๕๓. เรียบง่ายแต่มีพลัง


"...วิธีการและกระบวนการให้การศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ผสมผสานกับปฏิบัติการเชิงสังคมทางสุขภาพสำหรับชาวบ้านและเครือข่ายคนทั่วไป ที่ทำงานได้จริงในภาคปฏิบัติอย่างนี้ เชื่อว่ามีอยู่อย่างมากมาย ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา..."

            พลังปัจเจกและการทำงานเป็นกลุ่มในแนวราบ หากได้สร้างปฏิสัมพันธ์การทำงานและการเรียนรู้ที่ดีให้เกิดขึ้นในกระบวนการ ก็จะทำให้คนและชุมชนเป็นพลังเพื่อพัฒนางาน และงานก็จะสามารถกลับมาพัฒนาประชาชน  เกื้อหนุนส่งเสริมกันเป็นวงจรไปมา

           ทำให้คนและชุมชนเป็นทั้งเป้าหมายและปัจจัยที่สำคัญสูงสุดต่อการแก้ปัญหาและริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

             การทำงานวิจัยชุมชนให้ได้ผลทางการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าว บางครั้ง ก็มาจากสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ แต่มีพลัง สนุก สร้างภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม ให้ความคิดและแรงบันดาลใจมากมาย

            ผมได้เรียนรู้จากเวทีเสริมศักยภาพเครือข่ายวิทยากรกระบวนการ ของกองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายด้านสุขภาพร่วมใจต้านภัยบุหรี่และยาสูบ ในเวทีหนึ่ง เป็นตัวอย่างของสุขภาพเป็นเครื่องมือพัฒนาคน และคนก็จะสามารถร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน

            วิทยากรของกองสุขศึกษาท่านหนึ่ง ผมและคณะทำงานเรียกชื่อท่านเล่นว่าพี่อุ๋ย  ปรกติก็มีบทบาทในการเสริมศักยภาพในด้านเนื้อหาเกี่ยวกับบุหรี่กับสุขภาพ ให้เครือข่ายทำงานเชิงพื้นที่และในชุมชนของภูมิภาคต่างๆ ได้มีความรู้เชิงเนื้อหาวิชาการ 

            รวมทั้งได้เรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติต่อการสร้างสุขภาพดีให้แก่ตนเอง ส่วนใหญ่พี่อุ๋ยก็จะใช้การบรรยายและนำเสนอสื่อพาวเวอร์พ๊อยต์ ซึ่งเทคนิคทางวิทยากรสำหรับกระบวนการให้สุขศึกษาแก่ชุมชนนั้น แทบไม่ต้องพูดถึงเลย ต้องเรียกว่าเป็นมืออาชีพและย่อมดีอยู่แล้ว

            แต่ในการทำงานแบบเครือข่าย ซึ่งมีกลุ่มคนหลากหลายเข้ามาทำงานด้วยกัน การใช้วิธีบรรยายและนำเสนอสื่อ ที่ถึงแม้เตรียมการอย่างดี ก็อาจจะไม่พอ ทั้งผมและทีมก็ทบทวนและช่วยกันปรับปรุงกระบวนการ แล้วก็รวบรวมเป็นบทเรียนของการวิจัยและพัฒนากระบวนการไปด้วย

             พอไปที่เวทีเครือข่ายภาคอิสานและเครือข่ายภาคใต้ ตรงส่วนของการเสริมศักยภาพด้านเนื้อหาก็มีบางส่วนที่มิใช่การบรรยายและนำเสนอสื่อ แต่ใช้กระบวนการเรียนรู้จากการวาดรูปและทำกิจกรรมระดมสมอง  ซึ่งผมเองนั้น ชอบใช้การเรียนรู้เชิงกระบวนการและการวาดรูปอยู่เป็นทุนเดิม พอได้เห็นกิจกรรมที่ทางวิทยากรจัดเป็นกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมเวทีทำงานด้วยกัน ก็ประทับใจมาก

             เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้และสร้างความรู้ขึ้นมาจากการระดมสมองของกลุ่ม ว่าบุหรี่และยาสูบส่งผลต่อสุขภาพและบุคลิกภาพของผู้สูบอย่างไร  วิทยากรได้จัดกระบวนการทำงานด้วยกันแทนการบรรยายให้ฟัง โดยแบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นกลุ่มย่อยเล็กๆ  กลุ่มละ  5-6  คน 

             แล้วก็ให้ปากกาปากสักหลาดมีสีสันหลายสี  พร้อมกับกระดาษปรู๊ฟ หรือกระดาษติดบอร์ดฟลิปชาร์ต 3 แผ่นใหญ่ต่อกันในด้านยาว  ขนาดใหญ่พอที่คนนอนลงไปในท่า Anatomical position แล้วจะไม่ล้นกระดาษ

            จากนั้น ก็เป็นกระบวนการสร้างความรู้และเรียนรู้เป็นกลุ่ม พร้อมกับทำสื่อเพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเวทีรวมไปในตัว ซึ่งดูสนุก สร้างสรรค์ และทำให้เกิดกิจกรรมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มที่ไม่ยากจนเกินไปสำหรับสมาชิกหลายคนที่เป็นชาวบ้าน

            ในกลุ่มย่อยๆ ที่วิทยากรจัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทำงานด้วยกันนั้น  ผู้เข้าร่วมสัมมนาขออาสาสมัครหนึ่งคนให้นอนหงายหลังแผ่ลงไปบนกระดาษในท่ายืน ปลายเท้าแยกเล็กน้อยและผายมือออก แบบที่เรียกว่าท่า Anatomical position

            จากนั้น  ทั้งกลุ่มก็ช่วยกันใช้ปากกาปากสักหลาดวาดภาพคนโดยใช้ตัวเพื่อนที่นอนเป็นตัวแบบ  วาดลงไปจำเพาะภาพร่างภายนอก  ทำให้ได้รูปวาดในท่าคนยืน พอได้เส้นรอบนอก ก็ให้เพื่อนที่นอนลุกออก แล้วก็ช่วยกันใส่รายละเอียด หู ตา และอื่นๆ เท่าที่อยากทำให้น่าสนใจ

            เสร็จแล้ว ก็ช่วยกันระดมความรู้ในกลุ่ม เขียนและวาดตบแต่งไปบนรูปตัวคน  เพื่อให้ได้รายละเอียด และเป็นวิธีรวบรวมความรู้ความเข้าใจมาจากประสบการณ์ของปัจเจกซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มแต่ละคน รวมทั้งร่วมแสดงทรรศนะลงไปด้วย ว่า.......

  • บุหรี่และยาสูบก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพโดยก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บอะไรบ้าง
  • นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ส่งผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร
  • การสูบบุหรี่มือสองหรือไม่ได้สูบแต่คนแวดล้อมสูบให้ดม ทั้งในบ้านและตามแหล่งสาธารณะในชุมชน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนและคนรอบข้างอย่างไร
  • เขียนแล้วก็ลากเส้นโยงเข้าไปตามตำแหน่งต่างๆ บนรูปวาดตัวคน 

           กระบวนการดังกล่าว ที่เปลี่ยนจากการบรรยายและนำเสนอสื่อมาสู่การให้ทำกิจกรรมกลุ่ม วาดรูป และระดมสร้างความรู้  ทำให้ได้ทั้งกระบวนการทำงานเป็นทีมของเครือข่าย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม แต่งเติมเสริมต่อกันและกัน เป็นความรู้ที่สร้างขึ้นมาด้วยกันของกลุ่ม  พร้อมกับได้สื่อที่ทำกันเองอย่างง่ายๆ แต่สร้างปฏิสัมพันธ์ของชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้อย่างดี  เสร็จกิจกรรมแล้วก็ใช้เพื่อการนำเสนอในเวทีรวมอีกทีหนึ่ง

     

                                                                    ถ่ายภาพ : วิรัตน์  คำศรีจันทร์   กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

                                                                  

          จากนั้นก็นำเสนอในกลุ่มใหญ่ แล้ววิทยากรก็เสริมความรู้และข้อมูลให้ไปตามความจำเป็นที่เห็นจากผลงานของกลุ่ม เป็นที่สนุกสนาน

           ผมนอกจากร่วมเป็นวิทยากรให้เขาแล้ว ก็เก็บรวบรวมวิธีการและกระบวนการทำงานเหล่านี้ เพื่อเป็นข้อมูลนำมาเขียนบทเรียนของเครือข่ายด้านสุขภาพในการพัฒนาเครือข่ายด้วยการทำงานในแนวนี้ ไปด้วย

           เป็นการใช้วิธีวาดรูปและจัดกระบวนการทำงานเรียนรู้ด้วยกันเป็นกลุ่มๆ ที่เรียบง่าย แต่มีพลังดีมากๆ

          วิธีการและกระบวนการให้การศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้  ผสมผสานกับปฏิบัติการเชิงสังคมทางสุขภาพสำหรับชาวบ้านและเครือข่ายคนทั่วไป ที่ทำงานได้จริงในภาคปฏิบัติอย่างนี้ เชื่อว่ามีอยู่อย่างมากมาย ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา.

           

หมายเลขบันทึก: 244095เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2009 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

แวะมาอ่านเพิ่มเติมประสบการณ์ความรู้..

เห็นด้วยกับอาจารย์ว่า การทำงานเป็นกลุ่มในแนวราบสามารถดึงพลังจากปัจเจกบุคคลออกมาเพื่อพัฒนางานและชุมชนได้เป็นอย่างดี 

และบางทีเราอาจใช้ใจสัมผัสได้ถึงใจเขา

และบางทีเราก็ได้รับพลังจากเขาด้วย..^__^..

  • สวัสดีคุณใบไม้ย้อนแสง หายเงียบไปไหนมาเนี่ย
  • ยิ่งสำหรับกลุ่มนี้ ทำให้ได้เห็นไปด้วยว่า เวลาทำเป็นกลุ่มแล้วกระบวนการเรียนรี้มันสนุกนี่ เรื่องที่ทำคนเดียวแล้วจะไม่กล้าทำ ก็กลายเป็นเรื่องสนุกและน่าทำไปเลย เช่น การวาดรูปคนและมานำเสนออย่างมีเนื้อหามากมายอย่างเนี๊ยะ
  • เวลามีโอกาสจัดกระบวนการอย่างนี้ในชุมชน ก็จะทำให้เราสามารถมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ สร้างการเรียนรู้ทางสังคมไปในตัวในเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมของสังคมประชาธิปไตย ที่เป็นกิจกรรมเล็กๆ ในกลุ่มกิจกรรมที่เราได้มีโอกาสทำเล็กๆ  แต่ในแง่วิธีคิดแล้ว เป็นความเปลี่ยนแปลงระดับโลกทรรศน์ และมีความหมายต่อการสร้างวิถีสังคมได้อย่างลึกซึ้งในอนาคต  เช่น  การทำงานแนวราบ  การสร้างความรู้ด้วยกัน  การคิดและฟังแบบเปิดใจกว้าง  ขัดแย้งและแก้ปัญหาเป็นกลุ่มด้วยการใช้ความรู้และเรียนรู้กันและกัน  เรื่องพวกนี้เป็นการสร้างสังคมในที่ซึ่งเราลงมือได้  แต่จะให้รอไปทำทั้งสังคมนี่ก็ไม่เป็นอันทำอะไรกัน และเราแต่ละคนก็ทำไม่ไหวด้วย  เลยเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสุขภาพ สร้างคนและสร้างสังคมไปในตัว  ดีออก
  • แหะ ๆ ใบไม้ไม่ได้หายไปไหนมาหรอกค่ะ แค่ไปจัดการกับตัวเอง.. คือเกรงว่ามัวแต่มาเที่ยวเล่นช้อปปิ้งความรู้และน้ำใจใน G2K แล้วการงานทั้งหลายจะไม่เสร็จซะที เลยเข้ามาอ่านทีละแป๊บเดียว
  • วันนี้ส่งอีเมล์หาอาจารย์แล้วมันเด้งกลับ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เลยส่งผ่านทาง G2K อีกรอบ แต่เพื่อความแน่ใจ เมื่อกี้เลยส่งไปใหม่อีกที เป็นครั้งที่ 3 คราวนี้มันไม่เด้งกลับแล้ว คิดว่าอาจารย์คงได้รับอีเมล์แล้ว
  • เรื่องการจัดกระบวนการที่เรียบง่ายแต่ได้ผลลึกซึ้งนั้นดีค่ะ บางทีหลัง ๆ ก็พบการจัดกระบวนการที่เทคนิคแพรวพราว แต่กลับไม่ค่อยลึกซึ้ง บางทีการกลับคืนสู่สามัญ แต่สัมผัสได้ถึงหัวใจ อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละกลุ่ม
  • เห็นด้วยค่ะ รอไปทำทั้งสังคมคงไม่ไหว พอคนทำเหนื่อยยิ่งส่งผลกระทบออกมาเป็นลูกโซ่ เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ตัวน่าจะทำได้ลึกซึ้ง และเกิดผลมากกว่านะคะ บางทีทำในวงกว้างมาก ก็จะลงลึกไม่ค่อยได้ ก็ต้องแล้วแต่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ เวลาใบไม้สวมหมวกสื่อมวลชน ก็รู้สึกงานมันช่างกว้าง แต่กลับไม่ค่อยลึก พอมาทำงานชุมชนก็เห็นว่างานมันลึก แต่อาจจะไม่กว้าง ก็เลยทำม้นทั้งสองอย่างเลย ไม่รู้ว่า มั่วไปหรือเปล่า แต่คิดว่าการสื่อสารน่าจะช่วยพัฒนาทั้งคนทำงานและชุมชนไปด้วยกันได้
  • ขออนุญาตอาจารย์ย้อนหลังนะคะ ใบไม้นำช่างภาพวีดีโอถ่ายบันทึกภาพร่างสะพานที่อาจารย์ช่วยวาดให้เมื่อครั้งที่ประชุมกลุ่มคนรักษ์ถิ่นครั้งก่อนนู้น จะนำไปใช้ประกอบวีดีโอของโครงการค่ะ ขอบคุณมากค่ะ..^__^..
  • มีคนบอกเยอะเหมือนกัน ลองลบไฟล์ออกเกือบหมดแล้วครับ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร 
  • ภาพร่างสะพาน ที่ไปประชุมกลุ่มชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์ถิ่น นำไปใช้ได้ตามสบายเลยครับ อันที่จริงมันเป็นผลงานการ Inspired ของคุณใบไม้ย้อนแสง
  • คุณใบไม้ย้อนแสง เป็นสื่อสารคดีชุมชน สื่อสะท้อนเรื่องราวจากชายขอบไง ไม่มั่วหรอก หลอมหมวกสองใบให้เป็นใบใหม่ใบเดียวเลย ในสังคมยังขาดอีกเยอะนะครับ ตลุยทำงานกับชุมชนไปด้วยก็ดีนะ มันทำให้เรารู้ภาษาหัวใจของชุมชน  ถ่ายทอดออกมาจากโลกทรรศน์ชาวบ้าน ทำให้ปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ของสังคมแข็งแรงขึ้นมาจากฐานราก

  • เลยเอารูปคลองมาฝาก แต่เป็นวิถีชีวิตชุมชนริมคลองของชาวสวนแถวบางคณฑี   

ยินดีที่ได้รู้จักที่นี่อีกที่นึงค่ะ...

  • ยินดีต้อนรับครับ
  • แนวนี้ดูเหมือนเป็นกระบวนการที่คุณครูอ้อยเล็กก็จะเล่นเก่งด้วยคนหนึ่งนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท