน อังคั่นและโคมูตร ถ้าไม่ใช้เต็มรูปแบบนี้ ก็อาจจะใช้แค่อังคั่นเดี่ยว ซึ่งสามารถพิมพ์ได้ในแป้นพิมพ์ทั่วไปอยู่แล้ว ฯ ส่วนถ้าจะใช้เต็ม ๆ ทั้ง ๔ ตัว ก็ใช้แป้นพิมพ์ มอก. ๘๒๐.๒๕๓๘ บนลินุกซ์ได้ ฯ ฟองมันและโคมูตรอยู่ที่ปุ่ม [`/~] ส่วนอังคั่นคู่ ต้องกำหนด level3 shift แล้วอังคั่นคู่จะอยู่ที่ level3 ของปุ่ม [น/ฯ] ๚

๏ จบเครื่องหมายวรรคตอนโบราณ เท่านี้ ๚ะ

สวัสดีครับ

คงจะจริงอย่างที่ว่า แต่ละคน ก็แบ่งประโยคไม่เหมือนกัน แล้วแต่จะคิดว่าเนื้อความจบตรงไหน ที่ร้ายกว่านั้นคือ อ่านบทความในหนังสือพิมพ์บางเรื่อง บางข่าว ประโยคมันไม่จบ ขยายประธานอยู่นั่นแหละ หากริยาไม่เจอ อิๆ

ถ้าตัวแบ่งประโยค หมายถึง เครื่องหมายวรรคตอน ของไทยไม่ค่อยใช้กัน หรือใช้ก็ไม่มาก ไปดูหนังสือเก่าๆ เขียนติดกันเป็นพืด ไม่สนใจว่าสิ้นบรรทัดตรงไหน

อาจจะหมดบรรทั-

ดตรงนี้ แล้วขึ้นบ-

รรทัดใหม่ตรงนี้ก็ได้

การใช้เครื่องหมายจบประโยค ลองดูพจนานุกรมไทย ลองเปิดหน้าไหนก็ได้ ทั้ง ฉบับ 2525 และ 2542 ท่านใช้ จุด ( . ) เมื่อจบประโยค และมีเครื่องหมาย , กับ ; เพื่อแบ่งคำด้วยครับ

ย้อนไปก่อนนั้น รัชกาลที่ 6 ก็ทรงใช้เครื่องหมายเหมือนกัน แต่เมื่อแปลบทกวีจากภาษาอังกฤษ แม้ใช้เครื่องหมายแต่ก็ไม่ได้ใช้ตามอังกฤษทุกตัวไป

นักเขียนบางท่านเช่น ท่านพุทธทาส จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ใช้เครื่องหมายแบบนี้

ผมจะใช้ , เพื่อแยกคำ จะได้ดูง่ายๆ เครื่องหมายคำถามไม่ค่อยใช้ แต่ถ้าจบเรื่อง จบบทความ ชอบใส่จุด จะได้ทราบว่าจบแล้วนะ มีคนรู้จักคนหนึ่ง เขียนจบบทความด้วย ./

๏ ขอแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า Danda ครับ ฯ หลังจากค้นเพิ่มเติม พบว่าตัวสะกดจริง ๆ คือ दण्ड ซึ่งถอดตัวอักษรได้ว่า "ทัณฑะ" (อ่านว่า "ทัน-ดะ") ฯ คำว่า "ทัณฑะ" นี้ แปลตามรากศัพท์ได้ว่า ท่อนไม้ ฯ เป็นคำเดียวกับคำว่า "ทัณฑ์" ที่แปลว่าการลงโทษ ฯ ฮินดูโบราณใช้เป็นหน่วยวัดความยาว ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่ายาวประมาณ ๒ ศอก ฯ ตรงนี้ก็สอดคล้องกับที่เคยได้ฟังชาวเนปาลเล่าให้ฟัง ว่านอกจากเป็นเครื่องหมายวรรคตอนแล้ว ยังเป็นหน่วยวัดโบราณอีกด้วย ๚

๏ ใช้เครื่องหมายวรรคตอนโบราณเพื่อเปรียบเทียบให้ดูนะครับ ว่าใช้แล้วจะเป็นอย่างไร ต่างจากมหัพภาคจุลภาคอย่างไร ฯ ส่วนจะใช้แบบไหน ยังไม่มีความเห็นตายตัวเหมือนกัน ฯ ตามที่ผมคิดเห็น เห็นว่าการเขียนปัจจุบัน แม้จะไม่ใช้เครื่องหมายวรรคตอน แต่ถ้าเขียนให้อ่านรู้เรื่องจริง ๆ ก็ต้องพยายามแบ่งประโยค ฯ ตรงไหนมีแนวโน้มกำกวมก็ต้องใช้สันธานแยกความออกจากกันเหมือนกัน ๚

๏ คุณธวัชชัยพูดถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้ผมนึกถึงอีกเรื่องที่จิตรใช้ และอยากใช้ตาม คือการใช้ ฐ ฐาน และ ญ หญิง แบบไม่มีเชิงครับ ๚

๏ จบความคิดเห็น เท่านี้ ๚ะ

เทพ: ขอบคุณป๋าเทพที่กรุณาเข้ามาชี้แจงเรื่องเครื่องหมายวรรคตอนโบราณครับ :-)

 

ธวัชชัย: ถึงแม้จะแบ่งประโยคออกมาไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่อุปสรรคที่น่ากลัวอะ. เพราะแม้แต่ภาษาอังกฤษก็มักจะแบ่ง เอาคำเชื่อม เช่น however ไว้ต้นประโยคหรือเชื่อมสองประโยคเข้าด้วยกันเป็นประโยคเดียวก็ได้ เช่น S1 however S2. หรือ S1. However, S2. ในงานเขียนใหม่ๆ บางท่านก็ถึงกับใช้ And ขึ้นต้นประโยค.

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะใช้ช่วย แบ่งประโยคภาษาไทยได้คือ การใช้นิยามของประโยคที่เหมาะสม. เท่าที่สังเกตุแต่ผมไม่ได้มั่นใจมากนัก นิยามใน en.wikipedia.org และ sil.org ก็ไม่ได้เขียนว่า ประโยค = ภาคประธาน + ภาคแสดงตรงๆแล้ว. แต่เขียนว่า a sentence is a unit of language, characterized in most languages by the presence of a finite verb. ใน Wikipedia. และ A sentence is a grammatical unit that is composed of one or more clauses. ใน SIL. สำหรับ clause ก็ขอให้มี predicate แต่ว่า subject จะเป็นแบบ implicit และ explicit ก็ได้. สรุปว่า ผมอาจจะว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ประโยคภาษาไทยบางประโยค อาจจะไม่มี subject แบบ explicit (ได้หรือเปล่า?).

ขอบคุณคุณธวัชชัยที่กรุณาให้ข้อสังเกตเรื่องการแบ่งประโยค และข้อมูลเกี่ยวกับภาษาไทยในอดีต อีกทั้งตัวอย่างนักเขียนท่านที่พยายามแบ่งประโยค :-).

เอา แบบ anon ด้วย สิ.

นอกจาก จะ แบ่ง ประโยค แล้ว, แบ่ง คำ ด้วย.

bact' แบ่งคำอาจจะมีประโยชน์ไม่ค่อยชัดเท่าไหร่? เพราะมันแบ่งง่ายอยู่แล้ว?

ก็ดีครับ มีเครื่องหมายชัดเจน ชาวต่างชาติจะได้เรียนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น ก็คงเหมือนจีนแดงที่ปรับเปลี่ยนตัวอักษรให้ขีดน้อยลง ศึกษาได้ง่ายขึ้น แต่จีนไต้หวันไม่เห็นด้วย ยังคงใช้ขีดเต็มเหมือนเดิม

UBUNTUXXX: เหมือนสิงคโปร์กับมาเลเซียก็ใช้ตัวย่อ. อย่างไรก็ตามทั้งจีนแดงและจีนไต้หวัน ก็เพิ่ม fullstop ขึ้นมาจากภาษาจีนดั้งเดิมที้งคู่นะครับ :-).

แบ่ง คำ ยาก นะ ครับ
แต่ ละ คน ก็ แบ่ง ไม่ เหมือน กัน อีก

ผมเชื่อว่าแบ่งไปสักพักก็จะลู่เข้าหากันนะ :-)

ถ้าชีวิตเป็นงานศิลปะ จะกำกวมบ้าง ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร

หรือจะไม่ให้กำกวม ก็ไม่เห็นเป็นอะไรอีก

แต่ถ้าภาษาคืออำนาจ แล้วเขียนไม่ถูกใจใคร ก็อาจมีคนมากระโดดถีบได้ ข้อหาดูถูกภาษาไทย เด็กดีต้องไม่ใช้ภาษาวิบัติ เขียนผิดแล้วพ่องตาย?

 

 

แล้ว ; ละครับ? สงสัยมันอยู่เหมือนกันว่า ; เอาไปใช้ยังไง

สงสัยอีกอย่าง, ถ้า "ภาษางุงิ" เป็นภาษาวิบัติ, แล้วเขียนแบบนี้จะเรียกวิบัติได้ไหมครับ เพราะมันก็เปลี่ยนการใช้ภาษาเหมือนกัน

willwill: ถ้าภาษาวิวัติถคือภาษาที่ *ถูกเปลี่ยนแปลง* ภาษาไทยก็เป็นภาษาวับัติมานานแล้ว (หรือเปล่า?). ภาษาอังกฤษที่เก่ามากๆก็ไม่ได้ใช้อัฒภาค ภาษาอังกฤษก็วิบัติมาแล้วเหมือนกัน ถ้าเรานิยามภาษาวิวัติ ภาษาที่เคยถูกเปลี่ยนแปลง.

ผมอ่านในวิกิพีเดียมาได้ความว่าแบบนี้ อัฒภาคใช้ 2 กรณีหลักๆ คือ

1. ใช้เชื่อมประโยคที่มีความเกี่ยวข้องกันมากๆ อาจจะแทนอัฒภาคด้วยการใช้คำเชื่อม (สันธาน) และมหัพภาคแทนได้. แต่ก็คงได้ความรู้สึกต่างกัน ใช้อัฒภาคไห้ความหมายว่า 2 ประโยคนั้นมีข้อความ(อัฒ) ที่เกี่ยวข้องกันมากกว่าใช้มหัพภาค.

I am not alone; my wife came back to me.

2. ใช้แบ่งระหว่างรายการต่างๆ คล้ายการใช้จุลภาค แต่อัฒภาคให้ความหมายว่าแบ่งแยกออกจากกันกว่าใช้จุลภาค. มักใช้ในกรณีที่มีจุลภาคแบ่งอยู่แล้ว เช่น I traveled to Cambridge, England; Tijuana, Mexico; and Paris, France. ตัวอย่างจาก

มีกรณีอื่นๆ อีกใน http://en.wikipedia.org/wiki/Semicolon

อัฒภาค ในภาษาไทยปัจจุบันนี้ใช้ในพจนานุกรม และการอ้างอิงเอกสารทางวิชาการ เช่น (วิลวิล 2549; อานนท์ 2550) เป็นต้น. อัฒภาคอาจจะเป็นประโยค ในการนำมาใช้แบ่งประโยคย่อยๆ ในภาษาไทยได้ เช่น ประโยคที่เชื่อมกันด้วยคำว่า "ที่", "ซึ่ง" เป็นต้น.

ตอนนี้เพื่อนๆ และผมก็กำลังทดลองกันอยู่ว่าแบ่งประโยคแบบไหนถึงจะได้การแบ่งออกมาที่สอดคล้องกัน ถึงแม้จะมีการแบ่งหลายๆ คน. เรื่องอัฒภาคและประเด็นอื่นๆ ก็คงทดลองในตอนถัดๆ ไป. ถ้าเป็นไปได้อยากจะทดลองในการใช้เขียน/อ่านจริงๆ ว่าทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเปล่า แต่ก็ต้องลงทุนลงแรงเยอะเหมือนกัน.

ในฐานะที่เคยทำวิจัยด้านภาษา

หาก คนไทย ทุกคน เขียน หนังสือ เว้นวรรค ระหว่าง คำ และ มี เครื่องหมาย จบ ประโยค ครบ จะ ทำ ให้ ทำ วิจัย และ ประมวลผล ได้ ง่าย ขึ้น เยอะ มาก ครับ.

แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นนักวิจัยภาษากำลังค้นคว้าหาวิธีการให้คอมพิวเตอร์สามารถแบ่งประโยตและตัดคำได้อัตโนมัติอยู่ครับ

ผมคิดว่า ถ้าหากเครื่องตัดประโยคได้อัตโนมัติ ผลที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่เหมือนกับการที่คนเขียนแบ่งเองอยู่ดี เพราะว่าการที่คนได้แบ่งเองน่าจะทำให้ได้จัดระบบความคิดของตัวเองด้วย.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท