๕๖. แรกมีของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ (๔) : น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ


"......น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ ซึ่งคนท้องถิ่นมักเรียกว่า วัดหลวงพ่ออ๋อย เป็นแหล่งน้ำที่คนในตัวอำเภอต่างใช้สอยร่วมกัน..."

น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับหรือวัดหลวงพ่ออ๋อย 

หนองบัวเป็นอำเภอที่กันดารมาแต่ไหนแต่ไร  แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคเท่าที่มีอยู่จึงมีบทบาทต่อสังคมท้องถิ่นมาก น้ำบ่อทรายและสระวัดหนองกลับ ซึ่งคนท้องถิ่นมักเรียกว่า วัดหลวงพ่ออ๋อย เป็นแหล่งน้ำที่คนในตัวอำเภอต่างใช้สอยร่วมกัน  ทำให้เกิดรถเข็นน้ำ ซึ่งเรียกว่า 'รถลุน หรือรถสาลี่' และกลุ่มคนรับจ้างเข็นน้ำ แพร่หลายไปทั่วอำเภอหนองบัว 

รถเข็นคันหนึ่งก็จะมีปี๊บใส่น้ำ 8-12 ใบ ทำให้ข้างๆ และโดยรอบสระ  มีกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชนต่อเนื่อง เช่น  ร้านปะยางรถ  ร้านปะและบัดกรีปี๊บ ซึ่งได้กลายเป็นร้านทำหน่อไม้อัดปี๊บไปด้วย และเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในหนองบัว อยู่ตรงข้ามบ้านอัยการประเวศ รักษพล ข้างเกาะลอยและข้างต้นมะขามโบราณต้นใหญ่ที่สุดของหนองบัว

                          

น้ำบ่อทรายวัดหนองกลับและรถสาลี่เข็นน้ำชุมชนอำเภอหนองบัว สระน้ำวัดหนองกลับมีสองสระกินพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ด้านเหนือของสระบนซ้ายของภาพเป็นโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)  ภาพประกอบวาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ สิงหาคม ๒๕๕๒

ในหน้าแล้ง น้ำในสระวัดหนองกลับซึ่งจำนวน ๒ สระรวมกันแล้วกินเนื้อที่ถึง ๒๐ ไร่นั้น ก็จะแห้งจนเหลือแต่พื้นทราย ชาวบ้านในชุมชนโดยรอบสระก็จะขุดก้นสระให้เป็นน้ำบ่อทรายเต็มทั้งก้นสระ แล้วก็จะต้องนำปี๊บเปล่าๆลงไปตักน้ำจากบ่อทราย แล้วก็หาบขึ้นมาใส่รถสาลี่บนขอบสระ ซึ่งทั้งต้องเดินไกลและต้องเดินขึ้นขอบสระลาดชันสูงนับสองสามวา ผู้ที่ไม่แข็งแรงหรือครอบครัวที่ไม่มีแรงงานผู้ชาย จึงต้องอาศัยซื้อและจ้างคนเข็นน้ำ ทำให้เกิดรถสาลี่เข็นน้ำ รับเข็นน้ำทั่วตลาดหนองบัว

หมายเลขบันทึก: 284011เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

  • สระน้ำวัดหนองกลับด้านกว้างเทียบง่าย ๆ คนยืนอยู่ฝั่งซ้ายใกล้ ๆ กุฏิหลวงปู่อ๋อยแล้วขว้างก้อนหินก้อนดินขนาดเหมาะ ๆ มือส่วนมากแล้วขว้างไม่ข้าม
  • ส่วนด้านยาวก็ยาวมากคือตั้งแต่ตลาดหนองบัวจรดด้านหลังที่ว่าการอำเภอหนองบัว
  • เช้า ๆ เย็น ๆ จะมีคนมาตักน้ำเต็มขอบสระด้านทิศตะวันตกติดตลาดมีรถลุนเข็นน้ำขายตามร้านห้องแถวในตลาด
  • ด้านทิศใต้-ทิศเหนือก็มีเกวียนพลุกพล่านคึกคักเต็มไปหมด
  • คนในบ้านส่วนใหญ่ก็ใช้เกวียนเข็นน้ำ ยิ่งตอนมีงานบวชนาคหมู่ด้วยแล้วบ้านนาคแต่ละเจ้าต้องใช้น้ำเยอะมากคนตักน้ำก็จะยิ่งมากเพิ่มขึ้น
  • โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มาช่วยงานบวชก็พากันมาเข็นน้ำที่สระวัดด้วยความสนุกสนานไม่เหน็ดไม่เหนื่อยเลย
  • เกวียนทั้งใส่ตู้และไม่มีตู้มีตู้ก็ใส่แกลลอนขนาด ๒๐๐ ลิตร(จุได้ ๑๒ ปี๊บคือ ๖ หาบ)ได้สี่-ห้าถังเกวียนไม่มีตู้ก็ใส่แกลลอนได้สองถังโดยมีแผ่นกระดานพาดไว้บนทวก(ธูป)เกวียนสำหรับตั้งถังแกลลอนหมอนเกวียนจะมีรูไว้สำหรับไม้สลักเสียบสองข้างช่วยให้การผูกเชือกมัดถังแกลลอนได้แน่นปากแกลลอนปิดด้วยผ้าขาวบ้างผ้าขาวม้าบาง
  • คนในบ้านส่วนใหญ่จะกินน้ำบ่อทรายน้ำซึมซึ่งมีอยู่ทุกหมู่บ้านคนตักน้ำต้องรอคิวกว่าจะได้แต่ละหาบต้องนานหน่อยเพราะน้ำออกช้ามากใช้ไม้ไผ่ผ่าปลายคีบขันน้ำแล้วก็ตักทีละขันทีละขันยิ่งหน้าแล้งด้วยแล้วต้องตื่นแต่ตีสี่ตีห้าเลยเชียว.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

  • เป็นวิธีวัดขนาดและระยะทางที่เทียบกับประสบการณ์ชาวบ้านได้ดีจริงๆครับ
  • เพิ่มรายละเอียดที่พระคุณเจ้าให้มาอีกนิดหนึ่งครับ สระวัดหนองบัวมีสองลูกต่อเนื่องกันเลยทั้งกว้างและยาวมาก
  • การหาบ เข็นน้ำ และบรรทุกน้ำด้วยเกวียน ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะมากพอสมควร เพื่อแก้ปัญหาที่สำคัญ ๔ เรื่อง คือ (๑) วิธีตักน้ำไม่ให้ติดตะกอนและทรายจากบ่อ-สระ  (๒) การเดินหาบให้จังหวะการเดินให้มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับจังหวะการดีดตัวของคาน กับการโยนตัวของปี๊บน้ำ ซึ่งจะทำให้หาบน้ำได้มากโดยไม่เหนื่อยและเจ็บบ่า อีกทั้งไม่ทำให้น้ำหกทิ้งจนพร่องปี๊บ (๓) การผ่อนจังหวะรถเข็นและการบังคับเกวียน ให้สัมพันธ์กับความเป็นหลุมบ่อและเนินดิน ซึ่งหากไม่มีการเรียนรู้ให้เกิดทักษะและความชำนาญตรงนี้ น้ำในปี๊บรถเข็น หรือน้ำที่เข็นด้วยเกวียน ก็จะกระฉอกทิ้งเกือบค่อนถังเช่นกัน (๔) การปิดด้วยผ้า ใบตอง ใบบัว  หรือเก็บผักรายทางแล้วลอยไปในถัง ก็จะทำให้น้ำไม่กระฉอกทิ้ง ทำให้หาบและเข็นน้ำได้มีประสิทธิภาพ
  • จะเห็นว่าการปฏิบัติและวิถีชุมชน ที่ชาวบ้านดำเนินชีวิตอยู่โดยทั่วไปนั้น มีความเป็นเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง
  • การทำงานและมีการเรียนรู้ในชีวิต รวมทั้งชีวิตชุมชน จึงมีธรรมชาติเป็นโครงสร้างทางปัญญาที่ใช้แก้ปัญหาและสร้างความสุขในชึวิตได้เป็นอย่างดีอย่างหนึ่ง
  • การศึกษากิจกรรมและสิ่งของที่มีอยู่ในชุมชนและในวิถีชีวิตของผู้คน จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้เพื่อการตอบคำถามว่าทำไมสิ่งนั้นๆจึงมีและเป็นอยู่อย่างนั้น รวมทั้งตัววิธีคิดและปัญญาที่กำกับอยู่คืออะไร ก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงตัวปัญญาญาณ ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของชาวบ้าน ที่หยั่งรากอยู่ในสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก 
    • มาเรียนรู้วิถี และภูมิปัญญา
    • เทคนิคการตักน้ำไม่ให้ทราย และตะกอนติดมา
    • การหาบน้ำ การขนย้ายน้ำโดยใช้รถ บนทางที่ไม่เรียบ
    • เป็นการเรียนเรียนที่เกิดจากประสบการณ์โดยตรง
    • การเป็นคนช่างสังเกต เปรียบเทียบ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเรียนรู้
    • จากการลงมือทำ และจากคนรุ่นเก่าถ่ายทอดกันมา
    • รอติดตามอ่านบทความต่อไปนะคะ
    • เราจะเข้าถึงปัญญาญาณได้อย่างไร
    • ขอบคุณค่ะ

     

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และท่านผู้อ่านทุกท่าน

    • ขออนุโมทนาขอบคุณต่อคุณ krutoi ที่เข้ามาเรียนรู้และให้กำลังใจชาวหนองบัวแทนอาจารย์วิรัตน์ด้วยก็แล้วกัน
    • ไม่กล้าตอบแทนอาจารย์หรอกเพราะความรู้วิชาการยังไม่ถึง
    • แต่ให้ตอบแบบคนมีประสบการร์แล้วละก็พอได้บ้าง
    • การหาบ การตักน้ำด้วยขันต้องใจเย็นมีสมาธิพดสมควรคือสภาพดินไม่เหมือนกันโดยบางแห่งดินทรายล้วน ๆ น้ำซึมออกมาจะใสถึงตักแรง ๆ ก็ไม่ค่อยขุ่น
    • แต่บางแห่งดินทรายปนดินร่วนน้ำจะสีขาวน้ำไม่ค่อยใส ถ้าตักแรง ๆ น้ำขุ่นข้นเป็นตะกอน
    • การหาบน้ำอาตมาหาบจนบ่าเป็นรอยไม้คานเลยแหละ
    • คิดดูก็แล้วกันจะไม่ให้บ่าเป็นรอยได้อย่างไร
    • ขนาดทางเดินหาบน้ำจากบ้านไปหนองกลับหนองน้ำขนาดใหญ่ใกล้บ้านนั้นเป็นรอยร่องลึกเชียว
    • การขับเกวียนเข็นน้ำนั้นน่าหวาดเสียวน่ากลัวกว่าทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด
    • โดยเฉพาะเกวียนที่ไม่ได้ใส่ตู้มีแค่แผ่นกระดานไม่กี่แผ่นรองรับถึงแกลลอนสองร้อยลิตรมีโอกาสพลิก-โค่นได้ถ้าเชือกมัดไม่แน่นพอเมื่อเกวียนข้ามช่องทางเกวียนที่หัวคันนา
    • วัวบางตัวดื้อจะเดินให้ล้อเกวียนเบียดช่องหัวคันนาทำให้เกิดแอ็คซิเด้นได้ คนยืนขับก็ต้องระวังกระดานพลิกและขอบถังแกลลอนทับเท้า

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล  ขำสุข(อาสโย)

    • สวัสดีครับคุณครูต้อย ยินดีและแสนดีใจที่แวะมาเยือนหัวข้อท้องถิ่นนี้ของชุมชนอำเภอหนองบัวครับ
    • กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ เรื่องเข็นน้ำด้วยรถสาลี่และเกวียนนี่ ต้องยกให้ชาวบ้านในตัวเมืองหนองบัวและหนองกลับเลย เก่งครับ

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    ตามมาอ่านค่ะ

    ขอบพระคุณมากนะคะที่ลิ้งค์ข้อมูลไปให้ค่ะ

    • สวัสดีครับคุณณัฐรดา
    • บ้านใหม่ของคุณณัฐรดาในนี้มีคนตอบรับดีมากเลยนะครับ
    • ขอร่วมยินดีด้วยครับ

    อ่านข้อเขียน บทความและข้อคิดเห็นต่าง ๆแล้วส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตชองคนในชุมชนเมือง (หนองกลับ/หนองบัว) ทำให้ได้รับความรู้และเรื่องราวที่ไม่เคยรู้หรือไม่ค่อยได่รู้มาก่อน

    ข้อเขียนของอาจารย์วิรัตน์ ได้ช่วยเปิดโลกทรรศน์ของผมต่อชุมชนรอบนอกได้ดีทีเดียว

    หมู่บ้านที่ผมเกิด น่าจะอยู่ห่างจากบ้าน ดร.วิรัตน์ประมาณ 8 ก.ม. ผ่านบ่อยครับแต่ไม่เคยแวะลงไป แล้วก็ไม่รู้จักใครเลยที่บ้านตาลิน..............ชุมชนคนรอบตัวอำเภอ ผมคิดว่าน่าสนใจและน่าศึกษานะครับ มีทั้งไทพวน ยวน ไทยดำ(ลาวโซ่ง) ลาวแง้ว(ลาวหลวงพระบาง) ลาวเวียง ลาวที่อพยพไปจากภาคอีสานแถว ๆ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ลาวโคราชก็มีมาก ที่หมู่บ้านผมมีคนจีน ที่สำคัญมีแขกปะปนอยู่ด้วย พวกที่เดินชายมุ้งแล้วอยู่กิน-แต่งงานกับคนในพื้นที่ ...........หมู่บ้านนี้มีเรื่องราวซึ่งผมคิดว่าน่าจะเข้ากับหัวข้อของอาจารย์ได้ดี.....

    ไม่น่าเชื่อครับว่า การที่ได้เกิดและเติบโตอยู่ในสังคมและชุมชนแบบนี้ ตอนที่ผมไปรับราชการที่กรุงเทพฯและปักษ์ใต้ มันไม่ได้มีผลอะไรต่อหน้าที่การงานหรือวิถัชีวิตของผมเลย.........เมื่อวันดีคืนดี ผมมีโอกาสมารับราชการที่จังหวัดหนองคาย ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยสัมผัสกับภาคอีสานมาก่อนเลยในชีวิต งานที่ทำต้องติดต่อ พบปะ พูดคุยกับผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับ

    พี่น้องชาวลาว จากทุกสารทิศที่มาทำงานและดำรงชีวิตในนครหลวงเวียงจันทน์ ถ้อยคำ สำเนียง ศัพท์แสงต่าง ๆ ที่คนลาวใช้พูดกันนั้น มันช่างเหมือนและเป็นคำคำเดียวกับสิ่งที่ผมพูดและได้ยินมาตั้งแต่จำความได้

    ครับหมู่บ้านของผมคือ ....ห้วยปลาเน่าเหนือ.....ขับรถไป 3 แยกเตาอิฐ เลี้ยวขวาผ่านรังย้อย ถึงหมู่บ้านอาจารย์วิรัตน์ ผ่าบ้านป่ารังไปไม่เท่าไหร่ก็ถึงหนองบัวแล้วครับ

    เมื่อหัวข้อนี้พูดกันถึงเรื่องแหล่งน้ำ พ่อผมเล่าว่า ปู่คือผู้ใหญ่พลอย ฆ้อนทอง อพยพมาจากอำเภอบ้านหมี่มาเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านห้วยปลาเน่า.....ยังไม่เปลี่ยนชื่อเป็นห้วยวารีเหมือนปัจจุบัน สมัยนั้นกำนันผล กำนันมือปราบคนดังเรียกปู่ว่าพี่พลอย ปู่ได้บริจาคที่ดินเกือบ 20 ไร่เพื่อสร้างวัดและขุดสระน้ำถวายวัด รวมทั้งเพื่อให้ผู้คนได้อาได้กินในยามแล้ง

    สมันนั้น ผู้คนจากห้วยน้อย ห้วยด้วน น้ำสาด ป่าเรไร รังย้อย โคกมะกอก กระโดนปม หนองกระจูม ไผ่แตกตื่น ฯลฯ ต่างเอาล้อ เอาเกวียน รวมถึงมาหาบน้ำ้ไปกิน ไปใช้กัน ช้างม้า วั ควาย ก็ได้อนิสงส์จากการนี้ด้วย

    พ่อเล่าว่าสมัยนั้น เรื่องน้ำเนี่ย ลำบากกันจริง ๆ

    ความไร้พรมแดนและการผสมผสานทางสังคมและวัฒนธรรม

    ดีใจจังเลยครับ ยิ่งได้ทราบถึงประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาของคุณสมบัติ ฆ้อนทองแล้วก็ยิ่งประทับใจ โดยเฉพาะการที่คุณสมบัติได้ทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็ถึงกับเป็นคนเขียนพจนานุกรม ลาว-ไทย-อังกฤษ อีกทั้งมีประสบการณ์ตรงจากบ้านเกิดเกี่ยวกับกลุ่มวัฒนธรรมย่อย

    แถวบ้านผมก็พูดลาวกันทั้งหมู่บ้านครับ ลองเสาะหาความเป็นมาของญาติพี่น้องและโคตรเหง้าเหล่ากอก็จะมาจากทางบ้านหมี่ ลพบุรี สระบุรี เหมือนกันครับ พอมาหาข้อมูลดูก็พอจะปะติดปะต่อได้ว่า น่าจะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนย้ายมาจากลาวในห้วงเวลาต่างๆในอดีต

    เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ผมได้ไปเวียงจันท์แล้วก็เลยไปหลวงพระบาง ตอนที่ไปหลวงพระบางนั้น นอกจากได้สัมผัสสิ่งต่างๆอย่างที่คุณสมบัติบอกว่าทั้งวิถีชีวิต สำเนียง ภาษา มันช่างเหมือนกับที่คุณสมบัติได้พูด จำ และใช้ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่เกิดแล้ว วันหยุดวันหนึ่ง ศิษย์เก่าของที่ทำงานผมซึ่งเป็นหมออยู่ที่หลวงพระบาง ได้พาไปที่วัดเก่าแก่ในเมืองหลวงเก่าแก่ที่นั่น

    เขาพาไปร่วมทำบุญบวชนาคกับชาวบ้านครับ ซึ่งเจ้าภาพมีภรรยาของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและญาติๆ จากนั้นก็พาไปร่วมงานกับชาวบ้านอีกที่หนึ่ง ได้ไปบวชลูกแแก้วหรือบวชเณร แล้วก็ทอดกฐิน ทั้งสองกิจกรรม ผมพูดคุยกับชาวบ้าน ฟังพระสวด  ทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปจนถึงนั่งกินข้าวด้วยกันเป็นสำรับ เหมือนกับอยู่บ้านเราไม่มีผิด

    หลายคำศัพท์ที่พี่น้องลาวพูด ก็เป็นอย่างที่คุณสมบัติว่านั่นเลยครับคือ มันเป็นคำเดียวกันทั้งสำเนียงและความหมาย  ผมร่วมกิจกรรมไปก็ปลื้มปีติและตื่นเต้นจนขนลุก พลางก็คิดว่าคงมีอยู่ประเทศเดียวในโลกที่คนไทยจะได้รับการปฏิบัติอย่างกลมกลืนจนเหมือนเป็นญาติพี่น้องอันแนบแน่นกันอย่างนี้

    เมื่อตอนต้นๆที่ผมเรียนประถมกันที่โรงเรีบนวันครูนั้น เมื่อถึงตอนสอบไล่กัน พวกโรงเรียนบ้านป่ารังและโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) จะต้องไปสอบที่โรงเรียนโคกมะกอก เกือบถึงห้วยปลาเน่าบ้านของคุณสมบัตินั่นแหละครับ ต้องถีบรถไปสอบกันตัวโก่ง หรือไม่ก็เดินกัน ๗-๘ กิโล ไปจนถึงบ้านเตาอิฐ แล้วก็เลี้ยวตามทางเล็กๆไปวัดโคกมะกอก

                           

    ภาพข้างบนนี้เป็นห้วยน้อย หากไปจากบ้านห้วยปลาเน่าเหนือไปบ้านเตาอิฐ แล้วก็เลี้ยวขวาที่บ้านรังย้อยไปตามทางไปหนองบัวก็จะอยู่เลยบ้านป่ารังนิดหน่อย หากออกมาจากตัวอำเภอหนองบัว ก็จะเป็นสะพานแรก

    ห้วยน้อยนี้ น้าที่บ่ามาจากทางพิจิตรจะไหลลงไปทางใต้ แล้วก็เชื่อมโยงกับคลองแยกย่อย ไปจนถึงห้วยวารี และห้วยปลาเน่า บ้านของคุณสมบัติน่ะครับ ผมวาดแสดงสภาพแวดล้อมในอดีตเมื่อตอนยังมีต้นมะม่วงป่าและต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ข้างทาง มีป่ากกกับทุ่งนาข้าวต่อเนื่องกันเป็นผืนใหญ่ แล้วก็แสดงประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งท่านพระอาจารย์มหาแลและหลายท่านที่เป็นครหนองบัว ได้พูดถึงและค่อยๆถักทอข้มูลจากประสบการณ์ชีวิตกันขึ้นมา ผมเลยประมวลภาพแล้ววาดออกมาให้ครับ

    บริเวณนี้เป็นแหล่งที่มีปลามากมาย ผมเคยไปทอดแทและลงอวนกับญาติๆแถวบ้านครับ พอน้ำงวดลงไป ชุมชนที่อยู่ทางใต้กว่าก็จะเป็นแหล่งที่น้ำงวดทีหลัง ปลาก็เลยจะไปรวมอยู่ด้วยกันกระมัง ทางใต้ๆถึงได้ชื่อว่าห้วยปลาเน่า

    ขอบคุณและดีใจมากจริงๆครับที่คุณสมบัติซึ่งเป็นคนท้องถิ่นด้วย มาช่วยกันคุย สร้างความรู้ และสร้างการเรียนรู้เรื่องท้องถิ่น เพื่อทำให้คนตื่นตัวและเกิดโอกาสดีๆที่จะริเริ่มทำสิ่งต่างๆขึ้นมาจากชุมชนด้วยตนเองบ้างนะครับ

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • ต่อไปก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ รอบนอกหนองบัว-หนองกลับ โดยคนท้องถิ่นเพื่อคนท้องถิ่น เพราะหลายอย่างคนหนองบัวเอยก็ยังไม่ทราบ เช่น กำนันมือปราบคนดังของหนองบัวก็เคยได้ยินชื่อ แต่ไม่เคยเห็นท่านเลย
    • อันที่จริงอยากจะได้ศึกษาวิถีชีวิตพี่น้องโดยรอบหนองบัวมานานแล้ว แต่ยังไม่มีใครมาพูดคุยให้ไฟ้ง
    • คิดว่าต่อไปคงจะได้ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ทั้งท้องถิ่นหนองบัวและประเทศเพื่อนบ้าน
    • คนหนองบัวทั้งหลายย่อมดีใจเป็นธรรมดา ขอให้อาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง ได้พูดคุยถ่ายทอดประการณ์จากชีวิตจริงให้คนท้องถิ่นบ้านเรา และคนที่ไปทำงานต่างถิ่นเพื่อเป็นกำลังใจแก่คนไกลบ้าน
    •  มีคนอุตรดิตถ์ถามว่า ทำไมคนหนองบัวจึงเขียนพจนานุกรมภาษาลาวได้ เขานึกว่าหนองบัวไม่มีลาวนะซิ ที่ไหนได้มีตั้งเยอะแยะเลยแหละ
    • เจ้าสำนักสงฆ์ที่ชาติตระการเคยนำพริกเกลือไปให้ญาติโยมกินกันถึงชาติตระการ พิษณุโลก อร่อยกันยกใหญ่ ถามพระว่า คนหนองบัวกินปลาร้าเป็นด้วยเหรอ ไม่ใช่กินเป็นอย่างเดียวหรอกนะโยม แถมส่งออกไปหลายจังหวัดด้วยแหละพริกเกลือหนองบัวเนี่ย

    เจริญพร

    • ขอสนับสนุนข้อเสนอของพระคุณเจ้าที่อยากเห็นคนหนองบัวและชุมชนรอบนอกของบ้านหนองบัวมาช่วยกันเขียนเรื่องราวที่ให้การเรียนรู้ทางด้านต่างๆมากขึ้นเกี่ยวกับหนองบัวครับ
    • คุณครูโรงเรียนต่างๆนอกจากสามารถฝึกให้เด็กสร้างความรู้โยนเข้ามาในอินเตอร์เน็ตซึ่งจะได้พัฒนาทั้งทักษะการเรียนรู้ชุมชนและได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเริ่มต้นจากให้เขารักการเรียนรู้และได้พัฒนาทักษะการสร้างความรู้ไปด้วย ดีกว่าให้ได้ความทันสมัยทางเทคโนโลยีแต่ไม่รักความรู้และไม่มีทักษะในการใช้ความทันสมัยเพื่อเพิ่มพูนการเรียนรู้ในทางที่เพียงพอแก่สังคมตนเอง
    • องค์กรท้องถิ่น อสม ก็สามารถสร้างข้อมูลและสื่อสารเรียนรู้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะให้ส่วนรวมของท้องถิ่นแข็งแรงมากขึ้นครับ
    • พอแม่-ครอบครัว และคนในชุมชน ก็สามารถเป็นนักวิจัยและเครือข่ายคนร่วมสร้างความรู้เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์สร้างสุขภาวะชุมชนระดับต่างๆได้เช่นกันครับ
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • แค่อ่านข้อเขียนอาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง เพียงแต่เกริ่นไว้นิด ๆ ยังน่าสนใจมากนาดนี้เลยทำให้อยากรู้เพิ่มอีก
    • ซึ่งอาตมาเองก็ยอมรับเลยว่า ไม่ค่อยได้ทราบว่ามีพี่น้องหลายกลุ่มหลายวัฒนธรรมในหนองบัว
    • อาจารย์สมบัติเขียนอีกเด้อ หรือมีพี่น้องที่อยู่รอบนอกท่านใดจะพูดคุยเกี่ยวกับชุมชนบ้านตนเองก็เชิญได้เลย
    • ถ้าจะให้ดีอย่างยิ่งละก็ ขอเชิญคุณครูในโรงเรียนต่าง ๆ ผู้นำชุมชนคนเก่าคนแก่ในพื้นที่นำเด็กนักเรียนมาเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชนของเขาพร้อมกับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในที่นี้จะเป็นพระคุณหลาย ๆ เลยแหละ

    เจริญพร

    เชิญทุกท่านอย่างที่พระคุณเจ้าชวนเชิญเลยนะครับ

    ขอกราบเรียนท่านพระมหาแลฯ ท่านอาจารย์วิรัตน์ รวมทั้งผู้ที่อาจจะเคยอ่านหนังสือที่ผมเขียนครับ

    หนังสือที่ว่า (ถ้อยเสียงสำเนียงลาว : คำศัพท์ 3 ภาษา : ลาว - ไทย - อังกฤษ) เป็นหนังสือธรรมดา ๆ ที่เขียนจากประสบการณ์ตรงจากการทำงานร่วมกับข้ารัฐการฝ่ายลาวมานานนับสิบปี ภูมิความรู้ของผมยังไม่เข้าขั้น ......... ยังไม่ถึงระดับที่จะเขียนพจนากุกรมได้หรอกครับ แต่เป็นการเขียนขึ้นจาก...ความอยากที่จะเขียน และด้วยใจรัก ที่สำคัญคือ....คิดว่า ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน พอทำออกมาเผยแพร่แล้ว คนที่อ่านส่วนมากก็จะนั่งอมยิ้ม เหมือนจะเป็นหนังสือแปลก...หรือตลก อะไรทำนองนั้น....คุณคำรณ หว่างหวังศรี เคยมาสัมภาษณ์และออกอากาศทางช่อง 7 สองครั้ง ช่อง 3 ก็เคยนำไปออก มติชน คอลัมน์ของอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้นำปกหน้าไปลงประชาสัมพันธ์ให้ รวมถึงบางกอกทูเดย์ ก็ได้กล่าวถึงบ้าง...............พจนานุกรมลาว - ไทย - อังกฤษ ที่เป็นไปตามหลักวิชาการแท้ ๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ครับ และทำได้ดีมาก

    ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ไปแขวงหลวงพระบาง ทางไหนครับ.......รถยนต์หรือเครื่องบิน เพราะการไปแต่ละเส้นทาง จะได้ความรู้สึกและประสบการณ์ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ไปทางน้ำก็เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม ฤดูการนี้นักท่องเที่ยวเริ่มจองที่พักกันแล้ว แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันมากในลาวนอกจากหลวงพระบางแล้วยังมี วังเวียง ทุ่งไหหิน ซำเหนือ ผ้งสาลี อันนี้เป็นลาวเหนือครับ ส่วนลาวใต้ก็เป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ / ธรรมชาติ แถว ๆ แขวงจำปาสัก

    เห็นภาพต้นโพธิ์ใหญ่ ต้นมะม่วงป่าของอาจารย์แล้ว นึกถึงตอนเป็นเด็ก ๆ ได้ความรู้สึก.... ยังจำภาพต่าง ๆ ได้ดีครับ ว่ากันว่าแถวนั้น.....ผีดุ แต่ว่านาน ๆ จะผ่านทางนั้นสักที เพราะว่าถนนจากห้วยปลาเน่าเหนือ - เตาอิฐ สมัยนั้นไม่น่าจะเรียกว่าถนน บ้านผมอยู่ห่างจากถนนสายหนองบัว - ท่าตะโก เพียง 400 เมตร ชาวบ้านจึงนิยมเดินทางไปอำเภอ ทางป่าเรไร - น้ำสาดกลาง - บ้านน้อย - ห้วยด้วนกันมากกว่า.........................แต่ปัจจุบันตั้งแต่ลูกบ้านห้วยปลาเน่าเหนือได้เป็น ส.ส. ได้เป็นนายกอบต.ห้วยถั่วเหนือ ถนนก็ได้กลายสภาพมาเป็นลาดยาง ชาวบ้านรวมทั้งคนทั่วไปจึงนิยมใช้เส้นทางนี้ เพราะระยะทางใกล้และประหยัดน้ำมัน

    สำหรับชื่อห้วยปลาเน่านั้น คนเก่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่า สมัยนั้นบริเวณดังกล่าวเป็นป่าหญ้า ดงแฝก ห้วยก็ลึกท่วมหลังช้าง พ่อใหญ่-แม่ใหญ่ผมอพยพมาจากบ้านหนองโน จังหวัดสระบุรี / ปู่ก็อพยพมาจากบ้านหินปัก อำเภอบ้านหมี่ มาหักร้างถางพง ทั้งสองฝั่งคลองมีตัวนากชุกชุม ปลาก็ชุมมาก พวกนากกินปลาไม่หมดก็ปล่อยทิ้ง ปล่อยขว้าง เป็นอย่างนี้ตลอดสองฝั่งคลอง ......กลิ่นปลาเน่าส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปไกล.......เป็นประสบการณ์แรกในการอพยพมาของคนต่างถิ่น....รุ่นบุกเบิก .....นี่เป็นที่มาของชื่อ....ห้วยปลาเน่า....ปัจจุบันป่าก็หมด ตัวนากไม่มีให้เห็นแล้ว ปลาถึงแม้จะพอมีอยู่บ้างแต่ก็เลิกส่งกลิ่นเหม็นแล้ว ด้วยเหตุนี้กระมัง ทางการจึงเปลี่ยนชื่อเป็น...ห้วยวารีเหนือ...ในปัจจุบัน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
    • เจริญพรอาจารย์สมบัติ ฆ้อนทอง
    • รู้สึกยินดีมาก ๆ ได้ความรู้ตั้งแต่บ้านห้วยปลาเน่าเหนือ สระงาม หนองบัว -ต่างประเทศ(ประเทศลาว)
    • หนังสือ (ถ้อยเสียงสำเนียงลาว : คำศัพท์ 3 ภาษา : ลาว - ไทย - อังกฤษ) โดยสมบัติ พรหมมินทร์ ฆ้อนทอง
    • อาตมาซื้อที่ มน.เมื่อกลางเดือน ก.ย. ๕๒ ที่ผ่านมานี้เอง
    • ที่กุฏิมีนักศึกษา ป.โท จากอีสาน อยู่ด้วย เวลาออกเสียงไม่ถูกเขาจะช่วยออกเสียงให้ฟัง คนออกเสียงก็ขำตัวเองไปด้วย
    • ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกมากเลยเกี่ยวกับบ้านห้วยปลาเน่า
    • เคยไปก่อนบวชสักประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ กว่า ๆ หลังจากนั้นไม่ได้ไปเลย
    •  แม่น้ำโขงนี่ อาตมายังไม่เคยได้ไปสัมผัสโดยตรงแม้แต่ครั้งเดียว
    • ภาคอีสานไปแค่จังหวัดบุรีรัมย์เอง
    • ลักษณะเหมือนเป็นการเรียนรู้และหาความรอบรู้เกี่ยวกับสังคมโดยมองผ่านภาษาเลยนะครับ
    • ตอนที่ไปแขวงหลวงพระบางนี่ไปทางเครื่องบินครับ เขาบอกว่าหากไปทางรถยนต์ก็จะต้องขึ้นแนวเขาและผ่านทางคดเคี้ยว ต้องเดินทางเป็นวันๆเลย
    • ตอนไปผมได้ไปเดินตามหมู่บ้านและท้องถิ่นชนบท ได้รูปที่สื่อเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนแบบดั้งเดิมมามากมาย แต่กลับมาแล้วก็หายหมดไปอย่างอัศจรรย์ เสียดายอยู่ไม่หาย

    เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยคะ เรื่องที่เข็นน้ำนี้ อยากทราบว่าเป็นอดีต หรือปัจจุบันคะ  ที่สุอ่านมา สุอยากจะเดาว่าเป็นอดีต เพราะที่บ้านสุหนองโก  เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ยังมีการเข็นนำขาย รถละ 5 บาท ใส่ได้ 8 ปี๊บ และก็มีใบไม้ปิดหน้าปิ๊บกันไว้กันน้ำกระฉอกคะ  แต่ปัจจุบันนี้ ไม่มีแล้วนะคะ เพราะตามที่ไปเยี่ยมแต่ละหมู่บ้าน ทุกคนมีน้ำปะปาใช้กันทุกครัวเรือนแล้วคะ ไม่มีหาบนำขาย หรือเข็นน้ำขายอีกแล้ว

    -แต่ก็มีพัฒนาการในเรื่องน้ำคะ  คือถ้าในบ้านนอกไกลอำเภอมาก  น้ำปะปาไม่สะดวก เพราะ เปิดเป็นระยะ เวลาที่จัดงานต่างๆ  งานแต่ง  งานบวช จำเป็นต้องใช้น้ำมาก มีรถขายน้ำที่เหมือนรถขายน้ำมันมาบริการ ให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้เลยคะ จะเอากี่รถ   สูบน้ำจากปะปาในอำเภอ แล้วนำไปส่งถึงงาน ไปใส่โอ่งใหญ่ไว้ให้ รถละ 300 บาท แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยเห็นรถคันนี้แล้ว ชาวบ้านคงมีน้ำเพียงพอแล้ว งดใช้บรการคะ

    แล้วจะกลับมาเยี่ยมอ่านอีกนะคะ ตาลายแล้วคะ

    ภาพชุดนี้เป็นข้อมูลภาพและข้อมูลชุมชนหนองบัวในอดีตครับ เป็นช่วงที่ผู้เล่า คือพระมหาแลท่านยังเป็นนาคและบวชพระอยู่ที่วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ หรือที่เรียกว่าวัดหลวงพ่ออ๋อยและวัดหลวงพ่อเดิม ผมและอีกหลายท่านเลยช่วยกันเสริมรายละเอียดของข้อมูล แล้วก็วาดภาพให้ดูเพื่อเก็บไว้เป็นเรื่องราวอีกแง่หนึ่งของท้องถิ่นครับที่ถ่ายทอดไว้โดยชาวบ้านทั่วไปที่เคยอยู่อาศัย รายละเอียดและภาพอย่างที่เห็นนี้ จึงเป็นภาพของชุมชนเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีมาแล้วครับ

    ปัจจุบันสระน้ำของวัดดังกล่าวยังคงมีอยู่ แต่คนในอำเภอมีน้ำประปาใช้แล้วครับ ทั้งจากการนำเอาน้ำดิบจากสระวัดนี้ไปทำและเดินท่อมาจากจังหวัดพิจิตร หนองบัวเป็นอำเภอที่กันดารน้ำมากครับ เรื่องแหล่งน้ำและวิถีชีวิตเพื่อการอยู่รอด จึงเป็นประวัติพัฒนาการของชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะสะท้อนการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาเพื่อบุกเบิกความเป็นชุมชบชนในอดีต ที่คนในรุ่นหลังได้อยู่อย่างมีความสุขในปัจจุบันนี้

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท