๖๖.เฮติ : อุบัติภัยที่ซ้ำเติมความโชคร้าย


  รู้จักสาธารณรัฐเฮติ : Republic of Haiti                                     

สาธารณรัฐเฮติ : Republic of Haiti เป็น ๑ ใน ๑๗ ของประเทศในกลุ่มทะเลแคริบเบียน ทวีปอเมริกา หากดูในแผนที่โลกก็จะเห็นว่าอยู่ข้างประเทศเมกซิโก คิวบา และโดมินิกัน มีประชากรประมาณ ๙.๑ ล้านคน ความหนาแน่นและการกระจายตัวของประชากรประมาณ ๒๑๐ คนต่อตารางกิโลเมตร      ธงชาติสีดงน้ำเงิน       

ชาวเฮติส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ คนพื้นเมืองบางส่วนนับถือหมอผีและพิธีกรรมวูดู ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองมีความรุนแรง หน่วยงานและองค์กรความช่วยเหลือจากต่างประเทศในรูปองค์กรอาสาสมัคร มีบทบาทอย่างสูงต่อการพัฒนาบริการที่จำเป็นต่อชีวิตการอยู่รอดในขั้นพื้นฐานกับบริการสาธารณประโยชน์แก่พลเมืองที่ขาดแคลนและไร้โอกาสการพัฒนา ซึ่งมีอยู่มากมายทั่วประเทศ

                

                                 สาธารณรัฐเฮติ  ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
                                 อ้างอิงภาพ :
http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/HaitiLocation.JPG

รายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวประชากรของสาธารณรัฐเฮติประมาณ ๑,๐๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ เมืองหลวงคือ กรุงปอร์โตแปรงซ์ (Port-au-Prince) ประธานาธิบดีเป็นประมุขสูงสุดในการปกครองแบบสาธารณรัฐ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดในรัฐบาลและฝ่ายบริหาร ภาษาราชการคือภาษาเฮติ-ครีโอ และฝรั่งเศส

                                          ไม่ต้องประสบภัยพิบัติธรรมชาติ เฮติก็ยากแค้นที่สุดในโลกอยู่แล้ว      
                                  ตารางเปรียบเทียบ : สภาวการณ์สังคมและพลเมืองประชากรของสาธารณรัฐเฮติ
                                  เปรียบเทียบกับไทยและกลุ่มประเทศระดับการพัฒนาต่างๆทั่วโลก
..................................................................................................................................................................

                        จำนวนประชากร   รายได้ต่อหัวประชากร   อายุคาดประมาณ  ภาวะขาด    ร้อยละประชากร
                            (ล้านคน)                (ดอลลาร์สหรัฐ)            เมื่อแรกเกิด       อาหาร        ๑๕-๔๙ ปี
                                                                                                                                  ติดเอชไอวีเอดส์
สาธารณรัฐเฮติ
            ๙.๑                 ๑,๐๕๐                         ๕๘                  ๔๖                   ๒.๒
ประเทศไทย                ๖๖.๑                ๗,๘๘๐                         ๗๒                  ๒๒                   ๑.๔
ทั่วโลก                    ๖,๗๐๕                 ๙,๖๐๐                         ๖๘                  ๑๔                   ๐.๘
ประเทศพัฒนาแล้ว     ๑,๒๒๗               ๓๑,๒๐๐                         ๗๗              <๒.๕                   ๐.๕
ประเทศกำลังพัฒนา   ๕,๔๗๙                ๔,๗๖๐                         ๖๗                  ๑๗                    ๑.๐
ประเทศด้อยพัฒนา       ๗๙๗                 ๑,๐๖๐                         ๕๕                  ๓๕                   ๓.๐

....................................................................................................................................................................
                 วิรัตน์ คำศรีจันทร์.มกราคม ๒๕๕๓ ที่มาของข้อมูล : Population Reference Bureau. www.prb.org
                 แผ่นพับประชากรโลก ๒๐๐๘
: ข้อมูลประชากรและการคาดประมาณประชากรของประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
                 พิมพ์เผยแพร่โดย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : สิงหาคม ๒๐๐๘

 เฮติ : เคราะห์กรรมราวแผ่นดินถูกสาป

สาธารณรัฐเฮติ เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาก ถึงแม้จะมีรายได้ต่อหัวประชากรดีกว่าอีกหลายประเทศของกลุ่มประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน ๑๗ ประเทศด้วยกัน แต่ก็กระจุกตัวอยู่ในบางกิจการของคนชั้นสูงบางกลุ่ม จากข้อมูลจะเห็นว่าเฮติมีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ในกลุ่มต่ำสุดของโลก พลเมืองก็อยู่ในกลุ่มอายุสั้นที่สุดซึ่งเป็นตัวบอกปัญหาจากปัจจัยเชิงระบบหลายอย่าง หากพิจารณาจากอายุคาดประมาณเมื่อแรกเกิดแล้วพลเมืองเฮติมีอายุคาดประมาณเมื่อแรกเกิดในปัจจุบันเท่ากับประเทศไทยเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว และถ้าหากพิจารณามิติการศึกษากับการพัฒนาทางสังคมก็มีสภาพเท่ากับประมาณ ๗๐ ปีที่แล้วของไทย นอกจากนี้ก็มีคนอดอยากสูงที่สุดและพลเมืองติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์มากที่สุด ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ พร้อมจะเป็นปัจจัยที่ส่งแรงบวกกันให้วิกฤติปัญหาต่างๆเกิดภาวะแทรกซ้อนและทวีความรุนแรงมากกว่าปรากฏในเงื่อนไขแวดล้อมของประเทศอื่นๆ

ดังนั้น ความเป็นจริงของพลเมืองเฮติส่วนใหญ่จึงกลายเป็นประเทศที่ยากจนและอดอยากมากแห่งหนึ่งของโลก ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในแทบทุกด้าน ประชากรเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษาที่ดีได้ไม่ถึงครึ่ง ประชากรกลุ่มอายุ ๑๕-๔๙ ปี มีอัตราติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์ สูงถึงร้อยละ ๒.๒ พลเมืองเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ในภาวะอดอยากและขาดอาหารอย่างรุนแรง อาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นปรกติทั่วทุกแห่ง หลายพื้นที่ประกาศเป็นเขตภาวะฉุกเฉินตลอดเวลา แม้แต่ทูตและผู้แทนความสัมพันธ์ระดับประเทศก็ต้องถูกจำกัดเขตไม่ให้เข้าไปในหลายพื้นที่ บางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ประกาศเตือนแก่พลเมืองของตนว่าเฮติเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยให้พิจารณาในการไปเยือนทุกประเภท

 อุบัติภัยซ้ำเติม

เย็นวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๒ แผ่นดินไหวที่เฮติอย่างรุนแรงถึง ๗ ริคเตอร์ ตามด้วยอาฟเตอร์ช็อคกว่า ๒๕ ครั้ง แผ่นดินโยนตัวดังคลื่นทะเล พลเมืองเสียชีวิตเบื้องต้นหลายหมื่นคน ทำเนียบประธานาธิบดีพังทลาย ที่อยู่อาศัย บริการสาธารณะและระบบสาธารณูปโภคทั่วเมืองหลวงเสียหายเกือบทั้งหมด ขาดอาหาร ยา และสาธารณูปโภค ไม่มีคนพอแม้แต่จะขนย้ายศพ รายงาน ณ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตนับแสนคน รุนแรงมากกว่าความเสียหายจากสงคราม

 โลกอยู่กันด้วยน้ำใจและความเอื้ออาทรกัน

ทั่วโลกร่วมทุกข์กับสาธารณรัฐเฮติ ร่วมกอบกู้สถานการณ์ ส่งความช่วยเหลือทุกชนิด และสนองตอบอย่างเร่งด่วน รวดเร็ว และเป็นไปอย่างกว้างขวาง ให้บทเรียนและเป็นอนุสติได้อย่างหนึ่งว่า เมื่อเกิดวิกฤติการณ์สูงสุด ความร่วมมือก็มักเกิดจากการระดมพลังกันของสังคมทั่วโลก ไม่ได้เป็นเอกเทศเหมือนแข่งขันและเอาเปรียบกันในภาวะปรกติ

..........................................................................................................................................................................

ที่มาของข้อมูล : Population Reference Bureau, www.prb.org : แผ่นพับประชากรโลก ๒๐๐๘ : ข้อมูลประชากรและการคาดประมาณประชากรของประเทศและภูมิภาคทั่วโลก. พิมพ์เผยแพร่โดย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : สิงหาคม ๒๐๐๘

หมายเลขบันทึก: 328643เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2010 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

สวัสดีค่ะ

  • ครูอ้อย อ่านใน yahoo ดูภาพบ้าง รู้สึกเศร้า อยากช่วยเหลือ
  • และคิดว่า พวกเราต้องอยู่กับความไม่ประมาท ต่อจากนี้ไป

ขอบคุณมากค่ะที่นำข้อมูลมาเผยแพร่

มาติดตามความคืบหน้าค่ะท่านอาจารย์ ดูข่าววันแรกแล้ว น่าสงสารจังค่ะ เห็นแล้วอยากเป็นพยาบาลค่ะ

โอกาสในการเข้าถึงและช่วยเหลือได้มากกว่า อย่างไรก็ตามที่ออฟฟิศก็มีระดมเงินส่งกาชาดค่ะ

คาดว่าหลังจากนี้คงมีหลายองค์กรต่างเททรัพยากร กำลังลงไปชวยเหลือค่ะ  ขอบพระคุณ

สวัสดีครับคุณครูอ้อยแซ่เฮครับ : เห็นรูปหนึ่ง เป็นรูปหญิงสาวผิวดำถูกอาคารและดินถล่มทับจมลงไปค่อนตัว เหลือโผล่มาเพียงด้านบนถึงอก เนื้อตัวถลอกปอกเปิก มีวันรุ่น ๒-๓ คนกำลังช่วย แต่บนตัวของคนที่กำลังยื่นมือลงไปให้สุภาพสตรีนั้นจับเพื่อพยุงตัวขึ้นนั้น ไหล่และแขนของเขาก็บาดเจ็บแผลเหวะหวะ เลือดท่วมตัว ตาของผู้หญิงมองอย่างหวาดกลัวแต่ไม่มีน้ำตาไหลเลย เหมือนกับมันเกิดฉับพลันจนนึกไม่ออกว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง เห็นแล้วก็รู้สึกอย่างคุณครูอ้อยเลย เลยก็ดึงข้อมูลออกมาดูและเป็นที่มาของการเขียนบันทึกนี้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนร่วมโลกของเราในสถานการณ์นี้น่ะครับ 

มีปัจจัยแห่งทุกข์สุขมากมายเลยนะครับที่ความก้าวหน้า รวมไปจนถึงการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีของมนุษย์ ช่วยแก้ปัญหาและให้คำตอบต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่เป็นหลักประกันได้สูงสุดทุกครั้งกลับเป็นน้ำใจและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง

สวัสดีครับคุณ poo ครับ : ดูจากรายงานข่าวและข้อมูลจากโลกภายนอกตามแหล่งต่างๆว่าน่าสงสารและน่าเห็นใจมากแล้วทั้งในสถานการณ์หลังแผ่นดินไหวหรือก่อนหน้านั้น หากถามคนที่เขาเคยไปก็ยิ่งเห็นความยากลำบากมากกว่าที่เรารับรู้เสียอีก เคยมีนักศึกษาลูกศิษย์ผมเป็นแพทย์ญี่ปุ่น บอกว่า จบแล้วจะลาออกจากที่ทำงานเดิมในประเทศของเขาแล้วออกไปใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครที่อาฟริกาและเขาเลือกที่จะวางแผนชีวิตในอนาคตว่าจะไปเป็นแพทย์อาสาที่เฮติ คงคิดเหมือนคุณ poo นะครับ

  • ติดตามข่าวอยู่ค่ะอาจารย์
  • เป็นบทเรียนแก่มนุษยชาติทุกคนบนพื้นที่โลกใบนี้ 
  • บ้างก็ว่า ธรรมชาติช่างโหดร้ายง..จริงแล้ว มนุษย์เองต่างหากที่ใส่ความรู้สึกกับธรรมชาติที่เกิดขึ้น
  • บทเรียนนี้ เตือนสติมนุษย์ทุกคนว่า ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่าอื่นใด ไม่มีใครทัดทานได้ ไม่มีใครลงโทษได้เช่นกัน
  • จงอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล อย่ากลัวธรรมชาติ  อย่าไว้ใจธรรมชาติ

น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆธรรมชาติกำลังให้บทเรียนต่อมนุษย์เราว่ากรุณาใช้ฉันอย่างปรานี ถนอมฉัน รักษาสมดุลย์ให้ฉันด้วย ไม่งั้นฉันก็จะควบคุมตัวเองไม่ได้ ..เหตุเพราะพวกเธอทำร้ายกันเอง เห็นแก่ตัว จนมีผลกระทบถึงฉันและเป็นโทษต่อพวกเธอในที่สุด

 

สวัสดีครับคุณkumfun : ชอบวิธีคิดแนวนี้ครับ อยู่กับธรรมชาติ ไม่กลัวแต่ก็ต้องไม่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอย่างที่ครูอ้อยแซ่เฮว่าเลยนะครับ มีความสุขครับ

ภาษาและอารมณ์ภาพในรูปที่ครูอ้อยเล็กนำมาฝากกันดูนี้ให้ความรู้สึกผ่อนคลายดีมากเลยนะครับ คน นก กระรอก กระแต กวาง กระต่าย หรือเป็นเรื่องคนกับธรรมชาติอยู่ด้วยกันอย่างพอดี-สมดุล พอดีเลย

 

ให้บทเรียนและเป็นอนุสติได้อย่างหนึ่งว่า เมื่อเกิดวิกฤติการณ์สูงสุด ความร่วมมือก็มักเกิดจากการระดมพลังกันของสังคมทั่วโลก ไม่ได้เป็นเอกเทศเหมือนแข่งขันและเอาเปรียบกันในภาวะปรกติ....

  • ขอบคุณครับ .... สำหรับ "ข่าวสาร" และ "ข้อมูล" ที่เข้มด้วยวิชาการ
  • ขอร่วมไว้อาลัยอย่างยิ่ง... แก่ชาวเฮติเพื่อนของพวกเรา (เพื่อนผู้เกิดร่วมโลก)
  • ปรารถนาให้ทุกคน "รัก" และ "แข่งขัน" เพื่อ สร้างน้ำใจ และความเอื้ออาทร แม้เป็นอยู่ยามปกติ... ชีวิตเรานี้สั้นนัก ครับ !!!

สวัสดีครับคุณช้างน้อยมอมแมม : ขอสนับสนุนความคิดนี้ด้วยคนครับ ให้รักและแข่งขันกันสร้างน้ำใจ-ความเอื้ออาทร ยามปรกติก็ทำให้เป็นกำลังสร้างสุขภาวะของสังคมช่วยกันได้ ยามวิกฤติก็เป็นแรงหนุนให้เกิดการระดมพลังเยียวยาและแก้ปัญหาได้อย่างดี

สวัสดีครับอาจารย์

แวะวียนมาเยี่ยมอาจารย์และอ่านบันทึก

เข้าใจเรื่องราวของชาวเฮติมากขึ้นครับ

ขอบพระคุณครับ...

  • ชีวิตคนเราก็เท่านี้
  • ขอส่งกำลังใจให้ชาวเฮติ

 

สวัสดีครับหนานเกียรติ : เห็นบทบาทขององค์กรอาสาสมัคร กลุ่มประชาสังคม รวมทั้งกลุ่มคนที่รวมตัวกันในลักษณะต่างๆด้วยความสำนึกออกจากตนเองท่ามกลางความสูญเสียมากมายของเฮติแล้ว ก็มานึกถึงหนานเกียรติและหลายคนที่รวมตัวกันสร้างวัฒนธรรมการดูแลเรื่องต่างๆของสังคม รวมทั้งทำสิ่งสร้างสรรค์ด้วยกัน ว่าได้กำลังสร้างวัฒนธรรมการดูแลและแบ่งปันทุกข์สุขกับเพื่อนมนุษย์ไว้ให้เป็นทุนทางสังคม ที่มีความสำคัญมากนะครับ

สวัสดีครับคุณ tamtam1 ครับ ได้ถือโอกาสใคร่ครวญให้เห็นแก่นสารของชีวิตเลยนะครับ

สวัสดี ครับอาจารย์

ทุกครั้งที่มีข่าวของเฮติ หากผมผ่านหน้า tv ก็จะหยุดดู ภาพเช่นนี้ แค่หลับตานึก ก็สงสารผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ละครับ

ความโหดร้ายของธรรมชาติ และความดิบของจิตใจคนในเวลาวิกฤติ

เข้าใจถึงความเป็นจริงยิ่งขึ้น

หากผมเป็นคนที่รอดชีวิต จิตสำนึกของผมคงหล่นไปอยู่ที่ไหนสักแห่ง บางทีอาจกู่ไม่กลับเลยก็ได้ครับ อาจารย์

ผมอาจเป็นคนขาดสติ... ที่ต้องการหาคำตอบให้กับความหิวโหย แบบนี้ เช่นกัน แม้อาจจะไม่รุนแรงเท่า

สงสารและเห็นใจ ครับ

 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี : ผมก็เลยได้วิธีมองด้วยจิตใจที่เปิดกว้างมากขึ้นไปด้วยดีจังเลยครับคุณแสงแห่งความดี เหมาะที่จะเป็นวิถีทรรศนะของนักวิจัยแนวมานุษยวิทยา กับ Grounded Research มากเลยครับ

เห็นข่าวแล้วเห็นคนไทยออกมาช่วยเยอะอย่างนี้ก็ดีใจค่ะ เพราะนานๆ ที จะเห็นภาพแบบนี้ เพราะว่าคนไทยบริจาคเงินง่าย แต่ก็ไม่ค่อยบริจาคให้กัยเรื่องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่าไร (อันนี้ต้องเปิดใจให้กว้างและฟังก่อนนะคะ) พอดีทำงานช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติและสร้างโรงเรียนให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ค่ะ และรวบรวมเงินสร้างห้องสมุดให้เด็กตามแนวชายแดน ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนนำเงินมาบริจาคหรอก คงต้องเก็บเงินของตัวเองแล้วก็นำไปสร้าง แต่ก็ดีใจนะที่เห็นคนไทยมีน้ำใจกับพ่อน้องร่วมโลก

อยากไปเป็นอาสาสมัครที่นั่นเหมือนกัน แต่คิดว่า ตอนนี้คงยังไม่ใช่เราหรอก ตัวเล็กแค่นี้ ขนาด UN ยังเกือบแย่

ดูแลตัวเองด้วยค่ะอาจารย์ อากาศมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

ไผ่

สวัสดีครับคุณไผ่

มีเพื่อน น้อง และเพื่อนของน้องๆ หลายคนเลยที่ทำงานกับเด็กๆและชุมชนตามแนวชายแดน รวมทั้งค่าย(อพยพและค่ายกักกัน)สำหรับรอการโยกย้ายไปประเทศที่สาม พอเห็นคุณไผ่กล่าวถึงตนเองแล้วเลยทำให้นึกถึงหลายคน

ข้อสังเกตของคุณไผ่น่าสนใจดีครับ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะ การทำบุญและบริจาคทำทาน ของคนไทยส่วนใหญ่นั้น เหมือนกับว่าทำกับความเป็นส่วนรวม แต่ตัวจุดหมายนั้นเพื่อผลทางจิตใจและความเป็นตัวกูของกูด้านที่ติดดีของตนเอง ในขณะที่การบริจาคช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และการปฏิบัติความมีจิตสาธารณะ รวมทั้งการเอาใจใส่ทำเรื่องส่วนรวมนั้น เป็นความมีตัวตนที่ลดความเป็นตัวกูลงแต่ไปเพิ่มความเป็นตัวตนที่ใหญ่ขึ้นร่วมกับคนอื่น มีการพัฒนาสำนึกความเป็นกลุ่มก้อน หรือพัฒนาตัวตนด้านความเป็นเรา เพิ่มพูนไปพร้อมกับความเป็นตัวกูของกูที่ลดลง ซึ่งจะทำให้คนเราสามารถปฏิบัติสิ่งดีต่อผู้อื่นเสมือนทำให้กับตนเองไปด้วย ต้องอย่างนี้หรือเปล่านะครับ ผมจะเก็บประเด็นนี้ไว้เป็นหัวข้อหนึ่งในการเรียนรู้ผ่านการทำงานชุมชนไปด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

ดูความโกลาหล วุ่นวาย ที่เกิดขึ้นกับชาวเฮติแล้ว หากได้ทราบพื้นฐานของสังคมเฮติอย่างที่ผมได้นำมาแบ่งปันนี้ก็จะเข้าใจว่าภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้นครับ ลักษณะอย่างนี้ก็เหมือนกับสถานการณ์สังคมของหลายประเทศที่เกิดขึ้นหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดการรวมกลุ่มโจรกรรม และพากันฉวยโอกาสปล้นสดมภ์ ข่มขื่น และก่ออาชญากรรมสารพัด รวมทั้งบานปลายเป็นการถือโอกาสเข่นฆ่ากลุ่มคนที่ต่างกันทางศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ หรือในเกาหลี ก็เกิดการประท้วงและบุกทำลายปล้นชิงสินค้าจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้า

ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเกิดวิกฤติ ก็กลับเกิดสภาพอย่างนั้นน้อยมาก อีกทั้งฟื้นตัวเองและเริ่มตั้งหลักได้ดีพอสมควร กรณีอย่างนี้ทำให้ต้องให้ความสำคัญกับความมีทุนทางสังคมและการมีทุนความดีงามสำหรับการอยู่ร่วมกันอยู่ในตัวของพลเมืองในสังคม ซึ่งงานในแนวชุมชนศึกษา ประชาคม และประชาสังคมศึกษา ก็จะมองว่า สังคมที่จะมีสิ่งนี้ไว้พัฒนาตนเองในสถานการณ์ต่างๆนั้น ต้องมีการศึกษาเรียนรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ พลเมืองและปัจเจกชน ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นส่วนร่วมอย่างเป็นวิถีวัฒนธรรมของสังคม

เมื่อมองในแง่นี้แล้วก็จะเห็นว่า เฮติ ขาดมากครับ แม้ผู้ปกครองของเฮติ รัฐบาล กองกำลัง จะเข้มแข็งมาก แต่จะเห็นว่าความเข้มแข็งชนิดนี้ใช้คุกคามและทำลายฝ่ายตรงข้ามได้ แต่ทำเรื่องส่วนรวมแทนผู้คนและดูแลสุขภาวะสังคมไม่ได้ในทุกเงื่อนไข ขนศพผู้คนที่่ล้มตาย กระจายความช่วยเหลือ รวมทั้งประสานความช่วยเหลือจากทั่วโลก ให้ถึงประชาชนอย่างดี ก็แทบจะยังทำไม่ได้เลยนะครับ

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเฮติ จากภาพที่เห็นในข่าว ในYoutube เป็นภาพที่ทรมานหัวใจคนดูที่อยู่ห่างไกลเกินจะยื่นมือไปได้ในทันควัน

แต่ก็ดีใจที่สังคมไทยบ้านเรามีน้ำใจหลั่งไหลให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเหตุเกิดในบ้าน(เหตุพิปูนที่จ. นครศรีธรรมราช, พายุเกย์ที่จ.ชุมพร, น้ำท่วมหนักที่หาดใหญ่ ล่าสุดTsunami ที่จ.แถบอันดามัน) หรือนอกบ้าน..และคนไทยมีความละเอียดละออในการช่วยเหลือเช่น แบ่งข้าวสารเป็นแพ็คเล็กๆ โดยจัดเตรียมทำให้เพราะถ้ารอให้เจ้าหน้าที่ด้านโน้นทำก็ต้องใช้เวลาและอื่นๆ อีกมากมาย.....สังคมคงอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือเกี้อกูลกัน

สวัสดีครับคุณครู noktalay ครับ : มองผ่านตัวอย่างกิจกรรมอย่างคุณครูnoktalayว่านั้น การส่งเสริมให้คนมีวิธีจัดการตนเองอย่างนี้ หรือมีวิธีปลดปล่อยพลังการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างนี้ของคนในสังคม ก็มีส่วนที่องค์ประกอบด้านสังคมและทักษะการปฏิบัติต่อส่วนรวมของประชาชน จะเป็นหลักประกันสุขภาวะของส่วนรวม ที่สำคัญมากเหมือนกันนะครับ เมื่อสัก ๑๐ ปีก่อน ผมเคยฟังนายทหารที่มีแนวคิดใหม่ๆพูดเรื่องในลักษณะนี้ว่า เป็นแนวทางใหม่ของการทำเรื่องความมั่นคงทางสังคม อีกด้วย ดูเหมือนจะเป็น พล.ท.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารที่เป็นนักวิชาการและนักเขียนด้วย

ขอบคุณที่มาเยือนและแลกเปลี่ยนกันครับ

สวัสดีค่ะ

  • ขอแสดงความเสียใจกับชาวเฮติทั้งประเทศ
  • และเริ่มมีข่าวออกมาอีกแล้วเกี่ยวกับอัฟเตอร์ช้อค ดิฉันได้ติดตามข่าวทางโทรทัศน์ หน้าหนังสือพิมพ์ และตอนที่ดูจากYoutube ทำให้นึกถึงTsunami ที่บ้านเรา  มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งอยู่บนสะพานแล้วไม่ทันไปถึงฝั่ง  คลื่นใหญ่มาซัดกลางสะพาน  ภาพนั้นยังติดตาอยู่เสมอ
  • เมื่อวานดิฉันได้ส่ง MSN  เสียเงินแล้วค่ะ  เพื่อช่วยเฮติ  และคิดว่าจะส่งสัปดาห์ละ ๑ ครั้งค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

กระบวนการทางการศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ประสบการณ์ทางสังคมในหน่วยทางสังคมเล็กๆแก่เด็กๆของคุณครูคิม และกลุ่มวิทยากรที่อาสามาช่วยกันทำนั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่งนะครับที่เป็นการสร้างศักยภาพการรวมตัวและจัดการความจำเป็นของส่วนรวม ด้วยวัฒนธรรมการปฏิบัติที่ออกมาจากความสำนึกและการกำกับตนเอง ให้แก่เด็กๆ เป็นการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่บูรณาการการพัฒนาพลเมืองไปด้วย

การเรียนรู้ให้ได้จิตใจและความสำนึกถึงความมีชะตากรรมร่วมกันกับผู้คนทั่วไปอย่างไม่แบ่งแยกเพศ ผิวพรรณ เชื้อชาติ ชนชั้น ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม อย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้ความช่วยเหลือและสิ่งจำเป็นทั้งหลาย ได้เคลื่อนย้ายและหลั่งไหลไปจากแหล่งต่างๆของทั่วโลกสู่เฮติ อย่างนี้ก็เป็นการมองในแนวของคนที่เน้นการพัฒนาคนกับการแสดงออกทางการปฏิบัติเพื่อความงอกงามเติบโตภายใน ซึ่งคุณครูคิมและเครือข่ายมีประสบการณ์ดีๆอยู่เยอะเลยนะครับ มีความสุขครับ.

อาจารย์คะ ไผ่มีข้อสงสัยค่ะว่า เราควรจักกระบวนการเรียนอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์ต่อกลุ่มเด้กชายขอบดีคะ เพราะตอนนี้ นอกจากปัญหาระบบการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในกลุ่มนี้แล้ว ยังมีปัญหาอีกคือ เรื่องปัญหาปากท้องที่ยังไม่มีกิน ก็ไม่ต้องการมาเรียน ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนกลุ่มนนี้ได้มาเรียน และมีรายได้ระหว่างเรียน และตอบสนองต่อความต้องการของเค้าให้ได้มากที่สุดคะ

ที่คิดๆอยู่ก็คือ ตั้งเป็นสถานประกอบการขึ้นมา และเปิดโรงเรียนฝึกอบรมจึงจะสามารถรับเด้กกลุ่มนี้(ไม่มีบัตรประชาชน หรือเลข 13 หลัก) เมื่อจบจะได้รับใบประกาศจากสถาบัน อาจารย์คิดว่า วิธีการนี้เป็นอย่างไรคะ แต่ก็จะมีปัญหาตลอดคือ กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเด็กไร้สัญชาติหรือคนไทยที่ยังไม่มีบัตร แต่มีเลข 13 หลักค่ะ

สวัสดีครับคุณlibrary_sinumngen

น่าสนใจอย่างยิ่งเลยครับ ผมไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้โดยตรงครับ แต่ก็สนใจ หากมีรายงานหรือหนังสือ ก็จะเป็นเรื่องหนึ่งที่ตามศึกษามาตลอด แล้วก็เอาไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆครับ คุยเพื่อจุดประกายและแลกเปลี่ยนความคิดกันก็แล้วกันนะครับ

การศึกษาแนวนี้ หากใช้แนวคิดการศึกษาเพื่อพัฒนาพลเมืองและการศึกษาเพื่อส่งเสริมการสร้างสุขภาวะของส่วนรวมสำหรับทุกคนแล้วละก็ เขาก็จะมีวิธีมองว่า ความเป็นสมาชิกของสังคมและความเป็นพลเมืองในอีกฐานะหนึ่งก็คือ การแสดงตนออกมาด้วยความสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้และนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเป็นสังคม เป็นพลเมืองด้วยความสำนึกและปฏิบัติต่อความเป็นส่วนรวมในทุกขอบเขตเนื้อหาของชีวิต ซึ่งก็มีน้ำหนักมากและไม่กระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อแนวคิดความเป็นพลเมืองด้วยเชื้อชาติ สัญชาติ และเอกสารทางกฏหมาย

ภายใต้วิธีคิดอย่างนี้ แนวคิดทางการศึกษาเรียนรู้ก็จะมุ่งไปที่การทำให้กระบวนการชีวิตและการสร้างตัวตนของปัจเจก ทำให้เขาใช้ชีวิตเพื่อการเรียนรู้และพึ่งตนเองได้ในการประสานความแตกต่าง(และการต่อรองทางสังคม)ในแนวทางที่สร้างสรรค์ที่สุด

ในอดีตนั้น คนในวงการศึกษาและในวงการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมก็จะรู้จัก เปาโลแฟร์ ซึ่งเรียนรู้จากการจัดการศึกษาให้กลุ่มทาสและคนผิวดำ ว่าวิธีการของเขาก็จะเป็น Empowerment education for powerless and oppressived. ซึ่งก็จะสอนเครื่องมือและวิธีการใช้ชีวิตให้เป็นการพัฒนาพลังอำนาจตนเอง ที่สำคัญคือ สอนการพูดสื่อสารภาษาอังกฤษ  สอนการรวมตัวและวิธีเจรจาต่อรอง สอนให้เรียนรู้และมีความสำนึกการพึ่งตนเองมากขึ้น

ปัจจุบันแนวคิดนี้ก็เป็นแม่บทของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อกลุ่มต่างๆ  แต่แนวคิดในการจัดวางความเป็นขั้วของการต่อสู้กันในเชิงอำนาจนั้น จะมีข้อจำกัดมาก เลยอาจจะใช้ไม่ได้ในรูปแบบเดิมแล้วครับ เลยมีการพัฒนาต่อไปเป็น การศึกษาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง : Education for Change เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปต่อสู้และต่อรองกับใครแบบเป็นขั้วๆอีกแล้ว เนื่องจากผู้คนต้องร่วมมือกัน  บางเรื่องที่เราทำเองไม่ได้ก็ต้องมีทักษะไปแสวงหาความร่วมมือ และบางเรื่องที่ริเริ่มเองได้ก็ต้องแสดงความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง โดยมีความรับผิดชอบต่อสุขภาวะของส่วนรวมเหมือนภาคส่วนอื่นๆของสังคม สาระการศึกษาเรียนรู้โดยมากก็จะเป็นการเรียนรู้เพื่อจะติดต่อสื่อสารกับ Majority Group ด้วยตนเอง ทักษะการอยู่ร่วมกัน ทักษะการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ทักษะการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะในการเผชิญปัญหาต่างๆด้วยตนเอง เช่น ด้านสุขภาพและอนามัยส่วนบุคคล สุขภาพชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

ในประเทศที่ก้าวหน้ามากแล้วก็มีรูปแบบอย่างที่กล่าวถึงนี้ครับ ผมมีเพื่อน ๓-๔ คนที่ทำโครงการศึกษาอย่างนี้เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนย้ายถิ่นเข้าประเทศของเขาคือ แคนาดา ซึ่งเข้าท่ามากด้วยประการทั้งวง ทั้งในแง่มนุษยธรรม คุณธรรมต่อสังคมในความหมายที่กว้าง และการแก้ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของประชากรข้ามประเทศอย่างสร้างสรรค์ รูปแบบนี้ ทำเป็นโครงการ Outreach Program ครับ มีเครือข่ายทำงานเชื่อมโยงกัน ทั้งในประเทศต้นทางการย้ายถิ่นและในประเทศปลายทาง งานเลยครอบคลุม ๓ ภารกิจที่สำคัญ คือ  การพัฒนาฐานข้อมูล  การอบรมทักษะเบื้องต้นเหมือนกับเป็นการ Screening และเตรียมความพร้อมการตัดสินใจให้ดีที่สุด แล้วก็มีศูนย์ปรึกษาและพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิต พอเสร็จแล้วก็มีใบรับรองและใบประกาศนียบัตร ใช้แสดงตนและมีเครดิตในการเข้าทำงาน เมื่อนานเข้าก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้เพื่อขอเป็นพลเมือง

ในบ้านเราส่วนใหญ่ก็ทำเป็นโรงเรียนตามชายแดนและศูนย์พัฒนาคนในกลุ่มวัยต่างๆ ซึ่งผมเคยไปแต่เพียงศึกษาดูงานเท่านั้นครับ ไม่มีความรู้พอที่จะแนะนำเลย ขอเรียนรู้ก็แล้วกัน

แต่ผมเคยทำกลุ่มอาสาจัดโครงการพัฒนาเด็กชาวเขาให้วัดศรีโสดาที่เชียงใหม่ครับ ตอนนั้นก็เน้น ๓-๔ เรื่อง คือ การพูดสื่อสารภาษาไทยในชีวิตประจำวันผ่านกิจกรรมทางสังคม การเรียนรู้ทางสังคม และการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเพื่อให้การได้ติดต่อและทำสิ่งต่างๆ กับคนที่เป็น Majority Group เป็นที่มาของการได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ด้วยตนเอง เคยคิดอยู่เหมือนกันครับ หากมีการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างนี้เยอะแล้ว เขาก็ควรได้ประกาศนียบัตรหรือใบรับรอง ที่สามารถสะสมและใช้เป็นส่วนประกอบในการได้โอกาสต่างๆทางสังคมดีขึ้น น่าสนใจดีครับ.

ขอบคุณข้อความที่ส่งมาให้ค่ะ น่าส่งสารจัง แต่ถ้าใครสนใจสามารถช่วยเหลือได้อีกทางหนึ่ง คือ ส่ง sms พิมพ์คำว่า เฮติ ส่งมาที่ 4567890 ทางเครือข่ายจะคิดค่าบริการครั้งละ 10 บาทโดยไม่หักภาษีค่ะ

หมายความว่าอย่างไรครับ บริจาคและระดมทุนผ่านส่ง SMS ภายใต้ชื่อเฮติหรือครับ เป็นเครือข่ายจำเพาะงานนี้หรือครับ แล้วจะไปทำอย่างไรต่ออีก พอจะช่วยขยายรายละเอียดให้ผู้สนใจได้ทราบสักหน่อยไหมครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

  • ขออนุญาตตอบแทนคุณหนูอัน เกิดว่าเธอจะแวะมาตอบเอาเมื่อเลยเวลาปิดกองทุนเพื่อชาวเฮติไปเสียก่อน ...
  • เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นระบบใดของ AIS, DTACT และ True Move ได้ร่วมระดมทุนเพื่อ เฮติ โดยการส่ง sms พิมพ์คำว่า เฮติ ส่งไปที่หมายเลข ๔๕๖๗๘๙๐และดังที่คุณหนูอันได้บอกไว้ แต่ละเครือข่ายจะหักจำนวนเงินแต่ละครั้ง (sms) เพื่อชาว เฮติ ครั้งละ ๑๐ บาทค่ะ ..
  • เท่าที่ทราบว่าทั้ง ๓ เครือข่ายเปิดรับ sms มาจนถึงวันนี้ได้หลายแสนครั้ง (sms) แล้วค่ะ คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับผู้ร่วมสมทบทุนในกองทุนช่วยเหลือชาว เฮติ ครั้งนี้ค่ะ ...
  • ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ Tsunami นะค่ะ เพื่อนร่วมโลก ทุกซีกโลกร่วมส่งแรงใจ แรงเงิน ความช่วยเหลือทุกรูปแบบให้กับผู้ประสบเหตุร้ายในครั้งนั้น ...
  • นับถือ และขอคารวะน้ำใจของเพื่อนร่วมโลกที่แสนงดงามค่ะ ..

ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ พอทราบอยู่ครับ ช่วยถามเพื่อให้รายละเอียดแก่ผู้อ่านทั่วไปน่ะครับ จะได้มีส่วนร่วมได้ด้วยตนเองโดยมีเครือข่ายระดมความช่วยเหลือช่วยประสานงานน่ะครับ ท่านที่สนใจเชิญมีส่วนร่วมได้เลยนะครับ เมื่อสักครู่ผมเองก็ลองกดดูไปด้วยแล้วครับ ตอบกลับเร็วมากเลยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

  • ที่จริงก็ทราบอยู่เหมือนกันค่ะว่าอาจารย์คงพอจะทราบข่าวการระดมทุนนี้อยู่แล้วหล่ะค่ะ แต่ก็เข้ามาตอบเพื่อให้ท่านอื่นได้เข้ามาอ่านบันทึก และร่วมระดมทุนช่วยเหลือให้กับ ชาวเฮติ นี่แหละค่ะ ..
  • วันนี้ก็ส่งไปอีก ๒ sms ว่าจะส่งไปเรื่อยๆ (เท่าที่พอจะนึกได้) จนกว่าเค้าจะปิดกองทุนนี้ค่ะ ...
  • วันนี้ท่าน sms เพื่อชาวเฮติแล้วรึยังค่ะ (ทำได้ง่ายมากค่ะ เพียงแค่คุณมีมือถือระบบใดก็ได้อยู่ในมือ)

ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • เมื่อคืนได้ฟังรายงานข่าวจากวิทยุว่าธนาคารโลกลงมติให้ความช่วยเหลือแก่เฮติในทางอ้อมแก่เฮติโดยยกเว้นหนี้ให้กับประเทศเฮติที่เป็นหนี้ธนาคารโลกอยู่ตลอดไป
  • ข่าวไม่ได้รายงานว่าเป็นจำนวนเท่าใด แต่ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าประทับใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท