ประเพณีสงกรานต์ ปีใหม่แบบไทย


สงกรานต์แบบไทย

"สงกรานต์"
"ร่วมบุญวันสงกรานต์ 
สืบสานวิถีไทย 
กตัญญูต่อผู้ใหญ่
  สื่อสายใยวันครอบครัว"

        เทศกาลสงกรานต์  ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ  เป็นประเพณีที่งดงาม  อ่อนโยน  เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน  ความอบอุ่น และกาให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกัน  สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด  โดยใช้น้ำเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี
        ปัจจุบัน  แม้ไทยเราจะนับวันที่  ๑  มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยม  แต่ด้วยลักษณะพิเศษและกิจกรรมที่คนในชุมชนได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน  ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน  การอุทิศส่วนกุศลแต่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ และการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ  ล้วนทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือประเพณีสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทย ๆ ที่เป็นเทศกาลแห่งความเอื้ออาทร เกื้อกูล ผูกพันซึ่งกันและกัน
         ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะตรงกับวันที่  ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายน ของทุกปี  ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหนุดราชการอย่างต่อเนื่องกัน  เพื่อให้ประชาชนที่ทำงานในต่างท้องที่ได้กลับไปยังถิ่นฐานของตน  เพื่อไปร่วมทำบุญ  เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่บุพการี และเล่นสนุกสนานกับครอบครัว เพื่อนฝูง 
ความหมายของคำว่า "สงกรานต์"
         คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต  แปลว่า "ก้าวขึ้น" หือ "ผ่าน" หรือ "เคลื่อนย้าย" หมายถึง  การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปอีกราศีหนึ่ง เช่น เคลื่อนจากราศีสิงห์ไปราศีกันย์ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน  เรียกว่า "สงกรานต์เดือน"  ยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็ตามก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า "มหาสงกราต์" อันหมายถึง การก้าวขึ้นครั้งใหญ่  ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ  เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์ โดยเป็นการนับทางสุริยคติซึ่งจะตกในราววันที่  ๑๓, ๑๔ และ ๑๕ เมษายน  ซึ่งแต่ละวันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ  ดังนี้
         วันที่ ๑๓  เมษายน  เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" หมายถึง  วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้ง หลังจากผ่านเข้าสู่ราศีอื่น ๆ แล้วจนครบ ๑๒ เดือน
         วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า "วันเนา" แปลว่า วันอยู่ "หมายถึง  วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ อันเป็นราศีตั้งต้นปี เข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว
         วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่  ถือเป็นวันเริ่มปีศักราชใหม่  การกำหนดให้อยู่วันนี้ ก็เพื่อให้แน่ใจว่าดวงอาทิตย์โคจรขาดจากราศีมีนมาสู่ราศีเมษแล้วอย่างน้อย ๑ องศา
         ทั้งสามวันนี้  ถ้าหากดูตามประกาศสงกรานต์ อันเป็นการคำนวณตามหลักโหราศาสตร์จริงแล้ว  ก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์  อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน  แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย และไม่สับสน จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้น
สิ่งที่ควรทำ
รักษาคุณค่า ประเพณี วัฒนธรรมที่ดีของไทย
๑. ทำบุญตักบาตร
๒. สรงน้ำพระ
๓. บังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
๔. รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
๕. เล่นน้ำสงกรานต์อย่างสุภาพ
๖. กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน
๗. แต่งกายแบบไทย
สิ่งที่ไม่ควรทำ
เบี่ยงเบนคุณค่าประเพณี ละเมิดสิทธิ เกิดอันตรายต่อผู้อื่น
๑. รดด้วยน้ำสกปรก หรือ น้ำแข็ง
๒. สาดหรือเล่นน้ำขณะที่รถวิ่ง
๓. สาดหรือเล่นน้ำอย่างรุนแรง
๔. ลวนลามเพศตรงข้าม
๕. เล่นด้วยแป้งหรือสี
๖. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
๗. ใช้ท่อพีวีซี หรือ ปืนฉีดน้ำที่รุนแรง

คำสำคัญ (Tags): #บทความวิชาการ
หมายเลขบันทึก: 89906เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2007 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท