007 : มัจฉาจมวารี...ไซซี หญิงงามผู้พลิกแผ่นดินจีน


 


จีนมีประวัติศาสตร์เนิ่นนานหลายพันปี และมีบันทึกเกี่ยวกับหญิงงามไว้มากมาย
แต่หากถามว่า สตรีที่งดงามที่สุดในยุคโบราณคือใคร
คำตอบแรกสุดน่าจะเป็น ซีซือ (ตามสำเนียงภาษาจีนกลาง)
หรือที่คนไทยรู้จักในนาม ไซซี (ตามสำเนียงฮกเกี้ยนในเรื่องเลียดก๊ก) นั่นเอง

 


ชีวิตของไซซีเกี่ยวพันกับการเมืองการปกครองในยุคที่เธอมีชีวิตอยู่คือ ยุคชุนชิว อย่างมาก ยุคชุนชิวนี้เริ่มตั้งแต่ปี 722  จนถึงปี 476 ก่อนคริสตศักราช โดยเป็นส่วนหนึ่งในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก (ยุคชุนชิวนี้มีคนดังระดับโลกที่อยู่ร่วมสมัยกับไซซีอีกหลายคน เช่น ขงจื๊อจอมปราชญ์ และซุนวูผู้แต่งคัมภีร์พิชัยสงครามอันเลื่องชื่อ)


ในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก ราชสำนักโจวมีเมืองหลวงอยู่ที่ลั่วอี้ แต่ก็มีอำนาจน้อยนิด เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือของอ๋องแห่งแคว้นต่างๆ โดยรอบที่แย่งชิงความเป็นใหญ่กันตลอด แคว้นที่สำคัญได้แก่ ฉิน จิ้น ฉี ซ่ง ฉู่ อู๋ และเย่ว์ เรื่องของสาวงามไซซีเกี่ยวพันกับสองแคว้นสุดท้ายนี้ได้แก่ อู่ และเย่ว์ นี่เอง

แผนที่อารยธรรมจีน สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก


เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นแบบแค้นนี้ต้องชำระ (ตามสไตล์นิยายจีน) โดยเจ้าแห่งแคว้นอู๋ ชื่อ หวางฟูไซ ได้เปิดศึกและเอาชนะแคว้นเย่ว์เพื่อล้างแค้นให้กับพ่อ ทำให้โกวเจี้ยนกับภรรยาถูกจับตัวเป็นเชลยอยู่ที่แคว้นอู๋

หวางฟูไชแกล้งโก้วเจี้ยนและภรรยาต่างๆ นานา เช่น ให้โกวเจี้ยนเฝ้าสุสานเหอหลู เลี้ยงม้า และจูงม้า ส่วนภรรยาก็ให้กวาดคอกม้าและเช็ดรถ พูดภาษาสมัยนี้คือ ฟูไชเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของโกวเจี้ยนซะป่นปี้ ไม่มีชิ้นดี


โก้วเจี้ยนยอมทนความอัปยศ โดยทำทุกอย่างเพื่อลวงให้ฟูไชตายใจ อีกทั้งยังติดสินบนป๋อผี่ขุนนางคนสำคัญของแคว้นอู๋  จนฟูไซยอมปล่อยให้กลับไปครองแคว้นเย่ว์ (ในฐานะเมืองขึ้นของแคว้นอู๋) หลังจากตกเป็นเชลยอยู่ 3 ปี


เมื่อกลับถึงแคว้นเย่ว์ โกวเจี้ยนจึงตั้งปณิธานว่าจะต้องล้างอายให้จงได้ โดยซุ่มสร้างกองกำลังขึ้นมาเพื่อรอโอกาส ทั้งนี้โกวเจี้ยนยังเตือนตัวเองด้วยการกินอยู่อย่างเรียบง่าย นอนบนเสื่อ และหนุนฟืนต่างหมอน

ส่วนในห้องพักก็แขวนดีสัตว์เอาไว้ โดยก่อนกินอาหารแต่ละมื้อ ก็จะชิมรสขมของดีนั้นก่อน พฤติกรรมของโกวเจี้ยนนี้ต่อมากลายเป็นสำนวนจีน “โว่ซินฉางต่าน” ซึ่งอาจารย์ เล่า ชวน หัว แปลเล่นสัมผัสว่า “ทนนอนบนท่อนฟืน กล้ำกลืนรสดีขม” อันหมายถึง ความอดทนที่มีปณิธานแน่วแน่


นอกจากนี้ ขุนนางคนสำคัญของแคว้นเย่ว์ คือ ฟ่านหลี และเหวินจ้ง ได้เสนอ “กลสาวงาม” เพื่อทำให้หวางฟูไชลุ่มหลง 

สาวงามสองคนคือ ไซซี และเจิ้งตั้น ได้รับการคัดเลือกเพื่อภารกิจนี้ โดยก่อนส่งตัวไป ได้ทำการฝึกสอนศิลปวิทยาต่างๆ เช่น การขับร้อง การฟ้อนรำ รวมทั้งกิริยามารยาทต่างๆ เพื่อปรนนิบัติผู้ชาย ระหว่างที่ฝึกสอนอยู่ราว 3 ปีนี้ ตำนานเล่าว่าฟ่านหลีกับไซซีได้ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แต่ภารกิจเพื่อแผ่นดินเกิดนั้นยิ่งใหญ่กว่า จึงต้อง “จำใจ จำจากเจ้า จำจร”


ฝ่ายอ๋องฟูไซเมื่อได้ยลโฉมสาวงามทั้งสองก็น้ำลายหก รีบรับไว้ ไม่ฟังคำทักท้วงใครทั้งนั้น (บางตำรากล่าวว่า ช่วงนี้ซุนวูก็ยังทำงานให้กับอ๋องฟูไซอยู่ แต่เมื่อเห็นว่าฟูไซลุ่มหลงอิสตรีจนสุดจะปรามแล้ว จึงปิดตำราขอลาออกไปใช้ชีวิตในชนบท)


ไซซีงดงามขนาดไหนไม่มีเอกสารร่วมสมัยบรรยายไว้ แต่หนังสือเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงคือ หนังสือของจวงจื่อ (ราว พ.ศ. 74-167) ซึ่งระบุไว้ว่า ขนาดไซซีเอามือกุมหัวใจ ทำหน้านิ่ว เพราะรู้สึกเจ็บ ก็ยังงดงามนัก

ส่วนหลี่ไป๋ ยอดกวีของจีน (พ.ศ. 1244-1305) ได้พรรณาความงามของไซซีเอาไว้ว่า “ได้ยลโฉมนงนุชสุดโสภา แม้มัจฉาตะลึงชมจมวารี” คือ ไซซีนั้นเดิมเป็นคนฟอกด้าย เมื่อไปฟอกด้ายที่ริมน้ำ ปลาที่กำลังว่ายน้ำอยู่แลเห็นเข้า ก็ถึงขนาดตกตะลึง เอาแต่จ้องจนลืมว่าย ทำให้จมดิ่งลงในน้ำ จนเป็นที่มาของ “มัจฉาจมวารี” อันลือลั่น


มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสติปัญญาอันลึกล้ำของไซซีด้วยว่า ครั้งหนึ่ง หวางฟูไซฝันร้ายเห็นตะวันดับลับฟ้า ทะเลเหือดแห้ง ภูเขาพังทลาย และดอกไม้เฉาโรย

ขุนนางชื่อ หวู่จื่อซี จึงเตือนสติว่า เป็นเพราะท่านอ๋องละเลยราชการแผ่นดิน มัวเมาในสุรานารี ในขณะที่โกวเจี้ยนนอนหนุนฟืนแข็งกินดีขม จ้องล้างแค้น จึงควรฆ่าโกวเจี้ยน แล้วไล่หญิงงามจากแคว้นเย่ว์ออกไปซะ

ฟูไซได้ฟังก็กังวล แต่ยังตัดใจไม่ลง ครั้นเมื่อไซซีรู้เข้าก็แก้เกมโดยแสร้งหัวเราะแล้วบอกว่า ขุนนางท่านอ๋องพวกนี้ล้วนไม่เอาไหน นี่เป็นฝันดีแท้ๆ ก็ไม่เข้าใจ อ๋องฟูไซจึงสงสัยยิ่ง ถามว่าฝันนี้ดียังไง 


ไซซีจึงแก้ฝันเป็นบทกวี โดยอาจารย์ถาวร สิกขโกศล ถอดความเป็นกลอนไทยไว้ดังนี้

 “ซึ่งฝันว่าตะวันดับลับขอบฟ้า    ดาวธรรมราชาจะปรากฏ         
  ฝันว่าทะเลเหือดแห้งหมด    มกรยศจะกระเดื่องพระเดชา
  ภูเขาพังแผ่นดินจะราบคาบ    เพราะพระปราบอริสิ้นทุกทิศา
    ซึ่งฝันว่าดอกไม้หมองโรยรา     พืชพรรณธัญญาจะสมบูรณ์”

นี่เองที่ทำให้ฟูไซลุ่มหลงไซซีหนักยิ่งขึ้นไปอีก!


ในที่สุด เมื่อโกวเจี้ยนเข้มแข็ง ก็เข้าตีแคว้นอู๋จนแตก กำจัดฟูไช และผนวกแคว้นอู๋เข้าเป็นของตน แต่เมื่อเลื่อนชั้นเป็นเจ้านครรัฐมหาอำนาจแล้ว โกวเจี้ยนก็ลืมตัวและบ้าอำนาจถึงขนาด “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” (สงสัยกินดีขมนานไปหน่อยจนเพี้ยน?) ฟ่านหลีจึงต้องพาไซซีหนี เปลี่ยนชื่อแซ่ และอาชีพ โดยต่อมา ฟ่านหลีได้กลายเป็นเจ้าสัวใหญ่คนแรกของจีน


คนจีนยกย่องไซซี ไม่ใช่เพียงแค่เพราะความงามแสนพิสุทธิ์และสติปัญญาสุดล้ำเลิศของเธอ
แต่เพราะว่าเธอยอมเสียสละตนเองเพื่อแคว้นเย่ว์อันเป็นมาตุภูมินั่นเอง

 

 


ขุมทรัพย์ทางปัญญา

        ขอแนะนำหนังสือ สี่ยอดหญิงงาม ผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน เขียนโดย ถาวร สิกขโกศล (พิมพ์ครั้งที่สี่) บริษัท สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด (ISBN 974-341-061-9) หน้า 1-47 และหนังสือ เลียดก๊ก ฉบับกู้ชาติ เล่ม 2 เขียนโดย เล่า ชวน หัว สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ (ISBN 974-94403-8-2)

        ส่วนเว็บ ลองไปที่ The four most beautiful woman in the ancient China ที่ http://www.chinatown-online.com/cultureeye/common/four.htm 

 

 


 

ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ ท่องเวลา-ผ่าอารยธรรม นสพ. กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่น เสาร์สวัสดี (เสาร์ 21 ตุลาคม 2549)
  • ดัดแปลงเพื่อนำลงใน GotoKnow เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • ตีพิมพ์ในหนังสือ เปิดกรุเวลา ผ่าอารยธรรม สนพ.ฐานบุ๊คส์  

Bunchabook1


บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 


 

คำสำคัญ (Tags): #ไซซี
หมายเลขบันทึก: 187350เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ
  • เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นแบบแค้นนี้ต้องชำระ (ตามสไตล์นิยายจีน) โดยเจ้าแห่งแคว้นอู๋ ชื่อ หวางฟูไซ ได้เปิดศึกและเอาชนะแคว้นเย่ว์เพื่อล้างแค้นให้กับพ่อ ทำให้โกวเจี้ยนกับภรรยาถูกจับตัวเป็นเชลยอยู่ที่แคว้นอู๋  หวางฟูไชแกล้งโก้วเจี้ยนและภรรยาต่างๆ นานา เช่น ให้โกวเจี้ยนเฝ้าสุสานเหอหลู เลี้ยงม้า และจูงม้า ส่วนภรรยาก็ให้กวาดคอกม้าและเช็ดรถ พูดภาษาสมัยนี้คือ ฟูไชเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของโกวเจี้ยนซะป่นปี้ ไม่มีชิ้นดี โก้วเจี้ยนยอมทนความอัปยศ โดยทำทุกอย่างเพื่อลวงให้ฟูไชตายใจ อีกทั้งยังติดสินบนป๋อผี่ขุนนางคนสำคัญของแคว้นอู๋  จนฟูไซยอมปล่อยให้กลับไปครองแคว้นเย่ว์ (ในฐานะเมืองขึ้นของแคว้นอู๋) หลังจากตกเป็นเชลยอยู่ 3 ปี เมื่อกลับถึงแคว้นเย่ว์ โกวเจี้ยนจึงตั้งปณิธานว่าจะต้องล้างอายให้จงได้ โดยซุ่มสร้างกองกำลังขึ้นมาเพื่อรอโอกาส ทั้งนี้โกวเจี้ยนยังเตือนตัวเองด้วยการกินอยู่อย่างเรียบง่าย นอนบนเสื่อ และหนุนฟืนต่างหมอน
  • เคยอ่านเจอว่า กุนชือ ของ โกวเจี้ยน แนะอุบาย ชิมอุจจาระตรวจโรค ให้แก่ โกวเจี้ยน
  • โกวเจี้ยน จึงจำใจต้อง แสร้งขันอาสา วินิจฉัยโรค ให้หวางฟูไซ  โดยอ้างว่าตัวเองรู้วิชาแพทย์ เพียงแค่ชิมอุจจาระ ก็จะทราบอาการ ความป่วยไข้
  • หวางฟูไซ ตายใจที่เห็น โกวเจี้ยน  ชิมอุจจาระของตนเพื่อวินิจฉัยโรค จึงใจอ่อนยอมปล่อย ตัว โกวเจี้ยนกลับยังแว่นแคว้นของตน
  • ต่อมา โกวเจี้ยน รวบรวบกำลังพล+ใช้กลหญิงงาม ทำให้ หวางฟูไซ ต้องพ่ายแพ้ลงไปในที่สุด
  • เราจึงมักได้ยินหนังจีน ยกสำนวน ลูกผู้ชายแก้แค้นสิบปียังไม่สาย ขึ้นมาอ้างเสมอๆ นะครับ
  • อีกสำนวนหนึ่งครับ แค้นนี้ต้องชำระ (ทำให้นึกถึง โกวเจี้ยน+หวางฟูไซ+อุจจาระและการ ใช้กระดาษชำระ นะครับ ฮาๆเอิ๊กๆ
  • มา ลปรร. ครับ กระผม

สวัสดีครับ

ภาพสวยมากครับ

สวัสดีค่ะ

  • มาอ่านและมาอีกครั้งตามคำชวนคุณกวินค่ะ
  • ได้มาอ่านการแลกเปลี่ยนของคุณกวินด้วย ก็ยิ่งเพิ่มความรู้ขึ้นอีกค่ะ
  • ขออนุญาตมองอีกมุมหนึ่งที่ต่างจากคุณกวินค่ะ
  • ความเห็นส่วนตัวกับสำนวนจีนที่ว่า...ลูกผู้ชายแก้แค้นสิบปียังไม่สาย ...นั้น ความจริงน่าจะหมายถึงการรู้จัดอดทน ข่มกลั้น และรอโอกาสจังหวะที่เหมาะสมในการทำการสิ่งใดก็ตาม...และถ้าเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป...อาจจะไม่ต้อง แก้แค้น ก็ได้ เพราะผู้ทำสิ่งที่ไม่ดีนั้น กฏแห่งกรรมมักจะจัดการลงโทษเขาเองอยู่แล้ว
  • แม่ของคนไม่มีรากจะสอนลูกหลานเสมอว่า...อย่าไปยุ่งหรือทะเลาะกับ คนพาล แม้เขาจะล่วงเกินเรา .. เพราะถ้าเขาทำแบบนี้ก็ต้องมีคนทำแบบนี้กับเขาเหมือนกัน เราไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงรอให้เวลาจัดการกับเขาเองค่ะ
  • แต่คนมักตีความว่า...การแก้แค้นนั้น ..นานเท่าไหร่ก็ต้องแก้แค้นให้ได้แม้จะต้องใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม ...
  • โลกจึงวุ่นวายมาก...อาจเป็นเพราะเราเข้าใจคำสอนผิดเพี้ยนไปจากความหมายอันแท้จริงหรือเปล่า
  • ขอบคุณอ.บัญชาค่ะ
  • ^_^

ไซซี (ซีซือ) ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ
ไซซี หรือซีซือ นามอี๋กวง เกิดในสมัยชุนชิว (ช่วงปี 722-481 ก่อนคริสต์ศักราช) ที่มณฑลเจ้อเจียง เป็นผู้ที่มีความงดงามมาแต่กำเนิด

ในสมัยชุนชิวนี้ รัฐอู่และรัฐเยว่ทำสงครามกัน เนื่องจากรัฐอู่มีกำลังทหารที่กล้าแข็ง ในเวลาที่ไม่นานนักก็สามารถเอาชนะรัฐเยว่ได้ และนำเอาเยว่อ๋องโกวเจี้ยน และอัครเสนาบดีนามฟ่านหลี่ ไปเป็นตัวประกัน เพื่อแก้แค้นที่ชาติถูกรุกราน เยว่อ๋องยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของอู่อ๋อง และแสร้งว่ามีความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งอู่อ๋องมีอาการปวดท้อง บรรดาหมอหลวงทั้งหลายที่เชิญมาต่างก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร เมื่อเยว่อ๋องโกวเจี้ยนได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ชิมอุจจาระของอู่อ๋องต่อหน้าบรรดาขุนนางทั้งหลาย และกล่าวว่า “ท่านอ๋องไม่ได้ป่วยเป็นโรคอันใด แค่โดนความเย็นมากไปเท่านั้น เพียงดื่มเหล้าให้ร่างกายอบอุ่นก็เพียงพอแล้ว” อู่อ๋องทำตามที่โกวเจี้ยนแนะนำดื่มเหล้าเข้าไปเล็กน้อย ก็มีอาการดีขึ้นทันที อู่อ๋องเห็นว่าโกวเจี้ยนมีความจงรักภักดี จึงปล่อยตัวให้กลับรัฐเยว่

โกวเจี้ยนกลับไปยังรัฐเยว่แล้ว ฟ่านหลี่ก็ได้เสนอแผนกู้ชาติ 3 แผนให้แก่เยว่อ๋อง หนึ่งคือ สั่งสมกำลังทหาร ฝึกฝนการรบ สองคือพัฒนาด้านการกสิกรรม และสามคือ คัดเลือกหญิงงามเพื่อส่งให้แก่อู่อ๋อง เพื่อเป็นสายคอยส่งข่าวภายในให้ ในเวลานั้น มีหญิงสาวนามว่าไซซี เป็นหญิงซักผ้า มีรูปร่างหน้าตางดงามเหนือกว่าผู้อื่น เมื่อนางไปซักผ้าอยู่ริมแม่น้ำนั้น น้ำอันใสสะอาดจะสะท้อนเงาอันงดงามของนาง ทำให้ยิ่งดูงดงามมากยิ่งขึ้น เมื่อมองเห็นเงาของนางแล้ว บรรดาปลาทั้งหลายที่ว่ายน้ำอยู่ ต่างก็ลืมที่จะว่ายน้ำ และค่อยๆจมลงสู่ก้นแม่น้ำไป นับแต่นั้นมาฉายา “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ”ของไซซี ก็เล่าลือกันไปทั่วบริเวณนั้น หลังจากที่ไซซีถูกเลือกไปถวายแล้วนั้น เมื่ออู่อ๋องเห็นไซซีมีรูปโฉมที่งดงาม ก็เกิดความลุ่มหลงเป็นอย่างมากจนกระทั่งละเลยราชการ ไม่สนใจบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงเรื่อยๆ เยว่อ๋องโกวเจี้ยน จึงถือโอกาสยกทัพเข้าโจมตีรัฐอู่ และสามารถกู้ชาติได้สำเร็จ ไซซีเสียสละเพื่อบ้านเมือง แสดงให้เห็นถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่มีความรักชาติเป็นอย่างยิ่ง
ตำนานเล่าว่า หลังจากที่รัฐอู่พ่ายแพ้แล้ว ไซซีได้ออกท่องเที่ยวไปกับฟ่านหลี่ ไม่ทราบว่าสุดท้ายมีชะตากรรมอย่างไร เป็นที่ระลึกถึงของชนรุ่นหลังตลอดมา

สวัสดีครับ อาจารย์กวิน

  • ก่อนอื่น อย่าเรียกผมว่า "ท่านอาจารย์ ดร." เลยครับ มันเขิน...แหะ..แหะ 
  • เรียกชื่อเล่นผมว่า "ชิว" ก็ได้ (ผมอายุ 42 ปีนี้ เป็นรุ่นเดียวกัน หรือพี่ หรือน้อง ให้นับเอาเอง..อิอิ) คำว่า "ชิว" นี่เป็นคำเดียวกับสมัย "ชุนชิว" ด้วยนะครับ "ชุน" คือ ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ส่วน "ชิว" คือ ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) ครับ
  • เรื่อง ชิมอุจจาระตรวจโรค นี่เด็ดดีแท้ ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง (fact) หรือ ตำนาน (myth) ที่แต่งเติมเข้ามาให้เรื่องมีสีสันนะครับ
  • ชอบข้อสังเกตเรื่อง "กระดาษชำระ" ฟังแล้วเหมือน แค้นต้องชำระจริงๆ ด้วย ;-)

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ธวัชชัย

      วันนี้ถ้าไม่พลาด เจอกันใน Origami Workshop ที่ทับแก้วครับ ^__^

สวัสดีครับ คุณ P คนไม่มีราก

      ชอบคำสอนของคุณแม่จังครับ

      "แม่ของคนไม่มีรากจะสอนลูกหลานเสมอว่า...อย่าไปยุ่งหรือทะเลาะกับ คนพาล แม้เขาจะล่วงเกินเรา .. เพราะถ้าเขาทำแบบนี้ก็ต้องมีคนทำแบบนี้กับเขาเหมือนกัน เราไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงรอให้เวลาจัดการกับเขาเองค่ะ"

     แต่จะทำอย่างนี้ได้ แสดงว่าจิตต้องผ่านการฝึกฝน อบรมมาเป็นอย่างดี หรือไม่ก็เป็นอย่างนี้มาแต่กำเนิดครับ

     แม่ผมเคยบอกว่า มีคนบางคนที่เป็นคนไม่เจ้าคิดเจ้าแค้นใคร  แล้วก็ยกตัวอย่างญาติคนหนึ่งให้ฟัง ตอนแรกผมก็สงสัยว่า ฮ้า! มีจริงๆ รึ แต่หล้งจากทำงานไปได้พักหนึ่ง ก็พบว่ามีจริงๆ ด้วยครับ

ขอบคุณคุณ Natapol มากครับ ที่มาช่วยเพิ่มเติมเกร็ด & รายละเอียดให้เรื่องนี้สมบูรณ์ขึ้น

      เพิ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนนี้ (มิถุนายน 2551) อาจารย์ชาญวิทย์ฯ บอกว่า ควรอ่านประวัติศาสตร์หลายฉบับ หลายการตีความ (เพื่อให้เกิดสติปัญญา วิเคราะห์ สังเคราะห์ ได้ด้วยตนเอง - อันนี้ผมเดาต่อเอง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท