๖.วิถีชุมชนกับรถไฟโบกี้ชั้นสาม


"........เครื่องมือและวิธีการ ตลอดจนมรรควิถี จึงมีนัยสำคัญต่อเรามากกว่าการพิจารณาว่า มีแล้ว หรือ ยังไม่มี เท่านั้น เหตุนั้น มิติเชิงคุณค่า และ การมีความหมาย จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ผมนั่งคุยเรื่องเหล่านี้กับภรรยาจนลืมความเชื่องช้าและความเมื่อยขบทั้งปวง เดินทางต่อถึงบ้านด้วยความสนุก ขอบคุณวันสงกรานต์และรถไฟโบกี้ชั้นสาม ให้ไอเดียผมเยอะเลย....."

             เมื่อช่วงวันหยุดในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมและภรรยาวางแผนที่จะกลับไปเยียมยามญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายให้ได้  อันได้แก่ครอบครัวและญาติพี่น้องทางผมที่อำเภอหนองบัว  นครสวรรค์ และครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้องทางภรรยาผม ที่บ้านห้วยส้ม  อำเภอสันป่าตอง  เชียงใหม่

             ปรกติแล้ว  เราไม่เคยคิดจะเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างนี้  รถมันติด คนฉวยโอกาส และอุบัติเหตุเยอะ  ทว่า ลูกหลานและญาติๆทางฝ่ายผม ต้องการทอดผ้าป่า ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษที่ผมเห็นว่าต้องไป  เราเริ่มต้นด้วยการไปทอดผ้าป่าที่บ้านเกิดผมก่อน  จากนั้น วันหยุดอีก 3 วันที่เหลือ เราก็ไปที่บ้านของตัวเองที่สันป่าตอง  เชียงใหม่ โดยเดินทางด้วยรถไฟ ขบวนรถเร็ว เที่ยว 1 ทุ่มเศษ จากชุมแสง  นครสวรรค์ ไปเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2550 

              อันที่จริงนั้น  พนักงานขายตั๋วบอกว่าที่นั่งไม่มีเลย  แต่ก็ให้ความหวังว่า  ถ้าอดทนที่จะยืนโดยสารไปได้ ก็อาจจะได้ที่นั่งเมื่อถึงสถานีข้างหน้าไปเรื่อยๆ  ผมและภรรยาได้เตรียมที่จะเจอกับสถานการณ์นี้อยู่แล้วเราจึงยินดีที่จะยืนหรือนั่งไปก็ได้  พนักงานขายตั๋วก็ยินดีที่จะขายตั๋วให้  ผมได้รำลึกถึงบรรยากาศการเดินทางด้วยรถไฟอันสนุกสนานสมัยเมื่อเป็นเด็กมากมาย อีกทั้งเต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา

           เมื่อเดินขึ้นรถ  เราก็เดินเลียบเลาะไปอยู่สองโบกี้ แล้วก็ตกลงใจได้ไม่ยากว่า ไม่มีที่นั่งแน่นอน  เลยก็หาที่ซึ่งพอจะยืนได้ตรงใกล้ช่วงต่อระหว่างโบกี้  มีอ่างล้างหน้าและที่ว่างอยู่เล็กน้อย  พอหยุดเดินและเริ่มมองหาที่วางกระเป๋า  ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ทั้งแถวซ้ายขวา ต่างก็มีน้ำใจช่วยดูและชี้บอกที่ว่างสำหรับวางกระเป๋า  น้องๆกลุ่มหนึ่งเริ่มให้ข้อมูลว่า  ผู้โดยสารที่นั่งข้างๆหลายคนจะลงที่พิษณุโลก ผมและภรรยายืนไปอีกนิดหน่อยก็จะได้ที่นั่ง  ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง 

           ผมเริ่มได้ที่นั่งตั้งแต่ยังไม่ถึงพิษณุโลกแต่ยังต้องนั่งกระจายกันอยู่  พอถึงพิษณุโลก  คนก็ลงเพิ่มขึ้นอีก เราเลยมีที่ว่างพอที่จะนั่งในที่เดียวกัน  ที่นั่งซึ่งหันหน้าเข้าคู่กับที่นั่งผมกับภรรยา  เป็นผู้โดยสารชายสองคน  อีกฟากหนึง  เป็นกลุ่มผู้โดยสารสตรี  ซึ่งหนึ่งในนั้นนั่งกอดลูกหมาตัวเล็กๆ ไปด้วย มองไปทางไหนก็มีแต่คน  ทว่า มีแววตาพร้อมทักทาย อีกด้านหนึ่งในโบกี้ที่พ่วงถัดไป ก็แน่นไปด้วยผู้โดยสาร  รวมทั้งมีกลุ่มซึ่งจากการแต่งกาย  บอกให้รู้ว่าเป็นพี่น้องชาวมุสลิม  นั่งรวมกันเป็นกลุ่ม 5-6 คนเห็นจะได้  

              เมื่อเริ่มได้ที่นั่ง ผมกับภรรยา ไม่เพียงนั่งคุยกันไปอย่างสัพเพเหระ  ผู้โดยสารที่นั่งตรงข้าม  ก็เริ่มเป็นกลุ่มสนทนาอย่างกันเอง   ผู้คนที่แยกย้ายและร่ำลากันลงอย่างไม่พร้อมกัน ก็ทำให้รู้ว่า กลุ่มคนที่นั่งสนทนากันอย่างออกรสในโบกี้ บ้างก็มาด้วยกัน และบ้างก็เป็นกลุ่มที่อุบัติความเป็นกลุ่มและชุมชนชั่วคราว  เมื่อขึ้นมาอยู่ในรถไฟโบกี้เดียวกัน      

           เมื่อผ่านเลยสถานีจอดมากขึ้น  ที่นั่งก็เริ่มสะดวกสบาย  ผู้คนเริ่มเดินเหิน  บ้างก็นอนเหยียดยาว  เหมือนมีความคุ้นเคยและวางใจต่อสภาพแวดล้อมอย่างเต็มที่  ที่นั่งด้านข้างซึ่งเป็นผู้โดยสารสตรีและอุ้มหมาน้อยอยู่ด้วยนั้น  มีเพื่อนทั้งชายหญิงแวะเวียนมานั่งเล่นกับหมาและกลายเป็นเพื่อนนั่งคุยกันอยู่มิได้ขาด มนุษย์มีธรรมชาติในการอยู่ร่วมกัน เมื่อไม่มีสิ่งอื่นมาเบียดบังความสนใจ  ก็ถักทอและเข้ากลุ่ม  สร้างชีวิตรวมหมู่ด้วยกันได้อย่างง่ายดาย

          สักประมาณตีสอง  ขบวนรถของเราก็ต้องจอดรออยู่ที่สถานีแพร่อยู่กว่าสองชั่วโมง ทราบว่าได้เกิดอุบัติเหตุแถวจังหวัดน่านจากขบวนรถสปริ๊นเตอร์ขาล่อง  อากาศก็ร้อนอบอ้าว  ผู้คนกระวนกระวาย บ้างจับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่มๆ  บ้างหารือที่จะวางแผนเดินทางโดยต่อรถซึ่งมีเอกชนอาสาจัดรถโดยสารขึ้นมาอย่างทันการณ์

           หากเรานั่งรถทัวร์  หรือรถไฟเหมือนกัน  ทว่า เป็นชั้นปรับอากาศแบบสปริ๊นเตอร์ ซึ่งหันหน้าไปในทางเดียวกัน  วิถีชีวิต  อัธยาศัยและน้ำใจผู้คน  ตลอดจนบรรยากาศของการเดินทางจะเป็นอีกแบบ ผู้คนจะระมัดระวังที่จะเข้าไปรบกวนและเกี่ยวข้องกับผู้อื่น  แม้จะแออัดและโดยสารร่วมกันไป แต่ก็หาได้มีสัญญาณของพลังกลุ่ม  แต่ละคนมีความเป็นเอกเทศ  สงวนความเป็นปัจเจก  แปลกหน้า  มีระยะห่าง เห็นขอบเขตและเส้นแบ่งของโลกหลายใบ 

           ส่วนผู้คนที่โดยสารรถไฟโดยเฉพาะในโบกี้ชั้นสามนี้  มีวิถีปฏิบัติตนเหมือนกับกลุ่มคนที่นั่งสองแถว   รถ บขส   หรือ  รถเมล์แบบบ้านนอก  คือต่างลดระดับการเอาแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง เป็นการปรับตัวเข้าหากัน สร้างชีวิตรวมกลุ่ม  มีอัธยาศัย เอื้ออาทร เรียบง่าย  ไม่มีฟอร์ม ต้องเรียนรู้ที่จะฟังและคุยกับผู้อื่น  ดูแลสารทุกข์สุกดิบผู้อื่น  และแบ่งปันโอกาสต่างๆ แก่กัน มีพลังของความเป็นชุมชนและความหลากหลายชีวิตที่ร่วมทุกข์สุขด้วยกัน

           รถไฟโบกี้ชั้นสาม  เปรียบเสมือนรูปแบบและมรรควิถี  ที่กำหนดให้กระบวนการเชิงพฤติกรรมสังคมและวัฒนธรรม ต้องเป็นไปอย่างนั้น  หากไม่เรียนรู้และขาดความสามารถที่จะปรับตัวให้ถูกต้องกับธรรมชาติจำเพาะของมัน  เราก็จะไม่สามารถโดยสารเพื่อเดินทางด้วยเวลาอันยาวนานอย่างมีความสุข  ไม่อาจเก็บเกี่ยวและสร้างความหมาย  ตลอดจนบ่มคุณค่ามากมายของชีวิต ขึ้นมาได้เลย 

           เครื่องมือและวิธีการ  ตลอดจนมรรควิถี  จึงมีนัยสำคัญต่อเรามากกว่าการพิจารณาว่า มีแล้ว  หรือ ยังไม่มี เท่านั้น  เหตุนั้น  มิติเชิงคุณค่า และ การมีความหมาย จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ผมนั่งคุยเรื่องเหล่านี้กับภรรยาจนลืมความเชื่องช้าและความเมื่อยขบทั้งปวง  เดินทางต่อถึงบ้านด้วยความสนุก  ขอบคุณวันสงกรานต์และรถไฟโบกี้ชั้นสาม  ให้ไอเดียผมเยอะเลย.

       

              

หมายเลขบันทึก: 92515เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2007 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • คิดถึงตอนเด็ก ๆ ที่นั่งรถไฟเลยครับ
  • ถ้านั่งรถไฟชั้น 1 หรือ ชั้น 2 อาจจะไม่ได้บรรยากาศเช่นนี้ครับ ขอบคุณที่นำมาแลกเปลี่ยนครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ Kae ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน ดีใจที่เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ได้ร่วมรำลึกถึงความทรงจำดีๆ เลยมีมุมมองที่จินตนาการถึงวัยเด็กมาฝากด้วย  อาจารย์เป็นคนรุ่นใหม่ที่เส้นทางชีวิตและมีแนวคิดที่สะท้อนความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพของสังคมจริงๆ ขอให้มีความสุขและมีพลังชีวิตอยู่เสมอนะครับ 

http://www.pantown.com/board.php?id=11476&area=4&name=board5&topic=88&action=view

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

  • บนรถก็เหมือนหมู่บ้านหรือชุมชนจริง ๆ นั่นแหละอาจารย์
  • เคยไปงานฉันเพลทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านของบุตรสาวหลวงตาในวัดซึ่งเธอเป็นครูซื้อบ้านในเมือง
  • เห็นคนที่บ้านอยู่ติดกันไม่ได้มาร่วมงานด้วยก็คิดว่าคงไม่คุ้นเคยกันก็เลยต่างคนต่างอยู่ กายใกล้กัน แต่ใจอาจจะสื่อไม่ถึงกันห่างกันเหมือนคนละหมู่บ้านเลย
  • แต่ผิดกับชาวบ้านโดยทั่วไปมีงานเห็นมากันทั้งซอยทั้งหมู่บ้านข้ามหมู่บ้านเลย
  • ประชากรหนาแน่นคืออยู่กันอย่างหนาแน่นแออัดยัดเยียด ไม่พอจะอยู่อาศัยแล้วที่อยู่ที่กิน
  • แต่ความหนาแน่นทางกายไม่เคยส่งผลหรือเป็นปัจจัยให้เกิดความหนาแน่นทางจิตใจหนาแน่นด้วยความอบอุ่นความผูกพันแม้แต่น้อย
  • แต่กลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงหนาแน่นแต่กายภาพ แต่จิตภาพกลับหลวมโพลกเพลกเปราะบาง อ่อนแอ เหมือนอยู่ผู้เดียวคล้าย ๆ อยู่บนรถโบกี้ชั้นหนึ่งชั้นสองไม่มีผิดเพี้ยนเลยแหละ
  • เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วสถานีขนส่งสายใตยังอยู่ที่สามแยกไฟฉาย บางกอกน้อยนั้นตอนเดินทางไปภาคใตรถจะแน่นแออัดมาก แต่ส่วนมากคนก็โดยสารรถธรรมดาไม่มีแอร์นะเมื่อก่อน เป็นรถพัดลม
  • คราวหนึ่งนั่งรถพัดลมไปภูเก็ตเจอเด็กหนุ่มชาวอำเภอทุ่งใหญ่ นครศรีธรรมราช มาสอบถามพูดคุยด้วยอย่างนอบน้อมถ่อมตนมาก
  •  ได้ให้ชื่อและที่อยู่ไว้ต่อมาอีกสักห้าหกปี ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ว่าเขาได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตทางรถยนต์ ยังนึกถึงมิตรไตรตรีได้เลยตอนที่เจอกันที่กรุงเทพฯ
  • แกบอกว่าถ้าหลวงพี่ไปนครศรีธรรมราชให้ส่งข่าวติดต่อไปหาได้เลย พออ่านข่าวจึงได้ทราบว่าแกรับราชการอยู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ
  • ขอรำลึกถึงชายหนุ่มผู้จากไป ที่รู้จักกันด้วยการเดินทางอย่างคนจน แต่มีน้ำใจ.

ขอเจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ชุมชนและคนอาศัยในชุมชนด้วยกัน ต้องพัฒนาการเดินเข้าหากันอยู่เสมอ

  • ต้องกราบอภัยพระคุณเจ้า ผมเคยเข้ามาอ่านและเห็นพระคุณเจ้าเข้ามาแลกเปลี่ยน-สนทนาไว้ในนี้แล้วครับ แต่พอเข้าไปตอบในที่อื่นๆก็ลืมไปเลยว่าอันไหนเป็นอันไหน
  • วันสองวันมานี้ มีคนพูดถึงบทความนี้ ๒-๓ คน คนหนึ่งบอกว่าเขาชอบนั่งรถไฟและบรรยากาศระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟ และอีกสองคนเขาบอกว่าเขาได้อ่านแล้วก็สะท้อนให้ฟังว่าเขาชอบเรื่องนี้ ผมเองที่เขียนเองก็เลยกลับมานั่งอ่านของตัวเองอีก เลยได้พบว่ายังไม่ได้เข้ามาตอบที่พระคุณเจ้าแลกเปลี่ยนทรรศนะไว้ในหัวข้อนี้
  • อย่างที่พระคุณเจ้าพูดถึงนั้นเป็นความเป็นจริงที่เห็นได้ทั้งในชนบทและในเมืองครับ ผมเพิ่งคุยหารือกับเพื่อนผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมานี้เองครับ
  • คนเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะในเมืองหรือชนบท ต้องมีคนช่วยให้เดินเข้าหากันและเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน สร้างความเป็นชุมชน และสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกัน ทำได้ยากครับแต่หากต้องการให้เกิดสุขภาวะของชุมชนก็จำเป็นครับ
  • ในหมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่เขาพยายามรวมตัวกันยื่นเรื่องขอตั้งชุมชน แล้วก็ช่วยกันรวบรวมรายชื่อ ทั้งกรรมการและแกนนำที่เป็นตัวแทน กับกลุ่มคนที่อยู่ในหมู่บ้านด้วยกัน เพื่อเป็นรายละเอียดและข้อมูลประกอบการนำเสนอต่อสำนักงานเขตของ กทม. การจัดองค์กรกันเองเป็นชุมชน จะทำให้เราทำสิ่งเพื่อส่วนรวมได้อีกหลายอย่างโดยได้รับการสนับสนุนจากราชการและ กทม.
  • ผมเองนั้นยิ่งเห็นด้วย พยายามสนับสนุนการทำกิจกรรมรวมคน แล้วก็อยากจะทำกิจกรรมสร้างความเป็นชุมชนกับเขา ในใจยังอยากช่วยชาวบ้านตั้งหน่วยดูแลสุขภาพของตนเองโดยชาวบ้าน อยากทำไว้ก่อนที่ผมจะออกไปอยู่ต่างจังหวัด 
  • แต่จนแล้วจนรอดก็หาย พอไปถามดูก็ปรากฏว่า ปัญหาน่ารำคาญใจที่ทำให้กลุ่มชาวบ้านที่เป็นแกนนำหมดกำลังใจเดินต่อมีอยู่เยอะแยะไปหมด ตั้งแต่รวบรวมรายชื่อได้ไม่ครบ เพราะคนไม่ให้ความร่วมมือ
  • พอจัดกิจกรรม ต้องมีการกินข้าวและสร้างความบันเทิงใจกันบ้าง ก็โดนคนที่ทั้งไม่ให้ความร่วมมือแต่อยากมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอาเงินหมู่บ้านมาใช้ฟุ่มเฟือยทั้งที่เป็นเงินที่ควักเนื้อของตนเองออกมาใช้ โดยคิดว่ายอมเสียสละทั้งแรงกายแรงใจและเงินส่วนตัว
  • ผมนึกภาพออกและคิดไว้ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เพราะทุกแห่งที่ผมเคยทำงานกับชุมชน ก็จะต้องมีเรื่องพวกนี้เข้ามาสร้างความรำคาญใจให้ อย่าว่าแต่ในวิถีชุมชนเลยครับ ในองค์กรทำงานสมัยใหม่หรือแม้แต่ในกลุ่มคนที่รวมตัวกันเองก็มีครับ ก็เลยบอกให้เขาว่าไม่ต้องเสียกำลังใจหรอก ขอให้ลองทำอีกเถอะ
  • ที่บ้านนอกก็มีอย่างนี้บ้างเหมือนกันครับ แต่เรื่องพวกนี้ต้องไม่คิดด้วยเหตุผลครับ ต้องใช้จิตใจแบบทำทาน ถือคุณธรรม และใช้หลักพรหมวิหารธรรม จะเจ็บตัวบ้าง กระทบทางจิตใจบ้าง เดือดร้อนตนเองและคนใกล้ชิดบ้าง  หากคิดจะทำก็ต้องกำหนดใจไปเลยว่าต้องทำเหมือนอย่างดูแลญาติพี่น้อง หากอาวุโสหน่อยก็ทำเหมือนทำให้ลูกหลาน
  • เวลาเป็นหัวหน้าคนหรือบริหารองค์กรให้คนอื่นเขาทำงาน ก็ต้องใช้หลักอย่างนี้เหมือนกันครับ บางเรื่องต้องทำเหมือนโง่และยินดีให้คนเดินเหยียบเอาด้วยครับ หากไม่ทำอย่างนี้ก็ปวดใจ ทำไม่ได้ แต่ถ้าหากส่วนรวมดีและเกิดสุขภาวะแก่คนส่วนใหญ่ ซึ่งในที่สุดก็เป็นผลดีต่อเราเองด้วย ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีคนที่อดทนทำอย่างนี้ได้ครับ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท