๕๒. โรงมหรสพทางจิตวิญญาณ สวนโมกข์ : อีกวิธีเพื่อความรื่นรมย์เบิกบานของชีวิต


".... เป็นการออกแบบแหล่งให้ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอย่างเป็นระบบ มีความยืดหยุ่น หลากหลายต่อโอกาสการเข้าถึงสาระแห่งธรรมที่คัดสรร ออกแบบ และจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี....."

           การเกิดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ อันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยิ่ง ในหลักความเชื่อต่างๆนั้น  มักกล่าวกันว่าต้องอาศัยการเกิดและสะสมกันอย่างข้ามภพ-ข้ามชาติเลยทีเดียว แต่ท่านพุทธทาส ท่านเชื่อมั่นว่า ภาวะนิพพานและการพัฒนาทางจิตวิญญาณนั้น นำมาเป็นแนวพัฒนาสังคมและเป็นสิ่งที่บรรลุผลในช่วงชีวิตหนึ่งของเราได้ ซึ่งเป็นทรรศนะเชิงปฏิรูปอย่างยิ่ง

  วิเคราะห์โรงมรสพทางจิตวิญญาณโดย Edutech and Arts Approach [๑] 

           ในทรรศนะผู้เขียนแล้วเห็นว่า ความเป็นโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ เป็นการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแปรแนวคิดเชิงปฏิรูปดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ  สร้างความเป็นจริงใหม่ๆให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นผลงานที่ผ่านการศึกษาอย่างลึกซึ้งและพิสูจน์ในชีวิตตนเองอย่างยาวนานของพุทธทาสและสานุศิษย์ เป็นสิ่งหายากที่มิใช่เพียงศาสนสถานแบบดาดๆ และมิใช่เพียงสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้การศึกษาอบรมทางศาสนาแบบทั่วไป ในบทความนี้จึงสนใจที่จะลองศึกษาในแง่ที่เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาและนำเสนอให้ได้ความบันดาลใจใหม่ๆของการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาสังคม

          เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมไปเป็นวิทยากรเตรียมการวิจัยประเมินโครงการเครือข่ายด้านสุขภาพที่ภาคใต้ แล้วก็ถือโอกาสแวะไปสวนโมกขพลารามที่อำเภอไชยาอีกรอบ เลยอดไม่ได้ที่จะไปดู ศึกษา แล้วก็เก็บภาพโรงมหรสพทางจิตวิญญาณแง่มุมต่างๆไว้อีก หลังจากเคยลงไปเมื่อปี ๒๕๕๑ มาครั้งหนึ่งแล้ว[๒]

           ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าการเรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณนั้น มีความเป็นปัจจัตตังและสอนให้กันยาก  ดังนั้น ความเป็นโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ จึงเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ที่ช่วยขยายขีดความสามารถของผู้คนให้สามารถเรียนรู้และให้การศึกษาอบรมสิ่งที่ยากให้ทำได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนและศึกษาอบรมตนเองสามารถเกิดประสบการณ์ที่ลึกซึ้งทางจิตวิญญาณและเข้าถึงธรรมด้วยตนเองได้อย่างเป็นระบบ ทำให้ศาสนธรม การเรียนรู้ทางสังคม และสังคมโลกในยุควิทยาศาสตร์ มีบทบาทเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากขึ้น

  ความคิดริเริ่มและกระบวนคิดเชิงระบบในโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ 

           องค์ประกอบต่างๆของความเป็นโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ สามารถพิจารณาให้เห็นถึงความความสร้างสรรค์หลายด้านที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ.......

  • ความเป็นนวัตกรรม  สื่อบูรณาการ  เทคโนโลยีทางการศึกษา  เป็นการใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมนุษย์และกระบวนการเรียนรู้ ผสมผสานทั้งศาสตร์ทางด้านจิตใจและวิทยาศาสตร์การศึกษา  มาออกแบบให้เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ต้องการ
  • ศิลปะเพื่อการสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ  เป็นการใช้สื่อศิลปะ ซึ่งมุ่งให้ประสบการณ์ภายในแก่มนุษย์โดยตรงทั้งทางด้านพุทธิปัญญา มโนปัญญา และจิตวิญญาณ เพื่อสร้างความมีสุนทรียภาพ อันเป็นองค์ประกอบด้านความละเอียดอ่อนโยน ความประณีต การพัฒนาทรรศนะเชิงคุณค่าและรสนิยมต่อสิ่งต่างๆ  มาบูรณาการกับเนื้อหาทางด้านศาสนา
  • การจัดสิ่งแวดล้อมและการจัดศูนย์การเรียนรู้  สามารถเห็นบทบาทของการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และการจัดศูนย์การเรียนรู้ รองรับการเรียนรู้ของสังคม อย่างมีรูปแบบ เป็นสัดส่วน
  • มิติพัฒนาการของศิลปะแห่งความศรัทธาในสังคมไทย  สามารถศึกษาให้เห็นถึงพัฒนาการของงานจิตรกรรมฝาผนังแนวประเพณีกับการจัดวางใหม่ของงานศิลปะทางศาสนา 

         มองในแง่ของการจัดกระบวนการศึกษาและการเรียนรู้นั้น โรงมหรสพทางจิตวิญญาณจะมีลักษณะที่น่าสนใจ 2 ประการ คือ เป็น กลวิธีการออกแบบกระบวนการเรียนการสอน  และ การสร้างนวัตกรรมการศึกษาอบรมอย่างบูรณาการ  

  การพัฒนารูปแบบอย่างบูรณาการ 

         ในความเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่มีความเป็นบูรณาการนั้น หากใช้หลักจิตวิทยาการศึกษาและแนวคิดกรวยประสบการณ์ของนักการศึกษาแนวประสบการณ์นิยมอย่าง Edgar Dale มาวิเคราะห์[๓]  ก็จะเห็นถึงการใช้รูปแบบการออกแบบเพื่อจัดการปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้บนหลักการที่สำคัญ ๒ ส่วน คือ (๑) การสร้างความครอบคลุมช่องทางหลายทางของการรับรู้และการเรียนรู้ (๒) การเพิ่มโอกาสในการเกิดประสบการณ์กับโลกภายนอกของปัจเจก[๔] โดยความครอบคลุมและการเพิ่มโอกาสในลักษณะดังกล่าว จะได้จากการออกแบบและบูรณาการองค์ประกอบต่างๆเข้าด้วยกัน คือ......  

  • การใช้สื่อศิลปะ ภาพเขียนและการสร้างประสบการณ์เชิงสัมผัสทางการเห็น 
  • บทกวีและกระทู้ธรรมเพื่อบูรณาการประสบการณ์ทางการอ่านและการคิด 
  • การปั้นและติดตั้งเป็นชิ้นงานประติมากรรม รวมทั้งสิ่งแสดงแบบลอยตัวเพื่อสร้างประสบการณ์สมจริง
  • การจัดอาคารและจัดวางสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อความเป็นสมาธิ อยู่กับตัวเอง และปฏิสัมพันธ์กับแหล่งเรียนรู้อย่างใกล้ชิด รอบด้าน
  • การจัดอาณาบริเวณที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ความร่มรื่น และมีความวิเวก

           เรียกว่าเป็นการออกแบบแหล่งให้ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอย่างเป็นระบบ  มีความยืดหยุ่น หลากหลายต่อโอกาสการเข้าถึงธรรมะต่างๆที่คัดสรรมาออกแบบและจัดวางด้วยกัน อย่างดี

 

 

                              ภาพบริเวณโดยรอบและอาคารโรงมหรสพทางจิตวิญญาณ[๕]  

 

                                งานประติมากรรมลอยตัว พระโพธิสัตวอวโลกิเตศวร [๖]  

 

 

 

 

 

            ภายในโรงมหรสพทางจิตวิญญาณ  สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี  มีเนื้อหาและลักษณะการจัดวางภายในที่บ่งบอกถึงการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์   กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

  การเรียนรู้ระหว่างศาสนาด้วยท่าทีของการสร้างความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน 

           เห็นได้ถึงการทำงานทางความคิดอย่างลึกซึ้ง หากได้ศึกษาเรียนรู้อย่างละเอียด จะสามารถเข้าใจกระบวนทรรศน์และวิถีคิดที่สำคัญหลายแนวของโลก มิใช่เพียงที่มาในพระพุทธศาสนาเท่านั้น[๗]  คือ.....

  • ระบบคิดพื้นฐานและจักรวาลวิทยา รวมทั้งทรรศนะต่อสรรพสิ่งในรูปของงานวรรณกรรมเทพปกรณัม ของกรีกและยุโรป (เขียนบนเสาใกล้ทางเข้าออก)
  • แนวคิด ปรัชญาพื้นฐาน และทรรศนะที่สำคัญต่อโลกและสันติภาพของโลก ของคริสตศาสนา
  • แนวคิดและปรัชญาสำคัญของเซน และมหายาน
  • ระบบคิดและทรรศนะสำคัญของผู้นำทางสังคมของโลกในบางด้านที่นำเข้าสู่หัวข้อธรรมสำคัญๆ
  • วิถีคิด และทรรศนะต่อความดี  ความจริง ความงาม แบบพื้นบ้าน ทั้งของไทยในภูมิภาคต่างๆ และของต่างประเทศ
  • คติ  งานวรรณกรรม  บทกวีนิพนธ์ งานศิลปะและภาพเขียน ที่ให้ทรรศนะสำคัญของโลกฝ่ายจิตวิญญาณของสังคมต่างๆทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก

  แบบแผนโดยทั่วไปของศิลปะกับศาสนาและสิ่งศรัทธา 

            ภายในโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ แสดงให้เห็นจุดหมายของพุทธศาสนาว่ามุ่งสู่การปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณโดยวิถีแห่งปัญญาและการปฏิบัติออกมาจากการพัฒนาตนเอง 

             ในทางศิลปะแห่งความศรัทธา และศิลปะเพื่อศาสนา  แนวทางการทำงานศิลปะอย่างนี้  เทียบได้กับการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง และการทำสื่อภาพ ตามศาลาและศาสนสถาน  ซึ่งแต่เดิมก็มุ่งให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และสืบทอดเรื่องราวที่ลึกซึ้งในการเข้าถึงพุทธธรรม ทว่า ต่อมา เนื้อหาการเขียนภาพก็มักมุ่งเป็นการบันทึกเชิงประวัติศาสตร์  โดยเน้นพุทธประวัติและกฤษฎาภินิหาร

             ในยุครัชกาลที่ ๓  งานจิตรกรรมฝาผนังของ ขรัวอินโข่ง  ปรากฏพัฒนาการ ทั้งในเชิงขนบการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง และเนื้อหาการเขียนภาพในศาสนสถาน  โดยผสมผสานเทคนิคการเขียนภาพแบบแสดงทัศนียภาพ (Perspective)  รวมทั้งมีการให้แสงเงา และแสดงสัดส่วนทางกายวิภาค ซึ่งเป็นแนวทางของสมัยใหม่  แทนการแสดงเรื่องราวด้วยเส้นและการวางกรอบเป็นสัดส่วนด้วยเส้นสินเทาแบบขนบเดิมๆในการเขียนภาพจิตรกรรมประเพณีของไทย 

              อีกทั้ง มีการนำเอาเรื่องราวทางสังคม และการบันทึกเหตุการณ์ทางสังคม  เข้ามาผสมผสานกับเรื่องราวทางพุทธศาสนา นับเป็นจุดเชื่อมต่อวิถีดั้งเดิมของสังคมไทยเข้าสู่แนวทางศิลปะสมัยใหม่ ตะวันออกผสมผสานกับตะวันตก เป็นเสมือนบันทึกและหมายเหตุเล็กๆ ของสังคม ทว่า เห็นความลงตัวและสื่อสะท้อนภาวะการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

  พัฒนาการและความริเริ่มที่ปรากฏในโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ 

             หากแสดงถึงพัฒนาการและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของงานศิลปะเพื่อศาสนาจากผลงานโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณของสวนโมกข์นี้แล้ว ก็จะเห็นการสร้างความแตกต่างและต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมในสังคมไทย ในสองเรื่อง  คือ 
             (๑) การทำให้ศิลปะและสื่อแห่งศรัทธามีบทบาทจำเพาะต่อการศึกษาอบรมทางจิตใจ โดยทั่วไปนั้น งานศิลปะทางศาสนาที่มีมาในอดีต มักทำหน้าที่เป็นบันทึกจรดจารเชิงประวัติศาสตร์ รวมทั้งทำเป็นสิ่งตบแต่งศาสนสถานให้สวยงามให้สัปปายะต่อความเจริญงอกงามทางจิตใจ ทว่า การทำขึ้นเพื่อให้เป็นสื่อและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และเป็นวิธีการให้การศึกษาอบรมโดยตรงอย่างโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณที่สวนโมกข์นี้ เป็นวิธีการที่พบเห็นได้น้อยมาก
              (๒) การสร้างพื้นที่ขึ้นใหม่ที่บูรณาการทางศิลปะ ศาสนา และการศึกษาอบรม ศาสนสถานโดยทั่วไป ก็มักเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาและเพื่อการอยู่อาศัยของชุมชนทางศาสนาที่เอื้อต่อการศึกษาอบรมในแนวทางที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในพระธรรมวินัย การอบรมสั่งสอนก็มีแหล่งเฉพาะ เช่น บนศาลา บนธรรมมาส และในพื้นที่ที่สร้างขึ้นจำเพาะเมื่อมีกิจกรรมทางศาสนา ทว่า กรณีโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ จัดว่าเป็นการทำขึ้นอย่างเป็นศาสนสถานอีกชนิดหนึ่งให้มีบทบาทต่อการทำกิจกรรมให้ศึกษาอบรมทางศาสนธรรม ผ่านสื่อและการผสมผสานวิธีการต่างๆที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพ เป็นสื่อและอาคารสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ที่สามารถเดินเข้าไปและก่อเกิดประสบการณ์ที่ลึกซึ้งทางจิตวิญญาณด้วยตนเองได้ [๘]

 

 

                                                                       ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์   กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

                     สองภาพบน เป็นศิลปะแนววิพากษ์สังคม แสดงทรรศนะต่อสังคมว่ามีภาพความเป็นไปที่แตกต่างกับสิ่งที่หลักศาสนาต่างๆ ได้แสดงไว้ ในขณะที่แต่ละสังคมที่มีแนวความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน ต่างก็อ้างความเป็นคนในศาสนานั้นๆ และขัดแย้งกัน บ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นผู้ศึกษาและปฏิบัติในศาสนาของตนอย่างแท้จริง รวมทั้งสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงว่า  สังคมโลกละทิ้งการพัฒนาทางจิตวิญญาณเป็นอย่างมาก  ศาสนาและการพัฒนาทางจิตวิญญาณจะต้องได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น   

 

 

 

 

                                                                               ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์   กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

               ลักษณะการเขียนภาพ เป็นการระดมการวาดและทำสื่อศิลปะแห่งศาสนา เพื่อมุ่งให้บรรลุผลสำหรับการพูดคุย สนทนา บรรยายธรรม และให้การศึกษาอบรมทางด้านพุทธิปัญญา  แนวการทำงานจึงผสมผสานหลายแนวไปตามความสมัครใจและตามความศรัทธาของกลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงาน 

 

 

                                                                               ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์   กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

               ภาพบน :  หลักการดำเนินชีวิตคติชาวบ้านของชุมชนพื้นถิ่นไทย  เล่นกับหมา  หมาเลียปาก  เล่นกับสาก  สากตีหัว  เขียนเป็นภาพจิตรกรรมบนเสา  

 

 

                                                                              ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์   กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

                สภาพแวดล้อม  ภายนอกโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ และผู้แสวงหาการศึกษาอบรมตน  ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  มุ่งค้นพบตนเองและมุ่งความปีติสุขด้วยการหวนคืนสู่ความสามัญ-ความเรียบง่าย ที่สวนโมกข์

 

  แนวการขยายผลและพัฒนาให้เหมาะสมกับความจำเป็นของสังคม 

             ทั้งหมด  จะเห็นความเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาของโรงมหรสพทางจิตวิญญาณ สวนโมกข์  รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีการศึกษาเชิงระบวนการ ที่มีกลวิธีการจัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ สร้างขึ้นจากการทำงานความคิดและศึกษาค้นคว้าเนื้อหาเพื่อการศึกษาอบรมทางศาสนาที่ลึกซึ้งและก้าวหน้ามาก 

            ในทางรูปแบบและนวัตกรรมทางการศึกษานั้น อาจถือเป็นแนวสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของปัจเจกและชุมชน ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อไปได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นแหล่งพัฒนาพลเมืองและศูนย์ให้การศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างความสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน.

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เชิงอรรถ บรรณานุกรม และการอ้างอิงในบทความ :

[๑] Edutech and Arts Approach จำเพาะที่ใช้ในบทความนี้ ขอใช้ Edutech เพื่อเป็นคำเฉพาะที่หมายถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา ให้สั้นกระชับแทน Educational Technology และ Edutech and Arts Approach หมายถึงการพิจารณาปรากฏการณ์ต่างๆด้วยทรรศนะทางศิลปะ สุนทรียภาพ แง่มุมในความเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษาเรียนรู้ และวิธีการบรรลุจุดหมายต่างๆ ด้วยวิธีการทางศิลปะ สื่อสุนทรีภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า การพัฒนาวิธีคิด วิธีมอง และสร้างแนวปฏิบัติออกจากจุดยืนของกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายให้สอดคล้องกลมกลืนกับความซับซ้อนของสังคม เพื่อเข้าปสู่ความสูงสุดในสิ่งเดียวกันได้มากเท่าใด ก็อุปมาดังการทำประตูหน้าต่างและทางขึ้นไปสู่จุดหมายเดียวกันให้ได้หลายช่องทางได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ใครเข้าช่องทางใดก็นำไปสู่ภาวะเดียวกันได้เหมือนกัน ทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้และยกระดับภาวะทางปัญญาขึ้นจากทุกกิจกรรมการปฏิบัติ ส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ปัญญาของผู้คน รวมทั้งส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างปัจจัยทางวิทยาการและเทคโนโลยีกับการพัฒนาทางสังคมวัฒนธรรม ให้เกื้อหนุนส่งเสริมกันอย่างอย่างเหมาะสมมากยิ่งๆขึ้น

 [๒] ผู้เขียนเคยรวบรวมเอกสารและสื่อสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับโรงมหรสพทางจิตวิญญาณ ทั้งของสวนโมกข์และที่เขียนโดยคนภายนอก มาศึกษาและเตรียมความรู้เพื่อที่จะลงไปดูของจริงด้วยตนเอง  ด้วยเห็นว่า  เรื่องราวต่างๆในหนังสือและข้อมูลที่มี  เมื่อลองติดตามศึกษาทรรศนะของท่านพุทธทาส  อันเป็นที่มาของการสร้างโรงมหรสพทางจิตวิญญาณ และการทำงานทางด้านตางๆมากมายของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่า  มีอีกหลายมิติที่อยู่ในโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ  ที่คนเข้าไม่ถึงรหัสนัยและไม่ได้กล่าวถึงไว้ ผู้เขียนได้ไปดูด้วยตนเองรอบหนึ่งเมื่อปี  ๒๕๕๑  และอีกครั้งในปี ๒๕๕๒ นี้  ก็ยิ่งเห็นเช่นที่กล่าวนั้น

[๓] Edgar Dale  เอดการ์ เดล (๑๙๐๐-๑๙๘๕) เป็นนักการศึกษาชาวอเมริกัน และเป็นศาสตราจารย์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ  สหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการศึกษา  โดยเฉพาะทางด้านสื่อ เทคโนโลยีการศึกษา การออกแบบและพัฒนาหลักสูตร งานวิจัยและการนำเสนอแนวคิดทฤษฎีทางการศึกษาของเดลที่รู้จักกันดีคือ แนวคิดเกี่ยวกับกรวยประสบการณ์ (Cone of Experiences)  ว่าด้วยลำดับความเข้มข้นของประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ให้ความชัดแจ้งแก่ปัจเจก (Concrete experinces) กรวยประสบการณ์ของเดล จัดลำดับประสบการณ์จากช่องทางเชิงสัมผัส นับแต่การสื่อสารด้วยภาษาที่มิใช่คำพูด (Non-Verbal Communication) เป็นแหล่งให้ประสบการณ์ที่เข้มข้นต่ำสุด ไปจนถึง สถานการณ์จำลองของจริง (Simulation) และประสบการณ์ตรงจากของจริง เป็นประสบการณ์ที่มีความเข้มข้นสูงสุด ในขั้นที่สามารถเกิดความชัดแจ้ง จำได้ และคิดเห็นภาพได้ ความเข้มข้นของกรวยประสบการณ์ จะทำให้ปัจเจกสามารถเกิดการเรียนรู้ มีคุณภาพต่อการจำได้และมีคุณภาพต่อระดับการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน กล่าวคือ จากการอ่าน จะได้คุณภาพการเรียนรู้เมื่อเทียบกับความเป็นจริงได้เพียงร้อยละ ๑๐ ของสิ่งนั้น  การได้ยินได้ฟังจะได้ร้อยละ  ๒๐ การได้เห็นเพิ่มเป็นร้อยละ ๓๐  การบูรณาการการได้ยินได้ฟัง กับการได้เห็น  เพิ่มพูนประสบกาณ์ให้เข้มข้นสมจริงได้อีกร้อยละ ๕๐  การได้พูดและแสดงออกด้วยการเขียน เพิ่มความเข้มข้นเป็นร้อยละ  ๗๐  และการได้พูดพร้อมกับได้ลงมือทำไปด้วยในสิ่งที่สนใจให้ประสบการณ์เข้มข้นถึงร้อยละ  ๙๐ ของสิ่งที่เรียน

[๔] แนวคิดและทฤษฎีของเดล เป็นหลักที่นักการศึกษาและนักเทคโนโลยีทางการศึกษานำไปประยุกต์ใช้ทั้งในสาขาการวิจัยและพัฒนาสื่อ  การสร้างภาพยนต์และสื่อผสมผสานทางเทคนิคเพื่อการศึกษา  การประเมินผลทางการศึกษา  รวมทั้งการออกแบบและการจัดกระบวนการทางการศึกษาอย่างบูรณาการ  ซึ่งในกรณีของโรงมหรสพทางจิตวิญญาณนี้  สามารถเทียบได้กับกลวิธีทางการศึกษาของการสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) เพื่อให้ประสบการณ์ที่เข้มข้นแก่ผู้ศึกษาเรียนรู้  ซึ่งอยู่ในลำดับเกือบสูงสุดรองลงมาจากประสบการณ์จริง

[๕] ภาพบริเวณโดยรอบและอาคารโรงมหรสพทางจิตวิญญาณ  การทำให้เราสามารถเดินเข้าไปในพื้นที่ทางนามธรรมที่สุดของมนุษย์ เพียงกระบวนการคิดและการแปรมาสู่นวัตกรรมทางการเรียนรู้  ที่เรียกว่าโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณนี้  ก็น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งแล้ว  ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

[๖] ด้านหน้า เยื้องไปทางด้านข้าง มีงานประติมากรรมลอยตัว พระโพธิสัตวอวโลกิเตศวร  ติดตั้งอยู่สนามหญ้ากลางแจ้ง งดงามทั้งในเชิงศิลปะ และสื่อสะท้อนพลังแห่งความเมตตา ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพุทธะ  เป็นผลงานของท่านเขมานันทะ ศิษย์เอกท่านหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุ หรือในปัจจุบันคิอ ท่านโกวิท อเนกชัย ศิลปินแห่งชาติ (๒๕๕๐)  มีนัยสำคัญต่อความเป็นสวนโลกขพลารามหลายประการ ในความเป็นพุทธศาสนานั้น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  เป็นวิถีแห่งโพธิสัตว์ซึ่งเน้นความเมตตาและการมุ่งประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ การก้าวหน้า ร่วมแก้ไขความทุกข์และร่วมสร้างความสุขไปด้วยกันในวิถีของคนส่วนใหญ่ ไม่เน้นการบรรลุและวิถีการหลุดพ้น ที่ถึงแม้จะดีกว่า  สูงกว่า  บริสุทธิ์กว่า  ทว่า เป็นไปเพื่อความสูงส่งของปัจเจกและก่อเกิดผลดีต่อคนส่วนน้อยเท่านั้น จึงเป็นแนวทางหนึ่งของพุทธศาสนาที่ปรับวิถีปฏิบัติให้เข้ากับแนวทางที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ หรือเป็นมหายาน  ยานที่ง่ายและเอื้อต่อการที่มหาชนคนส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ บ่งบอกถึงทรรศนะที่เปิดกว้างของสำนักปฏิบัติศึกษาสวนโมกข์ ไม่มีกรอบจำกัดต่อความเชื่อ  ความศรัทธาและวิถีที่แตกต่าง ที่สำคัญคือ คนสนใจศิลปะและนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ย่อมทราบดีว่า รูปปั้น พระโพธิสัตวอวโลกิเตศวร เป็นร่องรอยความก้าวหน้าของอารยธรรมยุคโลหะ และเป็นหมุดหมายการเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิของพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้ที่ไชยา สุราษฏร์ธานี  ผู้ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์   กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒  

[๗] ในงานของ Chi. M.T,H (๑๙๖๘) และคณะ   ( http://www.willatworklearning.com/2006/05/people_remember.html เมื่อ ๒๒ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒  เวลา  ๐๑.๓๐ น. ) ได้ศึกษาวิเคราะห์ความสามารถจำและรำลึกประสบการณ์จากแหล่งต่างๆได้  ว่ามีความแตกต่างกัน คือ จากการอ่าน คนเราจะสามารถจำและระลึกได้เพียงร้อยละ ๑๐  หากได้เห็นจะจำได้ร้อยละ  ๒๐  ผ่านการได้ฟังร้อยละ  ๓๐ การได้เห็นบูรณาการกับการได้ฟังเพิ่มเป็นร้อยละ ๕๐  การผสมผสานทั้งการอ่าน ดู ฟัง เพิ่มเป็นร้อยละ  ๗๐  และหากได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง สามารถจำและระลึกได้ร้อยละ  ๘๐   

[๘] รูปแบบการจัดวางทางศิลปะ ที่ทำให้ความเลื่อนไหลของสังคมและความเป็นปัจเจกกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างเนื้อหาให้เกิดขึ้นไปตามบริบทหนึ่งๆ อยู่เสมอนั้น ในทางศิลปะและการพัฒนาทางญาณวิทยานั้น ถือว่าเป็นความท้าทายซึ่งในสังคมหนึ่งๆต้องใส่ใจที่จะสร้างสรรค์ พัฒนา และค้นคว้า ให้เกิดความก้าวหน้าหลากหลายอยู่เสมอ เพราะมีความหมายต่อการขยายพรมแดนการพัฒนาความรู้พื้นฐานเพื่อเป็นฐานความคิดให้กับการพัฒนาด้านอื่นๆต่อไปอีก ในการทำงานศิลปะที่เป็นงานจิตรกรรมหรือการวาดรูปบนพื้นราบมิติเดียวนั้น โดยทั่วไปแล้วก็มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้เพียงติดตั้งให้ยืนชม แต่กรณีของโรงมโหรสพทางจิตวิญวิญญาณของสวนโมกข์ เราจะพบว่าก็ได้ใช้วิธีวาดรูปบนผนัง แผ่นไม้ และเฟรมผ้าใบ เช่นกัน ทว่า กลับมีพลังการเป็นสภาพแวดล้อมเพื่อการศึกษากล่อมเกลาทางจิตใจ ก็เนื่องจากเพิ่มการจัดวางซึ่งทำให้เกิดพื้นที่สำหรับปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้มากขึ้นกว่าการยืนดู วิธีดังกล่าว ทำให้ผู้คนเกิดการบูรณาการประสบการณ์ขึ้นอย่างรอบด้าน รวมทั้งสามารถเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการจัดวางองค์ประกอบและสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการได้ความสงบกายใจ เอื้อต่อการได้ภาวะการตื่นรู้ ได้อยู่กับตนเอง ฟังและสดับเสียงจากห้วงอารมณ์ธรรมในตน คิดใคร่ครวญอย่างแยบคายกับตนเอง และได้ประสบการณ์ตรงทางจิตวิญญาณไปตามกำลังเหตุปัจจัยของตนเองเป็นของใครของมัน ซึ่งกระบวนการภายในดังกล่าวนี้ เป็นการเห็นตนเองด้วย ดังนั้น จึงเป็นศักยภาพการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์ที่ทุกคนมี และเป็นกระบวนการทางปัญญาญาณที่ให้การเข้าถึงความปีติ ความเบิกบานแจ่มใส ได้เป็นประสบการณ์ตรงแก่ปัจเจกและผู้คนที่เดินเข้าไปสัมผัส ในมิติที่พ้นไปจากสิ่งที่จะสามารถสั่งสอนกันได้

หมายเลขบันทึก: 243530เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2009 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

 

  • สวัสดีคะ อาจารย์คะ ..พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นงานประติมากรรมชิ้นเอกอีกชิ้นนึงที่ชื่นชอบมากคะ
  • ได้มีโอกาสเที่ยวชม และสำรวจพิพิธภัณฑ์อยู่หลายแห่ง ทำให้ทราบว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จะมีอยู่หลายปางด้วยกัน และยังมี 2 กร หรือ 4 กร ขึ้นอยู่กับปางที่พระองค์กำลังแสดงอยู่อีกทั้งยังมีการขุดพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ในหลายๆ ที่ อย่างลพบุรี ที่พระปรางค์สามยอด .. วัดราชบูรณะ จ.อยุธยา .. ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี ... ทุกที่งามแตกต่างกันไปคะ
  • ล่าสุดไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ของ คุณชัย โสภณพนิช ที่สะสมของมามากกว่า 30 ปี "พิพิธภัณฑ์กรุงเทพประกันภัย" สะสมสิ่งของตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์คะ ... ที่นี่ก็เป็นอีกแห่งที่มี พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทั้ง 2 กรและ 4 กร ที่ยังคงความสมบูรณ์มากๆ คะ แต่เสียดายว่าจะเปิดแสดงเฉพาะกลุ่ม หรือแขกของคุณชัยเท่านั้นคะ (อยากโพสรูปให้ชมคะ แต่คาดว่าจะไม่ได้คะ เพราะเค้าห้ามถ่ายภาพ แต่งานนี้เป็นกรณีพิเศษที่ให้ถ่ายภาพได้คะ) ^^
  • อาจารย์ณัฐพัชร์ ถ่ายรูปนี้สวยจริงๆ  บริเวณที่ติดตั้งรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ข้างโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณนี้ หามุมที่ถ่ายภาพให้สวยได้ยาก  
  • การจัดพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งสร้างการเรียนรู้ที่ผมก็ชอบเดินมากๆ แต่บ้านเราส่วนใหญ่จัดพิพิธภัณฑ์ไม่ค่อยน่าเดิน มันเหมือนห้องเก็บและอนุรักษ์ของ ไว้อวดแสดงแก่คนจำเพาะกลุ่มเฉยๆ  ครอบครัว ชุมชน และคนส่วนใหญ่  เลยเมื่อได้ยินคำว่าพิพิธภัณฑ์ก็หลบไปไกลๆ  ไปห้างดีกว่า  ทำนองนั้น

อ. เก็บรายละเอียดได้เยอะค่ะ

  • สวัสดีครับคุณ berger0123
  • ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ลุ่มลึกครับ

เห็นรูปแล้วต้องไปดูของจริงในเร็ววันนี้

ขอบคุณมากๆ

ด้วยความยินดีครับ ขอให้ได้มีโอกาสไปเยือนสักวันตามความตั้งใจนะครับ

เนื่องใน ๑๓๐ ปีของสวนโมกข์ และ ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านพุทธทาสนี้ ขอเขียนและร่วมเผยแพร่ โรงมโหรสพทางจิตวิญญาณ เป็นปฏิบัติบูชาพุทธทาส ครูอาจารย์ และผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อสังคมทั้งหลาย ด้วยเทอญฯ

สวัสดีค่ะพี่ชาย

ห่างหายไปนาน ตอนนี้มีภาระงานมากพอสมควรค่ะ

วางแผนการทำงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ โดยมุ่งหวังให้ผลเกิดแก่เด็กๆมากที่สุด แล้วรอรับอานิสงส์จากการทำงาน เพื่อเลื่อนวิทยฐานะค่ะ

อีกอย่างก็พร้อมที่จะเปลี่ยนสายงานไปด้วย

เข้ามาอ่านก็พอเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างค่ะ

สะดุดที่ชื่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เคยไปเที่ยวเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการไม่ทราบว่าเหมือนกันหรือเปล่าคะ แต่เป็นปางแสดงปาฏิหาริย์ค่ะ

พี่ชายสบายดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

               ภาพถ่ายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่เมืองโบราณค่ะ

  • สวัสดีครับน้องจุฑารัตน์ ขอแสดงความยินดีด้วยล่วงหน้าในการเลื่อนวิทยฐานะและเปลี่ยนสายงานนะครับ 
  • ดีจังที่ได้ไปเที่ยวเมืองโบราณ พี่เคยไปเที่ยวนานมากแล้ว กลับมาก็หาข้อมูลที่สนใจเพื่อเรียนรู้เรื่องราวต่างๆอีกหลายอย่าง สองสามปีมานี้เลยอยากไปอีก แต่ก็ยังไม่สมความตั้งใจสักที
กระแสแห่งความว่าง

เรียน คุณวิรัตน์ คำศรีจันทร์

ก่อนอื่นผมต้องขอโทษที่นำภาพไปเผยแพร่ในสเปซกระแสแห่งความว่างโดยที่ไม่ได้แจ้งมาให้ทราบก่อนครับ และขอขอบพระคุณที่อนุญาตให้นำภาพไปเผยแพร่ได้ครับ

ในระหว่างที่จะนำธรรมบรรยายเรื่อง "วิปัสสนากรรมกร" ของท่านพุทธทาส ผมคิดว่าจะไม่สามารถทำให้ผู้อ่านท่านอื่นๆ เข้าใจได้หากไม่มีภาพงานของท่านพุทธทาสมาประกอบ และด้วยที่ผมเองไม่มีภาพถ่ายเกี่ยวกับสวนโมกข์เลยครับ จากที่ผมได้ค้นหาทางกูลเกิ้ลก็พบว่าภาพถ่ายของท่านได้ตวามชัดเจนและเป็นที่น่าประทับใจครับ ซึ่งน่าจะช่วยทำให้การอ่านเพื่อความเข้าใจและเข้าถึงในธรรมบรรยายเรื่อง "วิปัสสนากรรมกร" ได้อย่างดียิ่งครับ

  • ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้วครับ อีกทั้งต้องขอขอบคุณอีกด้วยที่ทำให้ผมได้ร่วมทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทางอ้อม เพราะไปถ่ายรูปชุดนี้ถึงสองครั้งในระะ ๓ ปี  ครั้งแรกเตรียมการไปอยู่เป็นนาน แต่พอกลับมาก็หายทั้งข้อมูลและกล้องถ่ายภาพ ครั้งที่สองก็ต้องอาศัยการไปทำงานพอผ่านไปก็ขอแวะเข้าไปถ่ายรูปมา มีอุปสรรคให้ได้มายากอย่างไม่น่าเชื่อ เลยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เถอะครับ
  • ผมบังเอิญเปิดกูเกิ้ลเข้าไปเจอเช่นกันครับ เป็นเรื่องสร้างสรรค์สิ่งดีมากๆนะครับ เลยนำมาลิ๊งค์ไว้ที่นี่ไว้ให้ด้วย เพื่อจะได้เป็นอีกทางหนึ่งที่ผู้คนที่เขาสนใจจะได้มีโอกาสอยู่กับเรื่องเหล่านี้แล้วก็ได้ความหลากหลาย-รอบด้านของการอ่านมากยิ่งๆขึ้นครับ

อาคารรูปทรงนี้.....รูปปั้นลักษณะนี้........ตัวอักษรที่เขียนด้วยลายมือแบบนี้........รวมทั้งทางเดินและบรรยากาศที่ร่มรื่นอย่างนี้

เป็นที่อื่นไปไม่ได้ นอกจากสวนโมกขพลาราม ........ยังมีอีกแห่งครับ อยู่ฝั่งตรงข้าม (เมื่อก่อนต้องเดินเท้าเข้าไปไม่ตำกว่า 3 ก.ม.__ตอนนี้ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้างและอาจารย์ได้เข้าไปหรือยัง) เป็นสวนโมกข์นานาชาติซึ่งท่านพุทธทาสมีความตั้งใจอย่างสูงและต้องการให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปในโลกกว้าง เหมือนดังอาณาจักรศรีวิชัยหรือเมืองไชยาในอดีต

สมัยอยู่ภูเก็ต เมื่อปี 2534 - 2538 เคยไปหลายครั้งครับ นั่งรถย้อนตะวันจากอันดามันฝั่งตะวันตก - อ่าวไทยฝั่งตะวันออก มีโอกาสพบ/สนทนา/ถ่ายรูปกับท่านพุทธทาสด้วย..ต้องกลับไปค้นหาภาพเก่า ๆ ที่ห้วยปลาเน่า

เห็นหัวข้อนี้แล้ว ขอเข้ามาทักทายและรื้อฟื้นความหลังด้วยคนครับอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อาจารย์สบายดีนะคะ
  • นับว่าเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ที่ช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้สิ่งที่ยากให้ทำได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ที่ลึกซึ้งทางจิตวิญญาณและเข้าถึงธรรมด้วยตนเองได้อย่างดีนะคะ
  • พิพิธภัณฑ์ส่วนมาก  เป็นการเก็บแสดงไว้ในที่จำกัด  จับต้องไม่ได้ เรียนรู้จากป้ายที่แสดงไว้
  • จะต้องหาโอกาสไปชมสวนโมกข์ให้ได้  สักครั้งก็ยังดีค่ะ
  • เมื่อวานเพื่อนชาวบล็อก  พาชมสถานที่หมู่บ้านของเขาที่ขอนแก่น  ได้แนะนำให้เขามาอ่านบันทึกของอาจารย์และให้เขียนเล่าลงบล็อกค่ะ
  • เพราะที่นั่นมีสิ่งสำคัญ แหล่งเรียนรู้ ที่หลงเหลือไว้น่าเรียนรู้และเป็นมรดกของลูกหลานต่อไปอีกมาก
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

สวัสดีครับคุณสมบัติครับ เป็นข้อสังเกตที่ดีจังเลยครับ ผมก็ชอบมองแง่มุมอย่างนี้เหมือนกันครับ เมื่อตอนได้ย่างเข้าสู่สวนโมกข์นั้น เลยต้องเดินและดูอย่างช้าๆแทบทุกเรื่อง

ทั้งท่านพุทธทาสและสานุศิษย์ดูเหมือนจะเป็นนักจัดวางศิลปะแห่งธรรมะไปกับทุกๆอย่างที่กอปรขึ้นเป็นสวนโมกข์ ใครสัมผัสกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และกล่อมเกลาตนเองได้กับชั่วขณะนั้นๆอย่างไร ก็จะสามารถเข้าสู่ความลึกซึ้งของการเกิดภาวะเข้าถึงธรรมในตนได้อย่างหลากหลายไปตามเหตุปัจจัยจำเพาะตน ผมเลยพยายามไปอ่านสิ่งนี้มาและนำมาเขียนถ่ายทอดไว้ครับ

อย่างตัวอักษรลายมือของท่านนั้น แทบจะไม่ต้องเห็นนามผู้เขียนคนก็รู้เลยนะครับว่าเป็นงานของท่านพุทธทาส

สวัสดีครับครูคิมครับ : สบายดีครับผม ขอบพระคุณครับ ครูคิมก็คงสบายดีนะครับ

เมื่อมองการศึกษาเรียนรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน ก็จะเห็นบทบาทของการบริหารจัดการการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาสังคมและจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อวิถีชีวิตการศึกษาเรียนรู้ ที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสังคมและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนพลเมืองมากเลยนะครับ

เป็นปัจจัยเพื่อการได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้สอดคล้องกับโลกแห่งความไม่อยู่นิ่งและเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้สังคมมีพลังพอสำหรับช่วยกันสร้างสุขภาวะที่พอเพียงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัตรอยู่เสมอ 

ผู้คน พลเมือง และสังคมที่เราดำเนินชีวิตอยู่ จำเป็นต้องอยู่ด้วยการเรียนรู้เพื่อเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและให้มีสุขภาวะอยู่เสมอ การศึกษาเรียนรู้ในปริมณฑลที่อยู่นอกห้องเรียนและกลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิตอย่างนี้ ยิ่งใหญ่และสำคัญ อาจจะมากกว่าในห้องเรียนอีกนะครับ

เมื่อมองในแง่เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษานั้น การศึกษาเรียนรู้ในปริมณฑลนี้ ก็ต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา เข้าไปเสริมพลังของสังคมมากเป็นอย่างยิ่งครับ การจัดแหล่งการเรียนรู้ การพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้และกลุ่มประชาคมเพื่อพลังการเรียนรู้ของชุมชน การพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้เชิงสังคม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมทั้งโรงมโหรสพทางจิตวิญญาณอย่างของสวนโมกข์นี้ จึงเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการชุมชนเรียนรู้ ที่น่าสนใจมากครับ นักวิชาการ นักวิจัย และนักพัฒนาสาขาต่างๆ จึงสามารถริเริ่มและทำให้เกิดผลกระทบที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมได้อีกเยอะครับ

อ. วิรัตน์ครับ

ผมกำลังจะตั้งโรงงานเล็กๆเพื่อผลิตชิ้นงานที่เป็นศิลปะทางจิตวิญญาณ ตั้งที่รีสอร์ทส่วนตัวที่นครปฐม โครงการชื่อ Spiritual art ทำทั้งเป็นงานอดิเรก ธุรกิจ และ เผยแพร่ไปพร้อมๆกัน ลูกค้าสนใจที่ชาวต่างประเทศ แต่ก็ไม่เว้นไทย อ.วิรัตน์มาสนุกกับโครงการนี้ของผมไม๊ครับ อ.เองก็มีทักษะทางศิลปะที่ผมชอบมากทีเดียว และเป็นศิลปะในแนวคิดของท่านพุทธทาสเสียด้วย

สวัสดีครับพี่ชูชัยครับ น่าจะเป็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของสังคมไทยเลยนะครับ อาทิตย์หน้านี้เพื่อนและกลุ่มครูในภาคตะวันออกและชลบุรีจะจัดเวิร์คช็อปทางศิลปะ ผมก็เสนอให้มุ่งออกไปทาง ศิลปะกับความเป็นสากลบนจิตวิญญาณของสังคมไทย ด้วยนะครับ แล้วผมเองก็กำลังทำเล่นไปด้วยคล้ายกับแนวคิดที่พี่สนใจนี้เหมือนกันครับ คิดว่าจะสามารถเป็นเครือข่ายที่เล่นในแนวทางนี้ไปด้วยกันกับพี่ได้เลยเหมือนกันไหมครับ

แต่ของผมอาจจะเพิ่มความหลากหลายขึ้นมาบ้างนิดหน่อยครับ ซึ่งก็จะเสริมกันได้อีกด้วย โดยจะเน้นไปทางกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีโอกาสทั้งในชนบทกับในสังคมเมือง เลยจะผสมผสานเข้ากับงานศิลปะและหัตถกรรมของช่างชาวบ้าน แล้วก็มีห้องแสดงงานกับที่นั่งคุยกัน(อันที่จริงอยากเรียกมันว่าหอศิลป์ส่วนตัวและห้องประชุมสำหรับจัดเวทีเอนกประสงค์ แต่มันเล็กไปหน่อย) มีสวนเกษตรและสระบัว ใช้สอยให้เป็นศูนย์เรียนรู้ในแนวชีวิตชุมชนและสวนศิลปะในแนวทางเลือก เพื่อทำงานวิชาการแนวชุมชนและแนวประชาสังคมทางด้านพัฒนาการศึกษา ศิลปะ และการเรียนรู้ชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาวะที่ออกมาจากมิติจิตใจกับสุนทรียภาพ บนฐานชีวิตของตนเองเสียเลย

ความสนใจทำวิจัยที่เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยกับเครือข่ายชุมชนต่างๆที่ค่อยๆทำและสรุปบทเรียนยกระดับการทำงานกันไปเรื่อยๆ ก็โน้มไปทางนี้เหมือนกันครับ เลยทำบ้านกับการดำเนินชีวิต ให้เหมือนกับทำงานและเรียนรู้กับความเป็นจริงไปด้วยเสียเลย

ชอบที่อาจารย์อธิบาย กรวยประสบการณ์ของ Edgar Dale ครับ สว่างกระจ่างใจดีจริง

ขอบคุณว่าที่ดอกเตอร์ม็อคมากครับ
ทำให้ผมเองก็ได้กลับมาอ่านทบทวน หาแง่มุมสำรวจหาข้อมูลเพิ่ม
น่าจะเปิดมิติใหม่ๆของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้
โดยเฉพาะเป็นระบบที่เอื้อให้ใช้ปัจจัยเรื่องคนกับชีวิตชุมชน
ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นทั้งเป้าหมายและปัจจัยการแก้ปัญหาต่างๆอยู่ในตนเองได้ยั่งยืนที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท