เศรษฐศาสตร์สถาบันว่าด้วยกิจกรรมนักศึกษา


ในการทำกิจกรรมของพวกเด็กปี 1-2 แม้ว่า เราจะมองว่ามันไม่ดี คิดน้อย หรือขาดการสร้างสรรค์ก็ตาม แต่จริงๆแล้วพวกเขาก็ทำเต็มที่อย่างมีเหตุผลภายใต้ข้อมูลที่เขามีอยู่ทั้งหมด เป็นประเภทเหตุผลภายใต้ความมีจำกัดของข้อมูล (Bounded Rationality)

          นักศึกษาเข้ามาในมหาวิทยาลัยน้อยคนนักที่จะเข้ามาอย่างมีเป้าหมาย และรู้ว่าตัวเองจะเข้ามาทำกิจกรรมอะไรเพื่ออะไร โดยส่วนมากมักจะเข้ามาเริ่มกิจกรรมครั้งแรกในระดับมหาวิทยาลัย เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆตอนปี 1-2 เป็นหัวหน้างานได้ ในปี 3 และเริ่มจะตกผลึกในปีที่ 4 รู้ทางแก้ไขปัญหาต่างๆได้เมื่อจบการศึกษาไปแล้วย           

เวลาในมหาวิทยาลัยมันสั้นนัก สั้นเกินกว่าที่จะทำให้นักศึกษาคนหนึ่งๆสามารถเรียนรู้ ถอดบทเรียนและประสบการณ์ของตัวเองมาเพื่อพัฒนากิจกรรมของตนให้พัฒนายิ่งๆขึ้นไปได้ แม้จะเป็นกิจกรรมที่ตนทำตลอด 4 ปีก็ตาม นี่ไม่ต้องคิดถึงกิจกรรมที่จัดครั้งเดียวแล้วจบไปเลยนะ การพัฒนาจะเป็นไปได้ยากยิ่งยวด เว้นแต่จะมีรุ่นพี่ประเภทเกาะติดคอยเข้ามาให้แง่คิดต่างๆและควบคุมการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกๆปี ดูได้จากชุมนุมเชียร์และแปรอักษรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์          

พวกกลายพันธุ์จะมีบ้างในบางปี และกระจายอยู่ตามที่ต่างๆอย่างคาดการณ์ได้ยาก และยากที่จะรู้ว่าพวกกลายพันธุ์เหล่านี้อยู่ที่ไหน ซึ่งทำให้เกิดการรวมพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆได้ยาก พวกกลายพันธุ์คือพวกที่แหกคอก เีรียนรู้ได้เร็ว หรือสั่งสมประสบการณ์ในการทำกิจกรรมและมุมมองต่อสังคมมามากกว่าคนอื่นๆในรุ่นเดียวกัน           

ฉะนั้นจริงๆแล้ว ในการทำกิจกรรมของพวกเด็กปี 1-2 แม้ว่า เราจะมองว่ามันไม่ดี คิดน้อย หรือขาดการสร้างสรรค์ก็ตาม แต่จริงๆแล้วพวกเขาก็ทำเต็มที่อย่างมีเหตุผลภายใต้ข้อมูลที่เขามีอยู่ทั้งหมด เป็นประเภทเหตุผลภายใต้ความมีจำกัดของข้อมูล (Bounded Rationality) ความมีจำกัดของข้อมูลนั้นมีจำกัดถึงขนาดว่า หากไม่ได้มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลย กิจกรรมเหล่านั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่อาจเห็นประโยชน์ของกิจกรรมต่างๆได้ และเห็นต้นทุนของมันมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อคิดเรื่องกิจกรรมเชื่อมโยงกับการเรียนในมหาวิทยาลัย ยิ่งเห็นคุณค่าของกิจกรรมน้อยลงไปมากๆ เนื่องจากเด็กๆไม่เคยพบเห็นประโยชน์ของการลงมือทำกิจกรรม          

หากมองตามหลักของเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics) เราก็จะบอกได้ว่า สิ่งที่จะมีอุดรอยรั่วของความไม่สมบูรณ์ของการใช้เหตุผลของมนุษย์ (ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อสมมติของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก หรือแบบดั่งเดิม ที่มองว่ามนุษย์นั้นมีเหตุผล) ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า สถาบัน ซึ่งคำว่าสถาบันนี้ เป็นเหมือนระบบ เงื่อนไข กติกา ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลต่อพฤติกรรมของคน หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษ ว่าเป็น Rule of the game สถาบันก็คือ กติกา หากเราเล่นบอลเราจะรู้ว่า กติกาแพ้ชนะ อยู่ที่ประตูที่ได้ จำนวนผู้เล่นมี 11 คน ฯลฯ ถ้าเราทำธุรกิจอยู่ในระบบตลาด เราจะรู้ว่า ถ้าธุรกิจเราชนะคือมีกำไรมาก ธุรกิจแพ้คือมีกำไรน้อยหรือขาดทุน game over เมื่อถึงจุด shut down point โดยมีราคาเป็นเส้นที่คอยเป็นกรรมการ... กฎหมาย รัฐธรรมนูญ เป็นสถาบันที่เป็นทางการ ส่วนพวก ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี คือสถาบันที่ไม่เป็นทางการ            เราจะเห็นได้ว่า บางกิจกรรมที่แม้เราจะโตป่านนี้แล้วก็ยังหาเหตุผลได้แค่ ข้างๆคูๆ ว่าทำไมต้องทำ อย่างกิจกรรมรับน้องยังดำรงมาจนปัจจุบัน แม้ว่าจะมีน้องจำนวนมากที่ไม่ชอบ ครูบาอาจารย์จะไม่สนบัสนุนเพียงใด มันก็ยังคงจัดอยู่ ทั้งนี้เพราะมันไม่ใช่แค่กิจกรรม แต่มันเป็น วัฒนธรรม ไปแล้ว เป็นกติกาในสังคมไปแล้วว่า ถ้าคุณเข้ามาปี 1 ต้องทำกิจกรรมนี้ๆ ปี 2 ทำกิจกรรมนี้ๆ มันถูกทำมานาน ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำทุกปี จนเราไม่มีทางรู้ว่าทำไมเราจัดกิจกรรมนี้          

ทำให้นึกไปถึงการทดลองทางจิตวิทยา ที่เอาลิงมาใส่ในกรง 5 ตัว มีกล้วยแขวนไว้เหนือบันไดกลางห้อง ถ้าลิงแตะบันได น้ำจะฉีดใส่ลิงอย่างแรงจนลิงตกลงมา ฉะนั้น ลิง 5 ตัวจะรู้ว่า ถ้าแตะบันได ซวยแน่ ห้ามแตะ...ต่อมา นักจิตวิทยา เอาลิงตัวนึงออกและเอาลิงตัวใหม่เข้าไปแทน ลิงตัวนี้ไม่รู้เรื่องรู้ราว จะปีนบันไดไปเอากล้วย กลับถูกลิง 4 ตัวที่เหลือ รุมสกรัม ไม่ให้เข้าไป ... ต่อมา ก็เปลี่ยนเอาลิงตัวเก่าอีกตัวนึง แทนด้วยลิงตัวใหม่ ก็เกิดสถานการณ์เดียวกันอีก ... ทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่ง ลิงทั้งกรงเป็นลิงชุดใหม่ทั้งหมด ไม่มีลิงตัวใดเคยผ่านประสบการณ์ถูกน้ำฉีดตกจากบันไดเลย แต่ลิงก็ยังคงไม่แตะต้องบันได คล้ายๆกับเป็นประเพณีและวัฒนธรรมของหมู่ลิง          

รับน้องก็เช่นเดียวกัน เป็นวัฒนธรรม และถ้าไม่จัดก็จะถูกสังคมรุมประณาม อย่างไรก็ดี รับน้องไม่ใช่สิ่งไม่ดี และเราไม่มีทางรู้ว่า ทำไมเค้าจัดรับน้องขึ้นตอนแรก และถ้าไม่จัดมันจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมนักศึกษาบ้าง ซึ่งคนจำนวนมากจะไม่กล้าเสี่ยง ทั้งโดนรุมประณาม และผลข้างเคียงอันอาจจะเกิดขึ้น รับน้องก็ดำรงมาได้จนป่านนี้ เพียงแต่มันดำรงอยู่และกิจกรรมก็ค่อยๆเสื่อมถอยลงไปทุกที กระบวนการกลุ่มที่มุ่งให้น้องๆสนิทกันเพื่อช่วยกันใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และสร้างสัมพันธ์กับรุ่นพี่เพื่อเกื้อหนุนกันในชีวิตมหาวิทยาลัยและภายภาคหน้าก็หดหายไปมาก แต่มันก็ยังมี ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรม และประเพณี แม้ว่าเด็กๆจะใช้เหตุผลแบบ bounded rationality ก็ตาม เพราะไม่รู้ ไม่เคยผ่านประสบการณื เห็นคุณ เห็นโทษของมัน           

รับน้องบางกลุ่มมีการสืบทอดประเพณีอย่างแน่นแฟ้นมั่นคง ทั้งนี้เพราะความมุ่งหมายคือการดำรงวัฒนธรรมกลุ่มไว้ และเพิ่มขั้นตอนในการเล่าเรื่องราวกิจกรรมในอดีตให้รุ่นน้องฟัง รวมถึงมีการตรวจสอบ การเตรียมการของน้องโดยละเอียดอีกด้วย ในขณะที่บางกลุ่มเปิดโอกาสให้น้องแสดงฝีมือได้เต็มที่ พี่ๆมีหน้าที่ทำให้งานของน้องเป็นไปโดยราบรื่น หรือเป็นฝ่ายสนับสนุนนั่นเอง ก็จะเห็นได้ชัดถึงความเข้มข้นที่แตกต่างกัน และความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมการรับน้องของแต่ละกลุ่ม ซึ่งวัฒนธรรมนั้นก็ส่งผลต่อตัวกิจกรรมและผลของกิจกรรมอีกต่อหนึ่งด้วย

          ฉะนั้นตัววัฒนธรรมองค์กรของกิจกรรมหรือคณะๆหนึ่ง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมคงอยู่ พัฒนา ด้อยลง หรือมีรูปแบบและเทรนด์การพัฒนาไปในทางใดทางหนึ่ง คำถามสำคัญจึงกลับมาอยู่ที่ว่า อะไรเป็นวัฒนธรรมในการทำกิจกรรมที่พึงปรารถนา ? เป็นวัฒนธรรมในระดับใด? และในขณะที่วัฒนธรรมเดิมกำลังดำเนินต่อไปในขณะนี้ ช่วงเวลาและกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการแทรกแซงทางวัฒนธรรมนี้ควรทำอย่างไร?

 (มีต่อ...)

หมายเลขบันทึก: 95971เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2007 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เปิดเทอมใหม่

สิ่งที่หลีกไม่ได้สำหรับชุมชนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็คือการรับน้อง

ทุกปีมีเรื่องที่ได้ฮือฮาทางสื่อทุกปี

แต่ไม่เคยมีใครได้วิเคราะห์และมองมันอย่างยั่งยืน

นอกจากจะมาแก้หรือตำหนิการกระทำไม่สมควรกันเป็นช่วงช่วง

น่าจะยอมรับกันเสียทีว่ากิจกรรมนี้มันไม่สามารถหยุดได้ ถึงห้ามก็แอบจัด...จริงใช่ไหม

ทำไม่ไม่คิดจัดอย่างมีรูปแบบ ในเชิงสร้างสรรต่อองค์กร โดยตัวมหาวิทยาลัย

เพราะกิจกรรมนี้ไม่มีทางพัฒนา เพราะมันถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในแง่วิธีการ  แต่ปราศจากแก่นแห่งเหตุผลความจำเป็น

ได้แต่หวังว่า มหาวิทยาลัยต่างต่างจะให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้บ้าง 

เพราะนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้  เขาเป็นเพียงนักเรียนม.6 ที่เพิ่งจบ รุ่นพี่ก็นักเรียนม.6ที่เพิ่งจบแค่2-3ปี เขาจะรู้อะไรลึกซึ้งนัก

เราคาดหวังอะไรจากเขานักหนา

อยากให้เขาทำสิ่งถูกต้องก็ต้องกำหนดกรอบแนวทาง วิธีปฎิบัติ พร้อมเหตุผลให้เขา  เข้าจะได้ร่วมและทำอย่างมีปัญญา  แบบที่เราคาดว่าเขาควรจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่ชื่อ....ปัญญาชน

 

อาจารย์ชลคะ

เมื่อ 2 วันก่อน เข้ามาแสดงความคิดเห็น แต่เขียนเสร็จแล้วส่งไม่ได้  ที่เขียนไว้ลบหายไปเลยค่ะ 

คิดว่า "วัฒนธรรม  ประเพณี" เป็นมากกว่ากติกาสังคม  มันมี "ประกาศิต"อะไรบางอย่างที่อาจฝ่าฝืนไม่ได้โดยง่าย   กติกานั้นจึงออกจะแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์   บางครั้งมันจึงกลายเป็นสิ่งแปลกแยกในปัจจุบัน

การทำประเพณีรับน้องให้ร่วมสมัย จึงเป็นการผสมผสานที่เป็นจริงกับยุค แต่บางครั้งรับไม่ได้ในเหตุผลหรือสิ่งที่ควรจะเป็นค่ะ

อาจารย์ตั้งคำถามได้ดีหลายๆข้อค่ะ ชวนให้คิดต่อ

 

เห็นด้วยกับอาจารย์นะคับ ว่าเปน วัฒนธรรม ไปแล้่ว

แต่ผมเชื่อว่า เราทบทวนได้นี่คับ

การยอมรับ Bounded rationality นั้น ใช่คับ แต่มันคือการให้ดาบกับเด็กนะคับ

เด็กไม่สนใจ ไม่คำนวณ Break even point หรอกคับ ว่าคุ้มทุนหรือไม่ ที่ทำ

เห็นด้วยว่าห้ามไม่ได้ แต่ทำไม ไม่ทำสร้างสรรค์เหมือนสมัยรุ่นเก๋า ทำ

บายศรี อะไรพวกนี้

การปล่อยเด็ก ทั้งตรงและอ้อมรับน้อง ก้อเปนแบบนี้แหละคับ

เด็กน่ะ คิดแบบผู้ใหญ่ไม่ได้หรอกคับ

ทฤษฎีระบบเปิด น่าจะใช้ได้กับสถานการณ์นี้ นะคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท