โครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยจะได้อะไร”


“พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยจะได้อะไร”

เนื่องด้วย โครงการอบรมผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง ของ สันนิบาตสหกรณ์ ซึ่งได้จัดมาแล้ว 4 รุ่น โดยมี ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นประธานโครงการฯ

จะมีโครงการสัมมนาวิชาการ  เรื่อง “พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยจะได้อะไร”

ขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่าน เข้าร่วมการสัมนาในครั้งนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 

กำหนดการสัมมนา

เรื่อง “พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทย จะได้อะไร”

ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2552  เวลา 09.00 – 12.00 น.

***************

เวลา 07.30 - 09.00 น. ลงทะเบียน ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส

เวลา 09.00 - 09.15 น. กล่าวรายงาน โดย พลตรี ดร.วีระ วงศ์สรรค์

เวลา 09.15 - 09.30 น. ประธานในพิธีกล่าวเปิดการสัมมนา

โดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เวลา 09.30 -09.45 น. พักรับประทานอาหารว่าง

เวลา 09.45 -12.00 น. อภิปราย เรื่อง “พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทย จะได้อะไร” โดย

1. รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา

2. รศ.ฉายศิลป์ เชี่ยวชาญพิพัฒน์

3. นายชาติ ฟ้าประกาศิต ผู้ทรงคุณวุฒิใน คพช.

ประธานดำเนินการอภิปราย โดย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

วิพากษ์ โดย

1. อัยการปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

2. คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธกส.

3. สว.

เวลา 12.00 น. พิธีปิดการสัมมนา

หมายเหตุ : ประธานพิธีเปิด ประเด็นการนำเสนอ รายชื่อวิทยากรรับเชิญ รายชื่อวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิภายใน ผนส. 4 และอื่นๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

*****************

หลักการและเหตุผล

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตระหนักดีว่า การบริหารกิจการสหกรณ์ให้สำเร็จด้วยดีจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้นำที่มีความรู้ที่ทันสมัย มีจริยธรรม คุณธรรม มีเหตุ มีผลและวิสัยทัศน์เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กร จึงได้จัดหลักสูตร"ผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง"ขึ้นโดยกำหนดว่าก่อนพิธีมอบวุฒิบัตรจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ดูแลเรื่องสหกรณ์ จะต้องจัดกิจกรรมสัมมนาเวทีสาธารณะ เพื่อแสดงภูมิปัญญาที่เล่าเรียนมาและเสนอแนะสิ่งที่มีประโยชน์ต่อขบวนการสหกรณ์และต่อสังคม

พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ได้บังคับใช้มานาน จนมองเห็นสิ่งที่ควรปรับปรุงให้กฎหมายมีประโยชน์ยิ่งขึ้น ขบวนการสหกรณ์ซึ่งนำโดยสันนิบาตสหกรณ์และเครือข่ายชุมนุมสหกรณ์ทั้ง 5 ประเภท จึงได้ร่วมกัน ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสหกรณ์ทั้งฉบับ ซึ่งต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม ศกนี้ สภาผู้แทนราษฎร์ก็ได้กรุณาเห็นชอบพระราชบัญญัติสหกรณ์(ฉบับที่...) พ.ศ. ... และวันที่ 2 พฤศจิกายน ศกนี้ วุฒิสภาก็ได้กรุณาให้ความเห็นชอบโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมจึงส่งกลับมาขอความเห็นชอบ การแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ต่อสภาผู้แทนราษฎร์อีกครั้งหนึ่ง

ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้จะยังไม่ถูกใจนักสหกรณ์ทุกคนอย่างสมบูรณ์ แต่ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ และแก้ไขปัญหาสหกรณ์ทั้งระบบได้ดีกว่า พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับปัจจุบัน และโดยที่ท่านผู้ทรงเกียรติในสภาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลายประการ บางอย่างต่างจากข้อเสนอของขบวนการสหกรณ์ จึงควรที่ผู้บริหารสหกรณ์ทุกประเภทและทุกระดับ ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์ ต้องรับรู้และทำความเข้าใจเพื่อปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบ และวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ที่จะคลอดออกมา และควรที่จะทบทวนถึงบทบาทหน้าที่ และภารกิจของสหกรณ์ที่มีคุณประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ก่อให้สังคมไทยเกิดสันติสุขและความเจริญรุ่งเรือง

ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำสหกรณ์ขั้นสูงรุ่นที่ 4 (ผนส.4) จึงเห็นสมควรจัดกิจกรรมสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่อง"พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยจะได้อะไร" ขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2552 เวลา 9.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกอบรมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์

1.เพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนามีความรู้ ความเข้าใจในสารัตถะของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม

2.เพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนาตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของสหกรณ์ในการพัฒนา และเอื้ออาทรต่อสังคม

3.เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เรียนรู้สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวรับกฎหมายใหม่

4. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความรู้ และทัศนคติ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพ เอกภาพ

และเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำสหกรณ์ เพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์

5. เพื่อให้สหกรณ์ และผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง เป็นที่รู้จัดกับสาธารณชน ชุมชน สังคม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการ ดำเนินการในกระบวนการสหกรณ์ต่อไปในอนาคต

กลุ่มเป้าหมาย

ประธานฯ กรรมการ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้นำสหกรณ์ รุ่นที่ 1-4 ผู้จัดการสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ชุมนุมสหกรณ์ 5 เครือข่าย นักศึกษาและ ประชาชนทั่วไป จำนวน 350 คน

วิธีดำเนินการ บรรยาย/อภิปราย

ประเด็นหัวข้อการอภิปราย “พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยจะได้อะไร”

วิทยากรรับเชิญจากภายนอก

1. อัยการปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

2. คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธกส.

3. สว.

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ภายใน ผนส. 4

5. รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา

6. รศ.ฉายศิลป์ เชี่ยวชาญพิพัฒน์

7. นายชาติ ฟ้าประกาศิต ผู้ทรงคุณวุฒิใน คพช.

ผู้ดำเนินการอภิปราย

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและพัฒนาหลักสูตร ผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง

ที่ปรึกษาโครงการ

1.นายมงคลัตถ์ พุกะนัดด์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

2. ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ประธานคณะที่ปรึกษาโครงการ

3. คณะกรรมการบริหารและพัฒนาหลักสูตร ผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง ทุกท่าน และที่ปรึกษาโครงการ

ระยะเวลาดำเนินการ วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2552 เวลา 09.00 -12.00 น.

สถานที่ ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์ฯ ถ.พิชัย แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความรู้ ความเข้าใจในสารัตถะของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากยิ่งขึ้น

2.ผู้เข้าร่วมสัมมนาตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของสหกรณ์ในการพัฒนา และเอื้ออาทรต่อสังคมยิ่งขึ้น

3.ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้เรียนรู้สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวรับกฎหมายใหม่

4.ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพ เอกภาพ และเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำสหกรณ์ เพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์

5. สหกรณ์ และผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง เป็นที่รู้จักกับสาธารณชน ชุมชน สังคมมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่าย สังคมการเรียนรู้ และการดำเนินการในขบวนการสหกรณ์ต่อไปในอนาคต

ผู้รับผิดชอบโครงการ

พลตรี ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง รุ่นที่ 4 เป็นประธานโครงการ

และคณะผู้เข้าอบรมผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง รุ่นที่ 4 เป็นกรรมการโครงการ

ลงทะเบียน ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์ฯ เวลา 07.30 - 09.00 น.

การสมัคร (ฟรี)

แจ้งความจำนงเข้าร่วมการสัมมนา ได้ที่ สถาบันพิทยาลงกรณและวิชาการ

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เลขที่ 4 ถ.พิชัย แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ

โทรศัพท์ หมายเลข 02-6693254-62 ต่อ 1033 - 1015 หรือ

โทรสาร หมายเลข 02-2411229 ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

หรือที่ คุณเอราวรรณ 089-2001471

หมายเลขบันทึก: 322402เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2009 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (76)

 

คลิกที่นี่ เพื่ออ่านสรุปเปรียบเทียบ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ฉบับเดิม กับฉบับร่างที่ขอแก้ไขใหม่

http://gotoknow.org/blog/chiraacademy/295678?page=16

นางจุธาพร แจ่มใส 089-9222169

วันนี้ได้ แนวคิดว่า การที่เราสร้างผู้นำสหกรณ์ ได้ทั่วประเทศที่มีคุณธรรม จริยธรรม ทำงานสหกรณ์ด้วยอุดมการณ์สหกรณ์ เราจะมีเครือข่ายที่สามารถสร้างระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ การผลิต การตลาด การบริการ โดยเฉพาะ การผลิตด้านการเกษตรและสินค้าอุปโภค เช่น ยาสระผม ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ

น.ส.พัชรินทร์ จินดาไส 086-5101354

ตามที่ได้เข้ารับการสัมนาในเรื่อง "พ.ร.บ. สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยจะได้อะไร" ทำให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจว่า การพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็งนั้น ไม่ใช่แค่องค์กร และบุคลากรที่จะต้องเข้มแข็ง กม.ที่ใช้เพื่อให้ขบวนการสหกรณ์ทั้งองค์กรและบุคลากรต้องเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ได้ สะดวก รวดเร็ว และแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เมื่อสหกรณ์มีความเข้มแข็ง เพราะมีเครื่องมือที่ดีแล้ว ก็จะสามารถทำคุณประโยชน์ให้แก่สมาชิก คืนกำไรให้สังคม ประเทศชาติ เนื่องจากสมาชิกโดยส่วนใหญ๋ ของสหกรณ์ล้วนเป็นบุคคลในกลุ่มซึ่งเป็นเกษตรกร อันเป็นกลุ่มกระดูกสันหลังของประเทศ

สหกรณ์จะพัฒนาได้ขึ้นอยู่กับ "คน" ของสหกรณ์เอง ถ้ายึดหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์ สำหรับการแก้ไขกฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่ง หากแก้ไขแล้ว ปฏิบัติไม่ได้ก็เป็นเพียงกระดาษทางวิชาการ เพราะการแก้ไขกฎหมาย ก็มาจากนักวิชาการไม่ได้มาจากผู้ปฏิบัติคือ สหกรณ์ และตราบใดที่สหกรณ์ยังรวมตัวกันเป็นหนึ่ง (เชื่อมโยง) ไม่ได้ สหกรณ์ก็อยู่อย่างตัวใครตัวมัน เหมือนเดิม และสุดท้าย สหกรณ์ ก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากประเทศไทย

ประจวบ คงเป็นสุข 081-9167933
  1. ต้องมีบทลงโทษในการไม่ชำระค่าบำรุงสันนิบาตฯ โดยกฎหมาย
  2. ต้องจ่ายค่าบำรุงสันนิบาต โดยกำไรสุทธิ ถ้าขาดทุนไม่ต้องจ่ายค่าบำรุง
  3. ผู้นำต้องไม่แบ่งแยกเช่นการเมืองที่เป็นอยู่ อย่างที่อาจารย์จีระ เสนอแนวความคิดต่อที่ประชุม
  4. กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องพัฒนา ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
มยุรี อ้นประเสริฐ 083-7139227

การที่จะทำให้สหกรณ์ ในสังคมไทยเจริญเติบโรได้

  1. ต้องพัฒนาที่คนให้มีความเป็นผู้นำ จะชี้แนะให้คนอื่นมาช่วยกันพัฒนาให้สหกรณ์เป็นที่รู้จัก
  2. ได้ความรู้ด้านกฎหมายเพิ่ม
น.ส.กฤติการ วรรณมานะ 089-6704606

สิ่งที่ได้จากการเข้ารับการสัมนาในครั้งนี้คือ อย่างน้อยก็ทำให้ทราบว่า หลักๆ แล้ว สหกรณ์จะช่วยเหลือให้สมาชิกมีบ้าน มีรถ เป็นของตนเอง ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเพิ่งจะเป็นกรรมการของสหกรณ์ครั้งแรก แล้วพอมีการประชุมครั้งใด ถ้าสมาชิกกู้เงินเกือบจะ 100% ที่ได้รับการอนุมัตให้กู้ได้ ก็เลยเกิดคำถามในใจ แต่พอได้รับการสัมนาครั้งนี้แล้ว จึงจะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น

ขอบคุณค่ะ

ว่าที่ร้อยตรี พล รักษ์ทอง

กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทานจำกัด

สิ่งที่ได้รับ และจะนำไปปรับใช้

  • กรรมการดำเนินการต้องมีธรรมาภิบาล สร้างความเชื่อถือให้สมาชิก เชื่อว่า ทำโดยไม่โกง , ทำแล้วเจริญมั่นคง (ไม่เจ๊ง)
  • แนวคิดที่จะทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิกจริงๆ
  • ขจัด เหลือบ ทั้งในรูปขององค์กร และบุคคล

 

ทำอย่างไรให้สหกรณ์อยู่ในสังคมไทยให้อยู่ได้

  1. แสดงให้เห็นความเข้มแข็งของสหกรณ์
  2. เอื้อเฟื้อแก่สังคม และชุมชน ให้สังคมได้รู้จักองค์การสหกรณ์มากขึ้น
  3. แสดงถึงหลักการ และอุดมการณ์ ขององค์การสหกรณ์ให้มากขึ้น
  4. ใช้ปรัชญาของในหลวงท่าน เข้ามาใช้ในองค์การสหกรณ์
  5. ให้รู้ว่าสมาชิกได้ผลประโยชน์
อ.ปรีชา ปิยจันทร์ สหกรณ์ออมทรัพย์ม.เกริก

ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จัดให้มีการสัมนา เพราะทำให้รู้ว่า กฎหมายสหกรณ์มีจุดบกพร่องตรงไหน อย่างไร ทำให้แก้ไข เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น กับการบริการสหกรณ์ต่างๆในอนาคตได้

ผมมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็ก ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น จาก พรบ.เดิม แล้วแก้ไขใหม่มีประเด็นสำคัญ อะไร จะได้นำไปถ่ายทอดสู่คณะกรรมการดำเนินงาน และสมาชิกสหกรณ์ต้นสังกัดต่อไป

น.ส.วรวรรณ ส่องพลาย สหกรณ์ออมทรัพย์ กฟน. จำกัด
  • ทราบการเปลี่ยนแปลง พรบ. กม.สหกรณ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งควรเป็นเรื่องอุดมการณ์สหกรณ์ฯ ให้มากที่สุด เพื่อความเข้าใจสหกรณ์
  • พรบ. หรือ กฎหมายลูก ควรเน้น ให้มีการเชื่อมโยงในเครือข่ายกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ในขบวนการสหกรณ์ ตามที่ รอง ธกส. พูด
นายชัยยุทธ์ มิตรอารีสัมพันธ์

เป็นลูกศิษย์ผู้นำแห่งความเป็นเลิศ รุ่นที่ 1 สนับสนุนตามร่างแก้ไขในทุกประเด็น

ฝากเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่าย ให้เป็นรูปธรรม มีความสนับสนุน ในทุกเรื่องที่อาจารย์ได้สั่งสอนมาโดยตลอด

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้ง

น.ส.นงนุช ศิริเกียรติ์ดำรงค์

ความรู้ที่ได้รับในการสัมนาครั้งนี้ เป็นความรู้ที่ดีมาก จะนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ หน้าที่ความรับผิดชอบในสหกรณ์ต่อไปค่ะ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

สหกรณ์บริการขนส่งและการค้า จำกัด

ระเบียบ มโนรัตน์ ผนส. 2

ได้แรงจูงใจมากขึ้น ที่จะช่วยทำให้เรื่องของสหกรณ์เป็นวิถีชี้วัดของคนไทย

กฎหมายที่จะขอแก้ไข ยังไม่ชัดเจน มีบาง มาตราซ้ำซ้อน และขัดแย้งในตัวเอง

วันนี้ข้าพเจ้า ได้รับความรู้อย่างมาก ในเรื่องต่อไปนี้

  1. กฎหมายของสหกรณ์เกี่ยวกับ วาระการเป็นกรรมการและการเป็นผู้แทน/กรรมการ สสท. ไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการของสหกรณ์
  2. ภาวะผู้นำ มีบทบาทต่อขบวนการสหกรณ์อย่างไร ต้องพยายามผลักดัน ขบวนการสหกรณ์ให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ อย่างจริงใจ โปร่งใส
  3. คน คือ หัวใจสำคัญของสหกรณ์ ต้องมีการพัฒนา

เรียน อ.ดร.จีระ

รู้สึกดีใจที่จะมีการแก้ไข พรบ.สหกรณ์ 2542 ให้ดีขึ้น แต่มองประเด็นของการแก้ไขส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญกับสหกรณ์ที่เป็นสถาบันการเงิน (สหกรณ์นอกภาคเกษตร) เท่านั้น ในขณะที่สหกรณ์ภาคเกษตรมีปัญหามาก มีสมาชิกผู้มีส่วนได้เสียมาก แต่ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเลย

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม

กฤษณะ ผนส.2

ขอบคุณ ผนส.4 ที่จัดงานที่ได้ประโยชน์แบบนี้

ไพรพนา ฉ่ำเย็นอุรา 089-6800445

สิ่งที่ได้ในวันนี้

สิ่งที่สหกรณ์ต้องปรับปรุง

  1. กฎหมาย
  2. คน ทำอย่างไรให้มีคุณภาพ
  3. สหกรณ์ทำอะไรให้สังคม

จุดอ่อนที่สหกรณ์ต้องแก้ไข

  1. การบริหารจัดการ
  2. เงินทุน
  3. ความรู้ของคน
  4. ธรรมาภิบาล

ทั้งหมดนี้ (ท.ท.ท.) ทำทันที

สหกรณ์ต้องมีสวัสดิการ เพื่อเป็นกาวใจในการใช้บริการ

ไพรพนา ผนส.2

สหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา จำกัด

วันนี้ได้ทราบความก้าวหน้าในการที่สันนิบาตฯ มีความพยายามหาวิธีและแก้ไขปัญหาให้ขบวนการสหกรณ์ฯ เข้มแข็ง และช่วยให้ประชาชนมีสหกรณ์ฯ เป็นเสาหลักของประเทศไทย และได้วิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาให้สหกรณ์ฯ ต่อไป

นายสีลา ภูคลัง ผนส. 4

สหกรณ์ไทยควรร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย และพัฒนาขบวนการสหกรณ์ไปในทิศทางให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเป็นรูปธรรม

ได้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ เป็นความจริงที่กรรมการหรือสมาชิกไม่รู้เรื่อง กฎหมายความรู้น้อย หรือจะบอกว่าไม่มีความรู้เลย สมาชิกก็ต้องการแต่ผลประโยชน์ โดยขาดความรับผิดชอบและความเสียสละ ทำให้สหกรณ์ไม่เจริญเติบโต ชาวบ้านเรียกว่าการศึกษาน้อยเข้าใจยาก จะแก้ไขอย่างไร ขาดความเข้าใจในสหกรณ์

ในนามตัวแทนสหกรณ์ชุมชนร่วมใจพัฒนา

มานิตา พุ่มไสว 081-6437099

แนวคิดที่จะนำความรู้จากการเข้าร่วมสัมนา ครั้งนี้นำไปพัฒนาสหกรณ์ที่ทำอยู่ ให้เกิดความเข้มแข็ง มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเน้นในเรื่องการให้ความรู้ แก่บุคคลากร และสมาชิก ให้เพิ่มขึ้น เข้าใจประโยชน์ที่แท้จริงของระบบสหกรณ์อย่างแท้จริง เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะกับตนเอง

จาก สหกรณ์ออมทรัพย์โรงเรียนเอกชน จำกัด

นายคาวุฒิ ฝาสันเทียะ

ฝากคำถาม

สมาชิกมีหนี้สินเงินกู้ค้างอยู่ 500,000 บาท ต่อมาสำนักงานบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้น เมื่อสมาชิกผู้นี้พ้นจากสมาชิกภาพ สหกรณ์ฯ จะนำค่าหุ้นหักชำระหนี้เงินกู้ ได้หรือไม่อย่างไร?

สิ่งที่ได้

รับทราบกฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่ และแนวคิดการบริหารจัดการให้รองรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ ศึกษาหาความรู้ ทำพันธมิตร ทำงานเป็นเครือข่าย เป็นต้น

กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมควบคุมโรคจำกัด

ประยูร โยธินทวี 081-3418369

เรื่องการบริหารจัดการ สร้างแรงจูงใจ

  1. จัดโครงการให้เป็นรูปธรรม
  2. พัฒนาคน (สมาชิก) เพิ่มอาชีพ
  3. จัดงานเพื่อสังคม ให้รู้จักสหกรณ์มากขึ้น
  4. จัดประชุมเชิงวิชาการ ให้ความรู้แก่สมาชิก
  5. ส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ (สร้างเครือข่าย)

กรรมการสหกรณ์เคหะสถานประเวศพัฒนา จำกัด

วันนี้ที่จัดการสัมนา ไม่ได้เฉพาะเรื่อง พรบ.สหกรณ์อย่างเดียวเท่านั้น ยังได้ความรู้เกี่ยวกับ อะไรมากมายเกี่ยวกับสหกรณ์ เช่น หลักเกณฑ์ กฎหมาย ความเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์ผู้นำ หลักปฏิบัติของผู้นำ การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่เราจะต้องร่วมกันผลักดัน ให้เดนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง โดยใช้ทฤษฎี 4L ของ ศ.ดร.จีระ

ตอนนี้สหกรณ์เคหสถานประเวศพัฒนา จำกัด ประสบปัญหาด้านผู้นำ และขาดทุน และการบริหารจัดการของคณะกรรมการ ที่ขาดความรู้ความสามารถ ขาดวิสัยทัศน์ กว้างไกล คือ บ้าคลั่งตัวเอง ไม่บ้าคลั่งสหกรณ์ มีอีกอย่างคือ พูดมาก ,ฟังน้อย พูดแต่เรื่องไร้สาระ ไม่ค่อยฟังความคิดเห็นของคนอื่น ขาดวิจารณญาน โดยปกติแล้ว คนเป็นผู้นำระดับผู้บริหาร จะต้องฟังให้มาก พูดให้น้อย แต่ต้องพูดอย่างมีเหตุและผล เท่าที่ผ่านมา การประสานงานกับหน่วยงาน หรือกับสถาบันการเงินของรัฐบาลล่าช้า และไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง คือไม่เด็ดขาด จึงทำให้การรับทราบเกี่ยวกับการอนุมัติการเงินล่าช้าไปด้วย

ทางสหกรณ์(ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของสหกรณ์) อยากให้ทางสันนิบาตฯ ช่วยให้ความรู้ และเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาให้กับสหกรณ์เราด้วยค่ะ (โดยเฉพาะคณะกรรมการ)

ขอบคุณค่ะ

สหกรณ์เคหสถานประเวศพัฒนา จำกัด

** ครั้งต่อไปอยากให้จัดสัมนา โดยมีการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย จะดีมากค่ะ

นางสุภารัตน์ พานสมบัติ 081-8232308

สหกรณ์ต้องเป็นผู้ให้ การให้ทำให้ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับคืนมา เพราะสหกรณ์ต้องเอื้ออาทรต่อสังคม ไม่มุ่งกำไรเกินควร ดังนั้น สังคมจะได้อะไรจากสหกรณ์ ต้องทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง โดยมุ่งแก้กฎหมายที่ไม่เน้นต่อสหกรณ์ และสมาชิกได้รับความรู้ การบริหารจัดการ และหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี การแสวงหาความรู้โดยศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย โดยเฉพาะกฎหมายแรงงาน เพื่อสร้างแนวคิดในการพัฒนาสังคมโดยรวม

ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ศาลยุติธรรม

เกี่ยวกับกฎหมาย ที่อาจารย์ปรเมศวร์พูดถึง กฎหมายสหกรณ์และกฎหมายแรงงาน

ได้มาร่วมประชุม ได้มีความรู้ การประชุมอภิปรายการแก้กฎหมายของสหกรณ์ เพื่อเป็นที่แก้ปัญหาให้กับสหกรณ์ต่อไป ขอให้กระทรวงเกษตรเป็นผู้ดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศ

ได้รู้ว่า ระบบสหกรณ์จะเดินไปได้ต้องอาศัย กลไกคือ

  1. สร้างอุดมการณ์ให้บุคลากรรู้ มีอุดมการณ์สหกรณ์และมีธรรมาภิบาลในองค์กรของสังคม
  2. แก้กฎหมายแต่ละข้อควรให้สอดคล้องกันอย่าให้ซ้ำซ้อนกัน

สรุปอภิปราย เรื่อง “พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยจะได้อะไร” วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2552 

รอบแรก

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

  • เราต้องเอาใจใส่กระบวนการกฎหมายของไทยให้มากขึ้น ตอนนี้ ประเทศไทยใช้กฎหมายน้อยมาก
  • ขอให้สหกรณ์แนะนำให้นักการเมืองออกกฎหมายที่มีประโยชน์และสามารถนำไปปฏิบัติ พัฒนาสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม และต้องนำงบมาพัฒนาคนอย่างจริงจัง
  • ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ต้องทำให้สื่อรู้ว่ากฎหมายนี้สำคัญ
  • สหกรณ์ต้องคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์ คุยกับกระทรวงพาณิชย์รู้เรื่อง
  • สหกรณ์ต้องสร้างแบรนด์ วางตำแหน่งตนเองให้สูงโดยทำให้มีบทบาทมากขึ้น ให้คนในวงการอื่นสนใจสหกรณ์มากขึ้น

 

รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • มาตรา 42 วรรค 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะห้ามเจ้าหนี้อายัดหุ้นสมาชิก ดังนั้นหนี้สินของสมาชิกที่เกิดกับสหกรณ์จะถูกหักจ่ายรายแรก เท่ากับสหกรณ์ได้ประโยชน์
  • ในวรรค 2 ที่อนุญาตให้หัก ณ ที่จ่ายได้ เวลาที่สมาชิกกู้ ก็หักจ่ายหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสหกรณ์ก่อน ทำให้หนี้เสียน้อยลง สมาชิกได้ประโยชน์ เมื่อหักหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันอาจไม่ต้องชำระหนี้แทน
  • ในมาตรา 42/2 ที่อนุญาตให้สมาชิกอาจตั้งผู้รับโอนประโยชน์ อาจทำให้มีปัญหาวินัยการเงิน ผู้จัดการมรดกอาจเรียกร้องจุดนี้ แต่สมาชิกก็ได้ประโยชน์ ไม่ต้องร้องต่อศาลเพื่อจัดการมรดก ทำให้ให้เงินใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทายาท

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

  • กฎหมายฉบับนี้ต้องพัฒนาไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
  • สมาชิกสหกรณ์อาจกู้หลายแห่ง กฎหมายฉบับนี้อาจทำให้สหกรณ์ไม่เสียเปรียบ

 

รศ.ฉายศิลป์ เชี่ยวชาญพิพัฒน์ ประธานกรรมการดำเนินการร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด

  • สหกรณ์ต้องเอื้ออาทรต่อชุมชน ต้องรักษาผลประโยชน์ต่อสมาชิกและเอื้ออาทรต่อสังคมดังพระราชดำรัสในหลวง “การให้คือการได้” ซึ่งทางร้านสหกรณ์กรุงเทพได้พิสูจน์แล้วว่าเป้ฯความจริง มีผลต่อยอดขาย
  • ปัจจุบันนี้ ร้านสหกรณ์กรุงเทพได้เปลี่ยนแปลงโดยลดราคาสินค้า มีมุมสำหรับผู้สูงอายุ มีกิจกรรมไหว้พระ 9 วัด นิมนต์พระมาเทศน์ สอนไท้เก๊ก เป็นศูนย์กลางชุมชนในการจัดงานต่างๆ ทำให้ชุมชนรู้จักและมาอุดหนุนมากขึ้น
  • นักสหกรณ์ต้องเป็นผู้ให้แก่สังคม
  • สหกรณ์ต้องดำเนินด้วยหลัก
  • เจริญทรัพย์ ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้สมาชิก ช่วยให้เขาขายสินค้าได้ และซื้อสินค้าได้ในราคาที่เป็นธรรม
  • เจริญธรรม คือ สมาชิกช่วยสังคมและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  • เจริญสุข ลดความขัดแย้ง รู้จักให้อภัย ทำให้สังคมมีรากฐานด้านประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เป็นพื้นฐานเศรษฐกิจมั่นคง รู้จักออม เดินสายกลาง

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

  • ควรของบประมาณจากกกต.มาร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์รณรงค์การไม่ซื้อเสียง

 

นายชาติ ฟ้าประกาศิต ผู้ทรงคุณวุฒิใน คพช.

  • ขบวนการสหกรณ์พยายามขับเคลื่อนมาตรา 42 วรรค 2 เจ้านี้ภายนอกยังยึดอายัดได้ แต่สหกรณ์มีสิทธิจำนองเพื่อนำเงินค่าหุ้นมาหักหนี้ได้ก่อน
  • ในการแก้ไขกฎหมายให้สหกรณ์รับฝากเงินสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นการแก้ไขเงินล้นระบบ
  • นอกจากนี้มีกลุ่มคนบางกลุ่มดำเนินการคล้ายสหกรณ์ กฎหมายที่แก้ไขใหม่จะนำคนพวกนี้มาเข้าสู่ขบวนการสหกรณ์และทำให้ขบวนการสหกรณ์โตขึ้น
  • ในมาตรา 112 ให้จำนวนผู้แทนในสหกรณ์แต่ละภาคเท่ากันหมด แต่ภาคเกษตรมีคนมาก ควรจะมีผู้แทนมากกว่า
  • กฎหมายใหม่นี้ยังไม่เน้นระบบการศึกษาทำให้ไม่มีเงินเข้ามาพัฒนาคน
  • ควรแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของสหกรณ์
  • ในการเว้นวรรคการเป็นกรรมการ ภาคเกษตรหาคนยาก จึงไม่เหมาะสมที่จะแก้กฎหมายนี้
  • สหกรณ์ยังต้องแข่งขันกับห้างต่างชาติ กฎหมายไม่ได้สนับสนุนสหกรณ์
  • ขอให้ช่วยกันผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนสหกรณ์ด้วย

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

  • ควรคิดแก้ไขกฎหมายตลอดเวลา
  • ในด้านการเงิน ควรทำให้สหกรณ์ป้องกันตัวเองจากความโลภของผู้กู้
  • ต้องลงทุนด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีคุณภาพ
  • ชอบประเด็นการวางแผนพัฒนาคนกับการจัดการกับโลกาภิวัตน์ สหกรณ์จะได้ไม่ถูกบดขยี้จากห้างต่างชาติ
  • สหกรณ์ควรคิดว่า ได้ทำอะไรให้ประชาชน 64 ล้านคน
  • ควรไปหาเงินจากแหล่งเงินอื่นด้วย ต้องมีเครือข่าย

 

อัยการปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

  • เห็นด้วยกับดร.จีระ กฎหมายที่ไม่ดี ก็แก้ไขได้
  • การแก้กฎหมายฉบับนี้ถือว่าดี มีการแก้ไขเกี่ยวกับคณะกรรมการ แม้จะมีผู้บริหารระดับสูงมาร่วมเป็นกรรมการ แต่ก็มักส่งข้าราชการ C5, C6 มาประชุมแทน ควรจะบรรจุประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรเข้าไปในคณะกรรมการด้วย
  • เวลาดูกฎหมายสหกรณ์ ควรดูควบคู่ไปกับบริบทและกฎหมายอื่นๆ
  • มาตรา 42/1 วรรคสุดท้าย อาจทำให้เกิดปัญหา ในการหักเงินต้องหักให้สหภาพก่อน ดังนั้นเจ้าหนี้ภายนอกไม่สามารถหักหนี้จากสหกรณ์ได้
  • ถ้าสหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นายทะเบียนต้องออกคำสั่ง
  • บางที กฎหมายดูดี แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

  • จะนำไปคิดต่อการพิจารณาคดี ต้องให้การศึกษาแก่ศาลด้วย
  • ขอให้ดูกฎหมายอื่นประกอบ จะได้ไม่ขัดแย้ง

 

คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธกส.

  • เห็นด้วยกับรศ.ฉายศิลป์ เรื่องวิธีการทำงาน
  • เห็นด้วยกับคุณชาติหลายเรื่อง
  • เห็นด้วยกับอัยการปรเมศวร์ว่ามีกฎหมายมากมายที่ไม่ได้ใช้
  • ในปัจจุบัน สหกรณ์มีจำนวนมาก
  • ขบวนการสหกรณ์มีความเข้มแข็ง ตอนเศรษฐกิจล่ม แต่เศรษฐกิจสหกรณ์ไม่ล่ม คนมักมองข้าม หันไปช่วย
  • ธุรกิจอื่น
  • สหกรณ์ค้ำชูประเทศไว้ แต่ไม่มีคนช่วยสื่อสารออกไป
  • นายทุนไม่อยากให้ขบวนการสหกรณ์ใหญ่
  • ควรเขียนในกฎหมาย ให้สิทธิพิเศษ เพราะขบวนการสหกรณ์รวมคน รวมทุน ให้ประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่รวยคนเดียว มีการเอื้ออาทร
  • ในการวิจัยและพัฒนา หรือลงทุนด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เขาคิดเป็นค่าใช้จ่าย แต่สหกรณ์ควรถือเรื่องนี้เป็นการลงทุน ต้องมีการกระตุ้นและพัฒนา
  • สหกรณ์ยังขาดธรรมาภิบาล เป็นจุดอ่อนให้นายทุนโจมตี
  • ต้องทำให้เชื่อว่า สหกรณ์มีความโปร่งใสและเข้มแข็ง
  • สหกรณ์แก้ปัญหาการจนเพื่อน การมาเรียนก็เป็นการสร้างเครือข่าย
  • ต้องให้ความรู้ประชาธิปไตยโดยใช้งบประมาณกกต.
  • เมื่อไม่จนความคิด มีความคิดนอกกรอบและมีเพื่อนก็จะได้เงินตามมา
  • ต้องผลักดันให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กฎหมาย
  • ควรเสนอส.ส.ว่า ถ้าทำตามนโยบายที่เราต้องการ เราจะเลือกเขา
  • ต้องเปลี่ยนความคิด นำวิธีการจัดการเข้ามาใช้
  • ต้องทำให้คนอื่นศรัทธาวงการสหกรณ์
  • ต้องจำกัดสหกรณ์เทียม ที่แอบอ้างชื่อไปใช้แล้วสร้างปัญหา
  • ขบวนการสหกรณ์ต้องมีสวัสดิการจูงใจให้คนอยู่ในระบบกฎหมายแก้ได้ ต้องผลักดันผ่านส.ส.และส.ว.
  • ต้องคิดและเริ่มทำที่ตัวเรา ใช้สูตรททท. ทำทันที

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

  • ความคิดของคุณเอ็นนูสุดยอด
  • ถึงไม่มีพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับนี้ ประเทศไทยก็ได้ด้วย ถ้าคิดร่วมกันหรือทำตามกฎหมายก็ได้
  • เงินไทยเข้มแข็งมาที่สหกรณ์น้อยมาก บางทีไม่มีเงิน แต่สหกรณ์ก็ยังช่วยประเทศ

 

รอบสรุป

 

นายชาติ ฟ้าประกาศิต ผู้ทรงคุณวุฒิใน คพช.

  • มาตรา 50 ควรเป็นไปตามพระราชบัญญัติฌาปนกิจสงเคราะห์
  • ควรให้เป็นกรรมการ 2 วาระติดกันได้ แต่ต้องได้รับเสียงยอมรับ 2 ใน 3
  • ในการตั้งผู้รับประโยชน์ เดิมกำหนดว่าผู้รับต้องเป็นทายาท แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จ่ายให้คนที่สมาชิกแสดงเจตนาที่จะให้ มาตรา 42/2 ที่เดิมระบุว่า ผู้รับต้องเกี่ยวพันกับสมาชิก แต่ปัจจุบันไม่มีการกำหนดแล้ว

รศ.ฉายศิลป์ เชี่ยวชาญพิพัฒน์ ประธานกรรมการดำเนินการร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด

  • ร่างกฎหมายนี้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังดีกว่ากฎหมายเดิม
  • ควรผลักดันให้พ.ร.บ.นี้ผ่านก่อนแล้วหาทางปรับปรุง
  • ควรผลักดันให้มีการฝึกอบรมผู้นำสหกรณ์ให้มากขึ้น ควรมีเงินจากรัฐมาสนับสนุนด้านนี้
  • สันนิบาตสหกรณ์ควรจัดการอบรมแบบสัญจรไปตามภาคต่างๆ
  • ร้านสหกรณ์กรุงเทพได้รับผลกระทบจาก VAT ทำให้เสียรายได้มาก
  • ควรใช้มติคณะรัฐมนตรีสมัยจอมพลถนอม กิตติขจรที่อนุญาตให้ราชการซื้อของจากร้านสหกรณ์โดยไม่ต้องประมูลและควบคุมไม่ให้หาผลประโยชน์ในทางมิชอบ
  • ร้านสหกรณ์กรุงเทพมีการขยายตรง ขายส่ง ถ้าแก้กฎหมาย ร้านสหกรณ์ก็จะอยู่ได้
  • ควรผลักดันส.ส.ให้ผ่านกฎหมายแล้วบังคับใช้

 

รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • จากการที่เคยเป็นประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ทราบว่าค่าบำรุงมีความสำคัญต่อสันนิบาตสหกรณ์ และเห็นว่าค่าบำรุงไม่มีความยุติธรรม
  • ควรออกกฎกระทรวงกำหนดค่าบำรุงเป็นร้อยละ จะได้ยุติธรรม

 

อัยการปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

  • ในการทำพินัยกรรม  หุ้นสมาชิกถือเป็นสินส่วนตัว สามารถทำพินัยกรรมได้ และเจ้าของทรัพย์จะให้แก่ใครก็ได้
  • กฎหมายช่วยสมาชิกได้แต่ไม่ควรปกป้องสมาชิก จะทำให้มีวินัยทางการเงินมากขึ้น

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

  • วันนี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมาย
  • รู้ว่าทุกท่านในงานสัมมนานี้ต้องมุ่งมั่น เอาชนะอุปสรรค แต่ยังไม่ได้ผนึกกำลังกัน
  • ขอแสดงความยินดีกับผนส. 4 และยกความดีเรื่องการจัดสัมมนาครั้งนี้ให้กับผนส. 4

 

ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล

ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล

  • ขอต่อยอดอัยการปรเมศวร์ว่า ในการที่กำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงร่วมเป็นคณะกรรมการ ควรจะเขียนกฎหมายให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพื่อให้เขามาร่วมประชุมได้ และในมาตรา 42 ควรจะมีบทลงโทษเพื่อให้คนทำตามกฎหมาย
  • จากที่คุณเอ็นนูพูดว่า เคยแบ่งประเภทสหกรณ์ ให้นำไปใช้ ควรมีการสร้างธรรมาภิบาลถือเป็นมารยาทและจิตสำนึก ต้องระวังสหกรณ์เทียม
  • ที่เกาหลีใต้เคยมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่มีระบบสหกรณ์ของเขาเข้มแข็ง สามารถชี้ตัวประธานาธิบดีได้

 

 

  • จากที่คุณเอ็นนูพูดเรื่องสหกรณ์เทียม จะเห็นได้ว่า ในมาตรา 37 วรรคแรกระบุว่า เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่า... ได้พิจารณาการเกิดสหกรณ์การเกษตรถ้วนถี่หรือยัง อีกส่วนหนึ่งคือ สหกรณ์การเกษตรที่ดำเนินธุรกิจภายใต้เอกชนถือเป็นการแข่งกับสหกรณ์หรือไม่
  • ในวรรค 3 ที่กำหนดให้คณะกรรมการมีวาระ 2 ปี และอยู่ไม่เกิน 2 วาระ อยากให้เพิ่มอีกว่าให้คณะกรรมการในบางสหกรณ์การเกษตรอยู่ต่อไปได้ เพราะขาดกรรมการ หาได้ยากเพราะไม่มีโบนัส ถ้าแก้ไขได้ จะทำให้สหกรณ์การเกษตรพัฒนา
  • สหกรณ์ของผมได้งบไทยเข้มแข็ง เขาให้ราคากิโลกรัมละ 3 บาท  แต่ให้ชะลอโครงการออกไปก่อน

 

  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องมีเงิน
  • สันนิบาตสหกรณ์ได้รับเงินค่าบำรุง 31 ล้านบาท แต่ขบวนการสหกรณ์ทำเงินได้ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี รัฐบาลให้งบ 4 ล้านบาทพัฒนาคนในภาคสหกรณ์ แต่ต้องมีรายจ่าย 61 ล้านบาท
  • ในมาตรา 60 ที่กำหนดให้จัดสรรกำไรสุทธิ 5% แต่ไม่เกิน 1 หมื่นบาท ควรจะแก้ไข เพื่อจะได้มีความเป็นธรรมระหว่างสหกรณ์เล็กกับสหกรณ์ใหญ่ สหกรณ์ที่มีรายได้มากต้องจ่ายมาก
  • ต้องมีมาตรการบังคับ มีบทปรับที่ตัวกรรมการ แต่สันนิบาตสหกรณ์ไม่มีงบเพียงพอที่จะผลักดัน
ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ

 

  • เห็นด้วยกับที่อัยการปรเมศวร์พูดเรื่องมาตรา 42 ว่าต้องดูกฎหมายทุกฉบับ หักเงินเดือนได้ แต่ต้องดูเรื่องการหักบำนาญ
  • ต้องจ่ายเงินเดือนเต็ม เว้นแต่มีหนังสือยินยอมและไม่มีสิทธิ์เพิกถอน
  • ขอให้ช่วยดูแลด้วย
  • กฎหมายสหกรณ์เป็นกฎหมายพิเศษทำให้เกิดตลาดพิเศษ แต่ไม่ใช่แก้กฎหมายเพื่อให้สหกรณ์อ่อนแอต่อการแข่งขัน
  • กฎหมายสหกรณ์ควรเอาสมาชิกเป็นหลัก ถ้าเน้นกรรมการ เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว จะเป็นผู้แทนสันนิบาตสหกรณ์ไม่ได้
  • คนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ควรเป็นผู้แทนทางสันนิบาตสหกรณ์
  • เห็นชอบ การหุ้น ทำให้เกิดสภาพนอกอาณาเขต ทำให้สหกรณ์อ่อนแอ เงินค่าหุ้น นำมาเบิกหุ้นคืนได้ ถ้าหมดสภาพสมาชิก
  • กฎหมายต้องกำหนดวิธีการแข่งขันแต่ไม่ใช่ให้สิทธิพิเศษแก่สหกรณ์
  • ต้องสอนให้สหกรณ์รู้กฎหมายอื่นด้วย
ดร.ปรีชา สิทธิกรณ์ไกร

 

  • ในพ.ร.บ.ฉบับแก้ไข ก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ผมก็ได้ร่วมขับเคลื่อน
  • ในเรื่องบุริมสิทธิ์ค่าหุ้น เดิมมีความชัดเจน แต่ปัจจุบันมีกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม บังคับชำระหนี้
  • ในมาตรา 42/2 ที่มีการตั้งผู้รับประโยชน์ ทำให้ทายาทโดยธรรมไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์ เพราะกำหนดว่าบุคคลซึ่งหมายถึงนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ทำให้คนนอกและบริษัทสินเชื่อภายนอกมาใช้สิทธิ์มีอำนาจบังคับชำระหนี้ เปลี่ยนแปลงเจตนาเดิม
  • ส่วนเรื่องเงินฝากฌาปนกิจสงเคราะห์ มีการกำหนดเพิ่มว่าต้องมีเงินฝากในสหกรณ์นั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เดิมสหกรณ์ดำเนินฌาปนกิจสงเคราะห์ให้อยู่ในสวัสดิการ

 

  • เราจะไปจัดสัมมนาที่ภาคใต้ด้วยกันและร่วมพัฒนาโดยการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์
  • จากการไปปฏิบัติธรรมกับอาจารย์ยมที่ปากช่อง หลักสูตรรุ่นต่อไปควรมีการปฏิบัติธรรม จะได้ไปทำประโยชน์
  • ควรขอเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ให้ผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการสหกรณ์
  • ขอให้ช่วยกันปลุกกระแสนิยมสินค้าสหกรณ์ เชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
  • ผมฟังด้วยความเต็มตื้นที่ผลักดันสหกรณ์ให้ก้าวหน้า
  • ปัญหาสหกรณ์มีมาก แต่แก้ได้ที่ผู้นำ
  • กฎหมายสหกรณ์บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของสหกรณ์ พอแก้กฎหมายปี 2511 สันนิบาตสหกรณ์ถูกปลดและกลายเป็นสถาบันสหกรณ์เฉยๆ และให้ทุกสหกรณ์เป็นสมาชิกสันนิบาตสหกรณ์โดยอัตโนมัติ ผิดหลักสหกรณ์ที่เน้นความสมัครใจ ทำให้ไม่ชำระค่าบำรุง ควรแก้ให้สันนิบาตสหกรณ์เป็นสหกรณ์อย่างแท้จริง
สุริยะ กลีบเกษร 089-9869955

ได้รับทราบความพยามยามในการแก้ไข พรบ. สหกรณ์ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินการสหกรณ์ แต่ยังไม่เห็นชัดในด้านการนำไปปฏิบัติเท่าที่ควร และเห็นด้วยกับข้อเสนอของ อ.ปรเมศวร์ครับ

วิจิตร หลวงมูล 083-6055597
  1. มาตรา 4.2 ควรจะระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า จะคุ้มครองสมาชิกอย่างไร และห้ามบุคคลหรือองค์กรใดเข้ามาหาประโยชน์จากสมาชิกได้ การหักหนี้สหกรณ์ต้องเป็นระดับที่เหนือกว่านั้น
  2. บุคคลากรในสหกรณ์ ปลูกจิตสำนึกให้กับนักสหกรณ์ให้เข้าใจถึงระบบประชาธิปไตย เมื่อการเลือกตั้งจบแล้ว ทุกคนจะต้องกลับมาสู่การเป็นผู้นำที่มีคุณภาพต่อไป
นายบุญมา ทรัพย์สกุล 081-6574108

ดี ได้ความรู้ทางกฎหมายและข้อต้องปรับปรุงบ้าง เมื่อก่อนไม่เข้าใจ ตอนนี้ทำใจมากขึ้น รัฐควรเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่านี้

รองประธานสหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย จำกัด

ชุติมา กุลดิลกชัย 02-6447745

ได้เห็นถึงพลังเข้มแข็งของชาวสหกรณ์ ถือเป็นก้าวที่เติบโตขึ้นของสหกรณ์ ที่จะพัฒนาสหกรณ์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

ผจก. สหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย จำกัด

ได้ทราบเรื่องกฎหมาย พรบ.สหกรณ์ ต้องดูกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยเช่น กฎหมายแรงงาน และอื่นๆ

คน - สำคัญ มักตีความเข้าข้างตนเองเสมอ

สอ.กปน.

นายสมสิทธิ์ ศรีนาชู 081-5840379

ผู้บริหารสหกรณ์ฯ ต้องเป็นผู้บริหารและขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ผู้บริหารสหกรณ์ฯ ต้องเอาใจใส่ขบวนการร่างกฎหมายให้มากที่สุด เริ่มจากคิดเป็น นำเสนอ ให้องค์การบริหารผู้นำท้องถิ่นของเราออกกฎหมายนำเรื่องระบบการนำ พัฒนาสหกรณ์ไปใช้เพื่อประโยชน์สุขของชุมชนนั้นๆ

อัจฉรา นิ่มแสง 081-8315479

การพัฒนาบุคคลากรในองค์กรอย่างมีคุณภาพ และการเห็นความสำคัญและการให้ขวัญและกำลังใจกับบุคลากรที่ร่วมกันขับเคลื่อนขบวนการสหกรณ์

สุกัญญา มงคลวรกิจชัย 085-1006964

วันนี้ที่ได้เข้ามาร่วมสัมนาสิ่งที่ได้รับคือ

  1. ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับรู้จุดอ่อนของกฎหมายในแต่ละด้าน อาทิเช่น

- คณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ ที่มีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้อง จำนวนมาก ทำให้การประชุมไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งทำให้การประชุมไม่สามารถดำเนินการได้ ถึงแม้จะครบองค์ประชุมก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงควรมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เป็นสำคัญ

- เรื่องการหักเงิน บางหน่วยงานใช้คำสั่งของผู้ว่าฯ เป็นสำคัญ โดยหักให้ธนาคารก่อนสหกรณ์ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ทำให้สหกรณ์มีปัญหาหนี้เก็บไม่ได้ จึงต้องให้ปฏิบัติตามกฎหมายให้ชัดเจน ควรมีบทลงโทษสำหรับคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมาย

2. การดำเนินธุรกิจ ควรสร้างความเชื่อมโยงภายในองค์การ เพื่อเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ทั้งนี้ต้องมีเจ้าภาพ ที่มีธรรมาภิบาลอยู่ในจิตสำนึก โดยต้องไม่เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่

3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้างจิตสำนึกให้สหกรณ์ยืนอยู่ได้ด้วยตนเองให้ได้ คือสอนให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน หน่วยงานควรเป็นเพียงผู้กำกับดูแล แต่ไม่ใชเจ้าของสหกรณ์

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

จากการเข้าร่วมงานสัมนาในวันนี้ ผมคิดว่าเรื่องพรบ.สหกรณ์ใหม่ สังคมไทยได้อะไร

พรบ.เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ความรู้สึกศรัทธา ในอุดมการของสหกรณ์ ของสมาชิก และ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่ว่า เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร รวมทั้งประชาชนทั่วไป

ขอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับสหกรณ์ทั่วๆ ในเรื่องของงบประมาณ และ ประชาสัมพันธ์

นายพงศ์ธวัช ริมดุสิต

สหกรณ์ต้องช่วยเหลือตนเอง และสมาชิก สำคัญ 95% กฎหมายช่วยได้ น้อยกว่า 5% กฎหมายทำขึ้นมาแล้ว ทำให้เห็นว่าเป็นช่องทางของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น บุคลากรในวงการสหกรณ์ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ กฎหมายสะท้อนความคิดของผู้ร่าง ซึ่งไม่แน่ใจว่า บริสุทธิ์ใจหรือไม่ ต้องออกกฎหมายตามแนวทาง ISO เช่น ISO9000 , ISO14000

  • ทุกคนได้ มาตรา 42 แต่ขอให้เพิ่มครอบคลุมข้าราชการบำนาญ
  • ได้การประสานงาน สหกรณ์และสมาชิก

พ.ต.อ.ธงชัย โตงาม

พ.ต.อ.สุพจน์ ศรีสวัสดิ์

พ.ต.ท.สมประสงค์ สุทธิวิเศษ

พ.ต.ท.วีระศักดิ์ บุตรครอง

สอ.ตร.

02-2524736

02-2529110

 

ประเด็นเชิงหลักการใน พรบ.สหกรณ์ เมื่อกำหนดแล้วต้องมีบทลงโทษ หากไม่ปฏิบัติตาม

นพ.สมเกียรติ ธาตรีธร

081-4008535

ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล

นพ.กิตตินันท์ ไทยศรีวงศ์ ผนส.3

สหกรณ์ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ผลักดันให้ออกกฎหมายที่คุ้มครองและสนับสนุนขบวนการสหกรณ์แต่ต้องไม่ทำให้สหกรณ์อ่อนแอ

สหกรณ์ต้องเข้มแข็งและยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ถึงแม้ว่า กฎหมายดังกล่าวในวรรคแรกไม่สามารถออกมาใช้ได้

ดังนั้นสหกรณ์ต้องกล้าลงทุนในการสร้างคน (อย่าถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย) เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการความรู้ และต้องมีธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วยเสมอ

น.ส.สุชาวดี ครามภู 084-3268396

จากการมาเข้าร่วมสัมนา ในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และได้รับฟังความคิดเห็นของแต่ละท่าน ซึ่งความคิดของแต่ละท่านนั้นมีประโยชน์มาก ทำให้เรามีแนวคิดในการกลับไปบริหารงานสหกรณ์ของเรามากยิ่งขึ้น และถ้าหากมีการจัดให้มีการระดมสมอง ระดมความคิดเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับสหกรณ์เป็นอย่างสูง

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เอ็น เอช เค สปริง จำกัด

วาสนา เกตุไพบูลย์
  1. ได้รับทราบเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. สหกรณ์
  2. ได้รับทราบว่า ในการแก้ไข พ.ร.บ. ของสหกรณ์จำเป็นต้องดูกฎหมายของส่วนอื่นประกอบด้วย
  3. ได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สหกรณ์ และมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น

ผช.ผจก. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เอ็น เอช เค สปริง จำกัด

นางสุภาพ จำลองกุล 02-6696579 #0

มาตรา 46(5) แก้ไขใหม่ดีมาก เพราะขณะนี้นายทะเบียนไม่ให้นิติบุคคล เป็นสมาชิกสมทบ มีผลทำให้เงินที่นิติบุคคลมีอยู่ในสหกรณ์ แล้วต้องหยุดดำเนินการต่อ หรือถอนออกไป ทำให้สภาพคล่องของสหกรณ์ลดลง แต่นิติบุคคลเหล่านี้ในอดีตมีบุญคุณกับสหกรณ์ เมื่อสหกรณ์ก่อตั้งใหม่ได้รับเงินมาบริหารงานสหกรณ์

สอ.กรมชลประทาน จำกัด

การสัมนาในครั้งนี้ ได้รับผลประโยชน์หรือได้รับความรู้ในด้าน

  1. กระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.สหกรณ์
  2. กระบวนการผลักดันการเป็นผู้นำสหกรณ์
  3. รัฐบาลให้งบประมาณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ประมาณ 31 ล้าน แต่ต้องนำมาพัฒนาสมาชิก ทีมงาน 10 ล้านคน การจะจัดสัมนาผู้นำไม่สามารถทำได้มาก

นายสุชาติ คงรอด

สหกรณ์ออมทรัพย์เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา จำกัด

ได้ประโยชน์มาก คือ ให้ทุกคนพูดความจริง ผู้บริหารมักพูดเพื่อประโยชน์ของตัวเองเสมอ ไม่บอกความจริงหรือพูดความจริงไม่หมด

และอย่าคิดให้คนอื่นทำ ตัวเราต้องทำ คิดแล้วต้องทำ

รัตน์ ราศีวงศ์ 081-8020102

ได้ความรู้เรื่อง การบริหาร การจัดการ และเรื่องอุดมการณ์ ของสหกรณ์

นายพยงค์ อินทรสาร 086-0179775
  1. หลักสูตร "ผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง" เป็นหลักสูตรที่ทำให้กระบวนการสหกรณ์เข้มแข็งขึ้น
  2. พ.ร.บ.สหกรณ์ ที่แก้ไขใหม่ เห็นควรปรับปรุงในส่วนของงบประมาณให้มีความชัดเจนขึ้น และเน้นสวัสดิการเพื่อเป็นกาวใจ ในการรวมพลังของสมาชิกและระบบสหกรณ์ในอนาคต
ว่าที่ พ.ต.พินิจ ธีระชาติ

สหกรณ์จะเข้มแข็งต้องพัฒนาบุคลากรให้มีจิตสำนึกเป็นนักสหกรณ์ที่แท้จริง จะต้องปลูกฝังและฝึกอบรมกรรมการสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการสหกรณ์นำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

สหกรณ์ออมทรัพย์การประปานครหลวง

ไกรฤกษ์ ดวงคงทอง ผนส.3

พ.ร.บ.สหกรณ์ ต้องแก้ไขเพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งมิใช่แก้ไขเพื่อให้สิทธิ์พิเศษแก่สหกรณ์ เหนือกว่าองค์การอื่น ซึ่งส่งผลกระทบทำให้สหกรณ์อ่อนแอลง และสหกรณ์กลับเป็นเป้าหมายที่ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกสหกรณ์ไปใช้สิทธิ์จัดตั้งเป็น "สหกรณ์เทียม"

สกน.ท่าแซะ จก. ชุมพร

ผากมาศ สุทธิจิตต์ ธกส.

ได้รับรู้ว่าในวันนี้ทุกคนรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ร่วมกัน และได้เห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าในแง่ของกฎหมาย การพัฒนาให้ความรู้และการดูแลสังคม ซึ่งการรับรู้ปัญหาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง

โดยส่วนตัว อยากเห็นระบบสหกรณ์เข้มแข็ง และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสังคมและชุมชนอย่างแท้จริง

เพิ่มเติม ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจาก สมาชิกของสหกรณ์ด้วยเช่นกัน สาเหตุเกิดจากขาดความเข้าใจในระบบสหกรณ์ที่ชัดเจนและลึกซึ้ง

  1. ทำให้รู้เรื่องวิธีการแก้ปัญหาสหกรณ์ วิธีการและบทบาทของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
  2. ทำให้ได้สาระจากผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม สนใจขบวนการของสหกรณ์ สิ่งที่ขอเสนอแนะไปยังท่าน อ.จีระ คือ
  • อยากให้ท่านช่วยจัดการอบรมสหกรณ์ในส่วนของคนตาบอดมีสหกรณ์อยู่ 2 ประเภทดังนี้
  • สหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย จำกัด
  • สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพื่อคนตาบอดและคนพิการ จำกัด

นายทัศนัย จงเขตรการ

สหกรณ์บริการคนตาบอดแห่งประเทศไทย จำกัด

เบอร์โทร 089-8819776

นายเสกสันต์ คงวิเชียร

เห็นด้วยกับการแก้ มาตรา 42 คือในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้ เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่ออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธิหักเงินเป็นลำดับแรก

แต่ต้องไปดูกฎหมายแรงงานด้วยว่าขัดแย้งกันหรือไม่ เพื่อจะได้บังคับใช้กฎหมายได้

ได้ความรู้ทางด้านกฎหมายและความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์เป็นอย่างมาก และได้ฟังแง่คิดจากผู้ดำเนินรายการและผู้อภิปราย

ผมมีความเห็นว่า หลักสูตรผู้นำสหกรณ์ขั้นสูง ควรจัดทุก 6 เดือน เพื่อผลิตบุคลากรด้านสหกรณ์ เข้ามาช่วยพัฒนาวงการสหกรณ์ รวมทั้งพัฒนาประเทศชาติ

ขอบคุณครับ

นายเฉลิมพร เศรษฐี สอ.จุฬาฯ

พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขทำให้สหกรณ์ ลดหนี้สูญลงได้

อรวรรณ วัฒนะรัตน์ 02-2818170
  1. สหกรณ์ต้องเป็นผู้ให้ สังคมเป็นผู้รับ สหกรณ์ต้องไม่เอาเปรียบสังคม
  2. การแก้กฎหมายสหกรณ์ ต้องแก้ไขให้เข้ากับความเป็นอยู่ของชุมชน
  3. การแก้กฎหมายสหกรณ์ ต้องดูผลกระทบ และดูว่าขัดกับกฎหมายใดบ้าง เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
  4. การแก้กฎหมายสหกรณ์ ต้องเขียนเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ ความเกื้อกูล เอื้ออาทรกัน
  5. ก่อนที่จะแก้กฎหมาย ต้องรู้ว่าจุดอ่อนของสหกรณ์มีอะไรบ้าง เช่น การพัฒนาคน การบริหารจัดการ และนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้
  6. กฎหมายสหกรณ์ ต้องไม่ให้สิทธิพิเศษมีเหนือคนอื่น อันจะทำให้สหกรณ์ไม่เข้มแข็ง
  7. การแก้กฎหมายสหกรณ์ ในฉบับร่าง ซึ่งอาจเกิดผลกระทบซึ่งมีผู้นำเสนอในการสัมนาหลายมาตรา ในวันนี้ ควรจะมีการปรับปรุง แก้ไขก่อนที่จะเสนอที่ประชุมสภา เช่น มาตรา 9 , มาตรา 42 , มาตรา 46

สำนักพัฒนาระบบการบริหารการจัดการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์

จิตติมา จันทโร สกก.รัตภูมิ สงขลา

คณะกรรมการทุกสหกรณ์ควรจะรู้ทฤษฎี 4L's

อภิญญา รักนุ้ย สกก.รัตภูมิ สงขลา

ประโยชน์ที่ได้รับในวันนี้

ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นที่จะนำไปพัฒนาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะในด้านกฎหมาย และด้านการพัฒนาผู้นำ เพราะผู้นำเป็นหัวเรือใหญ่ ในการดำเนินการ ในขบวนการสหกรณ์ต่อไปข้างหน้า

พงศธรณ์ แก้วมี สกก.รัตภูมิ จก.

ความเป็นมา

สกก.บางสหกรณ์ โดยเฉพาะ สกก.จำกัด ทำธุรกรรม

  1. ให้กู้
  2. ออมทรัพย์
  3. ร้านค้า
  4. ส่งเสริมอาชีพ(แต่ล้มเหลว)

ทั้ง 4 ธุรกรรม โดยเฉพาะ 3 จะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะเป็น พ่อค้าคนกลาง ของบริษัท นายทุนเสียเอง เพราะส่วนใหญ่จะเอาของมาขายให้สมาชิก โดยราคาก็เท่ากับร้านค้าข้างนอก บางอย่างจะแพงกว่าเพราะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้สมาชิกซื้อของแพงกว่า เพื่อเอากำไรมาจ่ายเงินปันผลแก่สมาชิก แต่ สกก. ไม่ได้เป็นคนกลางให้แก่สมาชิก อย่างจริงจัง ปล่อยให้นายทุน เข้ามามีบทบาทในการเป็นคนกลางเพื่อกำหนดราคาสินค้าของสมาชิก เสียส่วนมาก จึงอยากให้มุ่งเน้น ให้เป็นพ่อค้าคนกลางของสมาชิก มากกว่านายทุน

นายอดิศักดิ์ วชิรสัมพันธ์ ผนส.3

ได้รับประโยชน์ทั้งในแง่ความคิด การสร้างสรรค์งานและการที่จะได้นำความรู้ที่ได้ในวันนี้ ไปพัฒนาการองค์การ และกิจการให้ก่อประโยชน์ต่อวงการสหกรณ์ และประชาชนสังคมต่อไป

โดยเฉพาะในข้อกฎหมายในวันนี้

ได้ฟังความขัดแย้งในข้อกฎหมายในเรื่องการหักหนี้ ของท่าน อ.สวัสดิ์ กับท่านอัยการปรเมศวร์ ทำให้ได้ความรู้ในแง่กฎหมาย เรื่องการขัดแย้งในข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเป็นอย่างยิ่ง

ธีรยา เหล่าบุศณ์นันต์
  1. การแก้ไขกม.สหกรณ์ เพื่อมุ่งให้สหกรณ์ได้รับการสนับสนุน จากรัฐบาล อย่างแท้จริง โดยการสนับสนุน งปม.
  2. การแก้ไข กม.สหกรณ์ บางมาตรา อาจขัดหรือแย้งกับ กม.อื่น เช่น กม.แรงงาน
  3. ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ในเรื่องการแก้ไข กม.สหกรณ์ บางมาตรา อาจทำให้สหกรณ์อ่อนแอลง มากกว่า จะทำให้สหกรณ์เข้มแข็งขึ้น
  4. มุมมองในการตกผลึกทางความคิด ในการใช้กลไกที่มีอยู่ ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์ โดยไม่ต้องรอการแก้ กม.

สำนักมาตรฐานการบัญชี และการสอบบัญชี

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์

ภักนิจ เพิ่มสันติธรรม
  1. กม.แรงงาน การหักเงินเดือนของลูกหนี้เพื่อนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้
  2. เห็นด้วยกบสหกรณ์ที่เป็นเหลือบ
  3. อยากให้มีการปลูกจิตสำนึกแก่สมาชิกสหกรณ์ทุกประเภทและผู้นำ
วันชัย ภูนาคพันธุ สหกรณ์ร้านค้า นครราชสีมา
  1. การแก้กฎหมายสหกรณ์ เห็นด้วยกับ อ.อาบ ในแนวทางการแก้ไขการมองบริบทของสังคม
  2. แนวทางการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ เรื่องด่วน การปลูกจิตสำนึก ของปรัชญาสหกรณ์ หรืออุดมการณ์สหกรณ์ ให้ผู้นำองค์กร และให้สหกรณ์ มีส่วนร่วมในงบประมาณ และการปรับปรุง การจัดการในบริบท การบริการ ให้เห็นภาพชัดเจน
นายฐตปกรณ์ เสมอเหมือน

สิ่งที่ได้รับจากการสัมนาในครั้งนี้ แนวทางในความคิดมากขึ้นในการบริหารจัดการระบบสหกรณ์ และหลักความคิด หลักปฏิบัติของสหกรณ์ จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

รองประธานกรรมการ สหกรณ์การเกษตรหนองจอก จำกัด

โทร. 086-5705457 , 089-8996709

ได้อะไรจากการสัมนา

  1. ได้รับรู้เรื่อง กม.สหกรณ์มากขึ้น
  2. ได้ทราบหลักการในการพัฒนาของ อ.ฉายศิลป์

ประเด็นที่อยากทราบ

ท่านจะพัฒนาผู้นำสหกรณ์ในเรื่อง หลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างจิตใต้สำนึก แล้วท่านจะใช้อะไร เป็นตัวชี้วัด ว่า หลังการอบรมให้ความรู้ แล้วผู้นำจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือนำไปพัฒนาต่อและขยายผลต่อสมาชิก อย่างเป็นรูปธรรม (กลยุทธ์ในการดำเนินการ)

ด้วยความเคารพอย่างสูง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท