๓๖. ศิลปะกับสุนทรียภาพของชีวิตและการงาน : กลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง


"....เป็นฐานการคิดเชิงบวกต่อการพัฒนาคนและชุมชน ที่ริเริ่มออกมาจากการค้นหาสิ่งที่ปัจเจกและชุมชนส่วนใหญ่มีอยู่ เช่น ทุนชีวิตของชุมชน ทุนศักยภาพ ทุนสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐาน วัฒนธรรมและทุนทางสังคม ที่มีอยู่อย่างมั่งคั่งพอสมควรในสังคมไทย ..."

ผมจะได้ร่วมแสดงงานศิลปะ กับกลุ่มเพื่อนๆ กลุ่ม 10 จิตรกรรมเพาะช่าง และครูอาจารย์ของสมาชิก  ชื่องาน  คิดถึง-อยากเจอ ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2551  ณ หอศิลป์จามจุรี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่คิดถึงศิลปะ คิดถึงเพื่อน คิดถึงครูอาจารย์ คิดถึงลูกศิษย์และคนที่เคารพนับถือ  รวมทั้งการเป็นครูทางจิตวิญญาณของกันและกัน 

อยากเจอและอยากถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ  ผ่านการสร้างประสบการณ์ในการทำงานศิลปะด้วยกัน  และทำให้สังคมได้มีความสุข  มีเวลาให้งานศิลปะพากลับเข้าสู่ภายใน อยู่กับตนเอง ได้พลังแห่งสติและได้แรงบันดาลใจ ออกไปสู่สังคมด้วยพลังชีวิต มีความสุขและร่วมสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างมีพลัง จึงเป็นที่มาของการทำและแสดงงาน คิดถึง-อยากเจอ  ครั้งนี้ .....................................

            มีภาพโปสเตอร์ของงาน  ซึ่งก็มีภาษาของศิลปะเช่นกัน 

          

 

 

งานเชิงความคิดจากงานวิจัยชุมชนสู่ศิลปะ เพื่อการสื่อสารเรียนรู้กับสังคม            

ผมร่วมทำงานแสดงกับเขาด้วย  แต่เป็นงานเชิงทดลองของตัวเอง คือ มิติแรก ทดลองทำงานศิลปะที่วางอยู่ฐานงานวิจัยชุมชน มีเรื่องราวของงานที่ทำ งานความรู้ และความเป็นจริงของคนทั่วๆไปในสังคมรองรับ  เราสามารถที่จะค้นพบและจับต้องได้จากการดำเนินชีวิต และวิถีชุมชน  สอดแทรกอยู่ในกิจกรรมและอริยาบทต่างๆของชีวิต         

ขณะเดียวกัน  มิติที่สอง  ก็ทดลองเชื่อมโยงมิติของชีวิต  ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม  ให้ขึ้นไปสู่องค์ประกอบของความเป็นสุนทรีภาพ  เพื้อให้เห็นถึงคุณค่าและความหมายอันลึกซึ้ง  ประณีต  ละเอียด อ่อนโยน ในวิถีชีวิตและการทำมาหากิน 

มีมิติของธรรมะและการเจริญสติภาวนา ผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตที่หวนคืนสู่ความเรียบง่าย  ทว่า ได้ความแยบคายและมีความลึกซึ้งต่อชีวิต  แม้โลกจะพัฒนาไปทางวัตถุและการบริโภคทางวัตถุ ไปย่างมากก็ตาม

เป็นการทดลองค้นหาและเข้าสู่มิติเชิงคุณค่าและความหมาย ให้เห็นถึงการที่เราจะสามารถเข้าสู่ทั้งมิติความงาม ความดี และความจริง จากสิ่งที่ตนเองทำและเรียนรู้ได้เสมอ ด้วยการเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงสังคมอย่างบูรณาการ

การวิจัยกับการสื่อสะท้อนทางศิลปะ : สุนทรียภาพของการวิจัยและความรู้

แรงบันดาลใจ ข้อมูล และวัตถุดิบ ในการแปรมาสู่การสื่อสะท้อนสู่ศิลปะและมิติสุนทรียภาพ ส่วนใหญ่มาจากงานวิจัยและการเรียนรู้ชุมชนในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา  โดยเฉพาะงานวิจัยกับกลุ่มวิจัยทรานส์ทีม  มหาวิทยาลัยมหิดล  เครือข่ายวิจัยชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง  การวิจัยชุมชนอำเภอพทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม การวิจัยวิถีสังคมของชุมชนเกษตรกรชาวนาบัว

ภาพแรกเป็นภาพชุมชนชาวนาบัว และอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม   ชีวิตชุมชนมีความหลากหลายทั้งระดับการพัฒนา กลุ่มอาชีพ  ศาสนาและวัฒนธรรม  มีภาคเมืองผสมผสานกับภาคชนบท ทั้งระดับล้ำยุคก้าวทันโลกสมัยใหม่ และการยังอยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเกษตรกรรม

 

  

ชาวนาบัว เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ล่มสลายจากการทำนาข้าว  นาบัวและดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งสติและปัญญา ทั้งระดับปัจเจก ครอบครัว และชุมชน  ตอกย้ำและยืนยันความเป็นสัญลักษณ์ของสติและปัญญาในอารยธรรมที่สำคัญหลายแหล่งของโลก

 

 

การไหว้แม่พระโพสพยังเป็นจิตวิญญาณแห่งท้องทุ่ง สานสำนึกชุมชนให้น้อมเป็นหนึ่งเดียวกับถิ่นฐาน สิ่งแวดล้อม แผ่นดิน ผืนน้ำ

 

ในชุมชนชาวนาบัว มีวัฒนธรรมและวิถีการผลิต  ที่สะท้อนไปสู่โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดการชุมชนเพื่อการดำเนินชีวิตร่วมกัน  กลุ่มผู้ชายจะทำหน้าที่ในนาบัว เก็บบัว ซึ่งเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยและต้องแช่น้ำ มีความเสี่ยงจากโรคระบาดทางน้ำและไม่เป็นผลดีต่อกายภาพของเพศหญิง  

 

 

ส่วนกลุ่มแรงงานผู้หญิงและเด็ก จะกำบัวและจัดบัวเข้าตะกร้า ซึ่งเป็นงานที่ต้องดูแลเด็กควบคู่ไปกับงานที่ทำได้บนบก  มีการลงแขก  เอาแรง  และเลือกสรรทางสังคม สอดแทรกอยู่ในมิติต่างๆ มากมาย 

 

การงาน การดำเนินชีวิต และการทำมาหากิน เมื่อเชื่อมโยงเข้าถึงวิธีคิดและระบบความรู้ที่ขับเคลื่อนความเป็นจริงของชาวบ้าน จึงมีองค์ประกอบของธรรมะ  เป็นการปฏิบัติอย่างมีธรรมะ ดูแลกันและเอื้ออาทรต่อสุขภาวะของสาธารณะ เผื่อแผ่และครอบคลุมกว้างขวาง ใหญ่กว่าตัวกูของกูของปัจเจก มีเงื่อนปมที่สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อ ปรัชญาชีวิต และองค์ความรู้ที่สร้างสะสมในวิถีชุมชนแบบต่างๆ ที่ปัจเจกจะสามารถเข้ากลุ่มและถอดรหัสออกมาจากการเรียนรู้ทางสังคม เห็นวิถีเรียนรู้ที่ผสมผสานอยู่ในชีวิตและการทำมาหากิน 

 

 

พลังในเชิงสัญญะของดอกบัว  มีฐานทางสังคมวัฒนธรรม และประสบการณ์ทางสังคมมารองรับมากมาย  ในงานวิจัยที่ผมทำ จากโคลนตม-นาบัว ไปจนถึงหิ้งพระ  พบว่ามีกลุ่มทางสังคมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม ที่ขับเคลื่อนเชื่อมโยงกันถึง 11 กลุ่มคน  ถักทอมิติทางสังคม กายภาพ  วัตถุ  ขึ้นไปจนถึงมิติทางจิตวิญญาณ และระบบความรู้ที่ฝังแน่นอยู่กับสังคมชุมชน 

 

 

ภาษาศิลปะ องค์ประกอบทางสุนทรียภาพ กับองค์ความรู้การวิจัยชุมชน  จึงเป็นบทเรียนหนึ่งของการเชื่อมกับความรู้สมัยใหม่ ลงไปสู่รากเหง้าชีวิต และพาคนกลับบ้านได้ สานประสบการณ์ดั้งเดิมของสังคม ให้มีบทบาทในการทำให้ปัจเจก ครอบครัว และชุมชน เข้าใจโลกด้วยทรรศนะจำเพาะตนของสังคมที่แนบแน่นอยู่กับผืนดินถิ่นน้ำ ลุกขึ้นยืนด้วยความรู้ที่มีอยู่ในวิถีชีวิตของตน

มีสุนทรียภาพ คุณค่า และความความหมายที่แยบคายลึกซึ้ง ไม่น้อยไปกว่าค่านิยมต่างๆในกระแสหลัก  ซึ่งชุมชนและคนส่วนใหญ่มักจะขาดโอกาส  เป็นฐานการคิดเชิงบวกต่อการพัฒนาคนและชุมชน ที่ริเริ่มออกมาจากการค้นหาสิ่งที่ปัจเจกและชุมชนส่วนใหญ่มีอยู่ เช่น ทุนชีวิตของชุมชน ทุนศักยภาพ ทุนสิ่งแวดล้อมในถิ่นฐาน  วัฒนธรรมและทุนทางสังคม ที่มีอยู่อย่างมั่งคั่งพอสมควรในสังคมไทย 

แต่นี่ก็เป็นงานทดลองในระยะแรกบางส่วน ที่สานเข้าสู่กันของมิติวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ สุขภาพ ศิลปะ และสุนทรียภาพ ในบริบทของการทำงาน(วิจัยและพัฒนาสุขภาพ)ชุมชน  ลองนำมาแบ่งปันเป็นแรงบันดาลใจให้กันครับ.  

หมายเลขบันทึก: 223609เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2008 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • สวยมากๆๆเลยค่ะ
  • นำมาประกอบได้กลมกลืนจริงๆค่ะ
  • สวัสดีครับคุณมณีแดง คนสวย แซ่เฮ
  • ขอบคุณครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมและทักทายกัน
  • งั้นมอบเป็นความสุขและให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับปีใหม่ไปด้วยเลยนะครับ

มาชื่นชมผลงานเจ้าค่ะ

เกิดความคิดว่า ภาพสวย ๆ เหล่านี้ อาจารย์วิรัตน์น่าจะนำไปเป็นภาพประกอบหนังสือเกี่ยวกับชุมชนนาบัวนะคะ (สงสัยว่าอาจารย์ก็คงคิดไว้อยู่แล้ว :P)

เขียนออกมาอีกสักเล่มดีไหมค่ะอาจารย์ ..^__^..

นำคำคมมาฝากค่ะ

"ความสมถะไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ได้ครอบครองสิ่งใด

แต่ไม่มีสิ่งใดที่จะมาครอบครองคุณต่างหาก"

                                 :อาลี อิบิน อาบิ ตอลิบ (656-661)

  • สวัสดีคุณใบไม้ย้อนแสง
  • ตรงกับที่ใจคิดเลย จะเขียนอีกแน่นอนครับ อย่าลืมให้ไอเดียเป็นระยะๆนะครับ
  • เมื่อวานได้เข้าไปดูภาพถ่ายและบล๊อกของคุณใบไม้ย้อนแสง เป็นงานเขียนที่ดีและให้การอ่านเพื่อการภาวนาดีมากๆเลย
  • งานภาพถ่ายและแนวคิดที่เติมวิธีมองลงไปใหม่ในสิ่งทั่วๆไป ที่ในบล๊อก ก็สุดยอดจริงๆ เป็นความสวยงามทั้งในด้านศิลปะของการถ่ายภาพและวิธีมอง  ของคนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนและนำภาพมาแบ่งปันด้วยก็ดีจริงๆ

ข้างบนนี้ผมเองครับ ไม่รู้ว่ากดไปอย่างไรบ้าง ถึงได้ออกมาเป็นไม่แสดงตน ผมเองครับ ผมเอง

สวัสดีครับอาจารย์ แวะเข้ามาชมศิลปะในเชิงสร้างสรรค์ ครับ สมัยนี้ศิลปะก็ยังถูกใช้ไปในเชิงอนาจารและการค้า เราคงต้องเลือกเสพ เลือกผลิต ศิลปะในเชิงสร้างสรรค์กันไว้มากๆ นะครับ

อัศนี พลจัทร เคยเขียนโคลง ทิ้งศีล อวดศิลป์ เพื่อน (ทรัพย์)สิน ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์สยามนิกร เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 หน้า 4  ที่ว่า

มี ศิลป์ ศีล เสื่อมสิ้น             ธรรมสูญ
ขอแต่ทรัพย์สินพูน-              เพียบพร้อม
หวังสินอวดศิลป์มูล              มักโอ่  โอยพ่อ
ศีลสุดธรรมเที่ยวอ้อม            แอบแล้วเลยหนี

นอกจากนี้แล้ว อัศนี พลจันทร (นายผี) ยังได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับ ความดี และ ความงาม ปรากฎอยู่ในหนังสือในหนังสือ  รวมบทความ หน้า 166-167 ที่ว่า

สำหรับเราได้รู้จักความดีความงามกันอยู่ทั่วไปแล้ว เราไม่แยกความดีออกจากความงาม เราพูดดีงามปนกันไป นี้เป็นลักษณะอันเด่นในทางละเอียดอ่อนของเราและของผู้รักศิลปะทั้งหลายเช่นเดียวกับประชาชนชาวกรีก ซึ่งคำ kalos ของกรีกมีความหมายถึงความดี และมีความหมายถึงความงามด้วย เมื่อเขาพูดถึงความงามก็ย่อมหมายถึงความดีฉะนั้น อะไรที่งาม จึงต้องเป็นของที่ดีด้วย ไม่ดีก็ไม่ใช่สิ่งที่งาม และเมื่อไม่งามก็ไม่ใช่ศิลปะ ฉะนั้นศิลปะที่งามเมื่อตั้งอยู่บนความคิดที่อุดจาดลามก นั่นคือรูปศิลปะตั้งอยู่บนเนื้อหาอนาจารแล้วก็ย่อมเป็นสิ่งน่าอนาถเพราะมันทำให้ความงามของศิลปะกับความงามของชีวิตเกิดความขัดแย้งกันอย่างขนานใหญ่ศิลปกรรมนั้นก็เป็นศิลปกรรมที่ไม่สมบูรณ์

อ้างอิง
อัศนี พลจันทร. รวมบทความ,  พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สามัญชน, 2540 (หน้า 166-167)

มาเสนอไอเดียอีกรอบค่ะ

เห็นภาพวาดฝีมืออาจารย์แล้วก็คิดไปถึงปกหนังสือเลยค่ะ ถ้าใช้พื้นปกสีขาวหรือสีครีม เลือก Font ตัวหนังสือลายเส้นกนกสวย ๆ หรือ อาจารย์เขียนตัวหนังสือด้วยภู่กันสวย ๆ ด้วยสีโทนดำ น้ำตาล หรือน้ำเงิน (โทนสีที่เลือกขึ้นอยู่กับภาพที่เลือกมาทำปก) แล้วสแกนมาก็ได้ค่ะ แล้วก็เลือก size หนังสือที่ไม่ใช่ A4 หรือ ครึ่งหนึ่งของ A4 แต่ค่อนไปทางสี่เหลี่ยมจตุรัส น่าจะสวยดี

แหะ ๆ ยังไม่พูดถึงเรื่องเนื้อหาเลย ก็ไปถึงปกหนังสือนู่นเสียแล้ว.. แต่ใบไม้รู้อยู่แล้วว่า อ.วิรัตน์ มีเนื้อหาที่จะเขียนได้อย่างลุ่มลึกจากประสบการณ์การทำงานที่ยาวนาน และเข้าใจหัวใจของการทำนาบัว

ถ้า อ.วิรัตน์ ต้องการภาพถ่ายนาบัว ใบไม้เคยไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่อาภรณ์ตอนเก็บบัว และได้ให้ช่างภาพถ่ายรูปชาวบ้านเก็บบัว และกองดอกบัวสวย ๆ ไว้ด้วยค่ะ ใบไม้ดึงกล้องจากเพื่อนช่างภาพมาถ่ายเองบางรูป เพราะเห็นแล้วอดใจไม่อยู่

อะแฮ่ม..ถ้า อ.วิรัตน์ ต้องการภาพ จะลองไปอ้อนเพื่อนช่างภาพขอภาพชุดนั้นมา คิดว่าเขาน่าจะยังเก็บไว้ค่ะ

ถ้ามีงบประมาณก็ทำเป็นหนังสือสวย ๆ เนื้อหาดี ๆ ให้เก็บไว้อ่านได้อย่างภาคภูมิใจ  รื่มรมย์กับภาพวิถีชีวิตนาบัว และเส้นสายลายศิลป์จากภาพวาดของอาจารย์ จัดอาร์ตเวิร์คเว้นช่องไฟ ใช้ space ของช่องว่างสร้างความรู้สึกสงบงาม เข้าถึงสุนทรีย์ของชีวิตชุมชนที่เรียบง่ายทว่าลุ่มลึก

หรือจะทำเป็น 2 เวอร์ชั่นก็ได้ค่ะ เป็น Photo Essay 1 เล่ม และเป็นหนังสือสารคดี "จากโคลนตมถึงหิ้งพระ" อีก 1 เล่ม

ใบไม้ฟุ้งไปใหญ่เลยค่ะ แค่คิดก็มีความสุขแล้ว (พวกชอบอยู่กับอนาคตก็เป็นเช่นนี้แล)  เมื่อถึงเวลาอันเหมาะแก่กาล คงได้เห็นหนังสือนั้น

คิดออกจึงรีบบอกก่อนจะลืม ส่วนจะเห็นด้วยไหมในสิ่งที่เสนอ ไม่เป็นปัญหาเลยค่ะ ทำตามที่อาจารย์เห็นควรเถิดค่ะ

ขอบคุณค่ะที่แวะไปเยี่ยมเยือนบันทึกของใบไม้.. ..^__^..

ถึงเวลากลับไปสู่การงานแห่งปัจจุบันแล้ว.. หลังจากเที่ยวเล่นไปในความคิดแห่งอนาคต..

คุณกวินนี่สุดยอดจริงๆ  คุยอย่างนี้แล้วทำให้นึกถึงงานเขียนของจิตรภูมิศักดิ์เลยล่ะครับ  เรื่องนี้ถ้าตกผลึก เกิดแนวคิด ขอเลยนะครับ  อยากให้เข้ามาเขียนไว้ในนี้ไปเรื่อยๆนะครับ เพราะเรื่องนี้หาคนมานั่งคุยให้จ่อกแจ่กจอแจไม่ค่อยได้  ไม่ต้องเกรงว่าจะต้องคุยแบบหาคำตอบถูก-ผิดนะครับ  คุยหลากหลายเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกันดีกว่า

หากความจริง  เป็นบาทฐานของปัญญาและความรู้แบบวิทยาศาสตร์   ความดีเป็นบาทฐานความรู้แบบจริยศาสตร์และศาสนา  ความงามก็เป็นบาทฐานของสุนทรียศาสตร์และศิลปะ  ระบบภูมิปัญญาของมนุษย์ก็จัดวางบนกรอบหลัก เพื่อให้โลกทางความรู้  สังคมและวัฒนธรรม และมิติทางจิตวิญญาณ  ส่องทางและสะท้อนซึ่งกันและกัน การตั้งคำถาม  หมั่นปรารภกับพรมแดนทางปัญญาร่วมยุคสมัย  ลงไปสู่ความแยบคายลึกซึ้ง  จึงจำเป็นอยู่เสมอ  การเปิดกว้างและไม่สำเร็จรูป จึงเป็นหนทางหนึ่งครับ

ต็อลสตอย  ก็เป็นคนหนึ่งที่คุยเรื่องนี้ไว้มาก  ชนิดที่แข็งโป๊ก และก็เป็นตรรกะ  เข้าใจและใช้ชี้นำการทำงานได้มาก(สำหรับคนที่มุ่งในวิถีและวิธีดังกล่าว) แต่ก็ไปติดตรงที่อาจจะไม่มีที่อยู่ให้ทรรศนะและแนวการทำงานในความคิดและความรู้ชุดอื่น  ยกตัวอย่างเช่น ตามแนวทางอย่างที่ต็อลสตอยพิจารณานั้น (ไม่กล้ากล่าวว่าก็สะท้อนสู่งานนักเขียนหัวก้าวหน้าหลายท่านไปด้วย) งานศิลปะของสังคมที่พัฒนาความทันสมัยทีหลัง แทบจะเรียกว่าไม่เป็นงานศิลปะเลย  เป็นงานก๊อปปี้ งานลอกเลียน และงานผลิตซ้ำทางความคิด(ที่ต้องรื้อสร้าง) ไปหมดแทบทั้งสิ้น

รวมทั้งงานอีโรติกนั้น  คนที่คุยแง่มุมงานอีโรติกส่วนใหญ่นั้น  ก็มักเข้าไม่ถึงวิธีคิดเรื่องพลังการขับเคลื่อนสรรพสิ่งที่มาจากธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ไปติดอยู่ที่รูปแบบความอนาจาร  ซึ่งไม่ใช่เรื่องระบบคิดภายใต้งานอีโรติก 

เรื่องพวกนี้จึงมีความลึกซึ้งและน่าจะมีคนคุยให้ปัญญา  นำไปสู่ประเด็นทางศิลปะและสร้างทรรศนะทางสังคม ในบริบทแบบไทยๆ  คุยอีกเรื่อยๆนะครับ

มีงานที่ผมเขียนและคุยเล่นๆ แต่ในใจพุ่งลงไปที่ประเด็นใหญ่ๆพวกนี้เหมือนกันว่า ในปัจจุบันนี้  มันน่าจะมีวิธีพิจารณาเรื่องทางศิลปะและสุนทรียภาพ ให้หลากหลายไปตามความซับซ้อนในความเป็นจริงของสังคมได้อย่างไร  แต่ก็เป็นการคุยเรื่อยเปื่อยไม่เป็นวิชาการหรอกนะครับ (แต่ก็เป็นไปโดยตั้งใจเพื่อให้มันคุยได้ด้วยกรอบอ่อนๆ)  เลยนำมาฝากนะครับ  ข้างล่างนี้ครับ

http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=1102.0

รวมทั้ง......พอดีเลย  ในบล๊อกข้างบนนี้มีงานถ่ายภาพแบบเล่นเรื่องชั่วปัจจุบันขณะและการเกิดองค์ประกอบภาพจากแสงและการย้อนแสง อย่างที่คุณใบไม้ย้อนแสงและกลุ่มเพื่อนๆทำอยู่  เลยนำมาฝากกันไปด้วยเลยนะครับ

ยังจำ ยังจม อารมณ์รู้สึก

น้ำมิตรสนิทนึกแต่หนไหน

กี่ภพกี่ภูมิแพงใจ

สายญาติสายใยไมตรี

คืนวันอ่านอีกอ่านแล้ว

ชีวิตอ่านแก้วกมลวิถี

แลกเปลี่ยนเรียนร้อยถ้อยที

บางขวากหนามมีในมรรคา

ดังแหลมหนามต้นโป๊ยเซียน

เสี้ยนทรวงฆาตกรกิ้งก่า

แมลงหลงกลกลีบผกา

ระหว่างมรณา...ยังตราตรึง

นาบัวในบึงอริยสัจ

สัมผัสสุขทุกข์ถ้วนถึง

สายบัวบอกลึกตื้นบึง

ฤๅผึ้งภมรร่อนรู้

ขอบคุณพู่กันสะพานรุ้ง

แรเงาเหย้ายุ้งความเป็นอยู่

แสงคำความคิดแห่งครู

นำผู้ "คิดถึง-อยากเจอ"

ธมกร

ทุ่งสักอาศรม

  • ขอคารวะครับท่านอาจารย์ ธมกร : ศิวกานท์ ปทุมสูติ แห่ง ทุ่งสักอาศรม
  • ขอบพระคุณครับที่เข้ามาเยี่ยมเยือน และฝากบทกวีงามๆ ไว้ให้อีกด้วย ดีใจอย่างยิ่งครับ
  • ทุ่งสักอาศรม สร้างคน-สร้างงานสร้างสรรค์ มากมายเลยนะครับ

  • ขอแสดงความยินดีคะ
  • คิดถึง และได้เจอ จริงๆ ด้วย ^^
  • บรรยากาศดีจังคะ กันเองมากๆ
  • ดีใจที่ได้พบอาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง อีกครั้งด้วยคะ
  • (อยากมีงานของตัวเองแบบนี้บ้างจัง-คันไม้คันมือคะ) ^^

 

  • ใช่ บรรยากาศดีมากๆเลย  กลุ่มนักเรียน วง Next Stept จากโรงเรียนชลราษฎร์บำรุงก็ได้รับเสียงชื่นชมขรมจากทั้งงาน  ทำให้บรรยากาศเป็นกันเองมาก  มีรุ่นพี่เก่าแก่  ก็โดดขึ้นไปร้องเพลงกับเด็กๆ  ท่านอาจารย์มานิตย์ นิเวศน์ศิลป์ก็ด้วย  ไม่เคยเห็นอาจารย์ดูรื่นเริงใจเหมือนในวันเปิดงานนี้เลย
  • หมู รัญ และจตุรงค์ มือดีไซน์เนอร์ของเสื้อแบรนด์นอก(แต่ทำในไทย...ไม่บอกว่าแบรนด์อะไรบ้าง) ก็มาเจอเพื่อนๆด้วย  โต สมบูรณ์ พวงดอกไม้ กลุ่มกังหัน / ใหญ่ : ประสิทธิ์ เพื่อนจิตรกรรมสากล ที่หันไปเล่นงานโสตและงานไอที อยู่ที่จุฬา / เพ็ญ จาก Com.Art เพาะช่าง และเพื่อนเวชนิทัศน์ ก็มา เป็นงานที่สนุกและมีความสุขดีจัง

เจอกัน คุยกัน สะท้อนความประทับใจ และเสริมพลังใจ ครู-ศิษย์ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ

อาจารย์บ๊อบ : ดร.สุชาติ วงษ์ทอง กล่าวทักทาย  ให้กำลังใจ สะท้อนทรรศนะ ศิลปะให้ความสุข ให้ความงดงามแก่ผู้คน แล้วก็มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวไทย มาร่วมแสดงความยินดีด้วย

อาจารย์มานิตย์ นิเวศน์ศิลป์ ร่วมสะท้อนความประทับใจ และร่วมแสดงงานด้วยกับศิษย์ถึง 4 ชิ้น

เพื่อนๆมากันมากหน้าหลายตา  เหมือนยกเพาะช่างในอดีตมาไว้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็ให้ความผูกพันและได้ความประทับใจไปอีกแบบ  เพราะถึงแม้จะเนื่องจากเราจองหอศิลป์ทั่วไปหมดทั้งกรุงเทพมาสองปีแล้ว ได้ที่ไหน ตามกำลังที่จะดำเนินการกันได้ ก็จะแสดงที่นั่น ที่สุดก็มาได้ที่หอศิลป์จามจุรี  จุฬาฯ 

แต่จุฬาฯกับเพาะช่าง ก็มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เชื่อมโยงถึงกัน เพราะอุเทนถวายและคณะสถาปัตย์ฯ ก่อเกิดมาจากเพาะช่างเหมือนกัน

วงนักเรียน  The Nex Stept จากชลบุรีราษฎร์อำรุง ลูกศิษย์อาจารย์น้ำและอาจารย์โกะ  มาเล่นช่วยงานอจารย์  ได้รับความชื่นชมมากมายจากมิตรรักแฟนเพลง

อาจารย์ธรรมนูญ มือหนึ่งสีน้ำอีกคนหนึ่งก็มา  รวมทั้งไมตรี สามฉิมโฉม และเพื่อนๆศิลปินรุ่นน้องๆ มาเจอกัน ทนทนา และดูงานด้วยกัน

อนันตชัย กลางทิม จากสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี  มาโนช กลิ่นทรัพย์ จากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ และสมบูรณ์ พวงดอกไม้ ศิลปินอิสระ และศิลปินกลุ่มกังหันเพื่อนเราคุยกันให้หายคิดถึง

งานสีชอล์คพระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ของท่านอาจารย์ ศาสตรเมธีปัญญา  เพ็ชรชู มาร่วมแสดงเป็นกำลังใจแก่ลูกศิษย์

การแสดงงานยังมีถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 วันเสาร์อาทิตย์ ก็เปิด 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นครับ

มารายงานค่ะว่าเมื่อวานนี้ใบไม้ได้ไปเยี่ยมชมงานนิทรรศการภาพวาด "คิดถึง  - อยากเจอ" มาแล้วค่ะ

ได้ชื่นชมหลากหลายความงามที่มาจากหลากหลายมุมมอง.. ชื่นชอบผลงานของหลายท่านค่ะ

ได้สูจิบัตรงานและหนังสือ "การพัฒนาพลังทางศิลปะ" ของ อ.วิรัตน์ ติดมือกลับบ้านด้วยค่ะ

และได้ของแถมเป็นงานแสดงศิลปะที่ห้องแสดงฝั่งตรงข้าม มีทั้งงานภาพวาดและภาพถ่าย

นอกจากได้ซึมซับความงดงามด้วยความรื่นรมย์แล้ว ยังแอบเกิดไอเดียเล็ก ๆ ในใจอีกตามเคย..

ขอบคุณทุกท่านที่นำผลงานมาให้ชื่นชมค่ะ..^__^..

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง 

  • ดีนะครับ เป็นวันหยุดที่ได้ทำอะไรให้กับตัวเองได้ดีจริงๆ   
  • หอศิลป์จามจุรีนี่ หากภูมิทัศน์ด้านหน้าเปิดออกแล้วก็ตบแต่งอาณาบริเวณ ทำให้มีบรรยากาศของการจัดวางทางศิลปะและงานแสดงออกทางความสร้างสรรค์  สามารถติดป้ายไดอะล็อค บอกกล่าวความเคลื่อนไหวให้หลากหลาย  ก็จะเป็นที่แสดงงาน เผยแพร่งานทางความคิด และจัดเสวนาวิชาการทางศิลปะที่ดีแห่งหนึ่งเลย  ทำเลและการเข้าถึงได้ง่าย ดูดีกว่าหอศิลป์เจ้าฟ้าเยอะเลย
  • กลุ่มที่มาแสดงงานร่วมกันนี้ ถึงแม้จะเป็นเพื่อนผม แต่ก็เป็นเพื่อนสมัยเรียนและต่างก็แยกย้ายกันออกไปทำงาน มีบทบาทในหนทางของตน และเป็น Somebody ในสังคมและวงการของเขาที่น่าสนใจมากทุกคนเลย  ประเดี๋ยวจะกลับมาคุยอีกนะครับ

วันนี้ 9 ธันวาคม 2551 เป็นวันแสดงงานวันสุดท้ายแล้วละคุณใบไม้ย้อนแสงและท่านที่สนใจ พรุ่งนี้ 10 ธันวาคม 2551 ผมเลยขอชวนเพื่อนๆ ให้ไปเก็บงานพร้อมๆกัน อยากจะชวนนั่งกินข้าวและคุยหาบทเรียน หรือสะท้อนประสบการณ์และทรรศนะดีๆ ที่จะทำให้ได้ความสุขความซาบซึ้งจากการแสดงงานด้วยกัน

แล้วก็อาจจะทำความคิด มองไปข้างหน้า เผื่อจะได้ทำงานสะสมและได้มีโอกาสแสดงงานด้วยกันอีก ก็จะได้เห็นแนวทางของกันและกันแต่เนิ่นๆ

จริงๆ แล้วผมอยากคุยกับเพื่อนๆ เป็นรายบุคคลไปทีละนิด เพราะส่วนใหญ่มักทำงานทางสังคมผสมผสานไปกับทำงานศิลปะไปด้วย ซึ่งผมมานั่งตกผลึกความคิดดู ก็พบว่า แม้จะต่างกรรม ต่างวาระ ต่างเทศะ กัน แต่ก็มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือ มักมีบทบาทต่อการพัฒนาคน กลุ่มคน และชุมชนความสนใจ เหมือนกัน คือ.........

วิเชษฐ์ จันทร์นิยม เป็นคนทำงานเชิงอุดมคติมาแต่เป็นนักเรียนศิลปะ ในอดีตก็เรียกว่าหัวเอียงซ้ายอ่อนๆ เป็นนักกิจกรรมที่อยู่ฝ่ายคนระดับล่างของสังคม  เวลาเข้ากลุ่ม  เขาจะเป็นนักร้อง  แววเสียงวงแฮมเมอร์ให้ผมเล่นกีตาร์ หากสนใจและจำอะไรได้  ก็จะจำได้อย่างเป็นระบบ  เข้าถึงรายละเอียดและวิพากษ์วิจารณ์ได้  เป็นนักอ่าน  นักค้นคว้า  มักทำงานเพื่อสังคมไปด้วย  ทั้งการระดมทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ ระยะหลังวิเชษฐ์สนใจเรื่องการพัฒนาเด็กและครอบครัวผ่านการทำงานศิลปะและกิจกรรมแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของเด็กๆ  เขาจัดค่ายศิลปะเด็กโดยเลือกความสนใจของเด็กและพิจารณาความสามารถมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง 

ยง  สุไลมาน เป็นเพื่อนชาวมุสลิม เคร่งครัดและเข้มงวดต่อตนเองมาแต่ไหนแต่ไร ทว่า ไม่เคยทำให้คนรอบข้างที่มีความแตกต่างกันรู้สึกอึดอัดหรือแบ่งแยก  เป็นเพื่อนที่มีความน่าเคารพ ไม่เคยเห็นว่าโกรธหรือใช้อารมณ์กับใครเลย  สุขุมเยือกเย็น ทำงานหนักและมีวินัยต่อตนเองทั้งต่อการทำงานศิลปะและการงานเพื่อดำเนินชีวิต มีกลุ่มสนใจที่เขาสอนศิลปะอยู่หลายกลุ่ม และบางคนที่เป็นเด็กต่างจังหวัด  ฐานะยากจน ยงก็ไม่เพียงแต่สอน  ทว่า กลับหาที่อยู่ที่กิน ฝึกฝนวิชาให้จนสามารถศึกษาเล่าเรียน  หรือออกไปตั้งหลักให้แก่ตนเองได้ 

เมื่อวันเปิดแสดงงาน  ผมได้เจอเด็กหนุ่มคนหนึ่งไปร่วมงาน และแนะนำตนเองว่าเป็นรุ่นน้องสาขาจิตรกรรมสากล  พร้อมกับบอกว่า  ได้อาศัยเรียนและมียงเป็นคนช่วยดูแลช่วยเหลือ เลยนับถือเหมือนเป็นพ่อ

พร เทพสนธิ  ในด้านที่ทำงานศิลปะและงานฝีมือนั้น นอกจากงานสีน้ำที่ร่วมแสดงงานในครั้งนี้แล้ว งานกระดาษและตุ๊กตาเส้นไยกล้วย ของเธอ ก็เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศในกลุ่มผู้สนใจมากทีเดียว  เธอทำงานที่เธอรักและใช้เป็นหนทางได้อยู่กับชุมชนที่ระยองบ้านเกิด  ผลงานได้รางวัลผลิตภัณฑ์โอท็อปของจังหวัด  พาเด็กและกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเล็กๆ มาทำงานฝีมือ บางวันที่อารมณ์ดีก็ออกไปบรรยายและถ่ายทอดความคิด-ความบันดาลใจ ให้คนมีหนทางสร้างสรรค์ความสุขและความเบิกบานในชีวิตด้วยสองมือและวัตถุดิบท้องถิ่นง่ายๆ  

เลิศชาย  สินเสริฐ สอนศิลปะเด็ก และมีผลงานทำการ์ดโทรศัพท์-ทำสื่อศิลปะ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่ทำให้ผู้คนต้องสะสมเป็นของรักของหวงหลายชิ้น

จิรพร  สินเสริฐ เป็นมือเขียนภาพประกอบของหนังสือแนวหน้ามาหลายเล่ม

วันชัย  ผลอิน  เป็นครูสอนศิลปะให้กับกลุ่มสนใจมากมายหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวช  กลุ่มนักศึกษาและบุคลากรที่สนใจศิลปะ ของมหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มคนทำงานทางการศึกษา และกลุ่มคนทำงานธุรกิจที่อยากฝึกตนเองให้สามารถมีความสุขกับการอยู่กับตนเองด้วยวิธีการทางศิลปะ

สิริพงศ์  ศุกระรุจิ  เป็นคนเขียนหนังสือ แต้มสีความตายให้สวยงาม ที่เป็นหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์อัมรินทร์พริ๊นติ้ง เพื่อสู้กับความเจ็บป่วยจากการเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แล้วก็สู้ฝืนความวิกฤติในชีวิต  ระดมเพื่อนจัดเวิร์คช็อปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนศิลปะ ให้กับครูศิลปะสหสาขา ที่ไม่ได้จบการศึกษาทางศิลปะ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก  เพื่อทำให้ชีวิตในห้วงสุดท้ายให้มีคุณค่าและความหมายต่อศิลปะที่ตนเองรักให้มากที่สุด

ไปๆมาๆเลยก็นอกจากจะยังไม่เป็นอะไรแล้ว ก็กลายเป็นยิ่งหายวันหายคืน จนกลายเป็นคนหนึ่งที่ได้บทเรียนชีวิตอย่างลึกซึ้งที่สุดในเรื่อง ศิลปะกับการบำบัดและเยียวยาทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการสร้างสรรค์ทางสังคม

อนันตชัย  กลางทิม  อยู่เมืองกาญจน์ แล้วก็มีกลุ่มเรียนศิลปะไปด้วยหลายกลุ่มทั้งกลุ่มคนทำงาน และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา  ส่งลูกหลานของชาวชนบทให้สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและกลับไปช่วยถิ่นฐานบ้านเกิดของตนได้หลายคน 

ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปเป็นวิทยากรอบรมการทำสื่อ การถ่ายทอดสื่อสาร และการจัดการความรู้  ในเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิ ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี 

มีวิทยากรคนหนุ่มสาวสองคน เป็นมืออาชีพทางกราฟิคดีไซน์ทั้งสื่อติดตั้ง และสื่อไอที  แล้วก็เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย เก่งทั้งฝีมือและการถ่ายทอด 

ปรากฏว่าเป็นลูกศิษย์ของอนันต์ที่เรียนศิลปะตามบ้าน  เขาเป็นมืออาชีพและได้กลับไปช่วยชุมชนบ้านเกิดตั้งแต่เป็นนักศึกษาเลยทีเดียว

มาโนช  กลิ่นทรัพย์ เป็นนักกิจกรรมส่วนรวมตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียนศิลปะ นอกจากทำงานศิลปะและแสดงงานอย่างต่อเนื่องแล้ว  ก็ชอบมีส่วนร่วมในการใช้ศิลปะส้รางความตื่นตัวของผู้คน เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำให้เพื่อนๆได้แสดงงานด้วยกันที่หอศิลป์จามจุรีครั้งนี้  อยากส่งเสริมมหาวิทยาลัยที่ตนเองทำงานอยู่ด้วย  ทำนองนั้น

ตอนนั่งคุยกันจะลองถอดบทเรียนของแต่ละคนดู น่าจะได้อะไรที่น่าสนใจมากเลย

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

เพื่อน ๆ อาจารย์แต่ละคนต่างใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและน่าสนใจมากเลยค่ะ

จะรออ่านบันทึกถอดบทเรียนของกลุ่มกัลยาณมิตรที่ใช้พลังทางศิลปะพัฒนาคนกลุ่มนี้นะคะ

สมัยที่ใบไม้เรียนมัธยม มักจะสนิทกับเหล่าอาจารย์สอนศิลปะและเพื่อน ๆ ที่วาดภาพเก่ง เป็นตัวแทนโรงเรียน..

ใบไม้เป็นคนที่ไม่ส่งงานศิลปะเป็นประจำ แต่มักวาดรูปเล่นเอง ด้วยความสนิทกัน อาจารย์สอนศิลปะท่านหนึ่งที่เคยใช้ทั้งไม้เรียวตี เดินตามหาเวลาใบไม้โดดเรียน และหาสีให้ใบไม้วาด วันหนึ่ง ท่านถามใบไม้ด้วยความคับข้องใจว่า "ก็วาดรูปได้ ทำไมถึงไม่ส่งงาน" ใบไม้ก็ตอบด้วยความสนิทกันว่า "หนูไม่ชอบทำงานตามคำสั่งค่ะ"  เฮ้อ..ท่านคงกลุ้มใจกับลูกศิษย์คนนี้น่าดู..

ก็งานศิลปะนี่ต้องเห็นความงามด้วยตัวเองไม่ใช่เหรอคะ ทำไมต้องมานั่งวาดสิ่งที่อาจารย์ศิลปะนำมาตั้งให้วาดตามด้วยเล่า..  นี่เป็นความคิดแบบเด็ก ๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงเรื่องของการฝึกทักษะเลย แหะ  ๆ

กลับมาที่เรื่องงานแสดงภาพวาด "คิดถึง-อยากเจอ" ขอเล่าความรู้สึกที่ได้ชมภาพให้ฟังในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องศิลปะอะไร แต่เป็นคนใช้เวลาในการเดินชมศิลปะ และพิพิธภัณฑ์

อ.สุชาติ วงษ์ทอง ฝีแปรงยังเฉียบขาด สมัยทำรายการทีวีสำหรับเยาวชน เคยเชิญอาจารย์ไปสอนวาดภาพให้ผู้ร่วมรายการที่พุทธมณฑลนี่แหละค่ะ และมูลนิธิที่ใบไม้เคยเป็นอาสาสมัครก็เคยใช้ภาพของอาจารย์ทำเป็น ส.ค.ส.ขาย และเคยเชิญอาจารย์มาสอนวาดรูปในค่ายเด็กด้วย เทคนิควาดรูปบางอย่างของอาจารย์ ใบไม้ก็นำมาประยุกต์เป็นกิจกรรมเด็กซะเลย ได้ผลดีค่ะ

ยง สุไลมาน ต้องบอกว่าชื่นชอบมุมมองของคุณยงมาก ๆ ที่สามารถเห็นความงามบนความธรรมดา เรียบง่าย หลายคนที่เดินผ่านในมุมเดียวกันอาจไม่เห็นความงามนั้น แต่คุณยงเห็น..  และสามารถแผ่ขยายความงามให้ยิ่งใหญ่ขึ้นด้วย

วันชัย  ผลอิน เป็นคนที่วาดภาพขุนเขา เงาไม้ในสายหมอก ได้งดงามราวกับฝัน น่าทึ่งจริง ๆ

สิริพงศ์   ศุกระรุจิ ชื่นชอบฝีมือแรเงาด้วยปากกาของคุณสิริพงศ์ ปากกาสีเดียวกับเส้นสายสั้นยาวจำนวนนับไม่ถ้วน แปรเป็นภาพอันน่าประทับใจ ยิ่งทราบประวัติจาก อ.วิรัตน์ ยิ่งชื่นชมมากขึ้นอีก โดยส่วนตัวแล้ว รู้สึกว่าการวาดภาพแรเงาด้วยปากกายาก แต่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ส่วนภาพของอาจารย์วิรัตน์นั้นก็น่าสนใจที่นำกระบวนการจากงานวิจัยของชุมชนมาถ่ายทอดเป็นภาพวาด  อืม..คิดถึงงานศิลปะพื้นบ้านที่เคยได้ชมที่ Craft Museum ที่อินเดีย (ไปชมมา 2 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาทั้งวันเลย ถ้ามีโอกาสก็จะไปชมอีก) แล้วก็คิดเชื่อมโยงว่า มีศิลปินพื้นบ้านในพื้นที่พุทธมณฑลบ้างไหมหนอ เกิดความคิดอีกว่า ถ้ารวมตัวศิลปินพื้นบ้านแสดงงานที่เกี่ยวกับชีวิตและชุมชนของเขา คงได้กลิ่นอายของชุมชนที่นำมาเสนออย่างลุ่มลึก..

..เอาอีกแล้ว..เกิดไอเดียอีกแล้ว.. ก็เป็นซะอย่างนี้แหละเรา :P

ขอบคุณค่ะที่ส่งข่าวงานแสดงศิลปะคราวนี้และให้ข้อมูลที่น่าสนใจศึกษาต่ออย่างยิ่ง..^__^..

  • อยากให้สังคมไทยมีคนดูงานศิลปะเป็น อย่างคุณใบไม้ย้อนแสง เยอะๆ นะครับ เป็นการดูงานศิลปะที่เข้าถึงทรรศนะต่อความงาม ความดี และความจริง รวมทั้งภาวะการดำรงอยู่ของความจริงเชิงนามธรรม ที่ผู้คนในยุคสมัยหนึ่งๆสร้างขึ้นมาร่วมกัน และผันแปร งอกงาม เติบโตไปได้ ตามการเรียนรู้ของสังคม  การได้ซาบซึ้งความสวยงามก็นับว่าดีมากแล้ว  แต่การเข้าถึงในมิตินี้ด้วย ก็จะทำให้เวทีศิลปะมีส่วนร่วมในการนำการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคม ให้เกิดขึ้น มากยิ่งๆขึ้นครับ
  • หนังสือผม ผมเอาไปวางรอบสอง 10 เล่ม เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายของการแสดงงาน เลยไปเก็บงานกัน ปรากฏว่าเหลือ 9 เล่ม  เป็นอันว่า สองสัปดาห์กว่าสามารถขายได้ 1 เล่ม และคนที่ซื้อก็คือคุณใบไม้ย้อนแสงนี่เอง ขอบคุณจริงๆ  ตอนวันเปิด เผลอวางเหมือนแจกฟรี  ปรากฏว่าหายพรึ่บ  จึงเกรงว่าจะไม่พอ  เลยนำไปวางรอบสองและขายต่ำว่าทุน เลยไม่มีคนซื้อไปอ่านเลย
  • งานของยง สุไลมาน  เห็นด้วยกับคุณใบไม้ย้อนแสงมากเลย และยังได้คุยกับเพื่อนๆ เหมือนกับมุมมองของคุณใบไม้ย้อนแสงเช่นกัน  ยง สุไลมาน เขียนภาพทิวทัศน์และสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวในเมืองใหญ่ เป็นการนำเสนอทรรศนะต่อการดำเนินชีวิตและการอยู่ในเมืองใหญ่ที่แออัดยัดเยียด  ด้วยมุมมองที่คนทั่วไปก็รู้อยู่แล้ว  แต่เรามักไม่สะดุดใจและฉุกคิดให้ได้ทรรศนะเชิงบวก  เห็นความงดงามและความรื่นรมย์ใจต่อชีวิตจากเรื่องราวที่แวดล้อมอยู่ง่ายๆ ตามตึกคอนกรีต ความระเกะระกะของบ้านเรือนและริมถนนย่านการอยู่อาศัยของคนชั้นกลางระดับล่างในเมืองหลวง
  •  งานของอาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง ให้อารมณ์ภาพที่สื่อสะท้อนความเชื่อมั่นในชีวิตและพลังความเป็นหนึ่งเดียวของจิต  หากเพ่งลงไปที่ร่องรอยการพลิ้วไปของเส้นขนพู่กัน  ก็จะรู้สึกได้ถึงภาวะจิตใจที่นิ่ง แน่นอน จะแจ้ง และสม่ำเสมอ 

ในมุมมองของผมนั้น งานในแนวอาจารย์สุชาติ เป็นงานแสดงออกที่สะท้อนภาวะภายใน  แม้ขนบจะแตกต่างและไม่เกี่ยวกันแต่ก็ให้อารมณ์แบบงาน Expressionist  ซึ่งงานแนวนี้หากหาความซาบซึ้งพร้อมไปกับเรียนรู้ความเป็นมาและความเป็นทั้งหมดของจิตรกรไปด้วย ก็จะได้พลังชีวิตและความเป็นศิลปะมากเข้าไปอีก 

ผมเคยขอนั่งคุยกับอาจารย์ในเรื่องนี้เพื่อเข้าถึงแนวคิดและวิถีการทำงาน โดยบอกว่าอยากรู้และเอาไว้เขียนถึงงานอาจารย์ตามแต่ผมอยากจะเขียน ซึ่งอาจารย์ก็ให้ความเมตตาและคุยด้วยตั้งแต่บ่ายแก่ๆของวันหนึ่งไปจนสว่างคาตาของอีกวันหนึ่ง  ทำให้ได้อะไรมากมายที่เป็นเรื่องปรัชญาและวิธีคิด 

กลุ่มสนใจเรียนรู้ศิลปะจากอาจารย์  หากจัดในรูปเวิร์คช็อปและได้เรียนรู้กระบวนการคิดที่อยู่ภายใต้แนวการทำงานไปด้วย จะสามารถเข้าถึงงานของอาจารย์จริงๆได้มากขึ้นครับ

กลุ่มผู้คนที่มาดูงานและภาพสะท้อนสังคมศิลปะ

  • ผมนำเอาใบลงทะเบียน และสมุดเขียนเยี่ยมเยือน  มานั่งดู แต่เดิมก็ว่าจะลองวิเคราะห์และนำมาเล่าบันทึกไว้ในนี้  แต่เอาไว้ทำเป็นเรื่องวเป็นราวดีกว่า เพราะมีแง่มุมที่ให้ประเด็นความสนใจสำหรับการทำเวทีศิลปะและกิจกรรมวิชาการทางศิลปะในสังคมเมืองหลายเรื่องเหมือนกัน
  • เลยขอเล่าแบบไม่เป็นระบบ ให้คนที่สนใจได้เห็นเรื่องราวไปด้วยหลายๆด้านนะครับ  
  • กลุ่มคนที่ให้ความสนใจและดูงานศิลปะ งานครั้งนี้แสดง 10 วัน ระหว่าง 19 พฤศจิกายน - 9 ธันวาคม 2551 มีคนให้ข้อมูลการเข้าชมในในลงทะเบียน และเขียนสะท้อนความคิดเห็นในสมุดเยี่ยม  2 ส่วนรวมแล้วประมาณ 250 คน ผมได้ไปนั่งเฝ้างานและนั่งคุยกับเพื่อนอยู่วันหนึ่ง ลองสังเกตดูก็พบว่า คนที่เข้าไม่ดูเฉยๆ ที่ไม่ลงทะเบียนและร่วมเขียนพูดคุยก็มีประมาณ 1 ใน 10 คน ดังนั้น หากประมาณว่า  มีคนได้ชมการแสดงงานศิลปะในครั้งนี้สัก 300 คนก็คงไม่เกินความจริง  ตลอดงานก็คงจะเฉลี่ยวันละ 6-10 คน ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับข้อจำกัดทั้งในเรื่องการจัดการ  การประชาสัมพันธ์  ความทุลักทุเลสารพัด และอาณาบริเวณที่เป็นที่รับรู้ได้จำเพาะกลุ่ม เหล่านี้แล้ว ก็คิดว่าการมีคนมาชมในระดับนี้ก็นับว่าใช้ได้ครับ
  • เป็นกลุ่มที่เล็กน้อยแต่มีคุณภาพ กลุ่มผู้เข้าชมจำนวนประมาณ 300 คนนี้ แม้นเล็กน้อย ทว่า หลากหลายกลุ่มทางสังคมพอสมควร และสะท้อนกลุ่มคนที่ทำงานความรู้ การศึกษา สื่อมวลชน และงานทางปัญญาของสังคม เป็นครูอาจารย์และนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  มหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพาะช่าง  วิทยาเขตอุเทนถวาย  รวมทั้งมีสถานศึกษาก่อนมหาวิทยาลัย เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยม ซึ่งเข้าชมเป็นกลุ่มทั้งครูอาจารย์และนักเรียน
  • สะท้อนกลุ่มวิชาการแบบสหสาขา กลุ่มผู้ชมที่มาจากสถาบันการศึกษาและภาควิชาการมีความหลากหลายอย่างน่าสนใจ คือ มาจากสาขาแพทยศาสตร์ สัตวแพทย์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์และวิจิตรศิลป์  รัฐศาสตร์  กลุ่มทางวิชาการที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและหลากหลายที่สุดมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งจากการลองถามไถ่พูดคุยดู ก็น่าจะมาจากความอยู่ใกล้ พอเจอป้ายบอกงานก็แวะเข้าชมโดยไม่ตั้งใจ  อาจารย์ให้ทำรายงานและเพื่อนแนะนำให้มา
  • คนแถวหน้าของวงการ ในใบลงทะเบียนเยี่ยมชมมีกูรุของแวดวงศิลปะ หนังสือ และวรรณกรรม คือ อาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี ลงนามการมาเยี่ยมชมด้วย อาจารย์โกศล  พิณกุล คนเพาะช่างรุ่นเก่าแก่และเป็นมือสีน้ำของประเทศคนหนึ่ง ก็มา  ศิษย์เก่าของเพาะช่างรุ่นเก่าแก่ 2-3 คน
  • กลุ่มคนทำสื่อทางศิลปวัฒนธรรมและสื่อมวลชน คือ รายการสอนศิลป์ของ สถานีทีวีไทย (TPBS) ทีมทำงานในบล๊อกโอเคเนชั่นและคนทำสื่อในเครือเนชั่นกรุ๊ป  คนทำงานสื่อสารคดี ที่เป็นมืออาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งกลุ่มนี้แม้เล็กน้อย แต่เป็นกลุ่มทำสื่อสารคดีและเชิงวิชาการ ในแนวทางที่น่าสนใจสำหรับอนาคตมาก
  • กลุ่มคนทำงานศิลปะ มีกลุ่มคนทำงานศิลปะ แสดงงาน และใช้ชีวิตด้วยการทำงานศิลปะมาชมด้วยเล็กน้อย  ทั้งมาให้กำลังใจและมาหาแรงบันดาลใจ บอกว่าได้ความเป็นชีวิตและเห็นความหลากหลาย รวมทั้งบอกว่าก็ยังดีที่มีงานศิลปะให้ดู ทำให้ชีวิตหายความซึมเศร้า
  • การรับข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ ลุ่มผู้เข้าชมได้รับทราบข้อมูลหลากหลายและกระจายมาก ทั้งจากสื่อมวลชน จากการบอกปากต่อปาก จากเพื่อน จากบล๊อกเพาะช่างและบล๊อกโอเคเนชั่น จากอาจารย์ จากการเชิญของกลุ่มจิตรกรเอง  จากป้ายโปสเตอร์ข้างทาง และจากการมาทำธุระอย่างอื่นแล้วแวะเข้ามาดู

พวกเพื่อนๆประเมินตนเองแล้ว  ต่างสะท้อนว่าพอใจ และทำให้เห็นขอบเขตของการทำงานเป็นกลุ่มและผสมผสานการขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆอย่างที่อยากคิดอยากทำไปด้วยอย่างนี้เพื่อปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมในอนาคต แล้วก็วางแนวทำงานหลวมเพื่อจะแสดงด้วยกันอย่างนี้อีกในปี 2552 และ 2553 ที่เพาะช่าง และกลับไปที่หอศิลป์จามจุรีอีกครั้ง ในช่วงเวาปลายฝนต้นหนาวแบบเดิมอย่างนี้แหละครับ. 

สวัสดีค่ะอาจารย์

อยากทราบว่าหลักการพิจารณาสุนทรียภาพของผลงานศิลปะมีอะไรบ้างคะ...

  • ทำไมถามเหมือนข้อสอบจัง
  • ลองหางานของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีอ่านจะเข้าใจง่ายดีครับ มีการนำมาตีพิมพ์หลายครั้งครับ
  • ผมเขียนไว้ในหนังสือทำแจกกันเอง เอาต้นฉบับไปแขวนไว้ที่เว็บของศิษย์เก่าเพาะช่าง  เข้าไปอ่านหาแนวคิดและโหลดออกมาพิมพ์ได้ตามอัธยาศัยเลยครับ

กลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมเพาะช่าง งดการแสดงงานปี ๒๕๕๒

  • ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ประชาสัมพันธ์และขออภัยท่านผู้สนใจงานศิลปะ ที่อาจติดตามข่าวคราวการแสดงงานของกลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมในปี ๒๕๕๒ ด้วยนะครับ
  • ผมบอกกล่าวและประชาสัมพันธ์ไปล่วงหน้าอยู่บ้างแล้วหลายแห่งว่า ในปี ๒๕๕๒ กลุ่มของเราจะแสดงงานด้วยกันเพื่อเป็นงานเนื่องในวาระการเกษียณอายุราชกาารของท่านอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชูด้วย ที่หอศิลป์โรงเรียนเพาะช่าง และในปี ๒๕๕๓ ก็จะแสดงที่หอศิลป์จามจุรี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ในส่วนของที่หอศิลป์จามจุรีนั้น หองแสดงงานเต็มในปี ๒๕๕๓ แล้วหากขอจองห้องอีกก็จะเป็นปี ๒๕๕๖ เลยก็งดไปโดยปริยายครับ แต่อาจจะไปแสดงในแหล่งอื่นๆก็ว่ากันอีกทีหนึ่ง
  • แต่ที่เพาะช่างนั้น เป็นความผิดพลาดของผมเองโดยตรง เนื่องจากผมรับการกะเวลาคร่าวๆจากเพื่อนๆว่าจะแสดงงานและทำให้แก่อาจารย์ปัญญาด้วยในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน  ทว่า ก็ต้องดูว่าสถานที่จะว่างในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ด้วย ผมเลยฝากให้เพื่อนๆช่วยจองสถานที่ให้
  • แต่ดันจำแต่เดือนตุลาและพฤศจิกายน ที่กำหนดไว้แต่เดิม แล้วก็ประสานงานให้เพื่อนๆเตรียมงาน เตรียมทำสูจิบัตร ภายใต้กำหนดระยะเวลาเดิมอย่างนี้ โดยลืมไปว่าสถานที่ว่างและจองได้เป็นอีกช่วงหนึ่งคือเดือนนี้ เลยนับว่าเป็นความผิดพลาดไปอย่างง่ายๆ แต่ทำให้จำเป็นต้องงดและเลื่อนออกไปก่อน เพราะเพื่อนๆและหลายคนที่ผมบอกกล่าวไว้เขาต่างก็เตรียมงานไว้ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน
  • จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ท่านผู้สนใจทราบ และขอขอบคุณที่ทุกท่านให้ความสนใจครับ.

  รำลึกและคารวะครูบ๊อบ   : อาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง กับพี่แอ๊ด : พันสี ศรีสุภา 

                           Japanese_learners2

 อธิบายภาพ  : อาจารย์สุชาติ วงษ์ทองกับลูกศิษย์ชาวญี่ปุ่นในฐานะศิลปินรับเชิญงานแสดงผลงานกลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง ของผมกับเพื่อนๆ เมื่อปี ๒๕๕๒ ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ขอคารวะและรำลึกถึงอาจารย์ทั้งสอง รวมทั้งกลุ่มเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆครับ

                         

 เมื่อวานก่อน  มีน้องๆเพื่อนๆโทรชวนดูรายการโทรทัศน์ของ TPBS รายการเกี่ยวกับครอบครัว บอกว่ากำลังมีรายการชีวิตการทำงานและครอบครัวของ อาจารย์บ๊อบ : สุชาติ วงษ์ทอง จิตรกรสีน้ำและสมาชิกก่อตั้ง   กลุ่มจิตรกรสีน้ำกลุ่ม Six-Point 

เรื่องราวชีวิตและผลงานของอาจารย์บ๊อบนั้น ไม่เพียงเป็นที่น่าสนใจและให้พลังชีวิตแก่ผู้คนทั่วไปทั้งคนไทยและต่างประเทศเท่านั้น ผมเองแม้เป็นนักเรียนศิลปะด้วยก็สนใจและได้เรียนรู้จากชีวิตของอาจารย์หลายอย่าง ทว่า ๕-๖ ปีมานี้ ผมพยายามลดบริโภคข่าวสาร รวมไปจนถึงไม่ได้ดูทีวี จะออกไปหาดูบ้านเพื่อนก็คงไม่ทัน เลยก็ขอให้เขาเล่าให้ฟังและถือเป็นโอกาสขอรำลึกถึงด้วยจิตคารวะไปด้วย

อาจารย์บ๊อบเป็นครูชีวิตของเพื่อนๆ | ผม | และผู้คนอีกจำนวนมากทั้งผ่านการทำงานศิลปะด้วยกันและการทำหน้าที่ใช้ศิลปะสอนคน ผมติดตามดูงานและรวมกลุ่มกับเพื่อนๆฝึกฝนเรียนรู้ไปกับอาจารย์นับแต่อาจารย์ลาออกจากการเป็นทหารเรือ แล้วก็ใช้ชีวิตทำงานเขียนรูปในต่างประเทศกระทั่งกลับมาประเทศไทยเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน เพื่อนหลายคนกับอาจารย์เกาะกลุ่มกันทำงานและเคี่ยวกรำกับชีวิตอย่างหนักกระทั่งกลุ่มศิลปินหกจุด เป็นกลุ่มศิลปะที่โดดเด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยและในเวทีนานาชาติ

ผมนั้นไม่ได้ทำงานต่อเนื่อง แต่อาจารย์ก็กระตุ้นส่งเสริมทั้งทางตรงและทางอ้อมเมื่อมีโอกาส อาจารย์เคยบอกให้ผมทำงานแสดงบ้าง ไปแสดงด้วยกันก่อน ผมเองก็ตั้งใจอย่างยิ่ง ทว่า ก็บอกแก่อาจารย์และเพื่อนๆว่า ผมไม่ได้ทำงานและแสดงงานต่อเนื่องเหมือนคนอื่น ดังนั้น หากยังไม่ได้ทำงานและแสดงงานของตนเองบ้างแล้ว ก็ไม่สบายใจนักที่จะเดินมาเกาะอาจารย์และกลุ่มเพื่อนๆ อาศัยดังทางลัดจากชื่อเสียงของอาจารย์และกลุ่มเพื่อนที่ทำงานอย่างหนักอย่างเทียบกันไม่ได้ มันเหมือนกับจับเสือมือเปล่า

งานอื่นๆที่มีความดีงามและความยิ่งใหญ่ของชีวิตบุคคล-กลุ่มคนสะท้อนอยู่ในนั้น ผมก็ถือแนวปฏิบัติอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน เนื่องจากการจัดความสัมพันธ์ต่อสิ่งนั้นด้วยการปฏิบัติอย่างเหมาะสมมากกว่าการเอาแต่สะดวกได้ ก็จะเป็นการได้ร่วมสืบทอดสิ่งดีและบำรุงรักษาสิ่งนั้นไว้ให้แก่สังคมมากยิ่งๆขึ้นด้วย แล้วก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมมุ่งทำงานให้รู้จักจิตวิญญาณของการปฏิบัติก่อนเพื่อรู้จักพึ่งตนเองและสามารถเป็นองค์ประกอบการมีส่วนร่วมขยายผลสิ่งดีกับคนอื่นมากกว่าเป็นฝ่ายได้รับสิ่งดีๆจากผู้อื่นอย่างเดียว เรื่องทำนองนี้ดูเล็กน้อยยิบย่อยมาก ทว่า เป็นวิถีการทำงานและดำเนินชีวิตที่ผมให้ความสำคัญ

จึงขอแสดงความรำลึกถึงด้วยจิตคารวะในโอกาสนี้เสียเลย ได้ฟังคนที่เขาดูรายการและเขาได้แรงบันดาลใจมากมายทั้งการดำเนินชีวิต หลักคิด และวิธีคิดในการทำงานแล้วก็นึกภาพออกถึงความเป็นอาจารย์บ๊อบและพี่แอ๊ด : พันสี ศรีสุภา จิตรกรหญิงและคู่ชีวิตที่ร่วมทุกข์สุขกับอาจารย์และเป็นเหมือนผู้คอยให้กำลังใจและดูแลลูกศิษย์คนรุ่นหลังๆอยู่เสมอ

เสียดายเพิ่งเจอบันทึกนี้ค่ะ

ท่านอาจารย์เอารูปผลงานมารวมเล่มถ้าจะดี

ไม่ทราบว่าเวลานี้ได้ทำเล่มไปเรียบร้อยหรือยัง

วันนี้เก็บข้อมูล เก็บความรู้เพื่อตัวเองค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับkrutoitingครับ

  • ขอบพระคุณkrutoitingที่มาเยือนและทักทายกันครับ
  • น่าสนใจข้อเสนอแนะของkrutoitingมากเลยนะครับ
  • ทำให้ผมได้ความคิดว่า ต่อไปจะพยายามเขียนเผื่อให้เป็นการรวบรวมเรื่องราวเป็นหนังสือในเรื่องต่างๆไปด้วย ก่อนหน้านี้ก็คิดอยู่บ้างเหมือนกันแล้วครับ
  • น้องๆและเพื่อนๆเคยช่วยกันทดลองรวบรวมและเป็นกองบรรณาธิการให้ และต่างก็เห็นร่วมกันว่า เนื้อหาความรู้และเรื่องราวที่แลกเปลี่ยนแบ่งปันกันใน dialogue boxs น่าสนใจและมีคุณค่ามากครับ ทุกครั้งที่ดึงออกมาทำหนังสือก็เสียดายมากเลย
  • พยายามเขียนแบบอ้างอิงกันภายในการสนทนา เพื่อให้ได้ความรอบด้านและเป็นความรู้ที่ผู้คนมากมายช่วยกันเขียนขึ้นก็ยังไม่ลงตัวดีนักครับ เลยขอทดเรื่องนี้ไว้ในใจเพื่อพัฒนาต่อไปนะครับ สนใจมากครับ คิดว่าจะเป็นงานอีกแนวหนึ่งที่จะใช้เขียนหนังสือ โดยเฉพาะทางด้านศิลปะนี้ที่มองมิติทางประชากรและสังคมและกระบวนการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

ขอแสดงความยินดีกับเหล่าคุณครูศิลปะทุกท่าน และขอกล่าวคำสวัสดี ติดตามบทความต่างๆของพี่วิรัตน์ มาสักระยะหนึ่งแล้ว ประทับใจกับการทำงานเชิงคุณภาพของพี่ มีอีกหลายวาระที่ต้องขอคารวะและเรียนเชิญให้ความรู้กับเด็กที่กำลังหาโอกาสของตัวเองอญุ่เพราะตัวยังจมในฐานถิ่นเดิมๆ แล้วจะขอเรียนเชิญมาตามวาระนะ....ขอบคุณมาล่วงหน้า

สวัสดีครับน้องวรรณวาร์ครับ

  • ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจติดตามแล้วก็ยังเข้ามาคุยทักทายกัน
  • เอาประสบการณ์ทำงานกับเด็กๆมาเล่าแบ่งปันกันบ้างสิครับ
  • หากมีจังหวะเหมาะๆที่ได้จัดกิจกรรมทางศิลปะให้กับเด็ก ชุมชน และสำหรับกลุ่มคนทำงานสาขาต่างๆในต่างจังหวัด หากพี่ได้ไปร่วมด้วยได้ก็จะยินดีมากเลยละครับ
  • ได้เยี่ยมเยือนคนทำงานในแนวทางความสนใจอย่างเดียวกัน ทำให้อยู่ติดกับความเป็นจริงของสังคมอยู่เสมอ ได้ประสบการณ์กว้างขวาง แล้วก็ยังได้เสริมกำลังปฏิบัติให้กับคนที่เขามีความริเริ่มสิ่งดีๆ ให้สามารถทำสิ่งที่มุ่งหวังได้ดียิ่งๆขึ้น
  • เดินเข้าร่วมมือกันและช่วยเป็นแรงกายแรงใจกันก็เป็นวิธีสร้างสรรค์สังคมตามกำลังของเรา ทำให้ทำได้ในวิถีชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลาน่ะครับ

มงคลสมรสก้อย-อ๋อย อนัตชัย กลางทิม : สมาชิกกลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง
๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ วังสิงห์รีสอร์ต  กาญจนบุรี

                        

เพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมด้วยน้ำใจทั้งจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลท่ามะกา โรงพยาบาลพนมทวน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งกลุ่มเพื่อนโรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนเวชนิทัศน์ศิริราช กลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง

                        

อาจารย์บ๊อบ : สุชาติ วงษ์ทอง ครูศิลปะของเจ้าบ่าว อนันตชัย กลางทิม กลุ่มเพื่อน ๑๐ จิตรกรรมสากล และเพื่อนๆผู้ร่วมงานของเจ้าบ่าว-เจ้าสาว

                        

อาจารย์บ๊อบ : สุชาติ วงษ์ทอง และพี่แอ๊ด : พันสี ศรีสุภา ครูศิลปะของเจ้าบ่าว อนันตชัย กลางทิม 

                         

ซ้ายสุด : เปี๊ยก : เจษฎา และครอบครัวภรรยา ลูกสาวและเพื่อนลูกของมาโนช กลิ่นทรัพย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนกลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง

                        

จากซ้าย พีระ ศรีอันยู้ : สมาชิกกลุ่ม Six-Point กับสมาชิกและกรรมการสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติ แห่งประเทศไทย วิเชษฐ์ จันทร์นิยม สมาชิกกลุ่ม Six-Point, และกลุ่ม ๑๐ จิตรกรรมสากลเพาะช่าง และเจตน์ เพื่อนวิทยาลัยอาชีวศิลปศึกษา กรุงเทพฯ อดีตมือหนึ่งดรออิ้ง ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจเอกชนของเมืองกาญจนบุรี มาร่วมแสดงความยินดีและวันรุ่งขึ้นก็ขอจัดเล้ยงต้อนรับอาจารย์สุชาติ วงษ์ทองและเพื่อนๆอย่างเป็นการส่วนตัว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท