002 : นาลันทา - มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก


   

หากถือว่ามหาวิทยาลัยมีความสำคัญ เพราะอาจใช้เป็นดัชนีที่สะท้อนความรู้และศักยภาพของสังคมหนึ่งๆ ก็น่ารู้ไว้ว่า มหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกนั้นเกิดขึ้นในอินเดีย ภายใต้วัฒนธรรมพุทธศาสนานี่เอง

       
ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึง นาลันทามหาวิหาร (Nalanda Mahavihara) ซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยนาลันทา ทั้งนี้เพราะแม้สถานที่แห่งนี้จะเริ่มจากการเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาก่อนในระยะแรก แต่ต่อมาได้ขยายขอบข่ายวิชาการครอบคลุมสาขาวิชาอื่นๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย และดาราศาสตร์ อีกทั้งยังรับคฤหัสถ์เข้าเรียนด้วย



นาลันทาในปัจจุบัน


จริงๆ แล้ว หากคิดเฉพาะแค่การศึกษาทางพุทธศาสนา ก็อาจถือได้ว่านาลันทาเป็นสถานศึกษานานาชาติอีกด้วย  เพราะพระสงฆ์ที่มาร่ำเรียนที่นี่ ไม่ได้มีเฉพาะพระอินเดียเท่านั้น พระจากธิเบตก็มี พระจากจีนก็มา แถมยังมีพระจากอาณาจักรศรีวิชัยอีกต่างหาก

        คำว่า นาลันทา หมายถึงอะไร? มาจากไหน?

        เรื่องนี้มีข้อสันนิษฐานหลายอย่าง...
บ้างก็ว่ามาจากคำว่า นาลัน (ดอกบัว) + ทา (ให้) หมายถึง ให้ดอกบัว โดยมีตำนานเสริมว่า บริเวณนี้มีดอกบัวมาก จึงเป็นเสมือนสถานที่ให้ดอกบัว

บ้างก็ว่ามาจาก น + อลัง + ทา หมายถึง ให้ไม่รู้จักพอ  ความหมายอย่างนี้ฟังแล้วงงๆ แต่อาจจะชัดเจนขึ้น หากได้อ่านบันทึกของพระถังซำจั๋ง ความตอนหนึ่งว่า
      
        “ผู้สูงอายุเล่าสืบมาว่า มีสระแห่งหนึ่งในป่าอามรเบื้องใต้ของอาราม พญานาคที่อาศัยอยู่ในสระนามว่า นาลันทา เมื่อมาสร้างอารามอยู่ใกล้สระ จึงตั้งชื่อสระตามชื่อนาค 
        แต่ความหมายที่แท้จริงแล้วคือ เมื่อครั้งพระตถาคตเจ้าเสวยพระชาติโพธิสัตว์เป็นพระราชาของแว่นแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่งได้สร้างราชธานี ณ ที่แห่งนี้ พระองค์มีน้ำพระทัยเมตตากรุณา ทรงมีความยินดีในการบริจาคทานแก่ผู้ยากไร้ ผู้คนทั้งหลายจึงสรรเสริญ ยกย่องพระองค์ว่า ผู้ไม่เบื่อในการให้ทาน เมื่อสร้างอารามเสร็จก็ขนานนามอารามตามชื่อนี้”

        แล้วนาลันทามหาวิหารสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อไร?

        เรื่องนี้ดูเหมือนจะยังไม่ชัด เพราะเอกสารบางแห่งระบุว่าราวปี พ.ศ. 993 แต่หากเชื่อแหล่งข้อมูลของธิเบตซึ่งระบุว่า  ปราชญ์คนสำคัญของพุทธศาสนานิกายมหายาน คือ พระนาคารชุน (Nagarajuna) เคยมาอยู่ที่นาลันทานี้ ก็จะสรุปว่านาลันทาน่าจะสร้างก่อนช่วงปี พ.ศ. 613-713 ซึ่งเป็นช่วงสมัยของนาคารชุน (ช่วงอายุของนาคารชุนที่ให้ไว้นี้ เอกสารแหล่งอื่นๆ อาจจะให้ตัวเลขต่างกันไป)

 

พระถังซำจั๋งเมื่อครั้งเดินทางมาถึงนาลันทามหาวิหาร
(ภาพดัดแปลงจากหนังสือ ภาพประวัติ พระถังซัมจั๋ง เรียบเรียงโดย ล. เสถียรสุต)

        ส่วนบันทึกของพระถังซำจั๋งก็เล่าไว้ว่า พระเจ้าศักราทิตย์ (จีนสมัยถังเรียกว่า ตี้เย่อ) เป็นผู้สร้างอารามแห่งนี้เป็นคนแรก โดยกษัตริย์องค์ต่อๆ มาได้สร้างอารามหลังอื่นทางทิศต่างๆ เพิ่มเติม โดยพระถังซำจั๋งเขียนไว้ว่า

        “… บริเวณอารามทั้งหมดนี้มีกำแพงเดียวกันสูงล้อมรอบและมีประตู [เข้าออก] เดียวกัน จากการก่อสร้างของกษัตริย์หลายยุคหลายสมัย ที่นี่จึงเป็นอารามที่จำหลักกันอย่างสุดฝีมือ วิจิตรโอฬารหาใดเทียม”

        ในยุคแรกๆ นั้น นาลันทามหาวิหารนับเป็นแหล่งชุมนุมของนักปราชญ์ทางพุทธศาสนา (ฝ่ายมหายาน)  มากมาย เช่น นาคารชุน อสังคะ ทินนาค และท่านอื่นๆ อีกหลายท่าน รวมทั้งพระถังซำจั๋ง จึงนับเป็นศูนย์กลางในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่พุทธศาสนา

       

อย่างไรก็ดี ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ได้ชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ การที่มีอาจารย์เก่งๆ  มากระจุกรวมกันนี่เอง ทำให้พระดีมีความสามารถมุ่งเข้าสู่ศูนย์กลาง ผลก็คือวัดพุทธในชนบทได้อ่อนแอลง จนทำให้วัดฮินดูเข้มแข็งขึ้น จนในที่สุด วัดพุทธในชนบทก็ถูกฮินดูกลืนไป

        ส่วนในตัวนาลันทาเองนั้น เมื่อพระอยู่สบาย คือ ได้รับการอุปถัมภ์จากทางการอย่างดี ก็เลยขาดความสัมพันธ์กับชาวบ้าน แถมตัวพระเองก็หันไปสนใจเรื่องทางปรัชญา อภิปรัชญา หรือถกเถียงกันด้วยเหตุผลและทฤษฎีต่างๆ อีกทั้งยังมัววุ่นวายกับพิธีกรรมต่างๆ มากมาย

        ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้พระห่างจากการปฏิบัติ นั่นคือ มัววุ่นกับเปลือกจนลืมแก่น และเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดกับกับนาลันทามหาวิหารเท่านั้น แต่สถาบันทางพุทธศาสนาใหญ่ๆ ในช่วงเวลานั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

        ในที่สุด อวสานที่แท้จริงก็มาถึง เมื่อกองทัพเติร์กซึ่งทำสงครามชิงดินแดนไล่มาเรื่อยบุกมาถึงนาลันทาในปี พ.ศ. 1736  โดยเผาทำลายอาคาร ส่งผลให้พระสงฆต้องหนีกระจัดกระจายไป สิ้นสุดพุทธศาสนาในอินเดีย


        ซากปรักหักพังของนาลันทามหาวิหาร อาจทำให้เรานึกได้ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธศาสนาในอินเดียได้เจริญรุ่งเรืองอย่างสูง แต่ก็ได้ผันผวนตกต่ำลงไปตามหลักเหตุปัจจัย อันเป็นหลักสำคัญในพุทธธรรมนั่นเอง
       


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

  • หนังสือ ถังซำจั๋ง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง เขียนโดย ชิว ซูหลุน สำนักพิมพ์มติชน (ISBN 974-323-332-6) หน้า 379-386
  • หนังสือ จาริกบุญ จารึกธรรม เขียนโดยท่านพระธรรมปิฎก (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) สนพ. มูลนิธิพุทธธรรม (ISBN 974-7890-74-7) หน้า 46-66


ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ท่องเวลา-ผ่าอารยธรรม ในเซ็คชั่น จุดประกายเสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ 30 กันยายน 2549
  • ดัดแปลงนำลงใน GotoKnow เพื่อประโยชน์สาธารณะ

บันทึกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใน G2K


คำสำคัญ (Tags): #นาลันทา
หมายเลขบันทึก: 184805เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2008 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีครับ

เป็นเรื่องทีอยากอ่านเพราะไปเยือนสถานที่มาแล้ว

เสียดายที่ไม่มีการจัดการที่ดีพอ ณ ซากสลักหักพัง ทำให้คนที่ไปเยี่ยมชมไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มเติมนอกจากเห็นแต่สถานที่

ไม่ซาบซึ้งนัก

ไม่เหมือนทางยุโรปที่หากมีสถานที่สำคัญเช่นนี้ จะมีการจัดการความรู้มากกว่านี้ เช่นการทำห้องแสดงประวัติศาสตร์ จำลองเหตุการณ์หรือพาโนรามา

ในที่สุดก็เข้าใจเพราะอินเดียปัจจุบันเป็นฮินดู

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ในที่สุด อวสานที่แท้จริงก็มาถึง เมื่อกองทัพเติร์กซึ่งทำสงครามชิงดินแดนไล่มาเรื่อยบุกมาถึงนาลันทาในปี พ.ศ. 1736  โดยเผาทำลายอาคาร ส่งผลให้พระสงฆต้องหนีกระจัดกระจายไป สิ้นสุดพุทธศาสนาในอินเดีย
  • เสียดายที่โดนผู้รุกลานทำลายและเผาทิ้ง
  • แต่พุทธศาสนาก็เหมือนกับผลไม้ที่หล่น (ผลโพธิ์) ไกลต้นนะครับ 
  • ในยุคสมัยอยุธยา ทางศรีลังกาได้แต่งทูตมา ขอพระพระสงฆ์ไทย ให้ไปเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับเหล่ากุลบุตร ที่ศรีลังกา เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนา ทางไทยเองก็ได้ส่ง พระสมณทูต เดินทางไป บวชพระให้กับชาวศรีลังกา ฟื้นฟู พุทธศาสนาให้กลับมารุ่งเรืองใหม่ (นิกายสยามวงศ์)  
  • ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนะครับ มาอ่านและลงชื่อไว้ครับกระผม

 

สวัสดีครับ อาจารย์ P พลเดช วรฉัตร

       เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ และยังคิดว่าสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในประเทศไทยบ้านเรานี่ ยังขาดข้อมูลดีๆ และคนอธิบายเก่งๆ ที่จะทำให้สถานที่แห่งนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

       เมื่อไม่นานมานี้ ได้แวะไปวัดเก่าแห่งหนึ่งในอยุธยา โชคดีไปเจอกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีไกด์นำชม ผมเลยแอบแจมเข้าไปขอฟังด้วย

       คุณไกด์อธิบายเป็นภาษาอังกฤษก็จริง แต่เนื้อหาแจ๋วมาก ทำให้เห็นภาพเลยว่า ทำไมสถาปัตยกรรมที่สร้างในสมัยอยุธยาจึงเป็นอย่างที่เห็น โดยเชื่อมโยงกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ด้วยครับ  ^__^

สวัสดีครับ อาจารย์ P กวิน

       อาจารย์จะพอมีแรงบันดาลใจเขียนโคลงว่าด้วย นาลันทา ซะหน่อยไหมครับ? ^__^

สวัสดีค่ะ อ.บัญชา

  • ตามท่านอ.พลเดช และคุณกวินมาอ่านค่ะ
  • พบว่าบันทึกดี ๆ เช่นนี้ กลับไม่ค่อยมีคนมีโอกาสได้อ่าน
  • ได้ความรู้และยังมีภาพประกอบที่งดงามชัดเจนด้วย
  • ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ บ้างนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ

เรียน ท่านอาจารย์

...  มาอ่านเรื่องราวของนาลันทา ..

....  สถานที่หนึ่งในทรงจำ ในใฝ่ฝันค่ะ

... ขออนุญาตินำเข้าแพลนเน็ต

.. แล้วจะติดตามต่อไป ขอบพระคุณค่ะ  ....

สวัสดีครับอาจารย์ถ้าแต่งโคลงแล้วจำเป็นต้องมีการพาดพิงกันในเชิงศาสนาน่ะครับ กลัวโดนเผาบ้านน่ะครับ อิๆ

สวัสดีครับ คุณ P คนไม่มีราก & คุณ P  poo

       รู้สึกยินดีที่บทความนี้มีประโยชน์นะครับ เป็นบทความที่ผมเขียนลง นสพ. ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว ตอนนี้คอลัมน์นี้ก็ยังอยู่ แต่ผมไปเน้นอารยธรรมของพวกอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) อยู่ครับ

บัญชา

สวัสดีครับ อาจารย์ P กวิน

       เออ! จริงด้วยครับ มีความเสี่ยงสูง...อิอิ

แต่ถ้าอาจารย์จะแต่ง ก็เอาแค่ว่าที่นี่เป็นแหล่งรวมความรู้ของปราชญ์ในยุคโบราณก็น่าจะพอไหวครับ (อะไรทำนองนี้)

สวัสดีครับ

ภาพสวยจังเลยครับ

อยากไปดูมั่ง

สวัสดีครับ อาจารย์ธวัชชัย

แหม! กำลัง on-line อยู่พอดี ผมก็อยากไปดุเหมือนกัน เคยเห็นแต่ในสารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้าครับ (ในนั้นมีภาพ 3D graphics ด้วย)

สวัสดีค่ะอาจารย์บัญชา

มีเพื่อนมาตามให้มาอ่านค่ะ ได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับ นาลันทา และพระถังซำจั๋งก็มาที่นี่ด้วย

ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา

ดินแดนประวัติศาสตร์ ที่ทรงคุณค่า

ขอบคุณมากๆครับที่นำมาเผยแพร่  จะคอยติดตามต่อไป

มาเยี่ยมยาม ตามคำแนะนำ

ของ ท่าน ฅ ฅ ไม่มีรากครับ

สวัสดีครับ ถ้ามีข้อคิดเห็น หรือแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็บอกมาได้เลยครับ

ขอบคุณอาจารย์ P JJ สำหรับภาพที่ทำให้รู้สึกสงบและร่มเย็น ครับ ^__^ 

เป็นความรู้ใหม่ที่น่าสนใจคับผม...

ขอบคุณมาก ๆ ครับที่นำมาแบ่งปันครับ...

สวัสดีค่ะ คุณบัญชา

.เข้ามาอ่านบันทึก และเห็นภาพสวยชัดเจน ที่ดิฉันไปเห็นก็เป็นอย่างนั้นค่ะ ถ่ายมาได้หลายๆภาพ แต่ฝีมือสมัครเล่น มุมกล้องไม่ค่อยสวยเท่าที่ควร

.ดิฉันเดินทางเส้นทางสังเวชนียสถาน จึงได้แวะชมมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย ดิฉันไปคราวนั้นมีพระธรรมทูต อาจารย์สำเนียง เลื่อมใสซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการสันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยที่เมืองพาราณสี ท่านเคยเป็นพระและมีความรู้ในเรื่งอินเดียมาก ประกอบกับดิฉันเป็นพุทธที่มีความเลื่อมใสในศาสนา เคยศึกษามาพอสมควร ในบันทึกไปไหนไปด้วยจึงเขียนถึงสถานที่ที่เป็นสังเวชนียสถานไว้ด้วยค่ะ

.นาลันทา ที่ดิฉันศึกษามาเหมือนในบันทึกของคุณบัญชา และยังได้รู้เพิ่มเติมมากขึ้นจากบันทึกนี้ ทราบว่า มีบันทึกกล่าวว่า นักรบมุสลิมหรือเตอร์กได้เขียนว่า แปลกมากที่นักรบที่นี่ไม่ต่อสู้เลยปล่อยให้ฆ่าฟันโดยง่าย แสดงว่าพระสงฆ์ไม่หนีและไม่ต่อสู้ นั่งสมาธิให้ฟันคอได้เลย

.ไปนาลันทาคราวนี้ สถานที่สงบเงียบ รัฐบาลก็ดูแลสถานที่ดี แต่ประเทศอินเดียเขานับถือศาสนาฮินดู จึงไม่ค่อยให้ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวมากนัก

.ไปนาลันทา ก็จะทำให้หลักคำสอนของพระพุทธองค์เรื่องไตรลักษณืชัดเจนขึ้น

ขอบคุณความรู้ดีๆนะคะ

สวัสดีครับ อาจารย์ อุดมพันธ์

       อาจารย์ได้เดินทางไปกับผู้รู้ และเคยได้ศึกษาอยู่ก่อนแล้ว เวลาไปเยี่ยมเยือนสถานที่แต่ละแห่ง ก็จะมีมุมมองที่ลึกเข้าไปในกาลเวลา มากกว่าเห็นแค่ซากปรักหักพัง

       ไว้จะหาโอกาสไปอ่านบันทึกของอาจารย์เกี่ยวกับอินเดียครับ

ผมกำลังใจสนใจเรื่อง การล่มสลายของนาลันทาอยู่ครับ

คิดว่าจะหาตำราอ่าน ทำความเข้าใจ

ลองวิเคราะห์เล่นๆดู การล่มสลายของนาลันทา หมายถึง ระบบการจัดการความรู้ที่มีปัญหาไปด้วย

น่าสนใจมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท