๖๓. เมื่อโลกเคลื่อนสู่สังคมสูงวัยและสังคมแห่งการศึกษาเรียนรู้


"... หน่วยงานและองค์กรเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของชุมชนแบบต่างๆ จะมีบทบาทที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาสังคมที่ส่งผลต่อความเป็นตัวแปรเชิงคุณภาพของประชากรและพลเมืองโดยตรง..."

สังคมไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังเปลี่ยนผ่านสภาพตนเองในหลายด้าน คือ จากส่วนใหญ่ที่เคยเป็นภาคชนบทก็เพิ่มสัดส่วนความเป็นสังคมเมืองในเมืองเล็กๆตามภูมิภาคต่างๆที่กระจายตัวออกจากเมืองศูนย์กลาง พลเมืองและชุมชนที่อยู่ในภาคการผลิตอันแท้จริง(Real sector) ก็กำลังเคลื่อนตัวเป็นพลเมืองที่ก่อร่างเป็นสังคมของผู้บริโภค กลายเป็นคนทำงานบริการและเป็นแรงงานทำงานแลกค่าจ้าง มีความเป็นพลเมืองของสังคมทุนนิยม (๑) สะท้อนคลื่นโลกาภิวัตน์ทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นทั้งโลก ก่อเกิดเงื่อนไขแวดล้อมการพัฒนาในบริบทใหม่ๆซึ่งหลายอย่างจะแตกต่างจากสภาพสังคมในอดีต

อีกด้านหนึ่ง โครงสร้างทางสังคมประชากรก็กำลังเปลี่ยนไป โดยกลุ่มพลเมืองเด็กกับคนหนุ่มคนสาว คนในวัยเจริญพันธุ์ คนในวัยแรงงานการผลิตแบบดั้งเดิม กำลังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างในกรณีของประเทศไทยนั้น ในปี ๒๕๕๐ มีพลเมืองประชากรวัยต่ำกว่า ๑๕ ปี ร้อยละ ๒๓ ของ ๖๕.๗ ล้านคน ปี ๒๕๗๓ จะลดลงเหลือร้อยละ ๑๗ ของประชากร ๖๙.๒ ล้านคน และในปี ๒๕๙๓ จะลดลงเหลือร้อยละ ๑๖ ของ ๖๗.๔ ล้านคน ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สูงวัยก็กลับจะเป็นในทางตรงกันข้าม โดยปี ๒๕๕๐ มีร้อยละ ๗ ก็จะเพิ่มอีกกว่าสองเท่าเป็นร้อยละ ๑๗ ในปี ๒๕๗๓ และร้อยละ ๒๓ ในปี ๒๕๙๓ (๒) คุณลักษณะสำคัญสองอย่างในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ จะผกผันกัน ทว่า มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด 

ดังนั้น จากบัดนี้เป็นต้นไป สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่มีเด็กๆและคนหนุ่มสาวลดลง ในขณะที่เพิ่มความเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นเป็นลำดับ เราจะพัฒนาตนเองทางด้านต่างๆไปอย่างไรนั้น อาจจะพัฒนายุทธศาสตร์การคิดที่ต่างจากยุคที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิงเพราะสภาวการณ์ต่างๆแทบจะต่างจากยุคที่ผ่านไปอย่างตรงกันข้าม บทความนี้เลยจะมองผ่านตัวแปรทางสังคมและประชากรศึกษาเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในสภาวการณ์สังคมอย่างไร ในอนาคตจะเป็นอย่างไร มีประเด็นสำคัญที่ภาคส่วนต่างๆจะสามารถสนองตอบเพื่อร่วมกันเรียนรู้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม อย่างไรบ้าง

โดยทั่วไปนั้น ทางประชากรจะมีตัวแปรที่สำคัญคือ เพศ และ อายุ (Gender and Age) ซึ่งสองตัวแปรดังกล่าวนี้จะใช้อธิบายและแสดงกระบวนการทางประชากรในเรื่อง การเกิด การตาย การย้ายถิ่นเข้า การย้ายถิ่นออก ว่าในกลุ่มเพศชายหญิงตามกลุ่มอายุต่างๆ มีสถานการณ์อย่างไร โครงสร้างในภาพรวมในหน่วยสังคมหนึ่งๆเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะสะท้อนสู่พลวัตรทางประชากร ผลกระทบ และผลสืบเนื่องในเชิงปริมาณและจำนวน ตามประเด็นที่นำมาพิจารณา ใช้กำหนดนโยบาย วางแผนและดำเนินโครงการพัฒนาหลายด้านเพื่อสร้างสุขภาวะของสังคมและสิ่งแวดล้อม ของประเทศต่างๆ รวมทั้งเป็นฐานความรู้สำหรับพัฒนาแนวคิดและวิธีการเพื่อสนองตอบต่อสภาวการณ์ต่างๆ ไปตามความจำเป็น เช่น วิธีการทางการศึกษาเรียนรู้ วิธีการทางการแพทย์และการสาธารณสุข เหล่านี้เป็นต้น

ทว่า ในรอบ ๒-๓ ศตวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยและสังคมโลกต่างก็มีการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์และทุนทางสังคม(Human capital / Social capital) โดยเฉพาะการศึกษาระบบโรงเรียน (Schooling Education System) การแพทย์และการสาธารณสุข รวมทั้งการผลิตแบบอุตสาหกรรม ระบบตลาด และการจัดการภาคสาธารณะโดยภาคีต่างๆของสังคม มาอย่างมากมาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ต่างก็ร่วมกันทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตและการศึกษาดีขึ้น ตัวแปรด้านคุณภาพของประชากรและพลเมือง จึงโดดเด่นขึ้นมามีบทบาทร่วมกับตัวแปรด้านจำนวนและเชิงปริมาณ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะของสังคมในทุกด้านทั้งของโลกและของท้องถิ่น

ดังนั้น เมื่อมองผ่านมิติสังคมและประชากรแล้ว โลกอนาคตจึงเป็นโลกที่มีคุณภาพการศึกษาเรียนรู้ของพลเมืองและความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งในอดีตอาจจะไม่เด่นชัดอย่างนี้ แต่ต่อจากนี้ไปก็จะสำคัญมาก ไม่น้อยไปกว่าโครงสร้างอายุและโครงสร้างทางเพศ อย่างที่เรามักรู้จักปิรามิดทางประชากรเหมือนในอดีต เช่น หลักฐานจากงานวิจัยมากมายทำให้พบว่าตัวแปรระดับการศึกษานั้น มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตของมารดาและอัตราการตายของเด็ก เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อแบบแผนการย้ายถิ่น อัตราการเพิ่มและลดทางประชากร

รวมทั้งเมื่อกว่า ๕-๖ ปีก่อน ผมเคยลองนำเอาระดับการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษามาวิเคราะห์กับปรากฏการณ์ต่างๆที่เชื่อกันว่ากำลังมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกเพื่อใช้สอนและเปิดประเด็นอภิปรายกับนักศึกษา ก็พบว่าอัตราการได้รับการศึกษาของพลเมืองประชากรนั้น มีความสัมพันธ์กับอัตราการลดลงของทรัพยากรป่าไม้ และมีความสัมพันธ์กับอัตราการเพิ่มมากขึ้นของการพังทลายหน้าดินบนพื้นราบและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องของการตั้งถิ่นฐานและกิจกรรมที่ตามมากับการอยู่อาศัย แบบแผนดังกล่าวนี้พบได้ในทุกภูมิภาคของโลกและคล้ายกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การศึกษาเรียนรู้ของพลเมืองจึงเป็นตัวแปรสำคัญ อีกทั้งมีลักษณะสม่ำเสมอเพราะดำเนินการและพบได้ในทุกสังคม

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยมีการเริ่มนำเสนอมิติที่สามของความเป็นประชากรและพลเมืองมนุษย์แล้วครับ ดังตัวอย่างที่นำมาให้ดูในนี้ครับ เป็นตัวอย่างของปิรามิดทางประชากรประเทศสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งหน้าตาแตกต่างจากปิรามิดทางประชากรแบบในอดีตที่เรามักคุ้นตาแต่กับโครงสร้างเพศชายหญิง (Sex structure) และโครงสร้างตามกลุ่มอายุต่างๆ (Age Structure)

แต่ตอนนี้เพิ่ม การได้รับการศึกษาเรียนรู้ของพลเมืองประชากร ขึ้นมาอีก ๑ มิติ จึงรวมเป็น Age, Sex and Education Structure โดยโครงสร้างทางการศึกษานั้น จำแนกเป็น ๔ ระดับ คือ ไม่มีการศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และสูงกว่ามัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษา 

จากภาพปิรามิดทางประชากรในความหมายใหม่ที่เพิ่มมิติคุณภาพของประชากรและพลเมืองขึ้นมาให้เป็นอีกมิติหนึ่ง เราก็พอจะเห็นจากกรณีตัวอย่างของปิรามิดทางประชากรของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสะท้อนประเด็นเพื่อมองไปยังสังคมประเทศต่างๆของโลกได้พอสมควรว่า สังคมไทยและสังคมโลกนั้น นอกจากจะเป็นสังคมที่เด็กและคนหนุ่มสาวลดลง อีกทั้งเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นคนที่มีการศึกษาเรียนรู้จากการศึกษาที่เป็นทางการและการศึกษาสมัยใหม่ หรือการเพิ่มขึ้นเชิงคุณภาพ ในจำนวนที่มากยิ่งๆขึ้น แสดงถึงกลุ่มพลเมืองที่ขาดการศึกษาและมีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาจะค่อยๆหายไป พร้อมๆกับกลุ่มในโครงสร้างเพศและอายุในรุ่นต่างๆที่เป็นสีแดงและสีดำซึ่งเป็นกลุ่มการศึกษาสูงกว่ามัธยมและอุดมศึกษาก็จะค่อยๆเคลื่อนเข้าแทนที่ไล่เรียงขึ้นไปบนยอดปิรามิด กระบวนการนี้จะใช้เวลาเพียง ๓ ทศวรรษเท่านั้น

กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพศและอายุจะทำให้สังคมไทยและสังคมโลกเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสังคมสูงวัยแล้ว พัฒนาการทางด้านต่างๆในยุคที่ผ่านมา กำลังค่อยๆทำให้สังคมทั่วโลกกลายเป็นสังคมของประชากรและพลเมืองผู้มีการศึกษา จึงนับว่าได้ให้คุณค่าและความหมายใหม่ที่สำคัญต่อความเป็นทุนมนุษย์(Human capital)และทุนทางสังคม(Social capital) ซึ่งควรจะมีส่วนมากต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนากระแสหลักที่เสียสมดุลไปกับการมุ่งแข่งกันแสวงหาความมั่งคั่งทางเงินตราเป็นตัวตั้ง ไปสู่การถือเอาคน ชุมชน และสุขภาวะสังคมเป็นศูนย์กลาง(๓)

จำนวนกับคุณภาพตามกรอบต่างๆของประชากรและพลเมือง จะเป็นทั้งเป้าหมายการพัฒนาและเป็นปัจจัยสำหรับการแก้ปัญหา ที่สำคัญที่สุด ดังนั้น การพัฒนาในทุกด้านที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการศึกษาเรียนรู้ทั้งของปัจเจกและของสังคม จึงจะมีความหมายต่อความเป็นไปของสังคมในอนาคตอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นการมีความหมายในบริบทที่กว้างและมีความลึกซึ้งมากกว่าการมองเรื่องการศึกษาเรียนรู้อย่างที่เป็นมาในอดีต ดูปรากฏการณ์และสภาวการณ์นี้ของประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลกได้อีกที่นี่ครับhttp://www.iiasa.ac.at/Research/POP/edu01/pyramids.html

อย่างไรก็ตาม กระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่ทำให้คุณภาพและคุณลักษณะทางตัวแปรอย่างใหม่ของประชากรเด่นชัดขึ้นมานี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบทางกระบวนการพฤติกรรมเชิงสังคม และก่อผลสืบเนื่องต่างๆตามมาอย่างไรนั้น ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกมีองค์ความรู้เพื่อตอบคำถามอย่างนี้น้อยมากครับ เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มีอัตราเพิ่มประชากรติดลบและลดลงจนมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเหตุแห่งการทำให้ตนเองล่มสลายที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ก็ยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาแรงจูงใจและพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างไรให้พลเมืองอยากแต่งงานและมีลูกเพิ่มขึ้น

หรืออย่างที่สังคมทั่วไปเชื่อมั่นกันว่า เมื่อมีลูกน้อยลง สังคมต่างๆก็จะพัฒนาการศึกษา การแพทย์การสาธารณสุข และสิ่งต่างๆที่จะทำให้ผู้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทุกอย่างจะเพียงพอมากขึ้น ซึ่งก็ทำตามกันไปทั่วโลก แต่พอผ่านไป จนวันหนึ่งก็ได้รับรู้ความเป็นจริงในวันนี้กันว่า มีบางส่วนเท่านั้นที่ดีขึ้นอย่างที่คิดและเชื่อตามกันมา

แต่ครั้นพอจะต้องตอบว่า ทั้งปัจเจกกับสังคมไทยและสังคมโลกมีความสุขและคุณภาพชีวิต ตลอดจนการพัฒนาทางด้านต่างๆของสังคมและสิ่งแวดล้อม ดีขึ้นจริงหรือไม่นั้น ทั่วโลกก็ชักจะไม่มีใครกล้ายืนยันและฟันธงครับ มิหนำซ้ำ หลายประเทศในโลกกลับรู้สึกว่าสภาวการณ์หลายอย่างนั้นเลวร้ายลงมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ก็ต้องไม่ลืมว่า การศึกษาที่ได้สร้างสังคมของพลเมืองประชากรผู้มีการศึกษาให้เด่นชัดยิ่งขึ้นทั้งโลกนี้ นอกจากก็เป็นการศึกษาแบบทุนนิยมในกระบวนทัศน์เก่านั่นเองแล้ว องค์ประกอบภายในตัวแปรทางการศึกษาของพลเมืองก็เพิ่งมีการนำมาวิเคราะห์เพียงบางด้าน อันได้แก่ ระดับการได้รับศึกษาในระบบโรงเรียน เท่านั้น ทว่า ยังขาดมิติอื่นๆที่มีนัยสำคัญต่อความซับซ้อนของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายของการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของพลเมืองและโครงการประชากรศึกษาที่จะเป็นตัวอธิบายในเชิงคุณภาพของทุนมนุษย์และทุนทางสังคมที่จะจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมประชากรในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ที่เกิดขึ้น 

สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ จะทำให้คนทำงานการศึกษาทุกระดับ ทั้งภาคที่เป็นทางการและเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษาและพัฒนา ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของชุมชนแบบต่างๆ มีบทบาทที่สำคัญมากต่อการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆที่จะส่งผลต่อความเป็นตัวแปรเชิงคุณภาพของทุนมนุษย์และทุนทางสังคม เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะให้สอดคล้องกับกระบวนทัศน์การพัฒนาและเงื่อนไขแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ดังที่กล่าวมาโดยลำดับ.

..............................................................................................................................................................................

(๑) ลักษณะเชิงลบบางด้านของสังคมทุนนิยมและสังคมบริโภคนิยม ที่อาจทำให้สังคมเศรษฐกิจเสียความสมดุลก็คือ การเป็นผู้ผลิต ความสามารถผลิต การใช้แรงงาน ความเป็นนายตนเอง และความสามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต อาจไม่เป็นตัวชี้ขาดว่าเราจะได้กินดีอยู่ดี มีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะตัวชี้ขาดความสามารถเข้าถึงโอกาสและสิ่งที่ดี การได้ความสุขสบายในชีวิต ได้ความยุติธรรมและเท่าเทียมทางสังคม มีคุณภาพแห่งชีวิตและคุณภาพสังคมที่ดี กลับอาจจะอยู่ที่การไม่ต้องเป็นผู้ผลิตและใช้แรงงาน ทว่า อยู่ที่การมุ่งลดต้นทุน ลดลงแรง และทำแต่น้อยแต่ให้ได้กำไรมากๆ เมื่อทำกำไรและสะสมความร่ำรวยได้มากเท่าใด ก็ทำให้มีโอกาสได้สิ่งที่ต้องการอีกทีหนึ่งได้มากเท่านั้น 

(๒) ข้อมูลเบื้องต้นจาก Asian Demographic and Human Capital Data Sheet 2008, International Institute for Applied Systems Analysis เข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ www.iiasa.ac.at

(๓) แนวคิดเกี่ยวกับทุนมนุษย์(Human capital) และ ทุนทางสังคม(Social capital) รวมทั้งการถือเอาคน ชุมชน และความเป็นสังคมสุขภาวะเป็นศูนย์กลางนั้น จัดว่าเป็นการหยิบยืมวิธีการของทุนนิยมมาขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ โดยหันเหออกจากด้านลบของเศรษฐกิจทุนนิยมจากการสะสมทุนทางเงินตรามาสู่การสะสมทุนชนิดที่ยิ่งใช้ก็จะยิ่งเพิ่มพูนและเข้มแข็งนั่นเอง แนวคิดดังกล่าวนำเสนอโดยนักวิชาการในกลุ่ม Post-industrial society, Civil society, Neo-Humanism ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงปฏิรูปมากกว่าเป็นแนวคิดการเปลี่ยนแปลงแบบ Radical change

หมายเลขบันทึก: 317905เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2009 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ดังนั้น จากบัดนี้เป็นต้นไป สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่มีเด็กๆและคนหนุ่มสาวลดลง ในขณะที่เพิ่มความเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นเป็นลำดับ เราจะพัฒนาตนเองทางด้านต่างๆไปอย่างไรนั้น อาจจะพัฒนายุทธศาสตร์การคิดที่ต่างจากยุคที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิงเพราะสภาวการณ์ต่างๆแทบจะต่างจากยุคที่ผ่านไปอย่างตรงกันข้าม

*******************************************************

ขอบคุณค่ะพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์..เคยนั่งคิดจินตนาการเล่นๆว่า...เอ้อต่อไปคนลูกน้อยลง..แต่งงานน้อยลง..ชายอยู่กับชาย หญิงอยู่กับหญิง..แล้วเราจะหาเด็กที่ไหนมาสอนล่ะเนี่ย...โรงเรียนมิต้องเป็นโรงเรียนร้างหรือ..แล้วโรงเรียนที่ผุดกันขึ้นมาราวดอกเห็ดเป็นปริมาณมากกว่าคุณภาพหรือเปล่า..และอาคารเรียนเหล่านี้คงต้องเป็นห้องแบ่งเช่าหรือเปล่า..แต่คิดอีกทีเราจะอยู่ถึงวิกฤตการณ์นั้นหรือเปล่า..เตรียมแก้ปัญหาไว้ให้รุ่นลูกหลานดีกว่าไหม..ว่าแล้วจนบัดนี้ก็ยงคิดไม่ออกอยู่ดี..เพราะหัวไม่ดีค่ะ...

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ได้ความรู้เชิงโครงสร้างสังคมเพิ่มขึ้นอีกมาก

เห็นแต่ภาพสังคมเล็ก ๆ ในชุมชนมีแต่คนเฒ่าคนแก่เฝ้าบ้าน

อ่านของครูอ้อยเล็กแล้วก็ขำ

สังคมชนบทคนแก่ดูแลเด็ก คนวัยทำงานย้ายถิ่น

จำนวนเด็กในระบบโรงเรียนลดลงน่าใจหาย จากโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก : น้องคุณครูอ้อยเล็กเข้าสู่ประเด็นแม่นดีครับ เมื่อเห็นภาพรวมอย่างนี้ เราก็จะเห็นสถานะตนเองได้ดีขึ้นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน โรงเรียนมากมายกำลังจะหมดบทบาทในรูปแบบเดิมที่เคยเป็นมา หมายความว่า ต้องปฏิรูปพร้อมไปกับการสร้างความเป็นนวัตกรรมของระบบการศึกษาทุกระดับที่สนองตอบต่อการที่ระบบโรงเรียนแบบเดิมกำลังจะล่มสลาย ซึ่งความล่มสลายนี้ไม่ใช่เพ่งโทษไปที่คุณภาพการศึกษาและการเรียนการสอน ทว่า มันเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมและตัวแปรทางประชากรเลยทีเดียวครับ

อย่าว่าแต่ที่ระดับโรงเรียน และระดับหน่วยทางสังคมเล็กๆ เช่น ลักษณะการอยู่กันเป็นครอบครัวจะต้องเปลี่ยนแปลงไปมากอย่างที่คุณครูอ้อยเล็กว่าแล้ว หากดูความเปลี่ยนผ่านซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องในกลุ่มพลเมืองประชากรระดับอุดมศึกษาในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วยแล้ว สถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกลับแข่งขันสร้างความเป็นเลิศของตนเองเหมือนต่างเอาตัวรอดนั้น อีกไม่นานก็อาจจะไม่ต้องแย่งและไม่ต้องแข่งกันหรอกครับ เพราะต่อให้คนหนุ่มสาวในแต่ละรุ่นวัยเดินเข้าเองตามมหาวิทยาลัยต่างๆแบบเอาหมดทั้งรุ่นประชากรเลย ก็แทบจะมีคนเดินเข้าไปนั่งเรียนไม่เต็มศักยภาพของสถาบันการศึกษาแล้วครับ 

หากมองในแง่นี้แล้ว โจทย์ของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูปตนเองและนำการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น ก็คงต้องคิดให้ไปด้วยกันกับสังคมที่นอกเหนือจากตนเองอย่างมากเลยทีเดียวครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาและครับ : เพราะอย่างนี้แหละครับที่วิธีอยู่ด้วยกัน ดำเนินชีวิต ทำมาหากิน และทำงานส่วนรวมด้วยกันในรูปแบบและแนวทางใหม่ๆจึงมีความสำคัญที่จะต้องเรียนรู้และพัฒนาขึ้นมาแทนสังคมแบบเดิมๆครับ

 

สวัสดีครับคุณครูและผู้อำนวยการพรชัยครับ : อย่างนั้นก็เป็นรูปแบบหนึ่งครับ แต่ในอนาคตอาจจะมีรูปแบบการอยู่ด้วยกันของมนุษย์และรูปแบบการดำเนินชีวิตของปัจเจกแปลกไปยิ่งกว่าสนั้นก็ได้ครับ เช่น ต่อไปอาจจะไม่มีเด็กมาให้ดูแลอีกด้วยครับ ซึ่งก็อาจจะทำให้คนที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวพัฒนารูปแบบการดำรงอยู่ให้ได้ให้หลากหลาย เช่น การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและการมีรูปแบบครอบครัวในความหมายที่ต่างไปจากเดิมมาก หรือบางทีก็อยู่คนเดียวและมีเครื่องคอมพิวเตอร์กับหุ่นยนต์มาดูแลเป็นเพื่อน คอยบริการอย่างที่คนที่ต้องการโปรแกรมเลือกได้ อย่างนี้เป็นต้น

มองในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะทำให้เราเห็นบางด้านของสังคมไทยของตนที่ยังคงมีและดีอยู่ แต่ถูกมองว่าล้าหลังและจะต้องละทิ้งไล่ตามไปกับสังคมโลก ในขณะที่สังคมอื่นได้สูญสิ้นและกำลังเรียกร้องโหยหาทุนมนุษย์และทุนทางสังคมอย่างที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย และอยากให้มีในสังคมของตนเองบ้างนั้นว่า น่าดีใจที่สิ่งเหล่านั้นยังไม่สูญหายไปจากสังคมไทย ซึ่งก็จะทำให้ผู้คนสนใจสิ่งที่ตนเองมีและมุ่งส่งเสริมการพัฒนาขึ้นมาบนความเป็นตัวของตัวเองให้มากยิ่งๆขึ้นก็ได้นะครับ

               

              

              

              

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาได้ความรุ้ที่บ้านอาจารย์เสมอเลยค่ะ

ขอบคุณนะคะที่ส่งภาพพายเรื่องล่องลำน้ำไปให้

ภาพวาดอาจารย์ ดูทีไร ก็ยิ้มได้ กับชีวิตที่ดำรงอยู่ในภาพค่ะ

สวัสดียามเช้าของวันหยุดครับคุณณัฐรดา เห็นคุณณัฐรดาใช้การทำงานศิลปะและการหาความซาบซึ้งจากการวาดรูปดอกกุหลาบ กับการวาดสีน้ำพฤกษศาสตร์ รณรงค์ให้ผู้อ่านที่สนใจได้เห็นทั้งการพัฒนาสมาธิกับการสร้างความสำนึกต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ก็เลยขอมีส่วนร่วมและนำมาแบ่งปันกันดูด้วยครับ มีความสุขนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ขณะนี้ ๑๑:๔๕ นาที ของวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนารถและพระบรมวงศานุวงศ์ และจะเสด็จพระราชดำเนินออกมหาสมาคม ณ พระบรมมหาราชวัง ในลำดับต่อไปค่ะ ....

พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ทักทายพระสกนิกรของพระองค์ที่สวมเสื้อสีชมพูเดินทางมาเฝ้าทูลละอองธุรีพระบาทไปตลอดทางค่ะ ...

เป็นที่ปลื้มปิติต่อพระสกนิกรชาวไทยถ้วนหน้า ....

ณ โอกาสนี้ ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงพระเกษมสำราญ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานค่ะ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า นางสาวณัฐพัชร์ และครอบครัว

ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ จะได้เปิดวิทยุฟังทันครับ

ไม่ได้อธิบายภาพ ขออธิบายภาพสักหน่อยครับ เห็นท่านพระมหาแลท่านพูดถึงสภาพชุมชนที่เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ เลยนำเอาภาพของคนหลายวัยในพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์สุขภาวะที่เป็นรูปแบบหนึ่งที่คนในสังคมเมืองสามารถสร้างขึ้นได้ เป็นภาพกิจกรรมในวันเปิดนิทรรศการแสดงภาพเขียนของผมเอง ที่จัดร่วมกับสถาบันชีวเกษมและเครือข่ายประชาคมพุทธมณฑล เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา(งานแสดงมีถึง ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๒)

                            

ในภาพนี้ (ริมซ้าย) คือ รองศาสตราจารย์จิตรประภา ศรีอ่อน อดีตผู้อำนวยการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล (กลาง) ผู้สูงอายุที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นั้น ผมเชิญมาเป็นประธานเปิดงาน คือ แม่งึ้น เทียมปฐม อายุ ๙๖ ปี คุณแม่ของนายแพทย์วัฒนา เทียมปฐม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอพุทธมณฑล เป็นคนดั้งเดิมของท้องถิ่นและมีอายุยืนยาวถึง ๔ แผ่นดิน (ริมขวาสุด) คุณสุวรีย์ แสวงสุข เป็น Freelance แปลงานความคิดของขงจืีอและครูสอนโยคะ

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

นักศึกษานอกระบบมาเข้าห้องเรียนออนไลน์ค่ะ..^__^..

สิ่งที่อาจารย์นำเสนอในบันทึกนี้เป็นการมองในภาพรวม ในขณะที่คนส่วนใหญ่คุ้นชินกับการมองในระดับปัจเจก การมองในภาพรวมนั้นจำเป็นสำหรับการมองทิศทางของสังคม ซึ่งจะมีคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระดับนโยบายและคนที่สนใจมุมมองด้านสังคมเท่านั้นที่ใส่ใจ  แต่การจะมองภาพรวมให้ลึกซึ้งนั้น ย่อมต้องมองเห็นและเข้าใจระดับปัจเจกอย่างถ่องแท้ จึงจะได้มุมมองภาพรวมที่ลึกซึ้งเป็นจริง

ดีจังเลยนะคะ เพราะอาจารย์เป็นคนมองเห็นและเข้าใจทั้งระดับปัจเจกและภาพรวม..

เคยได้ยินมานานแล้วว่าอีกหน่อยเมืองไทยเราจะมีผู้สูงอายุมากเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ใบไม้ฯ เกิดในยุคเบบี้บูม ฉะนั้น เมื่อถึงวัยชรา (ถ้ามีโอกาสอยู่ถึง) ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นมากมาย และคิดเอาเองว่า น่าจะระบบรองรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความจะเพียงพอต่อความต้องการ ถ้าพึ่งตัวเองได้ละก็.. น่าจะดีที่สุด หรือมีการสร้างเครือข่ายที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

เมื่อครั้งที่ใบไม้ฯ ได้รับทุนไปดูงานด้านสวัสดิการที่ญี่ปุ่น มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมาอภิปรายและกล่าวถึงประเด็นผู้สูงอายุด้วย การที่มีวัยทำงานน้อย แต่มีผู้สูงอายุมาก ทำให้คนวัยทำงานต้องแบกรับภาระของผู้สูงอายุอย่างหนักหน่วง ญี่ปุ่นมีระบบสวัสดิการดีมาก และก็เก็บภาษีสูง เงินภาษีต้องนำไปใช้เพื่อสวัสดิการของผู้สูงอายุจำนวนมาก จำได้ว่าได้ตั้งคำถามถึงทางออกว่าคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร อาจารย์ท่านนั้นก็ยอมรับว่า เป็นคำถามที่ยากจะตอบในตอนนั้น

ใบไม้ฯ คิดว่างานที่อาจารย์ส่งเสริมสุขภาวะให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุโดยมีส่วนร่วมกับชุมชนเห็นคุณค่าในตัวผู้สูงอายุ มีเครือข่ายในการดูแลกันและกัน น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง เพียงแต่ในระดับนโยบายก็ไม่แน่ใจว่า มีอะไรรองรับมากน้อยแค่ไหน 

ขอบคุณความรู้ที่นำมาให้เรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์แห่งนี้ค่ะ..^__^.. 

เรียนพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์..อ้อยเล็กแนะนำพี่อาจารย์เยี่ยมชมบล็อกงานด้านสุขภาพของPพี่ชายชยพร แอคะรัจน์..ที่ท่านเขียนจากการเรียนรู้ศึกษาแล้วนำไปใช้รักษาผู้คนในชุมชนแบบหมอพื้นบ้าน เมื่อได้ผลอย่างไรท่านจะนำมาบันมึกไว้ให้อ่านกัน..เห็นว่าสอดคล้องสัมพันธ์กันกับสุขภาวะในชุมชนงานที่พี่อาจารย์ทำอยู่..แนะนำให้อ่านนะคะ..ไม่ทราบว่าพี่อาจารย์เคยเข้าไปเยี่ยมชมบ้างหรือยัง..เลยแนะนำไว้ก่อนค่ะ...

http://gotoknow.org/blog/health-145

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง

ในเรื่องการมองสภาวการณ์ต่างๆระดับปัจเจกกับระดับส่วนรวมให้ได้อย่างลึกซึ้งอย่างข้อสังเกตของคุณใบไม้ย้อนแสงนั้น เป็นแนวพัฒนาวิธีการวิจัยที่น่าสนใจมากด้วยวิธีหนึ่งครับ ผมเองนั้น จะว่าไปแล้วก็มุ่งมาทางนี้แหละถึงได้ทำงานในแนวอย่างที่คุณใบไม้ย้อนแสงทราบ โดยหาวิธีทำทั้งสองทาง คือ พอเห็นประเด็นเชิงสังคมในระดับภาพกว้าง ก็ใช้เรื่องนั้นเป็นแนวศึกษาเชิงลึกในหน่วยทางสังคมที่เราจะศึกษาได้ ลงไปจนถึงระดับชุมชนซึ่งเป็นหน่วยย่อยระดับเซลล์และโมเลกุลของสังคม

แต่ผมก็สนใจศึกษาระดับปัจเจกอย่างจริงจังด้วย เพราะความเป็นชุมชนในความเป็นจริงนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายแล้ว จึงต้องขอศึกษาองค์ประกอบย่อยที่สุดของชุมชนคือพลังของปัจเจก วิธีศึกษาสังคมในระดับมหภาคโดยมองว่า ชุมชนเป็นเซลล์และเป็นโมเลกุลของสังคมนั้น ผมได้ยินมาจากทรรศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้กล่าวไว้เมื่อครั้งแสดงปาฐกถาครั้งแรกที่หน่วยงานผมก่อตั้งและจัดขึ้นโดยขอใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อปาฐกถาซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้แม้ว่าท่านจะถึงแก่อนิจกรรมไปหลายปีแล้ว แนวคิดอย่างนี้ทำให้สามารถมองชุมชนใดๆเสียใหม่อย่างไม่แยกส่วนออกจากองค์รวมของสังคมได้ อีกทั้งเป็นวิถีทรรศนะหนึ่งที่ทำให้เห็นความร่วมกันของวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ 

เราสามารถศึกษาชุมชนและการรวมกลุ่มกันของคนหรือความเป็นชุมชนในลักษณะใหม่ๆที่เกิดจากการรวมตัวกันด้วยเงื่อนไขต่างๆของปัจเจกได้อย่างดีทั้งสองมิติ ด้านหนึ่งก็คือความเป็นตัวของตัวเองเหมือนหน่วยชีวิตทางสังคมที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตนเอง และอีกด้านหนึ่งก็คือ ความเป็นภาพสะท้อนของโลกและความเป็นองค์รวมทั้งหมดของสังคม ที่ไปปรากฏอยู่ในความเป็นชุมชนในบริบทจำเพาะของชุมชนนั้นเหมือนกับการศึกษาเซลล์และโมเลกุลของสังคม ซึ่งโดยวิธีนี้ก็จะทำให้เห็นประเด็นเชิงสังคมและเรื่องราวในภาพกว้างที่ลึกซึ้งได้อย่างดีครับ

                    

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นวิธีเริ่มต้นศึกษาอย่างเข้าใจในระดับปัจเจกและชุมชนอย่างซาบซึ้ง ลึกลงไปจนถึงสิ่งที่ไม่สามารถคาดประมาณและวัดได้ด้วยหลักเกณฑ์และสิ่งบ่งชี้ภายนอก แต่ต้องตรวจสอบเข้ากับการทดลองปฏิบัติและวัดออกจากประสบการณ์แก่ตนเองของเราโดยตรง จากนั้นจึงค่อยสังเคราะห์องค์ประกอบต่างๆบนความเป็นจริงที่เห็นได้และสัมผัสได้จริงๆผ่านการได้ปฏิบัติของเราจากหน่วยพื้นฐานเล็กๆของสังคม แล้วใช้องค์ประกอบที่สร้างขึ้นเหมือนเป็นบทเรียนที่เราได้จากชุมชนและความเป็นจริงของปัจเจกนั้น เป็นแนวความรู้ทำการศึกษาออกไป ย้อนขึ้นสู่ภาพกว้างอีกทีหนึ่ง เราก็จะได้วิธีอธิบายความเป็นส่วนรวมและภาพกว้างๆออกไปจากความเป็นจริงและมุมมองของปัเจกกับชุมชน

เมื่อนำทั้งสองด้านมาสานเข้าสู่กัน จากความเป็นส่วนรวมที่สะท้อนลงสู่ส่วนย่อยลงไปจนถึงระดับเล็กที่สุด และจากองค์ประกอบทางจิตใจของหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดอันได้แก่ชีวิตจิตใจ สุนทรียภาพและทุกข์ร้อนของปัจเจกและชุมชน ที่เชื่อมโยงออกไปสู่ความเป็นส่วนรวมของสังคม เราก็จะสามารถสร้างพื้นที่ทางจินตนาการเพื่อจัดวางให้ทุกๆอย่างอยู่ด้วยกันและสร้างความเป็นส่วนรวม ในแง่มมุมที่เห็นความลงตัว ทั้งความเป็นกันและกัน และความเป็นตัวของตัวเองขององค์ประกอบต่างๆ ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค มีวิธีรู้และสร้างความรู้อย่างที่สิ่งนั้นๆเป็น ไม่ใช่อย่างที่ความรู้ของเราอยากให้เป็น หรือการถือเอาประโยชน์ในยุคสมัยของเราอยากให้เป็น ได้ดีขึ้น (แต่ไม่ใช่ว่าจะดีที่สุดนะครับ) เป็นเพียงวิถีวิชาการอย่างหนึ่งครับ

การมีกลุ่มเรียนรู้และปฏิบัติเรื่องต่างๆไปด้วยกันในพุทธมณฑล ด้านหนึ่งก็เป็นการใช้ชีวิตดูแลตนเอง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นวิธีเรียนรู้ที่ให้มีความเชื่อมโยงกับการปฏิบัติในหน่วยชีวิตสังคมเล็กๆน่ะครับ เหมือนอย่างที่เคยนั่งคุยกับคุณใบไม้นะครับว่า เมื่อถึงระยะหนึ่ง ก็จะช่วยกันเขียนเล่าออกมาใหม่ ตามวิธีการที่เรามองและหาทางสัมผัสความเป็นจริงในเงื่อนไขแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากๆอย่างทุกวันนี้ ให้มีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้งและรอบด้าน ทั้งภาพกว้างและเชิงลึก

ขอบคุณเช่นกันเด้อ ที่มาเยี่ยมเยือนกัน ขอให้มีความสุขและมีแรงบันดาลใจทำงานดีๆอยู่เสมอเช่นกันนะครับ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : ขอบคุณครับที่ลิ๊งค์ไปหาบล๊อกของอาจาร์ชยพร แอคะรัจน์ให้ ผมไปอ่านงานของอาจารย์อยู่เป็นระยะๆครับ แล้วก็สนใจเรียนรู้จากอาจารย์ในบางด้าน โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะดููแลตนเองและการถ่ายทอดประสบการณ์ตนเองให้กับผู้อื่น กับบทบาทในการบริการทางวิชาการแก่สังคมของอาจารย์ โดยเฉพาะแก่ชาวบ้าน คนชนบท เกษตรกร ทั้งวิธีคิดและวิธีการต่างๆ ของอาจารย์น่าสนใจดีครับ ผมเป็นคนพื้นเพชนบทและมีประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนอยู่บ้าง ก็พอจะประมาณได้ว่า วิถีวิชาการของอาจารย์นั้นมีคุณค่าต่อสังคมของเรามากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท