๔๕. แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๓) : โรงเรียนประจำอำเภอ วงดนตรีและดุริยางค์โรงเรียน สนามบาสมาตรฐาน


วงดนตรี Yellow Brown หรือวงน้ำตาลเหลือง ของโรงเรียนหนองคอก 

          ในอดีตนั้น  โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) กับโรงเรียนหนองบัวหรือโรงเรียนหนองคอก ๒ แห่งนี้ จัดว่าเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ โดยโรงเรียนหนองบัวเทพเป็นโรงเรียนระดับประถม และโรงเรียนหนองคอกเป็นโรงเรียนมัธยม

          ทว่า ในยุคก่อนนั้น อำเภอหนองบัวยังนับว่าห่างไกลปืนเที่ยงมาก ความเป็นโรงเรียนประจำเภอ เมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่นๆทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และอีกหลายแห่ง ก็เรียกว่าบ้านนอกและขาดแคลนมาก

           แต่กระนั้น โรงเรียนก็มีวงดุริยางค์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียกว่ามีเพียงกลองแต๊กและนิ๊งหน่อง หรือกลองสะแนร์และเบลลูลาร์  ก็นับว่าเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสาธารณะของชุมชนมากทีเดียว เช่น การร่วมแห่ขบวนพิธีงานวัด  การร่วมงานและขบวนแห่งานเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีณารายณ์ หรืองานงิ้วของชาวอำเภอหนองบัว ซึ่งเป็นงานประจำปี ของทุกปี ทำให้โรงเรียน ชุมชน องค์กรสาธารณประโยชน์และและการกุศล  มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแนบแน่น

         ต่อมา ในยุคของ คุณครูเขจร เปรมจิตต์ และ คุณครูรวีวรรณ  เปรมจิตต์ โรงเรียนหนองคอก หรือโรงเรียนหนองบัว  ก็พัฒนาและมีความก้าวหน้าในหลายด้าน  ทั้งทางด้านวิชาการ  การจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมเสริมหลักสูตร  รวมไปจนถึงกีฬา ดนตรี และวงดุริยางค์ของโรงเรียน

 

 

อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนหนองบัว หลังย้ายมาอยู่หนองคอก โรงเรียนหนองบัวก่อตั้งเมื่อปี 2503 ในพื้นที่เดียวกับโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ย้ายมาอยู่ที่หนองคอกดังปัจจุบันในปี 2508  ในยุคของนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ (ภาพจากเว๊บโรงเรียนหนองบัว)

อาคารเรียนหลังที่สองของโรงเรียนหนองบัว หลังย้ายมาอยู่ที่หนองคอกดังปัจจุบันในปี 2508  ในยุคของนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ (ภาพจากเว๊บโรงเรียนหนองบัว)

        โรงเรียนหนองบัวมี คุณครูทิม บุญประสม* ซึ่งเป็นครูศิลปะและเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเพาะช่าง กรุงเทพฯ แต่ท่านไปบุกเบิกกิจกรรมวิชาการของโรงเรียน ที่ทำให้โรงเรียนออกไปสร้างความสัมพันธ์มากมายกับชุมชนทั้งในและนอกอำเภอหนองบัว รวมทั้งทำให้นักเรียนของโรงเรียนหนองบัว  มีประสบการณ์และได้ขยายโลกทัศน์อย่างกว้างขวาง

        คุณครูพาเด็กๆ ให้ได้เรียนรู้เชื่อมโยงกับโลกกว้างทั้งในท้องถิ่นและในจังหวัดด้วยการทำกิจกรรมที่ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและผู้อื่น โดยเฉพาะการตั้งวงดนตรีของโรงเรียน การตั้งวงดุริยางค์และพานักเรียนร้องเพลงเคารพธงชาติกับวงดุริยางค์โรงเรียน การส่งเสริมการออกไปร่วมแข่งขันและเชียร์กีฬากับโรงเรียนต่างๆในจังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งเด็กๆหนองบัวไม่เคยมีประสบการณ์มากมายอย่างนั้นมาก่อนเลย 

       วงดนตรีของโรงเรียนที่ตั้งขึ้น ใช้ชื่อว่า วง Yellow Brown** ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียน*** ทำอุปกรณ์จำพวกแสตนด์ ทาสีน้ำตาลเหลืองและพ่นชื่อย่อของโรงเรียนด้วยมือของพวกเราเองร่วมกับคุณครู มีการซ้อมอย่างจริงจัง และคุณครูทิมก็เป็นทุกอย่าง ทั้งคนหาเครื่องเสียง อุปกรณ์ คนยกของ และหัวหน้าวงเดินไปหางานมาให้ลูกศิษย์ตนเองได้เล่นจริง

         มีการตระเวนออกไปปิดวิกหลายแห่ง และมีรายได้เป็นกองกลาง  ให้เด็กๆ นำมาทำกิจกรรมโรงเรียนต่อไปอีก

         นักร้องในวงของวงดนตรีโรงเรียน ก็คัดสรรออกมาจากชั่วโมงขับร้อง ทุกคนเสียงดีและดีมากๆ  มีสองคนซึ่งเป็นนักเรียนจากห้องคิงส์ เรียนเก่งได้เลขตัวเดียวตลอด และเป็นนักร้องนำชายและหญิง ซึ่งต่อมา ณ เวลานี้  คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ของจังหวัดกำแพงเพชรหรือจังหวัดภาคเหนือจังหวัดไหนสักแห่งหนึ่ง คือ อาจารย์ทองสุข  อยู่ศรี

        และอีกคนหนึ่ง ก็กลับมาเป็นคุณครูของโรงเรียน ณ บ้านเกิด ร่วมบุกเบิกสร้างห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน อีกทั้งเป็นคุณครูสอนวิชาดนตรีและขับร้อง  ส่งให้นักเรียน ลูกหลานของชาวหนองบัว โรงเรียนบ้านนอก ไปได้ประสบการณ์ในการแสดงออกและได้รางวัลมากมายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ คือ อาจารย์พิมทิพย์  (นามสกุลเดิมบัวสนิท)

         มีการแต่งเพลงประจำโรงเรียนและเริ่มบรรเลง-ร้อง ขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรและสร้างสำนึกต่อความเป็นโรงเรียนกับชุมชนด้วย ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ผมได้กลับไปงานชุมศิษย์เก่าโรงเรียน ก็ได้ยินเพลงมาร์ช ซึ่งขึ้นต้นว่า น้ำตาลเหลืองหนองบัวงามสง่า.....เพลงนี้ เป็นเพลงที่แต่งและให้ทำนองโดย คุณครูทิม บุญประสม ซึ่งร้องและต่อทำนองเพลงกันเป็นครั้งแรกในรุ่นพวกผม

สนามบาสเกตบอล 

           ก่อนหน้านั้น โรงเรียนหนองบัว  แม้จะเป็นโรงเรียนมัธยมของอำเภอ ทว่า ก็ไกลปืนเที่ยงและขาดแคลนไปทุกอย่าง  สนามกีฬาและอุปกรณ์กีฬา  ก็แทบจะไม่รู้จักอะไรเลย  นอกจากกระโดดเชือก  เล่นห่วงยาง  ตี่จับ  ทอยลูกแก้ว  เวลามีการแข่งขันกีฬาโรงเรียน  โรงเรียนหนองบัวก็เล่นได้แต่ชักคะเย่อ แชร์บอล  ห่วงยาง และวิ่งกระสอบ  

           ต่อมา คุณครูซึ่งนำโดย คุณครูเทิน ราชสันเที๊ยะ ก็ระดมนักเรียนและครูทั้งโรงเรียน ให้ช่วยกันสร้างสนามบาสเก๊ตบอล รวมทั้งขอบริจาคปูนซีเมนต์ ส่วนทราย และไม้รวก ซึ่งนำมาใช้แทนโครงสร้างที่เป็นเหล็กเส้น รวมไปจนถึงการปรับพื้นที่และแรงงานในการทำทุกสิ่งอย่าง ล้วนเป็นแรงกายแรงใจของครูและนักเรียนทั้งโรงเรียน 

           ทั้งคุณครูและนักเรียนต้องพากันเดินเท้าไปขนทราย หิน และไม้รวก จากป่าเกือบเขาสูงและเขาเหล็กไกลออกไปจากโรงเรียน 4-5 กิโลเมตรโดยใช้วันหยุด วันปิดเทอม และกลางคืน  กระทั่งเป็นสนามบาสเก๊ตบอลมาตรฐานแห่งแรกของโรงเรียนมัธยมอำเภอหนองบัว

           เมื่อเดือนกันยายน 2551 ที่ผ่านมานี้  ผมได้กลับไปร่วมงานเกษียณอายุราชการของคุณครูเก่าแก่ ของโรงเรียนหนองบัว พวกเราศิษย์เก่าของโรงเรียนก็ยังได้เห็นสนามบาสเกตบอลดังกล่าวยังคงอยู่อย่างมั่นคงแข็งแรง เด่นสง่าอยู่ท่ามกลางสนามกีฬาสมัยใหม่อีกหลายอย่างของโรงเรียน

           สนามบาสเกตบอลดังกล่าว  โครงสร้างข้างในเป็นไม้รวกที่พวกนักเรียนไปบรรจงเสาะหาและแบกหามมาทีละเล็กละน้อย มาสานแทนเหล็กเส้น เป็นแรงงานแห่งความริเริ่มและการบุกเบิก  อีกทั้งเป็นสนามกีฬาทำมือ มั่นคงยืนนานมากว่า 30 ปีเลยทีเดียว

           นักเรียนคนหนึ่งและเป็นผู้ซึ่งเป็นนักกีฬาของโรงเรียนในรุ่นที่สร้างสนามบาสเกตบอลครั้งกระโน้นอีกด้วย ต่อมาก็กลายมาเป็นครูของโรงเรียนหนองคอก และเป็นผู้บริหารของโรงเรียน คือ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของโรงเรียนหนองบัวคนปัจจุบัน

            การริเริ่มต่างๆเป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยความกล้าหาญ เหนื่อยยาก ท้าทายต่อความล้มเหลวและถูกหมิ่นแคลน ดังนั้น สิ่งที่มีคนทำให้แก่เด็ก โรงเรียน และส่วนรวม แม้เป็นสิ่งเล็กน้อย ทว่า ยิ่งใหญ่ทางจิตใจ จึงควรต้องได้รับการรำลึก จดจำ และสืบทอดให้เป็นเครื่องหมายแห่งการสำนึกในคุณงามความดีของผู้คนที่มีน้ำใจต่อสังคม.

 

.........................................................

*  ครูทิม บุญประสม นอกจากเป็นครูก่อตั้งกิจกรรมดนตรีและตั้งวงดนตรีโรงเรียน วงน้ำตาลเหลือง Yellow Brown แล้ว (ร่วมกับ คุณครูปรีชา ซึ่งเป็นคุณครูวิชาขับร้องและดนตรี และ คุณครูอุดม โต๊ะปรีชา ซึ่งนำทรัมเป็ตของตนเองมาขายในราคาถูกให้กับโรงเรียน) เป็นผู้ริเริ่มห้องล้างอัดขยายภาพขาวดำในอำเภอหนองบัวก่อนที่จะมีร้านถ่ายรูปในอำเภอหนองบัว โดยซื้อเครื่องอัดขยายภาพด้วยทุนของตนเอง และดัดแปลงพื้นที่ใต้บันไดบ้านพักครู ทำเป็นห้องมืด

     นอกจากนี้ เป็นผู้ริเริ่ม เครื่องเสียงและเครื่องไฟ ที่สมบูรณ์พร้อมที่สุดของอำเภอ รับงานบวช งานแต่ง และงานทุกประเภทที่ใช้เครื่องเสียงเครื่องไฟอย่างดีในราคาถูก

**  นักดนตรีมือแซกโซโฟนเทินเนอร์และบางครั้งเล่นทรัมเป็ตอีกคนหนึ่งคือ สมศักดิ์  ปิ่นทอง ชื่อเล่นว่า เป็ด (เป็นนักเรียนที่ย้ายมาจากโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ) ปัจจุบันเป็นนายตำรวจยศนายพัน พ.ต.ท.สมศักดิ์  ปิ่นทอง เคยเห็นชื่ออยู่แถว สภอ.ราชบุรี และสุพรรณบุรี

*** สีสัญลักษณ์และเพลงมาร์ชประจำโรงเรียนหนองบัว โรงเรียนหนองบัวมีตราเป็นอักษรย่อ นบ เป็นรูปดอกบัว และมีสีน้ำตาล-เหลือง เป็นสีประจำโรงเรียน มีปรัชญาของโรงเรียนว่า  สคฺคห สุวินิย สุอรุช เรียนดี มีวินัย พลานามัยสมบูรณ์ และมีเพลงมาร์ชประจำโรงเรียนที่แต่งโดยคุณครูทิม บุญประสม เมื่อประมาณปี ๒๕๑๗ หรือกว่า ๓๕ ปีมาแล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 232669เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2008 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์

          ถึงจะไม่ได้เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนแดงโรงเรียนหนองคอก แต่เห็นภาพอาคารเรียนหลังแรกแล้วก็ทำให้หวนนึกไปถึงบริเวณสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้ ๆ โรงเรียนเมื่อสัก ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วได้เป็นอย่างดี เมื่อก่อนถนนไปจ.ชัยภูมิยังไม่สร้าง ถนนสายอินทร์บุรี-วังทองก็ไม่มีมีแต่สภาพป่าเป็นที่เลี้ยงวัวควาย เมื่อมีถนนตัดผ่านเป็นสี่แยกชาวหนองบัวจะเรียกว่าสี่แยกต้นอีซึก(คือสี่แยกหนองบัวในปัจจุบัน)แถวนั้นมีแขวงการทางหนองบัว โรงพยาบาลหนองบัว(เมื่อก่อนมีหมอฝรั่งประจำอยู่เวลาไปโรงพยาบาลจะมีคนแจกเอกสารเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาคริสต์มีภาพประกอบสวยงามให้ญาติผู้ป่วยได้อ่านกัน ชาวบ้านจะเรียกหมอใหญ่(ไม่ทราบเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการหรือเปล่า)ที่เป็นชาวต่างประเทศท่านหนึ่งในชื่อภาษาไทยว่า หมออรุณ ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เวลาเจ็บป่วยไม่สบายก็มีที่ให้ไปรักษาสองแห่งด้วยกันในหนองบัวคือโรงพยาบาลคริสเตียน(ปัจจุบันโรงพยาบาบหนองบัว)ในตลาดหนองบัวติดกับป่าช้าวัดใหญ่(วัดหนองกลับ)กับสุขศาลา อยู่ข้างว่าที่การอำเภอหนองบัว มีหมอหนิม ประจำอยู่ที่นี่ มาโรงพยาบาลก็ใช้บริการสามล้อถีบ ถ้ามาหาหมอหนิมที่สุขศาลาก็เดินมาเอง

       ได้อ่านประวัติจากเว็บไซต์โรงเรียนหนองบัวจึงได้ทราบว่าก่อตั้งปี ๒๕๐๓ นึกย้อนอายุโรงเรียนแดงดูเหมือนจะนาน แต่พอเทียบอายุของตนเองกับโรงเรียนแดงถ้าเป็นคนก็มีอายุเท่ากันพอดีเป๊ะ แต่ทำไมดูเหมือนไม่นานเลยไหงเป็นงั้นไปได้ก็ไม่รู้ สมัยโยมอาจารย์วิรัตน์ต้องเดินไปโรงเรียนเพราะไม่มีรถโดยสาร แต่สมัยนี้มีโดยสารรับส่งสะดวกสบายส่งถึงบ้าน แต่ก็แปลกมีเด็กนักเรียนจำนวนไม่นวนน้อยที่ยังเดินไปโรงเรียนแดงอยู่เหมือนยุคโยมอาจารย์วิรัตน์เคยถามว่าทำไมต้องเดินรถจักรยานก็มี คำตอบที่ได้คือขี่จักรยานไปโรงเรียนอายเพื่อน ๆ เลยขอเดินดีกว่าเท่ดี หลังจากโรงเรียนเลิกแล้วจะมีนักเรียนเดินกันเป็นกลุ่มเป็นแถวจากโรงเรียนแดงถึงสี่แยกหนองบัวทำให้นึกถึงตอนขี่ควาย ไปนาถ้านึกอายชาวนาหรือนึกเมตตาควายบ้างควายคงจะนึกขอบคุณเราในใจซะก็ไม่รู้เพราะจะได้เดินโดยไม่ต้องแบกน้ำหนักให้หลังแอ่น.

                                         ขอเจริญพร

                            พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขออภัยในความผิลพลาด คำว่าโรงพยาบาบ แก้เป็นโรงพยาบาล

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • ผมมีเพื่อนหลายคนที่จบประถมต้นแล้ว ก็ไม่สามารถไปเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนหนองคอกได้ ทั้งที่มีความสามารถมาก ทั้งด้วยเหตุผลของระยะทาง ความยากจน และการขาดคนทำนา-ทำไร่ ในครอบครัว 
  • ก่อนที่จะมีโรงพยาบาลหนองบัวอย่างในปัจจุบันนั้น ที่สี่แยกหนองกลับในตลาดมีโรงพยาบาลคริสเตียน แล้วต่อมาก็ย้ายมาอยู่ตรงโรงพยาบาลหนองบัว แต่ก็เป็นโรงพยาบาลคริสเตียนอยู่ อย่างที่พระคุณเจ้าเติมต่อรายละเอียดให้อีกนั่นแหละครับ นอกจากนี้ก็มีหมอหนิมและหมอหลุย ผมเขียนถึงไว้บ้างที่นี่แล้วครับ พระคุณเจ้าหรือใครรู้รายละเอียดก็นำมารวบรวมและเขียนใหม่ได้ครับ
  • ผมต้องทั้งเดินและถีบจักรยานจากบ้านมาเรียนหนองบัวกว่าหกปี ระยะทางตอนเรียนโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ก็หกกิโลกว่า หนองคอกก็กว่าแปดกิโลเมตร เหตุผลที่ต้องเดินไม่ใช่อายครับ แต่ต้องเดินในหน้าฝน เพราะถนนหนองบัว-ชุมแสงเป็นดินโคลน ดินเหนียวเกาะล้อรถจักรยาน ทำให้ถีบรถไม่ได้ ต้องเดิน
  • ในหน้าน้ำหลาก ยิ่งหนักกว่านั้นอีกครับ ที่หมู่บ้านผมห่างออกไปจากถนนเกือบสองกิโลเมตร น้ำจะท่วมเกือบมิดหัวเด็กๆ พวกผมเวลาเดินออกจากหมู่บ้าน ก็ต้องแก้ผ้าและหอบหนังสือเทินไว้บนหัว เดินออกจากบ้านมายังถนน ๒ กิโลเมตร พอถึงถนนก็นุ่งกางเกงแต่งตัว แล้วก็เดินไปหนองบัวอีก ๗-๘ กิโลเมตร 
  • ตอนหลังบางเทอมก็โชคดีครับ ได้อาศัยอยู่บ้านพักครู หรือไม่ก็ไปขอเช่าบ้านอยู่เรียนหนังสือจันทร์-ศุกร์ พอเสาร์อาทิตย์ก็กลับบ้าน แต่ละอาทิตย์จะแบกข้าวสารไปห้าทะนาน พริกเผาที่แม่ตำให้และพริกเกลือหรือปลาร้าสับอย่างละกระปุก ไก่หนึ่งตัวต้มกินน้ำซุปทั้งอาทิตย์แล้วเอาเนื้อออกมากินในวันท้ายๆ และสตางค์คนละ ๒๐ บาทใช้ทั้งอาทิตย์ครับ

นึกถึงแล้วก็เป็นความทรงจำที่ประทับใจมากจริงๆ

กราบนมัสการด้วยความเคารพครับ

เมื่อทราบถึงภูมิหลังทางศิลปะ การดนตรี และ การวาดรูปนี่ จะพูดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากคำว่า...นับถือและนับถือครับ

ผมลองโทรไปสอบถามทางบ้านดู มีคนห้วยถั่วเหนือ 2 คน เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน / นามสกุลเดียวกัน มาเป็นเขยห้วยปลาเน่า คนหนึ่งเป็นลาว...อีกคนหนึ่งเป็นยวน(พูดยวนตามแม่) เรียนหนังสือจบป.4 จากโรงเรียนวันครู ทั้งสองคนเคยเป่าแตรด้วยครับ แต่เห็นบอกว่าสมัยนั้นแตรวงมีเยอะมาก ที่ห้วยร่วมก็มี หนองบัวก็หลายวง เมื่อถามถึงวง ช.ลูกทุ่ง บอกว่า เอ....ชักลืม ๆ เพราะหลายปีแล้ว แต่รู้ว่ามีแตรวงอยู่ที่บ้านตาลิน

เรื่องน้ำท่วม ถนนขาด รถเมล์วิ่งไม่ได้นี่ เป็นเหตุการณ์ที่นักเรียนเขตรอบนอก ทางใต้ ๆ หนองบัวลงมา ต้องประสบทุกคน ไม่มีเว้นละครับ ผมเองก็ต้องไปเช่าห้องอยู่หน้าโรงพยาบาลคริสเตียน......เป็นบรรยากาศที่น่าทรงจำอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เดียวครับ

ผมก็นับถือและทึ่งคุณสมบัตินะครับ ไม่ใช่แค่เป็นคนบ้านนอกที่เก่งอย่างเดียว ทึ่งและประทับใจในความริเริ่มและลงมือทำในเรื่องที่ทำได้ไปด้วยให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะการสานการเรียนรู้สังคมไทย-ลาวผ่านถ้อยเสียงสำเนียงลาว นั้น ดูเหมือนเป็นบันทึกเกร็ดความรู้จากประสบการณ์พิเศษของคนที่ใช้โอกาสในชีวิตได้ดีคนหนึ่ง แต่ผมว่ามีนัยยะต่อการพัฒนาวิธีเรียนรู้ตนเองเสียใหม่ของสังคมในภูมิภาคนะครับ เป็นการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นเพื่อให้เห็นความชัดเจนรอบด้านในหน่วยการศึกษาเล็กๆแต่ได้จิตใจและตัวปัญญาที่ใหญ่ สะท้อนโลกกว้างที่ลุ่มลึกดีครับ เป็นวิธีศึกษาเรียนรู้ที่ได้ความลงตัวของโลกาภิวัตน์กับความเป็นท้องถิ่น ให้ได้แง่มุมที่มีแต่จะส่งเสริมเกื้อหนุนกัน มีความเป็นซึ่งกันและกันอยู่ในทุกเรื่อง และการที่หลายท่านรวมทั้งผมกำลังสานความรู้เกี่ยวกับหนองบัวชุมชนเล็กๆแต่สะท้อนสังคมกว้างใหญ่ เท่าที่ทำกันได้ ก็มีลักษณะคล้ายกันครับ เลยรู้สึกดีจริงๆครับ 

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง...และอีกครั้งครับ

ความจริงแล้ว ภารกิจหลักตามหน้าที่/ การงาน มีความเกี่ยวข้องกับประเทศลาวอยู่บ้าง ... แต่ก็ไม่มากนักครับ

ที่ผูกพัน - ใกล้ชิด - สนิทสนมนั้น เป็นเรื่องความชอบในอุปนิสัยส่วนตัวกันมากกว่า แล้วจึงส่งผลและขยายวงกว้างอกไปสู่สาธารณะจนเป็นที่รับรู้กันในสังคมที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะป็น....การจัดรายการวิทยุ/เขียนหนังสือ/บรรยายตามสถาบันการศึกษาหรือสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และในลาว...หรือแม้แต่ ได้รับการพิจารณาจากผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย (หลายสมัย) ให้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการชายแดนฯ ซึ่งตามปกติก็ไม่ค่อยมีใครในวิชาชีพนี้ เขาทำกัน

แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับคำพูดของผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ทั้งไทยและลาว ด้วยถ้อยคำที่ว่า.....คุณมีความเป็นคนบ้านนอกดี.....ไม่ว่าจะเป็นคำพูด - หน้าตา - ผิวพรรณ - หรือแม้แต่นิสัยใจคอ.

ดีจังเลยครับ นี่เป็นการถอดบทเรียนและถ่ายทอดบทเรียนชีวิตไว้แบ่งปันกันเลยนะครับ เป็นวิชา ภาวะผู้นำฉบับประสบการณ์สนาม : Collective leadership from Field and Works lesson เลยทีเดียว เรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับเด็กๆ ลูกหลาน คนบ้านนอก และคนรุ่นหลัง มากๆครับ การออกไปทำงานและใช้ชีวิตที่ต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น คนชนบทและคนบ้านนอกไม่ค่อยมีแหล่งประสบการณ์และผู้ที่จะให้การชี้แนะว่าเรื่องพวกนี้ต้องบ่มเพาะขึ้นมาจากทางผ่านนั่นเอง

ผมเคยได้ยินชาวบ้านและคนทำงานจำนวนมากพูดคล้ายอย่างที่มีคนสะท้อนทรรศนะต่อคุณสมบัติอย่างนี้เหมือนกันต่อคุณหมอกระแส : ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.กระแส ชนะวงศ์ หมอแมกไซไซและหมออนามัยบ้านนอกจากเมืองพล จังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและรัฐมนตรีของหลายกระทรวง ขอยกตัวอย่างท่านเพราะพื้นฐานท่านเป็นเด็กบ้านนอก ชอบเว้าลาวจนแม้ในปัจจุบัน แล้วก็เป็นท่านหนึ่งที่บุกเบิกริเริ่มสร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาวมากมายอีกท่านหนึ่งด้วย

คนชอบบอกว่าหมอกระแสเป็นคนที่เข้าถึงง่ายเหมือนเดินหาซื้อโอเลี้ยง ผมได้ร่วมงานในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านก็เห็นอย่างนั้นด้วยเช่นกัน เลยก็พอจะสัมผัสได้ว่า 'คุณมีความเป็นคนบ้านนอกดี' อย่างที่คุณสมบัติได้รับจากผู้คนและหน่วยงานต่างๆนั้น สื่อสะท้อนถึงภาวะผู้นำและความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่สำคัญ

อาจจะมองเพิ่มอย่างนี้หรือเปล่าครับว่า ครอบคลุมไปถึงความสามารถในการสื่อความเป็นผู้มีอัธยาศัยและความจริงใจ ความเป็นตัวของตัวเอง ที่ทำให้ผู้อื่นสัมผัสได้ว่าเป็นคนไม่มีหนาม ความเป็นคนบ้านนอกบอกถึงการมีความเรียบง่าย จริงใจ ไม่ซับซ้อนต่อผู้อื่น ปรับตัวและอดทน เหมือนกับภาษิตที่ว่า พากเพียรและเข้มงวดตนเอง ผ่อนปรนยืดหยุ่นต่อผู้อื่น เวลาผมเจอคนลักษณะบ้านอกๆอย่างนี้ก็ชอบเช่นกันครับ

แต่ที่สำคัญผมว่า อยู่ที่คุณสมบัติมีความรู้และความสามารถรอบด้านดีครับ เป็นความรอบด้านที่เชื่อมโยงหลากหลาย โดยเฉพาะความเป็นผู้สร้างโอกาสเรียนรู้ได้จากชีวิตจริงอยู่เสมอ คนที่ทำทุกอย่างให้กลายเป็นการเรียนรู้ได้ไปหมดนั้น มักเป็นคนไม่ค่อยมองเห็นแต่ปัญหาเต็มไปหมดเหมือนอย่างคนทั่วไปครับ

ลักษณะอย่างนี้คงทำให้น่าทำงานด้วยสำหรับคนอื่น มันทั้งทำให้ชีวิตมีความเคลื่อนไหวและมีการเรียนรู้เป็นทุนตั้งต้น เรียกว่าไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็เห็นว่าจะต้องได้สิ่งดีๆขึ้นมาอยู่เสมอเมื่อได้ลงมือทำด้วยกัน

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อ่านบันทึกนี้...ทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องในหนังสือวิถีประชามากขึ้นค่ะ
  • มีความรู้สึกภาคภูมิใจไปกับอาจารย์และบุคคลที่กล่าวถึงในนี้ รวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาของโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)
  • ดิฉันเคยพบกับคุณหมอกระแส ฯ และครอบครัว  เมื่อทำงานที่อยู่ที่ขอนแก่น  ท่านเป็นบุคคลที่พูดถ้อยคำสำเนียงภาษาอิสานได้ไพเราะมาก ๆ
  • เช่นเดียวกับอาจารย์แผ่นดิน กับลูกน้อย ๆ ๒ คน  พูดกันด้วยภาษาอิสานน่าฟังมาก ๆ ได้ฟังแล้วรู้สึกดีและประทับใจค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

สวัสดีครับครูคิม ขอบคุณครูคิมด้วยเช่นกันครับ

ขอแก้ไขข้อมูลของคุณแคทลียา อิงลิช

แม่ผมอ่านเจอที่ผมบอกว่าคุณครูอุดม โต๊ะปรีชา มีศักดิ์เป็นคุณตาของคุณแคทลียา อิงลิช นั้น ไม่ถูกต้องครับ ที่ถูกคือ คุณครูนุช เจริญสุข เลยต้องขอแก้ไขไว้ตรงนี้นะครับ

อันที่จริงผมก็ได้ทราบข้อมูลมาจากเพื่อนและหลายคนที่เป็นคนรหนองบัวอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ทำไมตอนเขียนก็กลายเป็นสับสนไปได้ ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ

คุณครูนุช เจริญสุข นี้เป็นครูและคนเก่าแก่ของหนองบัว เป็นคุณพ่อของพี่โกศล เจริญสุข รุ่นพี่ผมปีหนึ่งและเป็นรุ่นเดียวกับพันเอกพิเศษโกศล ประทุมชาติ ในรุ่นนี้มีอีกหลายท่านที่ผมจำได้ เช่น พี่ศจี บ้านอยู่ข้างอำเภอ พี่สำเริง หมื่นสีเขียว เป็นกลุ่มศิษย์เอกของคุณครูลำดวนเมื่อตอนอยู่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์ และครูคิมครับ

แถบอำเภอนครไทย ชาติตระการ วังทองนี่ ผมว่าภูมิประเทศสวยงามดีนะครับ ขับรถสนุกด้วย ...วันนี้เข้าใจว่าอากาศกำลังพอดี

เคยขับรถกลับบ้าน (อำเภอหนองบัว) ผ่านเส้นทางนครไทย /วังทองอยู่บ่อย ๆ ... ส่วนทางชาติตระการ/ทองแสนขันนั้น เคยไปครั้งหนึ่งครับ ไปเป็นวิทยากร บรรยายเกี่ยวกับชีวิต/ความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทพวนใน สปป.ลาว ให้สมาคมไทพวนในประเทศไทยฟัง ที่อำเภอศรีสัชนาลัยน่ะครับ *มีพลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นประธานสมาคมฯ

การเดินทางไปครั้งนั้น ไม่ได้ค่าบรรยาย /ไม่ได้ค่าน้ำมันรถหรอกครับ ตั้งใจไปตามหนังสือเชิญ ไปให้ข้อมูล/ความรู้เขา (นิดเดียว) ครับ.....สิ่งที่ได้รับกลับมานั้น มากกว่าที่เราให้เขาหลายเท่าครับ.

การปฏิบัติเพื่อให้ทานทางปัญญากันนี่ เป็นยอดของการให้กันเลย ทำงานถ่ายทอดความรู้แบบอุทิศให้กับส่วนรวมแบบนี้ก็น่าชื่นชมดีจังครับ สังคมไทยจะแข็งแรงทางความรู้ต้องมีคนทำงานแนวนี้เยอะๆครับ

สวัสดีครับ อาจารย์

อ่าน ๆ ไป เจอคำแรกไม่เท่าไร เจอคำที่สอง "ดุริยางค์" และ "เจริญสุข"

เอามาเชื่อมโยงกันก็สะดุดทำให้นึกถึงอาจารย์ท่านนึงเลยครับ

นึกถึง อ.สุกรี เจริญสุข ครับ

ผมก็เห็นหนานเกียรติปรากฏขึ้นทีไรก็นึกถึงเพื่อนคนหนึ่งเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน เขาเขียนรูปให้ผมไว้รูปหนึ่งในแนวของเซ็นและในอารมณ์ภาพแบบงานของจ่าง แซ่ตั้งที่เขาศรัทธา เขาเรียนรัฐศาสตร์รามฯ เป็นนักอ่าน จริงจังกับชีวิต ชอบเขียนบทกวีและงานความคิดถ่ายทอดความเป็นชีวิตในห้วงเวลาต่างๆของตน ร้องเพลง ทำงานศิลปะ ขายของพอเลี้ยงตัว

อาจจะเป็นเพราะภาพของเขามันเหมือนกับเป็นชาวเขาก็เป็นได้ ยิ่งไปกว่านั้น ข่าวว่าเขาไปบวชแสวงหาหนทางอย่างที่เขาเชื่อ  แต่ก็ล้มป่วยและถึงแก่มรณภาพแล้วเมื่อปีสองปีมานี่เอง ที่แม่ฮ่องสอนว่างั้น เลยเห็นหนานเกียรติทีไรก็นึกถึงเพื่อนคนนี้ไปด้วยทุกทีเหมือนกัน

ไพฑูรย์ ศรสุรินทร์

ท่านอาจารย์วิตน์ครับท่านได้ทำให้คนเขารู้จักโรงเรียนหนองบัวมากขึ้นนะครับ ผิดกับสมัยก่อนที่อำเภอหนองบัวเป็นไกลปืนเที่ยงตามที่ท่านว่า ท่านเสนอและแนะนำโรงเรียนหนองบัวดีแล้วครับ ผมคนหนึ่งที่รุ่น 14 ได้มีโอกาสไปเที่ยว สปป.ลาว ผมนึกถึงอ.หนองบัวสมัยที่เรายังเป็นนักเรียนบรรยากาศดีมาก

สวัสดีครับคุณไพฑูรย์ ศรสุรินทร์ครับ เอ รุ่น ๑๔ นี่ก็รุ่นเดียวกับผมละซีครับ เดี๋ยวก่อนขอนั่งนึกก่อนครับว่านอกจากนายดาบไพฑูรย์มิตรรักของข้าน้อยที่ตอนนี้ไปอยู่ธารทหารแล้วยังมีอีกกี่ไพฑูรย์  อีกไพฑูรย์หนึ่งคือเบิ้มที่อยู่ปากดงหรือเหมืองแร่ใช่ไหมเนี่ย แล้วก็อีกไพฑูรย์หนึ่งอยู่ในตลาดธารบัวสวรรค์ น่าจะเป็นเบิ้มใช่ไหม ดีใจตายเลย

เป็นการช่วยกันทำให้โรงเรียนและหนองบัวบ้านเรา สามารถมองเห็นและเข้าถึงได้จากโลกภายนอกน่ะครับ แรกๆก็ทำเป็นข้อมูลทั่วๆไป แต่ตอนหลังก็มีท่านพระมหาแลและเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวหนองบัวมาช่วยกันทำ ไปๆมาๆก็ทำท่าว่าจะกลายเป็นคลังข้อมูลและแหล่งความรู้จากข้อมูลชั้นต้นของคนหนองบัวที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ ผมรู้สึกว่าเรื่องของชุมชนหนองบัวแทบทุกหัวข้อนั้น มีคนเข้ามาดูเยอะพอสมควรนะครับ ในหัวข้อของพระมหาแลก็เกือบจะ ๕,๐๐๐ ครั้ง หัวข้อเวทีคนหนองบัวก็เกือบ ๔,๐๐๐ ครั้ง เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน จัดประชุมวิชาการแล้วค้นหาภาพคนทำนาจากกูเกิ้ล ก็ได้ภาพการใช้เกวียนขนข้าวที่ผมกับพระมหาแลกับคุณเสวกคุยสานต่อความรู้จากประสบการณ์กัน ไปใช้เป็นภาพประกอบเอกสารวิชาการ พอดูรายละเอียดของภาพแล้วก็รู้ว่าเป็นภาพที่ผมวาด ก็เลยโทรศัพท์มาขออนุญาตนำไปใช้ ก็ถือได้ว่า คงจะมีส่วนทำให้บ้านหนองบัวของเรา เป็นที่รู้จักของโลกภายนอกมากขึ้นจริงๆครับ

ยกให้เป็นความดี และเป็นกำลังใจแก่ทุกท่านที่ช่วยกันเขียนนะครับ ท่านที่จะเข้ามาเขียนถ่ายทอดไว้ก็เชิญเลยนะครับ ถือว่าเป็นสร้างความรู้และทำงานทางปัญญาเป็นทาน ได้ทั้งความดีงามและเป็นการร่วมสร้างสิ่งดีๆเพื่อสุขภาวะของสังคม อย่างที่เราทำได้น่ะครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรคุณไพฑูรย์ ศรสุรินทร์

ฟังคุณไพฑูรย์พูดถึงไปเมืองลาวมาแล้วนึกถึงบรรยากาศบ้านเราเมื่อหลายสิบปีก่อน

เห็นความมีชีวิตชีวาจากพี่น้องที่โน่นเลยหวนรำลึกถึงหนองคอกบ้านป่า

ในฐานะเป็นคนร่วมสมัยยุคนี้ด้วยก็เลยเข้าใจได้ทันทีที่คุณไพฑูรย์เล่ามาคือนึกออกว่าบ้านเราเป็นบ้านนอก

และยิ่งโรงเรียนหนองคอกด้วยแล้วอยู่ติดกับป่าสมัยนั้นมันก็คือนอกเมืองสุดสุดเลยแหละ

แต่บ้านป่านาดอนนี้ก็มีส่วนสร้างความฝันความหวังให้กับคนได้ไม่น้อยทีเดียว

ในฐานะเป็นคนบ้านเราไม่ใกล้ไม่ไกลหนองคอกมากนักก็อยากเห็นคนหนองคอก(นักเรียน)ในอดีตร่วมสัยกันนี้

ช่วยสร้างช่วยเสริมหรือชวนรำลึกถึงบรรยากาศเมื่ออดีตสมัยกันคนละเล็กคนละน้อยเป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงผ่านโลกไซเบอร์ คงจะเป็นกำลังใจให้กับศิษย์หนองคอกปัจจุบันและเป็นบันทึกชุมชนคนบ้านเราอีกด้วย.

นายดาบตำรวจไพฑูรย์นี่ ผมก็คุ้น ๆ เหมือนกันนะครับ

เมื่อ 2 - 3 เดือนมานี้ มีตำรวจ สภ.หนองบัว 4 - 5 คน นำสาว ๆ ชาวลาวมาส่งที่ด่าน ต.ม. หนองคาย และสืบรู้มาว่ามีคนห้วยปลาเน่าเป็นศุลกากรอยู่ที่ด่านหนองคาย แวะมาหา

ผมขับรถพาข้ามโขงไปกินเฝอ /พาวนรอบ ๆ เวียงจันทน์แล้วพากลับ เห็นพี่ ๆ เขาตื่นเต้นกันน่าดู ไม่ทราบว่าเป็นไพฑูรย์เดียวกันหรือเปล่าครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจาย์มหาแล และคุณสมบัติครับ

  • นายดาบตำรวจไพฑูรย์ ดูเหมือนจะนามสกุล ทองม่วง ตัวสูง ผอม โย่ง ผิวคล้ำ ตาคม พูดเหน่ออย่างที่สุด ฟังปร๊าดเดียวก็รู้ว่าเป็นคนหนองบัวพันธุ์แท้ครับ

อยากรู้ที่อยู่ของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยา)

ที่อยู่ของโรงเรียนอนุบาลหนองบัวยังคงตั้งอยู่ที่เดิมแหละครับ ที่เดิมของโรงเรียนนี่เป็นที่ข้างสระและลานวัดหลวงพ่ออ๋อยหรือลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ หลวงพ่ออ๋อย และคนรุ่นเก่าของหนองบัว ได้ระดมคนมาสร้างเป็นโรงเรียนขึ้น แล้วก็ให้ชื่อว่า โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)

                             

                            ภาพวาดสระวัดหนองกลับ วัดหลวงพ่ออ๋อย หรือบ้างก็เรียกกันว่าวัดหลวงพ่อเดิม อาคาร ๒ หลังด้านบนซ้าย เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) 
                            วัดหนองกลับ เป็นวัดที่เป็นศูนยกลางทางจิตใจของคนหนองบัว คนทั่วไปจึงมักเรียกว่าวัดหนองบัวหรือวัดหลวงพ่อเดิม แต่คนท้องถิ่นมักจะเรียกกันว่าวัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย ส่วนชุมชนหนองบัวแต่ดั้งเดิมนั้นจะหมายถึงชุมชนฝั่งตรงข้ามของวัดหนองกลับ 
                            วัดของชุมชนหนองบัวเดิมดังกล่าวนั้นชื่อวัดเทพสุทธาวาส ซึ่งต่อมาก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนอำเภอหนองบัวแล้ว เพราะการขยายตัวของตัวเมือง มาขยายตัวหนาแน่นที่ชุมชนหนองกลับแทนชุมชนหนองบัวเดิม โดยเฉพาะเมื่อได้ตั้งวัดหนองกลับและโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ขึ้นที่วัดหนองกลับ ศูนย์กลางความเป็นชุมชนของหนองบัวก็กลายมาเป็นวัดหนองกลับดังปัจจุบัน

สวัสดีครับ

คุณวิรัตน์

ผมชื่อ มะตูมนะครับ

ตอนนี้ก็เป้นศิษย์เก่า

ร.ร.หนองบัวเรียบร้อยแล้ว

เพิ่งจบ ๖ ปีนี้อ่ะครับ

สวัสดีครับ คุณนบ๑๐๙๘๘ ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ นี่ศิษย์หนองบัวเป็นหลักหมื่นแล้วหรือนี่ ผม นบ๖๖๘ และรุ่นที่ ๑๔ แน่ะ ปีนี้โรงเรียนเราครบรอบครึ่งศตวรรษแล้วนะครับ

ผมเอา ลิงก์เวทีคนหนองบัว มาฝากมะตูมด้วยนะครับ คลิกเข้าไปได้เลย ในเวทีคนหนองบัวนี้มีชาวหนองบัวและเครือข่ายคนหลากหลายสาขาเข้ามาคุยเรื่องราวดีๆกันเยอะเลย เชิญคุณมะตูมเข้าไปเป็นนักเขียนและเป็นสื่อทางเวทีนี้ของคนหนองบัวไปด้วยเลยนะครับ และถ้าหากจะสนทนาหาข้อมูล-เรียนรู้ ทั้งเพื่อตนเองหรือเป็นผู้นำสนทนาแทนคนอื่นๆของพวกเราคนหนองบัว ในเวทีนี้ก็จะมีคนเก่งๆสุดยอดของประเทศเลยทีเดียว หลายคนก็เป็นคนรุ่นอนาคตแบบคุณมะตูมนะครับ ขอแสดงความชื่นชมที่เข้ามาในนี้และใช้ประโยชน์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาตนเองให้กว้างขวางนะครับ

เรียนท่านอ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

อ่านเพลินเลยค่ะ

ตื่นเต้นไปกับเรื่องราวของคนหนองบัว

ถ้านำลักษณะการเรียนรู้แบบบันทึกนี้ไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์

แบบนี้ แบบบันทึกนี้ คิดว่าคนจะซาบซึ้งซึมซับในต้นกำเหนิด วัฒนธรรมความเป็นอยู่

จะมีความรักสามัคคี มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความรัก และชื่นชม ภูมิใจในบ้านเกิด

ไม่ต้องมาแก่งแย่ง กอบโกยประโยชน์ใส่ตน แต่จะนำความเจริญรุ่งเรืองให้ปรากฏเป็น

แบบอย่างสังคมไทย  ชื่นชมแนวคิดของอ.และคนหนองบัวมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับคุณครู krutoiting ครับ ต้องยกให้เป็นความริเริ่มของสมาชิกเวทีคนหนองบัวละครับ โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มหาแล ผมไม่เพียงได้เรียนรู้ไปด้วยละครับ แต่ได้ทำหน้าที่ต่อชุมชนบ้านเกิด รวมทั้งเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการพัฒนาเวทีสำหรับทำงานบริการทางวิชาการแก่สาธารณะและเป็นวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลของตนเองไปด้วยที่ดีมากที่เดียวครับ บางทีก็ใช้เวลาเยอะครับ แต่ต้องรีบทำเมื่อกำลังทำได้ครับ

อมรรัตน์ โต็ะปรีชา

สวัดดีค่ะ อาจารย์ วิรัตน์

อยากจะฝากบอกลูกศิษย์ ของ ครู อุดม โต๊ะปรีชา ว่าท่่านได้ จากพวกเราไปแล้ว

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2010

ตอนนี้ ศพท่านไว้ที่วัด หนองบัว

ขอบคุณค่ะ

พิพัฒนชัย พรหมศรี

๐ จำเรียงรักษ์อักษรผ่านกลอนกาพย์

เพราะซึ้งซาบรสกวีศรีสยาม

เนาวรัตน์ครูกลอนกระฉ่อนนาม

ทั่วเขตคามใครอ่านซ่านอารมณ์

๐ ทั้งแว่วหวานตาลหยดจนมดไต่

โอดอาลัยโศกเศร้าเคล้าทุกข์ถม

ไหลลดเลี้ยวทะเล้นล้อโลมลม

พอกเพาะบ่มสั่งสอนแทรกซ้อนธรรม

๐ เสริมคติชี้นำย้ำให้คิด

เมื่อชีวิตตกยุคทุกข์กระหน่ำ

บอกสาเหตุเจตนาพาระกำ

คนอ่านนำประยุกต์ใช้ได้ทุกครา

๐ ยอดนิราศปราชญ์นิทานคนขานกล่าว

จินตกวีเรื่องราวจนกังขา

ไม่เคยพบไม่เคยเห็นเป็นบุญตา

กลับเกิดมาชี้ชัดปัจจุบัน

๐ ซึ้งพระคุณครูกลอนที่สอนศิษย์

จึงอุทิศใจกายหมายมุ่งมั่น

สืบอักษรกลอนครูอยู่นิรันดร์

แพร่วงวรรณศาสตร์ศิลป์ทั่วถิ่นไทย !

เรียนอาจารย์วิรัตน์ครับ

เพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาอ่านครับ รู้สึกดีมากครับได้ทบทวนเรื่องราวเก่าๆที่รุ่นพี่ๆหรืออาจารย์รุ่นก่อนท่านเคยเล่าให้ฟัง ผมก็ศิษย์หนองบัวเช่นกันครับ ผมเข้าไปเรียนที่นั่นก็ปี2527ครับ ตอนนั้นยังไม่มีม.ปลายแต่ผมจบมา1ปีก็มีม.ปลาย ยังจำวันเก่าๆในนั้นได้ครับ ตามที่อ.วิรัตน์ได้เอ่ยชื่อถึงช่วงที่ผมเข้าไปเรียนก็ได้พบนะครับ เช่นอ.สืบศักดิ์(ผู้ที่เล่าประวัติเก่าๆของโรงเรียนให้ฟัง)ซึ่งตอนนั้นสอนวิชาพละอยู่ อ.อุดมผมไม่แน่ใจว่าใช่ท่านเดียวกับที่อ.วิรัตน์กล่าวถึงหรือเปล่า(เพราะผมจำนามสกุลท่านไม่ได้)แต่จำได้ว่าอ.อุดมท่านมาสอนวิชาศิลปะ(วาดรูป) ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจหรอกครับว่ามีประโยชน์อะไน แต่เพิ่งเริ่มาเข้าใจว่ามีประโยชน์ก็ตอนที่ไปเรียนต่อที่อื่นครับ

วันนี่แค่แสดงตัวก่อนครับ โอกาสหน้าจะเล่าบรรยากาศในรุ่นผมว่าเป็นอย่างไร

สวัสดีคับ ท่านอาจารย์วิรัต ผมชอบบทความของท่านมากคับ ผมเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคยรู้ประวัติของอำเภอหนองบัวเลย พอมาอ่านบทความของอาจารย์ ทำให้ผมรู้ถึงประวัติ ประเพณี วิถีชีวิต ของชาวอำเภอหนองบัว ตอนนี้ผมก็ได้นำบทความบางส่วนของอาจารย์ มานำเสนอให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ ผ่านเพจที่ชื่อ ชมรมช่างภาพจิตอาสาอำเภอหนองบัว ผมขอขอบคุณนะคับสำหรับบทความดีๆของอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท