009 : เทพ คือสัญลักษณ์แห่ง ‘ชนชั้น’? ตอนที่ 2/2



ต่อจากตอนที่แล้ว : เทพ คือสัญลักษณ์แห่ง ‘ชนชั้น’? ตอนที่ 1/2


 

ลองมาดูตัวอย่างที่สนับสนุนสมมติฐานไตรกิจจา (Trifunctional hypothesis) ของ ชอร์ช ดูเมซิล กันต่อ ภาพพรมผนัง (tapestry) ที่เห็นนี้ถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในดินแดนที่เป็นประเทศสวีเดนในปัจจุบัน

พรมผนังจากประเทศสวีเดนในคริสต์ศตวรรษที่ 12

 

ตีความกันว่า นี่คือเทพเจ้า 3 องค์ของพวกนอร์ส โดยที่....

เทพองค์ซ้ายมือสุดที่มีพระเนตรเดียว ได้แก่ โอดิน (Odin) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจการปกครอง เพราะโอดินคือ เทพผู้อุปถัมภ์ของเหล่านักบวชและพ่อมดหมอผี

เทพองค์กลางที่ถือค้อน คือ ทอร์ (Thor) ซึ่งเป็นเทพแห่งการสงคราม ผู้ปกป้องนักรบ

เทพองค์ขวามือสุดซึ่งถือรวงข้าวโพด คือ เฟรยเออร์ (Freyr) ซึ่งเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และการทำไร่ทำนา

เทพเฟรเออร์ (Freyr)

 

การแบ่งสังคมออกเป็น 3 ชนชั้นตามหน้าที่นี้มิเพียงแต่สะท้อนออกมาโดยการยกเทพต่างๆ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา หรือที่เรียกว่า บุคลาธิษฐาน (personification) เท่านั้น แต่ยังปรากฏในแง่มุมอื่นๆ ของสังคมอินโด-ยูโรเปียนอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์อเวสตะ (Avesta) ของอิหร่านโบราณ มีการกล่าวถึงวิธีการรักษา 3 วิธี ได้แก่

  • การใช้มนตรา (spell-medicine)
  • การใช้มีด (knife-medicine)
  • การใช้สมุนไพร (herb-medicine)

ซึ่งทำให้พอเชื่อมโยงได้ว่า

  • มนตรานั้นใช้กับชนชั้นนักบวชผู้ปกครอง
  • มีดใช้ในการผ่าตัดรักษาบาดแผลของนักรบ
  • สมุนไพรก็ใช้กับชนชั้นที่เหลือ คือ พวกเกษตรกรโดยทั่วไป


ในเทพปกรณัมของกรีก เทพซุสได้โยนเรื่องให้ปารีสตัดสินว่า ระหว่างเทพีเฮียรา เทพีอาธีนา และเทพีอะโฟรไดทีนั้น ใครกันแน่ที่งดงามชวนมองที่สุด

 



คำตัดสินของปารีส (วาดโดย Rubens)

  • เทพีเฮียราได้ติดสินบนปารีสว่า จะมอบอำนาจการปกครองยุโรปและเอเชียให้ 
  • เทพีอาธีนาจะมอบสติปัญญาและทักษะด้านการรบ
  • เทพีอะโฟรไดทีก็เสนอความรักของสตรีที่งดงามที่สุดในโลก ซึ่งในขณะนั้นหมายถึง เฮเลน แห่งสงครามโทรจันนั่นเอง (เทพีอะโฟรไดทีของกรีกนั้น คนไทยเราคุ้นในชื่อ เทพีวีนัส ตามที่โรมันเรียก)

ข้อเสนอของเทพีเฮียราและอาธีนาตรงกับหน้าที่ 2 อย่างแรกตามสมมติฐานไตรกิจจา

ส่วนข้อเสนอของเทพีอะโฟรไดทีนั้น ถ้าใช้จินตนาการเพิ่มเข้าไปอีกนิด ก็พอจะกล้อมแกล้มได้ว่า สอดคล้องกับความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง (อันนี้ยังเถียงได้)

 

คนที่ไม่เชื่อสมมติฐานไตรกิจจาก็มีข้อโต้แย้ง อย่างเช่น ดูเมซิลจงใจเลือกเล่นกับเลข 3 ให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการหรือเปล่า โดยชี้ไปที่เทพของพวกนอร์สว่า แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ พวกเอซิเออร์ (Aesir) กับพวกวานิเออร์ (Vanir) ต่างหาก

นอกจากนี้ ยังถามว่ามีหลักฐานอะไรที่ชี้ชัดๆ ว่า คนในสังคมโบราณนั้น เขาแบ่งเทพและชนชั้นออกเป็น 3 กลุ่มอย่างชัดเจนอย่างที่ว่ามา

 

จริงๆ แล้ว เพื่อนๆ G2K อาจจะสงสัยว่า แล้วพวกอารยันในอินเดียนี่ เขาแบ่งผู้คนออกเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร ไม่ใช่หรือ?

ประเด็นนี้พอตอบได้เบื้องต้นว่า เมื่อพวกอารยันรุกเข้ามาในดินแดนภารตวรรษนั้น เขาได้สถาปนาสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมคือ วรรณะ ขึ้นมา คำว่า วรรณะ (varna) แปลว่า สี โดยหน้าที่แรก คือ นักบวช (พราหมณ์) ใช้สีขาว และหน้าที่ที่สอง คือ นักรบ (กษัตริย์) ใช้สีแดง

ส่วนหน้าที่ที่ 3 นั้น เจ พี แมลเลอรี (J.P. Mallory) ผู้เขียนหนังสือ In Search of the Indo-Europeans ระบุว่าน่าจะใช้สีเข้มๆ เช่น สีดำ หรือสีน้ำเงิน

อย่างไรก็ดีในบทความ ทัศนียวิทยาวัฒนธรรมอินเดีย : สีในวัฒนธรรมอินเดีย ท่านอาจารย์ ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ ระบุว่า พวกแพศย์ (ซึ่งเป็นอารยัน) ใช้สีเหลืองหรือสีส้ม ส่วนชนพื้นเมืองเดิม หรือชาวทราวิฑ (drāviḍa)  ซึ่งมีผิวสีดำคล้ำนั้นใช้สีดำ

อาจารย์ ดร. ประมวล เพ็งจันทร์

นั่นคือ แนวคิดของดูเมซิลจะใช้กับชาวอารยันซึ่งมีเชื้อสายอินโด-ยูโรเปียนเท่านั้น โดยนับเฉพาะ 3 วรรณะแรก ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์

หากสมมติฐานไตรกิจจาสามารถสะท้อนโครงสร้างของสังคมได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริง
ก็แสดงว่า เหล่าเทพทั้งปวงในอารยธรรมอินโด-ยูโรเปียน ย่อมล้วนแล้วแต่มีกำเนิดมาจากมนุษย์
โดยวิวัฒนาการมาจากลักษณะเนื้อแท้และวิถีปฏิบัติของสังคมนั้นๆ นั่นเอง



ขุมทรัพย์ทางปัญญา


ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ ท่องเวลา ผ่าอารยธรรม เซ็คชั่น จุดประกาย เสาร์สวัสดี
  • ดัดแปลงเพื่อนำลงใน GotoKnow เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

 


คำสำคัญ (Tags): #trifunctional hypothesis#trifunctional model
หมายเลขบันทึก: 187888เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2008 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ

  • จากภูมิหลังที่มีประวัติซับซ้อนและรุ่มรวยสะสมอยู่ ทำให้สายใยของวัฒนธรรมอินเดีย-ยุโรป (อินโด-ยูโรเปียน) ทิ้งร่องรอยเอาไว้แทบทุกที่ที่แผ่ขยายตัวออกไป
  • ฑราวิท น่าจะเป็น ทราวิฑ (drāviḍa) ครับ
  • พิ่อประโยชน์สาธารณะ

สวัสดีครับ อาจารย์หมู

      ขอบคุณมากเลยครับสำหรับข้อคิดเห็น  พี่ได้แก้ไขตามที่ให้ข้อมูลมาแล้วครับ

      ร่างบทแปลที่ให้มามีประโยชน์มาก พี่คงขอใช้นำไปสืบค้น & ขยายผลต่อครับ

พี่ชิว

นับถือพี่ชิวจริงๆ

สมกับเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย แต่ผมอยากเรียกว่านักปราชญ์มากกว่า เพราะรอบรู้และยังไฝ่รู้ทั้งศาสตร์(วิทยาศาสตร์) และศิลป์(ศิลป วัฒนธรรม)

ส่วนผมชอบดื่มด่ำกับธรรมชาติ ศิลป วัฒนธรรม ในแบบการเอาตัวเข้าไปร่วมในเหตูการณ์ และสถานที่แบบนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ไม่ค่อยถนัดเรื่องประวัติศาสตร์ย้อนยุคไปนานๆ มิน่าสมัยเรียนมัธยมวิชาสังคมถึงคาบเส้นตลอด ยังดีที่ได้วิชาคำนวณมาช่วยฉุดไม่งั้นแย่เลย

ชื่นชมและตามอ่านในกรุงเทพธุรกิจ ตลอดครับ แต่ช่วงหลังย้อนเวลาไปมากหน่อย แถมบางตอนมีไสยาศาสตร์ ทั้งผี ทั้งเทพมาด้วย ผมต้องยอมแพ้ ไม่รู้จะแชร์อะไร ความรู้น้อยจริงๆครับ

สวัสดีครับ อาจารย์อ๊อด

       ไม่ได้คุยด้วยซะนาน เมื่อกี้เข้าไปในบล็อก เห็นปิดความเห็นไว้ชั่วคราวช่วงนี้

       เรื่องแนวอารยธรรม + ประวัติศาสตร์โบราณนี่เป็นความสนใจเฉพาะตัวครับ ตอนนี้พี่สนใจเรื่องเกี่ยวกับ Indo-Europeans มากเป็นพิเศษ และทำการค้นคว้าอยู่เรื่อยๆ เลยถือโอกาสนำข้อมูลบางส่วนที่ได้รู้มาไปเขียนลง นสพ. ซะเลย ;-)

       เรื่องเทพอะไรนี่ เมื่อก่อนอ่านแล้วก็เฉยๆ ครับ เพราะดันนึกไปว่าเป็นแค่จินตนาการของคน แต่พอได้รับทราบ "การตีความ" ของนักวิชาการที่เขาศึกษาเรื่องพวกนี้อย่างจริงๆ จังๆ ก็ทำให้เห็นแก่นสาระบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ทำให้ได้มุมมองใหม่

        อย่างเช่น พระอินทร์ ในพุทธศาสนานี่ มีที่มายาวนานไม่ใช่แค่จากศาสนาพราหมณ์เท่านั้น แม้แต่พวกมิทันนี (Mitanni) ซึ่งเราไม่เคยได้ยินชื่อเลยก็มี พวกเปอร์เซีย (อิหร่านโบราณ) ก็มี แต่เขาไม่ชื่นชม เขาว่าพระอินทร์ขี้เหล้า เมาแล้วก็ชอบทำตัวเหลวไหล ไม่น่านับถือ

        อิหร่านโบราณนี่เขาถือว่า deva (หรือเทพ) เป็นฝ่ายอธรรม

ส่วน ahura ซึ่งก็คือ asura (อสูร) เป็นฝ่ายธรรมะ...น่าทึ่งไหมล่ะ!

        เมื่อวานนี้ (เสาร์ 21 มิถุนายน 2551) พี่เพิ่งไปให้สัมมนา ถอดรหัสอัจฉริยะ : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์  ที่ รร. สุรนารีวิทยา โคราช

        พบว่า เด็กที่นั่นมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์มากทีเดียวครับ (ดูจากตอนที่เขาร่วมแสดงความคิดเห็น ตอบคำถาม มาถามหลังการสัมมนา)

 

ณ วันหนึ่ง...ที่ผ่าน

อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่...นำเรื่องราวที่พี่ชิวบันทึกไว้...มาชวนคุยกันดั่งเฉกเช่นพี่ชิวชวนพี่ๆ น้องๆ ดั่งกัลยาณมิตรมาพูดกันกันในวันนี้ค่ะ...

ขอบพระคุณที่ชวนมานั่งล้อมวงพูดกันนะคะ

 

ทุกอย่างดั่งเป็นไปเช่นนั้นเองค่ะ...

กะปุ๋ม

ขอบคุณมากครับ กะปุ๋ม

หวังว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ล้อมวงนั่งคุยกันจริงๆ ^__^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท