024 : เจาะลึก พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (1)


 

ผมกับครอบครัวได้ไปเที่ยว พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 มิถุยายน 2552)

นึกขึ้นได้ว่า เคยค้นคว้าและเขียนบทความเกี่ยวกับที่นี่เอาไว้แล้ว

ก็เลยทยอยตัดต่อนำมาบันทึกไว้ใน G2K

เผื่อใครสนใจไปเยี่ยมชม จะได้เห็นสิ่งต่างๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นครับ ^__^

 


 

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

ศิลปะ...จากศรัทธาผสานจินตนาการ

 

 

“ตั้งจิตเพื่อฟ้าดิน มีชีวิตเพื่อมนุษยชาติ

สืบต่อวิทยาการสุดยอดจากปราชญ์ในอดีต และสร้างสรรค์สันติสุขชั่วกาลนานแก่มนุษยชาติ

นี่คือเป้าหมายอันแท้จริงซึ่งศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ต้องการบรรลุ”

เล็ก วิริยะพันธุ์

 

 

หากจะมีสถานที่สักแห่งในบ้านเราที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อได้แรกเห็น น่าทึ่งในความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม 

พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ....ก็คงจะเป็นหนึ่งในสถานที่เช่นนั้น


พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณเป็นอาคารรูปช้าง 3 เศียรขนาดมหึมาตั้งอยู่บนอาคารทรงกลม

เฉพาะตัวช้างสูงเท่าตึก 8 ชั้น (29 เมตร)

และหากรวมอาคารเข้าไปด้วยก็จะสูงเท่าตึก 14 ชั้น (43.60 เมตร) เลยทีเดียว



ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ (ซึ่งคนใกล้ชิดมักจะเรียกว่า “เสี่ยเล็ก”)

ผู้สร้างเมืองโบราณ (ใกล้บางปู) และปราสาทสัจธรรม (ที่พัทยา)

คุณเล็กตั้งใจให้อาคารรูปช้าง 3 เศียรนี้เป็นที่เก็บรักษาและจัดแสดงวัตถุโบราณให้คนไทยได้เรียนรู้

 

คุณเล็ก วิริยะพันธุ์  ถ่ายระหว่างการสำรวจท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่พิษณุโลก

(ภาพจากหนังสือ ริมขอบฟ้า หน้า 53)


เดิมทีนั้น คุณเล็กวาดฝันโครงการที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เห็นนี้มาก

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษาเมืองโบราณ ได้เล่าไว้ว่า 

“...คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้สร้างเมืองโบราณ มีโครงการจะสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งโลกและโรงเรียนช่างสิบหมู่ขึ้นบนพื้นที่ 1,000 ไร่ ริมแม่น้ำบางปะกง ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ขนาดของอาคารที่ทำแบบกันไว้คือ ตัวตึกสูง 70 ชั้น หรือ 210 เมตร เหนือขึ้นไปเป็นประติมากรรมช้างเอราวัณสามเศียรขนาดยักษ์สูง 90 เมตร หรือเท่ากับตึกอีก 30 ชั้น ทั้งยังจะมีอาคารบริวารล้อมรอบอีกเหลือคณานับ”


 แต่ทว่าโครงการนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เหตุเพราะมีอุปสรรคเรื่องคนบุกรุกที่ดินและไม่ยอมโยกย้ายออกไป คุณเล็กจึงล้มเลิกความคิด เพราะไม่ต้องการทำในเรื่องที่ไม่สบายใจ





โครงการศูนย์วัฒนธรรมแห่งโลกและโรงเรียนช่างสิบหมู่

(ภาพจากหนังสือ ริมขอบฟ้า หน้า 75)

ต่อมาคุณเล็กได้เลือกพื้นที่ก่อสร้างแห่งใหม่ โดยใช้พื้นที่ราว 12 ไร่ของบริษัทธนบุรีประกอบยนต์ จำกัด ของตนเอง

และมอบหมายให้คุณพากเพียร ลูกชายคนโต เป็นผู้ดูแลโครงการนี้
   

แง่มุมทางเทคนิคที่นับว่า “หิน” สำหรับทั้งสถาปนิกและวิศวกรก็คือ จะออกแบบและก่อสร้างช้างบนตัวอาคารได้อย่างไร

เพราะลำพังเฉพาะเศียรทั้ง 3 ก็หนักรวมกันถึง 100 ตัน ส่วนตัวช้างก็หนักถึง 150 ตัน นอกจากนี้เศียรทั้งหมดของช้างยังยื่นออกมานอกขอบเขตตัวอาคารอีกต่างหาก

 

 


พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณขณะก่อสร้าง

(ภาพจากหนังสือ ชีวิตและผลงาน เล็ก วิริยะพันธุ์ หน้า 188)

 

เล่าโดยย่อที่สุดก็คือ เริ่มสร้างอาคารด้านล่างและขาช้างทั้ง 4 ก่อน

ซึ่งจะช่วยกระจายน้ำหนักตัวช้างลงบนคานวงแหวนรอบในและรอบนอกบนอาคารศาลา

โดยคานวงแหวนรอบในและรอบนอกมีเสารับน้ำหนักจำนวน 4 และ 8 เสาตามลำดับ

ขาทั้ง 4 นี้อยู่บนอาคารศาลาซึ่งมีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก

ต่อมาก็สานโครงเหล็กเป็นรูปลำตัวช้าง

ส่วนเศียรช้างซึ่งสร้างยากที่สุดนั้นใช้วิธีสร้างบนพื้นก่อน แล้วยกขึ้นไปประกอบกับลำตัวอีกที



สำหรับผิวของช้างนั้นบุด้วยแผ่นทองแดงหนาประมาณ 1.2 มิลลิเมตร

มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 ฟุต x 8 ฟุต ขนาดเล็กที่สุดประมาณฝ่ามือ
   

ทำไมจึงเลือกทองแดง?


วัสดุตัวเลือกขั้นสุดท้ายสำหรับทำผิวช้างได้แก่ ดีบุก เงิน และทองแดง

แต่เมื่อประเมินแล้วพบว่าอ่อนเกินไป ส่วนเงินก็อ่อนเกินไปเช่นกัน (เดิมทีคุณเล็กต้องการใช้ดีบุก)

จึงเหลือเพียงทองแดงที่เหมาะสมที่สุด

อีกทั้งทองแดงยังทนทานและสามารถ่ายเทความร้อนได้ดีด้วย


    แผ่นทองแดงที่ใช้จะต้องนำมา “ย่าง” ให้ร้อนจนกลายเป็นสีดำ จากนั้นก็ราดน้ำทำความสะอาดและทิ้งไว้ให้เย็น

เมื่อนำไปประกอบกับโครงสร้างเหล็กก็จะตัดให้พอดีกับช่องที่จะวางโดยใช้ตะขอเกี่ยวแผ่นทองแดง

(ใช้วิธีการเกี่ยวด้วยตะขอเพราะเหล็กกับทองแดงมีอัตราการขยายตัวทางความร้อนไม่เท่ากัน)

จากนั้นก็ใช้ค้อนทุบแผ่นทองแดงให้โค้งตามรูปร่างที่ต้องการ
   


ในช่วงที่สร้างช้างเอราวัณนั้น ต้องใช้แผ่นทองแดงสั่งจากญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 3,000 ตารางเมตร

จนทำให้แผ่นทองแดงขาดตลาดไประยะหนึ่งทีเดียว!
  

นี่เองที่ทำให้สามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า

ช้างเอราวัณเป็นประติมากรรมลอยตัวที่ใช้เทคนิคการเคาะโลหะขึ้นรูปด้วยมือเป็นแห่งแรกในโลก

เพราะประติมากรรมขนาดใหญ่ที่อื่น เช่น เทพีเสรีภาพของอเมริกา

ใช้วิธีการหล่อขึ้นทั้งตัวแล้วถอดเป็นชิ้นส่วนใหญ่ๆ ขึ้นไปเชื่อมประกบภายหลัง
     
    

 


 

ตอน 2 : ย่างเข้าในตัวอาคารช้างเอราวัณ

(โปรดอดใจรอ)

   


หมายเลขบันทึก: 267642เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2009 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • โอโห มโหฬารมากเลยครับ
  • เข้าใจว่าเสร็จแล้ว
  • ต่อไปคนคงไปเที่ยวกันมาก
  • รอดูอีกครับ

สวัสดีครับ อ.แอ๊ด

         เสร็จสมบูรณ์มาได้พักใหญ่แล้วครับ พอดีนำภาพตอนกำลังสร้างมาให้ชม เพราะว่าหาชมยากมากครับภาพนี้ (ไปซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง)

         เดี๋ยวตอน 2 และตอนต่อๆ ไป พี่จะพาเข้าไป และชมรอบๆ ครับ

สวัสดีครับพี่ชิว ^^

แวะมาบอกว่า เพราะเห็นช้างเอราวัณนี่แหละ เดย์ถึงหลงสมุทรปราการ ไปไม่ถึงกรุงเทพฯซะที 555 (เลี้ยวซ้ายลงสะพานเฉยเลย หุหุ)

เดี๋ยวมาอ่านใหม่นะคร๊าบ

เดย์!

         ตอน 2 นำขึ้นไปแล้วคร้าบบบบบ....แวะไปขึ้นช้างได้โลด!

โอ้แม่เจ้า ใหญ่โตจริงๆ สวยค่ะ จะหาเวลาไปเที่ยวชมบ้าง งานแบบนี้ไม่ได้ทำกันง่ายๆ นับถือคนทำ

สวัสดีครับ ซูซาน

       คนสร้างทำด้วยศรัทธา + ความรู้ จริงๆ ครับ หาไม่ง่ายนักที่มหาเศรษฐีจะทำงานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมระดับนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท