Automatic Stay ในกฎหมายล้มละลาย


กฎหมายล้มละลายมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นมาตรการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่อาจชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ โดยให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้อย่างเสมอภาคตามส่วนโดยรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย รวมทั้งให้โอกาสแก่ลูกหนี้ที่สุจริตสามารถหลุดพ้นจากการล้มละลายและตั้งเนื้อตั้งตัวใหม่ได้โดยเร็ว

Automatic  Stay

 

        ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่ากฎหมายล้มละลายมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นมาตรการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่อาจชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้  โดยให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้อย่างเสมอภาคตามส่วนโดยรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย  รวมทั้งให้โอกาสแก่ลูกหนี้ที่สุจริตสามารถหลุดพ้นจากการล้มละลายและตั้งเนื้อตั้งตัวใหม่ได้โดยเร็ว  นอกจากนี้ยังเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอีกด้วย

เมื่อเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องเป็นคดีล้มละลาย  และต่อมาเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและดำเนินการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมายล้มละลายแล้ว  บรรดาเจ้าหนี้จะถูกจำกัดสิทธิในการฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ต่อศาลเป็นคดีแพ่งสามัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในการนี้กฎหมายล้มละลายได้กำหนดวิธีการให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้  โดยการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  แม้ว่าเจ้าหนี้นั้นจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  หรือเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาก็ตาม 

และนับแต่บัดนั้นเป็นต้นไปลูกหนี้ก็เป็นอันหมดสิทธิที่จะจัดการทรัพย์สินของตนเอง  แต่ตกอยู่ในการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายล้มละลาย  อยู่ในฐานะเป็นทั้งตัวแทนของลูกหนี้ผู้ล้มละลายเองที่จะจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ามาไว้ในกองล้มละลาย  เพื่อเฉลี่ยแบ่งให้แก่เจ้าหนี้คนละเล็กละน้อยตามส่วนภายในระยะเวลาอันสมควร  เมื่อไม่มีทรัพย์สินจะแบ่งแล้วศาลจึงจะสั่งให้พ้นจากภาวะล้มละลายและมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนเอง  ส่วนหนี้สินต่างๆ  ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในระหว่างล้มละลายก็เป็นอันหลุดพ้นไป

แต่อย่างไรก็ดี  ในสภาวะการล้มละลายของลูกหนี้แม้จะมีประโยชน์ในแง่ที่สามารถเฉลี่ยทรัพย์ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเสมอภาคก็ตาม  แต่กลับส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม  เนื่องจากลูกหนี้จะต้องหยุดกิจการ ทำให้พนักงานหรือลูกจ้างต้องตกงาน  อาจส่งผลกระทบต่อสังคมได้  นอกจากนี้เจ้าหนี้ก็อาจไม่ได้รับชำระตามมูลหนี้เดิม  เพราะต้องแบ่งปันกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ  ทำให้ผลกำไรของเจ้าหนี้ลดลงจนอาจทำให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่องได้  ในทางที่เลวร้ายที่สุดเจ้าหนี้อาจถึงกับต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัวและอาจถูกฟ้องล้มละลายได้ในที่สุด

มีข้อสังเกตบางประการในแง่ธุรกิจคือ สำหรับกิจการบางประเภทที่มีความสำคัญต่อสังคมค่อนข้างสูง การปล่อยให้กิจการเหล่านั้นต้องล่มสลายไปโดยไม่มีการเยียวยาแก้ไข น่าจะเป็นผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวมมากกว่าผลดี เช่น กิจการเงินทุนหลักทรัพย์ ที่การล่มสลายอาจเป็นผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง หรือกิจการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ยังต้องคงกิจการนั้นไว้ นอกจากนี้แม้แต่บริษัทธรรมดาก็มีแนวคิดว่า การคงสภาพกิจการไว้ย่อมส่งผลดีต่อส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างแรงงาน ภาษีอากร มากกว่าการให้กิจการสิ้นสุดลง

เมื่อผลกระทบของสภาวะล้มละลายของลูกหนี้มีมาก  ดังนั้น  หากมีวิธีการใดที่ไม่ต้องให้ลูกหนี้ต้องล้มละลาย  เจ้าหนี้ก็อาจจะได้รับชำระหนี้มากขึ้นกว่ากรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย  ตลอดจนพนักงานหรือลูกจ้างของลูกหนี้ก็ยังมีงานทำและมีรายได้  สภาพเศรษฐกิจสังคมโดยภาพรวมก็เป็นไปในทิศทางที่ดี  ดังนั้น รัฐจึงบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการขึ้น  โดยวางหลักสภาวะพักการชำระหนี้  (Moratorium หรือ Automatic Stay)  เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ประสบปัญหาได้ดำเนินกิจการไปอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดหลักการฟื้นฟูกิจการขึ้นมาเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สภาวะการพักการบังคับชำระหนี้เป็นมาตรการทางกฎหมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะสงวนทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้  ทำให้ลูกหนี้มีช่วงระยะเวลาเพียงพอที่จะปรับปรุงพัฒนาองค์กรธุรกิจของตน โดยไม่ต้องกังวลต่อการที่จะถูกเจ้าหนี้บังคับยึดทรัพย์ หรือยึดหลักประกัน มีเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบหาข้อบกพร่องและแก้ไขให้กลับมาสู่สภาวะปกติ และยังเป็นการทำให้ลูกหนี้ได้รับการผ่อนคลายจากภาวะกดดันทางด้านการเงินที่อาจทำให้ลูกหนี้ไปสู่สภาวะล้มละลายได้  นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้มีโอกาสที่จะเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้โดยไม่มีความกดดันอีกด้วย

            สภาวะการพักการบังคับชำระหนี้ เริ่มต้นเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยบุคคลที่มีสิทธิ ยื่นคำร้องขอตามมาตรา 90/4 ซึ่งอาจเป็นเจ้าหนี้  ลูกหนี้  หรือหน่วยงานของรัฐ  เมื่อศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาและกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้อง  ส่งผลให้มาตรการคุ้มครองกิจการตามมาตรา 90/12 มีผลทันที ได้แก่

            (1) ห้ามมิให้ทำการฟ้อง หรือ ร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือ สั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้  ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้

(2)  ห้ามมิให้นายทะเบียน  มีคำสั่งให้เลิก  หรือ  จดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้  และห้าม มิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกัน  โดยประการอื่น

(3)  ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  กรมการประกันภัย  หรือ หน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4(6) แล้วแต่กรณี  สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้  หรือ สั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ

(4)  ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือ เสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิด หรือ ได้รับความเสียหาย ให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย  ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้  เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้  ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้ว  ให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่ได้รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น  หรือ การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอหรือการบังคับคดีตามคำพิพากษา  ให้ลูกหนี้ทำการส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น

ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึด หรือ อายัดไว้นั้นเป็นของที่เสียง่าย  หรือ ถ้าหน่วงช้าไว้ จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายได้โดยวิธีการขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควรแล้วให้กักเงินไว้  ถ้าศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน  ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบเงินนั้นแก่ผู้บริหารแผนนำไปใช้จ่ายได้  ถ้าศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ  ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและยังเหลือเงินอยู่  ให้ส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป

(6)  ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ   

(7)  ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สิน หรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้

(8)  ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ  สัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์  หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้  ติดตามและคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้  หรือ  ของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้รวมตลอดจนถึงการฟ้องร้องบังคับคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน  และหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว   ถ้าได้มีการฟ้องร้องบังคับคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้   เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น   หรือหลังจากวันที่ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ลูกหนี้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  ผู้บริหารชั่วคราว  ผู้ทำแผน  ผู้บริหารแผนหรือ ผู้บริหารแผนชั่วคราว  แล้วแต่กรณี  ได้ผิดนัดไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อ ราคาค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์  หรือ ค่าเช่าตามสัญญาเป็นระยะเวลา 2 คราว  ติดต่อกัน  หรือ ได้กระทำสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ

(9)  ห้ามมิให้ลูกหนี้ทำการจำหน่าย  จ่ายโอน  ให้เช่า  ชำระหนี้  ก่อหนี้  หรือ  กระทำการใดๆ ที่ได้ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินนอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้  เว้นแต่ศาลที่ได้ทำการรับคำร้องขอนั้นจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(10)   คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด   อายัด  ห้ามทำการจำหน่าย  จ่ายโอน ทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือให้ทำการพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้น  ให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้ หรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้  แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี  หรือได้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว หรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าว  ตามที่ศาลได้เห็นสมควร

(11)   ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค  เช่น ไฟฟ้า  ประปา  โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่ได้รับคำร้องขอหรือ หลังจากวันที่ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์            ผู้บริหารชั่วคราว  ผู้ทำแผน  ผู้บริหารแผน  หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวแล้วแต่กรณี ไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสองคราวติดต่อกัน

นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณา  เพียงแต่ศาลรับคำร้องขอก็จะเกิดผลทันทีโดยไม่ต้องให้ศาลสั่ง  และไม่มีการไต่สวนใดๆ ทั้งสิ้น  ซึ่งลูกหนี้ก็ได้รับประโยชน์ 12  ประการ  ตามมาตรา 90/12  ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น  แต่มาตรการทางกฎหมายดังกล่าวอาจเป็นช่องทางให้ลูกหนี้ที่ไม่สุจริตใช้ประโยชน์จาก  Automatic Stay  ในการประวิงเวลาในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยมิได้มีเจตนาจะฟื้นฟูกิจการโดยแท้จริง  นอกจากนี้ยังอาจเป็นช่องทางให้ลูกหนี้ใช้เป็นเครื่องมือในการขัดขวางการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย  Automatic Stay  เช่น  ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามเร่งรัดให้ชำระหนี้  หรือถูกฟ้องในคดีแพ่งและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็มาร้องขอฟื้นฟูกิจการของตน  เมื่อศาลรับคำร้องขอ  สภาวะ  Automatic Stay  ก็เกิดขึ้น  ส่งผลให้เจ้าหนี้ทั้งหลายต้องเสียเปรียบ  เนื่องจากไม่อาจได้รับชำระหนี้ของตน รวมทั้งจะนำคดีไปฟ้องก็ไม่ได้อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายก็ตามเพราะว่า Automatic Stay บังคับไว้นั่นเอง

เมื่อเข้าสู่สภาวะ Automatic Stay  ลูกหนี้ที่ไม่สุจริตที่สามารถเสนอผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนซึ่งเป็นฝ่ายตนเองได้แล้วก็จะฉกฉวยหาช่องทางทางแสวงหาผลประโยชน์ในระหว่างนั้น  ประการแรก คือค่าทำแผนที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ทำแผนซึ่งมีราคาแพงมาก  เพราะเท่าที่ผ่านมานั้นในการทำแผนแต่ละแผนจะมีค่าทำแผนไม่ต่ำกว่าแผนละ  10  ล้านบาท  นอกจากนั้นในขณะที่ยังมีอำนาจบริหารแผนก็เป็นช่องทางที่ลูกหนี้โดยการกระทำของสมัครพรรคพวกฝ่ายตนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจากกิจการออกไป  ซึ่งหากเป็นเช่นนี้การฟื้นฟูก็ไม่มีหวังที่จะประสบความสำเร็จเป็นแน่แท้

อย่างไรก็ดีช่องทางที่อาจเป็นทางแก้ไขสถานการณ์ให้กับเจ้าหนี้สำหรับกรณีที่ลูกหนี้ไม่สุจริต  คือ  ตามมาตรา  90/12 (4)  ที่ว่า ...ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ...เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น  ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหนี้สามารถไปขออนุญาตต่อศาลที่รับคำร้องขอฟื้นฟูนั้นให้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้  กล่าวคือ  มีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้นั่นเอง 

หากลูกหนี้เจ้าหนี้กระทำการโดยสุจริตไม่คดโกง  เดินตามช่องทางแห่งกฎหมายฟื้นฟูกิจการตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง  ลูกหนี้ก็สามารถหลุดพ้นจากภาระหนี้สินล้นพ้นตัวได้เร็วขึ้น  เจ้าหนี้ก็ได้รับชำระหนี้มากขึ้นยิ่งกว่าการดำเนินคดีล้มละลาย  ซึ่งบังเกิดผลประโยชน์ไม่จำเพาะแต่เพียงลูกหนี้เจ้าหนี้เท่านั้น  หากแต่ยังเกิดผลดีต่อบรรดาลูกจ้างพนักงานบริษัทของลูกหนี้ที่ยังคงมีงานทำมีรายได้อีกด้วย 

กรณีเช่นนี้ย่อมจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบตลาด  ตามหลักการที่ว่า เงิน (Cash) จะเพิ่มมูลค่าขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนมือ  ดังนั้นก็จะเกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจการค้าของประเทศในระดับมหัพภาค  เมื่อเศรษฐกิจดี  รัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีได้มากเพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นงบประมาณแผ่นดิน  อันจะย้อนกลับมาเป็นการจัดให้มีบริการสาธารณะต่างๆ  รวมถึงการจัดสวัสดิการของประชาชนต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #automatic stay#ล้มละลาย
หมายเลขบันทึก: 290985เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2009 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท