๑๓. คน บุคคล ปัจเจก และพลเมือง


".... แง่มุมเหล่านี้ เป็นความเข้าใจต่อเรื่องพื้นฐานทางสังคมและการพัฒนาคน ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถเข้าใจกรอบการปฏิบัติทางสังคมที่สื่อความเข้าใจกันได้อย่างเป็นหมวดหมู่แล้ว น่าจะเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาคน ทั้งในเรื่องสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาสาขาต่างๆ......"

         การพัฒนาสุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเน้นคนและชุมชนเป็นศูนย์กลางนั้น แนวคิดเกี่ยวกับ คน และ ชุมชน ในแนวทางต่างๆ มีความหมายต่อการจัดกระบวนการของนักวิจัย นักพัฒนา ผู้นำชุมชน รวมไปจนถึงภาคประชาชนและพลเมือง มากพอสมควร

        โดยมากแล้ว ชาวบ้านและคนทำงานสาขาต่างๆ ที่มักไม่เห็นนัยสำคัญดังกล่าวนี้  ก็มักจะมองข้ามไป และมักคิดว่า การพูดว่า คน บุคคล  ปัจเจก และพลเมือง  เป็นการเล่นคำให้มากเรื่อง แต่ในการพัฒนาซึ่งเน้นปัจจัยมนุษย์  การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการทำงานแนวประชาคม มีความจำเป็นมากทีเดียวที่จะต้องช่วยให้ชาวบ้านและชุมชนเห็นคำเหล่านี้ในแง่มุมที่มิใช่คำศัพท์  แต่เป็นวิธีคิดและแนวคิดพื้นฐาน 

         ถ้าหากคนไม่เข้าใจที่จะสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่ระดับวิธีคิดดังนี้แล้ว  ก็เชื่อได้เลยว่าจะไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ของสังคมอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดเกี่ยวกับระบบสังคม ธรรมนูญ กฏหมาย และแนวการจัดระเบียบสังคมระดับต่างๆ มักต้องเริ่มที่ข้อตกลงเบื้องต้นว่า คน บุคคล การดำรงอยู่ของสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปัจเจก และพลเมือง สังคมนั้นๆ มีแนวปรัชญาและตกลงในหลักการใหญ่ว่าอย่างไร 

         ดังนั้น  การไม่เห็นแนวคิดและไม่เข้าใจเรื่องพื้นฐานพวกนี้  ก็เป็นไปได้ว่า ประชาชนพลเมืองพูดคุยและมีส่วนร่วมเรื่องของสังคม ด้วยความไม่รู้เรื่องสังคมเลย ก็ได้ การเรียนรู้ทางสังคม สังคมศึกษา และประชาสังคมศึกษา  จึงมีความสำคัญและจำเป็นมาก

        เวลามีชาวบ้าน นักศึกษา หรือคนฟังบรรยายถามเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ผมมักจะพยายามแจกแจงให้เข้าใจได้บ้างไม่ได้บ้างว่า  คน  บุคคล ปัจเจก พลเมือง และ นิติบุคคล มีความหมายและนัยสำคัญต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร ซึ่งเรื่องพวกนี้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนทำงานชุมชนครับ.....

        (๑) คน เป็นสิ่งที่เราได้มาโดยธรรมชาติ เป็นคุณลักษณะทางชีววิทยา การเกิดเป็นโฮโมซาเปียน  ทำให้เรามีคุณลักษณะพื้นฐานทางชีววิทยาเป็นคน ซึ่งถ้าหากศึกษาลงลึก  ก็จะมีแนวคิดและข้อพิจารณามากมายกว่านี้อีกเยอะ เช่น ต้องดูพัฒนาการทางเอมไบรโอ และปัจจัยสัญญาณชีพบวกเข้าไปอีกว่า ต้องเริ่มปรากฏลักษณะอย่างนี้  กระทั่งต้องยังคงมีสัญญาณชีพขนาดนี้ จึงจะอยู่ในข่ายเป็นคน(และบุคคลในบางเงื่อนไข) แต่การได้คุณลักษณะคนที่เป็นโฮโมซาเปียนนี้มาแล้ว หากไปอยู่ในสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูอย่างอื่น ก็จะกลายเป็นอย่างอื่นไป

        เช่น ตัวอย่างแบบเมาคลีลูกหมาป่า ซึ่งทางชีววิทยาเป็นคน ทว่า สำนึกเกี่ยวกับตัวตน ตลอดจนการปฏิบัติ การกระทำทางสังคมต่อฝูง และการดำรงชีวิต เป็นหมาป่า  ได้ฐานะการเป็นสมาชิกของหมาป่าจากการเรียนรู้ทางสังคมหรือการอยู่เป็นพวกเดียวกัน  แสดงว่า  ความเป็นตัวตนและความเป็นบุคคลต่อจากนั้น  ได้มาจากการเรียนรู้และต้องร่วมสร้างขึ้นมาจากการอยู่เป็นสังคมกับผู้อื่น ซึ่งก็คือการได้มาซึ่งความเป็น บุคคล  เริ่มเห็นนัยที่แตกต่างกันมากเลยใช่ไหมครับ

       (๒) บุคคล ในทางการเรียนรู้สังคมนั้น เราสามารถได้คุณลักษณะของ คนทางชีววิทยา และติดตัวไปเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติแต่โดยลำพังของตนเองได้ แต่ความเป็น บุคคล นั้นเราไม่สามารถได้มาจากตัวเราเองแต่โดยลำพังเลย เพราะ บุคคล เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาด้วยการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ได้ความเป็นลูก เพราะอยู่กับครอบครัวพ่อแม่  ได้เป็นนักวิชาชีพสาขาต่างๆ  เป็นต้นว่า ครู หมอ นักกฏหมาย นักการเมือง ก็เพราะการศึกษา การทำงานกับผู้คน การหล่อหลอมและเรียนรู้ทางสังคม

       (๓) นิติบุคคล คือบุคคลตามกฏเกณฑ์และการบัญญัติทางกฏหมาย ซึ่งบางทีก็อาจเป็นคน เป็นองค์กร ประเทศ บุคคล และคณะบุคคล

       (๔) ส่วน ปัจเจก นั้น เป็นความเป็นตัวของตัวเองของคนทุกคน  ตัวอย่างเช่น  สมมุติว่า นาย เป็น นายก อบต ระหว่างทำหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนเองร่วมกับคนอื่นๆในองค์กร อบต  นาย ก  ย่อมจัดว่าเป็นบุคคล  มีตำแหน่งแหล่งที่ในทางสังคม  ทว่า นาย ก คนเดิม เมื่อทำการแทน อบต ของตน เช่น จ้างเอกชนมาทำงานให้ชุมชนในนามของ อบต  อย่างนี้ต้องนับว่า นาย ก กำลังปฏิบัติหน้าที่ในนามนิติบุคคลแห่งหนึ่ง

       พอเลิกงาน นาย ก ยังนับว่าเป็น อบต อยู่ก็จริง แต่นาย ก อาจต้องการทำกิจต่างๆ ในนามของตนเอง  เช่น  เป็นพ่อ-แม่ ของลูก  เป็นลูกของพ่อ-แม่  เป็นเพื่อนของหมู่มิตร บทบาทหน้าที่อย่างนี้  ต้องนับว่าทำด้วยความเป็นตัวของตัวเองและในนามของตนเอง ซึ่งบางครั้ง  อาจทำเพื่อมุ่งสู่ส่วนรวมและมีความเป็นตัวของตัวเองที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับสังคมส่วนรวม สุขทุกข์ร่วมกับผู้อื่น  ทำเพื่อส่วนรวมด้วยสำนึกของความเป็นพ่อแม่ของมนุษย์ทุกคน  (ไม่ใช่แค่เพื่อลูกตนเอง และไม่ใช่นับว่าผู้อื่นเป็นลูกตนผ่านการคลอด หรือมีความเป็นพี่น้องกันผ่านการเกิดร่วมท้องเท่านั้น ทว่า อาจมีวิธีคิดว่า มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน เป็นต้น)

        ปฏิบัติด้วยสำนึกของคนรักสิ่งแวดล้อม รักความสันติของโลก ในนามของปัจเจก อย่างนี้จึงมีแนวคิดเรียกปัจเจกแบบนี้ว่า ปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะ ซึ่งคนทุกคนจะมีอย่างแตกต่างกัน สามารถส่งเสริม เรียนรี้ และพัฒนาได้ (เราอาจเรียกการศึกษาและพัฒนาคนในแนวทางนี้ว่า ประชาสังคมศึกษา  การศึกษาพลเมือง  พัฒนสังคมและประชากรศึกษา หรือในอดีตมีวิชาหน้าที่พลเมืองและจริยศึกษา แต่เงื่อนไขทางสังคมต้องปรับเปลี่ยนไป)

        (๕) พลเมือง มีสองมิติ คือ ฐานะทางกฏหมาย และภาวะจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรม 

        โดยทั่วไปนั้น ความเป็นบุคคลและความเป็นพลเมือง มักบ่งชี้ด้วยกฏเกณฑ์ทางกฏหมายและนิยามเพื่อการปฏิบัติในสถานการณ์หนึ่งๆ  เช่น การเป็นพลเมืองแบบต่างๆในสังคมหนึ่ง ต้องมีบัตรประชาชนหรือเอกสารที่เป็นทางการรับรองสัญญาติ  เชื้อชาติ การเกิด การอยู่อาศัย  เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งก็ยืดหยุ่นและแตกต่างกันไปตามพัฒนาการ ความจำเป็น และวุฒิภาวะของสังคมนั้นๆ

        อีกด้านหนึ่ง  ความเป็นพลเมืองจัดว่ามีนัยทางสังคมและวัฒนธรรม บังเกิดขึ้นด้วยการกระทำและเรียนรู้ที่จะปฏิบัติอยู่ในวิถีชีวิต  กระบวนการภายในของมนุษย์ เช่น วิธีคิด  วิถีแห่งปัญาและความรู้  การอบรมบ่มเพาะตนเอง ค่านิยม โลกทัศน์ต่อสังคมและตัวตนของปัจเจก จะมีส่วนอย่างยิ่งต่อการกำหนดการปฏิบัติในนามของตนเอง หรือในนามของปัจเจก ซึ่งเป็นพลเมืองที่สังกัดตนเองเข้ากับชีวิตส่วนรวม ด้วยการปฏิบัติและจัดความสัมพันธ์กับโลกรอบข้าง ในนามของตนเองเสมอไป

        เช่น เป็นคนปฏิบัติบางสิ่งอย่างที่ตนเองคิดว่าดีสำหรับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและสร้างส่วนรวมให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไทย อังกฤษ  อเมริกา ญี่ปุ่น เขมร ลาว และประเทศใดๆในโลก ก็ทำด้วยสำนึกดีงามเช่นนั้นอยู่เสมอ แบบนี้เรียกว่าเป็นพลเมืองที่สังกัดต่อสำนึกต่อตนเองที่มุ่งเพื่อสังคมส่วนรวมทุกแห่งหน หรือเป็นพลเมืองในอีกความหมายหนึ่งของภาคประชาสังคม ทั้งของท้องถิ่นและของโลก

       เป็นพลเมืองที่มีทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อทุกหนแห่ง ด้วยสำนึกและจิตใจที่เอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นของตน ซึ่งเรียนรู้  ยกระดับ เปลี่ยนแปลง และพัฒนาได้อยู่ตลอดชีวิตของทุกคน

        แง่มุมเหล่านี้ เป็นความเข้าใจต่อเรื่องพื้นฐานทางสังคมและการพัฒนาคน ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถเข้าใจกรอบการปฏิบัติทางสังคมที่สื่อความเข้าใจกันได้อย่างเป็นหมวดหมู่แล้ว น่าจะเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาคน ทั้งในเรื่องสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาสาขาต่างๆ 

        ขณะเดียวกัน  การที่เรา(คนร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันและร่วมเกิดแก่เจ็บตายเสมอกัน)ไม่ค่อยคิดให้เข้าใจต่อเรื่องที่คนส่วนใหญ่สื่อสารกันแบบคุ้นเคยเหล่านี้ ก็จะทำให้อีกหลายเรื่องเข้าใจไม่ได้  เช่น รัฐธรรมนูญและกฏหมายทุกประเทศของโลก จะต้องเริ่มต้นด้วยแนวคิดเรื่องบุคคล เสรีภาพ และความเป็นส่วนรวม ด้วยรากฐานทางสังคมที่แตกต่างกันออกไปทั้งนั้น

       ในทางสุขภาพตามกระบวนทัศน์ใหม่ก็เช่นกัน  มิติหนึ่งคือ จะต้องพัฒนาปัจเจก ชุมชน และสังคมเข้มแข็ง  ซึ่งจะเห็นว่า จะต้องมีคนและชุมชนเป็นองค์ประกอบการทำงานอยู่ด้วยเสมอ หากไม่มีแนวคิดและไม่เห็นความหมายที่มีนัยสำคัญอันแตกต่างกันในเชิงกระบวนการ  ก็จะไม่สามารถเห็นคุณภาพและการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันระหว่างความเป็นกลุ่มคน การประชุม  เวทีประชาคม และเครือข่ายพลเมือง อีกทั้งอาจจะเข้าใจว่าเหมือนกัน

        แต่ถ้าหากเห็นนัยสำคัญเหล่านี้แล้ว  ก็เชื่อว่าจะทำให้การวิจัยชุมชน พัฒนาชุมชน พัฒนาสุขภาพ คุณภาพชีวิต และพัฒนาพลเมืองประชาสังคม สามารถทำอย่างบูรณาการไปด้วยกัน เห็นโอกาสในการผสมผสานการพัฒนาคน พลเมือง ประชาสังคม และศักยภาพการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ย่างมีความหมาย อยู่เสมอ การพัฒนาสุขภาพจะก่อให้เกิดการพัฒนาสังคม การพัฒนาสังคมจะส่งผลต่อสุขภาพ หรือทุกอย่างเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นองค์รวม

        คนและชุมชน จึงเป็นทั้งเป้าหมายและปัจจัยในการแก้ปัญหา ที่สำคัญที่สุดอยู่เสมอนั่นเอง.

หมายเลขบันทึก: 174622เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2008 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วิธีการทางศิลปะ จัดว่าเป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาปัจเจกภาพ การพัฒนาวิธีคิด และสร้างพลังทรรศนะของปัจเจก

อีกทั้งปัจจุบัน สามารถประยุกต์เป็นวิธีการทางชุมชน ทำให้คนเรียนรู้ในการพัฒนาความสามารถในการสื่อสารและเป็นอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างปัจเจกกับสังคมและสิ่งแวดล้อม คนทำงานทางศิลปะ สื่อ และท่านที่สนใจ สามารถไปตามลิ๊งค์ที่นี่เลยนะครับ

ส่วนที่หนึ่ง http://www.pohchang.org/webboard/index.php?action=dlattach;topic=1102.0;attach=11315

ส่วนที่สอง http://www.pohchang.org/webboard/index.php?action=dlattach;topic=1102.0;attach=11316

มีภาพถ่ายศิลปะ  ดูหาไอเดียและเป็นแรงบันดาลใจ จากเรื่องที่อยู่ในจังหวะชีวิตง่ายๆ ที่ลิ๊งค์นี้ครับ 

http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=1102.0

การเรียนรู้และพัฒนาด้านในโดยการรวมกลุ่มสนใจและทำกันในแนวที่เรียกว่ากลุ่มประชาคม หรือชุมชนตามความสนใจของปัจเจก ก็เป็นกลวิธีหนึ่ง ลองไปดูกิจกรรมของ ชมรมชีวเกษม กับการสร้างสุขภาพแบบองค์รวม พร้อมกับผสมผสานการพัฒนาพลังตนเองของปัจเจกไปด้วย เหมือนกับการเรียนรู้ของพลเมืองและการเรียรู้ตลอดชีวิต  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาของคนที่อยู่ในสังคมเมือง ที่ลิ๊งค์นี้ก็น่าสนใจครับ 

http://www.hsro.or.th/order.php?command=print&doc=93

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท