๖๔. การลงแขกฝัดข้าว : กลุ่มก้อนและทุนมนุษย์ในวิถีการผลิตชุมชน


".....แรงงานในการช่วยกันฝัดข้าวจะเป็นการเอาแรงกัน โดยทั่วไป ชาวบ้านจะอาสาไปช่วย ไปขอเอาแรง ดังนั้น เกษตรกรที่จะฝัดข้าวก็จะบอกกล่าวต่อๆกันไป บ้านไหนรู้ก็จะขอมาเอาแรง เพื่อจะได้มีคนไปช่วยตนบ้างเมื่อถึงคราต้องฝัดข้าวของตน...."

การฝัดข้าว วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง และเทคโนโลยีพอเพียง

ในภาคเหนือและภาคใต้ เกษตรกรนาข้าว อาจมีวิธีการนวดและฝัดข้าวแตกต่างกันออกไป วิธีการและกระบวนการที่แตกต่าง ก็จะมีการคิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อชุมชนการผลิตของเกษตรกรที่แตกต่างกันออกไป โดยเน้นการตีฟ่อนและมัดข้าวบนลาน หรือเครื่องจักสาน

ระหว่างนั้น ก็พัดโบกเพื่อให้เมล็ดข้าวกับข้าวลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการแยกออกจากกัน อีกทั้งมักทำในที่นาเลย ซึ่งจะเหมือนกับวิธีการของชาวนาในเมืองหลวงพระบางและหลายแห่งที่ผมเคยได้ไปเห็น จากนั้นจึงค่อนขนกลับบ้านและเก็บเข้ายุ้งฉาง วิธีการดังกล่าว มักทำในหมู่เกษตรที่มีผืนนาไกลออกไปมากจากที่อยู่อาศัย

การฝัดข้าวของชุมชนบ้านตาลินและชุมชนหนองบัว*

การฝัดข้าว หากมีจำนวนมากเกินจะฝัดด้วยกระด้ง เกษรตกรก็จะต้องทำช่วยกันเป็นชุมชนหรือกลุ่มก้อนการผลิต โดยใช้เครื่องฝัดข้าวซึ่งเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่าสีฝัดข้าว แรงงานในการช่วยกันฝัดข้าวจะเป็นการเอาแรงกัน โดยทั่วไป ชาวบ้านจะอาสาไปช่วย ไปขอเอาแรง ดังนั้น เกษตรกรที่จะฝัดข้าวก็จะบอกต่อๆกันไป บ้านไหนรู้ก็จะมาขอเอาแรงเพื่อจะได้มีคนไปช่วยเมื่อต้องฝัดข้าวของตน

การฝัดข้าว จะทำหลังฤดูเก็บเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและฤดูแล้ง ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งลมจะไม่ค่อยผันผวน เป็นลมว่าวและลมล่องข้าวเบา

 

                       

การฝัดข้าวด้วยสีฝัดข้าว กระด้ง วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง และเทคโนโลยีพอเพียง ของชุนบ้านตาลินและชุมชนเกษตรกรหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรค์  ภาพประกอบวาดโดย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฎาคม ๒๕๕๒

 

เครื่องฝัดข้าว เป็นเครื่องเป่าลมซึ่งมีชุดใบพัดหลายใบอยู่ข้างในตัวสีฝัดข้าว ทำด้วยไม้ผสมเครื่องเหล็ก รูปทรงเหมือนหัวแมงปอ ใช้มือหมุนและผลัดกันหมุนทีละคนก็สามารถหมุนได้อย่างดี

เกษตรกรจะใช้กระบุงโกยข้าวเปลือกและเทใส่สีฝัดข้าวจากด้านบน ลมแรงจากสีฝัดข้าวจะเป่าข้าวเปลือกที่นวดแล้วแยกออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่เป็นเมล็ดข้าวเปลือกจะมีน้ำหนักมาก ก็จะร่วงลงด้านล่างและไหลออกมาตามรางด้านหน้า เกษตรกรและแขกผู้มาเอาแรงกันก็จะช่วยกันโกยออก แยกเป็นกองข้าวเปลือกที่ฝัดแล้ว

อีกส่วนหนึ่ง เป็นเมล็ดข้าวลีบ เศษฟางข้าว และสิ่งที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเมล็ดข้าว ก็จะถูกลมแรงมากจากเครื่องฝัดข้าวเป่าออกไปไกล เกษตรกรจะเก็บส่วนนี้ไว้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงเผาถ่านหรือคลุมแปลงปลูกผัก เป็นปุ๋ยโดยธรรมชาติ

อีกส่วนหนึ่ง น้ำหนักน้อยกว่าเมล็ดข้าว แต่ก็ไม่ปลิวออกไปไกลมากนัก จะหลุ่นกองอยู่ตรงท้ายเครื่องฝัดข้าว ตรงส่วนนี้อาจจะมีเมล็ดข้าวปะปนอยู่กับข้าวลีบและเศษฝาง ขณะเดียวกัน ระหว่างโกยเมล็ดข้าวเปลือกใส่ลงไปในสีฝัดข้าว ก็จะมีข้าวเปลือกบางส่วนลงเหลือกติดลานข้าว รวมทั้งบางส่วนที่มีก้อนดินและเศษไม้ เศษหิน เจือปน

เกษตรกรก็จะนำเอาทั้ง ๒ ส่วนนี้มาฝัดด้วยกระด้ง เพื่อแยกเมล็ดข้าวออกมาด้วยมือและแรงคน

ในขณะที่ฝัดข้าว หากมีคนมาเอาแรงและช่วยกันลงแขกมาก ก็จะขนข้าวที่ฝัดแล้วเก็บเข้ายุ้งฉางเลย ข้าวที่นวดแล้วและยังไม่ได้ฝัด จะกองอยู่อีกทางหนึ่ง และข้าวที่ฝัดแล้วก็จะกองอยู่อีกทางหนึ่ง

เจ้าภาพการฝัดข้าว จะต้อนรับขับสู้แขกและผู้มาเอาแรงเป็นอย่างดี ทั้งอาหารการกิน น้ำท่า ขนมทำเอง รวมทั้งการทำอุ เหล้าขาว และข้าวหมากสำหรับเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้ไม่นิยมดื่มเหล้าขาว ซึ่งจะเลือกเอาจากข้าวเหนียวอย่างดีและหมักอย่างดีเพื่อเตรียมต้อนรับแขกฝัดข้าวอย่างเป็นการเฉพาะ

อุปกรณ์และเครื่องใช้ในการฝัดข้าวก็จะทำขึ้นเป็นชุด โดยมากก็ทำขึ้นด้วยมือ ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งทรัพยากร วัตถุดิบและเทคโนโลยีในท้องถิ่น เช่น เครื่องไม้และเครื่องจักสานจากไม้ไผ่

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

* ชุมชนบ้านตาลิน ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

หมายเลขบันทึก: 321493เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2009 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ทำงานแบบชาวบ้านนี้ไม่ค่อยเครียส

งานก็ได้เพื่อนก็ได้เป็นระบบพึ่งพากันในชุมชน

งานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข(ปรัชญา-ปัจจุบันเขาว่างั้น)

  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ

กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ : เป็นวิธีสร้างสุขภาวะจากการทำงาน การทำกิน และการอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน เป็นรูปแบบสำหรับการศึกษาเรียนรู้ให้เห็นพื้นฐานของวิถีชีวิตชุมชน เพื่อมองการพัฒนาตนเองของสังคมไทยให้สอดคล้องและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ชยพรครับ ด้วยความยินดียิ่งครับ อาจารย์มีกำลังใจนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท