๒๑. สู่กระแสธารชีวิต : เรียนรู้ด้วยหัวใจ กล้ามเนื้อ และหยาดเหงื่อ


"..เป็นการรับ-ส่ง การเสนอ และการปรับตนเองไปกับจังหวะผู้อื่น ให้ลงตัวในทุกสภาวการณ์ที่เลื่อนไหลไปตามจังหวะและลีลาเพลง หยั่งเห็นได้ถึงคลื่นจิตใจ และการรินไหลของพลังชีวิตอันต่อเนื่อง ...."

            เมื่อวันหยุดปลายเดือนสิงหาคม  2551 ที่ผ่านมา ผมได้รับการชวนจากพี่ๆ เพื่อนๆ ชมรมชีวเกษม  ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติสุขภาพและเจริญสติภาวนา  แนวสร้างสุขภาวะแบบองค์รวม  กลุ่มแกนนำหลักๆ อยู่ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ให้ไปร่วมเวทีภาวนาและร่วมกันปลูกต้นไม้ (บังเอิญว่าตรงกับวันสิ่งแวดล้อมด้วย : วันรำลึกถึงคุณสืบ นาคเสถียร) ศูนย์ปฏิบัติธรรม ซึ่ง คุณวริชตา ปลั่งสำราญ และ คุณปรีชา ก้อนทอง  เป็นผู้นำสร้างขึ้นมาเป็นแรมปี  เลยอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปอีกเล็กน้อย

           ผมไปถึง  ก็เป็นเวลาที่เขาร่วมกันทำวัตรเย็น  จากนั้นก็อยู่ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการอยู่กับตัวเอง  ในเวทีมีกลุ่มที่รู้จักมักคุ้นกัน  ทั้งเป็นนักธรุกิจ  เจ้าของกิจการ  ครูอาจารย์  เจ้าของโรงเรียนวิถีพุทธพลอยภูมิ  นายดี  ช่างหม้อ ศิลปินประติมากรรม ซึ่งมีผลงานแนวพุทธศิลป์มากมาย  

           ทั้งหมดมักไปกันเป็นครอบครัว และหนึ่งในครอบครัวที่ร่วมเวทีครั้งนี้ก็คือ คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  ภรรยา ลูกและเพื่อนๆของลูก  ซึ่งผมเองก็ประหลาดใจที่ได้มาเจอกับคุณหมอในที่ซึ่งไกลออกไปจากรุงเทพฯกว่า 300 กิโลเมตร ชนบทและกันดารสุดๆ 

           อีกทั้งอย่างคุณหมอโกมาตรนี่  เชื่อว่าต้องทำใจเพื่อวางมือจากงานมากมาย  จึงจะสามารถไปได้  รวมแล้วก็เกือบ 20  คน มีเด็กๆ 5-6  คน ซึ่งทำให้กลุ่มปฏิบัติมีความเป็นธรรมชาติอันบริสุทธิสดใสมาก

           กลางคืนฝนตกอย่างหนัก วันรุ่งขึ้น ก็มีกิจกรรมการปลูกต้นไม้ และหลายอย่างที่ทุกคนได้มีโอกาสทำด้วยกัน  ก็ทำให้ได้อะไรอีกมากมาย  รวมทั้ง เป็นความสนใจเป็นพิเศษของผม คือ ได้สัมผัสกับด้านที่เป็นความสุนทรียภาพของคุณหมอโกมาตร  ที่ผมไม่เคยรับรู้มาก่อนเลย 

          เข้าใจว่า  คงมีการออกแบบการปลูกต้นไม้ ให้เป็นกุศโลบายหลักในการเรียนรู้และเจริญสติภาวนาในครั้งนี้อย่างแยบคาย  

          ผืนดินถูกไถมีอาณาบริเวณสัก 2 งาน  เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวรับแสงตะวัน  

          ขุดหลุมเตรียมไว้เป็นอย่างดี  รวมทั้งหมดก็ประมาณ  50  หลุม  ต้นไม้ที่เตรียมไว้ก็หลากพันธุ์  

          ผมได้รับมอบหมายให้ออกแบบ  จัดวางว่าจะนำต้นอะไรไปปลูกไว้ตรงไหน  ซึ่งเป็นไปโดยตกลงกันตรงนั้น  เพราะเวลาหยิบแต่ละอย่างขึ้นมาดูแล้ว  คนคงเห็นว่าผมรู้จักต้นไม้ที่เตรียมไว้มากกว่าเพื่อน  เลยให้ทำหน้าที่นี้ 

         ขั้นตอนที่ต้องช่วยกันก็คือ.......

  •  เดินหิ้วต้นไม้  จากที่ที่เตรียมไว้  ไปยังแปลงที่จะปลูก  ระยะเดินสักเกือบสองช่วงเสาไฟฟ้า
  •  จัดกลุ่มต้นไม้  เขียนชื่อบอก เพื่อกันลืม
  •  ช่วยกันวางต้นไม้ไปตามแนวหลุมต่างๆ โดยระดมหาแนวคิดกันไปด้วย 
  •  เดินหยอดปุ๋ยคอกทุกหลุม  ก่อนแกะถุงพลาสติกออก  และนำต้นไม้ลงปลูกในหลุม
  •  ตอนแรกๆ ผมก็ส่งเสียงบอกว่าต้นอะไรควรจะอยู่ตรงไหน แล้วทุกคนก็จะนำต้นไม้ลงไปปลูก 
  •  แต่ตอนหลังๆ เนื่องจากคนน้อยกว่าต้นไม้ 2-3 เท่า ต้องใช้เวลาปลูกและกลบดินมากกว่า  ทั้งหมดจึงต้องช่วยกันปลูก  ส่วนการวางต้นไม้นั้น  ผมเลยต้องใช้วิธีเดินหิ้วต้นไม้ ไปวางตามหลุมทีละต้น  ทีละหลุม พอเปลี่ยนใจหรือไม่ลงตัว ก็ย้ายไปมา

         สุดๆ  ครบทุกรสชาติของชีวิตเลยทีเดียวครับคราวนี้  เพราะแดดงี้จ้าอย่างไร้เงาเมฆมาบดบัง  อีกทั้งผืนดินที่ไถเตรียมไว้ก็โดนฝนฉ่ำจนอ่อนนุ่ม  เหยียบไปแต่ละครั้งก็จมไปครึ่งแข้ง  ทุกก้าวย่างเต็มไปด้วยทั้งแรงยึดและแรงต้าน  เดินเที่ยวหลังๆ ก็รู้สึกว่า หิ้วต้นไม้ต้นเท่านิ้วก้อย ทว่า หนักราวท่อนซุงก็มิปาน ทำไปผมก็ทบทวนชีวิตและการงานในห้วงจังหวะต่างๆ ไปด้วย

          เม็ดเหงื่อแย่งกันผุดพรายจนแทบจะท่วมเบ้าตา  แต่เสียงเด็กๆยังสนุกสนาน  เกิดธรรมะ  เห็นอนิจลักษณะแห่งตนในยามนี้  และท้ายๆ เมื่อใกล้เพล  ก็อยากจะเอาขาแขวนหูครับ  เดินยกขาออกจากหล่มโคลนแทบไม่ไหว หายใจเข้าออกแทบไม่ทัน  ตะโกนบอกใครไม่ไหวแล้วครับนอกจากเดินหิ้วงุดๆ แล้วก็ไปวางให้เลย มันเหนื่อยจนพูดไม่ออก

         ตอนไปนำปุ๋ยอินทรีย์และมูลสัตว์นั้น  ก็เพิ่มธรรมะให้ต้องทดสอบตนเองเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง  คือในมูลสัตว์นั้นมันเต็มไปด้วยมดคันไฟครับ กัดทีงี้เหมือนโดยน้ำร้อนลวก

          โอพระเจ้า  ร้อนและเหนื่อยจนตับแล่บ  ยังดันมาเจอมดคันไฟ  ต้องต่อสู้กับภาวะภายในสองอย่างที่อยู่คนละด้าน คือ ด้านหนึ่ง  เป็นความใส่ใจกับต้นไม้ที่จะได้ปุ๋ยและการปลูกอย่างดีเพื่อเป็นความร่มรื่นของศูนย์ปฏิบัติธรรม  

          อีกด้านหนึ่ง  เป็นความเจ็บปวดจากมดกัด  เหน็ดเหนื่อย ร้อนล้า  อยากหนีและผละออกจากภาวะดังกล่าวเร็วๆ  ต้องข่มใจและเป็นแบบฝึกหัดกล่อมเกลาตนเอง  ที่เชื่อว่าเกินกว่าจะเข้าถึงภาวะดังกล่าวนี้ได้ หากไม่ผ่านการได้ทำอย่างนี้

          พอเสร็จ  ก็ต้องเก็บขยะและอุปกรณ์  พวกจอบ  เสียม  มีด  พลั่ว  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหล็ก  เมื่อถูกวางไว้กลางแดด จึงร้อนฉ่า แตะตรงไหนก็ร้อน

          ผมเดินหอบหิ้วของพร้อมกับภาวนา เพื่อให้จิตใจอิสระจากความร้อนที่สัมผัส กระทั่งมือชา ต้องแปรให้เป็นการสะสมพลังข่มใจและครองสติอย่างที่สุด  พอถึงตอนอาบน้ำและชำระล้างดินโคลนด้วยท่อสายยางกลางสนามหญ้า  ก็ปล่อยให้น้ำไหลผ่านร่างกายไปเฉยๆ อยู่เป็นนาน ไม่อยากกระดิกตัวเลย  นานๆได้ทำอย่างนี้  ก็เหนื่อยจนเหงื่อเหนียวเป็นยางคางคก นึกถึงครั้งไถนาเมื่อตอนเริ่มโต

          กระบวนการอย่างนี้  ก็เหมือนกับลีลาเพลงยุทธ  เมื่อสัมผัสแล้วผมก็คิดในใจว่าเป็นแนวคิด  กุศโลบาย  และการออกแบบกระบวนการของพี่ปรีชา  ก้อนทอง ผู้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น พี่เขาเป็นคนหนึ่งที่นำธรรมะมาเล่นสนุกในการงานและชีวิตได้

          หลังจากนั่งพักเหนื่อยแล้ว  เงาไม้ร่มรื่น สายลมเย็น และการได้เห็นความสำเร็จ  จากแรงกายแรงใจของทุกคน  ก็ทำให้ได้ความรู้สึกงดงาม  มีพลัง  อิ่มเอิบใจ  มีความสุข  และปลอดโปร่งใจว่าได้ทำกิจร่วมกับคนที่เขาสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมด้วยความเหนื่อยยาก

          ระหว่างนั้น  หลังเหน็ดเหนื่อยสุดๆ และกำลังนั่งผ่อนคลายกระทั่งจิตใจสงบนิ่ง  รินไหลไปกับสายลมอ่อนโยน  ผมก็ได้ยินเสียงเม้าท์ออร์แกน  เพลงทะเลแสนงาม  ของ วงสองวัย  แว่วมา  เป็นฝีเพลงของคนเป็นเพลงครับ  เป็นมากๆด้วย 

          หมอโกมาตร  กำลังนั่งเป่าเม้าท์ออร์แกน  อยู่ใต้ต้นตะขบอันร่มรื่นต้นหนึ่ง โอ้โฮ  นี่มันยิ่งกว่าได้สัมผัสอารมณ์อิมเพรสชั่นนิสต์ ในงาน Happenning Art อีกนะครับ  

          ผมรีบโดดไปขอยืมกีตาร์โปร่ง ก็ของลูกคุณหมอโกมาตรอีกเช่นกัน  มาแจมสดๆ  เกาปลายนิ้วคลอทำนอง และตีคอร์ดปูพื้นให้คุณหมอเล่นโดยพลัน  เสร็จแล้วก็เพลงสายทิพย์  ดอกไม้ให้คุณ  และเล่นฟลุ๊ต  เพลงเดือนเพ็ญ  มีพี่ๆน้องๆ ตีวงเข้ามา  แล้วก็ร้องเพลง  แสงดาวแห่งศรัทธา ไปด้วยกัน  ซึ่งเป็นเสียงแห่งท่วงทำนองชีวิตที่ฉับพลันและไพเราะจริงๆ

           การเล่นดนตรีด้วยกันในภาวะอย่างนั้น  และโดยไม่เคยรู้ทางกันมาก่อน  ช่างให้ความรู้สึก  ที่สัมผัสได้ถึงพลังการเลือกสรรสิ่งดีงาม และพลังแห่งความเอื้ออาทรผู้อื่น  เพื่อส่งความแยบคาย  ความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง  ออกไปให้ผู้อื่นอย่างไร้กรอบจำกัด  

           เป็นการรับ-ส่ง  การเสนอ  และการปรับตนเองไปกับจังหวะผู้อื่น ให้ลงตัวในทุกสภาวการณ์ที่เลื่อนไหลไปตามจังหวะและลีลาเพลง  หยั่งเห็นได้ถึงคลื่นจิตใจ  และการรินไหลของพลังชีวิตอันต่อเนื่อง 

           เป็นการเรียนรู้ด้วยจิตใจ หยาดเหงื่อ และกล้ามเนื้อ  เห็นปัญญา และธรรมะ อยู่ในการงานและชีวิตจริงเลย.

 

หมายเลขบันทึก: 213282เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระมหาแล ขำสุข (อาสโย

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • อ่านบันทึกของโยมอาจารย์นี้แล้วนึกถึงตอนไถนาเดือนหกเดือนเจ็ดเลยดินก็แข็งมากแดดก็ร้อนลมก็ไม่มีพัดถูกกายทั้งคนและควายเหนื่อหอบไปตาม ๆ กัน
  • ควายน้ำลายฟูมปากหอบจนตัวโยน ยิ่งไถดะครั้งแรกด้วยแล้วดินจะแข็งเป๊กผาลที่ว่าคม ๆ ก็ได้แต่ครูดเป็นรอยเหมือนขีดดินเล่น หางไถที่จับก็สะท้านสะเทือนไปทั้งตัวเหงื่อไหลจนเสื้อเปียกชุ่มกาย
  • ไถนาดินทรายค่อยยังชั่ว แต่ถ้าป็นนาดินเหนียวเหมือนแถวบ้านตาลิน แถวห้วยน้อยการไถดะเดือนหกหลังสงกรานต์ฝนยังไม่ลงด้วยแล้วอย่าบอกใครเชียว
  • รสชาติชีวิตแบบนี้บอกใครให้เห็นจริงตามได้ยากนอกจากต้องปฏิบัติด้วยตนเองจึงจะเข้าใจ
  • ทำให้นึกถึงเจ้าทุยเพื่อนยากที่แสนดีหลายตัวในอดีตที่ผ่านมามีความผูกพันรักใคร่เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
  • การได้ประสบกับความลำบากมาก ๆ ถ้าไม่ยอมแพ้เสียก่อนแล้วเราก็จะได้บทเรียนชีวิตอันมีคุณค่าอย่างใหญ่หลวง.

                                               ขอเจริญพร

                                         พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข (อาสโย)

การทำไร่-ทำนา เหนื่อยมากครับ แต่การได้ทำนาก็เป็นการเชื่อมโยงกับผืนดิน ปู่ย่าตายาย ผู้คน แมกไม้ สายน้ำ และวัวควาย ด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ซึ่งทำให้มีความหมายต่อชีวิตจิตใจของชาวบ้านมาก

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท