๗๓. นวัตกรรมสุขภาพชุมชน : วิธีคิด การถอดบทเรียน การนำเสนอและสื่อสารเผยแพร่


เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ภาคกลาง จังหวัดชลบุรี มาชวนผมไปช่วยดำเนินการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บทเรียนตำบลจัดการสุขภาพสู่นวัตกรรมสุขภาพชุมชน ของกลุ่มพื้นที่จังหวัดในเขต ๕ ภาคกลาง จัดที่ชมเดือนรีสอร์ต จังหวัดสมุทรสงคราม กลุ่มผู้ร่วมเวทีเป็นเครือข่ายทำงานสุขภาพชุมชนที่เป็นเครือข่ายของศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน หรือ สช.ประกอบด้วยภาคประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน บุคลากรสาธารณสุขภาครัฐระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ประมาณ ๕๐ คน

  ความคุ้นเคยและวางใจกันของผู้คน   การเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมของพลเมือง

โดยทั่วไปแล้ว ในสังคมที่บทบาทของภาครัฐเป็นศูนย์กลางอำนาจจัดการและผูกขาดกำกับควบคุมความเป็นสาธารณะ รวมทั้งกำหนดกะเกณฑ์สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของปัจเจกและชุมชนนั้น การจัดประชุมและเวทีชุมชน ก็มักจะดำเนินไปในแนวทางดังกล่าวด้วย กล่าวคือ มักเป็นการเรียกชาวบ้านให้มารับความรู้และรับคำสั่งกลับไปทำตาม ซึ่งเป็นการปฏิสัมพันธ์แบบสั่งการแนวดิ่ง ประชาชนจึงมักคุ้นเคยที่จะรอรับคำสั่งและไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก ขาดความเชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถริเริ่มและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆอันพึงประสงค์ร่วมกันได้

วิถีปฏิบัติดังกล่าว อาจจะมีความเหมาะสมในบางสถานการณ์ ทว่า เมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป สภาพการณ์ดังกล่าวก็อาจจะมีข้อจำกัด ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชน และทำให้ระบบต่างๆของสังคมขาดการจัดการตนเองที่เหมาะสม ไม่เพียงพอต่อการเผชิญกับปัญหาและการขยายตัวของสังคม ซึ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น การจัดประชุมเพื่อเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นเวทีทำงานสร้างสรรค์ของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกคุ้นเคย และทวนกระแสของคนส่วนใหญ่ แต่ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงและขยายตัวอย่างซับซ้อนดังในปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งจำเป็นในอันที่จะต้องเรียนรู้เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองขึ้นของทุกฝ่ายในสังคม  เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและวัฒนธรรมการทำงานอย่างใหม่ พร้อมกับปรับบทบาทเพื่อจัดความสัมพันธ์กันใหม่ให้เป็นการปฏิสัมพันธ์แนวราบเชิงการเรียนรู้ผ่านการทำงานแก้ปัญหา (Horizontal Interactive Laerning Through Action) ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรผู้เกี่ยวข้องต่างๆ

แนวดำเนินการดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นมิติการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civil Learning,Civic Education) สำหรับสร้างโอกาสการพัฒนาของปัจเจก ครอบครัว และชุมชน ให้สามารถเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองได้ดังที่พึงประสงค์ รูปแบบเวทีเรียนรู้จากการทำงาน จึงเป็นมิติหนึ่งที่จะต้องคิดสร้างสรรค์พร้อมกับพัฒนาไปกับการทำงานของชุมชนต่างๆไปด้วย  ด้วยเหตุนี้ ตัวกระบวนการและวิธีที่คิดขึ้นมาใช้ทำงาน แล้วได้ผลเป็นอย่างดี ก็สามารถจัดว่าเป็นนวัตกรรมประชาสังคมศึกษา (Civil Learning Innovation)อย่างหนึ่ง ในเวทีการทำงานครั้งนี้ ก็มีรูปแบบเพื่อทำงานเชิงแนวคิดดังกล่าวนี้เช่นกัน

  World Cafe   วิถีสันถวะ สร้างความวางใจและสานพลังสร้างสรรค์ของคนจร 

ในเวทีนี้ ทางทีมของศูนย์ สช.ได้ดัดแปลง สภากาแฟ : World Cafe มาเป็นวิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรวบรวมบทเรียนในกลุ่มย่อย จากนั้น ก็ประมวลข้อมูลและเตรียมนำเสนอด้วยสื่ออย่างง่ายที่กลุ่มทำได้ด้วยตนเองคือกระดาษ บอร์ดขาตั้ง และแผ่นพลิก เมื่อเสร็จแล้วก็นำเสนอเพื่อให้เวทีรวมได้เรียนรู้ แล้วอภิปรายและเสริมแนวคิดทฤษฎีให้โดยวิทยากรคือผมและอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ และทีมวิทยากรของศูนย์ สช. คือ คุณสุจินดา สุขกำเนิด หรืออาจารย์อ๋า ผู้อำนวยการและคณะ

คุณสุจินดา สุขกำเนิด ผู้อำนวยการของศูนย์ สช.เริ่มกระบวนการเวทีให้สบายๆ กล่าวต้อนรับและให้แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรม สมาชิกผู้ร่วมเวทีร่วมแสดงแนวคิด ร่วมกันเตรียมบรรยากาศและสร้างแนวคิดเพื่อเป็นแนวนั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมีความหมายที่สุด

อาจารย์เอี้ยง : คุณอัจจ์สุภา รอบครอบ ทีมของ ผอ.สุจินดา สุขกำเนิด วิทยากรกระบวนการที่เป็นเจ้าของสภากาแฟเวทีนี้ กำกับกระบวนการและเปิดสภากาแฟด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ส่งเสริมความวางใจและพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง 

  โต๊ะกาแฟ การจัดกลุ่ม และกระบวนการ 

จากนั้น อาจารย์เอี้ยง : คุณอัจจ์สุภา รอบครอบ ทีมวิทยากรของศูนย์ สช.ได้นำกระบวนการ โดยจัดโต๊ะกาแฟเล็กๆ ๑๘ โต๊ะ  ซึ่งจัดเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ ๓ โต๊ะๆละ ๔ คน กลุ่มย่อย ๓ โต๊ะต่อประเด็นเนื้อหาของการทำงานตำบลจัดการสุขภาพ ๑ ประเด็น ทำให้สามารถครอบคลุมประเด็นของการจัดการตำบลสุขภาพเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และบูรณาการเข้าสู่ความเป็นประเด็นส่วนรวมที่เหมาะสมยิ่งๆขึ้นได้ ๖ ประเด็น บรรยากาศของห้องประชุมไม่ลงตัวนัก เพราะห้องคับแคบ และคณะทำงานที่จัดก็อาจจะไม่กล้าปรับแต่งให้ได้บรรยากาศที่หลุดออกจากความเป็นทางการอย่างที่ต้องการ แต่เมื่อคำนึงถึงการค่อยๆริเริ่มให้พัฒนาการไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ก็จัดว่าพอใช้ได้

ก่อนนั่งตามโต๊ะกาแฟและสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นกลุ่มย่อยๆโต๊ะละ ๔ คน ทีมวิทยากรได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และการค้นหานวัตกรรมที่อยู่ในงานของตำบลจัดการสุขภาพ จากนั้น ก็นั่งสนทนากันตลอดครึ่งวันเช้า นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเวทีรวมในช่วงบ่าย พร้อมกับอภิปราย เสนอแนะ และเสริมความรู้เชิงทฤษฎีให้โดยวิทยากร

  ค้นหานวัตกรรมสุขภาพชุมชนจากงาน ๖ ประเด็นของตำบลจัดการสุขภาพ 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อยซึ่งมีอยู่ ๖ ประเด็นเนื้อหา และใน ๑ ประเด็นเนื้อหาก็จะมีโต๊ะกาแฟที่นั่งสนทนากันในเรื่องดังกล่าวอยู่ ๓ โต๊ะๆละ ๔ คน บนโต๊ะจะมีกาแฟ น้ำดื่ม ของขบเคี้ยว กระดาษ เครื่องเขียน เพื่อให้กลุ่มที่นั่งสนทนากันได้จดบันทึก รวบรวมความคิด การสนากันในครึ่งวันเช้า กลุ่มนั่งสนทนากันจะมีการหมุนเวียน ๓ รอบภายใน ๓ โต๊ะกาแฟที่เป็นกลุ่มย่อยในประเด็นเดียวกัน การหมุนเวียนไป ๑ ครั้ง แต่ละกลุ่มต้องเหลือสมาชิกนั่งอยู่ที่โต๊ะกาแฟ ๑ คน อีก ๓ คนต้องกระจายออกไปนั่งที่โต๊ะอื่นกับคนใหม่นอกเหนือจากผู้ที่นั่งในโต๊ะเดิมของตน

เมื่อนั่งที่โต๊ะกาแฟโต๊ะใหม่ได้ ก่อนเริ่มนั่งสนทนากันต่อไปให้ต่อประเด็นที่กลุ่มก่อนหน้านั้นได้สนทนาและรวบรวมความคิดไว้ ผู้ที่เหลือนั่งอยู่ที่โต๊ะเดิม ๑ คน จะทำหน้าที่สรุปโดยการนั่งเล่าถ่ายทอดให้แก่กลุ่มที่มาใหม่ฟัง จากนั้น ก็นั่งคุยกันต่อไปอีก หมุนเวียนไปจนครบ ๓ รอบ

ทั้งเวทีมีโต๊ะกาแฟ ๑๘ โต๊ะ และแบ่งเป็น ๖ ประเด็นเนื้อหาย่อยๆ ๖ ประเด็น ประเด็นละ ๓ โต๊ะ โต๊ะหนึ่งมีสมาชิกนั่งคุยกัน ๔ คน ประเด็นเนื้อหาย่อยๆดังกล่าว เป็นประเด็นการทำงานตำบลจัดการสุขภาพต่างๆ ประกอบด้วย

  • การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ อันได้แก่ไข้เลือดออก ไข้หวัด ๒๐๐๙ เอดส์
  • การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ อันได้แก่ เบาหวาน  ความดันโลหิดสูง
  • ประเด็นกลุ่มอาหารปลอดภัย
  • ประเด็นกลุ่มสิ่งแวดล้อม ขยะชุมชน
  • ประเด็นกลุ่มงานการดูแล อนามัยแม่และเด็ก วัยเรียนวัยรุ่น และผู้สูงอายุ
  • การส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค

ภายใต้ประเด็นเนื้อหาที่มีการดำเนินงานของตำบลจัดการสุขภาพซึ่งดูเหมือนหลากหลายนี้ สำหรับเวทีนี้มีประเด็นร่วมเพื่อถอดบทเรียนและรวบรวมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพียงเรื่องเดียว คือ นวัตกรรมสุขภาพชุมชน : การดำเนินงานต่างๆใน ๖ ประเด็นดังกล่าวนั้น นวัตกรรมที่ใช้หรือเกิดขึ้นจากการทำงาน คืออะไร ?

  การรวบรวมข้อมูล 

หลังจากหมุนเวียนสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ๓ รอบแล้ว โต๊ะกาแฟกลุ่มย่อย ๓ โต๊ะในประเด็นเดียวกัน ก็รวมกลุ่มแล้วนั่งสังเคราะห์ข้อมูล รวบรวมและเตรียมนำเสนอต่อกลุ่มใหญ่ ใช้วิธีทำสื่อย่างง่ายและทำกันไปตามแต่จะคิดสร้างสรรค์ บ้างก็วาดภาพ เขียนหัวข้อและประเด็นที่ต้องการนำเสนอให้น่าสนใจ บ้างก็วาดแผนผังวิธีคิด ให้สีสันไปตามประสบการณ์และความถนัดที่แตกต่างกันไป

 

  การนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตำบลจัดการสุขภาพสู่นวัตกรรมสุขภาพชุมชน 

แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอผลงานกลุ่มๆละ ๗ นาที โดยมีวิทยากรร่วมตั้งคำถามและกระตุ้นให้เกิดหัวข้อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมข้อมูล และเพิ่มเติมรายละเอียดทางด้านต่างๆ

  การพัฒนานวัตกรรมสุขภาพชุมชน 

การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพชุมชน รวมทั้งในงานพัฒนาทางด้านต่างๆนั้น จัดว่าเป็นกระบวนคิดเชิงระบบอย่างหนึ่งที่มุ่งคิดให้ได้ทางออกที่ดี มีความสร้างสรรค์ และเกิดมรรคผลทางการปฏิบัติ ซึ่งในวิธีทำงานสะท้อนคิดให้แยบคายแบบวิธีโยนิโสมนสิการ จะสอดคล้องกับวิธีคิดให้ได้ทางออกและได้วิธีแก้ปัญหาได้แบบกระบวนการคิดแบบอริยสัจจ[คลิ๊กที่นี่]

...............................................................................................................................................................................

...............................................................................................................................................................................

การพัฒนาการคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนานวัตกรรมนั้น ต้องจำแนกให้เห็นความแตกต่างระหว่างการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่แต่เพียงลำพัง เนื่องจากแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมนั้น มีองค์ประกอบของการมุ่งแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาด้วย ไม่ได้มุ่งเพียงการสร้างสิ่งใหม่หรือการนำเข้าสิ่งใหม่เพียงได้ชื่อว่าเป็นการทำต่างออกไปจากสิ่งเดิม หรือการนำเอาสิ่งแปลกใหม่จากภายนอกเข้าไปในสถานการณ์หนึ่งๆ แต่เพียงเท่านั้น

การนำเอาสิ่งใหม่เข้ามานำเสนอในชุมชนหรือในสภาวการณ์สังคมหนึ่งๆ เราอาจจะเรียกว่าเป็นการนำเข้าความทันสมัย ซึ่งสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อบริหารจัดการสิ่งใหม่ที่เป็นนวัตกรรมจากแหล่งอื่นและเป็นความทันสมัยที่นำเข้ามาใช้ให้บรรลุจุดหมายในการแก้ปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดีเช่นกัน แต่อาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ดีนัก

แนวคิดที่จะใช้พิจารณาวิธีการดังกล่าวได้เหมาะสมกว่าการเรียกว่าเป็นกาารคิดค้นนวัตกรรมก็คือการรับถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ไม่ได้คิดริเริ่มขึ้นจากชุมชน

การพัฒนานวัตกรรมเป็นการใช้การแก้ปัญหาเป็นตัวตั้ง พร้อมกับพัฒนาวิธีการและเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวขึ้นมาด้วยความคิดริเริ่มและสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของตนเองด้วย เมื่อแก้ปัญหาและสร้างสุขภาวะดังกล่าวให้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เป็นนวัตกรรมดังกล่าวยังคงมีอยู่ และสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆได้ต่อไปอีก

กรณีตัวอย่าง การสังเคราะห์หาประสบการณ์การเรียนรู้ของชุมชนชาวนาบัว อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งใช้เวลาต่อเนื่อง ๔๐-๕๐ ปีในการเรียนรู้เปลี่ยนผ่านจากการทำนาข้าวและเป็นหนี้มากมายสู่การทำนาบัว แก้ปัญหาการล้มละลายจากการทำนาข้าว และก่อเกิดกลุ่มอาชีพทำนาบัวในพุทธมณฑลดังปัจจุบัน กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนผ่านดังกล่าวสามารถสังเคราะห์เป็นขั้นการเรียนรู้ได้ ๕ ขั้น การทดลองสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนคือการทำนาบัวและเครือข่ายการจัดการเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชีพย่อยๆด้วยกันถึง ๑๔ กลุ่ม นับว่าเป็นนวัตกรรมเชิงการจัดการซึ่งต่อมาก็เป็นอีกหนึ่งในระบบและวิถีทำอยู่ทำกินของชุมชน รวมทั้งขั้นตอนการเรียนรู้ ๕ ขั้นดังกล่าว ก็เป็นบทเรียนและประสบการณ์ของชุมชนที่สามารถนำไปเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อวิจัยและทดสอบให้หนักแน่นยิ่งๆขึ้นต่อไปได้อีก
...............................................................................................................................................................................

 

กรอบในการถอดบทเรียน รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มย่อย และเป็นเค้าโครงเพื่อการเขียนบันทึกบทเรียนในการพัฒนานัวตกรรม หากกลุ่มผู้ปฏิบัติ สามารถจัดหมวดหมู่ประสบการณ์และถ่ายทอดบทเรียนให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆดังในกรอบนี้ ก็จะสามารถอธิบายกระบวนการแก้ปัญหาและนวัตกรรมที่ใช้ได้อย่างชัดแจ้ง เป็นระบบ เห็นสภาวการณ์และความจำเป็น เห็นบทบาทและความสำคัญต่อการแก้ปัญหา และเห็นสภาวการณ์อันพึงประสงค์ที่เกิดขึ้น

นวัตกรรมที่ใช้ รวมทั้งวิธีคิดริเริ่มเพื่อสร้างสรรค์เครื่องมือและวิธีการขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนระบบปฏิบัติในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดีนี้ จะสามารถนับได้ว่ามีความเป็นนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้และพัฒนาการเรียนรู้ให้ผู้อื่นและสถานการณ์อื่นๆสามารถใช้แก้ปัญหาได้ต่อไปอีก อีกทั้งสิ่งที่สามารถคิดริเริ่มเพื่อแก้ปัญหาได้ขึ้นมานี้ หากเรียนรู้ วิจัยและพัฒนาต่อไปอีก ก็จะทำให้ก่อเกิดสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิมในชุมชน

ตัวอย่างการถอดบทเรียน ของเครือข่ายตำบลจัดการสุขภาพ ในชุดความคิด สร้างความสุข-คลายความทุกข์ : สื่อสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง

...............................................................................................................................................................................

 

...............................................................................................................................................................................

กรอบการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ทางแก้ปัญหาโดยวิธีคิดแบบอริยสัจจ ๑ ใน ๑๐ วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ[คลิ๊กที่นี่]

หมายเลขบันทึก: 387315เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ..นับเป็น workshop ที่สร้างการมีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการเป็นขั้นตอนที่เหมาะสม..จากปัญหาที่เป็นต้นทาง..ลงสู่แนวทางการพัฒนา ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ตามภูมิสังคมและบริบทของชุมชน ตามความเหมาะสมต่อไป..เป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ..

                         

                                     นางแบบเสื้อจิตอาสา G2K

  • สวัสดีครับคุณพี่นงนาทครับ
  • ขอบพระคุณครับ
  • เป็นกำลังใจนางแบบอาสากิติมศักดิ์ของ GotoKnow เช่นกันครับ

ขอบคุณครับ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วยพักนึงเหมือนกัน เสียดายที่มีเวลาน้อยไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมจนจบหวังว่าโอกาสหน้าคงมีอะรัยดีๆมานำเสนอเพื่อพัฒนาประชาชนร่วมกันอีกครับ

จรูญ เจริญประโยชน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กองสช.

  • เวลาน้อยไปหน่อย แต่ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยกระมังครับ
  • บังเอิญว่าเครือข่ายคนของพื้นที่มีประสบการณ์ดีอยู่แต่เดิม
  • ก็เลยใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ทำกระบวนการสำหรับนั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยกันดีมากทีเดียวครับ
  • ทำรูปแบบนี้ก็ดีเหมือนกันครับ ไม่ต้องมากเกินไปแต่ทำบ่อยๆ ให้คนทำงานมีวงจรได้นำเอางานมานั่งวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบันทึกรวบรวมบทเรียนไว้
  • ยกระดับประเด็นการทำงานให้มีความเชื่อมโยงกันไปได้ถึงไหน ก็ทำเครือข่ายปฏิบัติการผสมผสานกันไปตามนั้น ก็คงจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมให้สุขภาพชุมชนและตำบลจัดการสุขภาพ ได้เข้มแข็งและมีความความยั่งยืนในการจัดการตนเองของภาคประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท