บริการ Alert ในยุคทองสารสนเทศ


การติดตามบทความใหม่ในยุคเว็บ 2.0 เป็นสิ่งที่นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปควรให้ความสนใจ และใช้ประโยชน์จากการให้บริการดังกล่าว อันจะส่งผลให้ในแต่ละปี นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถผลิตผลงานวิชาการได้มากทัดเทียมกับนานาประเทศ

          ยี่สิบปีที่ฉันจำได้ คือช่วงเวลาที่ฉันเข้าทำงานเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด แม้มิได้จบวิชาบรรณารักษศาสตร์ เพื่อสมัครเป็นนกฮูกผู้ทรงภูมิในกองตำรามหาศาล แต่ฉันก็ได้เรียนรู้โลกของทรัพยากรสารนิเทศที่ไม่ได้มีเพียงแค่หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสารที่คุ้นเคย แต่มันมีมากมายกว่านั้นในรูปของวารสารวิชาการ โสตทัศนวัสดุ สิ่งพิมพ์ที่ถูกแยกประเภทย่อยออกไปเป็นเอกสารโบราณ หนังสือหายาก หรือม้วนไมโครฟิล์ม แผ่นไมโครฟิช

Cmulmicrof 

          และเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีทันสมัยขยับแทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิตของผู้คน และการทำงานในห้องสมุดของเหล่าบรรดานกฮูก และเป็ดอย่างฉันก็เปลี่ยนแปลงไป ห้องสมุดเกือบจะไม่ใช่ห้องสมุดอีกต่อไป เพราะขอบเขตการให้บริการของเรากว้างใหญ่ ไร้ขอบเขตที่สุดสิ้น

          ทรัพยากรสารนิเทศที่เคยจับต้องเป็นปึกแผ่น กลับแปรเปลี่ยนเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องพิมพ์ออกมาให้สิ้นเปลืองน้ำหมึก คุณเชื่อไหมคะว่า ทุกวันนี้คุณเองก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเดินทางไปห้องสมุดอีกแล้ว เพียงแค่นั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างที่คุณกำลังทำอยู่นี้อย่างไรคะ...เพียงแค่คุณมีเครือข่ายและระบบการติดต่อสื่อสารชัดเจน คุณก็สามารถเข้าถึงสาระความรู้สารพันเพียงแค่นึกให้ได้ว่า คุณกำลังต้องการอะไรเท่านั้นเองค่ะ

วารสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Journal) เข้ามาแทนที่วารสารวิชาการที่เป็นรูปเล่มรายปลีก

          ในยุคก่อนๆ วารสารวิชาการ นับเป็นทรัพยากรสารนิเทศสำคัญยิ่งที่อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการจะติดตามโดยใกล้ชิด เพื่อทราบความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษาค้นคว้าวิจัย  หากได้อ่านในเวลาที่รวดเร็วได้ยิ่งดี แต่ยุคนั้นก็ช่างไม่ทันใจเสียนี่กระไร วารสารวิชาการจากต่างประเทศพิมพ์ออกมาเป้นรูปเล่ม กว่าจะข้ามน้ำทะเลมาให้อ่านก็รอกันนานเดือน เมื่อมาถึงห้องสมุดก็จะต้องรอผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน

          ในถึงแม้ว่าบรรณารักษ์จะพยายามพัฒนาเพิ่มการให้บริการ สารบัญวารสาร หรือ “Current Content” ให้ผู้ใช้ทราบสาระในวารสารให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ก็ยังไม่ค่อยจะทันใจ ฉันเห็นพัฒนาการบริการ ตั้งแต่การถ่ายสำเนาหน้าสารบัญวารสาร เย็บเป็นเอกสารรายปลีกย่อย ส่งตรงไปยังผู้ใช้บริการ เพื่อให้เลือกชื่อบทความที่สนใจ แล้วบรรณารักษ์ก็จะทำหน้าที่นำบทความเรื่องนั้นๆ ส่งไปให้ผู้ใช้ตามที่ต้องการ จนกระทั่งในเวลาต่อมา มีเครื่องสแกนและระบบการสื่อสารผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเว็บไซต์ที่ยังไม่สะดวกใช้เช่นทุกวันนี้ ซึ่งในวันนี้ การบริการหน้าสารบัญวารสารเหล่านั้นคงหายไปแล้วในห้องสมุดระดับมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันการศึกษาที่เกาะติดเทคโนโลยีอย่างกระชั้นชิด ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและอ่านวารสารด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านบรรณารักษ์ แต่บรรณารักษ์หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ใช้ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นอีก

          ใช่ค่ะ ฉันกำลังจะนำท่านไปรู้จักกับ บริการ Alert ในโลกเอกสาร/วารสารอิเล็กทรอนิกส์ อีกหนึ่งบริการที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มี แต่...อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ฉันไม่ได้นำท่าไปพบกับบริการนี้เพียงคนเดียวนะคะ  ฉันมีพี่บรรณารักษ์มาช่วยแนะนำด้วยค่ะ

 

สวัสดีค่ะพี่พาง (จีราพรรณ  สวัสดิพงษ์ บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ 9 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยชียงใหม่)

 

 

เข้าเรื่องกันเลยนะคะ เป็นมาอย่างไรกันคะบริการ Alert ในยุคทองของสารสนเทศ 

พี่พาง  การส่งข่าวสาร ข้อมูลจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งข้อมูลให้ผู้ใช้  ผู้บริโภคจะได้รับข่าวสารที่เที่ยงตรง แม่นยำ และฉับไวทันท่วงที ค่ะ เราจะเห็นได้จากการบอกรับข่าวต่าง ๆ จากหนังสือพิมพ์ออนไลน์  ข่าวใหม่ ๆ ในแต่ละวันก็จะส่งตรงถึงมือเราผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างง่ายดาย  การติดตามบทความวิจัยใหม่ ๆ ก็เช่นเดียวกัน เป็นการง่ายนิดเดียวที่เราจะติดตามบทความใหม่ ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาที่ห้องสมุด หรือเข้าไปสืบค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีมากมาย เพียงแค่บอกรับการบริการ Alert จากฐานข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ที่ท่านต้องการ โดยผ่านโปรแกรม Feed Reader  เราก็จะสามารถอ่านบทความใหม่ ๆ ได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง หรือบอกรับบริการส่งข้อมูลผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ก็สะดวกสำหรับบางท่านที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวค่ะ

 

หลายคนที่กำลังติดตามบันทึกนี้ คงสัยว่า บริการ Alert คืออะไรค่ะ ช่วยขยายคำอธิบายนะคะ

พี่พาง  “Alert  เป็นบริการแจ้งข้อมูลข่าว บทความใหม่ ๆ  ให้ผู้ใช้บริการ  ฐานข้อมูลวิชาการต่าง ๆโดยเฉพาะฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์ มีการให้บริการ Alert 3 ประเภท ได้แก่  บริการแจ้งรายชื่อบทความใหม่ในหัวข้อที่ผู้ใช้สนใจ (Search Alert)  บริการแจ้งรายชื่อบทความในวารสารฉบับใหม่ชื่อที่สนใจ (Issue Alert)  และบริการแจ้งรายชื่อบทความใหม่ที่อ้างอิงบทความที่ผู้ใช้สนใจ (Citation Alert) ซึ่งบริการประเภทนี้เหมาะสำหรับนักวิชาการที่ต้องการติดตามผลงานของตนว่ามีใครนำไปอ้างอิงบ้าง   Alert ทั้ง 3 ประเภท ผู้ใช้สามารถบอกรับบริการได้ด้วยตนเอง ได้รับข้อมูลโดยตรงอย่างสะดวก และรวดเร็ว  มีทั้งให้บริการแจ้งข้อมูลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และทางโปรแกรม RSS Feed Reader”

 

จะใช้บริการนี้ได้อย่างไรคะ

พี่พาง  "ปัจจุบันฐานข้อมูลทางด้านวิชาการต่าง ๆ ได้ให้บริการ Alert  แก่ผู้ใช้บริการ  ผู้ใช้เพียงสมัครสมาชิกกับฐานข้อมูล และระบุประเภท และหัวข้อ หรือชื่อวารสารที่ต้องการเท่านั้น ตัวอย่างรายชื่อฐานข้อมูลที่ให้บริการ เช่น  ScienceDirect,  Scopus,  Web of  Science  วิธีการหรือขั้นตอนการใช้บริการในแต่ละฐานข้อมูลมีความใกล้เคียง หรือคล้ายคลึงกัน"

 

ถ้าไม่ได้เป็นอาจารย์ นักวิจัยหรือนักศึกษาของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะใช้บริการ Alert นี้ได้ไหมคะ

พี่พาง ได้ค่ะได้ เพราะฐานข้อมูลส่วนใหญ่ ทาง สกอ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้บอกรับให้ค่ะ ปัจจุบันฐานข้อมูลที่ห้องสมุด และสกอ. บอกรับเป็นสมาชิกเพื่อให้บริการแก่อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย  จำนวนหลายฐานมีข้อมูลที่ให้บริการ Alert  เพื่อแจ้งข้อมูลใหม่ ๆ ให้ถึงมือผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็วทั้งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และโปรแกรม Feed Reader”

          แต่บริการดังกล่าวนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ใช้บริการฐานข้อมูล จากประสบการณ์ของพี่ในการให้บริการแนะนำการใช้ฐานข้อมูลแก่ นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา พบว่ามีเพียงส่วนน้อยที่ทราบ และเคยใช้บริการ Alert  พี่คิดว่าห้องสมุด มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนข้อมูลเพื่อการผลิตผลงานทางวิชาการ การทำวิจัย และสนับสนุนการเรียนการสอนของอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ควรที่จะประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการฐานข้อมูลทราบประโยชน์ที่ได้จาการใช้บริการ Alert  และใช้บริการดังกล่าวนี้ให้มากขึ้นนะคะ

 

ได้อ่านบทความเรื่อง  การติดตามบทความใหม่ในยุคเว็บ 2.0  ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักหอสมุด มช. ในบทความเรื่องนี้มีเขียนแนะนำวิธีการขั้นตอนการบอกรับบริการเฉพาะในฐานข้อมูล ScienceDirect ตรงนี้อาจารย์ นักวิชาการของสถาบันการศึกษาต่างสามารถศึกษาและใช้ประโยชน์ด้วยได้ไหมคะ

พี่พาง ได้อย่างไม่ต้องสงสัยค่ะ เพราะว่าเราเริ่มต้นการใช้ฐานข้อมูล ScienceDirect ที่ http://sciencedirect.com ค่ะ พี่เขียนแนะนำไว้หลายช่องทาง ตัวอย่างเช่นเลือก Search ซึ่งเป็นการค้นด้วยคำสำคัญ เช่น  Author  Journal title Subject  Keyword  เป็นต้น การค้นด้วยทางเลือกนี้ ใช้เมื่อต้องการบอกรับบริการ Search  Alert  และ Citation Alert  ส่วนการสืบค้นด้วยทางเลือก Browse เป็นการค้นด้วยการไล่เรียงตามตัวอักษรของชื่อวารสาร หรือการไล่เรียงตามสาขาวิชาของวารสาร ใช้เมื่อต้องการบอกรับบริการ Issue Alert นอกจากนี้มีข้อแนะนำวิธีการบอกรับ ขอแจกแจงเป็นข้อ ๆ ดีกว่านะคะ จะได้ไม่สับสนค่ะ..."

  • การบอกรับบริการ Search Alert  via e-mail  เป็นการขอรับบทความใหม่ในฐานข้อมูล ScienceDirect ในหัวข้อที่สนใจ ส่งทาง e-mail
  • การบอกรับบริการ Search Alert  via  RSS Feed  ซึ่งเป็นการขอรับบทความใหม่ในฐานข้อมูล ScienceDirect  ในหัวข้อที่สนใจ ส่งทางโปรแกรม  RSS FeedReader
  • การบอกรับบริการ Citation Alert via e-mail   เป็นบริการแจ้งรายชื่อบทความใหม่ที่อ้างอิงบทความที่ผู้ใช้สนใจ (Citation Alert) ส่งทาง e-mail ซึ่งบริการประเภทนี้เหมาะสำหรับนักวิชาการที่ต้องการติดตามผลงานของตนว่ามีใครนำไปอ้างอิงบ้าง
  • การบอกรับบริการ Citation Alert via RSS Feed   เป็นบริการแจ้งรายชื่อบทความใหม่ที่อ้างอิงบทความที่ผู้ใช้สนใจ (Citation Alert) ส่งทาง RSS FeedReder  ซึ่งบริการประเภทนี้เหมาะสำหรับนักวิชาการที่ต้องการติดตามผลงานของตนว่ามีใครนำไปอ้างอิงบ้าง
  • การบอกรับบริการ Issue Alert via e-mail  เป็นบริการแจ้งรายชื่อบทความในวารสารฉบับใหม่ชื่อที่สนใจ ส่งทาง e-mail
  • การบอกรับบริการ Issue Alert via RSS Feed  เป็นบริการแจ้งรายชื่อบทความในวารสารฉบับใหม่ชื่อที่สนใจ ส่งทาง RSS Feed

 

พี่พางคะ แล้วนอกจากบริการ Alert ในฐานข้อมูลต่างๆ อย่างกรณีหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ที่เราส่วนใหญ่จะคุ้นเคยดีล่ะค่ะ มีบริการ Alert ด้วยไหมค่ะ

พี่พาง มีค่ะ นอกจากการบอกรับบริการ Alert เพื่อติดตามบทความใหม่ ๆ จากฐานข้อมูลวิชาการต่าง ๆ แล้ว เรายังสามารถติดตามข่าวสารรายวันได้จากการใช้บริการรับข่าวสารรายวันผ่านโปรแกรม Feed Reader ได้ด้วยตนเองจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่ให้บริการ เช่น  Breaking News  และบริการข่าวด้วย RSS ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

จะว่าไปเรื่อง RSS (Really Simple Syndication) feeds  เป็นตัวช่วยให้เราติดตามกระแสความรู้ที่ไหลท่วมท้นตัวเราได้อย่างดีเลยนะคะ ไม่ต้องดูอื่นไกล ใน gotoknow.org ก็มีให้ใช้บริการค่ะ

แล้วพี่พางมีข้อสรุปปิดท้ายตรงนี้สักหน่อยไหมค่ะ ที่เกี่ยวกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเราค่ะ

พี่พาง ในส่วนของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่น Alert ที่ให้บริการในฐานข้อมูล โดยเฉพาะฐานข้อมูล  ScienceDirect, Scopus และ Web of Science  ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ฐานข้อมูลในการติดตามบทความใหม่  วารสารฉบับใหม่ รวมทั้งการติดตามการอ้างอิงผลงานของตนเองหรือของผู้เขียนที่ท่านสนใจ  ดังนั้นงานบริการสารนิเทศ สำนักหอสมุดจึงได้จัดให้มีการบริการ Alert  แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักวิจัย อาจารย์ และบัณฑิตศึกษา โดยให้บริการทั้ง 3 ประเภททั้ง  Search Alert, Issue Alert, Citation Alert ผู้ใช้บริการสามารถขอใช้บริการผ่านเว็บไซต์ศูนย์บริการข้อมูลแก่นักวิจัย (Reseaechers’ Service Center) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยชียงใหม่ ที่ http://library.cmu.ac.th/rsc

 

และพี่อยากจะเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง ค่ะว่า...

การติดตามบทความใหม่ในยุคเว็บ 2.0 เป็นสิ่งที่นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปควรให้ความสนใจ และใช้ประโยชน์จากการให้บริการดังกล่าว อันจะส่งผลให้ในแต่ละปี นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถผลิตผลงานวิชาการได้มากทัดเทียมกับนานาประเทศค่ะ

 

          ขอบคุณพี่พางมากๆ นะคะ จะว่าไปแล้วการทำหน้าที่บรรณารักษ์ของห้องสมุดก็เหมือนเป็นผู้เชื่อมโลกดิจิทัลที่คนทั่วไปตามไม่ค่อยจะทัน ให้ขยับแคบเข้ามาได้อีกมากๆ ด้วยนะคะ ทำให้ข้อมูลสารสนเทศที่มีการสร้างสรรค์ออกมาเป็นนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลาทุกนาทีวินาที เป็นที่แพร่หลาย

 

          เมื่อเช้านี้เปิดอ่านข่าวสารของห้องสมุดในระบบอินทราเน็ตทราบว่า วารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ฐานข้อมูลสากล Scopus ด้วยแล้ว วารสารชื่อ Chiang Mai University Journal of Natural Sciences หมายเลข ISSN 1685-1994 ตรงนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับอาจารย์ นักวิจัยที่มีผลงานวิจัยหรือบทความทางวิชาการ ที่พิมพ์เผยแพร่ แล้วจะได้ไปติดตามดูว่า มีใครนำผลงานของเราไปอ้างอิงบ้างซึ่งก็จะไปสัมพันธ์กับการให้บริการ Alert ...เห็นทีจะต้องแวะไปพูดคุยในรายละเอียดกับพี่ๆ บรรณารักษ์อีกนะคะ

 

ข้อมูลอ้างอิง-อธิบายเพิ่มเติม

  • บทความ การติดตามบทความใหม่ในยุคเว็บ 2.0 โดย จีราพรรณ สวัสดิพงษ์
  • เว็บไซต์ บริการนักวิจัย (Research Support) ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  •  
  • ฐานข้อมูล ScienceDirect เป็นฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์สหสาขาวิชาของ Elsevier B.V. วารสารฉบับเต็ม 2,500 ชื่อ ใช้ข้อมูลได้ตั้งแต่ปี 1995 – ปัจจุบัน (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับผิดชอบค่าใช้จ่าย)
  • ฐานข้อมูล Scopus  เป็นฐานข้อมูลดรรชนีและสาระสังเขปสาขาวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ครอบคลุมวารสารจำนวนข้อมูล 15,000 ชื่อ ไม่น้อยกว่า 29 ล้านระเบียน ใช้ข้อมูลได้ตั้งแต่ปี 1960 – ปัจจุบัน (มช. บอกรับ)
  • RSS (Really Simple Syndication) feeds )คืออะไร? อ่านเพิ่มเติมจากการอธิบายที่เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หมายเลขบันทึก: 262070เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2009 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)
  • ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงคุ่มครองและประทานความโชคดีด้วยครับ
  • จะมาอ่านอีกครั้ง
  • สวัสดีค่ะ 

    ต้องค่อยค่อยอ่านช้าช้า  ไม่งั้นไม่เข้าใจ  สงสัยความจำสั้นซะแล้ว  มีความสุขนะคะ

    ข้อมูลยอดเยี่ยมค่ะ พี่เอง เป็นสมาชิกอยู่หลายห้องสมุดด้วยกัน ไม่ค่อยมีเวลาไปเอง เปิดจอค้นเสียมากกว่า เดี๋ยวพอเจ้าตัวเล็ก โตกว่านี้ คงต้องพาไปห้องสมุดกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว

    สวัสดีค่ะคุณ เบดูอิน

    • ขอบคุณค่ะ รอมาอ่านอีกครั้งค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณ  KRUPOM

    • ขอบคุณค่ะ
    • ไม่เป็นไรนะคะ อ่านช้า ช้า ได้พร้าความรู้เล่มงามโตค่ะ

    สวัสดีครับ

    น่าจะมี alert ที่ไหนมีเมฆสวยๆ แจ่มๆ alert มาบอกกันมั่ง

    วันก่อนดูข่าว เห็นหอสมุดที่อังกฤษ

    มีตู้พิมพ์หนังสือคล้ายตู้ ATM สำหรับบริการหนังสือหายาก

    พิมพ์ออกมาเป็นเล่มเรียบร้อย (digitized แล้ว)

    น่าจะสั่งมาที่ มช สักเครื่องนะครับ

    สวัสดีค่ะคุณ  Sasinand

    สมัยนี้ยังมีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-Books สำหรับนักอ่านทุกวัยให้สะดวกใช้สะดวกอ่านมากเลยนะคะ ที่ห้อง มช. จัดหาหนังสืออิเล็กทรอนิส์ ให้บริการจำนวน 14 ฐานข้อมูล หรือ19,616 เล่ม แม้จะเทียบยังไม่ได้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งและในต่างประเทศเพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก และข้อจำกัดมีอยู่ที่ ผู้ใช้บริการต้องเป็นสมาชิกห้องสมุด หรือเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย ใช้บริการภายใต้เงื่อนไข IP Address ค่ะ

    มีตัวอย่างฐานข้อมูลที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยหลายแห่งซื้อ และสามารถใช้งานร่วมกันค่ะ คือ

    NetLibrary Online e-Books เป็นฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ของ OCLC ครอบคลุมทุกสาขาวิชา มี หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 8,561 ชื่อ

    เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดซื้อ 5,962 ชื่อ เป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จัดซื้อ 2,599 เล่ม นอกจากนี้ยังมีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ อภินันทนาการอีก 3,400 ชื่อ สามารถสืบค้นข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 จนถึงปัจจุบัน

    หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 1 ชื่อ สามารถอ่านได้ครั้งละ 1 คน และยืมได้ 24 ชั่วโมง สามารถพิมพ์ หรือบันทึกข้อมูลได้ครั้งละ 1 หน้า และต้องลงทะเบียนในระบบ

    ได้ลองเข้าไปใช้บริการอ่าน มีหนังสือเทพนิยายสำหรับเด็กเล็กด้วยค่ะ

     

    สวัสดีค่ะคุณ บก. Alert เอ้อ...ธ.วั ช ชั ย ค่ะ

    Alert เรื่องเมฆ ต้องยกให้ ดร.ชิว หรือไม่ก็น้องเดย์ดีไหมคะ...

    "ตู้พิมพ์หนังสือคล้ายตู้ ATM สำหรับบริการหนังสือหายาก" สงสัยจะเป็นฝันที่รอเป็นจริงในอีกหลายๆ ปีนะคะ

    ตอนนี้ขนาดว่าหนังสือหายากที่ทำการดิจิไทซ์ หน้าตาดูดีแบบว่าโบร้าณ...โบราณ ยังไม่สามารถนำออกบริการนอกเครือข่ายของมหาวิทยาลัยได้เลยค่ะ เมื่อไรไปเยี่ยมไปเยือนถิ่นเก่า จะขออวดหนังสือหายากให้ตาลุกวาว วาว วาว เลยละค่ะ...อิอิ

    น้าต๋อยโยนตัวกวนมาอีกแล้ว

    น้านำไปโยนต่อ ไม่ค่อยมีใครรับลูกเลย

     try the best ค่ะ

    ทุกบันทึกของน้าต๋อยเป็นบันทึกที่น่าอ่านจริง ๆ

    อ่านเอาเรื่องด้วยนะ

    อิอิอิ

    ขอบคุณสำหรับบันทึกดี ๆ ที่สะกิดใจ

    • สวัสดีค่ะ
    • ขอก๊อป น้าอึ่ง แล้วจะบอกต่อว่า จะเป็นนักข่าวนักสัมภาษณ์ด้วยใช่ป่ะคะ นอกจากนักเขียน
    • คิดถึงน๊าาาาาาา ไม่ค่อยว่างเข้ามาเลยค่ะ

    สวัสดีค่ะ น้าอึ่งอ๊อบ คนสวย แซ่เฮ

    • ไหนนะคะตัวกวน ไม่มีซักหน่อย...
    • ขอบคุณค่ะ อย่าลืมใช้บริการสิ่งดีๆ ใกล้ตัวนะคะ ลงทุนเป็นล้านๆ มาชวนมาช่วยๆ กันใช้บริการค่ะ ช่วยๆ กันบอกต่อในคณะเภสัชศาสตร์ด้วยนะคะน้าอึ่ง

    สวัสดีค่ะ pa_daeng

    • เขียนบันทึกนี้ไปแล้วก็คิดถึงสมัยก่อนที่ทำรายการวิทยุด้วยเลยค่ะ ฮ่าๆ ความหลังเก่าๆ ไม่อยากคิดรื้อฟื้น กลัวงานเข้า ^^
    • คิดถึงป้าแดงเหมือนกันค่ะ ยังไม่รู้จะได้ทานข้าวอีกเมื่อไร (ก่อนกลับบ้าน ต้องเจอกันก่อนนะคะ)
    • มาแสดงความคิดถึง
    • อ้าวได้เจอบันทึกดีๆน่าอ่าน
    • เดี๋ยวจะ link เอาไปให้น้องที่รับผิดชอบงานข้อมูล
    • ลองเข้ามาศึกษาอ่านเอาเรื่อง (แบบน้าอึ่งอ๊อป)  อิอิ

    สวัสดีค่ะพี่เจ๊ มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

    ดีจังค่ะประโยคนี้  "อ่าน...เอา...เรื่อง" ^^ ขอลิขสิทธิ์ไปใช้งานได้มั้ยน้าอึ่ง...

    ขอบคุณค่ะ เรื่องดีมีสาระ อาจ...บางทีต้องรอเวลา โอกาส และจังหวะที่เหมาะสม

    คติประจำตัวของดาวลูกไก่ค่ะ ผ่านตาบันทึกเรื่องไหนแล้ว ตกลง-สัญญากับตัวเองว่าจะต้องอ่านให้ได้ ก็จะรอจังหวะกลับไปอ่านให้ได้เรื่องค่ะ...แม้ไปช้าหน่อยนะคะ

    สวัสดีค่ะพี่ดาว

    สู้ ๆ น่ะค่ะ

    • love 

      Care 

      Sharing  

      มิตรภาพเป็นสิ่งที่ต้องเก็บรักษา และ บำรุงให้งอกงาม

      •  พี่แจ๋วยืมป้าแดง นำมาฝากคุณดาวอีกทีค่ะ
      • เห็นว่ามีความหมายและน่ารักดี...อีกอย่าง พี่แจ๋วทำเองไม่เป็น
      • อิ อิ อายจัง
      • แต่ก็รักและคิดถึงจังเช่นกัน...
      • สุขสบายดีนะคะ 

    สวัสดีค่ะน้อง กอก้าน>>>ก้านกอ

    สู้ สู้ เหมือนกันนะคะ อิอิ ชีวิตต้องสู้ ถอนใจสองเฮือกแล้วพยายามต่อไปค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณครูพี่แจ๋ว  คุณครู วรางค์ภรณ์ เนื่องจากอวน

    love care share -ขอบคุณค่ะ ภารกิจส่วนตัวอัดแน่นตลอดสัปดาห์นี้ค่ะ และหวังว่าจะผ่านไปด้วยดีค่ะ

    • มาเป็นกำลังใจให้คนทำงานค่ะ
    • และชื่นชมในการนำเสนอเรื่องราว...
    •  จะเปิดเทอมแล้ว...ห้องสมุดคงสนุกสนานกับการรับน้องเฟรชชี่นะคะ

    สวัสดีค่ะคุณ สิริพร ทิวะสิงห์ tuk-a-toon

    ขอบคุณนะคะ นกฮูก...จากเป็ดค่ะ ความจริงชื่นชม บอรอนะคะ ในฐานะทูตนำทางความรู้ค่ะ

    ขอบคุณมากนะคะ ตามโหลดมา คลิ๊กวิธีให้ภาพอยู่กลางคะ ขอบคุณมากเลย แล้วจะลองทำดูนะคะ ขอบคุณจริงๆ เรื่องราวดีๆทั้งนั้นเลย ห้องสมุด IT ถ้าเราอยากได้เรื่องอะไร ไปอ้างอิงวิจัย ก็คงได้ใช้กันหละคะ

    สวัสดีค่ะคุณ  เบดูอิน

    ขอบคุณค่ะ ยังไม่ได้เข้าไปทิ้งรอยในบันทึกใหม่ไ เลยค่ะ แต่ได้อ่านบันทึกที่มีเสียงหัวเราะ อิ๊ก อ๊ากากกกกกกก แล้วนะคะ ^^

    สวัสดีค่ะคุณ สุ-มหาวิทยาลัยชีวิต ราชภัฏพระนคร อ.กระนวน จ.ขอนแก่น

    ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ มีอะไรที่สงสัย สอบถามได้นะคะ หากไม่ทราบคำตอบจะหาผู้มาช่วยตอบค่ะ (อีกวิธีการหนึ่งในหน้าต่างการเพิ่มบันทึกใหม่ จัดวางภาพ ไม่ต้องคลิกเลือกภาพก็ได้ ค่ะ แค่นำเคอร์เซอร์ไปวางข้างๆ ภาพ ค่ะ ^^)

    ขอบคุณข้อมูลดีๆ ค่ะ ขอหยิบไปใช้นะคะ

    สวัสดีค่ะคุณ redclick

    ขอบคุณค่ะ ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ หากติดขัดการใช้บริการเกี่ยวกับการสืบค้น ค้นคว้าข้อมูลสารสนเทศ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม บรรณารักษ์/นักเอกสารสนเทศจากห้องสมุดทุกแห่งยินดีช่วยเหลือให้บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้านะคะ

    อยากทราบว่าบริการสำเนาหน้าสารบัญวารสารทางวิชาการคืออะไร ค่ะ

    อยากได้รายละเอียดมากๆเลยค่ะ จาเอาไปทำรายงานค่ะ

    คุณ wallee คะ

    • บริการสำเนาหน้าสารบัญวารสารทางวิชาการ เป็นบริการที่นิยมมากในสมัยก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาท เมื่อมีวารสารฉบับใหม่ๆ มา บรรณารักษ์จะรีบทำการถ่ายหน้าสารบัญวารสารแจ้งผู้ใช้ทราบทันทีค่ะว่ามีบทความเรื่องใดน่าสนใจบ้าง เมื่อผู้ใช้สนใจก็จะติดตามยืมวารสารฉบับนั้น ซึ่งถ้าห้องสมุดมีบริการสำเนาบทความวารสารด้วย ผู้ใช้ก็รอรับบทความนั้นที่ทำงาน ก็จะสะดวกยิ่งขึ้นค่ะ แต่สมัยนี้จะใช้การสแกนและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หรือส่งเมลแจ้งผู้ใช้บริการ
    • ลองแวะเข้าห้องสมุดที่ใกล้ๆ แล้วถามรายละเอียดกับบรรณารักษ์ที่ให้บริการตอบคำถามดูนะคะ หรือสืบค้นข้อความนี้ในกูลเกิ้ล คู่แข่งบรรณารักษ์ที่มาแรงจัด ก็จะได้รายละเอียดเพิ่มเติมเยอะมากค่ะ

     

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท