๒๐. ห้องเรียนโดยสาร


"...ห้องเรียนโดยสาร จึงมีพลังมาก หากมีการส่งเสริมการอ่านหนังสือ และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ให้มาก ก็คงจะเพิ่มพูนทุนทางปัญญาและขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้กับผู้คนอีกมากมาย..."

            เดือนนี้  ผมเดินทางไป-กลับต่างจังหวัด  โดยเลือกโดยสารรถไฟ 2  ครั้ง และอีกครั้งหนึ่ง ได้โดยสารรถตู้กับคณะทำงานที่เชิญผมไปเป็นวิทยากร  แต่ละครั้ง  ต้องเดินทางเกือบ 300 กิโลเมตร  ใช้เวลาแต่ละเที่ยวโดยรถไฟ  6  ชั่วโมง  และรถตู้ 3  ชั่วโมงโดยประมาณ

           เหตุผลที่ให้การตัดสินใจตนเองในกรณีโดยสารรถไฟก็คือ  อยากเห็นชีวิตผู้คน  รวมทั้งเห็นการดำเนินไปของโลกและสิ่งแวดล้อมรายทาง  อยากนั่งอ่านหนังสืออย่างมีความสุขโดยที่ไม่ต้องมีใครมาดับไฟ เหมือนเวลานั่งรถทัวร์และรถบัสทั่วไป  ซึ่งเป็นการบังคับทางอ้อมให้นั่งหลับหรือต้องนั่งลืมตาโพลงในความมืดอย่างหงุดหงิดไปตลอดทาง

           ส่วนการนั่งรถตู้  เหตุผลก็คือ  อยากนั่งคุยกันกับคณะเจ้าของงานที่เชิญผมไป  ซึ่งเป็นคนทำงานของศูนย์สุขภาพภาคประชาชนภาคเหนือ  รู้จักรักใคร่ และนับถือกันผ่านการทำงานสาธารณสุขมูลฐานมาด้วยกัน  บางคนรู้จักกันมากว่า 20 ปี  ทว่า ไม่ได้เจอกันเป็นนาน 

           โดยวิธีนี้  ทำให้ผมสามารถสร้างห้องเรียนโดยสาร  อ่านนิตสารได้ 3 ฉบับ  สนุกไปกับการอ่านเรื่องราวต่างๆอย่างครอบจักรวาล  อ่านหนังสือตำราฝรั่งเพื่อใช้อภิปรายงานถอดบทเรียนสุขภาพชุมชนได้ 2 เล่ม และอ่านงานเขียน หมอโกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์ เรื่อง วิถีสุขภาพปฐมภูมิ ได้อีกเล่มหนึ่ง  รวมทั้งนั่งจดจำภาพและถ่ายภาพสองข้างทาง  เก็บไว้ทำสื่อ และเก็บไว้เป็นข้อมูลทำงาน  ได้อีกเยอะเลย

            ในครั้งที่นั่งรถตู้  ด้วยความที่ไม่ได้เจอคนที่รู้จักกันมานาน และเราต่างก็ทำงาน  มีบทเรียน  มีหัวข้อที่เป็นความอยากรู้อยากเห็นมากมายในชีวิตเพิ่มขึ้น  ก็ทำให้ผมและเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ คนทำงานสาธารณสาขมูลฐาน  นั่งคุย  แลกเปลี่ยนเรียนรู้  แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การทำงาน  ปรึกษาหารือ  สารพัดเรื่อง 

            ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆอีกมากมายที่ไม่เคยรู้มาก่อนจากคนทำงานด้วยกัน  อีกทั้งหลายเรื่อง  ก็ได้ปรึกษาหารือ  เพื่อทำงานให้เชื่อมโยงเกื้อหนุนกัน  แม้จะทำต่างองค์กร  ต่างพื้นที่ดำเนินการ และต่างภารกิจ

            หลายเรื่อง มากมายยิ่งกว่าการนั่งประชุมกันในห้องเสียอีก  ห้องเรียนโดยสาร  จึงมีพลังมาก  หากมีการส่งเสริมการอ่านหนังสือ และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ให้มาก   ก็คงจะเพิ่มพูนทุนทางปัญญาและขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้กับผู้คนอีกมากมาย.

          

หมายเลขบันทึก: 213228เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับท่านวิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • ก่อนอื่นต้อง ขอขอบคุณท่าน ที่ใช้รถไฟไทยในการเดินทาง
  • การโดยสารรถไฟถือว่าเป็น การเดินทางที่เป็นอิสระที่สุด ใช่ไหมครับ จะลุก จะเดิน จะเข้าห้องน้ำ จะทานอาหาร ถือว่าเป็นอิสระแห่งตัวตนของเรา
  • ถึงว่าบางครั้งอาจจะต้องล่าช้าเกินกำหนดเวลาไปบ้าง ก็ให้ถือเสียว่าเป็นกำไรหรือเป็นของแถมก็แล้วกัน  ฮ่าๆๆ
  • อีกอย่างการนั่งรถไฟระยะทางไกลๆ ก็ให้คิดเสียว่าเป็นการเรียนรู้ชีวิต ขนบประเพณี สำเนียงภาษา ตามเพื่อนที่นั่งใกล้ๆ หรือท้องถิ่นนั้นๆ เราสามารถเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อีกทางหนึ่งนะครับ

ผมมักใช้เวลาที่อยู่กับตนเองแบบนี้ อ่านหนังสือดีๆ และมีสมาธิมาก เพราะได้อยู่กับตัวเอง

หากไม่รีบเร่งมาก ก็จะเดินทางโดยรถโดยสารตอนกลางวัน มองวิถีชีวิตข้างทางไปเรื่อยๆ มีความสุขดีครับ

 

  • คุณสะ-มะ-นึก มุมมองเชิงบวกแบบคุณสะ-มะ-นึก นี่แหละ ที่ทำให้ได้ความหมายและคุณค่าใหม่ๆ ขอบคุณนะครับ
  • คุณจตุพร การได้อยู่กับตัวเอง ได้นั่งคิดทบทวน และมีโอกาสได้หาความรู้ใหม่ๆ ให้กับตนเองด้วยนี่ดีนะครับ เป็นความลงตัวของนักกิจกรรมกับนักวิชาการพัฒนา
  • คุณพิริยะ อนุกูล  ขอบคุณนะครับ  ตั้งอกตั้งใจทำมากมาย  อันไหนคือรูปคุณ  แต่ทำไมชื่อเหมือนผู้ชาย 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท