๑๐.คติเรื่อง'สาง' และการอธิบายสรรพสิ่งด้วยกองธาตุ


"....การปฏิบัติต่อสางของชุมชน ชาวบ้านจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ธาตุ’ สำหรับให้สางอยู่ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับความเชื่อว่า การตายก็คือการที่ธาตุแตก หรือองค์ประกอบด้านกายธาตุหายไป จึงต้องทำธาตุให้อยู่ ซึ่ง ธาตุ ดังกล่าวนี้ มักทำด้วยไม้แกะสลักและสามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือนเก่าแก่...."

ภรรยาผมชวนผมคุยเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังตายหรือเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณในความหมายความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับผี ว่าผมเชื่อหรือไม่อย่างไร

  ผมไม่ค่อยเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้   แต่ก็ไม่สามารถบอกได้อย่างหนักแน่นเหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงแล้วแนวคิดเรื่องทำนองนี้ผมออกไปในวิธีคิดเรื่อง สาง เสียมากกว่า ซึ่งต้องมองด้วยโลกทรรศน์อีกแบบหนึ่ง  จึงเป็นเรื่องของการมองคนละแบบมากกว่าจะเป็นเรื่องว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ

ผมเล่าไปก็นึกขึ้นได้ว่าเคยตั้งใจว่าจะศึกษารวบรวมเรื่องพวกนี้ไว้แล้วก็เกือบลืมเลือนไป  ตั้งใจว่าจะใช้โอกาสที่ได้กลับบ้านเกิด  ที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  ออกแบบเวทีให้เรื่องนี้เป็นหัวข้อย่อยหัวข้อหนึ่งสำหรับการคุยกันของชาวบ้านให้ร่วมกันสร้างความรู้สืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนและสร้างพลังการจัดการอย่างมีส่วนร่วมผ่านการเรียนรู้เรื่องชุมชนตนเอง  แปรการกลับบ้านให้เป็นการเยี่ยมยามแบบสร้างพลัง (Empower Visitting) ซึ่งผมจะหาเรื่องทำแบบนี้ทุกปี                         

ที่ชุมชนท้องถิ่นแถวบ้านผมมีความเชื่อเรื่องสางซึ่งสะท้อนโลกทรรศน์ต่อสรรพสิ่งที่น่าสนใจมาก โดยไม่ใช่เป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังตายและเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณหรือเป็นเรื่องผีโดยตรง ทว่า  สาง  จะหมายถึงคนที่ไม่มีรูปกายหรือกายภาพของตนเองอีกต่อไป  ไม่ใช่เป็นผีหรือเป็นวิญญาณในความหมายที่มีนัยว่าเป็นผี  หรือสางซึ่งเป็นคำพ้องของ เสือสาง ในความหมายเชิงลบ  

คติความเชื่อของชุมชนดังกล่าวเชื่อว่าเมื่อญาติพี่น้องและคนที่เรารู้จักมักคุ้นถึงคราดับขันธ์แล้วเขาจะเรียกว่าธาตุแตกสลาย  หรือ ดับขันธ์ ไม่ได้เรียกว่าตาย           

ในชุดความคิดที่อธิบายเรื่องธาตุแตกสลายนั้น วางอยู่บนแนวคิดเรื่องความเป็นสรรพสิ่งของกองธาตุทั้ง 4  คือ  ดิน  น้ำ  ไฟ ลม ส่วนการดับขันธ์ก็อธิบายสรรพสิ่งด้วยขันธ์ทั้งห้า อันได้แก่  รูป เวทนา  สัญญา สังขาร และวิญญาณ 

เมื่อธาตุแตก  ก็เป็นการหวนคืนสู่ความเป็นสามัญของธรรมชาติ  ไม่ได้หายไปไหน  การตายของคนเราจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง หรือจากการเป็นบุคคลที่มีตัวตนทางกายภาพสู่การเป็น สาง  ซึ่งคล้ายกับการอธิบายถึงการมีอยู่ของอีกมิติหนึ่ง ยังอยู่ร่วมกับญาติพี่น้องเหมือนเดิม ไม่ได้จากหายไปไหน

  เมื่อตอนผมเป็นเด็ก   หากมีการเชิญหมอลำมาแสดงในการมงคลต่างๆที่เล่นกันสว่างนั้น ตอนที่จะเลิกเมื่อถึงใกล้ฟ้าสาง ก่อนจะจบลงที่เพลงลาและปวารณาความเป็นญาติพี่น้องกันฉันท์เพื่อนมนุษย์  ก็มักจะมีเพลงออกกล่าวถึงชีวิตและการก้าวข้ามห้วงชีวิตหนึ่งๆสู่ชีวิตในอุดมคติด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรม  

อำนวยอวยพรกันให้มีความงอกงาม ให้มั่นอยู่ในการปฏิบัติชีวิตให้งอกงาม ให้ได้พบพระชินสีห์ และสารพัดที่สะท้อนภูมิธรรมและภูมิปัญญาในการสื่อสารเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งในบรรยากาศที่ได้ฟังลำกันมาอย่างสนุกสนาน กระทั่งเห็นตะวันรุ่งยามฟ้าสางแบบนั้น จัดว่าเป็นอุปราการที่ชวนให้ซาบซึ้งและมีพลังต่อการดำเนินไปของวิถีชุมชนมาก วิธีอธิบายแบบนี้ชีวิตจัดว่าเป็นการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเป็นห้วงๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นธรรมดา เท่านั้น               

หากได้ยินชาวบ้านเรียกว่า สางโน่น สางนี่ แล้วก็ตามด้วยชื่อผู้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็ต้องเดาไว้ก่อนว่า ผู้นั้นเป็นญาติของผู้พูดหรือเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่งของชาวบ้าน เช่น ยายทวดผมชื่อว่า ยายทา ทั้งผมและญาติพี่น้องก็มักจะเรียกยายทวดว่า  สางยายทา ซึ่งมีนัยต่อความนอบน้อมและผูกพันเหมือนยังอยู่ด้วยกัน ดังนี้เป็นต้น

วิธีคิดและธรรมเนียมแบบนี้คล้ายกับแนวคิดเรื่อง หม้อและน้ำเต้าบรรพบุรุษ ในวิถีชุมชนบ้านหนองขาว อำเภอพนมทวน  จังหวัดกาญจนบุรีมาก โดยครอบครัวในกลุ่มเครือญาติหนึ่งๆจะมีหม้อบรรพบุรุษสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นและมีวิถีปฏิบัติในการธำรงการเป็นอยู่ด้วยกันอย่างเป็นระบบมากทีเดียว เช่น เมื่อลูกคนหัวปีแต่งงาน ก็จะได้รับการส่งต่อหม้อบรรพบุรุษจากพ่อแม่ ให้นำไปดูแลรักษาและเป็นหลักของเครือญาติ เมื่อตนเองมีลูกและลูกคนแรกแต่งงานก็จะต้องส่งต่อให้แก่รุ่นต่อไป เช่นนี้ไปเรื่อยๆ                  

ปัจจุบันนี้ ประเพณีดังกล่าวนี้ยังคงปฏิบัติอยู่ในวิถีชุมชนอย่างแข็งขัน ท่านที่สนใจยังคงไปเยี่ยมเยือนได้  หรือจะให้ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรและลูกศิษย์ในสำนักวิจัยแนวของท่านมาคุยให้ฟังก็จะได้พลังปัญญาและแรงบันดาลใจอย่างเอกอุ          

เท่าที่เคยได้ยินได้ฟังนั้น คนเราสามารถเป็นสางได้สองแบบ คือ  ตาย หรือดับขันธ์ และเล่นคาถาอาคมแปลงร่าง หรือออกจากร่างตนเองแล้วไม่สามารถกลับคืนสู่ร่างเดิมได้ ทำให้ต้องพาตนเองที่แยกออกจากร่างเดิมไปอยู่ในร่างของสิ่งอื่น เช่น  อยู่ในร่างของเสือ ร่างของวัว แต่แนวการอธิบายอย่างนี้ มักไปปนกับความเชื่อเรื่องการถูกวิญญาณเข้าสิง               

  ชาวบ้านจะเรียกผู้ดับขันธ์  หรือผู้ล่วงลับไปแล้วว่า สาง และมีนัยต่อการนับญาติและให้เกียรติแก่ผู้ที่ได้รับการกล่าวถึง ต่างจากคติเรื่องผี  ซึ่งผีในคติแบบนี้จะจัดว่าเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องร้ายและเป็นฝ่ายอธรรม  อีกทั้งเชื่อว่าเป็นวิธีคิดที่มาในอีกโลกทรรศน์หนึ่ง ทว่าเข้ามาผสมผสานกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดพื้นฐานของวิธีคิดแบบศาสนาผีจะวางอยู่บนอำนาจแห่งความกลัวหรือความเชื่อพลังอำนาจภายนอกตน                 

ส่วนวิธีคิดเรื่องสางนั้นคล้ายกับแนวคิดอิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปบาทเสียมากกว่า  เช่น ในการทำพิธีกรรมต่างๆ ก็จะสะท้อนระบบคิดและการอธิบายที่ไปด้วยกัน เป็นต้นว่า เครื่องบูชาและแสดงความเคารพต่างๆ มักจะเรียกว่า ขันธ์ห้า ซึ่งจะมีอยู่ในแทบทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการไหว้พระ การไหว้ผู้ใหญ่ การไหว้ครู หรือการทำความเคารพกันของสามีภรรยา                

การแต่งขันธ์ห้าก็มักทำง่ายๆ โดยเน้นองค์ประกอบที่บ่งบอกถึงสาระความเป็นบางสิ่งในสถานการณ์นั้นมากกว่าเจาะจงสิ่งของที่นำมาใช้ว่าจะต้องเป็นแบบนั้นๆ อย่างตายตัว                     

หลักๆก็คือ ดอกไม้  ธูป  เทียน  ซึ่งทำเป็น ๕ ชุดเสมอ (แทนองค์รวมของสรรพสิ่งอันประกอบด้วย  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร และวิญญาณ)  ทว่า  จำเพาะการไหว้ครูนั้น กลับจะใช้ธูปชุดละสองดอก โดยสื่อความหมายถึงการมอบตัวความเป็นศิษย์นั้นว่า ปัจเจกมีฐานะเสมือนภาชนะอันว่างเปล่าดังกองแห่งรูปและนามเท่านั้น ยังขาดวิญญาณธาตุ หรือธาตุแห่งการรู้และการบรรลุธรรมในเรื่องนั้นๆ  ส่วนขันธ์ห้าในพิธีการอย่างอื่นจะใช้ธูปห้าดอกและสามดอกสำหรับการทำขันธ์ห้าบูชาพระรัตนตรัย                      

นอกจากแถวบ้านผมแล้ว บางท่านอาจเคยเห็นชุมชนในชนบทหลายแห่งมักมีพานหมากพลูและธูปเทียนห้าชุดตั้งอยู่ในท่ามกลางดอกไม้บูชาพระ เขาเรียกว่าขันธ์ห้าครับ  แต่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร บางทีเลยนำไปรวมกับเครื่องทำพิธีกรรมอย่างอื่นไป พอถอดรหัสภูมิปัญญาระหว่างรุ่นไม่ออกก็เลยคิดว่าเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีไสยศาสตร์ไป

เมื่อตอนผมหัดแตรวงและไหว้ครู รวมไปจนถึงการครอบครูช่าง  ก็เคยมีประสบการณ์ได้ทำขันธ์ห้าเพื่อมอบตนแก่ครูด้วยคติอย่างนี้เหมือนกัน ทว่า ในระยะต่อมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ค่อยเห็นมีแล้ว 

วิธีคิดดังกล่าว มีพื้นฐานที่สอดคล้องและไปกันได้อย่างดีกับแนวคิดในพุทธศาสนา               

สางนั้นเราจะต้องเชิญชวนเข้าบ้าน ชวนกลับบ้าน และปฏิบัติเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและชุมชน ส่วนในคติความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณหลังตายนั้น มักจะมีวิธีคิดที่จัดว่าผีกับคนเป็นคนละพวก                  

  การปฏิบัติต่อสางของชุมชน   ชาวบ้านจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ธาตุ’ สำหรับให้สางอยู่ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับความเชื่อว่าการตายก็คือการที่ธาตุแตกหรือองค์ประกอบด้านกายธาตุหายไป จึงต้องทำธาตุให้อยู่ ซึ่ง ธาตุ ดังกล่าวนี้ มักทำด้วยไม้แกะสลักและสามารถพบเห็นได้ตามบ้านเรือนเก่าแก่ ในวัดหลายแห่งเราอาจพบว่าชาวบ้านและชุมชนเรียกสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีลักษณะบ้างคล้ายเจดีย์  บ้างคล้ายสถูป ที่ใช้เก็บกระดูกญาติพี่น้องว่า ธาตุ                 

บางครั้งเราจึงจะพบว่าชาวบ้านอาจทำหัวบันไดหรือหัวเสาให้เหมือนกับตัวคน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นกายธาตุสำหรับสางของพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะได้ถือเอาสิ่งที่ลูกหลานและญาติพี่น้องสร้างให้นั้นเป็นเรือนธาตุ ให้ธาตุที่เหลือได้อยู่อาศัยและอยู่เป็นกำลังใจของลูกหลาน  ชาวบ้านและชุมชนจึงมักอบรมสั่งสอนลูกหลานว่าอย่านั่งหัวบันไดหรือเหยียบหัวบันไดเพราะเป็นหัวของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือบรรพชน ซึ่งนับว่าแยบคายมาก  

เป็นทั้งศิลปะแห่งความศรัทธาและความเคารพรักเทอดทูน เป็นปริศนาธรรม การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อจรรโลงภูมิปัญญาร่วมกันของสังคมให้กลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นกุศโลบายในการป้องกันอุบัติเหตุแก่เด็กๆ ลึกซึ้งและแยบคายจริงๆ          

ในคติเรื่องสาง ชาวบ้านจึงไม่มีแนวคิดที่จะถือญาติพี่น้องหรือคนที่รู้จักมักคุ้นที่เสียชีวิตว่าเป็นผีสางและสิ่งที่น่ากลัวเกรง  ทว่ากลับถือว่ายังอยู่ด้วยกัน เพียงแต่ขาดธาตุเรือนกายเท่านั้น               

  ในแนวคิดดังกล่าวนี้   เชื่อว่า  มนุษยชาติถือเป็นพี่น้องกัน และร่วมโคตรเหง้าจากปู่สังกะสาและย่าสังกะสีเหมือนกัน ซึ่งปู่สังกะสาและย่าสังกะสีนี้  เมื่อครั้งไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกนั้น ได้อยู่รอดมาเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์ทั้งโลกโดยอาศัยอยู่ในต้นตะโก                 

การที่ต้นตะโกต้องเปลือกดำเป็นถ่านอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้นั้น คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบสานให้ฟังว่า ก็เนื่องจากเป็นธาตุกายให้ปู่สังกะสาและย่าสังกะสีหลบไฟบัลลัยกัลป์ล้างโลกและอยู่รอดมาเป็นต้นตระกูลของมนุษย์ตราบจนทุกวันนี้ ปู่สังกะสาและย่าสังกะสีจึงเป็นต้นตำรับขอสาง                   

นอกจากนี้  ยังมีประเพณี จุมมะลา  สำหรับการปฏิบัติต่อสาง และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังดำเนินชีวิตตามปรกติได้มีโอกาสเชื่อมโยงและสร้างความเป็นสังคมเดียวกันกับสางญาติพี่น้อง โดยประเพณีดังกล่าวมักจัดในช่วงสงกรานต์หรือเมื่อเกิดกรณีทุกข์ร้อน               

ในประเพณีจุมมะลานี้ชาวบ้านจะเตรียมสิ่งของเป็นอย่างดีเหมือนกับการเตรียมให้กับญาติพี่น้อง ทั้งอาหารคาวหวาน เหล้ายาปลาปิ้ง ไก่ต้ม ขนมนมเนย พร้อมกับเตรียมสิ่งที่เป็นธาตุรองรับการสถิตย์ของสางในโอกาสอันพิเศษนี้ คือ ไข่ต้ม และ คนทรง                         

ชาวบ้านจะร่ายรำและชวนเชิญสางทั้งมวล ซึ่งเรียกรวมๆว่า จุมมะลา ให้มากินอาหารและสนทนากัน ผ่านการเข้าไปอยู่ในไข่  หรือเข้าไปทรงในร่างของผู้ที่ผลัดกันอาสาออกไป รำจุมมะลา  

ในการตั้งไข่ต้ม  ชาวบ้านจะช่วยกันร้องว่า  "ตั้งไข่ล้ม  ต้มไข่กิน...." วนเวียนกันอยู่อย่างนี้เหมือนเป็นการเสี่ยงทาย  หากไข่ต้มไม่ล้มเมื่อถูกจับตั้งก็เชื่อกันว่ามีจุมมะลาหรือสางของญาติพี่น้องมาหา ชาวบ้านก็จะชวนกันพูดคุย ถามไถ่ ชวนกินข้าวปลาอาหาร แล้วก็เชิญออก เสร็จแล้วก็เชิญจุมมะลาต่อไปออีก

นอกหมู่บ้าน จึงมักจะมีศาลของจุมมะลา และศาลของจุมมะลานี้  ทำให้ผู้คนจากชุมชนดดยรอบมีความสำนึกในการมีจุมมะลาและศาลจุมมะลาเดียวกัน ผู้คนจึงนับถือเป็นพี่น้องกันแม้ต่างหมู่บ้าน.

หมายเลขบันทึก: 154480เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • มีช่วงเวลาการรำจุมมะลาที่กำหนดขึ้นอย่างเป็นแบบแผนจำเพาะคือ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี  ชื่อว่า วันหล่มส่วย ชาวบ้านจะถือว่าเป็นวันที่ไม่เหมาะสำหรับทำงานมงคลอย่างอื่น นอกจากรำจุมมะลา ยังไม่ทราบที่มาและความเชื่อมโยงกับบริบทการพัฒนาทางด้านอื่นๆ
  • ปัจจุบัน  ในชุมชนที่เป็นบ้านเกิดของผมนั้น ศาลจุมมะลายังคงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี  อีกทั้งมีประเพณีเลี้ยงจุมมะลาอยู่ดังเดิม  ทว่าไม่มีผู้สามารถรำจุมมะลาได้แล้ว 
  • ผู้ทำหน้าที่ดูแลก็ทำไปโดยจิตอาสา  ทำอย่างเป็นกิจวัตรโดยตระหนักแต่เพียงว่าตนเองนับถือและเป็นการสืบทอดจากคนเฒ่าคนแก่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นมาอย่างไร
  • เพลงที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้น ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่การร้องรำให้แก่จุมมะลา แต่เป็นเพลงที่เด็กๆ จำทำนองมาร้องเล่นกันเอง  การรำจุมมะลา จะมีการร้อง  เป่าแคน  เชื่อว่าต้องปะติดปะต่อเอาจากคำบอกเล่าจากความจดจำของคนดั้งเดิมหลายๆคน

             มีชาวบ้านรุ่นเก่าๆ รู้เรื่องพวกนี้อยู่มากทีเดียว เมื่อวานก่อน ผมได้กลับบ้าน และช่วงหนึ่งก็ได้นั่งคุยกันเรื่องนี้ เลยได้รายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก ขอรวบรวมไว้เผื่อจะมีคนมาต่อเติมให้ หรืออาจจะนำเอาไปเป็นต้นเรื่อง ไปคุยและสานความรู้กลับคืนไว้กับชุมชน ที่มีวิถีคิดและวิถีชีวิตชุมชนแบบนี้อยู่

  • การไหว้จุมมะลา เป็นการสร้างชุมชนและความผูกพันของญาติพี่น้องด้วย  ในกิจกรรมรำจุมมะลา  ชาวบ้านเล่าว่า จะมีการทำเครื่องหมายของสมาชิก ในครอบครัวหนึ่งๆ ไปวางไว้เบื้องหน้าศาลจุมมะลาและในวันที่ชาวบ้านไปรวมตัวกันเพื่อรำจุมมะลา 
  • สัญลักษณ์แทนทุกคนทำด้วยหุ่นหญ้าคา ครอบครัวหนึ่งๆ มีสมาชิกกี่คน ก็จะทำหุ่นหญ้าคาให้ครบทุกคน
  • หญ้าคาเป็นหญ้าที่มีคุณแก่เกษตรกร หญ้าคาเป็นหญ้าที่เป็นทั้งวัชรพืชและมีคุณแก่ชาวบ้าน เป็นหญ้าที่ชาวนากลัว  เพราะสร้างความเหนื่อยยากต่อการทำไร่ทำนา อีกทั้งทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี  ขณะเดียวกัน  ชาวบ้านก็ใช้ทำบ้านเรือน ทั้งมุงหลังคา ฝาบ้าน  ในงานประเพณีและพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ก็มักจะใช้หญ้าคาเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น  เป็นที่จุ่มพรมน้ำมนต์

      มีชาวบ้านรุ่นเก่าๆ รู้เรื่องพวกนี้อยู่มากทีเดียว เมื่อวานก่อน ผมได้กลับบ้าน และช่วงหนึ่งก็ได้นั่งคุยกันเรื่องนี้ เลยได้รายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก ขอรวบรวมไว้เผื่อจะมีคนมาต่อเติมให้ หรืออาจจะนำเอาไปเป็นต้นเรื่อง ไปคุยและสานความรู้กลับคืนไว้กับชุมชน ที่มีวิถีคิดและวิถีชีวิตชุมชนแบบนี้อยู่

  • การไหว้จุมมะลา เป็นการสร้างชุมชนและความผูกพันของญาติพี่น้องด้วย ในกิจกรรมรำจุมมะลา ชาวบ้านเล่าว่า จะมีการทำเครื่องหมายของสมาชิก ในครอบครัวหนึ่งๆ ไปวางไว้เบื้องหน้าศาลจุมมะลาและในวันที่ชาวบ้านไปรวมตัวกันเพื่อรำจุมมะลา
  • สัญลักษณ์แทนทุกคนทำด้วยหุ่นหญ้าคา ครอบครัวหนึ่งๆ มีสมาชิกกี่คน ก็จะทำหุ่นหญ้าคาให้ครบทุกคน
  • หญ้าคาเป็นหญ้าที่มีคุณแก่เกษตรกร หญ้าคาเป็นหญ้าที่เป็นทั้งวัชรพืชและมีคุณแก่ชาวบ้าน เป็นหญ้าที่ชาวนากลัว เพราะสร้างความเหนื่อยยากต่อการทำไร่ทำนา อีกทั้งทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ขณะเดียวกัน  ชาวบ้านก็ใช้ทำบ้านเรือน ทั้งมุงหลังคา ฝาบ้าน  ในงานประเพณีและพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ก็มักจะใช้หญ้าคาเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น เป็นที่จุ่มพรมน้ำมนต์

        มีชาวบ้านรุ่นเก่าๆ รู้เรื่องพวกนี้อยู่มากทีเดียว เมื่อวานก่อน ผมได้กลับบ้าน และช่วงหนึ่งก็ได้นั่งคุยกันเรื่องนี้ เลยได้รายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง จึงขอรวบรวมไว้เผื่อจะมีคนมาต่อเติมให้ หรืออาจจะนำเอาไปเป็นต้นเรื่อง ใช้คุยและค่อยๆสานความรู้กลับคืนไว้กับชุมชนในท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีวิถีคิดและวิถีชีวิตชุมชนแบบนี้อยู่

  • การไหว้จุมมะลา เป็นการสร้างชุมชน สื่อสารกับชุมชนและพัฒนาความผูกพันของญาติพี่น้องด้วย ในกิจกรรมรำจุมมะลา ชาวบ้านเล่าว่า จะมีการทำเครื่องหมายของสมาชิก ในครอบครัวหนึ่งๆ ไปวางไว้เบื้องหน้าศาลจุมมะลาและในวันที่ชาวบ้านไปรวมตัวกันเพื่อรำจุมมะลา
  • เป็นการวิจัยและวิธีการสถิติแบบวิถีชาวบ้าน เมื่อรวมกันทั้งหมดในกลุ่มบ้านและชุมชน ก็จะกลายเป็นวิธีการแจงนับจำนวนคนในชุมชน จำนวนครอบครัว  จำนวนเครือญาติที่สำคัญ ในปีหนึ่งๆ ก็จะเห็นคนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งจะกลายเป็นหัวข้อบอกกล่าว-สื่อสาร การเพิ่มขึ้นของสมาชิกใหม่ๆในรูปแบบต่างๆ และการถามไถ่ถึงการหายไปของคนในชุมชน ซึ่งก็จะทำให้รู้กันทั่วถึงยิ่งๆขึ้น
  • สัญลักษณ์แทนทุกคนทำด้วยหุ่นหญ้าคา ครอบครัวหนึ่งๆ มีสมาชิกกี่คน ก็จะทำหุ่นหญ้าคาให้ครบทุกคน
  • หญ้าคาเป็นหญ้าที่มีคุณแก่เกษตรกร หญ้าคาเป็นหญ้าที่เป็นทั้งวัชรพืชและมีคุณแก่ชาวบ้าน เป็นหญ้าที่ชาวนากลัว เพราะสร้างความเหนื่อยยากต่อการทำไร่ทำนา อีกทั้งทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ใช้ทำบ้านเรือน ทั้งมุงหลังคา ฝาบ้าน ในงานประเพณีและพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ก็มักจะใช้หญ้าคาเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น เป็นที่จุ่มพรมน้ำมนต์

ตามมาอ่านคำตอบ จากคำถามข้องใจในคำว่า "สาง"

อ่านแล้วไขข้อข้องใจได้ละเอียดลึกซึ้ง และได้ความรู้เรื่องขันธ์ห้าเพิ่มเติมด้วย

แล้วก็เกิดอาการเสียดายข้อมูลดี ๆ อย่างนี้ คิดไปถึงโครงการใหม่ ๆ ...

แต่ก็หยุดความคิดไว้ เพราะช่วงนี้ตั้งใจไว้แล้วว่า จะทำงานที่ค้างให้เสร็จ แล้วหยุดความคิดที่วิ่งไปหาสิ่งใหม่ ๆ สักพัก...

ขอชื่นชมการรวบรวมข้อมูลบ้านเกิดที่ยอดเยี่ยมของอาจารย์นะคะ

ขอบคุณการต่อยอดทางความรู้ที่ได้รับจากบันทึกนี้ค่ะ..^__^..

ตามมาด้วยคน ..

  • คนแถวนี้ต้องโดนจิตวิทยาหมู่เป็นแน่ ^^"
  • .
  • ขอบคุณอาจารย์ค่ะที่บันทึกข้อมูลดีๆ เหล่านี้ไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้กัน ..
  • เสียดายวัฒนธรรมชุมชนบางอย่างที่กำลังสูญหายไป หรืออาจจะหายไปแล้ว อย่างการรำจุมมะลา ..
  • และเสียดายข้อมูลอาจารย์ค่ะ น่าจะรวบรวมออกมาเป็นรูปเล่มผลงาน ได้เป็นขุมความรู้เป็นเล่มใหญ่ๆ เลยนะค่ะ
  • แนะนำว่า back up ข้อมูลเสียหน่อยค่ะอาจารย์ เก็บไว้ที่ External Drive ที่อาจารย์มี (ปัดฝุ่นด้วยนะค่ะ เพราะซื้อมาเก็บจริงๆ) ^^ และ Write ลง CD ไว้บ้างค่ะ
  • .
  • ขอบคุณสำหรับบรรยากาศการพูดคุยในวงข้าวกลางวันด้วยนะค่ะ อิ่ม แล้วยังได้ความรู้เพิ่มเติมด้วยค่ะ ..
  • อาจารย์เป็นบุคคลแห่งวัฒนธรรมท้องถิ่นจริงๆ มันอยู่ในสายเลือดของอาจารย์เลยหล่ะค่ะ ...

หลังจากวงข้าวกลางวันแล้ว ได้มานั่งพูดคุยกับคุณเริงวิชญ์ ได้อธิบายถึง "ความเป็นอยู่ของคนกับวิถีการคิด" ซึ่งคุณเริงวิชญ์บอกว่าเป็น "มานุษยวิทยา" ขนานแท้เลย ... "มานุษยวิทยาชุมชน"

"ความพอดี" ของการดำรงอยู่คืออะไร" เป็นประโยคที่อาจารย์มักจะเอ่ยถึงบ่อยๆ กับพวกเรา ...

คุณเริงวิชญ์ที่ได้อธิบายเพิ่มเติมต่อจากเมื่อกลางวันว่า "ความพอดี" ของการดำรงอยู่ ก็เป็นที่มาของแนวคิดเรื่อง "ภพนี้" "ภพหน้า" และการจัด "ความสัมพันธ์" ของคนภพนี้และภพหน้า

ภพนี้ คือ การปฏิสัมพันธ์ของคนในภพนี้

ภพหน้า คือ การวาง "พื้นที่" คนที่่จากไปสำหรับคน "ภพนี้" อย่างไร

คุณเริงวิชญ์ยังได้เล่าถึงความเชื่อต่างๆ คนคนผู้ไทในเรื่องผีต่างๆ อีกด้วยค่ะ ... อย่างต้นไม้ใหญ่ ภูเขา บ้านเรือน จะมีวิญญาณ หรือ ผีสถิตอยู่ และผีต่างๆ ก็จะมีอำนาจมีพลังเหนือธรรมชาติที่จะสามารถควบคุมหรือบันดาลให้ชีวิตของมนุษย์เป็นไปตามต้องการได้ 

คุยแล้วน่าสนใจมากๆ รู้สึกดีจังที่ได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมชุมชน ของชาว "ผู้ไท" อย่างคุณเริงวิชญ์

................................................

ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกเยอะเลยเชียวค่ะ ให้คุณเริงวิชญ์มาเล่าเองจะดีกว่านะค่ะ ..... ^^

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง  P ใบไม้ย้อนแสง 

  • งานแนวที่คุณใบไม้ย้อนแสงทำ คือ ลงไปช่วยเป็นสื่อ เป็นปากเป็นเสียงให้คนระดับฐานราก และชุมชน เรียนรู้กับชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง แล้วก็สื่อสารออกไปให้สังคมวงกว้างได้บทเรียนจากชุมชน ก็ดีและเป็นแนวคล้ายกันอย่างที่ผมนำมาถ่ายทอดไว้นะครับ เลยก็ชอบและชื่นชมด้วยเช่นกัน
  • ในส่วนของผม อย่างตัวอย่างเรื่องนี้และเรื่องทำนองนี้  ผมมีแนวคิดอย่างอื่นอยู่ด้วย โดยเฉพาะทำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาและตัวตนของชุมชนและปัจเจกคนเล็กๆ ให้มีคุณค่าและความหมายด้วยวิธีสร้างความรู้จากท้องถิ่น ที่ชาวบ้านและชุมชนดั้งเดิม เป็นเจ้าของความรู้และภูมิปัญญา หรือประวัติศาสตร์เรื่องราวต่างๆนั้นได้
  • คุณใบไม้ลองจินตนาการดูนะครับว่า... ลูกหลานชาวบ้านนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชนบท และก็คือลูกหลานของเรา เวลาใช้เทคโนโลยี และได้รับการศึกษาที่มีความรู้เป็นตัวตั้ง และเป็นความรู้ซึ่งเกือบทั้งหมด เป็นความรู้จากโลกภายนอกที่จะต้องอัดลงไปในโลกประสบการณ์ของเขา เขาก็จะไม่รู้ตัวเองมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ความรู้คนอื่น สังคมไทยก็ไม่ใช่ต้นฉบับเสียอีก  พออยากจะพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมความรู้ จิตใจก็ไม่รักความรู้คนอื่นระดับฝังลงไปในจิตวิญญาณ และเรื่องที่ได้เรียนรู้ก็ไม่นำไปสู่การเคารพและเป็นตัวของตัวเอง ใช้คอมพิวเตอร์ค้นหาตัวเอง ก็เจอแต่สูญญากาศ เพราะไม่เคยเรียนรู้วิธีสร้างความรู้ขึ้นจากวิถีชีวิตและประสบการณ์ตัวเอง
  • คราวนี้มองไปยังอีกภาพหนึ่ง....ผมมานึกถึงลูกหลานคนบ้านผม หรือทุกที่ที่ผมได้ไปใช้ชีวิต หากเขามีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีจัดการความรู้สมัยใหม่ เป็นธรรมดาครับ  ไม่ว่าจะเด็กตัวน้อยๆหรือผู้ใหญ่  เวลาทดลองเรียนรู้การใช้คอมพิวเอตร์และเทคโนโลยีไอที ก็มักจะลองใช้ชื่อชุมชนตัวเอง หรือเรื่องที่ตนเองรู้จักใกล้ๆตัว  เป็นคำหลักเพื่อการค้นหา  พอกดเอนเทอร์ลงไป ก็ว่างเปล่า...!!!!!  
  • เทียบกับลูกหลานหมู่บ้านผม  อำเภอผม หรือท้องถิ่นผม พออยากจะอวดพ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่ว่าตนเองใช้คอมพิวเตอร์เป็น แล้วลองกดหาชื่อหมู่บ้านตนเอง  ก็สามารถค้นพบ เรียกให้พ่อแม่และญาติพี่น้องมาดูเรื่องที่พวกเขาเคยคุยกันบนลานบ้านและชานเรือน ว่ามันเข้าไปอยู่ในโลกความรู้ในคอมพิวเตอร์ต่อหน้าพวกเขาด้วย เรื่องราวเล็กน้อยสามารถถ่ายทอดสู่โลกกว้าง น่าอัศจรรย์และน่าภูมิใจในตนเอง ปฏิสัมพันธ์และกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมก็เกิดขึ้น การเข้าสู่ความทันสมัยก็มีความหมายเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาก็สัมผัสได้ ไม่แปลกแยก อีกทั้งไม่แยกผู้คนออกจากกัน ไม่เพียงทันสมัยแต่เครื่องเคราภายนอก แต่ไม่มีแก่นอะไรของสังคมตัวเอง
  • สองตัวอย่างนี้ จะทำให้ชีวิตแห่งการเรียนรู้และพลังทางปัญญาของสังคมดีขึ้นมากเพียงไหน ผมเลยเขียนความรู้พวกนี้ขึ้นมาไงครับ 
  • อยากเสริมความมั่นใจไปในตัวว่า งานในแนวของใบไม้นั้นดีกว่าผมอีก มีพลังมากกว่า  เขียนเรื่องจากชุมชนที่ไหนก็อย่าลืมโยนไว้ให้ชุมชนได้เข้าถึงอีก

อาจารย์ณัฐพัชร์และคุณเริงวิชญ์นะครับ(ไกล๊-ไกลกันมากกับผมเลยนะครับสองท่านนี้)

Pnattapach

  • ความพอดีและความพอประมาณนี้ ผมว่าเป็นแนวคิดแบบอิทัปปัจจยตา ที่จะทำให้คนมีวิธีคิดได้ไกลกว่าวิธีคิดที่เป็นขั้วและวิธีคิดที่มีระบบคุณค่าแบบตายตัวนะครับ แนวคิดอย่างนี้มีความเป็นพลวัตรไปตามบริบทและชุดของเหตุปัจจัยที่ประชุมและปรุงแต่งภาวะเช่นนั้น ความพอดีในเรื่องนั้นในสถานการณ์หนึ่ง ยุคสมัยหนึ่ง และของชุมชนหรือสังคมหนึ่งๆ ก็พอดีและสะท้อนเชื่อมโยงไปกับชุดเหตุปัจจัยต่างๆของมัน
  • แต่การที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆในลักษณะนี้ ปัจจัยเงื่อนไขที่ต้องมาก่อนคือ การมีชุมชนและสังคมแห่งวิถีปัญญา ใช้การเรียนรู้และเข้าใจเรื่องนั้นๆด้วยปัญญา เห็นความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยของมัน  มากกว่าสังคมแบบใช้ความรู้ความจำ และหมายรู้ ติดยึดเอาไปตามชุดความคิดที่ตายตัว ซึ่งบางเรื่องก็ดี แต่หลายเรื่องมักทำให้เป็นปัญหาเมื่อสังคมซับซ้อนมากแต่ต้องอยู่ร่วมกัน เพราะเรื่องเดียวกันมันเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการเห็นต่างกันไปคนละขั้ว  
  • ค่อนข้างเห็นด้วยประสานักเรียนนอกรั้วมากครับ ที่คุณเริงวิชญ์สรุปเป็นแนวคิดว่า  ความเป็นอยู่ของคนกับวิถีคิด เป็น 'มานุษยวิทยาชุมชน' และ 'มานุษยวิทยาขนานแท้' เพราะเรื่องราวเพื่อความเข้าใจมนุษย์และการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันของมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างภาษาและวิธีคิดภายใต้การสื่อภาษากัน  ระบบคิดที่กำกับศิลปะ  ระบบการผลิต ระบสังคม การรวมกลุ่มและสร้างสังคม เหล่านั้ ย่อมมีที่มาจาก 'การรู้จักอยู่และการรู้จักที่จะคิดของมนุษย์' วันหลังเล่าให้ฟังด้วย  ชอบและอยากฟังครับ สนุก

อ่านที่อาจารย์เขียนตอบแล้วอดใจไม่อยู่ ต้องมาเสนอความคิดอีกแล้ว... ฮ่า ๆ จนได้นะเรา.. :P

  • อันดับแรกเห็นด้วยกับคุณ Nattapach ค่ะ ว่าอาจารย์น่าจะรวบเล่มข้อมูลเหล่านี้ไว้
  • แต่ใบไม้โลภมาก ตามประสาคนชอบจับแพะชนแกะ ฐานที่เอาตัวไปอยู่ในหลายวงการ ขอเสนอไอเดียค่ะ กลับบ้านคราวหน้า อาจารย์จัดเวทีชุมชนเชิญตัวแทนชาวบ้านที่หลากหลายมาพูดคุยถึงสิ่งดี ๆ ที่พวกเขาภาคภูมิใจและมีความสุขเมื่อนึกถึง แล้วก็รวบรวมข้อมูลเอาไว้
  • แล้วรวบรวมข้อมูลเป็นรูปเล่มหนังสือส่งไปตามโรงเรียนในชุมชนให้เป็นคู่มือเรียนรู้สิ่งดี ๆ ในท้องถิ่นตัวเอง
  • โรงเรียนไหนเชื่อมโยงกับครูอาจารย์ได้ ก็ทำหลักสูตรท้องถิ่นให้นักเรียนไปเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น แล้วทำเป็นรูปเล่มฝีมือเด็ก เก็บไว้ให้รุ่นน้องได้เรียนรู้ต่อไป
  • เด็ก ๆ ก็จะมีเรื่องราวคุยกับคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลดช่องว่างระหว่างวัย และได้ภาคภูมิใจกับรากเหง้าของตัวเอง
  • บางโครงการที่ใบไม้ไปช่วยซึ่งเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับภูมิปัญญาชุมชน ก็เสนอความคิดแบบนี้แหละค่ะ อย่างน้อยจบโครงการก็ยังเหลืออะไรไว้เด็กรุ่นหลังเรียนรู้ต่อไป แล้วเขาอาจต่อยอดกันไปต่อได้อีกมากมาย
  • แต่ปัญหาอยู่ที่ใครจะเป็นคนทำ และเป็นงานที่ต้องใช้เวลา..
  • ใบไม้แค่เสนอค่ะ รู้ดีว่าอาจารย์คิดได้กว้างไกลและลึกซึ้งกว่านี้นัก
  • งานในแนวที่ใบไม้ทำก็ยังสนใจเดินหน้าทำต่อค่ะ ความงามของแต่ละชีวิตเล็ก ๆ นั้นมีความหมาย แต่คนยังมองไม่ค่อยเห็น ก็ยังคงอยากเผยแพร่ความงามนี้อยู่ เป็นงานที่ทำแล้วสัมผัสได้ถึงใจคนค่ะ
  • ยืนยันว่ายังไม่เลิกทำ เพียงแต่ขอหยุดไปตั้งตัว จัดระบบชีวิตให้ดีขึ้น น่าจะทำให้ชีวิตลงตัวมากกว่า ไม่อย่างนั้นของเก่าก็ไม่เสร็จ ก็คิดของใหม่ไปเรื่อย ไม่เสร็จสักกะอย่าง แหะ ๆ
  • ขอบคุณมาก ๆ ค่ะที่เสริมความมั่นใจ และให้กำลังใจ..
  • แอบบอกว่า วันนี้ได้รับหนังสือที่ใบไม้เขียนร่วมกับรุ่นพี่จากอีกโครงการหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เสร็จแล้ว ขอมาเผื่อให้อาจารย์ด้วยค่ะ แล้วโอกาสหน้าจะส่งมอบให้ค่ะ ..^__^..
  • เพราะคุณณัฐพัชร์เธอเห็นข้อมูลผมหาย หมดเนื้อหมดตัวไปอยู่เรื่อยน่ะครับ อาทิตย์นี้เอาอีกแล้ว และส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลภาพถ่าย เสียดายเป็นที่สุด  แต่ก็ไม่รู้จะเป็นยังไง
  • แต่ก็คิดว่าดีเหมือนกันนะครับ จะลองทำ
  • ที่คุณใบไม้เสนอนั่น ไม่แค่เสนอหรอกครับ คิดตรงใจเลยแหละ  เคยทำมาแล้วครับและได้ผลดีมากด้วย  ครั้งต่อไปก็คิดว่าจะทำรูปแบบนี้แหละ
  • ครั้งที่แล้ว ผมเชิญคุณเริงวิชญ์ และพี่สนั่น  รวมทั้งลูกของแกซึ่งเป็นนักเรียนมีความสามารถพิเศษ ทั้งทางวิชาการ และการเล่นดนตรี ของโรงเรียนกาญจนาภิเษกฯ ระดับเล่นโชว์ทางโทรทัศน์ได้ ไปทำกิจกรรมกับชาวบ้าน  ใช้ศาลาวัดในชุมชนเป็นเวที
  • ผมขอให้คุณเริงวิชญ์ พูดปาฐกถา ให้การเรียนรู้ชาวบ้านและคนเฒ่าคนแก่  พี่สนั่นพูดเสริมพลังความปีติที่ชาวบ้านมาคุยเรื่องชุมชนและทำสิ่งดีๆด้วยกัน  แล้วก็ให้ลูกพี่สนั่น เล่นดนตรีให้เหล่าเด็กๆด้วยกันและครอวครัวได้ฟัง  ปิดท้ายด้วยสวดมนต์ทำวัตรเย็น  ชาวบ้านแทบจะไม่ให้เลิก เพราะคุณเริงวิชญ์เขาพูดปาฐกถาเป็นภาษาลาวได้ 
  • ปี่ที่ผ่านมาเตรียมอยู่เป็นนานแล้ว ยังไม่ได้ไปสักทีเลยนะเนี่ย  หากได้ไปจะชวนคุณใบไม้ไปนะครับ ไปที่บ้านนอกนั้น  แค่เล่าเรื่องว่าในเมืองเขามีอะไรบ้าง เวลาออกจากบ้านและไปกรุงเทพฯหรือในสังคมใหญ่ๆ ต้องเผชิญชีวิตอย่างไรถึงจะพึ่งตนเองได้  เล่าและฉายรูปถ่ายให้ดู  พวกเด็กๆ และชาวบ้านก็ชอบและได้ประโยชน์มากครับ
    • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) คนพื้นเพอำเภอหนองบัว และพูดภาษาท้องถิ่นของไทยหนองบัวซึ่งออกเสียเหน่อ บอกว่า ภาษาท้องถิ่นของไทยหนองบัว มีคำว่า 'ปิสัง' หมายถึงผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้ว
    • ที่ลำพูนและเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมล้านนา เรียกสิ่งที่บรรจุอัฐิของจ้าวว่า 'กู่'
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • คนบ้าหลุม อ.เมือง จ.สุโขทัย เรียกคนที่ตายไปแล้ว ว่าผีสาง ก็ถามว่าสางหรือผีสาง ก็ได้คำตอบว่า ผีสาง
    • คนทางเหนือก็เรียกว่า สาง แต่เรียกสางเฉพาะฆราวาส ส่วนพระสงฆ์ไม่เรียกว่าสาง
    • คนหนองบัวเท่าีที่ฟังดูเหมือนจะเรียกเป็นสองคำคือ ไปสัง

            กับปิสัง ไปสังปู่ ไปสังแม่ใหญ่

    • คนหนองไผ่ เพชรบูรณ์ เรียกว่า สัง เช่น สังแม่ สังตา

    เมื่อเร็วๆนี้ได้เจอคนบ้านหนองขาว กาญจนบุรี ก็ลองถามดู ที่นั่นชาวบ้านมีวัฒนธรรมการสืบทอดผีบรรพบุรุษโดยการมีน้ำเต้าของผีปู่ย่าตายาย เขาบอกว่า เรียกผู้ที่ล่วงลับไปแล้วว่าผีสางเช่นกันครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท