๔๑. ร่วมสร้างสังคมอ่านหนังสือและวรรณกรรม ในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา


"...อย่างน้อยพวกเขาก็เป็นคนทำวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในสังคมมหาวิทยาลัย เป็นแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในการเคลื่อนไหวสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้..."

           เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทางสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้จัดงานมหิดลบุ๊คแฟร์ขึ้น ในงานนั้น มีสิ่งที่พวกเราในมหิดลอยากให้มีมากๆขึ้นหลายอย่าง หลายฝ่ายเลยช่วยกันค่อยคิด-ค่อยทำ

          โดยเฉพาะบรรยากาศความเป็นเมืองและชุมชนทางวิชาการ และการเดินออกมาสร้างมหาวิทยาลัยให้มีชีวิตชีวาด้วยกิจกรรมทางวิชาการและการสร้างสรรค์ บนพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ส่วนหนึ่งคือการเสวนากับนักเขียนในดวงใจ ของกลุ่มคนรักการอ่านหนังสือและงานวรรณกรรมทุกแนว  ซึ่งจะให้นักศึกษา อาจารย์ และคนมหิดลทุกสาขา  เสนอขึ้นมา แล้วคณะผู้จัด  ก็จะพยายามดำเนินการและเชิญนักเขียนมาพบและคุยกับผู้อ่านให้

           มีนักเขียน บรรณาธิการ และคนทำหนังสือ  แถวหน้าของประเทศ ให้เกียรติรับเชิญและมาเสวนากัน ซึ่งเมื่อครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นคุณวินทร์  เรียววารินทร์ นักเขียนซีไรต์ 2 ครั้งจากรวมเรื่องสั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน และนวนิยายเรื่องยาว ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน  กับคุณวัชระ  สัจจะสารสิน  นักเขียนรางวัลซีไรต์ คนล่าสุด เจ้าของผลงาน บางสิ่งที่เราอาจหลงลืมไป

          ทางคณะผู้จัด ชวนให้ผมไปเป็นคนดำเนินรายการเสวนา ซึ่งผมก็ขอชวนเสวนาให้ได้เพียงคนเดียวคือ คุณวินทร์ เรียววารินทร์ ส่วนคุณวัชระ สัจจะสารสินนั้น  ผมยังไม่ได้อ่านงานแกเลย จะเอาปัญญาที่ไหนไปถามแทนผู้อ่านได้ ทว่า คุณวินทร์นั้น ผมเคยอ่านงานเขาเยอะอยู่ อีกทั้งบางเล่มก็ตื่นเต้นและประทับใจกับงานสร้างสรรค์ของเขา 

         แล้วก็เป็นงานที่เมื่อพอชอบ ประทับใจ และตื่นเต้นแล้ว ก็อยากแบ่งปันความรู้สึกนี้กับผู้คนรอบข้าง  คือ  ซื้อให้ตัวเอง แล้วก็ซื้อแจกจ่ายไปให้กับคนรอบข้างที่ผมชอบ รัก หรือเคารพนับถือ 4-5 เล่ม ซึ่งก็มักเป็นเพื่อนรัก  น้องๆ ครูอาจารย์ และผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรารักนับถือหรือไม่ก็ลูกศิษย์ ทั้งเด็ก ป.ตรี ยัน ป.เอก ทั้งในมหาวิทยาลัยมหิดลและทุกแห่งที่เขาให้ไปสอน กระทั่งยามและคนงานในที่ทำงานของผม

         ให้อย่างไม่มีเหตุผลอย่างอื่น  นอกจากอยากให้สิ่งที่ชอบแก่คนที่เรารัก หรือชอบในวิถีคิด-วิถีปฏิบัติ และแบบอย่างในชีวิตแห่งการเรียนรู้ของเขาที่เราอยากบอกและขอแสดงความชื่นชมด้วยการให้หนังสือ  บางเล่มผมซื้อแจกจ่ายเป็นสิบๆเล่ม ตามกำลังความชอบและตามอัตภาพตนเอง

        แม้แต่นักศึกษา ซึ่งบางทีเขาตอบข้อสอบที่ไม่รู้จะให้คะแนนและเกรดอย่างไรในทางเนื้อหา ทว่า แนวคิด  การริเริ่ม  และความเป็นผู้นำทางวิชาการที่รู้จักคิดดีเหลือเกิน ผมก็ให้หนังสือทดแทนการให้เกรด เพราะเชื่อว่าเขาจะมีจิตวิญญาณที่ใหญ่และมีปัญญามากกว่าเรียนมหาวิทยาลัยเอาเกรดอย่างเดียว ให้เพื่อที่เขาจะได้รักษาพลังปัญญาที่มีอยู่นั้นให้งอกงามต่อไปในอนาคต

        ผู้รับเขาจะอ่าน-ไม่อ่าน ชอบ-ไม่ชอบ ได้อะไรหรือไม่อย่างไรผมไม่ได้สนใจ มันเป็นเรื่องของเขา ผมได้สำเร็จประโยชน์จากการให้ของเราไปแล้วเป็นพอ

         ผมเชื่อว่านี่เป็นหนทางหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมด้วยมือของเราเอง ทำมาอย่างนี้มาตลอดเป็น 20-30 ปี ตลอดชีวิตการรู้จักอ่าน ซึ่งบางทีก็ซื้อให้วัดและโรงเรียน โดยเฉพาะที่บ้านเกิด

         มีหนังสือนอกเหนือจากงานวิชาการ วารสาร และหนังสือศิลปะ ที่ผมมักเกิดความประทับใจอย่างนี้หลายเล่ม เช่น งานของ เออร์เนส  เฮมมิงเวย์ งานของชาติ กอบจิตติ หนังสือ ดอน กิโฆเต้  หนังสือพุทธธรรม ของท่านเจ้าประคุณประยุทธ ปยุตโต (ปัจจุบันที่พระพรหมคุณาภรณ์) ซึ่งอดไม่ได้ที่จะซื้อ 4-5 เล่ม แจกจ่ายแก่คนรอบข้าง งานของวินทร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ผมทำอย่างนี้ 

        การทำอย่างนี้ ไม่เพียงทำให้ได้ความสุขเฉพาะหน้าเท่านั้น  ทว่า  บางทีผ่านไปตั้งสอง-สามปี  กระทั่งเป็นสิบปี เพื่อนๆและคนที่แลกหนังสือ หรือยืมกันอ่าน ก็ยังคุยถึงเรื่องราวจากการอ่านด้วยกัน  ได้ทั้งความสุข ความเบิกบานใจ และความมีไมตรีต่อกันกับคนรอบข้าง 

        จะมีทรัพยากรและปัจจัยในการแลกเปลี่ยนสมาคมกันของผู้คนอย่างสร้างสรรค์และมีความสุขอย่างนี้สักกี่อย่าง ที่คงที่และหมุนเวียนแบ่งปันกันได้อย่างนี้อย่างยั่งยืน-ยาวนาน  นอกจากหนังสือและการให้ชีวิตการอ่าน-การเรียนรู้แก่กัน

         ดังนั้น  ผมจึงยินดีรับเชิญไปชวนคุณวินทร์เสวนา ซึ่งก็เป็นนักเขียนในดวงใจผมคนหนึ่งเช่นกัน 

         บรรยากาศการคุยและเสวนากันดีมากอย่างยิ่ง  จัดขึ้นที่ชั้นล่างในห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย  ซึ่งผมเห็นทีแรกก็ผงะว่า  โอ๊ยไม่เอาด้วยแล้ว  มาคุยเรื่องหนังสือและการอ่าน แต่จะทำลายบรรยากาศการอ่านในห้องสมุดเสียกระมัง 

         ต่อเมื่อทางผู้อำนวยการสำนักหอสมุดและคณะผู้จัด  พาเดินให้เห็นว่าแต่ละชั้นและห้องการค้นคว้าต่างๆ ต่างมีกระจกกั้น กันการรบกวนซึ่งกันและกัน  เลยก็คิดว่าเป็นบรรยากาศการคุยที่เหมาะดีเหมือนกัน

         วินทร์  เรียววารินทร์คุยสนุก และห้วงชีวิตทุกลำดับพัฒนาการ  มั่งคั่งในประสบการณ์และมากด้วยพลังชีวิตยิ่งกว่างานเขียนของเขาเสียอีก  เลยก็คุยกันอย่างได้อรรถรส  ผมขอบคุณเป็นที่สุดต่อทางผู้จัดที่ทำให้ผมได้ร่วมทำงานเล็กๆน้อยๆนี้

         แล้วก็ที่ประทับใจมากกว่านั้นก็คือ  การร่วมตั้งคำถามและเปิดประเด็นชวนเสวนาของนักอ่าน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล แลไปทางไหนก็เห็นเสื้อขาวๆและใบหน้าละอ่อน  เลยก็น่าจะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีเสียเป็นส่วนมาก กว่าสองร้อยคนเห็นจะได้ ซึ่งสะท้อนว่าพวกเขาไม่ใช่พวกแห่แหนมาฟังอย่างเดียว  ทว่า เป็นคนอ่านหนังสือ และมีจำนวนไม่น้อย  ที่ตั้งคำถามเชื่อมโยงไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กว้างขวาง  สนุกและได้บรรยากาศของเวทีอ่านและคุยกันเรื่องหนังสือดีจริงๆ

           ยิ่งไปกว่านั้น  พอเสวนากันเสร็จ  วินทร์ เรียววารินทร์ก็ต้องอยู่เซ็นหนังสือให้กับแฟนคลับที่เกิดขึ้น  เรียกว่าเซ็นกันมือขวิดเลย  ผมนั่งเฝ้าและนับไปด้วยคร่าวๆ ก็เกือบร้อยเล่มเห็นจะได้ มีคนมากระซิบว่า หนังสือที่วางขายสองแผงถึงกับหมดและไม่พอขายให้แก่นักศึกษาและผู้อ่านที่สนใจเลย

           นี้ย่อมเป็นผลส่วนหนึ่งของการมีเวทีส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและได้พูดคุยกันเรื่องหนังสืออย่างนี้

           เห็นแล้วมีความสุขดีครับ  ใครจะว่าเด็กๆทำเป็นแฟชั่นก็ตามทีเหอะ  แต่คนเจียดค่าขนมและความสุรุ่ยสุร่ายทางอื่นมาซื้อหนังสือ และสร้างวงสังคมการอ่านอย่างนี้ได้นี่  ผมว่าไม่ใช่เรื่องเหลวไหลแน่นอน

           อย่างน้อยพวกเขาก็เป็นคนทำวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในสังคมมหาวิทยาลัย  เป็นแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในการเคลื่อนไหวสังคมแห่งการอ่านและการเรียนรู้ ผสมผสานเข้าไปในวิถีการดำเนินชีวิต  ไม่ต้องหลบตาโลกภายนอกมหาวิทยาลัยก็แล้วกัน.

 

หมายเลขบันทึก: 229768เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2008 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

-ขอบคุณนะคะ

-ที่นำสิ่งดีงามมาเล่าสู้กันฟัง

-ครูต้อยชอบอ่านหนังสือ เช่นกัน 

-สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้ดีเท่าที่ควรคือการสร้างความรู็สึกรักการอ่านให้กับเด็กๆ 

-หากมีวิธีการที่ดี แนะนำด้วยนะคะ

  • สวัสดีครับครูต้อย ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจ อันที่จริงควรจะได้เรียนรู้จากครูต้อยมากกว่านะครับ
  • เมื่อสักครู่ ได้เขียนแลกเปลี่ยนกับครูต้อยไปเยอะแยะเลยเหมือนกัน แต่พอจะจบและโพสต์ ไฟก็เกิดดับไปเฉยๆ เสียอย่างงั้น หาบแซ๊บไปหมดเลยครับ แล้วก็เขียนอีกรอบก็ไม่ไหวซะแล้ว
พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

  • วันนี้ได้คุยกับเด็กหนองบัวที่จบปริญญาตรีมีงานทำแล้วอยู่ต่างจังหวัด
  • คุยหลายเรื่องแต่มีเรื่องหนึ่งที่อยากคุยมันอดไม่ได้คือเรื่องของตัวเองเรื่องใกล้ ๆ ตัวเขานั่นแหละ
  • อาตมาก็ถามว่า หนองบัวเรามีอะไรเด่น ๆ ที่อยาจะบอกคนภายนอกบ้าง หรือถ้าเขาถามเราว่าบ้านเธอมีอะไรดีบ้าง ลองเล่าให้เราฟังบ้างซิเผื่อน่าสนใจจะได้ไปเที่ยวชมบ้าง
  • เธอตอนช้าอามตาก็แกล้งแซวเล่นไปว่า แสดงว่าตอนนี้สมองว่างเปล่ามากเลยในหัวไม่มีความเป็นชาวหนองบัวอยู่บ้างเลยหรือ
  • จริง ๆ เด็กเขาก็มีความรู้หลายเรื่องแต่ทำไมจึงไม่มีอะไรซึมซับอยู่ในใจของเขาแบบมีความรู้สึกภูมิใจในถิ่นฐานของตัวบ้าง
  •  นึกถึงคำพูดของโยมอาจารย์วิรัตน์ที่ว่า กลับบ้านไม่ถูก
  • สุดท้ายก็แนะนำทางอ้อมให้ลองไปหาดูเรื่องอะไรที่สนใจอยากรู้เกี่ยวกับบ้านเรา
  • แต่ทำนองเดียวกันเคยถามคนมีอายุที่ไม่ได้เรียนหนังสือชาวบ้านธรรมดาแต่กลับตอบได้มากมายแถมบางอย่างรู้ลึกซึ้งอีกต่างหาก
  • มันก็เป็นไปด้วยประการฉะนี้แหละโยมอาจารย์.

                                                     ขอเจริญพร

                                                พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

สวัสดีครับคุณ วิรัตน์ ตามมาจากบ้านคุณเอกครับ มาอ่านการเสวนาของนักเขียนครับ ระยะหลังๆมาไม่ค่อยได้ตามงานเขียน เมื่อก่อนติดตามงานช่อการะเกดเกือบทุกสนามครับ ขอบคุณที่กระตุ้นการอ่านครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

         ข้อสังเกตของพระคุณเจ้านี้น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะใน ๓ เรื่อง.....(๑) การขาดประสบการณ์และจิตสำนึกทางสังคม (๒) การสนองตอบต่อปัญหาสังคมที่ขาดความพอดี (๓) การพัฒนาสู่การเป็นพลเมืองที่อายุยืนยาวแบบเปล่ากลวง

         การขาดประสบการณ์และจิตสำนึกทางสังคม คนรุ่นใหม่ของสังคมและเด็กๆ มักขาดการเล่นที่ได้พัฒนาการสร้างสังคม และได้สัมผัสกับสังคมที่ตนเองก่อเกิดหรืออยู่อาศัย ทำให้ไม่มีประสบการณ์พอที่จะซึมซับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจ พอจะก้าวไปข้างหน้าก็ขาดปูมชีวิตสำหรับเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง ครั้นมองไปข้างหลังก็กลับบ้านไม่ถูก สังคมก็จะมีแรงกดดันที่ทำให้เราไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะสร้างชุมชนและความเป็นส่วนรวมต่างๆเพื่อมีความสุขในชีวิตผ่านการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ง่ายๆ  คนส่วนใหญ่ที่อยู่อย่างตัวใครตัวมันไม่ค่อยได้ ก็จะลำบากกว่าคนที่มีเงินและคนที่เอาตัวรอดได้

         การสนองตอบต่อปัญหาสังคมที่ขาดความพอดี คนรุ่นหลังๆ มักต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์คนอื่นและผ่านสิ่งที่เป็นความรู้ ขาดการใช้ชีวิตและมีประสบการณ์กับสังคม ทำให้การรับรู้และจินตนาการเกี่ยวกับสังคมขาดความพอดี เช่น เชิงลบและมองโลกร้ายสุดขั้ว และโรแมนติคเกินความเป็นจริง ก็อาจจะทำให้วิกฤติและปัญหาของสังคมที่ต้องแก้ไขโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของสาธารณชนไม่มีความพอดี 

         การพัฒนาสู่การเป็นพลเมืองที่อายุยืนยาวแบบเปล่ากลวง อย่างที่พระคุณเจ้าว่ามานั้น เวลาเจอคนบ้านนอกกร้านชีวิตและคนแก่เฒ่าในชนบท เราก็มักจะเจอความเป็นผู้เข้าใจชีวิตและเป็นผู้มีความมั่งคั่งในเรื่องราวของชีวิตและชุมชน มีภูมิรู้ที่บ่งบอกการผ่านร้อนผ่านหนาว เห็นความเป็นผู้เข้าใจชีวิต และเป็นคนแก่เฒ่าที่เก๋า  เข้าใกล้และพูดคุยก็มีเรื่องราวที่บันทึกไว้อย่างกับเป็นวงปีของต้นไม้ใหญ่ เป็นคนแก่และผู้มีชีวิตยืนนานที่มีความหมายตลอดเส้นทางของชีวิต

        แต่คนรุ่นใหม่ของสังคม ที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองมาอย่างในข้างต้น พอเริ่มต้นเข้าระบบการศึกษาที่เป็นทางการนับแต่ระดับอนุบาลเมื่อ ๓-๔ ขวบ โลกประสบการณ์และเนื้อหาของชีวิตก็แทบจะหลุดออกจากความเป็นจริง จากนั้นก็จะเป็นกลไกอะไรสักอย่าง

       กระทั่งโน่นแหละครับ ถึงตอนเกษียณ จึงจะได้กลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง  ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น เราก็จะพบว่า มีผู้คนที่เป็นกลไกของสังคมแยกส่วนจำนวนมาก ที่กลับกลายเป็นเพียงผู้มีอายุยืนยาวเท่านั้น ทว่า ไม่รู้สังคมและไม่รู้ชีวิต เรียกว่าประสบการณ์ชีวิตไม่เก๋า เป็นคนแก่เฒ่าที่ขาดเนื้อหาที่ตกผลึกมาจากการใช้ชีวิต 

        ในอนาคตสังคมไทยและสังคมทั่วโลกจะเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เรื่องที่พระคุณเจ้ากล่าวมานี้ จึงเป็นเรื่องแนวคิดการพัฒนาทางสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของเราเองและของสังคมได้ด้วยเหมือนกันครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

  • สวัสดีคุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-หน้าตาเฉย ครับ
  • เข้ามาตอนกำลังคุยเรื่องคนเฒ่าคนแก่พอดีเลยเชียวนะครับ ขอบคุณที่เข้ามาทักทายกันครับ 
  • ดีใจครับที่ดูจะเป็นคนคอเดียวกันด้วย ผมก็ชอบงานศิลปะและวรรณกรรมครับ
  • ผมเพิ่งทราบว่าชอบนักเขียนคนเดียวกับอาจารย์
  • สมัยก่อน
  • ชอบ The old man and the sea
  • ตอนนั้นชอบงานของอาจารย์เสกสรรค์ด้วย
  • ปัจจุบันมีนักเขียนที่ชอบหลายคน
  • อาจารย์สบายดีไหมครับ
  • คงมีโอกาสได้พบอาจารย์ครับ
  • ถ้าผ่านมาแถวๆๆเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
  • แวะมาให้ผมเลี้ยงข้าวบ้างนะครับ
  • ที่นี่อาหารอร่อยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

  • วัฒน์ วัลยางกูร  ศิวกานท์ ปทุมสูติ  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  แม่ทัพพลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ คนเมืองกาญจน์ของอาจารย์  เหล่านี้ ก็ชอบครับ 
  • เฒ่าทะเลนี่ ผมอ่านหลายรอบ แล้วก็ซื้อแจกจ่ายคนรอบข้างไปมากหลายอยู่ครับ ระยะหลังๆนี่นำกลับมาอ่านอีกก็ยิ่งซาบซึ้งได้ดีขึ้น เห็นปรัชญาชีวิตของปัจเจกแนวเสรีนิยม ในบริบทของอเมริกา ยุคสุดขีดของทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม รวมทั้งความมีอิทธิพลทางสังคมและวัฒนธรรมในวงกว้างของโลก อ่านแล้วเห็นอเมริกันด้านที่เป็นจิตวิญญาณและลมหายใจมนุษย์ครับ
  • งานของอาจารย์เสกสรรค์ก็ชอบทั้งหมดครับ ตัวหนังสือของอาจารย์กลั่นมาจากชีวิตและสะท้อนการตกผลึกชีวิตในแต่ละช่วงให้เห็นวิถีแห่งการเรียนรู้อย่างเข้มข้นอยู่เสมอ ตอนหลังมานี้ ผมชอบอาจารย์ถ่ายรูป เขียนบทกวี เขียนรูป และแสดงปาฐกถา 
  • ตอนนี้สบายดีตามอัตภาพครับอาจารย์ ขอบคุณครับ
  • แล้วจะยกพวกมาล้มทับสักมืื้อเด้อ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท